Skip to main content
sharethis

นักวิชาการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาฯ บรรยายกับนักศึกษาวิทยาลัยประชาชน ถึงบทบาทขององค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ต่อประเทศไทย และชี้ประเทศไทยควรมีทูตพิเศษประจำ OIC เพื่อแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ในระยะยาว

วิทยาลัยประชาชนชายแดนใต้ (People’s College) จัดการอบรมตามหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่สันติภาพ หลักสูตรจัดการความขัดแย้งศึกษา เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา โดยมีการบรรยายในหัวข้อ นโยบายและแนวทางการปฏิบัติขององค์การการประชุมอิสลาม (OIC) ต่อปัญหาชนกลุ่มน้อยมุสลิม โดย ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์อิสลามศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันเป็นงานวิจัยที่ตั้งคำถามต่อบทบาทของ OIC ในการช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยมุสลิมที่ถูกลิดรอนสิทธิ

 

บทบาท OIC กับจังหวัดชายแดนภาคใต้

จากการศึกษาวิจัยบทบาทขององค์การการประชุมอิสลาม (OIC) ต่อปัญหาชนกลุ่มน้อยมุสลิมในพื้นที่ความขัดแย้งทั่วโลก ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ได้เสนอแนวทางอันเป็นข้อเสนอแนะต่อภาครัฐของไทยในการดำเนินความสัมพันธ์กับ OIC ในประเด็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีทูตพิเศษประจำ OIC

ทั้งนี้ในความเป็นจริงปัญหาหารละเมิดสิทธิและความขัดแย้งรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับความสนใจต่อ OIC เป็นอย่างมาก จะเห็นว่าตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมามีคณะทูตประเทศสมาชิก OIC เดินทางเพื่อหาข้อมูลและลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายครั้ง แต่เจ้าหน้าที่รัฐไทยได้พยายามล็อบบี้ทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ OIC มีแถลงการณ์ของสำนักเลขาธิการต่อประเด็นปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

อย่างไรก็ตาม ดร.ศราวุฒิ ได้มีข้อเสนอแนะจากการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ว่า รัฐบาลไทยควรจัดให้มีหน่วยงานติดตามการทำงานของ OIC อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เฉพาะตอนเกิดสถานการณ์ความไม่สงบเท่านั้น ควรมีทูตพิเศษประจำที่สำนักงานใหญ่ของ OIC ที่ประเทศซาอุดิอาระเบียและต้องส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงเข้าประชุมหรือสังเกตการณ์ทุครั้งตามความเหมาะสม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยต้องทำความเข้าใจในเรื่องสถานะของประชากรมุสลิมในประเทศในกรอบความสนใจของ OIC ประเด็นปัญหาที่องค์การให้ความสนใจ ทั้งนี้การได้ข้อมูลจากคนนอกอาจจะทำให้ได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจนทำให้ภาพพจน์ของประเทศเสียหายนำไปสู่ความยุ่งยากในแก้แก้ปัญหา

 

เจ้าหน้าที่ไทยต้องเข้าใจหลักสิทธิในอิสลาม

ข้อแนะนำอีกประการหนึ่งที่เจาะจงสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐคือ จะต้องปรับทัศนคติและทำความเข้าใจบทบาทของ OIC ที่เป็นการรวมกลุ่มประเทศมุสลิมเพื่อดูแลและปกป้องประชาคมมุสลิมโดยเฉพาะประชากรมุสลิมชนกลุ่มน้อยภายใต้กรอบแนวคิดประชาชาติอิสลาม (Islamic Ummah)

ทั้งนี้บทบาทและการทำหน้าที่ของ OIC ที่จะเข้ามามีบทบาทในปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นจะเป็นการทำงานที่คำนึงถึงเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนตามหลักการสากลที่บัญญัติในกฎบัตรสหประชาชาติและความเท่าเทียมเสมอภาคตามหลักการศาสนาอิสลาม ซึ่ง ดร.ศราวุฒิ ย้ำว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไทยต้องทำความเข้าใจ ไม่ใช้การก้าวก่ายเรื่องที่เป็นปัญหาภายในประเทศนั้นๆ แต่อย่างใด

จากกรณีศึกษาเห็นว่า ในทุกกรณี OIC จะเข้ามามีบทบาทเมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชากรกลุ่มน้อยมุสลิมในประเทศนั้นๆ ทั้งการละเมิดเชิงกายภาพและการละเมิดสิทธิทางวัฒนธรรมหรือศาสนา

ดร.ศราวุฒิ จึงมีข้อแนะนำผู้ปฏิบัติงานในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องระมัดระวังต่อการกระทำที่เป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการตีความว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเป็นต้องทำความเข้าใจอย่างจริงจังในเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนในแนวทางอิสลาม เพราะการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศมุสลิมต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจหลักสิทธิมนุษยชนอิสลามควบคู่กับหลักสิทธิมนุษยชนสากล

 

บทบาทประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นสมาชิก OIC

ในกรณีที่ OIC ให้ความสนใจและติดตามปัญหาชนกลุ่มน้อยมุสลิมจนนำไปสู่การออกข้อมติเฉพาะรายประเทศโดยสำนักเลขาธิการใหญ่ ซึ่งหมายถึงการเข้าไปมีบทบาทในการกดดันและมีมาตรการในการแก้ปัญหานั้น ที่ผ่านมาการออกข้อมติดังกล่าวเกิดจากการผลักดันจากประเทศสมาชิก โดยเฉพาะประเทศสมาชิกที่มีพรมแดนติดกันกับพื้นที่ที่เกิดปัญหา

กรณีศึกษาพบว่าความขัดแย้งในแคชเมียร์นั้นมีประเทศปากีสถานเป็นฝ่ายกดดันและรุกหนักเพื่อให้ OIC ออกข้อมติเฉพาะรายประเทศ ในกรณีประเทศบัลแกเรียซึ่งมุสลิมชนกลุ่มน้อยส่วนใหญ่มีเชื้อสายเติร์กทำให้ประเทศตุรกีเป็นผู้ผลักดันต่อการออกข้อมติรายประเทศต่อบัลแกเรีย ในขณะที่กรณีชนกลุ่มน้อยมุสลิมโมโรในฟิลิปปินส์นั้นมีประเทศลิเบียและประเทศมาเลเซียเป็นผู้กดดัน

เมื่อนำกรณีศึกษาเหล่านี้มาเปรียบเทียบกับกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วเห็นว่าประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียน่าจะมีความสำคัญที่สุด ดังนั้นแนวทางที่ ดร.ศราวุฒิเสนอแนะคือ รัฐต้องให้ความสำคัญและรับฟังข้อเสนอที่มีเหตุผลจากเพื่อนบ้านทั้งสองประเทศอย่างจริงใจ ทั้งเพราะมาเลเซียนอกจากจะเป็นประเทศสำคัญในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วยังเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในเวที OIC จึงจำเป็นที่รัฐบาลไทยต้องมีบรรทัดฐานและความเข้าใจในการแก้ปัญหาที่อยู่ในทิศทางเดียวกัน

 

รัฐต้องเปิดกว้างและร่วมมือ

ประเด็นข้อเสนอแนะอีกประการหนึ่งคือ รัฐบาลไทยต้องไม่พยายามปิดกั้นการเข้ามาศึกษาข้อเท็จจริงของ OIC ต่อประเด็นปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ควรให้ความร่วมมือและปรึกษาหารือร่วมกันหาข้อเท็จจริง ซึ่งจะทำให้ผลสรุปจากการศึกษาออกมาอย่างเป็นกลางและมีความน่าเชื่อถือและอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างกันในการแก้ปัญหา

ทั้งนี้กรณีศึกษาที่สำคัญคือ การที่ประเทศอินเดียปฏิเสธอย่างดื้อรั้นต่อการศึกษาข้อมูลของ OIC ต่อกรณีความขัดแย้งในแคชเมียร์ ทำให้เกิดมาตรการกดดันระดับต่างๆ ต่ออินเดีย ซึ่งการปฏิเสธไม่ให้ OIC เข้าศึกษาข้อเท็จจริงทำให้ต้องต้องไปพึ่งแหล่งข้อมูลอื่นภายนอกประเทศ หาข้อมูลจากสื่อ กลุ่มขบวนการ นักวิชาการ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและผู้ลี้ภัย

 

ผลวิจัยบทบาท OIC ต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมจากทั่วโลก

จากงานการศึกษาวิจัยซึ่งตั้งคำถามต่อบทบาทของ OIC ในการช่วยเหลือความทุกข์ยากของชนกลุ่มน้อยมุสลิมนั้นพบว่าปัญหาที่เป็นที่ดึงดูดความสนใจของ OIC ต่อปัญหาชนกลุ่มน้อยนั้นมี 2 ลักษณะคือ กรณีการปราบปรามทำร้ายทางกายภาพอันก่อให้เกิดการความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งกรณีนี้จะเห็นได้ในกรณีของฟิลิปปินส์ที่มีเหตุการณ์ฆ่ามุสลิมในมัสยิดกว่า 70 คน ในมัสยิดเมื่อปี 1960 และปัญหาความขัดแย้งในอินเดียที่เกิดการต่อสู้ระหว่างฮินดูกับมุสลิมจนทำให้ต้องถูกเป็นพลเมืองชั้นสอง

ปัญหาแคชเมียร์ที่เกิดความขัดแย้งขึ้นในปี 1989 ซึ่งรัฐบาลอินเดียใช้กำลังทหารปราบปรามอย่างหนักจนเป็นเหตุให้มีประชาชนเสียชีวิตกว่า 60,000 คน และเกิดการละเมิดสิทธิต่อประชาชนอย่างรุนแรง ผู้หญิงแคชเมียร์ถูกข่มขืนและรูปแบบอื่นๆ อีกหลายรูปแบบ ทำให้ OIC ต้องเข้ามามีบทบาทในการกดดันให้รัฐบาลอินเดียแก้ปัญหา โดย OIC เรียกร้องให้ประชาชนชาวแคชเมียร์มีสิทธิตัดสินชะตาชีวิตของตนเอง (Right to Self-determination) เพราะ OIC ไม่ยอมรับการที่อินเดียผนวกดินแดนแคชเมียร์เป็นของตนตั้งแต่ต้น

อีกลักษณะหนึ่งคือความขัดแย้งและความรุนแรงที่มีความพยายามในการทำลายอัตลักษณ์ทางศาสนาและวัฒนธรรมโดยใช้นโยบายการผสมกลมกลืนอย่างเช่นกรณีมุสลิมชนกลุ่มน้อยในสหภาพโซเวียตเดิม โดยเฉพาะในบัลแกเรียที่มีความพยายามทำลายอัตลักษณ์ทางศาสนาและวัฒนธรรม เช่น การห้ามมุสลิมบัลแกเรียเข้าสุนัติ การออกกฎหมายการเปลี่ยนชื่อมุสลิม การสั่งปิดมัสยิดไม่ให้มุสลิมเข้าไปปฏิบัติศาสนกิจ ห้ามพิธีกรรมทางศาสนาบางอย่างรวมทั้งการพยายามล้างเผ่าพันธุ์อิสลามให้หมดสิ้นตามแนวคิดคอมมิวนิสต์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net