Skip to main content
sharethis

กสร.เผยพิษค่าจ้าง 300 บาท 5 เดือนเลิกจ้าง 1.3 พันคน

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน นายอาทิตย์ อิสโม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้าง ขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ ว่า จากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-17 มิถุนายน 2556 มีสถานประกอบการที่อยู่ในข่ายบังคับทั้งหมด 359,325 แห่ง ลูกจ้าง 7,744,882 คน ในจำนวนนี้มีสถานประกอบการที่ผ่านการตรวจการปรับขึ้นค่าจ้างแล้ว จำนวน 24,237 แห่ง ลูกจ้าง 1,023,551 คน และมีสถานประกอบการปฏิบัติไม่ถูกต้อง จำนวน 508 แห่ง ลูกจ้าง 7,785 คน นอกจากนี้ มีลูกจ้างยื่นคำร้องเรียนนายจ้างปฏิบัติไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่า จ้าง 67 คำร้อง อยู่ในสถานประกอบการ 62 แห่ง ลูกจ้าง 112 คน ดำเนินการไปแล้ว 54 คำร้อง ลูกจ้าง 82 คน ขณะเดียวกันการเลิกจ้างในช่วงเวลาดังกล่าวพบว่ามีสถานประกอบการปิดกิจการ ทั้งหมด 69 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 4,136 คน ในจำนวนนี้มีสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 4 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 336 คน เลิกจ้างบางส่วน 36 แห่ง ลูกจ้าง 1,049 คน

นายอาทิตย์กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบสถานประกอบการพบว่า การไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายมี 2 ลักษณะ คือ 1.ผู้ประกอบการเข้าใจผิดนำสวัสดิการไปรวมกับค่าจ้าง และ 2.ผู้ประกอบการจงใจไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งหากพนักงานตรวจแรงงานพบว่าเป็นความเข้าใจผิดก็จะให้คำแนะนำเพื่อให้ ปฏิบัติให้ถูกต้อง แต่หากเป็นการจงใจฝ่าฝืนก็จะออกเป็นคำสั่งให้ปฏิบัติตามกฎหมายทันที ทั้งนี้หลังจากได้รับคำแนะนำหรือคำสั่งสถานประกอบการส่วนใหญ่ต่างปฏิบัติตาม ด้วยดี อย่างไรก็ตาม หากไม่ปฏิบัติตามก็จะดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 144 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

"จากการประเมินการปรับขึ้น ค่าจ้างขั้นต่ำในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา พบว่าสถานประกอบการส่วนใหญ่ปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับสถานการณ์ขาดแคลนแรงงาน และการเลิกจ้างก็ไม่น่าเป็นห่วง แต่ที่น่ากังวลคือ ขณะนี้พบว่าลูกจ้างใหม่และลูกจ้างเก่ายังมีอัตราค่าจ้างที่เท่ากัน กสร.จึงแนะนำให้นายจ้างใช้ระบบแรงงานสัมพันธ์ในการดูแล เช่น การปรับขึ้นค่าจ้างให้กับลูกจ้างเดิม หรือการเพิ่มสวัสดิการ เพื่อให้ลูกจ้างเดิมมีขวัญและกำลังใจในการทำงาน" นายอาทิตย์กล่าว

(ประชาชาติธุรกิจ, 18-6-2556)

 

เล็งลดแรงงานประสบอันตรายร้อยละ 2 ต่อพันคนต่อปี

18 มิ.ย. 56 - กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เตรียมจัดสัปดาห์ความปลอดภัย 3-5 ก.ค.นี้ พร้อมตั้งเป้าลดสถิติอุบัติเหตุของแรงงานให้เหลือร้อยละ 2 ต่อพันคนต่อปี

นายอาทิตย์ อิสโม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน  เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานโดย กสร.จัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ครั้งที่ 27 ภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจก้าวไกล แรงงานต้องปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี” ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคมนี้ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ เพื่อรณรงค์และกระตุ้นจิตสำนึกให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความปลอดภัยในการทำงาน ทั้งนี้ ภายในงานประกอบด้วยการสัมมนาทางวิชาการ เช่น การอภิปรายหัวข้อ “เศรษฐกิจก้าวไกล สู่ประชาคมอาเซียน” เสวนากฎหมายเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย การแสดงนิทรรศการในโซนต่างๆ เช่น นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ และนิทรรศการกลาง ซึ่งเกี่ยวกับกฎหมายด้านความปลอดภัย โดยในส่วนของการร่วมกิจกรรมสัมมนาวิชาการลงทะเบียนล่วงหน้าได้ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายนนี้ โทรสายด่วน กสร.1546 , www.labour.go.th

หากเทียบทั้งหมดใน 10 ประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน (เอซี)ส่วนใหญ่มีสถิติลูกจ้างประสบอันตรายจากการทำงานใกล้เคียงกันยกเว้น สิงคโปร์มีน้อยที่สุด ในส่วนประเทศไทยจำนวนลูกจ้าง 1,000 คน มีลูกจ้างประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานอยู่ที่ร้อยละ 4.6 ต่อปีถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อย นอกจากนี้ ผลการตรวจความคุ้มครองความปลอดภัยของ กสร.ในช่วงเดือนตุลาคม 2555 - พฤษภาคม 2556 มีสถานประกอบการผ่านการตรวจทั้งหมด 10,788 แห่งในจำนวนนี้ปฏิบัติถูกต้องถึงร้อยละ 94 มีเพียงร้อยละ 6 ที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม กสร.ตั้งเป้าหมายจะลดสถิติลูกจ้างประสบอันตรายจากการทำงานจากร้อยละ 4.6 ต่อ 1,000 คนต่อปี จะลดลงให้ได้ร้อยละ 2 ต่อปี จนกระทั่งสถิติลดลงเหลือศูนย์ แต่คงต้องใช้เวลาดำเนินการ โดยจะให้เจ้าหน้าที่ตรวจความปลอดภัยของ กสร.ตรวจสอบความปลอดภัยในสถานประกอบการต่างๆ ให้เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี การก่อสร้างต่างๆ จะต้องตรวจสอบดูแลให้มากยิ่งขึ้น และรณรงค์ให้สถานประกอบการใช้สัญลักษณ์สากลเพื่อให้แรงงานต่างด้าวได้มีความ เข้าใจและมีความปลอดภัยในการทำงานด้วย

(สำนักข่าวไทย, 18-6-2556)

 

ก.แรงงานลุยตั้งศูนย์ฯ แก้ปัญหาค่าแรงขั้นต่ำ

นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงานเปิดเผยว่าจากการประกาศปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวัน ละ?300?บาท และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556?เป็นต้นมานั้น ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs นั้น คือการขาดเงินทุน สภาพคล่องทางการเงินและขาดแรงงานมีฝีมือที่สอดคล้องกับอัตราค่าจ้างใหม่ ด้วยเหตุนี้ศูนย์สนับสนุนผู้ประกอบการให้พร้อมจ่ายอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จึงถือกำเนิดขึ้นพร้อมมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยคลี่คลายปัญหาได้รอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาขาดเงินทุนและขาดแรงงานมีฝีมือ

โดยผู้ประกอบ SMEs ทุกรายที่ประสบปัญหาสามารถมาขอคำปรึกษาและความช่วยเหลือได้โดยไม่มีค่า ธรรมเนียม ที่ศูนย์สนับสนุนผู้ประกอบการให้พร้อมจ่ายอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะแนะนำทางออกผ่านมาตรการต่างๆ ที่เหมาะสมกับปัญหาของผู้ประกอบการแต่ละราย ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนให้นักธุรกิจ SMEs ทั้งหลายมาใช้บริการ ศูนย์สนับสนุนผู้ประกอบการให้พร้อมจ่ายอัตราค่าจ้างขั้นต่ำได้ตั้งแต่วันนี้ ที่สำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ

(แนวหน้า, 19-6-2556)

 

"ยิ่งลักษณ์" เชื่อมั่นทักษะฝีมือแรงงานไทยสู้นานาชาติได้

(20 มิ.ย.) เวลา 09.00 น. นายภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารมว.ศึกษาธิการ นำคณะผู้แทนประเทศไทย และคณะอาจารย์ ที่จะเดินทางไปแข่งขันคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เคมี ชีววิทยา และฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ประจำปี 2556 เข้าเยี่ยมคารวะและรับโอวาทจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งว่า เยาวชนทุกคนเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ เพราะการเรียนวิชาเหล่านี้ต้องใช้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ไม่สามารถท่องจำได้ ตนในฐานะนายกรัฐมนตรีรู้สึกภูมิใจที่เยาวชนไทยสามารถพิชิตเหรียญรางวัลได้ ถึง 97เหรียญ และเป็นที่ 1 ในสาขาชีวะ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ขอให้ภูมิใจในตัวเอง และขอให้นำความขยันและความเก่งที่ตัวเองมีกลับมาพัฒนาตนเองและช่วยเหลือ ประเทศชาติต่อไป

"รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนการศึกษาของเยาวชน โดยขณะนี้กำลังพูดคุยกับกระทรวงศึกษาธิการว่าจะทำอย่างไรที่จะปฏิรูปการ ศึกษาให้ดีขึ้น ทั้งเรื่องการเรียนการสอน การปรับหลักสูตร การเสริมทักษะของเด็กตั้งแต่เริ่มต้นจนจบหลักสูตร ซึ่งต้องใช้เวลาในการปลูกฝัง" นายกรัฐมนตรี กล่าว

จากนั้นเวลา 09.30 น. นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน นำคณะผู้เข้าร่วมการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 51 ที่จะเดินทางไปแข่งขันที่ประเทศเยอรมัน และเจ้าหน้าที่ เข้าเยี่ยมคารวะและรับโอวาทจากนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปมากโดยเฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยี การแข่งขันในเรื่องของสินค้าและอุตสาหกรรมมีสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ ที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับการยอมรับในเรื่องของฝีมือแรงงาน แต่ยังไม่เพียงพอ เราต้องมีการพัฒนาเพิ่มเพื่อต่อยอดฝีมือแรงงานให้กับภาคอุตสาหกรรม และในอนาคตก็อาจจะได้เป็นเจ้าของกิจการของตัวเอง ที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับเหรียญทองในหลายสาขา อาทิ ช่างเครื่องกลึง ช่างเชื่อม ช่างออกแบบโมเดลต่าง ๆ  ดังนั้นขอให้ภาคภูมิใจในความเป็นประเทศไทย การเดินทางไปแข่งขันในครั้งนี้ ก็ขอให้ได้เรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ เพื่อที่จะนำกลับมาพัฒนาตัวเองและพัฒนาประเทศต่อไป

(เดลินิวส์, 20-6-2556)

 

เผย ILO ยกนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทของไทยสร้างสัมพันธ์ 3 ฝ่าย

20 มิ.ย. 56 - ไอแอลโอชมนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทของไทย เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้างที่ดี ขณะที่ไทยชูแผนระดับชาติเรื่องงานที่มีคุณค่าเพื่อแก้ปัญหาค้ามนุษย์ และนโยบายการดูแลแรงงานนอกระบบ ในการประชุมใหญ่ไอแอลโอ ที่กรุงเจนีวา เมื่อเร็วๆ นี้

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงผลการประชุมใหญ่ประจำปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 5-20 มิ.ย. ที่ผ่านมาว่า ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่าประเทศไทยได้ดูแลแรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยผ่านระบบประกันสังคม และมีประกันสังคม มาตรา 40 เพื่อดูแลแรงงานนอกระบบให้มีความมั่นคงของชีวิต และมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพ และหน่วยงานรัฐได้บูรณาการการทำงานเพื่อดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ เตรียมรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย

ขณะเดียวกันประเทศไทยยังได้จัดทำแผนระดับชาติเรื่องงานที่มีคุณค่า และยังเน้นการทำงานที่สามารถตรวจสอบได้ เพื่อให้หลุดพ้นจากการถูกกล่าวหาในเรื่องการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ ได้ขอให้ไอแอลโอช่วยสนับสนุนด้านวิชาการ

การประชุมครั้งนี้ไอแอลโอได้ขอให้ประเทศสมาชิก 185 ประเทศ ปรับเปลี่ยนพันธสัญญาไตรภาคีของแต่ละประเทศ เพื่อก้าวสู่ศตวรรษใหม่ ซึ่งในส่วนของไทยได้รับคำชมเชยเรื่องนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น วันละ 300 บาททั่วประเทศ เนื่องจากเป็นความร่วมมือกันอย่างดีระหว่างฝ่ายภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง ถือเป็นตัวอย่างที่ดี

นอกจากนี้ในที่ประชุมยังได้หารือถึงระบบการพัฒนาฝีมือแรงงานและระบบคุ้ม ครองแรงงาน (Safety Net) เพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ตกงาน หรือผู้ว่างงานให้ได้รับการดูแลในเรื่องสวัสดิการและสภาพแวดล้อมการทำงาน รวมถึงได้รับการดูแลด้านสุขภาพ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้ในช่วงที่ถูกเลิกจ้างหรือไม่มีงานทำ

(สำนักข่าวไทย, 20-6-2556)

 

มาเลย์ส่งกลับ 35 แรงงานไทยลอบทำงานผิด กม.

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จ.สงขลา  พ.ต.อ.กานต์ ธรรมเกษม ผกก.ตม.จว.สงขลา พร้อมด้วย พ.ต.ท. ชุมพล บัวชุม  สว.ตม.จว.สงขลา ประจำด่านพรมแดนสะเดา  รับมอบแรงงานไทยทั้งชายและหญิงจำนวน 35คน เป็นชาย6 คนหญิง29 คน ที่ถูกทางการมาเลเซียจับกุมหลังจากลักลอบเข้าไปทำงานในรัฐเคดาห์ในประเทศ มาเลเซียโดยผิดกฏหมายและถูกผลักดันกลับประเทศ

จากการตรวจสอบส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาคเหนือและภาคอีสาน เข้าไปทำงานในร้านต้มยำกุ้ง สถานบริการนวดแผนโบราณ และร้านคาราโอเกะ โดยใช้พาสปอร์ตแฝงตัวเข้าไปในลักษณะของนักท่องเที่ยว

โดยทางเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองและสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ จ.สงขลา จะทำการตรวจสอบเพื่อคัดแยกแรงงานทั้งหมดว่าสมัครใจเข้าไปทำงานหรือมีรายใด บ้างที่ถูกหลอกและเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติเพื่อดำเนินการช่วย เหลือและส่งกลับภูมิลำเนาต่อไป

(โพสต์ทูเดย์, 22-6-2556)

 

จับแรงงานพม่า 24 คน ในไร่อ้อยดอดเข้า กทม.

นายปรีชา ใจเพชร นายอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่ามีแรงงานต่างด้าวชาวพม่าหลายคนกำลังเดินอยู่ กลางไร่อ้อย หมู่ 2 บ้านเมืองทอง ตำบลแม่ปะ จึงสั่งการให้นายสมเดช ต๊ะทองคำ ผู้ใหญ่บ้านแม่ปะกลาง นำกำลังสมาชิกรักษาดินแดนกองร้อยอำเภอแม่สอด ที่ 3 ร่วมกับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านแม่ปะกลาง เข้าไปตรวจสอบพบแรงงานต่างด้าวชาวพม่า จำนวน 24 คน แบ่งเป็นชาย 17 คนหญิง 7 คน ซุมอยู่ในไร่อ้อย จึงได้เข้าปิดล้อมทำการจับกุม และควบคุมตัวแรงงานต่างด้าวชาวพม่ามาทำการสอบสวน

จากการสอบสวนนายอาวิน อายุ 20 ปี ไม่มีนามสกุลสัญชาติพม่า ให้การว่า ตนเดินทางมาจากจังหวัดเมียวดี ประเทศพม่า ได้รับการติดต่อจากขบวนการขนแรงงานต่างด้าวชาวพม่า เพื่อนำพาเดินทางเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ โดยตนได้จ่ายเงินให้แก่กลุ่มขบวนการดังกล่าวก่อนหน้าแล้ว เป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท โดยมีชาวพม่าเป็นคนนำพาพวกตนไปหาผู้ประกอบการที่กรุงเทพฯ เพื่อจะไปทำงานเป็นแม่บ้าน และก่อสร้าง

(เนชั่นทันข่าว, 24-6-2556)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net