Skip to main content
sharethis

คลิปการปาฐกถา "ชีวประวัติของพลเมืองไทย : กำเนิดพัฒนาการและอุปสรรคกับภาระกิจการปกป้องประชาธิปไตย (2475 - ปัจจุบัน)" โดย อ.ดร.ณัฐพล ใจจริง เมื่อ 24 มิถุนายน 2556 ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสครบรอบ 81 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ที่หอประชุมพูนศุข พนมยงค์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ กรุงเทพมหานคร มีการแสดงปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2556 โดย ดร. ณัฐพล ใจจริง อาจารย์ประจำสาขาวิชาการปกครองท้องถิ่น ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา โดยหัวข้อการปาฐกถาคือ "ชีวประวัติของพลเมืองไทย : กำเนิดพัฒนาการและอุปสรรคกับภาระกิจการปกป้องประชาธิปไตย (2475 - ปัจจุบัน)"

ทั้งนี้ณัฐพลระบุว่าเป้าหมายของบทความดังกล่าว คือ บททดลองการนำเสนอประวัติศาสตร์สามัญชน เพื่อคืนตำแหน่งแห่งที่ของสามัญชน กลับสู่ประวัติศาสตร์ไทย หรือคืนบทบาทพลเมืองกลับสู่ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย ด้วยการพยายามฉายภาพความเป็นมาของสถานะของผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้ ภายใต้การปกครองตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบันว่าเป็นเช่นไร ตลอดจนให้ภาพวิถีชีวิตของผู้คนในอดีตและความยากลำบากในการเปลี่ยนแปลงสถานะหนึ่งไปสู่อีกสถานะหนึ่ง เช่น "ไพร่" "ราษฎร" ที่ต่ำต้อย มาสู่ "พลเมือง" ผู้ทรงคุณค่าเป็นผู้มีเสรีภาพและความเสมอภาคภายใต้ระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งการเรียกร้องให้พลเมืองมีความตระหนักในการพิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่อำนวยถึงความเป็นคนให้กับสมาชิกทุกคนในชุมชนทางการเมืองเหมือนดังคำกล่าวที่ว่า "พลเมืองเท่ากับความเป็นคน"

ณัฐพล ระบุในปาฐกถาว่า ในประเทศประชาธิปไตย การเขียนถึงประวัติศาสตร์สามัญชน ผู้มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นเรื่องปกติ ขณะที่ของไทยนั้นยากจะปรากฏ ทั้งมีงานเขียนประวัติศาสตร์มหาบุรุษ เข้ามาครองพื้นที่ความรู้อย่างมากในสังคมไทย โดยงานเขียนชนิดนี้ถูกคนชั้นปกครองใช้ครอบงำผู้ถูกปกครองให้จำนนและเจียมตัวให้สมฐานะแห่งตน จนอาจเกิดคำถามถึงผลกระทบของความรู้เช่นนี้ที่มีต่อความมั่นคงและความยั่งยืนของประชาธิปไตยไทย

หากความมั่นคงและยั่งยืนของระบอบประชาธิปไตยไทยตั้งอยู่บนความรู้ความเข้าใจ ความภูมิใจและการตระหนักในความสำคัญของคนทุกคนในฐานะผู้ที่ทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย ที่มีสิทธิและหน้าที่แล้วไซร้ หน้าที่ประการหนึ่งที่พลเมืองในสังคมประชาธิปไตยทุกคนพึงมีคือการพิทักษ์ปกป้องระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น หนึ่งในหนทางในการธำรงความมั่นคงให้กับระบอบการปกครองดังกล่าว คือ การส่งเสริมการสร้างความรู้ความเข้าใจในที่มาแห่งตน ความยากลำบากในการเปลี่ยนแปลงสถานะจากความต่ำต้อยสู่เสรีภาพและความเสมอภาคของผู้คนให้กับพลเมือง หรือการเขียนประวัติศาสตร์ไทยให้สอดคล้องกับสังคมประชาธิปไตยด้วย

ในวาระสำคัญแห่งการรำลึกถึง 8 ทศวรรษ 2475 และ 4 ทศวรรษ 14 ตุลาคม 2516 จึงดูเหมือนไม่มีหัวข้อใดที่เหมาะสมไปกว่าการกล่าวถึงชีวประวัติพลเมืองไทย ที่พยายามให้ภาพความเป็นมาของสามัญชนไทยผู้เคยเดินผ่านความขมขื่น ความเบิกบาน ความทุกข์ระทมที่แปรเปลี่ยนไปตามบริบทการเมืองการปกครองในแต่ละยุคสมัย

ในตอนท้ายของปาฐกถา ณัฐพลกล่าวว่า มีคำถามมากมายเกี่ยวกับอะไร คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดขบวนการพลเมืองผู้พิทักษ์ประชาธิปไตย อย่างการเคลื่อนไหวของพวกเสื้อแดงที่สร้างแนวอย่างร่วมกว้างขวางภายหลังการรัฐประหาร 2549 มีงานที่วิจัยศึกษาพบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้พวกเขาเกิดสำนึกพลเมืองอย่างเข้มข้น เนื่องจากพวกเขาเล็งเห็นถึงคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย จึงต้องการต่อสู้เพื่อยืนยันสิทธิและศักดิ์ศรีของความเท่าเทียมทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ที่ทำให้พวกเขาได้มีโอกาสทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมผ่านการเลือกตั้ง

และหากจะการถามถึงสภาพความทางการเมืองของไทยในช่วงที่ผ่านมาว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ได้มีนักวิชาการเสนอสาเหตุไว้ 3 ประการดังนี้ ก็คือ หนึ่ง สังคมไทยได้เกิดพลังทางการเมืองใหม่ที่สนับสนุนประชาธิปไตย คือพวกเสื้อแดง ซึ่งประกอบขึ้นมาจากผู้คนที่มาจากชนบทเป็นส่วนใหญ่ สอง กลุ่มอภิชนคนชั้นสูงหรือพวกอำมาตย์ ไม่ยอมปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงของโลก ที่เคลื่อนเข้าสู่กระแสประชาธิปไตย แต่คนเหล่านี้ยังต้องการบงการระบอบการปกครองของไทยต่อไป สาม ความไม่แน่นอนทางการเมือง และปัญหาผู้สืบทอดในช่วงปัจจุบัน

เป็นเวลากว่า 80 ปี ที่สถานะความเป็นพลเมือง และสำนึกความเป็นพลเมืองได้ถือกำเนิดขึ้นจากการปฏิวัติ 2475 ซึ่งได้สถาปนาระบอบประชาธิปไตย และหลักการสำคัญขึ้นในประเทศว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย ระบอบการปกครองนี้ได้ยืนยันหลักเสรีภาพ สิทธิ และความเสมอภาคให้กับทุกคน และยกสถานะให้ทุกคนพ้นจากการเป็นคนที่ถูกปกครองมาสู่พลเมืองผู้เป็นเจ้าของประเทศ เป็นผู้มีเสรีภาพ และสิทธิอย่างเต็มเปี่ยมในการปกครองและการกำหนดทิศทางของประเทศร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม จากการที่ได้ให้ภาพมาตั้งแต่ต้น เส้นทางชีวิตของพลเมืองและระบอบประชาธิปไตยมิได้มีความราบรื่น แต่ต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคาม อุปสรรคนานัปการ จากกลุ่มอภิชนคนชั้นสูงและกองทัพที่มักเข้ามาทำลายระบอบประชาธิปไตย และลดสถานะความสำคัญของพลเมืองลงหลายครั้ง และหลายครั้งที่ผ่านมา พลเมืองก็พ่ายแพ้ และสูญเสียชีวิต แต่ก็มีบางครั้งที่พลเมืองสามารถทัดทานอำนาจของกลุ่มอภิชนคนชั้นสูงได้บ้าง ถึงกระนั้นก็ดีการประลองกำลังของฝ่ายนิยมประชาธิปไตยกับอภิชนาธิปไตยในสังคมไทยยังไม่สิ้นสุดลง ดังนั้น บนหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของไทยที่มีสามัญชนเป็นตัวเดินเรื่องจึงเป็นเพียงหน้าแรกๆ ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับเหล่าพลเมืองที่จะมีส่วนร่วมกันในการเขียนประวัติศาสตร์สามัญภายใต้สังคมประชาธิปไตย ท่ามกลางกระแสของการประลองกำลังทั้งสองฝ่าย จึงไม่มีสิ่งใดประกันความปลอดภัยให้กับสถานะพลเมืองของเราท่านได้ นอกจากเราท่านทั้งหลายจะต้องไม่ประมาท มีความตระหนักรู้เท่าทัน และสั่งสมพลังเพื่อพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยของไทยต่อไป

ดังคำกล่าวที่สำคัญของรุสโซที่ว่า "การดำรงระบอบประชาธิปไตยไม่ให้เป็นอื่นนั้น จำต้องมีพลเมืองที่ระวังระไวและเข้มแข็ง พลเมืองต้องสั่งสมพลังและความหนักแน่น เพื่อไว้ใช้เป็นอาวุธและป้องกันรักษาระบอบนี้"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net