Why or why not: นาปรังอินทรีย์ในที่ลุ่มภาคกลาง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บทความชิ้นที่ 6 ของ นิรมล ยุวนบุณย์ ในชุดบทความ ข้าวนาปรัง : ความสัมพันธ์ ความเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งของสังคมไทยในชุมชนเกษตรภาคกลาง โดยจะทำการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการผลิต  ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมไทย ในการศึกษาชุดความรู้นี้ ทางประชาไทจะทยอยนำเสนอบทวิเคราะห์ที่มีความเชื่อมโยงกับประเด็นข้างต้นจำนวน 6ชิ้น

อนึ่ง ภายในไตรมาสที่สองของปี  2556 ประชาไท จะทยอยนำเสนอบทความที่จะพยายามทำความเข้าใจวิถีชีวิตและความสัมพันธ์การผลิตของชนบทไทยในปัจจุบัน 4ประเด็นคือเกษตรอินทรีย์, เกษตรพันธสัญญากรณีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภาคเหนือ,พืชเศรษฐกิจในภาคอีสาน และการทำนาปรังในภาคกลางที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้

ต้องขอบคุณรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ให้ความสำคัญกับฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชนชั้นกลางระดับล่างอย่างชาวนา  และรักษาสัญญาที่ให้ไว้ในช่วงหาเสียงกับพวกเขา  หลัง ครม. มีมติเห็นชอบตามผลสรุป การประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่จัดให้มีขึ้นทันทีหลังเปลี่ยนตัว รมต.กระทรวงพาณิชย์คนใหม่  เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ซึ่งเสนอให้กลับไปใช้ราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ที่ตันละ 15,000 บาท เหมือนเดิม โดยจะรับจำนำเฉพาะปริมาณที่เกษตรกรได้ลงทะเบียนและได้ใบรับรองแล้วเท่านั้น  และกำหนดวงเงินไม่เกินครัวเรือนละ 500,000 บาท กำหนดเวลารับจำนำไปจนถึงวันที่ 15 กันยายน นี้  ส่วนชาวนาที่จำหน่ายข้าวในราคารับจำนำ 1.2 หมื่นบาท ไปเมื่อ 30 มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงรอผลการประชุม กขช. ครั้งล่าสุดนั้น รัฐบาลจะชดเชยคืนให้เท่ากับราคาที่ปรับกลับมาเท่าราคาเดิม 

นับตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เริ่มดำเนินโครงการรับจำนำข้าว องค์กรในภาคประชาสังคมที่ทำงานส่งเสริมระบบเกษตรอินทรีย์และวิถีพอเพียงได้แสดงความไม่เห็นด้วยต่อโครงการฯ นี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยให้โครงการฯ ส่งผลให้ชาวนาทำนาอินทรีย์น้อยลง คุณภาพข้าวทั่วไปที่ได้ก็ด้อยลง เพราะการเร่งผลิตเพียงให้ได้ปริมาณมากเพื่อนำผลผลิตมาเข้าโครงการ[1] เดชา ศิริภัทร แกนนำเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เสนอว่าจะแก้ไขปัญหาของชาวนาได้ก็ต้องพัฒนาระบบผลิตอินทรีย์ให้ได้ หรือ “พึ่งตนเองก่อน”  รัฐบาลควรหันมาสนับสนุนการทำนาอินทรีย์และยกเลิกการใช้/โฆษณาสารเคมีการเกษตร [2]   และควรเก็บภาษีสารเคมีการเกษตรแล้วนำเงินที่ได้มาจัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ รูปแบบเดียวกับการตั้งกองทุนของสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) [3]   พ้องกันกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าและอาหารแห่งชาติ  ที่เสนอว่าไทยควรจัดเก็บภาษีสารเคมีการเกษตร อันจะช่วยลดการใช้ส่วนที่ไม่จำเป็นลง[4]  โดยควรเก็บภาษีสารเคมีตามระดับความรุนแรงของสารออกฤทธิ์  แต่ก็ยอมรับว่ายังไม่มีข้อมูลเพียงพอเรื่องการใช้สารเคมีการเกษตรของเกษตรกร[5]

บทส่งท้ายของกรณีศึกษานี้จะว่าด้วยเรื่องเทคนิคการผลิตที่ชาวนาปรังภาคกลางในพื้นที่รับน้ำนองเลือกใช้ท่ามกลางเงื่อนไขต่างๆ โดยจะเน้นการทำความเข้าใจว่าเหตุใดพวกเขาถึงไม่เลือกทำนาแบบอินทรีย์ แต่กลับพยายามใช้วิธีการอื่นๆ ในการลดต้นทุนการผลิต ในขณะที่ผลผลิต/ไร่ในระดับที่สามารถพออยู่รอดได้ก็ต้องไม่ต่ำกว่าไร่ละ 80 ถัง ทั้งนี้ บทความนี้ต้องการเสนอข้อมูลและมุมมองอื่นที่พ้นไปจากการด่วนประณามชาวนาว่าโลภและไม่รู้จักพอเพียง จนนำมาสู่การใช้สารเคมีการเกษตร รวมทั้งการดูแคลนชาวนาว่าขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้สารชีวภาพต่างๆ อย่างถูกวิธี

 

ข้าวราคาดีไม่ทำให้ใช้สารเคมีเพิ่มขึ้นเสมอไป

แน่นอนว่าชาวนาต้องการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน ไม่ว่าพวกเขาจะขายข้าวได้ราคาถูกหรือแพง  เพราะนี่คือหนทางเดียวที่พวกเขาสามารถควบคุมได้ภายใต้โครงสร้างการผลิตที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มมากขึ้นและส่งผลกระทบต่อแผนการผลิต  การแพร่กระจาย และสะสมของโรคแมลง   โครงสร้างการจัดการน้ำ  การกระจุกตัวของที่ดินในมือนายทุน  และกลไกตลาดที่พวกเขามักถูกเอาเปรียบ  

จากการสำรวจการจัดการข้าวตั้งแต่เริ่มหว่านจนถึง เก็บเกี่ยว ผู้ศึกษาพบว่า   ปัจจุบันชาวนาปรังมีการนำปุ๋ยอินทรีย์และสารชีวภาพเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตเพิ่มมากขึ้น  ทั้งแบบที่จำหน่ายสำเร็จรูปและแบบที่นำหัวเชื้อมาหมักเองเพื่อลดต้นทุน  โดยใช้ควบคู่ไปกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมี   ดังกรณีของสมดี ตันติโน  และกรณีของประเสริฐ  พุ่มพวง และเพื่อนชาวนาในทุ่งนาคู [6] ซึ่งหันมาทำนาลดต้นทุนเมื่อเข้าโครงการรับจำนำ


รูป A001-สารชีวภาพและเคมี

สมดีบอกว่าปุ๋ยอินทรีย์ใช้ได้สะดวกรวดเร็วโดยใช้ร่วมกับเครื่องพ่นปุ๋ยเคมี ทั้งนี้ สมดีเห็นผลชัดเจนในการลดต้นทุน ขณะที่ผลผลิตก็ไม่ได้ลดลงจากเดิมนัก ส่วนประเสริฐนั้นเขาหันมาใช้บิวเวอร์เรียและสารสมุนไพรชีวภาพควบคุมแมลงศัตรูพืชเพราะสามารถในการเข้าถึงความรู้ เทคนิควิธี  วัตถุดิบทางเลือก  และหาซื้อปุ๋ยอินทรีย์สำเร็จรูปได้ง่าย  จนทำให้มีผลกำไรเพิ่มขึ้นจากเดิมแม้ต้นทุนค่าเช่าที่นาจะเพิ่มสูงขึ้น  ซึ่งทั้ง 2 กรณีนี้สะท้อนให้เห็นว่า ราคาข้าวรับซื้อที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ได้มีผลทำให้พวกเขาเพิ่มผลผลิตโดยใช้สารเคมีการเกษตรเพิ่มขึ้นเสมอไป  ราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นไปถึงตันละ 1.5 หมื่นบาท ทำให้ประเสริฐคำนวณได้ว่าแม้ผลผลิตจากการทดลองใช้ชีวภาพจะลดลง แต่ก็ทำให้ผลกำไรเพิ่มสูงขึ้น

“เราคิดแล้วว่าถ้าลองมาใช้วิธีแบบนี้แล้วผลผลิตลดเหลือ 80 ถัง แต่ทุนต่ำกว่า แต่ยังขายข้าวในราคาจำนำ(ที่1.5 หมื่นบาทในขณะนั้น-ผู้ศึกษา)  ก็ยังพอคุ้มอยู่”  ประเสริฐกล่าว

 

ปลูกข้าวอายุสั้น เพราะมันจำเป็น

พยงค์  สภาพโชติ  เลือกปลูกข้าว 51 ซึ่งเป็นข้าวอายุสั้น มีอายุตั้งแต่การหว่านจนถึงเก็บเกี่ยวเพียง 85 วันเท่านั้น ข้าวพันธุ์นี้ไม่ใช่พันธุ์ที่กรมการข้าวส่งเสริมและไม่สามารถขายเข้าโครงการรับจำนำได้[7]  เมื่อขายจึงมีราคาถูก แต่เนื่องจากสภาพแปลงนาของเธอเสี่ยงต่อน้ำท่วมมาก เธอจึงเลือกปลูกข้าวชนิดนี้ โดยพยายามใช้เทคนิคการผลิตที่ช่วยให้ได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 1 ตัน/ไร่/ฤดูปลูก [8]   สอดคล้องกับ วิชัย นิลเขต ชาวนา ม.4 ต.นาคู ซึ่งมีนาตัวเองแค่ 5 ไร่และเช่านาทำอีกเกือบ 40 ไร่ วิชัยปลูกข้าว กข.47 ซึ่งมีคุณสมบัติต้านเพลี้ย มีอายุการผลิตเพียง 90วัน ซึ่งน้อยกว่า 110 วัน เป็นยังเป็นพันธุ์ข้าวที่โครงการรับจำนำข้าวรับรอง  ชาวนาเหล่านี้ต้องการทำนาปรังให้ได้ปีละ 2 ครั้ง ก่อนพื้นที่จะถูกน้ำจะท่วมจนหมดเป็นเวลานาน 4 เดือน

 

ข้าวหอมปทุม  : ข้าวดีที่ยังรอความหวัง

ช่วงที่ข้าวพันธุ์หอมปทุมหรือข้าวปทุมธานีถูกคิดค้นออกมาใหม่ๆ มีเสียงวิจารณ์ว่าพ่อค้าส่งออกข้าวมักนำข้าวชนิดนี้ไปปะปนกับข้าวหอมมะลิ เนื่องจากมีคุณสมบัติหอมและเม็ดเรียวยาว ใกล้เคียงกับข้าวขาวดอกมะลิ 105 จนเกิดผลเสียต่อการส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยในต่างประเทศ  แต่สำหรับชาวนาปรังภาคกลางแล้ว มันเป็นโอกาสที่พวกเขาจะได้ผลิตข้าวนาปรังราคาดี  สามารถขายให้โรงสีสีเป็นข้าวกล้องและข้าวขาวได้  แม้ข้าวพันธุ์หอมปทุมจะไม่นุ่ม หอม และกินอร่อยเท่าข้าวหอมมะลิก็ตาม

สมดี  ซึ่งมีนา 38 ไร่ และเช่านาทำเพิ่มหลายแปลงในหลายทุ่ง รวม 160 ไร่  เล่าว่า  เขาเคยปลูกข้าวหอมปทุมตั้งแต่ช่วงที่ข้าวชนิดนี้ออกมาใหม่ๆ เมื่อราวปี พ.ศ. 2548 – 49  เพราะข้าวนี้ขายได้ราคาดีและให้ผลผลิตดี คือประมาณ 1 ตัน/ไร่   ดีกว่าข้าวนาปรังทั่วไป เช่น กข.41 และ ชัยนาท ที่เอาไว้ใช้ทำแป้ง เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน และข้าวนึ่ง อย่างไรก็ดี ต่อมามีการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเมื่อปี พ.ศ. 2552-53  จนเกิดความเสียหาย  เขาจึงเลิกปลูกข้าวชนิดนี้มาจนถึงปัจจุบัน นี่ก็สอดคล้องกับที่กรมการข้าวเองก็แนะให้ชาวนาหลีกเลี่ยงการปลูกข้าวพันธุ์หอมปทุมในช่วงที่มีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลแพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีโครงการประกันรายได้สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็ยังมีชาวนาบางรายเสี่ยงปลูกข้าวชนิดนี้เพราะราคาเป็นแรงจูงใจ   แต่เนื่องจากราคาข้าวหอมปทุมสูงกว่าข้าวนาปรังทั่วไป ผู้ปลูกจึงมักหลีกเลี่ยงการขึ้นทะเบียนพันธุ์ข้าวหอมปทุมและใช้ชื่อพันธุ์ข้าวนาปรังทั่วไปแทนเพื่อให้ “ส่วนต่างหรือเงินชดเชย” [9] ที่มากกว่า   นั่นเท่ากับเป็นการตอบโต้ของพวกเขาต่อการเลือกผลิตข้าวคุณภาพดีที่มีความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น แต่ราคาขายและค่าชดเชยยังต่ำกว่าที่พวกเขาคาดหมาย

 

ข้าวหอมชลสิทธิ์ อีกทางเลือกของชาวนาในที่รับน้ำนอง?   

คณะนักวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำพันธุ์ข้าวหอมชลสิทธิ์ [10]  ซึ่งเป็นข้าวนาปรังไม่ไวแสงสายพันธุ์ใหม่  มีคุณสมบัติพิเศษคือทนน้ำท่วมฉับพลันได้นาน 2 สัปดาห์  มาทดลองปลูกในนาที่เป็นจุดเส้นทางน้ำใน จ. พระนครอยุธยา อุตรดิตถ์  และพิจิตร ทั้งนี้  สหกรณ์การเกษตรผักไห่ จำกัด ได้เข้าร่วมโครงการนี้และทำการทดลองปลูกครั้งแรกเมื่อต้นฤดูปลูกปี 2553 ผลจากการการปลูกทดลองในฤดูปลูกนาปรังที่ 2 พบว่า สามารถเจริญเติบโตได้ดีโดยไม่จำกัดความลึกของระดับน้ำ ให้ผลผลิตระหว่าง 900-1,000 กิโลกรัม/ไร่   ผลดังกล่าวทำให้  สวทช. ตั้งเป้าหมายที่จะขยายการผลิตให้ครอบคลุมพื้นที่ปลูก 1.6 แสนไร่ ในภาคกลาง โดยมีงบประมาณสนับสนุนถึง 40 ล้านบาท [11]  อย่างไรก็ดี ชาวนาในทุ่งลาดชะโดส่วนใหญ่ไม่สนใจข้าวหอมชลสิทธิ์ มีบางรายที่ทดลองปลูกแต่ผลที่ได้ก็ไม่น่าพอใจ

อดีตครูมัธยมในกรุงเทพฯ รายหนึ่งกลับมาอยู่บ้านและเริ่มทำนาได้ไม่นาน  ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการทดลองปลูกข้าวหอมชลสิทธิ์ ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2553 โดยใช้ที่นาตนเอง 3 แปลง รวม 36 ไร่ ใน อ.จักราช และ อ.นาคู  ปลูกแบบนาดำ ดูแลและควบคุมแมลงศัตรูพืชใช้ตามวิธีปกติ ผลที่ได้คือ แปลงนาขนาด 24 ได้ยข้าวแค่ 6 ตัน เท่านั้น  ส่วนอีก 2 แปลง ขนาด 4 ไร่และ 6 ไร่ รวมเป็น 10 ไร่ ได้ผลผลิต 6 ตัน อดีตครูสรุปบทเรียนได้ว่า ผลผลิตที่ต่ำเกิดขึ้นจากการที่ที่นาของเธอยังปรับได้ไม่เรียบ ทำให้จัดการน้ำและปุ๋ยไม่ได้ดี ประกอบกับใช้ปุ๋ยเคมีมากไปทำให้ต้นข้าวอวบงาม อีกทั้งยังเป็นช่วงที่เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลแพร่ระบาด   

“ตอนแรกหลังจากดำนา ข้าวดีมากเลย แต่พอใกล้เก็บเกี่ยว อีก 10 วัน เพลี้ยมันไปอยู่ในกอข้าว  เราฉีดยามันก็ไม่ลง มันก็เกิดการสะสมอยู่อย่างนั้น  มันลงเป็นบางจุดแต่เราคุมไม่อยู่ เราคิดว่าอยู่แล้วแต่มันไม่อยู่  ลงดำเมื่อ 17 มกราคม   ถ้าเกี่ยวตามกำหนดก็ประมาณวันที่ 23 เมษายน  แต่เราเกี่ยวก่อนคือ 17 เมษายน เกี่ยวหนีเพลี้ย นา 24 ไร่ ได้ข้าว 6 ตัน และมีข้าวลีบปนมาก เกี่ยวมาแล้วเครียดมาก   อีกแปลงเราเก็บข้าวดีดหมดแล้ว ไปเจอเพลี้ย ที่ไปตกแอ่งมีน้ำขัง เพลี้ยลงหมด แต่แปลงนี้ นา 4 ไร่ กับ 6 ไร่ รวมกันได้ข้าว 6 ตัน เม็ดเต่งดี”

หลังจากทดลอง เธอคิดว่าถ้าหากจะทดลองทำข้าวหอมชลสิทธิ์อีกก็จะลองทำแปลงเล็กๆ ปรับที่นาให้เรียบ  แต่สุดท้ายความเข็ดขยาดเรื่องเพลี้ย ทำให้เธอชะลอแผนการทดลองไว้ก่อนและหันมาปลูกข้าวที่ทนเพลี้ยอย่างชัยนาท 1 และ กข.47 ที่เคยปลูกมาก่อนและให้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 80 ถัง/ไร่  แม้จะข้าวทั้งสองพันธุ์นี้จะขายได้ราคาที่ต่ำกว่าข้าวหอมชลสิทธิ์[12]  ก็ตาม

 

โครงการข้าว “อ่อนหวาน” เพื่อสุขภาพ[13]


รูป A002-ข้าวอ่อนหวาน

สหกรณ์การเกษตรผักไห่ ยังคงมีความหวังกับข้าวหอมชลสิทธิ์ และดำเนินโครงการส่งเสริมต่อเนื่อง โดยเน้นจุดเด่นคือ ความสามารถในการทนน้ำท่วมได้นานถึง 2 สัปดาห์ รวมทั้งการสร้างจุดขายแก่คนชั้นกลางที่สนใจเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน เนื่องจากข้าวชนิดนี้เมื่อผ่านกระบวนการย่อยสลายแล้วจะปลดปล่อยน้ำตาลได้น้อยและมีธาตุเหล็กสูง  สหกรณ์ตั้งเป้าหมายจะให้ข้าวชนิดนี้ข้าวหอมขึ้นชื่อของจังหวัด โดยริเริ่มจำหน่ายข้าวในแบรนด์ “อ่อนหวาน” โดย ทั้งนี้มีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์สนับสนุนงบประมาณ 10 ล้านบาทในการจัดหาเครื่องอบข้าวและเครื่องคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ [14]  ปัจจุบัน  มีพื้นที่ปลูกข้าวหอมชลสิทธิ์ 100 ไร่ จากสมาชิก 50 ราย จากสมาชิกทั้งหมด 1,999 คน

จำเนียร (นามแฝง)  ชาวนาในทุ่งผักไห่ เขต ต.ท่าดินแดง วัย 55 ปี เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรผักไห่อีกรายที่ทดลองทำข้าวหอมชลสิทธิ์ในปีแรก เธอได้รับพันธุ์ข้าวมาทดลองดำลงในนา 60 ไร่ และได้ผลผลิตต่ำมากแค่ 10 ตัน  เพราะการระบาดของเพลี้ยกระโดด จึงขาดทุนไปหลายแสนบาท โดยเฉพาะจากค่าจ้างดำนา และค่าเช่านาไร่ละ 1,000 บาท/ฤดู อีกเกือบ 40 ไร่  ความล้มเหลวนี้ไม่ได้รับการชดเชย อีกทั้งนาเธอยังถูกน้ำท่วมในปีต่อมาอีก แต่ก็เคราะห์ดีที่สหกรณ์ฯ ยกหนี้ให้เป็นหนี้ปลอดดอกเบี้ยเป็นเวลา 4 ปี สำหรับผู้ประสบมหาอุทกภัยปี54  ประกอบกับที่ลูกๆ ของเธอต่างมีหน้าที่การงานทำมั่นคงดี     อย่างไรก็ดีเธอได้ตัดสินใจทดลองทำข้าวหอมชลสิทธิ์อีกครั้ง   โดยปรับทำแบบหว่านแทน ภายใต้เงื่อนไขสหกรณ์ฯ ที่สนับสนุนให้ทำนาปลอดสารเคมี เลิกเผาตอซัง แล้วใช้สารชีวภาพสลายตอซัง ร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และสารชีวภาพ รวมทั้งซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวจากสหกรณ์  และรับซื้อคืนในราคาตันละ 18,000 บาท ความชื้น 15 %  ซึ่งเทียบเท่ากับราคาข้าวที่โครงการรับจำนำตั้งไว้เพื่อส่งเสริมการปลูกข้าวหอมประจำจังหวัด   

แรงจูงใจที่สำคัญที่ทำให้เธอสนใจมาปลูกข้าวหอมชลสิทธิ์ในครั้งนี้ คือ การที่สหกรณ์ฯ เพิ่งตั้งโรงสีเพื่อรับซื้อข้าวของสมาชิกในราคาสูง  อีกทั้งเธอยังเชื่อมั่นในความสามารถของผู้จัดการ ว่าสามารถบริหารจัดการร้านค้าจนมีสินค้าปัจจัยการผลิตที่หลากหลายมาบริการสมาชิก  และมีช่องทางและแผนการตลาดข้าวที่ดูว่าน่าจะแจ่มใส 

“ผู้จัดการเขาเก่ง  ทำข้าวนี้ขายสหกรณ์ ขายตันละ 14,000 บาท ความชื้น 27  ขายแล้วได้เงินเชียว ไม่ยุ่งยากไปขึ้นทะเบียนเหมือนจำนำข้าวแล้วก็ได้เงินช้า  สหกรณ์เขาอยากให้ทำปลอดสารเคมี เพราะว่าตลาดขายตลาดต่างประเทศเขาต้องการ”

ในด้านการผลิต จำเนียร ไม่ได้ทำตามสิ่งที่สหกรณ์ฯ  คาดหวังไปทั้งหมด  แม้จะมีอาจารย์จากศูนย์ไบโอเทคมาตรวจเยี่ยมเป็นประจำ   แปลงนาของเธอที่ยกคันคูกันน้ำไว้สูง และมีน้ำท่าสมบูรณ์เพราะอยู่ใกล้คลองส่งน้ำใหญ่ ผักไห่-เจ้าเจ็ด การจัดการวัชพืชก็ยังจำเป็นต้องเผาฟางข้าวแทนการใช้น้ำหมัก เพราะหญ้าขึ้นหนามาก   และต้องใช้ยาคุมหญ้าทั้งแบบแห้งและแบบเปียกอย่างละเที่ยว [15] เหมือนนาทั่วๆ ไป   เธอทำน้ำหมักภาพใช้เองด้วย  และหว่านปุ๋ยเคมีครั้งละ 25 กก. โดยแบ่งใส่ 3 รอบ ช่วงข้าวแตกกอ ข้าวตั้งท้อง และข้าวออกรวง  การฉีดยากำจัดแมลง 4 – 5 ครั้ง/ฤดู โดยสังเกตการแพร่ระบาดก่อน  รวมทั้งใช้ฮอร์โมนอามูเร ช่วงรับท้องเพื่อให้ได้เมล็ดข้าวใส มีน้ำหนัก    

“พันธุ์ข้าวซื้อจากสหกรณ์ ตันละ 24,000 บาท  ปุ๋ย ยา น้ำมัน ก็ซื้อจากสหกรณ์ปลอดดอกเบี้ย มีทุกอย่าง  โครงการนี้หลวงเขาให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เขาว่าจะเอามาให้แต่อย่างว่า  ของหลวงมันช้า  เราทำไปก่อนก็เลยต้องซื้อปุ๋ยเคมีจากสหกรณ์มาใส่ก่อน”

ชาวนาทั่วไปที่หว่านข้าว 3 – 4 ถัง/ไร่ เพราะเผื่อไว้สำหรับนก หนู ที่มากัดกินเมล็ดข้าวหลังหว่าน  และเห็นว่าเป็นการประหยัดต้นทุนและเวลาแทนการจ้างหว่านซ้ำอีกครั้งหากเมล็ดข้าวหรือต้นกล้าถูกทำลาย  หากหว่านบางจะทำให้ต้นข้าวน้อย ได้ข้าวน้อย ไม่ได้น้ำหนัก   หากเป็นพันธุ์ข้าวที่แตกกอดีก็จะลดปริมาณข้าวพันธุ์ลงเหลือราว 2.5 ถัง ส่วนการป้องกันเพลี้ยหรือแมลงศัตรูพืชนั้นจะใช้วิธีฉีดพ่นสารกำจัดแมลง    ในขณะที่กรมส่งเสริมการเกษตรฯ แนะนำให้ชาวนาหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่ไร่ละ  1.5 ถัง ช่วงที่มีการแพร่ระบาดเพื่อให้สภาพนาโปร่ง ลดการสะสมของแมลงศัตรูพืช  และให้หว่านข้าวเพียง 2 ถัง ในสภาพปกติเพื่อลดต้นทุน[16]  แต่เธอใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมชลสิทธิ์หว่านไร่ละ 2.5 ถัง เธอให้เหตุผลว่า 

“ข้าวพันธุ์นี้แตกกอดี   ไร่หนึ่งหว่านแค่ 2.5 ถัง แต่ถ้าหว่านบางแค่ไร่ละ 2 ถังที่เขา (ไบโอเทค) บอก  ต้นข้าวจะบางมากเกินไป  นี่ว่าเที่ยวหน้าก็จะเก็บเองบางส่วนแต่ต้องไปจ้างเขาตาก จะได้ประหยัด  ที่เหลือก็ซื้อเขา จากสหกรณ์นั่นแหละบางส่วน” 


รูป A003...-นาข้าวหอมชลสิทธิ์

ปีนี้ จำเนียรปันที่นา 20 ไร่ ให้ลูกชายคนโตวัย 36 ปี ปลูกข้าว กข.47 เข้าโครงการรับจำนำ เพื่อเป็นรายได้ควบคู่กับการเปิดร้านคาร์แคร์ โดยยังคงเหลือที่นาเพื่อข้าวหอมชลสิทธิ์ไว้ 60 ไร่ ซึ่งครั้งล่าสุดเธอได้ผลผลิตข้าวเปลือก 40 ตัน มีต้นทุนการผลิตประมาณ  6,150 บาท/ไร่   ผลผลิตเฉลี่ย 66.7 ถัง/ไร่   หรือต้นทุนประมาณ 9,220 บาท/ตัน  รวมต้นทุนทั้งหมด 369,000 บาท ได้กำไรทั้งหมด  191,000 บาท  เธอพอใจกับข้าวหอมชลสิทธิ์ที่ได้และยังมีความหวังว่าถ้าเธอดูแลนานี้ให้ดีมากขึ้น ผลผลิตอาจจะได้ดีกว่านี้   

 

ข้าวดีด  นาดำ  กับความจำเป็นในการใช้ยาฆ่าหญ้า 

ข้าวดีด เป็นข้าววัชพืชที่มีชื่อเรียกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น  มีลักษณะเหมือนต้นข้าว และมีความแข็งแรงกว่าข้าวปลูก และเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็วจนปกคลุมต้นข้าวปลูก  มีผลทำให้ข้าวไม่สมบูรณ์  ไม่เต็มเมล็ด  ได้ปริมาณน้อยหรือไม่ได้ข้าวเลย  และเมื่อขายก็ได้ราคาต่ำ   แม้ชาวนาปรังในทุ่งลาดชะโด และ ต.สระแก้วจะใช้สารกำจัดการงอกของวัชพืชในการคุมเปียกและคุมแห้งแล้วก็ตาม แต่ถ้าหากมีเมล็ดข้าวดีดติดมากับพันธุ์ข้าว ต้นข้าวดีดก็มักเจริญเติบโตจนชาวนาต้องหาวิธีการกำจัดข้าวดีด โดยเฉพาะช่วงที่ต้นข้าวดีดเริ่มออกรวง เพราะรวงข้าวดีดจะชูช่อสูงกว่าต้นข้าว 

จำเนียร เล่าว่าเธอเคยกำจัดข้าวดีดโดยใช้วิธีนำผ้าชุบสารกำจัดวัชพืชแล้วขึงให้ตึงกับเชือกแล้วจับปลายเชือกทั้ง 2 ข้าง เดินลูบยอดข้าวดีดเพื่อให้ข้าวดีดตายก่อนจะเมล็ดข้าวดีดร่วงลงนา และปล่อยให้ต้นข้าวในแปลงเดียวกันออกรวงจนเก็บเกี่ยว  เธอว่าแม้วิธีการนี้จะประหยัดค่าจ้างได้มากกว่าการจ้างเหมารายวันให้ผู้รับจ้างมาเดินตัดรวงข้าวดีดออกไปกองทิ้งไว้นอกนา แต่ก็เหนื่อยมาก   ปัจจุบันเธอใช้วิธีการจ้างคนงานให้ใช้เครื่องเกี่ยวหญ้าแบบเหวี่ยง มาเกี่ยวต้นข้าวดีดช่วงที่ข้าวดีดออกรวงและก่อนที่ข้าวในแปลงเดียวกันจะตั้งท้อง  เพราะหลังจากตัดยอดข้าวดีดแล้วต้นข้าวจะยังสามารถเติบโตเกี่ยวข้าวได้  แม้ค่าจ้างเหวี่ยงจะลดลงเหลือค่าจ้างไร่ละ 120 บาท ซึ่งต้องเติมน้ำมันเองและซื้อ M-100 ให้คนงาน แต่เธอก็บอกว่าต้องใช้ปุ๋ยเคมีหว่านลงนาถึง 75 กก./ไร่ เพราะต้นข้าวดีดยังคงมีชีวิตและแย่งสารอาหารจากต้นข้าว

วิธีการทำนาดำ จึงกลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผู้ประสบปัญหาข้าวดีดและพอมีเงินทุนมากพอ ปัจจุบันอุตสาหกรรมรับจ้างเพาะกล้าข้าวและดำนาซึ่งริเริ่มมาจากเขตอุตสาหกรรมข้าวก้าวหน้าใน จ.สุพรรณบุรี ได้เริ่มแพร่ขยายมาใน อ.ผักไห่แล้ว จ.อยุธยา แล้ว แต่ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก  เพราะชาวนาส่วนใหญ่ยังใช้วิธีการเดิมๆ เช่นการล่อข้าวดีดแล้วไถกลบแบบพยงค์ สภาพโชติ  ซึ่งทำให้ต้องใช้เวลาและทุนเพิ่ม และมีผลทำให้ช่วงระยะการปลูกข้าวเสี่ยงต่อน้ำท่วมมากขึ้นในช่วงนาปรังครั้งที่2 จนต้องปลูกข้าวอายุ 85 วัน  หรือสารกำจัดวัชพืช ซึ่งราคาถูกกว่า

เชิด ศรีราชา  วัย 44 ปี ชาวอำเภอวิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ทำนาในทุ่งกะเทพ  ห่างจากทุ่งลาดชะโดไม่เกิน 5 กม.  เพิ่งดำนาหนีข้าวดีดเป็นครั้งที่ 3 เมื่อกลางเดือนมิถุนายน 56   ครั้งแรกที่เขาเริ่มหันมาทำนาดำเป็นช่วงที่เริ่มโครงการรับจำนำครั้งที่ 2 เขาลดต้นทุนในการกำจัดแมลงด้วยการใช้สาร  6-G  และผงซักฟอกละลายน้ำ  

แปลงนาที่เชิดเช่ามีขนาด 25 ไร่  ค่าเช่า 30,000 บาท/ฤดูปลูก  นาถูกแบ่งเป็น 2 ฟากด้วยคูน้ำ ฟากหนึ่งเป็นนาลุ่ม 12 ไร่  และอีกฟากเป็นนาดอน ขนาดเท่ากัน  นาลุ่มนั้นเขาเลือกใช้วิธีดำนาเพื่อคุมข้าวดีดเพราะน้ำมักลงไปขังในกระทงนา  ซึ่งแม้ประหยัดต้นทุนค่าน้ำมันที่วิดน้ำออกและไม่ต้องจ้างคนตัดข้าวดีด  แต่เขาต้องจ่ายค่ากล้าและค่าจ้างดำรวมทั้งค่าขนส่ง และต้องใช้สารกำจัดวัชพืชที่ขึ้นในน้ำอย่างผักบุ้ง และต้นพริก (ก้ามกุ้ง)   มีต้นทุนทั้งหมดประมาณ 9,000 บาท/ไร่   ในขณะที่นาดอนซึ่งเขาใช้วิธีทำนาหว่านน้ำตมนั้นต้องคอยสูบน้ำเข้านาอยู่เป็นระยะ มีต้นทุนต่ำกว่าและผลผลิตพอๆ กับนาดำ จึงทำให้มีผลกำไรมากกว่า   แต่ช่วงก่อนที่จะมาทำนาดำและยังไม่มีข้าวดีดระบาด เขาเคยทำนาหว่านในพื้นที่ทั้งหมด 24 ไร่ ได้ผลผลิตสูงถึง 27 ตัน


รูป A004-เชิด ศรีราชา

 “ตีเทือกและเตรียมแช่ข้าวไว้แล้ว   พวกกันโทรมาบอกมีกล้าเหลือก็ติดต่อคนขายกล้าที่ดอนเจดีย์มาลงให้ เขาก็มาเลย คุยกันเรื่องค่าใช้จ่ายก็นัดวันมาดำ  ข้าวที่แช่ไว้ก็เลยขายคนอื่น  ขอดน้ำไม่แห้งก็เลยต้องดำ  บางคนเจอข้าวดีด 10 ไร่ได้ข้าวแค่ 1 ตัน   กล้าที่ดำเป็นพันธุ์ข้าว 41-หนัก  อายุ 110 วัน  เอากล้าอายุ 37 วัน มาลงมันเกี่ยวได้ไวกว่าแปลงที่หว่าน 10 กว่าวัน  เสี่ยงน้ำท่วมน้อยกว่าหว่าน   นาดำเที่ยวที่แล้วปลูก 1 ไร่ได้ 1.2 ตัน แต่ถ้าจะขายข้าวให้ได้ตันละ 14,000 บ. น้ำหนักก็จะเหลือแค่ 1 ตัน  นาดำได้กำไรไร่ละประมาณ 4,000 กว่าบาท ถามว่าคุ้มไหม?  เราไม่รู้จะทำอะไรก็ต้องเอา” 

ต้นทุนสำคัญในการทำนาดำได้แก่ ค่าปั่นนาและตีเทือกเหมือนนาปกติ  550 บาท/ไร่  แต่ไม่ต้องจ้างฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืช 2 หนเหมือนนาหว่าน  มีค่าต้นกล้า 500 ต้น/ไร่ มีราคา 500 บาท  ค่าจ้างดำไร่ละ 1,600 บาท  ค่าจ้างขนข้าวทั้งหมด 900 บาท ใช้เวลาดำ 2 - 4 วัน แต่เที่ยวนี้หลังคนงานดำเสร็จแล้ว เชิดต้องนำกล้าที่เหลือลงดำซ่อมเองเพราะไม่คุ้นกับระยะกล้าที่ห่างเกินไป นอกนั้นเป็นค่าจ้างหว่านปุ๋ยและค่าปุ๋ยซึ่งใช้แม่ปุ๋ยผสมปุ๋ยเม็ด แบ่งใส่ 2 เที่ยว เที่ยวละ 15 ก.ก. ช่วงหลังดำกล้า 2 – 3 วันกับช่วงรับท้องข้าว  และฉีดพ่นกำจัดแมลงประมาณ 5 – 6 ครั้ง/ฤดูปลูก โดยพ่นด้วยผงซักฟอกละลายน้ำซึ่งเป็นความรู้ที่ได้มาจากการไปฝึกอบรมที่ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี ต.หน้าโคก

“ก่อนหน้านี้เคยใช้บิวเวอเรียควบคุมเพลี้ยเหมือนกัน แต่บางที ที่ศูนย์เขาก็ไม่มี เราเลยหันมาใช้แบบนี้ก็ถูกดีและไม่อันตราย  ส่วน 6–G (ฟูราดาน-ผู้ศึกษา) ก็ใช้ช่วงลงกล้าข้าวใหม่ๆ ผสมไปกับปุ๋ยที่ใส่ในช่วงแรก”

 

“ข้าวขวัญสุพรรณ”  กับกระบวนการผลิตข้าวอินทรีย์โดยโรงเรียนชาวนา  [17]

สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุพรรณบุรี   มูลนิธิข้าวขวัญ และนักเรียนโรงเรียนชาวนาสุพรรณบุรี ได้ร่วมกันทำ MOU เพื่อพัฒนาสินค้ข้าวหอมประจำจังหวัดสุพรรณบุรีที่ปลอดสารพิษจำหน่าย โดยเน้นความโดดเด่นของสายพันธุ์ ซึ่งทางมูลนิธิข้าวขวัญได้พัฒนาปรับปรุงจากพันธุ์ข้าวท้องถิ่นซึ่งผ่านกระบวนการคัดเลือกโดยนักเรียนชาวนา[18]   


รูป A005-ข้าวขวัญสุพรรณ

เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวในระบบนาอินทรีย์เล่าว่า  ข้าวขวัญสุพรรณก็คือข้าวขาวตาเคลือบ  นักเรียนชาวนาเลือกพันธุ์นี้มาปรับปรุงเพราะให้ผลผลิตดี ต้านทานโรค เมล็ดใหญ่ เมื่อสีแล้วได้น้ำหนัก มีกลิ่นหอมอ่อนๆ คล้ายข้าวหอมมะลิ แม้จะไม่นุ่มเท่า  ทั้งหมดนี้ถือเป็นลักษณะข้าวที่ดีที่สามารถขายให้กับโรงสีทั่วไป  

“ข้าวพันธุ์นี้ทนมากและให้ผลผลิตดีมาก  มีพันธุ์อื่นๆ ที่ให้ผลผลิตรองลงมา กินอร่อยกว่า แต่คะแนนรวมจากการเลือกของชาวนาแต่ละคนแล้วได้ไม่เท่าข้าวขาวตาเคลือบ” 

นั่นหมายถึงว่า หากผู้บริโภคอยากได้พันธุ์ข้าวที่หอมอร่อยและปลูกแบบปลอดสารเคมีกำจัดแมลง ต้องยอมจ่ายแพงขึ้นเพราะผลผลิต/ไร่ ที่ได้จะได้น้อยกว่าข้าวขาวตาเคลือบ

เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ อีกรายหนึ่ง เล่าว่า โครงการนี้ เริ่มเมื่อกันยายน 2554  มีเป้าหมายการผลิตที่ 120 ไร่ มีผู้ผลิตเป็นนักเรียนชาวนา 17 รายซึ่งต้องผ่านขั้นตอนการเรียนการทำนาอินทรีย์ 3 หลักสูตรพื้นฐาน[19]  อย่างไรก็ดี นักเรียนชาวนาเหล่านี้ส่วนใหญ่เคยผ่านกระบวนการฝึกอบรมต่างๆ ของมูลนิธิฯ มาตั้งแต่ปี 2546  การเก็บเกี่ยวเมื่อต้นปี 2555  ได้ข้าวเปลือกทั้งหมด 69 ตัน ราคารับซื้อตันละ 15,800 บาท โดยใช้เกณฑ์รับซื้อตามความชื้นในราคาที่แพงกว่าข้าวทั่วไปในโครงการรับจำนำข้าวถึง 1,000 บาท อย่างไรก็ดี มีชาวนา 4 – 5 รายประสบปัญหาน้ำท่วมจึงไม่ได้เกี่ยวขายเข้าโครงการฯ พวกเขาได้รับค่าชดเชยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในอัตราเท่ากับนาทั่วไป

ผู้เข้าร่วมโครงการรายหนึ่งเล่าว่า ปลูกข้าวในโครงการนี้ 25 ไร่ ได้ข้าว 21 ตัน  ผลผลิต/ไร่ 84 ถัง ต้นทุนไร่ละประมาณ 3,500 บาท   ซึ่งมาจากค่าปั่นนา ค่าตีเทือก ค่าจ้างฉีดพ่นและค่าสารกำจัดวัชพืช  และไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและทำนาแบบปล่อย

“โครงการอนุญาตให้สมาชิกใช้สารกำจัดวัชพืชสารเคมีควบคุมการงอกของวัชพืช 2 ครั้ง เพราะเป็นวิธีที่ถูกที่สุดและชาวนารับได้  ส่วนปุ๋ยเคมีไม่ให้ใช้  แต่ให้ใช้สมุนไพรและฮอร์โมนชีภาพ  แต่ตัวเองไม่ได้ใช้  มูลนิธิมีปริมาณพันธุ์ข้าวจำกัดจึงปลูกได้แค่ 120 ไร่ ในปีแรก ใครจะปลูกกี่ไร่ก็ได้แต่ไม่มากเกินนี้ ” 

แผนการผลิตในรอบที่ 2 นี้ทางมูลนิธิฯ มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เป็น 150 ไร่ และมีสมาชิกเข้าร่วม 15 ราย เหตุที่ต้องจำกัดพื้นที่ไว้เพียงเท่านี้เพราะข้าวที่ได้มีลักษณะแข็งและยังทำตลาดได้ค่อนข้างยาก

 

การทำนาลดต้นทุนหลากรูปแบบเพราะหวังรวย

ก.- นักเรียนชาวนารายหนึ่งวัย 49 ปี จาก อ.เมืองสุพรรณบุรี ทำหน้าที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวตาเคลือบอินทรีย์ให้กับโครงการส่งเสริมส่งข้าวขวัญสุพรรณเล่าว่า เขาก็อยากปลูกข้าวพันธุ์ใหม่นี้และขายให้โครงการฯ เพราะเห็นว่าได้ราคาดี แต่โควตามีจำกัด และตนก็ถนัดในการผลิตเมล็ดพันธุ์อินทรีย์และได้ทำนาลดต้นทุนในรูปแบบอื่นๆ แล้ว จึงไม่ได้เข้าร่วมโครงการนี้มาตั้งแต่ต้น 

“เขาจะมาถามว่าใครสมัครใจทำ  ทำไหม  ใครทำก็จดไว้ว่าจะทำกี่ไร่  เขาก็จะจัดสรรพันธุ์มาให้เท่าที่จะเข้าโครงการ  ฉันจะทำ เขาบอกมันเต็มพอดี  เลยได้แต่ทำพันธุ์ให้เขา”

ชาวนารายนี้รู้จักมูลนิธิข้าวขวัญตั้งแต่ปี 2545 และเข้าโรงเรียนนักเรียนชาวนาของทางมูลนิธิฯ ที่จัดขึ้นในชุมชนของตนในปีถัดมา จนกระทั่งผ่านหลักสูตร 3 ขั้น  ต่อมาได้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์โดยใช้เทคนิคนาดำควบคุมวัชพืชด้วยน้ำ   ซึ่งเป็นเทคนิคที่นอกจากจะต้องมีความเข้าใจระบบนิเวศน์ของแมลงในนาข้าวแล้ว ยังต้องอาศัยความประณีต   อดทนเฝ้ารอให้ดินและแปลงนาปรับสู่สมดุลทางนิเวศน์  และต้องมีแปลงนาที่ทำเลดีอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เพราะต้องสูบน้ำเข้านาทุก 7 – 10 วัน ที่สำคัญจะต้องมีเงินหมุนเวียนเป็นค่าจ้างดำนา   และลงทุนปรับนาให้เรียบเพื่อประสิทธิภาพของการใช้น้ำควบคุมวัชพืชและการใส่ปุ๋ยอินทรีย์บำรุงต้นข้าว   ในขณะที่การผลิตพันธุ์ข้าวขาวตาเคลือบในปี 54 ครั้งแรกจำนวน 11 ไร่ ได้ข้าว 9.5 ตัน  คิดเป็นผลผลิต 86.4 ถัง/ไร่ ส่วนครั้งที่ 2 ได้ข้าว 6 ตัน ผลผลิต  55 ถัง/ไร่   มีต้นทุนการทำข้าวพันธุ์ ไร่ละ  3,168 บาท  และ ขายข้าวไม่กำหนดความชื้นได้ในราคาตันละ 16,000 บาท    ( ดูตาราง A006-ต้นทุนทำนาสุรัตน์)


ตาราง A006-ต้นทุนทำนาสุรัตน์

 

ทำนาลดต้นทุนปลดหนี้ได้จากโครงการรับจำนำ

ชาวนารายที่ว่านี้มีพื้นที่ทำนาอินทรีย์ไม่มากนัก  เขาเลือกใช้ที่นาของภรรยา ขนาด 5 – 11 – 8 ไร่ ทำนาอินทรีย์ทั้งหมด โดยทำนาดำคัดพันธุ์  นาขยายพันธุ์ที่ผลิตให้มูลนิธิข้าวขวัญ และนาโยนเพื่อปลูกข้าวกินเองในครอบครัว    ในขณะที่เช่านา 27 ไร่  ที่บ้านเกิดใน อ. ผักไห่ จ.อยุธยา และอีกสองผืนขนาด 8 และ 18 ไร่ ตามลำดับ ที่อยู่ใกล้บ้านของภรรยา ผลิตในรูปแบบนาลดต้นทุนและขายให้โรงสีแบบปกติทั้งหมด    ทั้งนี้ การที่ต้องเช่านาคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขา รวมทั้งชาวนาคนอื่นๆ ไม่ทำนาระบบอินทรีย์    ทั้งนี้ ชาวนาในทุ่งลาดชะโดมีสัดส่วนชาวนาเจ้าของนา:ชาวนาเช่า  คือ 38: 62 โดยชาวนาส่วนใหญ่กว่า 80 % มีที่ดินถือครองไม่เกิน 20 ไร่ 

“นาเช่านี่ไม่ทำอินทรีย์เพราะเราเช่าเขา  เขาคิดเป็นข้าว  เราก็เลยไม่ทำอินทรีย์ เดี๋ยวไปขึ้นค่าเช่าให้เขา ไร่ละ 15 ถัง  ไม่ดี  เหมือนมันเพิ่มให้เขา แต่ไม่มีการลดค่าเช่า  ทำอินทรีย์มันก็มีค่าใช้จ่าย  มันต้องดำ  แต่เราต้องหาที่ตกกล้ามาอีก  ที่ตกกล้าต้องพอกับกล้าอีก 10 ไร่  แล้วเราต้องรอให้กล้าโตอีก  มันจะห่างกันอีกเป็นเดือน  โดยมากจะเอาแต่แปลงที่สำคัญ   ถ้ามีที่ตกกล้าตีซะ 20 ไร่ ห่างกัน 7 วันก็ดำได้ " ดูรูปรูป A007-นาดำทำพันธุ์ข้าวอินทรีย์


รูป A007-นาดำทำพันธุ์ข้าวอินทรีย์

 

ปรับความรู้เทคนิคทำนาอินทรีย์มาทำนาลดต้นทุนแทนเพราะตลาดกว้างกว่า

ชาวนาอีกรายที่เป็นอดีตนักพัฒนาเอกชนและมีความรู้ดีในการทำเกษตรกกรรมทางเลือก มีประสบการณ์ทำนาอินทรีย์ทั้งแบบนาโยน และนาหว่าน เล่าว่า

“เริ่มตอนแรกปี 53  ทำนาโยน   ครั้งแรกก็ร้อนวิชา อยากทำอินทรีย์ โดยทำข้าวพิษณุโลกแล้วขายตามช่องทางทั่วไป ก็มาสรุปกับตัวเองว่ามันไม่ได้ มันไม่คุ้ม ต้นทุนมันสูง หากจะทำอินทรีย์แล้วขายแบบทั่วไป ก็คืออยากลอง  ลองดู ก็รู้ว่ามันไม่ได้   นา 4.5 ไร่ ได้ 3.8 ตัน ผลผลิตก็คือพอใจ โดยเทคนิคถือว่าผลผลิตดีมาก เพราะมากกว่า 84.4 ถัง/ไร่ เหมือนกัน  แต่จัดการเรื่องหญ้า เรื่องแรงงาน ก็อานเหมือนกัน  ขายข้าวได้ตันละ 7,000 บาท ยังไม่เป็นโครงการรับจำนำ ต้นทุน 6,804บาท” 

เมื่อล้มเหลวครั้งที่1 เธอและสามีตัดสินใจปรับแผนการผลิตนาอินทรีย์รอบใหม่ คราวนี้เลือกผลิตพันธุ์ข้าวทางเลือกที่ตลาดข้าวอินทรีย์นิยมและมีมูลค่า คือข้าวหอมนิล 2.5 ไร่ และข้าวหอมปทุม 2 ไร่  เริ่มทำประมาณ 4 พฤศจิกายน 53  ซึ่งเป็นช่วงโครงการประกันรายได้ของรัฐบาลอภิสิทธิ์

“เที่ยวแรกเราคิดว่าทำน้อยขายโรงสีไม่คุ้มต้นทุน ก็เลยจะทำสีขายเอง  ทำข้าวพรีเมี่ยม  เพลี้ยกระโดดระบาดไง  ได้ขายข้าวแค่ 18,000 บาท เป็นข้าวหอมนิล ให้ตลาดทางเลือกโลละ 60 บาท  300 โล(ข้าวกล้อง)  ได้ข้าวก็ไปจ้างเขาสี  ไม่เหลือข้าวไว้กินเลย  ปทุมนี่เอาไว้กินอย่างเดียวไม่ได้ขาย  ขายเขาไปกระสอบนึง (ประมาณ 40 กก.) เพราะได้น้อยมาก  เพราะมันเป็นเพลี้ยกระโดด  มันระบาดแล้วมันก็เอาไม่อยู่  ก็คุยกันว่าเราได้เกี่ยวก็ดีแล้ว เพราะบางคนไม่ได้เกี่ยวเลย  เราก็ฉีดสมุนไพร ไปตั้ง 6 เที่ยว  แต่มันไม่ต้านทานเพลี้ยกระโดด”

นาอินทรีย์พรีเมียมที่เธอหวังจะขายในตลาดอินทรีย์ได้ผลผลิตไม่ดีนัก  เงินลงทุนทั้งหมด 30,080 บาท หรือไร่ละ 6,684 บาท ต้องนำมาจ้างสีแปรรูปขายข้าวได้เงินมาทั้งหมดเพียง 19,200 บาท กับเงินชดเชยส่วนต่างประกันราคาไร่ละ 1,000 กว่าบาท  จะเห็นว่าช่วงที่เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลแพร่ระบาด  นาอินทรีย์ก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังทำได้ในขนาดแปลงนาจำกัด   ดังนั้น ในปีที่ 3 เธอจึงปรับเปลี่ยนมาทำนาลดต้นทุนแบบหว่าน

เธอยังชี้ให้เห็นว่า    เมื่อคำนวณปริมาณการใช้ปุ๋ยขี้หมูกับปุ๋ยเคมีแล้ว ปุ๋ยขี้หมูต้องใช้ในปริมาณที่มากกว่าเมื่อเทียบกับปริมาณปุ๋ยเคมีที่ใช้ และราคาก็ไม่ได้ถูกกว่ากันมาก   แต่ค่าจ้างหว่านปุ๋ยคิดเท่าเดิมคือจ่ายเป็นไร่ซึ่งแรงงานที่รับจ้างต้องแบกปุ๋ยลงนาหนักขึ้น    อีกทั้งปุ๋ยอินทรีย์คือปลดปล่อยธาตุอาหารช้ากว่า ในขณะที่ข้าวมีอายุเพียง 4 เดือน  ปุ๋ยเคมีจึงตอบสนองต่อความต้องการสารอาหารของพืชได้ทันใจกว่า  แต่เธอเพิ่มอินทรียวัตถุในดินไม่ให้ดินแข็งด้วยการหมักฟางหลังเกี่ยว    ในขณะที่การใช้ปุ๋ยเคมีก็ใช้ปริมาณ 25 – 30 กก. โดยผสมปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ ในอัตราส่วน 2 : 1 แบ่งหว่าน  หว่าน 2ครั้ง/ฤดูปลูก   ช่วงแตกกอและตั้งท้อง  บางฤดูอาจต้องเพิ่มปุ๋ยยูเรียด้วย   ส่วนการเตรียมแปลงก็เหมือนกับนาทั่วไปคือฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืช 2 ครั้ง แบบ คุมเปียกและคุมแห้ง  รวมทั้งทำน้ำหมักปลา-ฮอร์โมนไข่เอง   แต่ถึงกระนั้น เมล็ดข้าวที่เธอได้ก็ไม่สวยเต่ง และรวงสวยทุกรวงเหมือนอย่างที่ชาวนาทั่วไปใช้ฮอร์โมนฉีดเป็นธาตุอาหารเสริมในช่วงรับท้อง

ประสบการณ์ทำนาลดต้นทุนเพื่อขายโรงสีครั้งแรกเธอได้ข้อสรุปว่า    การปลูกข้าวโดยใช้พันธุ์ข้าว ไร่ละ 2.5 ถัง นั้นยากมากที่จะได้ผลผลิตมากเกินกว่า 80 ถัง ยกเว้นที่นาที่เรียบเสมอกันเพราะคุมน้ำได้  ทั้งนี้เพราะธาตุอาหารไม่เพียงพอ  หากต้องการผลผลิต/ไร่ มากกว่า 90 ถังขึ้นไป ก็ต้องหว่านพันธุ์ข้าวไร่ละ 3 ถัง และใช้ปุ๋ยเคมีผสมอินทรีย์และปรับโครงสร้างดินดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

เธอยังชี้ให้เห็นว่า  การส่งเสริมให้ชาวนาเก็บพันธุ์ข้าวเองเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่เธอเองไม่สะดวกและไม่มีสถานที่ตากข้าว จึงซื้อข้าวเกรดเอจากเอกชนเพราะมีคุณภาพดีกว่า และช่วยลดปัญหาเรื่องข้าวดีดซึ่งต้องเพิ่มทุนอย่างมากในการกำจัดทิ้งเมื่อมีการแพร่ระบาด   การทำนาปรังลดต้นทุนจำนวน  20 ไร่ ในรอบนี้ได้ผลผลิต 15 ตันที่ความชื้น 18% โดยขายโครงการรับจำนำได้ในราคาตันละ  14,200 บาท รวมเป็นเงิน 213,000 บาท  โดยมีต้นทุนรวมทั้งสิ้น 86,150 บาท หรือไร่ละ 4,307.5 บาท ซึ่งถือเป็นผลตอบแทนที่น่าพอใจ

 

ข้ออภิปรายส่งท้าย

1.การเพิ่มราคาสร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนเทคนิคการผลิตเพื่อลดต้นทุน

ท่ามกลางสถานการณ์ที่หน่วยธุรกิจเอกชนที่ก่อนหน้านี้ได้เข้าไปปักหลักลงทุนทำการผลิตข้าวในกลุ่มประเทศอาเซียน [20] รวมทั้งกระแสการลงทุนผลิตข้าวหอมข้ามชาติของประเทศต่างๆทั้งในประเทศเพื่อนบ้านและแอฟริกา [21]    ชาวนาไทยจึงไม่ใช่แค่ต้องแข่งขันกับชาวนาชาติเพื่อนบ้าน      หากแต่เป็นทุนขนาดใหญ่ที่มีความยืดหยุ่นสูงและพร้อมเสมอที่จะเข้ามาเบียดชิงส่วนแบ่งการตลาด    ในขณะที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ควรจะต้องแสดงฝีมือและสร้างมั่นใจให้ชาวนาที่สนับสนุนนโยบายจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทยที่มีเป้าหมายตั้งแต่แรกเริ่มหาเสียงว่าจะมาสร้างเกณฑ์ราคาใหม่ที่สูงขึ้นกว่าเดิมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชาวนาเราปฏิเสธไม่ได้ว่า  “ราคาที่สูงกว่า” เป็นแรงจูงใจที่ชาวนาตัดสินใจทดลองทำการผลิตเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพผลผลิต  ในขณะเดียวกันช่วงระหว่างการทดลองก็มีความเสี่ยงที่ไม่คุ้นเคยกับการทดลองผลิตในแบบที่แตกต่างจากความคุ้นชินของชาวนา  ซึ่งกระบวนการทดลอง เรียนรู้ และสรุปผลเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเป็น “ราคาเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เปลี่ยนระบบการผลิต”  เป็นหลักประกัน   ซึ่งรัฐบาลอาจจำเป็นต้องตั้งเกณฑ์ราคารับซื้อข้าวชนิดต่างๆ ตามคุณภาพผลผลิตและสะท้อนต้นทุนการผลิตที่แท้จริง บวกกำไรจากการขายสินค้าการเกษตร 25 % และค่าแรงจูงใจ ในลักษณะที่เป็นขั้นบันได ในช่วงระยะเวลาที่กำหนด เช่น 4 – 6 ฤดูปลูก  ควบคู่ไปกับการติดตามผลการทดลอง และควบคุมการรับซื้อให้ตรงตามเกณฑ์คุณภาพ       (ดูภาพ A008 แบบทดลองเสนอ) 


แผนภูมิ A008 แบบทดลองเสนอ

2.การสร้างองค์กรธุจกิจเพื่อชาวนา

 “ใช้ (ปัจจัยการผลิต – ผู้ศึกษา) หลายอย่าง หลายตัว พอเย็นๆ เวลา 2 ทุ่ม มาแล้ว ประกาศแล้ววิทยุบ้านบ้านแพนนี่ ตอนนี้เขาเรียกหุ้นแล้ว น่าไปสมัครหุ้น มีเงินเล่นหุ้นกับเขามั่ง หุ้นละ 20 บาท”

นี่คือความเห็นของชาวนาวัย 60 ปี ที่ทำนามาตลอดชีวิต ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับได้ถึงบทบาทของทุนและภาคธุรกิจที่สามารถเข้ามาแสวงกำไรกับชาวนา    ขณะเดียวก็เขาเห็นว่าควรมีช่องทางที่จะเข้าไปมีส่วนในการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เหล่านั้นด้วย  เช่นเดียวกับ จำเนียร ศรีชาติ ที่พึงพอใจกับบทบาทด้านการตลาดและบริการของสหกรณ์ฯ    พ้องกันกับข้อเสนอของ กานดา นาคน้อย ที่เสนอให้มีการจัดตั้งโรงสีในรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อลดอำนาจตลาดของโรงสีเอกชน [22]  ผู้ศึกษามีความเห็นว่า หากรัฐบาลประการลดราคาจำนำนาปรังตันละเหลือ 12,000 บาท[23] และนำการโซนนิ่งข้าวมาปรับปรุงการผลิตข้าวเพื่อลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพข้าว ให้สามารถแข่งขันได้เมื่อเปิด AEC โดยโครงการสมาร์ทฟาร์มเมอร์นั้นก็ยังอาจไม่พอ   ควรสนับสนุนให้มีการใช้ -และค้าขายปัจจัยการผลิตชีวภาพที่มีคุณภาพให้สามารถแข่งขันได้กับสารเคมีการเกษตร   และควรแปรรูปกรมส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่ใกล้ชิดกับชาวนาและเกษตรกรที่สุด ให้เป็นหน่วยส่งเสริมธุรกิจการเกษตรที่แสวงกำไรในรูปรัฐวิสาหกิจ  ที่มีชาวนาไปร่วมเป็นคณะกรรมการและสมาชิกเป็นผู้ร่วมถือหุ้น  และเปิดให้มีการตรวจสอบได้โปร่งใส   เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ปฏิบัติงานแทนการเป็นข้าราชการประจำ    



[1] ทางเลือกตลาดชาวนาไทย : เมื่อจำนำข้าวสอยราคาข้าวอินทรีย์ร่วง  ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน  9-09-55 

[2] เดชา ศิริภัทรปราชญ์ชาวนา (2): “ทำนาผิดวิธีอนาคต สิ้นนา สิ้นชาติ  thaipublica  27-05-55 http://thaipublica.org/2012/05/deja-siripat-2/

[3]ปราชญ์ชาวนาแนะเก็บภาษีนำเข้าปุ๋ยเคมี ตั้งกองทุนเกษตรอินทรีย์”  ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน 31-12-55   

[4]เสนอรัฐคิดต้นทุนสิ่งแวดล้อม-สังคม รีดภาษีสารเคมีเกษตรผู้ผลิต”  เข้าถึงเมื่อ 6-01-56   http://www.peoplepress.in.th/archives/autopagev3/show_page.php?group_id=1&auto_id=43&topic_id=85&topic_no=186&page=1&gaction=on

[5] “เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยนโยบายสารเคมีเกษตร THE ECONOMIC OF AGRICULTURAL CHEMICAL POLICY” วราภรณ์ ปัญญาวดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่ Dec.2007  http://www.ennrjournal.com/20081/20varaporn_f.pdf

[6] ดูเพิ่ม “โครงการจำนำข้าว: วิกฤตหรือโอกาสของคนทำนาเช่า ?” ประชาไท 6-06-56   http://prachatai.com/journal/2013/06/47101

[7] ดู “ประกาศรายชื่อข้าวที่มีอายุต่ำกว่า 110 วัน ที่มีคุณภาพต่ำ ไม่ให้เข้าร่วมโครงการรับจำนำ”  ของ กรมการข้าว ที่  http://www.ricethailand.go.th/home/index.php?option=com_content&view=article&id=568:---110---&catid=14:2012-01-31-06-16-00

[8] ดูเพิ่ม  “นิรมล ยุวนบุณย์ :การเลื่อนชั้นและยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนา” ประชาไท 10-06-56 http://prachatai.com/journal/2013/06/47150

[9] ส่วนต่างจากราคาจากการขายข้าวให้โรงสีที่ต่ำกว่าราคาประกันรายได้ที่รัฐกำหนด โดยดูวันปลูกและเก็บเกี่ยวที่ชาวนาขึ้นทะเบียนไว้ให้ตรงกับวันที่กรมการค้าภายในประกาศราคาอ้างอิง ซึ่งขึ้นกับราคาตลาด ทั้งนี้รัฐได้กำหนดราคาประกันข้าวเปลือกหอมปทุมธานีไว้ที่ตันละ 11,000 บาท และข้าวเปลือกนาปรังทั่วไป ตันละ 10,000 บาท  แต่ส่วนต่างของข้าวเปลือกหอมปทุมธานีจะต่ำกว่าข้าว

[10] ข้าวหอมชลสิทธิ์ เป็นข้าวลูกผสมของข้าวทนน้ำท่วมกับข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่คัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์โดยรศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร และคณะ  โดยอาศัยเทคโนโลยีเครื่องหมายดีเอ็นเอ(DNA marker) ดูเพิ่มที่ http://dna.kps.ku.ac.th

[11] รมว.วิทย์ลุยอยุธยาโชว์นาข้าวทนน้ำท่วม คมชัดลึก  30-10-53

[12] ดูราคารรับจำนำข้าวชนิดต่างๆ ปี 2554/55 ได้ที่เว็บกรมส่งเสริมการเกษตร http://www.edoae.doae.go.th/project_rice.htm

[13] ข้าวเศรษฐกิจ , วารสาร  หน้า 28-41  ฉบับที่ 3/34/2556  ปีที่3

[14] ดูคลิ๊ปประชาสัมพันธ์โครงการข้าวหอมชลสิทธิ์ และผลิตภัณฑ์ “อ่อนหวาน” ของสหกรณ์การเกษตรผักไห่ ได้ที่ https://www.facebook.com/photo.php?v=253362551433432&set=vb.100002790675491&type=2&theater

[15] คุมแห้ง   หมายถึง  การควบคุมเม็ดวัชพืชโดยฉีดพ่นสารเคมีควบคุมการงอกของวัชพืชหลังจากหว่านข้าวและปล่อยน้ำแห้งแล้ว 3 วัน  จากนั้นจึง คุมเปียก คือฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชอีกครั้งเมื่อข้าวอายุ 9 วัน

[16] ดูเพิ่มที่ “เปิดผลสำรวจชาวนารวยขึ้น พึงพอใจโครงการจำนำข้าว กรมข้าวแนะ7วิธีลดต้นทุน” มติชนออนไลน์ 20-06-56 http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1371708485&grpid=03&catid&subcatid

[17] 'ข้าวขวัญสุพรรณ'ต้นแบบผลิตข้าว”  ฐานเศรษฐกิจ 12-04-56   http://www.thannews.th.com/index.php?option=com_content&view=article&id=117049:2012-04-12-09-48-22&catid=87:2009-02-08-11-23-26&Itemid=423

[18] ดูรายละเอียดการคัดเลือกพันธุ์ข้าวเพิ่มเติมที่  http://www.suphan.biz/khaokwan.htm 

[19] “โรงเรียนชาวนา”  มูลนิธิข้าวขวัญ  http://www.khaokwan.org/farmerschool.html

[20] จับตา "เบียร์ช้าง-ซี.พี." จับมือทุนท้องถิ่น-ผูกขาด "ข้าว"  ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 ก.ย. 2552  http://www.afet.or.th/v081/thai/news/commodityShow.php?id=2255

[21] “ชาติร่ำรวยแห่หาที่ปลูกข้าว”  ฐานเศรษฐกิจ 20-06-54  http://www.thannews.th.com/index.php?option=com_content&view=article&id=71767&catid=85&Itemid=417

[22] “กานดา นาคน้อย: ข้าว เหล้า ไวน์” ประชาไท 23-06-56  http://prachatai.com/journal/2013/06/47346

[23] ดูรายละเอียดการปรับราคารับจำนำข้าวชนิดต่างๆ หลัง ครม.รัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีมติลดราคารับจำนำข้าวนาปรังเหลือตันละ 12,000 บาท เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2556 ได้ที่ข่าว “พาณิชย์คาดกำหนดราคารับจำนำข้าวในฤดูนาปี56/57 ได้ภายในนก.ค.” ฐานเศรษฐกิจ 21-06-56   http://www.afet.or.th/v081/thai/news/commodityShow.php?id=5920

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท