ห่วงโซ่การค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ใครกำหนดใคร ?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
การกล่าวถึงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่สูง มักมาพร้อมกับภาพ “การตัดไม้ทำลายป่า” ซึ่งจำเลยสำคัญคือกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่เหล่านั้น ที่ถูกเข้าใจว่าได้ตกเป็นเหยื่อของระบบทุนนิยมและกลไกตลาด แต่ภาพที่ขาดหายไปในการทำความเข้าใจเรื่องนี้ก็คือ สายพานการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนต่าง ๆ อีกมากมาย ที่มีส่วนส่งเสริมทั้งทางตรงและทางอ้อมให้การผลิตพืชพาณิชย์บนพื้นที่สูงเป็นไปได้
 
ตลาดการค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอำเภอแม่แจ่ม ได้ผนวกเอาชาวบ้านบนพื้นที่สูงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ในฐานะผู้ผลิตวัตถุดิบป้อนโรงงาน ระหว่างผู้ปลูกข้าวโพดไปถึงโรงงานผลิตอาหารสัตว์ มีผู้กระทำการหลากหลายกลุ่มในหลายระดับ แต่ผู้คนเหล่านั้นมัก “ลอยตัว” ไม่ถูกกล่าวถึง ราวกับว่าพวกเขาไม่เกี่ยวข้องอะไรกับ “การตัดไม้ทำลายป่า” เพื่อขยายการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เหตุใดความเข้าใจเรื่องการตัดไม้ทำลายป่ากับการขยายตัวของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จึงเป็นสมการสั้นห้วนที่ตัดตอนความเข้าใจอยู่เพียงแค่นั้น 
 
นอกจากนั้น เรามักเชื่อว่าเกษตรกรรายย่อยมีอำนาจต่อรองน้อยกว่าผู้รับซื้อผลผลิต และผู้ประกอบการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่ในห่วงโซ่ของธุรกิจข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หากพูดถึงผลประโยชน์ตอบแทนภายในห่วงโซ่การค้าก็แน่นอนว่าเกษตรกรย่อมได้รับกำไรในสัดส่วนที่น้อยกว่าผู้ประกอบการในลำดับอื่น ๆ ห่วงโซ่เดียวกัน แต่หากพิจารณาเพียงเท่านั้นเราก็จะเห็นว่าชาวบ้านเป็นแค่ “เหยื่อ” ของปลาใหญ่ในห่วงโซ่  บทความนี้จะสะท้อนให้เห็นการกระทำการของเกษตรกรรายย่อยผู้ซึ่งแลดูเสียเปรียบกว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาเป็น “เหยื่อ” ที่ขลาดเขลาของธุรกิจการค้าในแบบที่คนอื่นเข้าใจ
 
เส้นทางการค้า
 
 
อำเภอแม่แจ่มจังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัด มีปริมาณผลผลิตมากกว่าครึ่งของผลผลิตทั้งจังหวัด หรือเกือบ 8 หมื่นตันต่อปี และผลผลิตส่วนหนึ่งก็มาจากบ้านก่อวิละ หมู่บ้านปาเกอะญอขนาดประมาณ 70 หลังคาเรือน ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สูง และมีเส้นทางคมนาคมไม่ค่อยสะดวก
 
ทุกปีในช่วงฤดูแล้งหลังจากเก็บเกี่ยวผลิต ชาวบ้านก่อวิละจะนำเมล็ดข้าวโพดที่สีออกจากฝักแล้วบรรจุใส่กระสอบลำเลียงใส่ท้ายรถกระบะเพื่อขนไปยังจุดรับซื้อผลผลิตที่ตั้งอยู่ในตัวอำเภอแม่แจ่ม[1] ระยะทางราว 16 กิโลเมตร 
 
เมื่อถึงจุดรับซื้อ เจ้าของรถจะขับรถเข้าชั่งเพื่อบันทึกน้ำหนักข้าวโพดรวมกับน้ำหนักตัวรถ ขณะกำลังชั่ง จะมีการสุ่มเก็บตัวอย่างข้าวโพดไปเข้าเครื่องวัดความชื้นแล้วจึงตกลงราคาซื้อขาย หากตกลงว่าจะขาย เจ้าของรถจะนำข้าวโพดไปเทลงกองซึ่งแบ่งกองไว้ตามระดับค่าความชื้นต่าง ๆ จากนั้นจึงนำรถกลับไปชั่งน้ำหนักอีกครั้งเพื่อหาค่าน้ำหนักข้าวโพด โดยทั่วไปรถยนต์กระบะหนึ่งคันจะบรรทุกผลผลิตข้าวโพดได้ประมาณ 2 ตัน
 
ในอำเภอแม่แจ่มมีผู้รับซื้อผลผลิตการเกษตรสิบกว่ารายในตัวอำเภอ โดยส่วนใหญ่รับซื้อผลผลิตหลากหลายชนิดหมุนเวียนกันไปตลอดทั้งปี ผู้รับซื้อเหล่านี้นับเป็น “รายย่อย” ที่ทำหน้าที่รวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรรายย่อยส่งไปขายต่อยังผู้รับซื้อรายใหญ่กว่าที่อยู่ต่างอำเภอ และในจังหวัดใกล้เคียง หรือบางทีหากเป็นพืชผักผลไม้ก็อาจส่งไปถึงตลาดในกรุงเทพฯ 
 
ผู้ประกอบการเหล่านี้ทำหน้าที่บริหารจัดการหรือเป็น “พ่อค้าคนกลาง”  โดยลงทุนในเครื่องชั่ง เครื่องวัดความชื้น และโรงเก็บผลผลิตชั่วคราวขนาดไม่ใหญ่มาก ส่วนใหญ่พวกเขาไม่มีรถบรรทุกเป็นของตนเองแต่จะติดต่อจ้างผู้ประกอบการรถหกล้อและสิบล้อเพื่อขนส่งผลผลิตไปยังแหล่งรับซื้ออีกต่อหนึ่ง  ผู้ประกอบการบางรายเลือกไม่รับซื้อผลผลิตการเกษตรบางชนิดในบางฤดูกาลเพราะไม่สะดวกที่จะจัดการส่งไปขายต่อ หรือผลผลิตนั้นไม่เป็นที่ต้องการของตลาด หรือมีปริมาณผลผลิตน้อยเกินไปจนไม่คุ้มค่ากับการจัดการ แต่ทุกรายรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทุกปีเพราะเป็นผลผลิตที่จัดการง่ายต่างจากพืชผักหรือผลไม้สดที่จัดการยากกว่าและเป็นที่ต้องการของตลาดเสมอ  
 
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากผู้รับซื้อรายย่อยในอำเภอแม่แจ่มจะถูกส่งต่อไปที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ หรืออำเภอใกล้เคียงในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ผู้รับซื้อรายใหญ่มักเป็นผู้ประกอบการห้องเย็น และผู้ประกอบการโรงอบลำไย ที่มีไซโลหรือโกดังขนาดใหญ่ สามารถเก็บรวบรวมผลผลิตจำนวนมาก รวมถึงมีเครื่องจักรกลที่ช่วยเพิ่มคุณภาพและราคาของข้าวโพด เช่น ลดความชื้น คัดแยกสิ่งเจือปน เป็นต้น แล้วขายให้กับโรงงานผลิตอาหารสัตว์อีกต่อหนึ่ง ซึ่งมีทั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ซึ่งเป็นธุรกิจในเครือบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรครบวงจร เช่น เครือเบทาโกร และเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นต้น
 
 
 
ราคาและค่าใช้จ่าย
 
 
การกำหนดและต่อรองราคาเป็นเรื่องสำคัญที่มักใช้ชี้วัดถึงอำนาจการต่อรองระหว่างผู้รับซื้อและผู้ขาย แต่ในกระบวนการค้าข้าวโพดนั้นมีการส่งต่อผลผลิตกันหลายทอด แต่ละทอดได้สร้างรายได้ให้แก่คนหลายกลุ่มในอำเภอแม่แจ่ม
 
ราคารับซื้อข้าวโพดในอำเภอแม่แจ่มไม่ได้กำหนดอย่างอิสระจากผู้รับซื้อในตัวอำเภอ แต่กำหนดมาจากผู้รับซื้อรายใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโรงอบหรือไซโลที่อยู่ต่างอำเภอ  “น้องจิน” (นามสมมติ) ซึ่งเป็นผู้รับซื้อข้าวโพดรายย่อยในอำเภอแม่แจ่มเล่าว่าแต่ละวันเธอจะโทรไปที่แหล่งรับซื้อเจ้าประจำของเธอซึ่งมีสองราย รายหนึ่งอยู่ที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ และอีกรายอยู่ที่อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เพื่อจะได้ทราบว่าในวันนั้นแหล่งรับซื้อต้องการซื้อปริมาณและราคาเท่าไร  โดยในฤดูเก็บเกี่ยวข้าวโพดเธอส่งผลผลิตไปขายเฉลี่ยวันละ 70 ตัน และบางวันอาจสูงถึง 100 ตัน
 
เมื่อทราบราคารับซื้อแล้ว น้องจินจะกำหนดราคารับซื้อกับเกษตรกร โดยหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อีกหลายขั้นตอน ได้แก่ ค่าขนส่งจากโกดังของเธอไปยังผู้รับซื้อรายใหญ่ในอัตรากิโลกรัมละ 35-40 สตางค์ โดยหากขนส่งด้วยรถบรรทุก 6 ล้อจะขนได้เที่ยวละ 10 ตัน คิดค่าขนส่งกิโลกรัมละ 40 สตางค์ แต่หากเป็นรถบรรทุกพ่วงสามารถขนได้สูงสุด 20 ตัน มีค่าขนส่งกิโลกรัมละ 35 สตางค์
 
กรณีที่เกษตรกรไม่ได้สีข้าวโพดมาก่อนแต่นำผลผลิตมาขายทั้งฝัก เธอคิดค่าสีข้าวโพดกิโลกรัมละ 20 สตางค์ นอกจากนั้นยังมีค่า “ทอยลาน” หรือค่าขนส่งจากลานสีมายังจุดรับซื้อกิโลกรัมละ 5 สตางค์ แต่หากต้องบรรทุกข้าวโพดจากไร่ซึ่งต้องอยู่ไม่ไกลจากตัวอำเภอมากนัก (กรณีเป็นชาวพื้นราบ) เธอคิดค่า “ทอยจากสวน” หรือค่าขนส่งข้าวโพดมายังลานสีข้าวโพดกิโลกรัมละ 20 สตางค์ กรณีที่มีผู้ที่แนะนำหรือพาเกษตรกรมาขายข้าวโพดให้แก่เธอ น้องจินให้ค่านายหน้าอีกกิโลกรัมละ 5 สตางค์ และสุดท้ายเธอคิดค่าดำเนินการซึ่งเป็นส่วนกำไรที่ผู้รับซื้อจะได้รับสุทธิจริง ๆ คือกิโลกรัมละ 10-20 สตางค์ ดังนั้นเพื่อให้ได้กำไรสูง น้องจินจึงต้องเน้น “ทำน้ำหนัก” หรือขายให้ได้ปริมาณมาก ๆ จึงจะคุ้มค่าการจัดการ
 
จะเห็นได้ว่าในกระบวนการค้าข้าวโพดนั้นมีขั้นตอนหลังการเก็บเกี่ยวอีกมาก ที่ล้วนแต่ทำให้เกษตรกรมี “ค่าใช้จ่าย” กรณีที่เกษตรกรไม่จ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จกับผู้รับซื้อรายเดียวที่มีบริการครบวงจรดังเช่นน้องจิน ก็จะทำให้มีผู้มีรายได้จากกระบวนการค้าข้าวโพดเกิดขึ้นอีกหลายกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ที่รับจ้างสีข้าวโพด และรับจ้างขนส่ง ซึ่งผู้เขียนได้แสดงข้อมูลในส่วนนี้ไปบ้างแล้วในบทความที่ผ่านมา[2]และจะได้กล่าวถึงเพิ่มเติมในส่วนต่อไปของบทความ 
 
นอกจากข้าวโพดแล้วในอำเภอแม่แจ่มยังมีการปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ อีก เช่น หอมแดง กระเทียม กะหล่ำปลี ฟักทอง ฯลฯ ช่วงการเก็บเกี่ยวผลผลิตจะมีความต้องการว่าจ้างรถบรรทุกจำนวนมาก ซึ่งนับเป็นขั้นตอนสำคัญของการค้าผลผลิตการเกษตร เพราะหากการขนส่งไม่รวดเร็วทันเวลาอาจทำให้ผลผลิตบางชนิดเน่าเสียจนกระทั่งผู้ประกอบการถึงกับขาดทุนได้ 
 
การขยายตัวของการผลิตพืชพาณิชย์ในอำเภอแม่แจ่ม ทำให้เกิดผู้ประกอบการรับซื้อผลผลิตการเกษตรมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนั้นเธอยังสังเกตว่าได้เกิดผู้ประกอบการรายย่อยหน้าใหม่ ๆ ที่ลงทุนซื้อรถบรรทุกมารับจ้างขนผลผลิตการเกษตร และเจ้าของรถบรรทุกเหล่านี้ก็ได้สร้างเครือข่ายหลวม ๆ เพื่อส่งข่าวและประสานงานกลายเป็นเครือข่ายผู้รับจ้างขนส่งสินค้าเกษตรที่ไม่เป็นทางการขึ้นมา
 
ใครเลือกใคร..เกษตรกร กับผู้รับซื้อ ?
 
ระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตกับผู้รับซื้อและผู้ประกอบการในห่วงโซ่การค้าข้าวโพดนั้น เกษตรกรมักมีอำนาจต่อรองน้อยกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะในเรื่องราคา อำนาจเดียวที่เกษตรกรพอจะมีอยู่บ้างก็คือการเลือกว่าจะขายให้ใคร ซึ่งนอกเหนือจากเหตุผลเรื่องราคารับซื้อแล้วยังมีเหตุผลอื่น ๆ อีกที่ทำให้ชาวบ้านตัดสินใจเลือกแหล่งรับซื้อข้าวโพด
 
ในอำเภอแม่แจ่มซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ มีผู้รับซื้อข้าวโพดสิบกว่าราย ทำให้มีการแข่งขันเพื่อแย่งรับซื้อผลผลิตพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ตลาดมีความต้องการสูง  บ้านก่อวิละผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ปีละประมาณ  1,200 ตัน แม้ว่าจะไม่ใช่ปริมาณมากนัก แต่ก็ช่วยสร้างผลกำไรให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยในอำเภอแม่แจ่มได้ไม่ต่ำกว่าปีละ1.2 – 2.4 แสนบาท
 
แหล่งรับซื้อต่าง ๆ ตั้งอยู่ในตัวอำเภอและไม่ไกลจากกันมากนักทำให้ระยะทางไม่ใช่ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกแหล่งรับซื้อ ผู้รับซื้อบางรายให้ราคาที่สูงกว่าโดยยอมที่จะลดผลกำไรของตนเองลงเพื่อดึงดูดให้ชาวบ้านมาขายมากขึ้น ชาวบ้านก่อวิละขับรถนำผลผลิตไปลองขายเพื่อเช็คราคากับผู้รับซื้อถึงสามราย แล้วจึงจะค่อยนำผลผลิตที่เหลือมาขายให้กับผู้รับซื้อรายที่ให้ราคาน่าพอใจที่สุด
 
แต่ก็ใช่ว่าเกษตรกรจะตัดสินใจขายผลผลิตให้แก่ผู้รับซื้อที่ให้ราคาสูงเสมอไป เกษตรกรที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์การเกษตรแม่แจ่มมักเลือกขายผลผลิตให้แก่สหกรณ์หากพบว่าราคารับซื้อไม่ต่างจากผู้รับซื้อรายอื่นมากนัก เพราะพวกเขาเห็นว่าการขายผลผลิตให้แก่สหกรณ์จะช่วยเพิ่มผลประกอบการของสหกรณ์ และส่งผลให้เกษตรกรได้ส่วนแบ่งจากเงินปันผลสมาชิกเพิ่มขึ้น
 
ขณะที่เกษตรกรบางส่วนให้ความสำคัญกับการเลือกแหล่งรับซื้อ เกษตรกรอีกบางส่วนกลับเห็นว่าขายที่ไหนก็เหมือนกันเพราะราคาไม่แตกต่างกันมากนัก นอกจากเรื่องผลตอบแทนที่ว่าแล้ว เกษตรกรบางรายมีเหตุผลในการเลือกแหล่งรับซื้อที่แปลกออกไป ตัวอย่างเช่น พะตีพา (นามสมมติ) เวียนขายข้าวโพดแต่ละปีให้กับผู้รับซื้อเจ้าประจำ 3 ราย โดยให้เหตุผลว่าเขาอยากกระจายเพื่อช่วยให้ผู้รับซื้อมีโอกาสได้มีผลผลิตเฉลี่ย ๆ กันไปเพื่อให้พวกเขาสามารถทำธุรกิจต่อไปได้ ทัศนะของพะตีพาทำให้ผู้เขียนแปลกใจ เพราะในขณะที่คนทั่วไปมองว่าเกษตรกรรายย่อยเป็นเบี้ยล่างที่ไม่มีอำนาจต่อรองกับผู้ประกอบการ ชาวบ้านกลับมองเห็นว่าตนเองต่างหากที่เป็นฝ่ายให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ
 
เกษตรกรบางรายเลือกขายข้าวโพดให้กับผู้รับซื้อที่ชาวบ้านรู้จักและคุ้นเคย ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่มากไปกว่าผู้ซื้อ-ผู้ขาย ความสัมพันธ์ลักษณะนี้ช่วยทำให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ราคาสูงกว่าปรกติ ดังตัวอย่างจากกรณีของพล นักการเมืองท้องถิ่นที่เป็นที่รู้จักของคนแม่แจ่มอยู่พอสมควร ผู้เขียนเคยตามพลไปขายข้าวโพดที่สหกรณ์การเกษตรแม่แจ่ม สังเกตเห็นเจ้าหน้าที่สหกรณ์ซื้อข้าวโพดของพลโดยให้เกณฑ์ราคารับซื้อสูงสุด คือเป็นข้าวโพดที่มีความชื้นไม่เกินร้อยละ 14 ทั้งที่วัดค่าความชื้นข้าวโพดได้มากกว่าร้อยละ 14  
 
อำนาจการต่อรองราคาของพลนับเป็นกรณีพิเศษมาก เมื่อเทียบกับอำนาจต่อรองของเกษตรกรคนอื่น ๆ ที่บ้านก่อวิละซึ่งมีเกษตรกรเจ็ดสิบครัวเรือน มีประมาณ 27 ครัวเรือนเท่านั้นที่มีรถยนต์กระบะเป็นของตนเอง เกษตรกรที่เหลือต้องจ้างรถยนต์ของเพื่อนบ้านบรรทุกผลผลิตไปขาย ค่าว่าจ้างหักจากเงินที่ขายผลผลิตได้ในอัตรากิโลกรัมละ 40 สตางค์ ในกรณีนี้เกษตรกรเจ้าของผลผลิตมักไม่มีทางเลือกมากนักว่าจะขายผลผลิตให้กับผู้รับซื้อรายใด เนื่องจากเจ้าของรถยนต์มักมีอำนาจโน้มน้าวให้ไปขายกับผู้รับซื้อที่เจ้าของรถยนต์รู้จักมักคุ้นเป็นอย่างดี  
 
ไม่มีคนรับซื้อย่อมไม่มีคนปลูก 
 
จากกระบวนการค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่แสดงในบทความนี้ จะเห็นได้ว่าเฉพาะในด้านการค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีจุดเริ่มต้นจากหมู่บ้านเล็ก ๆ บนพื้นที่สูงของอำเภอแม่แจ่มนั้นมีกลุ่มคนต่าง ๆ เกี่ยวพันกันและได้รับประโยชน์อีกมากมาย และเกษตรกรก็เป็นเพียงแต่ส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การค้าอันยาวเหยียดนี้  ดังนั้น หากจะมีการกล่าวโทษเรื่อง “การตัดไม้ทำลายป่า” อันเกิดขึ้นจากการขยายตัวของการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่สูง จำเลยของข้อกล่าวหาก็ไม่ควรจะตัดตอนมาเพ่งเล็งเฉพาะเกษตรกรผู้ผลิต  หากจะกล่าวว่าถ้าไม่มีคนปลูกก็ไม่มีคนซื้อ ก็คงกล่าวย้อนได้ในทำนองเดียวกันว่าหากไม่มีคนรับซื้อก็ย่อมไม่มีคนปลูกขาย
 
เมื่อได้รับประโยชน์ คนหลายกลุ่มในหลายระดับต่างมีส่วนร่วมในผลประโยชน์จากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตั้งแต่ผู้รับซื้อรายย่อย เจ้าของรถบรรทุก เจ้าของโรงอบ ธุรกิจอาหารสัตว์ยักษ์ใหญ่ หรือแม้แต่รัฐบาลเองที่มีรายได้จากภาษีและผลตอบแทนในด้านอื่น ๆ จากการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และธุรกิจอาหารสัตว์
 
แต่เมื่อตกเป็นจำเลย กลับกลายเป็นว่าเฉพาะผู้ผลิตรายย่อยบนพื้นที่สูงเท่านั้นที่ถูกประณาม 
 
 

[1]  ชาวบ้านพื้นราบส่วนใหญ่เมื่อสีข้าวโพดแล้วจะนำเมล็ดเหล่านั้นใส่ลงท้ายรถกระบะที่มุงตาข่ายโดยรอบแบบไม่แบ่งใส่กระสอบ
 
[2] กรณีบ้านก่อวิละ มีเกษตรกรรายหนึ่งลงทุนซื้อรถโม่ หรือรถสีข้าวโพด เพื่อนำมารับจ้างชาวบ้านในหมู่บ้านสีข้าวโพดออกจากฝัก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท