Skip to main content
sharethis
คุยกับแอดมินเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘มานีมีแชร์’ ก่อนเก้าอี้ในมือจะสั่น จากตัวละครในแบบเรียนภาษาไทยระดับประถมศึกษา ที่ไม่ได้ใช้แล้วเกือบ 20 ปี สู่ Gag เสียดสีการเมืองและวัฒนธรรม

ภาพ Gag จากเฟซบุ๊กแฟนเพจมานีมีแชร์

หากคนที่เรียนระดับประถมเมื่อประมาณ 20-30 ปีที่แล้ว คงยังจำตัวละครอย่างมานะ - มานี รักเผ่าไทย, ปิติ พิทักษ์ถิ่น, ชูใจ เลิศล้ำ, วีระ ประสงค์สุข, ดวงแก้ว ใจหวัง คุณครูไพลิน  รวมไปถึง เจ้าโต เจ้าจ๋อ เจ้าแก่และสีเทา ฯลฯ ที่เป็นตัวละครหลักในหนังสือชุดแบบเรียนภาษาไทยระดับประถมศึกษาในยุคนั้นได้ ซึ่งเป็นผลงานของ รัชนี ศรีไพรวรรณ ส่วนผู้วาดภาพมี 3 คนคือ เตรียม ชาชุมพร, โอม รัชเวช และ ปฐม พัวพิมล ด้วยตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นเหล่านี้ถือว่ามีอิทธิพลต่อความคิดของคนที่โตมาในยุคนั้นเช่นกัน

ปกแบบเรียนภาษาไทยระดับประถมศึกษาปีที่ 2 เล่ม 1 ที่มีภาพมานะและมานี

ปัจจุบันยุคที่สื่ออย่างโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะเฟซบุ๊กมีบทบาทมากขึ้น ตัวละครเหล่านั้นก็กลับถูกนำมาใช้ ทั้งในแง่การโพสต์เพื่อหวนรำลึกวันเก่าๆ ที่ถูกสร้างนั้น และการนำมาใช้ล้อเลียนเสียดสี อย่างแฟนเพจ หนังสือเพี้ยน ป.1  และ กาตูนร์ ระทม ที่นำตัวละครอย่างมานี ที่เป็นเด็กเรียบร้อยเรียนดี ต้นแบบเด็กไทยที่หนังสือพยายามสร้างมาใช้เป็นมีมในมุกที่เพจเสนอ และเพจที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อกลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาอย่างเพจ “มานีมีเเชร์ ที่นำตัวละครเหล่านั้นมาใช้ล้อเลียนทางการเมืองและวัฒนธรรมปัจจุบัน จน ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัลย์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง กล่าวว่า “อิมแพ็คของมานีและโต ที่สัญญะแม่งแรง จนคนรุ่น "แก้วกับกล้า" ยังเก็ตกับความหมาย” เนื่องจากถูกทำให้กลายเป็นสัญญะข้ามรุ่นและเป็นผลจากการทำมานีให้เป็นสินค้าด้วย ในโอกาสที่เพจดังกล่าวมียอดกดไลค์กว่าหมื่นในเวลาไม่กี่วัน ประชาไทจึงได้มีโอกาสพูดคุยกับแอดมินเพจมานีมีแชร์ เพื่อทำความเข้าใจความคิดและตัวตนของพวกเขา

0000

ประชาไท : แอดมินแฟนเพจนี้เป็นใครบ้าง

แอดมินเพจ มานีมีแชร์ : หลักๆ มีแอดมินดูแลเพจแค่สองคน แต่วาดรูปมีคนเดียวค่ะ คือช่วยดูกันเป็นกลุ่มปรึกษากันเรื่องมุก เฉลี่ยอายุทุกคนเเล้วอยู่ที่ 30 หน่อยๆ ค่ะ ส่วนอาชีพก็หลากหลาย ทั้งทางด้านงานกราฟิก ช่างทำรองเท้า วิศวกร ฯลฯ

ภาพ Gag จากเฟซบุ๊กแฟนเพจมานีมีแชร์

ทำไมถึงตั้งเพจลักษณะนี้ขึ้นมา ตั้งมาตั้งแต่เมื่อไหร่

เริ่มต้นตั้งเเต่ช่วงม็อบหน้ากากวีเริ่มมีเเรกๆ ค่ะ เเต่ตอนนั้นบทเรียนมานีอยู่ในเพจ “ทวงคืนเทือกเขาอัลไต” ก่อนที่จะเเตกออกมาเป็นเพจใหม่ สาเหตุที่สร้างเพจลักษณะนี้ขึ้นมาเพราะเพื่อนในเฟซบุ๊กของหนู 99% เป็นสลิ่ม เลยอยากหาที่ระบาย เพราะไม่สามารถพูดได้ที่หน้าบ้านตัวเอง

ภาพ Gag จากเฟซบุ๊กแฟนเพจมานีมีแชร์

ทำไมต้องเอาเก้าอี้ใส่มือมานี

ข้อนี้ไม่ค่อยอยากตอบเลย (หัวเราะ) หนูว่าแต่ละคน ดูมานีแล้วมีมุมมองที่ต่างกัน บางคอมเมนต์ไปไกลกว่าหนูอีก

ทำไมเอาตัวละครในแบบเรียนภาษาไทยระดับประถมศึกษา มานะมานี ที่ไม่ได้ใช้แล้วเกือบ 20 ปี เอามาใช้สื่อสาร

เพราะหนูคือ มานี แต่อยู่ในมุมมองของสาวใหญ่วัย 36 (หัวเราะ) ล้อเล่นค่ะ จริงๆ มันเป็นความบังเอิญของหนูเอง บวกความทรงพลังของมานีอยู่เเล้ว เพราะอย่างที่บอกไป มีคนติดตามเยอะมากตอนอยู่ที่อัลไต เลยต้องเเตกออกมา เพื่อจะได้ไม่ไปรบกวนภารกิจการทวงคืนเทือกเขาอัลไตกลับมาสู่ประเทศไทยให้ได้

ภาพ Gag จากเฟซบุ๊กแฟนเพจมานีมีแชร์
 

ตัวละครแต่ละตัวมีความหมายอะไรไหม อย่างมานีคืออะไร เก้าอี้คืออะไร และเจ้าโตคือตัวแทนอะไร

ถ้าจะบอกไปก็จะกลายเป็นการปิดกั้นจินตนาการของแฟนเพจ ผิดคอนเซ็ปต์ของโลกเสรี (หัวเราะ) เอาเป็นว่าให้แฟนๆ สมาชิกในเพจเขาให้ความหมายกันเองดีกว่าค่ะ

ใช้เทคนิคและโปรแกรมอะไรทำภาพ

ตัดแปะและ paint ทับค่ะ

ภาพ Gag จากเฟซบุ๊กแฟนเพจมานีมีแชร์
 

การทำการ์ตูนเอาเก้าอี้ฟาดเจ้าโตซ้ำๆ คิดว่ามันไม่ส่งเสริมความรุนแรงหรือ

ก็มีคนส่งข้อความมาถามเหมือนกันค่ะ แต่อยากจะบอกว่ามันเป็นแค่คอนเซ็ปต์ของเพจให้ดูขำๆ จริงๆ ทีมงานหลายคนของเพจมานีฯ ก็เลี้ยงหมากันนะคะ บางคนรักหมาตัวเองยิ่งกว่าแฟน รักยิ่งกว่าเมียอีก แต่พวกเราเข้าใจว่านี่เป็นเพียงการเสียดสี เหมือนตลกคาเฟ่รับมุกเอาถาดเคาะหัวขำๆ นั่นแหละค่ะ


(หมายเหตุ : ทางผู้สัมภาษณ์ไม่สามารถสัมภาษณ์ไปมากไปกว่านี้ เนื่องจากเก้าอี้ในมือของมานีเริ่มสั่น จึงได้ทำการตัดบทและจบการสัมภาษณ์ก่อนจะกลายเป็นเจ้าโต ทำให้พลาดคำถามสำคัญบางอย่างไป )

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net