Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สถาบันอุดมศึกษาของรัฐถือเป็นสถานศึกษาที่ให้การศึกษาในระดับอุดมศึกษา (Higher Education) ที่ไม่เพียงมีภารกิจในการจัดทำบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับการให้การศึกษาระดับสูงแก่ประชาชนของประเทศ เพื่อให้ประชาชนของประเทศกลายเป็นแรงงานที่สำคัญสำหรับพัฒนาหรือขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของประเทศในอนาคตเท่านั้น หากแต่ยังมีหน้าที่สำคัญในการอบรมบ่มเพราะประชาชนเหล่านั้นให้มีคุณธรรมและจริยธรรม ทำให้ประชาชนเหล่านั้นเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพดี รู้จักสิทธิและหน้าที่ที่กฎหมายได้รับรอง คุ้มครองหรือระบุเอาไว้ในอนาคตด้วย

สถาบันอุดมศึกษาของรัฐจึงประกอบไปด้วยบุคลากรสายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรสายวิชาการ (academic staff) และบุคลากรสายสนับสนุน (supporting staff) รวมไปถึงคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัย (University Executive Board - UEB) ที่มาจากทั้งบุคลากรประจำและบุคคลากรที่มหาวิทยาลัยจ้างมาเป็นพิเศษเพื่อบริหารงานของมหาวิทยาลัยหรือกิจการของมหาวิทยาลัยให้สามารถตอบสนองต่อการจัดทำบริการสาธารณด้านการศึกษาและสามารถแข่งขันกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศและระดับโลกในด้านต่างๆ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยของรัฐย่อมประกอบด้วยนักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกจากมหาวิทยาลัยให้เข้าศึกษาต่อทั้งในหลักสูตรเต็มเวลา (full time) และหลักสูตรภาคสมทบ (part time) อันประกอบด้วยการศึกษาหลายระดับ หลายหลักสูตรตามแต่ความถนัดหรือความชอบของนักศึกษาที่ต้องการเรียนรู้หรือศึกษาในสาขาวิชานั้นๆ

มหาวิทยาลัยจึงกลายเป็นศูนย์รวมของบุคลากรสายต่างๆ ของมหาวิทยาลัยทั้งสายวิชาการ สายสนับสนุนและผู้บริหารหน่วยงานหรือคณะกรรมการประเภทต่างๆ รวมไปถึงนักศึกษาที่มีลักษณะเฉพาะตนที่หลากหลาย  จากลักษณะทางกายที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ลักษณะทางกายหรือเงื่อนไขทางการแพทย์ต่างๆที่เปลี่ยนแปลงภายหลังจากกำเนิด ความเชื่อส่วนบุคคลในเรื่องต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป รสนิยมในเรื่องต่างๆ ที่อาจไม่ความนิยมชมชอบที่ไม่เหมือนกัน ความหลากหลาย (characteristic diversity) เหล่านี้ย่อมนำมาซึ่งความแตกต่างส่วนตนภายใต้สังคมอุดมศึกษาของรัฐ

รัฐบาล หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลสถาบันการศึกษาของรัฐ และสถาบันอุดมศึกษาของรัฐจึงมีหน้าที่ที่สำคัญในการกำกับดูแลและควบคุมให้บุคคลที่หลากหลายดังกล่าวสามารถดำรงอยู่รวมกันได้อย่างปกติสุขและสันติสุข ในขณะเดียวกัน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการศึกษาระดับอุดมศึกษาจำต้องขับเคลื่อนการให้บริการสาธารณะด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาภายใต้ความหลากหลายของบุคคลที่มีลักษณะเฉพาะตนที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้บุคคลที่มีลักษณะเฉพาะประเภทต่างๆ สามารถประกอบกิจกรรมต่างๆ สำหรับให้บริการสาธารณะทางการศึกษาหรือสนับสนุนการการให้บริการสาธารณะด้านการศึกษา รวมไปถึงสามารถเข้ารับบริการสาธารณะทางการศึกษาได้ โดยปราศจากเงื่อนไขอันถือเป็นการเลือกปฏิบัติ (conditions for discrimination) ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเลือกปฏิบัติระหว่างพนักงานมหาวิทยาลัยด้วยกัน เงื่อนไขที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้พนักงานมหาวิทยาลัยสามารถกีดกันหรือเลือกปฏิบัติต่อนักศึกษา เงื่อนไขที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยสามารถกีดกันหรือเลือกปฏิบัติต่อพนักงานมหาวิทยาลัยหรือนักศึกษา และเงื่อนไขหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่นักศึกษาตั้งขึ้นมาเพื่อกีดกันหรือเลือกปฏิบัติต่อนักศึกษาด้วยกันเอง โดยปราศจากบทบัญญัติทางกฎหมายที่ให้อำนาจหรือกฎหมายรับรองหรือคุ้มครองให้กระทำการนั้นๆ ได้

ด้วยเหตุนี้ ในหลายประเทศจึงได้พยายามแสวงหานโยบายและมาตรการทางกฎหมายเฉพาะที่กำหนดหลักเกณฑ์กับวิธีการในการต่อต้านการเลือกปฏิบัติ (anti-discriminatory approaches) เพื่อให้บุคคลที่มีที่มาหรือมีลักษณะเฉพาะตนที่หลากหลายถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียม (equality) โดยปราศจากการกีดกันและการเลือกปฏิบัติโดยอาศัยเพียงความแตกต่างในลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคลในสังคมอุดมศึกษาของรัฐ ได้แก่ อายุ ความพิการทางกาย การแปลงเพศ การสมรส การใช้ชิวิตคู่ สีผิว ศาสนา เพศ และการแสดงออกทางเพศ

แม้ว่าการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการต่อต้านการเลือกปฏิบัติ ไม่อาจจะทำให้ผู้คนที่มีลักษณะเฉพาะตนที่หลากหลายมีความเท่าเทียมกันในทุกๆเรื่อง ทุกๆ มิติและทุกๆด้าน ในความเป็นจริง แต่การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการโดยนโยบายและมาตรการทางกฎหมายเฉพาะที่จัดทำขึ้นโดยรัฐดังกล่าวย่อมสามารถทำให้พนักงานมหาวิทยาลัยสายต่างๆ นักศึกษาประเภทต่างๆ และผู้บริหารสามารถมีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติต่างๆ อย่างเท่าเทียมในการให้บริการสาธารณะด้านการศึกษาและการรับบริการสาธารณะด้านการศึกษา รวมไปถึงกิจกรรมอื่นๆ ทั้งกิจกรรมทางกายภาพและการกระทำทางปกครองที่จัดทำขึ้นโดยสถาบันการศึกษาของรัฐหรือหน่วยงานในสถาบันการศึกษาของรัฐ นอกจากนี้ การต่อต้านการเลือกปฏิบัติยังเท่ากับเป็นการเปิดหรือให้โอกาส แก่บุคคลที่อยู่ภายใต้สังคมอุดมศึกษา ให้สามารถใช้สิทธิของตนที่กฎหมายรับรองหรือคุ้มครองเอาไว้กับสามารถรับหน้าที่ที่กฎหมายระบุเอาไว้ รวมไปถึงมีโอกาศได้รับความก้าวหน้าจากการศึกษาหรือการประกอบหน้าที่การงานได้อย่างเท่าเทียมกัน

หลักเกณฑ์และวิธีการในการต่อต้านการเลือกปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมกันในสังคมอุดมศึกษาของรัฐที่ควรพัฒนาเป็นนโยบายหรือมาตรการทางกฎหมายเฉพาะในอนาคต ได้แก่ มาตรการต่อต้านการเลือกปฏิบัติจากความพิการทางกาย (disability discrimination) มาตรการสนับสนุนการศึกษาสำหรับเด็ก เยาวชนหรือผู้พิการที่มีความต้องการพิเศษ (special educational needs) มาตรการขจัดการกีดกันหรือเลือกปฏิบัติโดยอาศัยเพียวความแตกต่างด้านเชื้อชาติหรือสีผิว (race relations) มาตรการการต่อต้านการเลือกปฏิบัติจากความแตกต่างทางเพศ (sex discrimination) และมาตรการส่งเสริมความเท่าเทียมในการจ้างงานในสถาบันอุดมศึกษา (employment equality) เหตุที่ควรพัฒนากฎหมายสำหรับต่อต้านการเลือกปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษาก็เพราะสถาบันอุดมศึกษาเป็นแหล่งที่รวมของบุคลากรทางการศึกษา นักศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาระดับอุดมศึกษามากมายหลายประเภท ตัวอย่างเช่น นักศึกษาในแต่ละชั้นปีที่มีอายุแตกต่างกัน นักศึกษาที่มีลักษณะทางกายที่แตกต่างกัน และพนักงานมหาวิทยาลัยที่มีรสนิยมทางเพศหรือเพศวิถีที่แตกต่างกัน เป็นต้น

อนึ่ง หากภายรัฐกำหนดนโยบายสาธารณะหรือมาตรการทางกฎหมายไม่ว่าจะเป็นกฎหมายสารบัญญัติหรือกฎหมายระดับอนุบัญญัติ เอาไว้เป็นการเฉพาะเพื่อต่อต้านการเลือกปฏิบัติหรือส่งเสริมให้ผู้เกี่ยวข้องทางการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐมีความเสมอภาคหรือมีความเท่าเทียมกันในเรื่องโอกาสที่จะได้รับจากสังคมโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติแล้ว ย่อมอาจเป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดธรรมาภิบาล (governance) และการอยู่รวมกันอย่างปกติสุขระหว่างบุคคลผู้ดำรงสถานะต่างๆในมหาวิทยาลัย ได้แก่ ข้าราชการ พนักงานสายวิชาการ พนักงานสายสนับสนุน และนักศึกษาประเภทต่างๆ อันมีที่มาจากความหลากหลายและมีลักษณะเฉพาะตัวที่หลายหลายดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น

แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 30 ได้วางหลักเกณฑ์ให้บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน โดยที่การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้ อย่างไรก็ดี ประเพณีหรือแนวทางการปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษาและระเบียบหรือข้อบังคับต่างๆของภาครัฐบางอย่าง กลับเป็นตัวสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จนนำไปสู่การเลือกปฏิบัติหรือการกีดกันระหว่างผู้ดำรงสถานต่างๆในมหาวิทยาลัย ได้แก่ การเลือกปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมระหว่างผู้ดำรงสถานะข้าราชการกับพนักงานมหาวิทยาลัย การเลือกปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมระหว่างผู้ดำรงสถานะพนักงานมหาวิทยาลัยประเภทต่างๆ การเลือกปฏิบัติระหว่างบุคคลกรมหาวิทยาลัยต่อนักศึกษา และการเลือกปฏิบัติระหว่างนักศึกษาต่อนักศึกษาที่มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน

ตัวอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวข้องกับการเลือกปฏิบัติบนความหลากหลายในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเช่น

ตัวอย่างแรก มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2542 ที่คณะรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้มีมติให้จัดจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยเพื่อทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการออกนอกระบบในปี พ.ศ. 2545 โดยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวได้ส่งผลให้รัฐและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับกิจการอุดมศึกษาต้องกำหนดวางกรอบนโยบายเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการจ้างพนักงานทดแทนเท่ากับจำนวนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยที่เกษียณอายุในปีงบประมาณนั้น ๆ จนกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐได้ปรับเปลี่ยนไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐภายในปี พ.ศ. 2545 โดยการจัดสรรงบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานทดแทนอัตราข้าราชการที่เกษียณอายุในแต่ละปีดังกล่าว ให้จัดสรรเพิ่มขึ้นจากอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของข้าราชการในตำแหน่งที่เกษียณอายุในปีนั้น ๆ กล่าวคือเพิ่มขึ้น 1.7 เท่า จากอัตราเงินเดือนแรกบรรจุข้าราชการ สำหรับการจัดสรรงบประมาณทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย สาย ก. และเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า จากอัตราเงินเดือนแรกบรรจุข้าราชการ สำหรับการจัดสรรงบประมาณทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย สาย ข. และสาย ค. เหตุที่มติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2542 ได้บัญญัติไว้เช่นนี้ ก็เพราะต้องการจูงใจให้ผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานมหาวิทยาลัยทั้งในส่วนของสายวิชาการและสายสนับสนุน และต้องการดึงดูดผู้มีศักยภาพสูงให้เข้ามาดำเนินกิจกรรมบริการสาธารณะด้านการศึกษาที่มุ่งพัฒนาให้สถาบันการศึกษาของรัฐมีอิสระในการบริหารตนเองในด้านต่างๆ ให้สอดคล้องกับการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยในอนาคต

อย่างไรก็ดี ผลของการออกมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวได้ก่อให้เกิดปัญหาการเลือกปฏิบัติในสังคมแรงงานของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของรัฐที่ไม่เป็นธรรม เพียงเพราะอาศัยเพียงเหตุแห่งความแตกต่างระหว่างการดำรงสถานะที่แตกต่างกันระหว่างผู้ดำรงสถานะข้าราชการและผู้ดำรงสถานะพนักงานมหาวิทยาลัย จนนำไปสู่การกดขี่หรือการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมโดยอาศัยสัญญาจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยกับข้อจำกัดประการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นมาจากการดำรงสถานะภาพพนักงานมหาวิทยาลัย เป็นเครื่องต่อรอง จนนำไปสู่การเลือกปฏิบัติประการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในสถาบันอุดมศึกษา

ตัวอย่างที่สอง กรณีปัญหาการรับน้องในมหาวิทยาลัย กล่าวคือ การรับน้องอาจเป็นวัฒนธรรมหรือจารีตระหว่างนักศึกษารุ่นพี่และนักศึกษารุ่นน้องที่มีที่มาจากความหลากหลายที่แตกต่างกันออกไปในหลายสถาบันการศึกษา  แม้ว่าการรับน้องที่เหมาะสมและอยู่ภายในกรอบแห่ง ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องแนวปฏิบัติในการจัดกิจกรรมรับน้องใหม่และประชุมเชียร์ในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2556 ย่อมนำไปสู่การสร้างความสามัคคีและการส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องที่ศึกษาอยู่ภายในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐแห่งเดียวกัน ทำให้รุ่นพี่หรือรุ่นน้องที่ผ่านกิจกรรมรับน้องที่เหมาะสมและปฏิบัติตามกรอบแห่งกฎหมายเหล่านั้นกลายเป็นมิตรที่ดีที่สามารถเกื้อกูลต่อกันในปัจจุบันและในภายภาคหน้า อย่างไรก็ดี การรับน้องที่ไม่เหมาะสมและขัดต่อหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประกาศกระทรวงได้กำหนดไว้ อาจนำไปสู่การเลือกปฏิบัติในกรณีต่างๆ เพียงเพราะเหตุแห่งความแตกต่างระหว่างอายุหรือชั้นปีของนักศึกษา ทำให้นักศึกษารุ่นพี่ที่มีชั้นปีเหนือกว่าหรือรุ่นพี่ที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วสามารถกระทำการต่างๆหรือดำเนินกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ อันก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำหรือการกีดกันรุ่นน้องในกรณีต่างๆ ได้ จนอาจนำไปสู่การละเมิดจริยธรรม ศีลธรรมและกฎหมายของรัฐต่างๆได้

ด้วยเหตุนี้ บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ดำรงสถานะต่างๆ และนักศึกษาประเภทต่างๆ เช่น ข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัยประเภทต่างๆ ลูกจ้างประเภทต่างๆ นักศึกษาทุกชั้นปี ที่มีลักษณะเฉพาะตัวอันประกอบด้วยความหลากหลายกันในเรื่องของอายุ ความพิการทางกาย การแปลงเพศ การสมรส การใช้ชิวิตคู่ สีผิว ศาสนา เพศ และการแสดงออกทางเพศ จำเป็นที่จะต้องแสวงหาแนวทางทำให้บุคคลต่างๆ อยู่รวมกันได้อย่างเกื้อกูลและปกติสุขในสังคมอุดมศึกษาของรัฐ นอกจากนี้ ภาครัฐอาจพัฒนานโยบายสาธารณะและมาตรการทางกฎหมายเฉพาะสำหรับกำหนดกลไกในการกำกับและควบคุมกลไกของรัฐเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างประชาชนในระดับต่างๆ รวมไปถึงกลไกสำหรับสร้างความเท่าเทียมในสังคมอุดมศึกษา ที่ทำให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง นักศึกษา และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการจัดทำบริการสาธารณะโดยสถาบันอุดมศึกษาของรัฐสามารถอยู่รวมกันอย่างเข้าอกเข้าใจและเอื้ออาทรบนพื้นฐานแห่งความหลากหลายของบุคคลได้อย่างสันติสุข

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net