เยี่ยมก่อนย้ายนักโทษคดีไฟใต้ จับตาโต๊ะเจรจาไทย-BRN หลังรอมฎอน

เยี่ยมก่อนย้ายนักโทษคดีไฟใต้ ศอ.บต.นำญาติเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ บางขวาง คลองเปรม ก่อนย้ายกลับขังในจังหวัดภูมิลำเนาในชายแดนใต้ก่อนเดือนรอมฎอน บรรยากาศสุดเศร้า ยันไม่อยากย้ายไปนครศรีธรรมราช และหลายข้อเสนอต่อผู้ต้องขังมุสลิม

 

โครงการ “สานสายใยจากครอบครัว สู่ผู้ต้องขังในเรือนจำนอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันมานี้ แม้เป็นปีที่ 2 แล้วที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) จัดร่วมกับกรมราชทัณฑ์ เพื่อให้ครอบครัวผู้ต้องขังหรือนักโทษคดีความมั่นคงได้เข้าเยี่ยมอย่างใกล้ชิด

แต่โครงการในปีนี้เกิดขึ้นในโอกาสพิเศษที่ผู้ต้องขังเกือบทั้งหมด จะถูกย้ายกลับไปคุมขังในจังหวัดภูมิลำเนาของตัวเอง ก่อนเดือนรอมฏอนอันประเสริฐที่จะถึงในอีกไม่กี่วัน

ตลอดทั้งวันของวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 ตั้งแต่เวลา 09.00 – 15.00 น. สมาชิกครอบครัวของผู้ต้องขังจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา 220 คน ที่เดินทางออกจากพื้นที่มาตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2556 ต่างก็สาละวนอยู่กับญาติใกล้ชิดของตัวองที่หาโอกาสพบได้ยากยิ่ง บางคนได้อยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุข แม้เป็นช่วงเวลาสั้นๆ บางคนได้อุ้มลูกพลางน้ำตาคลอ

ทั้งนักโทษและผู้ต้องขังคดีความมั่นคงจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ถูกกุมขังในเรือนจำ 3 แห่งในกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย เรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพมหานคร เรือนจำกลางบางขวาง และเรือนจำกลางคลองเปรม 47 คน แต่ก็มีนักโทษคดีทั่วไปอีกจำนวนหนึ่งที่ขอโอกาสให้ญาติมาเยี่ยมในโครงการนี้ด้วย

การเข้าเยี่ยมตามโครงการครั้งนี้ มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. พล.อ.อรุณ สมตน ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก ในฐานะตัวแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายฐานิส ศรียะพันธ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน นายสุรศิษฎ์ บัวทรัพย์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. และนายสุธรรม บุญมาเลิศ ผู้แทนสำนักจุฬาราชมนตรีเข้าร่วมเยี่ยมด้วย

ขณะเดียวกันก็มีตัวแทนจากเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้ สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย กลุ่มด้วยใจ กลุ่ม FT media สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน (Media Selatan) กลุ่มเยาวชนใจอาสา ศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี ของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้เข้าร่วมเยี่ยมในครั้งนี้ด้วย ในฐานะทีมสื่อสารจากเครือข่ายประชาสังคม

การเข้าเยี่ยมครั้งนี้ อยู่ในช่วงจังหวะที่สังคมพื้นที่ชายแดนใต้ รวมทั้งคนสังคมไทยบางส่วนที่ติดตามสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็นที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ โดยฝ่ายบีอาร์เอ็นมีข้อเสนอหนึ่งในการต่อรองกับรัฐไทย คือ ให้ปล่อยตัวนักโทษและยกเลิกหมายจับผู้ที่ถูกคดีความมั่นคง

จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาต่อไปว่า อนาคตของกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ โดยจะมีการพูดคุยเพื่อสันติภาพครั้งต่อไปหลังจากเดือนรอมฎอนปีนี้ ซึ่งจะนำไปสู่อิสรภาพของนักโทษกลุ่มนี้ด้วยหรือไม่ในท้ายที่สุด ขณะที่ในฝั่งของผู้สูญเสียจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะมองเรื่องนี้อย่างไร

 

เริ่มย้ายเรือนจำก่อนรอมฎอน 8 กรกฎาฯ

พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อหน้าครอบครัวผู้ต้องขังขณะเข้าเยี่ยมในครั้งนี้ว่า โครงการนี้เป็นความเห็นร่วมกันของรัฐบาลและส่วนราชการ ทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ศอ.บต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันเนื่องจากเดือนรอมดอนที่กำลังจะถึงเป็นเดือนที่สำคัญของคนมุสลิมที่ชาวมุสลิมจะถือศีลอด เป็นเดือนแห่งการล้มล้างความผิด และเป็นการเยียวยาจิตใจทั้งคนในเรือนจำและครอบครัว เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่เดือนรอมฎอนอย่างสบายใจ

พ.ต.อ.ทวี ชี้แจงว่า ในเดือนรอมฎอนนี้ ทาง กอ.รมน. ร่วมกับ ศอ.บต.จะจัดกิจกรรมดูแลสุขภาพผู้ต้องขังและนักโทษมุสลิมเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าเดือนรอมฎอน และโครงการอื่นๆ เพื่อดูแลเหยื่อจากเหตุการณ์ไม่สงบ ทั้งเด็กกำพร้า ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์และครอบครัวผู้ต้องขังด้วย

“ผมตระหนักดีว่า เราอาจจะขังเขาได้แต่ตัว แต่กักขังหัวใจ อุดมการณ์และเสรีภาพ กักขังไม่ได้จริง” พ.ต.อ.ทวี กล่าว

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การย้ายผู้ต้องขังดังกล่าว จะมีขึ้นในวันที่ 8 กรกฎาคม 2556 นี้ ก่อนที่จะถึงเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิมที่จะเริ่มขึ้นในช่วงวันที่ 9 หรือ 10 กรกฎาคม 2556

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในข้อเสนอของกลุ่มบีอาร์เอ็นหรือไม่พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า “เราทำให้ประชาชน ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญไทยที่บัญญัติว่า บุคคลที่เกิดในแผ่นดินไทยทุกเชื้อชาติ ศาสนา ย่อมได้รับความคุ้มครองอย่างเสมอภาคกัน ถ้าสังคมไทยตระหนักในความเป็นธรรม ก็น่าจะให้พี่น้องในพื้นที่ 3 จังหวัด มีปากมีเสียงบ้าง”

เมื่อถามว่ามีนโยบายโยกย้ายผู้ต้องขังจากส่วนกลางกลับไปภูมิลำเนาในจังหวัดชายแดนใต้หรือไม่ พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า อยู่ระหว่างการประสานกับกรมราชทัณฑ์ ในทางหลักการทำได้ไม่มีปัญหา แต่ต้องพิจารณาอัตราโทษของผู้ต้องขัง เพื่อดูว่าแต่ละเรือนจำในจังหวัดชายแดนใต้สามารถรองรับได้แค่ไหน เช่น ผู้ต้องขังที่มีภูมิลำเนาอยู่ จ.ปัตตานี มีโทษเกิน 30 ปีขึ้นไป ประสงค์จะย้ายกลับไปอยู่ที่เรือนจำกลางปัตตานี ซึ่งมีการขยายอำนาจการคุมขังนักโทษจำคุกจาก 15 ปีถึง 30 ปี ถ้าเกินจากนั้นก็ไม่สามารถย้ายไปได้ แต่สามารถขอย้ายไปอยู่ที่เรือนจำกลางสงขลาได้ เพราะขยายอำนาจการคุมขังนักโทษจำคุกจาก 15 ปี ถึงประหารชีวิต

ขณะที่พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้อธิบายถึงหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ต้องขังที่สามารถย้ายกลับไปขังในพื้นที่ภูมิลำเนาว่า ต้องเป็นความสมัครใจของผู้ขังเองก่อน และจะพิจารณาว่ามีพฤติกรรมอย่างไร เกี่ยวข้องกับสิ่งต้องโทษร้ายแรงอย่างยาเสพติดหรือไม่ ซึ่งถ้าผิดเงื่อนไขนี้ก็ไม่สามารถพิจารณาให้ย้ายกลับไปได้ ซึ่งยืนยันว่า ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงไม่มีพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเลย

 

ไม่อยากย้ายไปนครศรีธรรมราช

ระหว่างการเข้าเยี่ยม นักโทษชาย (นช.) จากแดน 5 และ 3 สองรายเข้ามาร้องขอต่อพ.ต.อ.ทวี ให้ช่วยดำเนินการเรื่องห้องที่ให้ นช.มุสลิมสามารถละหมาดหมู่และปฏิบัติศาสนกิจหมู่ได้อย่างเต็มที่

“ในเรือนจำไม่มีพื้นที่เฉพาะสำหรับมุสลิมในการประกอบพิธีละหมาดหมู่ โดยไม่ใช้พื้นที่ใช้รวมกับศาสนิกอื่น และต้องสะอาด เพราะปกติจะละหมาดในที่พักของตัวเองไม่สะดวก”

นช.แดน 6 คนหนึ่งได้ยื่นหนังสือขอย้ายกลับไปอยู่ที่เรือนจำกลางจังหวัดยะลาต่อนายกิตติ สุระคําแหง หัวหน้าสำนักบริหารงานยุติธรรม ศอ.บต. โดยระบุว่า ตนไม่อยากถูกย้ายไปเรือนจำที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื่องจากจะทำให้ญาติมาเยี่ยมไม่สะดวก และกังวลเรื่องอาหารไม่ฮาลาล เพราะไม่ใช่เรือนจำในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ที่มีนักโทษมุสลิมจำนวนมาก

นายนเรศและนางสีตีมือลอ น้าของ นช.แดน 6 รายหนึ่งซึ่งเดินทางมาจากอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เล่าว่า พวกตนเลี้ยงหลานคนนี้มาตั้งแต่เด็ก รักเหมือนลูก ตั้งแต่ถูกดำเนินคดีความมั่นคงเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ตนก็เดินเรื่องเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของหลานชายมาโดยตลอด หลานชายเคยห้ามไม่ให้ช่วยเหลือเพราะสงสารน้าที่ต้องมาเป็นทุกข์เพราะตน แต่ถึงอย่างไรน้าทั้งสองคนยืนยันว่า จะเดินหน้าพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของทั้งหลานชายต่อไป

“ผมเข้าไปเยี่ยมเข้าทุกที่ที่เขาถูกขัง ผมก็ขอทางเรือนจำที่นั่นว่าขอย้ายกลับบ้านได้หรือไม่ เขาตอบว่า ได้ แต่ต้องรอไปก่อน ผมพยายามทุกทางเพื่อให้เขาได้เป็นอิสระ” นายนเรศ กล่าวทั้งนัยน์ตาเริ่มแดง

วันเดียวกันนั้น นายนเรศ ได้เขียนหนังสือขอให้ย้ายหลานชายไปเรือนจำที่จังหวัดยะลา เพื่อให้สามารถเดินทางไปเยี่ยมได้สะดวกขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า หลานชายจะถูกย้ายไปอยู่เรือนจำใด และสิ่งที่กังวลมากที่สุดคือ อาหารการกินในเรือนจำ เนื่องจากไม่มีการรับประกันว่า นช.มุสลิมจะได้รับประทานอาหารฮาลาลให้ ยิ่งเข้าสู่เดือนรอมฎอนก็ยิ่งอยากให้ดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษ

ญาติ นช.อีกคน เผยว่า  รู้สึกพึงพอใจมากกับการมาเยี่ยมครั้งนี้ เพราะเยี่ยมได้นานกว่าการเยี่ยมครั้งที่แล้วที่ ศอ.บต.จัดขึ้น ซึ่งมีเวลาเยี่ยมแค่ 2 ชั่วโมงและมีสิทธินำของเยี่ยมแค่ขนมต้มคนละลูกเท่านั้น ต่างกับครั้งนี้ที่ครอบครัวได้รับประทานอาหารพร้อมหน้าพร้อมตากับนช.และผู้ต้องขัง

ญาติหลายคนสะท้อนว่า ถ้ามาเยี่ยมกันเองกับครอบครัวอาจไม่มีโอกาสได้พบเลย อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการเดินทางก็สูง ที่ผ่านมาเคยเข้าร่วมโครงการในลักษณะเดียวกันกับองค์กรกาชาดสากล (ICRC) แต่ครั้งนี้สามารถเข้าถึงตัวผู้ต้องขัง และนช.ได้เป็นครั้งแรกและดีใจมาก

 

ภาคประชาสังคมชายแดนใต้ร่วมเยี่ยม

นางซีตีมาเรียม บินเย๊าะ จากเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่า การมาร่วมเยี่ยมเยียนและพูดคุยกับครอบครัวผู้ต้องขังและตัวผู้ต้องขังครั้งนี้ เห็นว่า มีปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องจัดการเร่งด่วนเยอะมาก โดยเฉพาะความกังวลของผู้ต้องขังที่เขาไม่สามารถดูแลสมาชิกครอบครัวได้ และปัญหาอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวกับครอบครัวเขา จะทำอย่างไรที่จะลดความกังวลเหล่านั้นได้บ้าง

นางซีตีมาเรียม กล่าวว่า สำหรับปัญหาในระยะยาวของกลุ่มผู้ต้องขัง ภาคประชาสังคมจะต้องสะท้อนให้รัฐเข้ามาดูแลและรับรู้ เพื่อปรับเปลี่ยนนโยบายบางอย่างที่เอื้อให้หน่วยงานสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ที่ผู้ต้องขังเสนอมาได้ทันที

“มองว่าปัญหาต่างๆ ในตอนนี้ ต้องการให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือ เพราะนี่คือภารกิจของมุสลิม เพราะพี่น้องของเราที่กำลังเดือดร้อน อะไรที่หยิบยื่นความช่วยเหลือให้ได้ ก็ให้ช่วย”

นางซีตีมาเรียม กล่าวว่า เชิญชวนมุสลิมในสังคม เข้ามาร่วมช่วยเหลือพี่น้องที่ถูกมองว่าเป็นคนผิดในสังคม ทั้งๆที่ศาลยังไม่ตัดสินถึงที่สุด เพราะผู้ต้องขังบางคนคดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์หรือระหว่างฎีกา

อย่างไรก็ตาม นางซีตีมาเรียมมองว่า ขณะนี้รัฐเริ่มปรับเปลี่ยนการทำงานในบางส่วนให้ดีขึ้น และเริ่มเข้าใจสิ่งที่ประชาชนต้องการ ซึ่งภาคประชาสังคมเองก็ต้องหนุนเสริมในบางประเด็นที่รัฐไม่สามารถเข้าถึงปัญหาได้ เพื่อให้มีการแก้ปัญหาในระยะยาว และเกิดสันติภาพที่ประชาชนต้องการให้เป็นจริง

 

ต้องชี้หนทาง ความหวังสู่สันติภาพ

นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ หัวหน้ากลุ่มด้วยใจ กล่าวว่า สิ่งที่ภาคประชาสังคมต้องกลับไปทำต่อคือ วิเคราะห์ข้อมูลและมองให้เห็นว่า ผู้ต้องขังและชาวบ้านต้องการให้ช่วยเหลืออะไรบ้าง ทั้งปัญหาเร่งด่วน หรือปัญหาระยะยาว

“สิ่งที่ค้นพบจากการเยี่ยมครั้งนี้คือ ผู้ต้องขังต้องการความเป็นธรรม ในขณะที่ภาคประชาสังคมต้องการให้ครอบครัวและผู้ต้องขัง รวมทั้งภาครัฐมองเห็นปัญหาร่วมกัน และสร้างความไว้วางใจต่อกัน เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพ”

นางสาวอัญชนา กล่าวว่า ส่วนกลุ่มด้วยใจเอง ซึ่งทำงานกับผู้ต้องขังและครอบครัวผู้ถูกคดีความมั่นคง คิดว่า ต้องสร้างความหวังให้กับผู้ต้องขังคดีความมั่นคง แม้จะถูกศาลตัดสินประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตก็ตาม ให้มองว่ายังมีโอกาสหรือหนทางสำหรับพวกเขา

“เมื่อพวกเขาเห็นความหวังแล้ว เราก็ต้องดูว่าใครสามารถช่วยพวกเขาได้บ้าง เช่น กระทรวงยุติธรรม หรือศูนย์ทนายความมุสลิมเองก็ควรต้องศึกษาสภาพปัญหาของผู้ต้องขังและครอบครัวว่า พวกเขามีสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง โดยผ่านกระบวนการรับฟังเรื่องราวเพื่อให้เห็นสภาพปัญหา หรือถอดบทเรียนร่วมกันและแก้ปัญหาต่อไป” นางสาวอัญชนา กล่าว

นายอับดุลอาซิส ตาเดอินทร์  ตัวแทนจากสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ครอบครัวผู้ต้องขังหวังที่จะให้ภาคประชาสังคมได้ไปเยี่ยมพวกเขาอีกครั้ง และอยากให้ช่วยเหลือเรื่องทุนการศึกษาของคนในครอบครัว ขณะเดียวกันทางเลขาธิการ ศอ.บต.ก็ได้เอ่ยปากว่าจะช่วยสนับสนุนให้เครือข่ายภาคประชาสังคมได้เข้าไปเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำในช่วงเดือนรอมฎอน

นายอับดุลอาซิส กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ต้องแจ้งให้ผู้ต้องขังทราบให้ชัดเจนถึงขั้นตอนการย้ายเรือนจำ เพราะบางคนยังไม่แน่ใจว่า ตัวเองจะสามารถย้ายได้หรือไม่ ขณะที่หลายคนก็กังวลว่า หากย้ายไปอยู่ที่เรือนจำกลางสงขลาอาจไม่ได้รับความสะดวกเท่ากับที่เรือนจำบางขวาง เพราะที่เรือนจำบางขวางมีสิทธิพิเศษและมีระบบการดูแลอย่างดี แต่ก็อยู่ไกลจากบ้านทำให้ญาติไม่สะดวกในการเดินทางไปเยี่ยม ส่วนข้อดีของการอยู่ที่เรือนจำกลางสงขลาคือ ญาติสามารถเข้าไปเยี่ยมได้สะดวกเพราะอยู่ใกล้กว่า

นายสิทธิวิชญ์ รัตนาชัยศิริ เจ้าหน้าที่ ศอ.บต.ซึ่งดูแลการเยี่ยมเยียนของชาวบ้านมาตั้งแต่ต้น กล่าวว่า สาเหตุที่การเยี่ยมเยียนครั้งนี้เกิดขึ้นได้เพราะได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นครอบครัวผู้ต้องขังที่เราพยายามสร้างความไว้วางใจโดยช่วยเหลือและบริการอย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกันกับกรมราชทัณฑ์เองเราก็ได้ทำความเข้าใจถึงจุดประสงค์ของการเยี่ยม ที่ต้องการให้โอกาสกับผู้ต้องขังมีเวลาอยู่กับครอบครัว

 

ห่วงกินอาหารต้องห้ามในเดือนรอมฎอน

ญาติผู้ต้องขังรายหนึ่ง ระบุก่อนหน้านี้ว่า สิ่งที่ตนเป็นห่วงมากที่สุดขณะนี้ คือเรื่องอาหารการกินของผู้ต้องขังมุสลิมในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม เพราะที่ผ่านมาทราบมาว่า ครัวในเรือนจำไม่ได้แยกประกอบอาหารเฉพาะตามหลักศาสนาอิสลาม เพื่อให้ผู้ต้องขังมุสลิมได้รับประทาน ซึ่งญาติที่เป็นผู้ต้องขังซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานชาย เคยบอกว่าได้กินเนื้อหมูเข้าไปโดยไม่ได้ตั้งใจ

“ถ้าเป็นเดือนอื่นๆ ผมไม่ได้รู้สึกเป็นห่วงมากเท่าเดือนรอมดอน แต่ก็ไม่มีทางเลือก จึงสงสารหลานที่ต้องมากินอาหารที่ไม่ถูกต้องตามหลักการอิสลาม” ญาติผู้ต้องขังรายเดิมกล่าว

ญาติผู้ต้องขังรายนี้ กล่าวด้วยว่า เรื่องการย้ายนักโทษคดีความมั่นคงจากเรือนจำบางขวาง กรุงเทพมหานครกลับมาขังที่ภูมิลำเนานั้น มองว่าเป็นสิ่งที่ดี ญาติจะได้ดูแลได้ใกล้ชิด สามารถเข้าไปเยี่ยมได้ง่าย

 

ตัวแทนจุฬาฯ ชี้เป็นโอกาสกลับใจ

นายสุธรรม บุญมาเลิศ ผู้แทนสำนักจุฬาราชมนตรี นำสารจากจุฬาราชมนตรี มากล่าวให้กำลังใจแก่ผู้ต้องขัง เนื่องจากจุฬาราชมนตรีสุขภาพไม่แข็งแรง

นายสุธรรม ได้เน้นย้ำเรื่องการทำดีในเดือนรอมฎอน ที่ถือเป็นเดือนของมุสลิม ที่ผลบุญจะทวีคูณกว่าเดือนปกติ และความผิดพลาดของมนุษย์คือสิ่งที่ต้องเผชิญทุกเมื่อ แต่การกลับเนื้อกลับตัวเป็นพลเมืองที่ดีแห่งศาสนาและประเทศชาติ เป็นสิ่งที่พระเจ้าโปรดปรานมากที่สุด

“ในโอกาสที่เราอยู่ในนี้ และจะใช้โอกาสในเดือนอันประเสริฐนี้ ในการทบทวนตรึกตรอง ในการจะกลับมาเป็นผู้ที่อยู่ในข้อกำหนดที่ศาสนาได้กำหนดเอาไว้ และรัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ เพื่อเราจะได้เป็นบุคคลกรของประเทศนี้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้งหนึ่ง” นายสุธรรมกล่าว

นายสุธรรม ได้ขอดุอาให้พระองค์อัลลอฮฺ ทรงประทานสุขภาพที่ดีแก่ผู้ต้องขังและครอบครัว และขอให้พระองค์ประทานผลบุญตอบแทนการกระทำที่ดีต่อทุกคน ในเดือนรอมฎอนด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท