Skip to main content
sharethis
"อียู" ยืดลดงบฯขาดดุล แลก "ปฏิรูปตลาดแรงงาน"
 
2 มิ.ย. 56 - คณะกรรมาธิการยุโรปเตรียมขยายเวลาให้ฝรั่งเศสและสมาชิกอีก 5 ชาติมีเวลาหายใจหายคอ สำหรับการลดตัวเลขขาดดุลงบประมาณให้ได้ตามเกณฑ์ของสหภาพยุโรป พร้อมกดดันให้รัฐบาลแต่ละประเทศยกเครื่องตลาดแรงงาน ระบบเงินบำนาญและสวัสดิการสังคมอื่น ๆ ซึ่งมีแนวโน้มจะกระตุ้นความไม่พอใจของประชาชนภายในประเทศ
 
วอลล์สตรีต เจอร์นัล ระบุว่า เจ้าหน้าที่ของอียูยืนยันถึงความจำเป็นที่ต้องปฏิรูปการจ้างงานและระบบที่เกี่ยวข้องเพื่อแลกเปลี่ยนกับการยืดเวลาลดสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณของแต่ละชาติให้เหลือไม่เกิน3% ของจีดีพี ข้อเสนอให้ปรับโครงสร้างครั้งนี้ยังมีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาความวิตกในประเทศแถบยุโรปเหนือ นำโดยเยอรมนีที่หวั่นว่าการขยายเวลาจะเป็นการอ่อนข้อให้ประเทศที่ไร้วินัยการคลังจนเกินไป
 
ภายใต้กฎเกณฑ์อันเข้มงวดของอียูและวิกฤตเศรษฐกิจที่รุมเร้าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมารัฐบาล 27 ชาติชาติสมาชิกอียูจำเป็นต้องตัดลดรายจ่าย ตลอดจนขึ้นภาษีเพื่อรักษาสถานะการคลังของประเทศ แต่มาตรการเหล่านั้นกลับผลักชาติยุโรปเข้าสู่ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจอีกรอบ หลังจากเพิ่งฟื้นตัวจากวิกฤตการเงินโลกปี 2551 
 
เพื่อแสดงให้เห็นว่า กฎเกณฑ์ของอียูด้านงบประมาณสามารถปรับใช้ได้กับสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ผันแปรไป คณะกรรมาธิการยุโรปจึงตัดสินใจขยายเวลาให้ฝรั่งเศส สเปน โปแลนด์ รวมถึงสโลวีเนีย อีก 2 ปี และ 1 ปี สำหรับเนเธอร์แลนด์กับโปรตุเกส ในการลดตัวเลขขาดดุลงบฯให้ได้ตามเป้า 
 
ระยะเวลาที่ยืดออกไปมาพร้อมเงื่อนไขให้รัฐบาลทั้ง 6 ชาติข้างต้นเร่งขจัดหรือปรับปรุงแก้ไขปัจจัยที่เป็นตัวถ่วง จนทำให้อัตราการว่างงานในบางประเทศแตะเลข 2 หลัก และหนี้สาธารณะพอกพูนอย่างรวดเร็ว
 
โดยเฉพาะฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจอันดับ 2 ของยูโรโซน ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาผู้ส่งออกแดนน้ำหอมต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดเป็นจำนวนมาก สวนทางกับเยอรมนีที่การส่งออกดีวันดีคืน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปฏิรูปตลาดแรงงานช่วงต้นทศวรรษที่แล้ว ซึ่งช่วยเปลี่ยนเยอรมนีมาเป็นประเทศที่มีต้นทุนแรงงานต่ำสุดแห่งหนึ่งในยุโรป คณะกรรมาธิการยุโรปกระตุ้นให้เมืองน้ำหอมเรียนรู้จากเมืองเบียร์ และหาทางลดต้นทุนแรงงานให้สำเร็จโดยเร็ว
 
โอลี เรห์น คณะกรรมาธิการยุโรปด้านกิจการเศรษฐกิจและการเงิน เน้นย้ำว่า "สำคัญและจำเป็นมากทีฝรั่งเศสจะใช้เวลาที่ได้รับเพิ่ม ต่อสู้กับปัญหาที่เป็นอุปสรรรคต่อความสามารถในการแข่งขัน" โดยก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการชุดนีเคยวิพากษ์วิจารณ์การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในฝรั่งเศส และแนะให้ลดสวัสดิการแรงงาน ตลอดจนเงินยังชีพสำหรับผู้ว่างงาน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้หางานใหม่
 
ด้าน ประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์รวมถึงรัฐมนตรีคลัง ปิแอร์ มอสโควิชิ แห่งเมืองน้ำหอม มีท่าทีตอบรับต่อข้อเสนอดังกล่าว โดยระบุว่าสอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่
 
คณะกรรมาธิการยุโรปยังแนะสเปนซึ่งได้รับการขยายระยะเวลาลดงบประมาณเป็นครั้งที่สามให้เดินหน้าแผนปรับโครงสร้างตลาดแรงงานที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปีกลาย แม้ว่าจะถูกประชาชนคัดค้านอย่างหนัก 
 
นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้เยอรมนีรักษาสภาวะที่หนุนให้ค่าแรงภายในประเทศปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นดีมานด์ต่อสินค้าต่างชาติ ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกของประเทศอื่น ๆ ในอียูกระเตื้องตามไปด้วย
 
ส่วนอิตาลี แม้จะไม่อยู่ในรายชื่อประเทศที่ได้รับการยืดเวลาลดการขาดดุลงบฯ เพราะมีแนวโน้มที่จะลดการขาดดุลเหลือใกล้ 3% ภายในสิ้นปีนี้ แต่รัฐบาลประเทศดังกล่าวก็ยังมีการบ้านต้องสะสางหลายเรื่อง ทั้งการปฏิรูประบบสวัสดิการ การใช้จ่ายงบประมาณ และการมีประสิทธิภาพของระบบราชการ
 
 
'ชิคาโก ซัน-ไทมส์' ปลดช่างภาพทั้งหมด-เทรนนักข่าวใช้ไอโฟน
 
3 มิ.ย. 56 - หนังสือพิมพ์ชิคาโก ซัน-ไทมส์ ของสหรัฐอเมริกาไล่ช่างภาพทั้งทีมจำนวน 28 คน ออก พร้อมวางแผนอบรมถ่ายภาพด้วยไอโฟนเบื้องต้นให้นักข่าว
 
แหล่งข่าวระบุว่า ช่างภาพซึ่งเป็นพนักงานประจำทั้ง 28 คน ได้ทราบข่าวการเลิกจ้างนี้เมื่อเช้าวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยให้มีผลทันที
 
โรเบิร์ต เฟเดอร์ บล็อกเกอร์และคอลัมนิสต์ด้านสื่อ โพสต์ในเฟซบุ๊กของเขาว่า ตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา (31 พ.ค.) นักข่าวของชิคาโก ซัน-ไทมส์ ต้องเข้าร่วมการอบรมภาคบังคับเรื่องการถ่ายภาพด้วยไอโฟนเบื้องต้น หลังจากปลดช่างภาพออกทั้งหมด
 
ด้านหนังสือพิมพ์ชิคาโก ซัน-ไทมส์ เผยแพร่แถลงการณ์ระบุว่า ธุรกิจของซัน-ไทมส์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และผู้อ่านก็มองหาเนื้อหาข่าวในรูปแบบวิดีโอมากขึ้น โดยองค์กรได้ก้าวไปข้างหน้าเพื่อตอบสนองความต้องการนี้และได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความสามารถในการรายงานข่าวด้วยวิดีโอและมัลติมีเดียอื่นๆ
 
หนึ่งในผู้ที่ถูกปลดออก รวมถึง จอห์น เอช ไวท์ ช่างภาพรางวัลพูลิตเซอร์ สาขาภาพสารคดี ในปี 1982 ด้วย
 
หลังการประกาศดังกล่าว สหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์ชิคาโกระบุว่ากำลังพิจารณาดำเนินการทางกฎหมายกับหนังสือพิมพ์ดังกล่าว พร้อมกับเรียกร้องให้รับพนักงานกลับเข้าทำงาน โดยช่างภาพ 28 คนที่ถูกไล่ออกนั้นเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน 20 คน
 
 
ม็อบแรงงานกัมพูชาร้องขึ้นค่าจ้างปะทะ จนท.บาดเจ็บหลายคน
 
4 มิ.ย. 56 - คนงานโรงงานผลิตเสื้อผ้าในกัมพูชารวมตัวประท้วงเพื่อเรียกร้องขอขึ้นค่าแรง  และเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายคน
 
คนงานราว 4,000 คน ของโรงงานในจังหวัดกำปงสะปือ ที่ผลิตชุดกีฬาให้กับบริษัทไนกี้ของสหรัฐพากันผละงานประท้วงเพื่อเรียกร้องขอขึ้นค่าแรง ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่าผู้ประท้วงใช้ท่อนไม้และก้อนอิฐเป็นอาวุธ ทุบทำลายกระจกหน้าต่างโรงงานก่อนที่จะเกิดการปะทะกับผู้ร่วมงานที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุม ทางการได้ส่งตำรวจและทหารราว 1,000 คน เข้ามายุติเหตุการณ์และสลายกลุ่มผู้ประท้วง เป็นผลให้ตำรวจได้รับบาดเจ็บไป 11 คน ขณะที่ผู้ประท้วงบาดเจ็บไป 8 คน สำหรับบริษัทไนกี้นั้นมีโรงงานอยู่ในกัมพูชารวม 5 แห่ง แต่ผลผลิตที่ได้คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.6 ของผลผลิตทั่วโลกของไนกี้เท่านั้น
 
 
"ซิงก้า" เลย์ออฟพนักงาน 520 ชีวิต ปิดออฟฟิศ 4 แห่ง
 
4 มิ.ย. 56 -  "ซิงก้า"(Zynga) บริษัทผู้พัฒนาเกมบนโซเชียลเน็ตเวิร์คเจ้าของเกมดังอย่าง ฟาร์มวิลล์(Farmville) ประกาศเลย์ออฟปลดพนักงานออก 520 คน คิดเป็น 18 เปอร์เซนต์ของจำนวนพนักงานทั้งหมด
       
การเลย์ออฟปลดพนักงานครั้งนี้จะมีผลกระทบกับสต๊าฟพนักงานทุกสาขาของซิงก้า งานนี้ซิงก้าจะต้องจ่ายเงินค่าชดเชยประมาณ 80 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับเหล่าพนักงานที่เลย์ออฟออกไป การปรับลดพนักงานจะเกิดขึ้นในทุกฟังก์ชันธุรกิจของซิงก้า และคาดว่าการเลย์ออฟจะเสร็จเรียบร้อยในเดือนสิงหาคมนี้
       
การปรับลดพนักงานรอบนี้ส่งผลให้ซิงก้าต้องปิดตัว 4 ออฟฟิศ ในนิวยอร์ก , ลอสแองเจลลิส , ออสติน และดัลลัส รวมถึงต้องลดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคพื้นฐานไปด้วย
       
"มาร์ค ปินคัส" ซีอีโอของซิงก้า ที่ก่อนหน้านี้ได้แสดงสปิริตด้วยการลดรายได้ของตัวเองลงเหลือ 1 เหรียญสหรัฐ ได้พูดถึงการเลย์ออฟปลดพนักงานครั้งนี้ว่าเป็นความเจ็บปวด แต่เป็นสิ่งที่จะต้องทำเพื่อให้บริษัทก้าวต่อไปข้างหน้าได้
 
"พวกเราไม่เคยคิดว่าจะต้องพบกับเหตุการณ์อย่างวันนี้ เนื่องจากวัฒนธรรมเกมของพวกเราได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ผมคิดว่าทุกคนคงรู้กันอยู่แล้วว่าสิ่งที่ทำนี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการเดินก้าวต่อไปข้างหน้า"
       
มาร์ค ปินคัส ระบุว่าการลดพนักงานและปรับโครงสร้างองค์กรกระทำด้วยความมั่นใจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของซิงก้าที่ต้องการเชื่อมต่อกับโลกผ่านเกม "จากการลดต้นทุนโครงสร้างในวันนี้ เราจะนำเสนอกับทีมงานเกี่ยวกับมุมมองด้านความเสี่ยงและการพัฒนาที่ดีเพื่อให้ประสบการณ์เกมใหม่บนโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คออกมาได้รับความนิยม"
       
สำหรับเรื่องค่าชดเชยนั้น ทางมาร์ค ปินคัส ระบุว่าทางซิงก้าจะมีเงินค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างตอบแทนให้กับพนักงานอย่างงดงาม เพื่อเป็นการขอบคุณและสำนึกในบุญคุณของเหล่าพนักงานที่ทุ่มเทให้เวลากับผลงานดีๆที่เคยทำออกมา
 
"ผมต้องการแสดงความขอบคุณทุกคนที่ได้ทุ่มเทพลังงานและความคิดในระหว่างที่ทำงานให้กับซิงก้า พวกคุณได้ทำให้ผู้คนหลากหลายรุ่นได้มาเล่นเกม และการเล่นเกมที่ว่านี้ก็เป็นช่องทางใหม่ในการเชื่อมต่อระหว่างคนในครอบครัว , เพื่อนใหม่ หรือแม้แต่กระทั่งคนรัก"
 
 
ทางการซาอุฯเผย มีแรงงาน “โรบินฮูด” กว่า 180,000 คนยอมออกนอกประเทศ ตั้งแต่เม.ย.
 
9 มิ.ย. 56 - รายงานจากหนังสือพิมพ์รายวัน “โอกาซ” ซึ่งอ้างคำพูดของบาเดอร์ มาเล็คโฆษกสำนักงานหนังสือเดินทางของซาอุดีอาระเบียระบุว่าตั้งแต่เริ่มเดือนเมษายน จนกระทั่งถึงต้นเดือนมิถุนายน มีแรงงานผิดกฏหมายชาวต่างชาติ 180,000 คนเดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว และเมื่อนับรวมตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา แรงงานต่างชาติที่เดินทางออกจากซาอุดีอาระเบียมีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 380,000 คน
       
การไหลทะลักออกนอกประเทศของแรงงานต่างด้าวเถื่อนในซาอุดีอาระเบียมีขึ้น หลังจากที่รัฐบาลของราชอาณาจักรกลางทะเลทรายซึ่งอุดมไปด้วยน้ำมันแห่งนี้ประกาศมาตรการนิรโทษกรรมซึ่งระบุจะไม่ดำเนินคดีตามกฏหมายแก่ผู้ที่ลักลอบเข้าเมือง หากพวก “โรบินฮูด” เหล่านี้ ยินยอมเดินทางออกนอกประเทศก่อนเส้นตายในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้
       
แต่หากแรงงานต่างด้าวผิดกฏหมายรายใดยังคงดื้อดึงที่จะอยู่อย่างหลบๆซ่อนๆในซาอุดีอาระเบียต่อไปหลังจากวันที่ 3 กรกฎาคม ก็จะต้องได้รับโทษจำคุกสูงสุดนานถึง 2 ปีหากถูกจับกุมได้ และต้องถูกปรับเป็นเงินกว่า 27,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 827,500บาท)
       
ทั้งนี้ รัฐบาลซาอุดีอาระเบียเผยข้อมูลว่าปัจจุบันมีชาวต่างชาติถึง 8 ล้านคนเข้ามาทำงานในประเทศของตน นอกเหนือจากนั้นยังมีแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฏหมายอีกราว 2 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ รวมถึงชาติเพื่อนบ้านอาหรับที่ยากจน ขณะที่ทางการซาอุฯเองกำลังต้องการสร้างงานให้กับพลเมืองของตัวเองหลังอัตราว่างงานในประเทศพุ่งสูง จึงเตรียมหันมาปรับลดจำนวนแรงงานต่างชาติลง แม้ในความเป็นจริงแล้ว จะเป็นที่ทราบกันดีว่า พลเมืองซาอุฯเอง ไม่ยอมประกอบอาชีพหลายอาชีพซึ่งมีค่าจ้างแรงงานต่ำ
 
 
แรงงานอินโดนีเซียปะทะตำรวจหน้าสถานกงสุลในซาอุดีอาระเบีย
 
9 มิ.ย. 56 - แรงงานชาวอินโดนีเซียจุดไฟเผากำแพงอาคารสถานกงสุลอินโดนีเซียในเมืองเจดดาห์ของซาอุดีอาระเบียและปะทะกับตำรวจด้วยความไม่พอใจที่ต้องค้างคืนรอนอกอาคารท่ามกลางสภาพอากาศร้อนจัด
 
ทางการซาอุดีอาระเบียจะเริ่มปราบปรามแรงงานเถื่อนตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคมนี้ ทำให้แรงงานต่างชาติหลายแสนคนแห่ไปยังหน่วยงานราชการ สถานทูตและสถานกงสุลเพื่อยื่นแก้ไขสถานภาพการเข้าเมืองให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นจะถูกเนรเทศกลับ ส่งผลให้สถานที่เหล่านั้นแน่นขนัดและเจ้าหน้าที่ทำงานไม่ทัน ตำรวจเมืองเจดดาห์แจ้งว่า แรงงานอินโดนีเซียได้แย่งกันเข้าไปในสถานกงสุลจนมีคนบาดเจ็บ ขณะที่แรงงานด้านนอกขว้างปาก้อนหินและขวดน้ำใส่ตำรวจที่ยิงปืนขึ้นฟ้า และมีผู้เผากำแพงอาคาร จนกระทั่งตำรวจสามารถยุติเหตุการณ์ได้ในที่สุด จากนั้นแรงงานพากันรอที่นอกอาคารอย่างสงบ บางส่วนเข้าไปรอในเต็นท์ 20-30 หลัง มีการแจกจ่ายหรือจำหน่ายน้ำและอาหารให้ระหว่างนั้น
 
ข้อมูลล่าสุดของธนาคารกลางซาอุดีอาระเบียระบุว่า ตำแหน่งในบริษัทเอกชนราว 9 ใน 10 ตำแหน่งเป็นของชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศประมาณ 9 ล้านคน ทางการได้กำหนดโควตาตำแหน่งงานให้แก่แรงงานในประเทศ และเก็บค่าธรรมเนียมรายปีกับบริษัทที่มีคนงานต่างชาติมากกว่าชาวซาอุดีอาระเบีย 2,400 ริยาล (ราว 19,200 บาท) ต่อคนงานต่างชาติ 1 คน
 
 
แรงงานหญิงดับ 1 ในเหตุวางเพลิงประท้วงกงสุลอินโดฯ ในซาอุฯ
 
10 มิ.ย. 56 - แรงงานหญิงแดนอิเหนาคนหนึ่งเสียชีวิตเมื่อวันอาทิตย์ (9 มิ.ย.) จากเหตุเพลิงไหม้ที่จุดขึ้นโดยพวกคนงานด้วยกันเองที่บริเวณด้านนอกสถานกงสุลอินโดนีเซีย ในเมืองทางภาคตะวันตกของซาอุดีอาระเบีย ในขณะที่มีแรงงานนับพันตบเท้าเข้ามาแก้ไขสถานะการทำงานของตนให้ถูกต้องตามกฎหมาย แหล่งข่าวของสถานกงสุลรายหนึ่งเปิดเผย
       
ชาวอินโดนีเซียราว 8,000 คนมารวมตัวกันนอกกำแพงกงสุลอินโดฯ ประจำเมืองเจดดาห์ เพื่อขอยื่นเรื่องให้เจ้าหน้าผู้มีอำนาจทำการแก้ไขเอกสารรับรองสถานะของตนให้ถูกต้อง เนื่องจากราชอาณาจักรซาอุฯ ได้ขีดเส้นตายให้แรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีสถานะผิดกฎหมายจัดการแก้ไขให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นจะต้องกลับประเทศ
       
ในระหว่างนั้นเอง “แรงงานบางส่วนวางเพลิงบริเวณใกล้กำแพงของสถานกงสุล ด้วยหวังที่จะใช้กำลังบุกเข้าไปด้านใน แต่เพลิงที่ลุกไหม้ทำให้มีผู้หญิงคนหนึ่งเสียชีวิต” แหล่งข่าวให้ข้อมูล
       
ก่อนที่เพลิงจะลุกไหม้ขึ้น แรงงานชาวอินโดนีเซียได้ขว้างก้อนอิฐก้อนหินใส่สถานกงสุล เพราะโมโหที่เจ้าหน้าที่ปล่อยให้รอนาน ทำให้เกรงว่าจะจัดการเอกสารได้ไม่ทันกำหนด
       
เนื่องจากเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นด้านนอกกำแพง จึงทำให้ตัวอาคารของสถานกงสุลไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด แหล่งข่าวของสถานกงสุลรายงาน
       
ทางด้านตำรวจซาอุฯ ยืนยันว่าเพลิงที่ลุกไหม้ทำให้มีผู้บาดเจ็บบางส่วน แต่ไม่มีการกล่าวถึงผู้เสียชีวิต
       
“ขณะนี้เพลิงสงบลงแล้ว” แหล่งข่าวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจคนหนึ่งให้ข้อมูล
       
ทางการซาอุฯ ได้ออกเงื่อนไขนิรโทษกรรม โดยอนุญาตให้แรงงานที่เข้าเมืองผิดกฎหมายสามารถยื่นเรื่องขอแก้ไขสถานะให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด ไม่เช่นนั้นแล้วจะต้องออกจากประเทศไปโดยที่ไม่มีการลงโทษ ทั้งนี้หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งรายงานไว้เมื่อวันอาทิตย์ (9 มิ.ย.) ว่าตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน มีแรงงานข้ามชาติที่มีสถานะผิดกฎหมายราว 180,000 คน ออกจากประเทศซาอุดีอาระเบีย
       
ตัวเลขดังกล่าวส่งผลให้ยอดแรงงานข้ามชาติที่ออกจากประเทศซาอุดีอาระเบียตั้งแต่เมื่อต้นปีมีมากถึง 380,000 คน
       
มาตรการดังกล่าวทำให้แรงงานที่ไม่มีเอกสารรับรองที่ถูกต้องรู้สึกกังวลใจมากขึ้น เนื่องจากหลังวันที่ 3 กรกฎาคมเป็นต้นไป อาณาจักรเศรษฐีน้ำมันแห่งนี้ได้กำหนดให้ผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายแรงงานข้ามชาติต้องได้รับบทลงโทษ คือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 ริยาล (810,000 บาท)
       
ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย มีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในดินแดนแห่งนี้ถึง 8 ล้านคน นอกจากนี้นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า ยังมีแรงงานอีก 2 ล้านคนที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน
 
การที่ดินแดนเศรษฐีน้ำมันออกมาตรการเช่นนี้ เนื่องจากตั้งเป้าที่จะสร้างอาชีพให้ชาวซาอุฯ ที่ว่างงาน โดยใช้วิธีลดจำนวนแรงงานข้ามชาติลง ถึงแม้แรงงานข้ามชาติจำนวนมากจะทำงานชั้นต่ำที่ชาวซาอุดิอาระเบียไม่นิยม
       
ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันมากที่สุดในโลกแห่งนี้ คือ เหมืองทองของคนนับล้าน ที่มาจากประเทศยากจนในทวีปเอเชียและกลุ่มประเทศอาหรับ ซึ่งประสบกับปัญหาการว่างงานภายในประเทศตนเอง
 
 
หวั่น "อาเบะโนมิกส์" เหลว เมินปฏิรูปตลาดแรงงาน
 
10 มิ.ย. 56 - ซีเอ็นเอ็นมันนี่ ระบุว่า แผนที่ถูกขนานนามว่า "อาเบะโนมิกส์" ตาม นายชินโสะ อาเบะ ผู้นำญี่ปุ่น ประกอบด้วย 3 มาตรการหลักหรือลูกธนู 3 ดอก ได้แก่ เพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการซื้อพันธบัตรของธนาคารกลาง (BOJ) และการปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง
 
โดยอาเบะเชื่อว่ามาตรการข้างต้น จะช่วยดึงราคาสินค้าให้พุ่งขึ้น สิ้นสุดภาวะเงินฝืดที่ยาวนานกว่าทศวรรษ และช่วยให้เศรษฐกิจแดนปลาดิบกลับมาผงาดในเวทีโลกอีกครั้ง
 
ลูกธนูดอก ที่ 1 และ 2 เริ่มใช้ไปแล้ว เหลือดอกที่ 3 ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นหัวใจหลักที่จะชี้ชะตาว่าแผนของอาเบะจะประสบความ สำเร็จหรือไม่ จากการรายงานของซีเอ็นบีซี ล่าสุดสุนทรพจน์ของนายกฯญี่ปุ่นแย้มว่า การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจมีเป้าหมายเพิ่มรายได้ต่อหัวให้ถึง 1.5 ล้านเยน ภายใน 10 ปี และดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติเป็น 2 เท่าภายในปี 2563 โดยจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตลอดจนลดหย่อนภาษีสำหรับนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงผ่อนคลายกฎเกณฑ์สำหรับหลายเซ็กเตอร์
 
โดยมาตรการดังกล่าวจะ เริ่มบังคับใช้ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง (กันยายน-พฤศจิกายน) นี้ ซึ่งเห็นได้ชัดว่า การทอดเวลาออกไปแทนที่จะดำเนินการโดยเร็ว เป็นเพราะอาเบะต้องการหลีกเลี่ยงความไม่พอใจของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาสูงที่จะมีขึ้นในเดือนหน้าและหากพรรดแอลดีพีต้น สังกัดของอาเบะสามารถครองเสียงข้างมากในสภาสูง การผลักดันกฎหมายของรัฐบาลก็จะเป็นไปอย่างราบรื่น
 
แม้จะอัดแน่นด้วย มาตรการหลากหลาย แต่สุนทรพจน์ของอาเบะกลับสร้างความผิดหวังให้ตลาดที่ต้องการเห็นการปฏิรูป เชิงรุก โดยเฉพาะในตลาดแรงงาน 
 
เนื่องจากแรงงานทั่วไปที่ทำงานเต็ม เวลาได้รับการปกป้องอย่างเต็มที่จากกฎหมาย ทำให้นายจ้างไม่สามารถปลดพนักงานออกได้แม้บริษัทขาดทุน ข้อดีของกฎหมายปัจจุบันคืออัตราว่างงานของญี่ปุ่นอยู่ที่เพียง 4.1% ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจซบเซา ส่วนข้อเสีย ได้แก่ ทำให้นายจ้างไม่ยอมเพิ่มจำนวนพนักงานเต็มเวลา โดยปัจจุบันลูกจ้างมากกว่า 1 ใน 3 ของญี่ปุ่นเป็นพนักงานชั่วคราวหรือพาร์ตไทม์ และยังมีส่วนทำให้บริษัทอิเล็กทรอนิกส์สัญชาติญี่ปุ่นล้าหลังบริษัทต่างชาติ เนื่องจากเจอปัญหายุ่งยากในการปิดโรงงานที่ไม่ทำกำไรซึ่งหมายถึงการลอยแพ พนักงานด้วย
 
ไม่เพียงเท่านั้น ผลของลูกธนูดอกที่ 2 ช่วงแรกทำให้ค่าเงินเยนก็อ่อนลงอย่างต่อเนื่อง ช่วยเพิ่มกำไรให้ผู้ส่งออกและผลักดันดัชนีนิกเคอิสูงทุบสถิติในรอบหลายปี จนสัปดาห์ที่แล้วตลาดหุ้นญี่ปุ่นเริ่มฟุบ มีการ
 
เทขายอย่างหนักหลาย วัน เนื่องจากนักลงทุนไม่มั่นใจศักยภาพของอาเบะโนมิกส์ ตลอดจนกังวลว่าผลข้างเคียงที่เกิดจากการทุ่มเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะยิ่ง ซ้ำเติมปัญหาหนี้สาธารณะที่วิกฤตอยู่แล้ว
 
นักเศรษฐศาสตร์แนะให้รัฐบาลญี่ปุ่นเร่งสะสางปัญหาหนี้สินของประเทศที่คาดว่าจะพอกพูนถึง 230% ของจีดีพีภายใน
 
ปี 2557 ด้วยการคลอดแผนตัดลดสวัสดิการและขึ้นภาษีในระยะกลาง ส่วนองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) รวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แม้ไม่ได้คัดค้าน
 
อาเบะโนมิกส์ แต่ก็เตือนให้ญี่ปุ่นหาแนวทางควบคุมหนี้สาธารณะโดยเร็ว 
 
นอก จากนี้ยังมีความวิตกว่า อานิสงส์ของมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจจะตกไปอยู่ที่ตลาดหุ้นเท่านั้น แต่ไปไม่ถึงภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง จนถึงขณะนี้ค่าจ้างแรงงานยังคงที่ ส่วนยอดขายปลีก ยังน่าผิดหวัง
 
อีกด้านหนึ่ง BOJ พยายามซื้อพันธบัตรระยะยาวอย่างต่อเนื่องเพื่อดึงราคาให้สูง ซึ่งในอีกด้านหนึ่งคือการฉุดอัตรา
 
ผล ตอบแทนให้ต่ำ หวังกระตุ้นให้นักลงทุนนำเงินไปซื้อสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ทว่า หลังมีเสถียรภาพอยู่ระยะหนึ่ง ราคาพันธบัตรญี่ปุ่นเริ่มร่วง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 10 ปีขยับแตะ 1% ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ซึ่งสูงที่สุดในรอบมากกว่า 1 ปี
 
นัก เศรษฐศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่า การทำงานของ BOJ มีจุดประสงค์ที่ขัดแย้งกันเอง ด้านหนึ่งพยายามลดอัตราผลตอบแทนพันธบัตร อีกด้านหนึ่งหาทางเพิ่มอัตราเงินเฟ้อซึ่งมีผลกดดันให้อัตราผลตอบแทนสูงขึ้น
 
ปัญหาเหล่านี้ และความเชื่อมั่นของตลาดที่เริ่มสั่นคลอน อาจทำให้อาเบะโนมิกส์เป็นแค่แผนล้มเหลวอีกแผนหนึ่งเท่านั้น
 
 
แรงงานกัมพูชาหลายร้อยคนถูกไล่ออกจากโรงงานไนกี้
 
11 มิ.ย. 56 -  แรงงานหลายร้อยคนถูกไล่ออกจากโรงงานในกัมพูชาที่ผลิตชุดกีฬาให้แก่บริษัทไนกี้ของสหรัฐฯ หลังเกิดการประท้วงขึ้นหลายครั้งเกี่ยวกับค่าแรง สหภาพแรงงานระบุวานนี้ (11) และกล่าวประณามความเคลื่อนไหวดังกล่าวว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และผิดกฎหมาย
       
“แรงงานเหล่านั้นถูกบังคับให้ออกจากงานโดยไม่ได้รับเงินชดเชย นี่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย” นายมาน เซ็ง ฮัก แกนนำสหภาพแรงงาน กล่าว และระบุว่า มีแรงงานเกือบ 300 คน ถูกไล่ออก
       
“นี่เป็นรูปแบบหนึ่งของการลงโทษแรงงานเพื่อไม่ให้มีการจัดชุมนุมประท้วงกันอีก เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้” แกนนำคนเดิมกล่าวและว่า กลุ่มของเขาจะร้องเรียนไปยังรัฐบาล
       
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความคิดเห็นจากเจ้าของโรงงานเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด
       
แรงงานกัมพูชาจัดชุมนุมประท้วงหลายครั้งเพื่อแสดงถึงความไม่พอใจเกี่ยวกับค่าแรงต่ำและสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้ามูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ที่ผลิตสินค้าให้แก่แบรนด์ดังของชาติตะวันตก
       
แรงงานอย่างน้อย 10 คน ได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมประท้วงที่โรงงานซาบริน่า แคมโบเดีย การ์เม้นท์ แมนูแฟคเจอร์ริ่ง ใน จ.กำปงสะปือ ที่ผลิตสินค้าให้แก่บริษัทไนกี้ และสัปดาห์ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลถูกกล่าวหาว่าใช้กระบองเข้าทำร้ายผู้ชุมนุมประท้วง และผู้ชุมนุมประท้วงได้ระบุว่า หญิงตั้งครรภ์รายหนึ่งได้รับบาดเจ็บจนแท้งลูกในการสลายการชุมนุมครั้งดังกล่าว และยังกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยใช้กำลังรุนแรงเกินกว่าเหตุเพื่อสลายการชุมนุม
       
อุตสาหกรรมสิ่งทอของกัมพูชา ที่มีแรงงานราว 650,000 คน และผลิตเสื้อผ้าให้แก่แบรนด์ชั้นนำของชาติตะวันตกหลายบริษัท ถือเป็นแหล่งที่มาของรายได้จากต่างชาติที่สำคัญของประเทศ.
 
 
UN เผย มีเด็กมากกว่า 10 ล้านคนทั่วโลกที่ต้องทำงานเป็นคนรับใช้ เสี่ยงถูกกระทำเยี่ยงทาส
 
12 มิ.ย. 56 - มีเด็กจำนวนมากถึง 10.5 ล้านคนจากทั่วโลก ที่ต้องทำงานเป็นคนรับใช้ ในบ้าน และอาจตกอยู่ในสภาวะการทำงานที่อันตราย หรือถูกกระทำเยี่ยงทาส องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) แถลงเมื่อวันพุธ (12)
       
องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ซึ่งเป็นองค์กรชำนาญการพิเศษของสหประชาชาติ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เกือบ 3 ใน 4 ของเด็กเหล่านั้นเป็นเด็กผู้หญิง และมีเด็กรับใช้จำนวน 6.5 ล้านคนทีเดียว ที่อยู่ในช่วงอายุ 5 ถึง 14 ปีเท่านั้น
       
ข้อเท็จจริงนี้สวนทางกับความพยายามที่จะยุติการเอารัดเอาเปรียบเด็กในระดับนานาชาติ คอนสแตนซ์ โทมัส ผู้อำนวยการโครงการขจัดปัญหาแรงงานเด็กของ ILO ชี้แจง
       
ทั้งนี้เธอได้แถลงว่า สถานการณ์ที่เด็กรับใช้ในบ้านจำนวนมากกำลังประสบอยู่ ไม่เพียงแต่เป็นการละเมิดสิทธิเด็กขั้นรุนแรง แต่ได้กลายเป็นอุปสรรคที่คอยขัดขวางไม่ให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการพัฒนาทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ
       
การใช้แรงงานเด็กทำงานบ้านเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก ถึงแม้ว่าจะพบปัญหานี้มากที่สุดในทวีปแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา โดยเฉพาะ ประเทศเบอร์กินาฟาโซ กาน่า ไอเวอรีโคสต์ และมาลี ตามข้อมูลที่ ILO ระบุ
       
รายงาน 87 หน้า ซึ่งได้รับการเผยแพร่ในวันที่ 12 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก ยังได้เน้นย้ำอีกว่า บางครั้ง ครอบครัวในชนบทของปากีสถานและเนปาลจะถูกบังคับให้ส่งลูกของตัวเองไปเป็นเด็กรับใช้ภายในบ้านเพื่อเป็นการชดใช้หนี้
       
ส่วนในประเทศเฮติ มีเด็กเป็นแสนๆ คน รวมถึงผู้ที่หลบหนีภัยธรรมชาติ ลงท้ายด้วยการทำงานรับใช้ในบ้านซึ่งก็ไม่ได้ดีกว่าการเป็นทาส
       
ในขณะที่เด็กสาวชาวเอธิโอเปีย ในแต่ละปีจะถูกส่งไปเป็นคนรับใช้ในตะวันออกกลางเป็นพันๆ คน
       
ILO ระบุว่า โดยปกติแล้ว เด็กเหล่านี้จะทำงานในบ้านของเจ้านาย โดยรับผิดชอบงานประเภท ทำความสะอาด รีดผ้า ทำอาหาร ทำสวน หาบน้ำ เลี้ยงเด็ก และดูแลผู้สูงอายุ
       
เด็กเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะถูกทารุณทางร่างกาย จิตใจ และถูกคุกคามทางเพศ รวมถึงต้องทำงานในสภาวะที่อันตราย พวกเขามักจะต้องแยกจากครอบครัว โดยไม่มีใครคอยสอดส่องดูแล และต้องพึ่งพานายจ้างตลอดเวลา
       
นอกจากนี้ เด็กเหล่านี้ยังเสี่ยงที่จะถูกบังคับให้ค้าประเวณี ILO แถลง
       
“เราต้องการกฎหมายที่เข้มงวดซึ่งสามารถระบุอย่างชัดเจน ป้องกันและขจัดปัญหาการใช้แรงงานเด็กภายในบ้านให้หมดไป รวมทั้งช่วยให้วัยรุ่นได้ทำงานในสภาพบรรยากาศที่เหมาะสมเมื่อพวกเขาถึงวัยที่กฎหมายอนุญาตให้ทำงานได้แล้ว" โทมัสแถลง
       
ในรายงานระบุว่าหลายๆ ประเทศไม่ได้พิจารณาว่าการมีเด็กรับใช้ในบ้านเป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้แรงงานเด็ก เนื่องจากลูกจ้างและครอบครัวของนายจ้างมีความสัมพันธ์ที่คลุมเครือ
       
กล่าวคือ ในขณะที่เด็กเหล่านี้เป็นลูกจ้าง กลับไม่ได้ถูกมองว่าเป็นแรงงาน และแม้ว่าพวกเขาอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกับนายจ้าง แต่ก็ไม่ได้รับการปฏิบัติเหมือนคนในครอบครัว รายงานระบุ
       
“สภาวะสูญญากาศของความห่วงใย” เช่นนี้ เปิดโอกาสให้มีการเอารัดเอาเปรียบเกิดขึ้น แต่เป็นเรื่องยากที่เด็กๆ เหล่านี้จะได้รับการปกป้องเพราะเป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้ใครเห็น
       
ข้อมูลทางสถิติของ ILO ระบุว่า เด็กรับใช้ในบ้านคิดเป็น 5 เปอร์เซนต์ของเด็กอายุต่ำกว่า 17 ปีที่ได้รับการว่าจ้างงานทั่วโลก
 
 
กรีซสั่งปิดสถานีโทรทัศน์แห่งชาติเพื่อปรับลดคนงานลง 2,500 คน 
 
12 มิ.ย. 56 - รัฐบาลกรีซสั่งปิดสถานีโทรทัศน์และวิทยุของรัฐบาลทุกแห่งไม่มีกำหนด เพื่อปรับลดคนงานลง 2,500 คน ตามแผนการตัดทอนค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ตามเงื่อนไขของผู้ให้กู้ยืม
 
แถลงการณ์ของรัฐบาลกรีซ ระบุว่า การปิดสถานีโทรทัศน์และวิทยุของรัฐทุกแห่งจะทำเป็นการชั่วคราว และจะเปิดทำการใหม่อีกครั้งโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลังจากปรับลดคนงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งไม่อาจระบุออกมาอย่างชัดเจนว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน และจะเปิดสถานีได้อีกครั้งเมื่อใด ถือเป็นการปรับลดคนงานภาครัฐครั้งใหญ่ครั้งแรกในรอบ 3 ปี นับแต่เริ่มใช้มาตรการลดรายจ่ายเป็นต้นมา ขณะที่ภาคเอกชนได้รับผลกระทบแล้วเกือบ 1 ล้านคน ที่ต้องกลายเป็นคนว่างงาน
 
ทันทีที่ประกาศออกมา พนักงานสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ ERT และนักเคลื่อนไหวต่อต้านมาตรการลดรายจ่าย รวมถึง ส.ส.ฝ่ายค้าน และสมาชิกสหภาพแรงงานราว 2,000 คน ก็ออกมาชุมนุมประท้วงทันที ขณะที่นายซีมอส เคดิโคกลู โฆษกรัฐบาล ซึ่งเคยเป็นผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ของรัฐมาก่อน เปิดเผยว่า สถานีโทรทัศน์ ERT เป็นที่รวมแห่งความสิ้นเปลืองมากกว่าสถานีอื่นๆ ถึง 7 เท่า และมีบุคลากรมากกว่าที่อื่นถึง 6 เท่า ทั้งนี้ คนงาน 2,500 คน ที่ต้องตกงานจะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย
 
ด้านสถานีโทรทัศน์เอกชนในกรีซ พากันระงับรายการข่าวอย่างพร้อมเพรียงกัน หลังจากสหภาพแรงงานเรียกร้องให้มีการผละงานสายฟ้าแลบเป็นเวลา 6 ชั่วโมง เพื่อประท้วงการที่รัฐบาลนำสถานีโทรทัศน์ไปบูชายัญชาติเจ้าหนี้ผู้ให้กู้ยืม โดยไม่สนใจความรู้สึกของประชาชน ขณะที่สมาพันธ์ผู้สื่อข่าวระหว่างประเทศในยุโรป ก็ออกมาตำหนิรัฐบาลกรีซที่สั่งปิดสถานีโทรทัศน์และวิทยุของรัฐในครั้งนี้
 
 
เผยมีแรงงานเด็กทั่วโลกกว่า 10 ล้านคนรับใช้ตามบ้าน
 
12 มิ.ย. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานจากนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ว่า องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอแอลโอ แถลงวันนี้ มีเด็กกว่า 10.5 ล้านคนทั่วโลก ทำงานเป็นคนรับใช้ในบ้าน ซึ่งอาจอยู่ในสภาพที่เป็นอันตราย และถูกใช้แรงงานไม่ต่างจากทาส สำนักงานด้านแรงงานของสหประชาชาติ ระบุว่า เด็กเกือบ 3 ใน 4 เป็นเด็กหญิง และคนใช้เด็ก 6.5 ล้านคน มีอายุระหว่าง 5 และ 14 ปี
 
คอนสแตนซ์ โทมัส ผู้อำนวยการโครงการป้องกันแรงงานเด็กทั่วโลกของไอแอลโอ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าว ท้าทายความพยายามของนานาชาติในการยุติการแสวงหาประโยชน์จากเด็ก ทั้งนี้ สถานการณ์การใช้แรงงานเด็กภายในบ้าน ไม่เพียงแต่เป็นการละเมิดสิทธิเด็กอย่างร้ายแรงเท่านั้น แต่ยังเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จของวัตถุประสงค์ในการพัฒนาชาติและระหว่างประเทศ
 
ประเทศในแถบซับซาฮาราของแอฟริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศบูร์กินา ฟาโซ, กานา, ไอวอรีโคสต์ และมาลี น่าเป็นห่วงที่สุด นอกจากนี้ ในรายงานหนา 87 หน้า ที่เผยแพร่ในวันต่อต้านแรงงานเด็กโลก วันที่ 12 มิ.ย. ยังย้ำด้วยว่า ครอบครัวในชนบทในปากีสถานและเนปาล ยังถูกบีบบังคับให้ต้องส่งลูกหลานไปเป็นแรงงานรับใช้ในบ้าน เพื่อแลกกับหนี้สินของพวกเขา
 
 
คนงานรถไฟฝรั่งเศสผละงานประท้วง
 
13 มิ.ย. 56 - ฝรั่งเศสยังคงเผชิญกับความโกลาหลในการเดินทางขณะพนักงานรถไฟพากันผละงานประท้วง ทำให้ต้องปิดการเดินรถกว่าครึ่งประเทศ หลังจากการผละงานของพนักงานควบคุมการจราจรทางอากาศ ทำให้ต้องยกเลิกเที่ยวบินหลายพันเที่ยวในสัปดาห์นี้
 
รายงานระบุว่า รถไฟความเร็วสูงเตเจเวและรถไฟในฝรั่งเศสเปิดให้บริการเพียงร้อยละ 40 ของรถไฟทั้งหมด หลังจากพนักงานรถไฟซึ่งค้านแผนการปรับโครงสร้างบริษัทรถไฟเอ็นเอสซีเอฟของรัฐบาลพากันผละงานประท้วง โดยเริ่มผละงานตั้งแต่เวลา 00.00 น.วันพุธ ถึง 13.00 น. วันศุกร์ตามเวลาไทย
 
รายงานยังระบุว่า รถไฟสายที่มุ่งหน้าไปยังสวิตเซอร์แลนด์ให้บริการเพียงครึ่งหนึ่ง ส่วนสายที่เดินทางไปยังอิตาลีให้บริการเพียง 1 ใน 3 ของทั้งหมด แต่รถไฟความเร็วสูงยูโรสตาร์ที่เดินทางจากกรุงปารีสไปยังกรุงลอนดอนของอังกฤษและรถไฟความเร็วสูงที่เดินทางไปยังเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนีไม่ได้รับผลกระทบจากการผละงานประท้วงในครั้งนี้
 
สหภาพแรงงานรถไฟเรียกร้องให้มีการประท้วงแผนของรัฐบาลฝรั่งเศสที่จะตั้งบริษัทใหม่ ซึ่งจะรวมบริษัทเอสเอ็นซีเอฟ ซึ่งเป็นบริษัทควบคุมดูแลบริการรถไฟ และบริษัทอาร์เอฟเอฟ ซึ่งเป็นบริษัทที่ควบคุมการซ่อมบำรุงเครือข่ายรถไฟเข้าด้วยกัน ขณะที่ยังแยกสองหน่วยงานนี้ออกจากกัน ด้านผู้บริหารกล่าวว่า การปฏิรูปครั้งนี้จะทำให้การดำเนินงานของการรถไฟดีขึ้นโดยไม่ต้องเพิ่มภาระให้แก่ผู้เสียภาษี แต่สหภาพแรงงานเกรงว่า การปฏิรูปจะทำให้ระบบปัจจุบันถูกยกเลิก การผละงานครั้งนี้ยังเป็นการประท้วงการลดตำแหน่งงาน ซึ่งสหภาพระบุว่า มีการลดตำแหน่งงานถึง 10,000 ตำแหน่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และเพื่อกดดันฝ่ายบริหารก่อนการเจรจาเรื่องค่าแรงในวันศุกร์นี้
 
 
พนักงานหอบังคับการบินฝรั่งเศสประท้วง
 
13 มิ.ย. 56 - พนักงานควบคุมหอการบินในฝรั่งเศสไม่พอใจระบบบริหารเส้นทางการบินแผนใหม่ที่ทำให้พวกเขาต้องทำงานหนักกันมากขึ้นเพราะต้องรับผิดชอบการขึ้น-ลงของเครื่องบินเอกชน ได้พากันผละงานประท้วง ทำให้ต้องมีการระงับเที่ยวบินต่างๆ กว่า 60 % ของจำนวนเครื่องบินที่ขึ้น-ลงรอบๆ ฝรั่งเศส และทำให้การจราจรทางอากาศในที่อื่น ๆในยุโรปหยุดชะงักเมื่อวานนี้
 
โดยเครื่องบินโดยสารกว่า 2,000 เที่ยวบินในฝรั่งเศสถูกระงับ เนื่องจากมีพนักงานควบคุมหอการบินในประเทศต่างๆรวม 11 ประเทศตัดสินใจเข้าร่วมการผละงานประท้วงในวันที่ 2 โดยการผละงานประท้วงวันแรกเริ่มขึ้นเมื่อวันอังคารและจะสิ้นสุดลงในวันนี้
 
 
เจพี มอร์แกน บ.ยักษ์สถาบันการเงิน ปลดพนักงาน 1,800 คน
 
13 มิ.ย. 56 - บริษัทเจพีมอร์แกน เชส โค.ประกาศปลดพนักงานอีก 1,800 คน ในแผนกบริการเงินกู้มีหลักทรัพย์ค้ำประกันการจำนองหรือแผนกมอร์ทเกจ และพนักงานส่วนใหญ่ที่ถูกปลดจะอยู่ที่นิวยอร์กเพราะมีการปิดคอลล์เซ็นเตอร์ทั้งแผนก อีกแห่งก็คือที่รัฐฟลอริดา
 
ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามแผนปลดคนงาน 17,000 คนตามที่เจพีมอร์แกนประกาศไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ โดยเฉพาะพนักงานในแผนกมอร์ทเกจ เจพีมอร์แกนตั้งเป้าไว้ว่าจะปลดออกทั้งสิ้น 15,000 คนภายในสิ้นปี 2557 สำหรับจำนวนพนักงานในปัจจุบันของเจพีมอร์แกนมีประมาณ 43,000 คน
 
 
'กรีซ' หยุดงานประท้วงค้านปิดทีวี
 
13 มิ.ย. 56  สมาชิกสหภาพแรงงานกลุ่มต่างๆเริ่มหยุดงานประท้วงทั่วประเทศในวันนี้ เพื่อร่วมสนับสนุนสื่อมวลชน และคัดค้านคำสั่งของรัฐบาลที่ให้ปิดสถานีโทรทัศน์และวิทยุ ERT ทำให้พนักงานต้องตกงานเกือบ 2,700 คน และสถานีต้องยุติการแพร่สัญญาณตั้งแต่ก่อนเที่ยงคืนวันอังคารที่ผ่านมา นอกจากนี้ประชาชนหลายพันคนร่วมชุมนุมประท้วงที่ด้านนอกสำนักงานของ ERT เป็นวันที่สองเมื่อคืนวาน 
 
ขณะที่บรรดานักข่าวของโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ก็ร่วมหยุดงานประท้วงนาน 24 ชั่วโมง เมื่อวันพุธที่ผ่านมา แต่พนักงาน ERT กลับท้าทายคำสั่งของรัฐบาลด้วยการแพร่ภาพรายการข่าวออกอากาศทางอินเทอร์เน็ตผ่านสัญญาณดาวเทียม โดยได้รับความช่วยเหลือจากสหภาพสถานีโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงยุโรป
 
การปิด ERT ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างมากว่าเป็นการทำลายเสรีภาพสื่อและทำลายประชาธิปไตย และอเล็กซิส ทซีปรัส ผู้นำพรรคฝ่ายค้านให้สัมภาษณ์กับ ERT ด้วยว่า การปิด ERT เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และถือว่าเป็นการก่อปฏิวัติ ขณะเดียวกันรัฐบาลผสมสามพรรคได้ประชุมหารือเพื่อกำหนดจุดยืนต่อเรื่องนี้ร่วมกัน และสองพรรคร่วม เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีอันโตนิส ซามาราส ปล่อยให้ ERT ออกอากาศต่อไประหว่างการปรับโครงสร้าง
 
แต่นายกรัฐมนตรียืนยันให้ปิด ERT ชั่วคราวและสัญญาว่าจะเปิดใหม่โดยปรับโครงสร้างให้มีขนาดเล็กลง หลังจากที่ผ่านมาองค์กรนี้บริหารงานอย่างสิ้นเปลืองงบมหาศาลมากกว่าสถานีอื่นหลายเท่า
 
ขณะที่สื่อสารมวลชนในฝรั่งเศสและเบลเยียมร่วมแสดงพลังสนับสนุน ERT ของกรีซ โดยในกรุงปารีสของฝรั่งเศส มีผู้ประท้วงจากพรรคการเมืองหัวเสรีและสหภาพแรงงาน รวมทั้งชาวกรีซ ร่วมชุมนุมใกล้สถานทูตกรีซ และสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งในเบลเยียม ติดป้ายโลโก้ ของ ERT แทนโลโก้ของบริษัทในรายการทีวีตั้งแต่ภาคบ่ายจนถึงเที่ยงคืนเมื่อวาน
 
 
“IBM” ประกาศปลดพนักงานมากกว่า 1,600 คน อ้างปรับโครงสร้างองค์กร
 
14 มิ.ย. 56 - บริษัท อินเตอร์เนชันแนล บิสเนสส์ แมชีนส์ (ไอบีเอ็ม) ยักษ์ใหญ่แห่งวงการคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ ซึ่งมีฐานอยุ่ที่มลรัฐนิวยอร์กของสหรัฐฯ ประกาศแผนปลดพนักงานในสังกัดมากกว่า 1,600 คน ตามแผนปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่
 
รายงานข่าวซึ่งอ้างจาก นางเวอร์จิเนีย มารี โรเม็ตตี ประธานและซีอีโอหญิงของไอบีเอ็มที่ก้าวเข้ามารับตำแหน่งตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2012 ระบุว่า ทางบริษัทมีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างองค์การใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับคู่แข่งรายอื่นๆในตลาดไอทีและซอฟต์แวร์ ซึ่งผลของการปรับโครงสร้างครั้งนี้จะส่งผลให้ต้องมีการปลดพนักงานออก 1,634 คน
 
แผนการปลดพนักงานดังกล่าว รวมถึงพนักงานมากกว่า 220 คนในฝ่ายการตลาด และอีกอย่างน้อย 165 คนในฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์
 
อย่างไรก็ดี คำแถลงของบริษัท ยืนยันว่าจะมีการสั่งปลดพนักงานรอบใหม่อีกครั้ง ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ แต่ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีพนักงานได้รับผลกระทบเป็นจำนวนเท่าใด
 
ทั้งนี้ ข้อมูลของไอบีเอ็ม ระบุว่า เมื่อสิ้นปี 2012 ที่ผ่านมา ไอบีเอ็มมีจำนวนพนักงานในสังกัดทั้งสิ้น 434,246 ราย ขณะที่นิตยสาร “ฟอร์จูน” จัดให้ไอบีเอ็ม เป็นองค์กรธุรกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของสหรัฐฯในแง่ของจำนวนพนักงาน และถือเป็นบริษัทเอกชนที่ทำกำไรประจำปีได้มากที่สุดเป็นลำดับที่ 9 ของประเทศ
 
 
พม่าเผยไอแอลโอยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรที่เหลือทั้งหมดแล้ว
 
19 มิ.ย. 56 - กระทรวงแรงงาน การจ้างงานและความมั่นคงสังคมของพม่า เผยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรพม่าที่เหลืออยู่ทั้งหมดแล้ว ซึ่งจะทำให้การค้าต่างประเทศ การลงทุน และการจ้างงานในพม่าเพิ่มขึ้น
 
กระทรวงระบุว่า ที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 102 ของไอแอลโอ ที่นครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์ เห็นชอบญัตติดังกล่าวเมื่อวันอังคาร หลังจากทบทวนสิ่งที่พม่าได้ดำเนินการเพื่อยุติการบังคับใช้แรงงาน
 
ไอแอลโอประกาศมาตรการคว่ำบาตรพม่าเมื่อปี 2542 และ 2543 ต่อมาได้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรส่วนใหญ่ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 101 เมื่อเดือนมิถุนายนปีก่อน ในช่วงที่นางออง ซาน ซู จี ผู้นำฝ่ายค้านพม่า ตระเวนเยือนยุโรปครั้งแรก
 
 
องค์การแรงงานระหว่างประเทศชี้มาตรการแบ่งปันงานช่วยแก้ปัญหาในช่วงวิกฤติ
 
19 มิ.ย. 56 - รายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่า การลดจำนวนชั่วโมงทำงานลงอาจจะมีผลกระทบในเชิงบวกต่อระดับการจ้างงานในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง
 
รายงานชื่อ “Work sharing during the Great Recession" ของ ILO ระบุว่า การแบ่งปันงานได้ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางเพื่อรักษาตำแหน่งงานในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจระหว่างปี 2551-2552 และในช่วงที่เกิดผลพวงจากวิกฤต และมีความเป็นไปได้ในการสร้างตำแหน่งงานใหม่
 
จอน ซี. เมสเซนเจอร์ นักวิจัยและผู้ร่วมเขียนรายงานของ ILO กล่าวว่า นโยบายการแบ่งปันงานในช่วงที่เกิดวิกฤตได้รับการออกแบบและนำไปใช้อย่างเหมาะสม และให้ผลลัพธ์ที่ win-win
 
“พนักงานยังคงมีงานทำ บริษัทสามารถอยู่รอดและอยู่ในตำแหน่งที่พร้อมจะกลับมาเติบโต ในขณะที่รัฐบาลและสังคมโดยรวมสามารถประหยัดต้นทุนด้านการว่างงานและการแปลกแยกจากสังคม" เขากล่าว
 
ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวได้นำเสนอการวิเคราะห์ในเชิงลึกของโครงการแบ่งปันงานในช่วงที่เกิดวิกฤตจากทั่วโลก โดยระบุว่า การสนับสนุนจากรัฐบาลจะช่วยให้โครงการแบ่งปันงานเป็นไปอย่างประสิทธิภาพ
 
นอกจากนี้ ความสมดุลระหว่างกฎเกณฑ์ที่เลือกใช้สำหรับบริษัทและพนักงาน, ความจำเป็นด้านการบริหารที่น้อยที่สุดสำหรับบริษัท, ความยืดหยุ่นในเรื่องปริมาณและรูปแบบของการลดชั่วโมงทำงาน, รายได้เสริมสำหรับพนักงานที่ได้รับผลกระทบ และ การกำหนดกรอบเวลาแต่มีความยืดหยุ่นในเรื่องการชดเชยการแบ่งปันงานควรจะถูกนำเข้ามาเสริมเพื่อให้โครงการมีประสิทธิภาพ สำนักข่าวซินหัวรายงาน
 
 
แกลลัพโพลชี้ : พนักงานออฟฟิศมะกันส่วนใหญ่เป็น “หุ่นยนต์” ในที่ทำงาน
 
26 มิ.ย. 56 - แกลลัพโพลชี้ มากกว่า 70% ของพนักงานออฟฟิศชาวอเมริกันไม่มีความสุขในที่ทำงาน เมื่ออยู่ในที่ทำงานมักทำตัวเป็นเหมือนหุ่นยนต์เพียงเพื่อให้หมดไปในแต่ละวัน หรือไม่ก็จะเป็นพวกที่คอยแอบทำลายบริษัทอยู่ลับหลังทุกครั้งที่มีโอกาส
       
จากผลสำรวจล่าสุดของแกลลัพโพล 2013 เกี่ยวกับความสุขในการทำงานของพนักงานประจำและชั่วคราวชาวอเมริกันทั่วสหรัฐฯราว 150,000 คน และพบว่า สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทคือ
       
พวก 30% แรกที่มีความสุขกับงาน มีความกระตือรือร้นที่จะมาทำงาน และมีความสุขกับเจ้านายของตัวเอง แต่ข่าวดีก็หมดลงแค่นั้น
       
เพราะในพวก 20% ที่สอง นั้นเป็นพวกที่เกลียดงานที่ทำและไม่ชอบหัวหน้างานของตนเองอย่างรุนแรง และพร้อมที่จะทำทุกอย่างตรงกันข้ามกับที่คู่มือพนักงานของบริษัทกำหนดไว้ เหมือนอย่างในภาพยนตร์เรื่อง “Waiting...” ที่มีฉากวันแรกของการทำงานในฐานะพนักงานเสิร์ฟในภัตตาคารแบบแฟรนไชส์ ซึ่งอธิบายได้เลยว่าพวก 20% นี้ มีความกระตือรือร้นที่จะหางานใหม่อยู่ตลอดเวลาระหว่างพักเที่ยง บ่นทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับบริษัท
       
และสุดท้ายพวก 50% หลังสุด เป็นพนักงานที่มีลักษณะอยู่ไปวันๆ ไม่มีความกระตือรือร้น หรือมีแรงขับดันทั้งทางด้านบวกหรือลบจากที่ทำงานของพวกเขา โดยไม่รู้สึกยินดียินร้ายต่อสวัสดิการพิเศษที่บริษัทมีให้ เช่น อาหารกลางวันฟรี ห้องนอนงีบ โดยการศึกษาชี้ว่า 44% ของพนักงานที่สามารถเลือกเวลาทำงานได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าพนักงานที่ได้รับสวัสดิการที่ดีจากบริษัท
       
จิม คลิฟฟอร์ด ประธานกรรมการและซีอีโอของแกลลัพ ให้ความเห็นว่า การจัดการที่แย่ทำให้พนักงานในบริษัทไม่สนใจที่จะมีส่วนร่วมในที่ทำงาน
       
และในรายงานพบว่า การที่พนักงานไม่มีความสุขในที่ทำงาน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอเมริกาในภาพรวม ซึ่งแย่มาตั้งแต่ปี 2008 แล้ว
 
 
หอไอเฟล ปิดให้บริการ 2 วันติดต่อกันแล้ว เนื่องจากพนักงานผละงานประท้วงเรียกร้องขึ้นค่าจ้าง
 
26 มิ.ย. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานจากกรุงปารีส ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ว่า หอไอเฟล สถานที่ท่องเที่ยวและสัญลักษณ์สำคัญของฝรั่งเศส ถูกปิดเป็นวันที่ 2 ติดต่อกันแล้วในวันนี้ เนื่องจากการผละงานประท้วงของพนักงานเพื่อเรียกร้องสภาพการทำงานที่ดีขึ้นและขึ้นเงินเดือน ทั้ง ๆ ที่อยู่ในช่วงของฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งสร้างความผิดหวังต่อนักท่องเที่ยวอย่างมาก
 
โดยสหภาพซีจีที ที่ทรงอิทธิพล เรียกร้องให้ผละงานประท้วง หลังจากการเจรจาล้มเหลวในนาทีสุดท้ายเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาหลังใช้เวลาในการเจรจานานถึง 7 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม การเจรจาเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งเมื่อวันอังคาร แต่ปัญหาบางประเด็นยังไม่สามารถแก้ไขได้
 
อย่างไรก็ตาม ทางสหภาพกล่าวเพิ่มเติมว่า หอไอเฟล จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมอีกครั้งในช่วงบ่ายวันนี้ตามเวลาในฝรั่งเศส ซึ่งจะเป็นการเปิดปกติ คือในเวลา 09.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับ 14.00 น.ตามเวลาในไทย และปิดหลังเที่ยงคืน ระหว่างช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งเริ่มจากเดือนมิ.ย. ถึงเดือนก.ย.
 
การผละงานประท้วงของพนักงานครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรก ตั้งแต่เคยปิดไป 2 วันในเดือนธ.ค.2553
 
 
คนงานจีนกักตัวนายจ้างชาวอเมริกันเกือบสัปดาห์
 
26 มิ.ย. 56 - นักธุรกิจสหรัฐที่ตั้งโรงงานผลิตอุปกรณ์การแพทย์ในจีน ถูกพนักงานกักขังไว้นาน 6 วันเนื่องจากโกรธแค้นที่เขาค้างจ่ายเงินเดือน แต่ล่าสุดได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระแล้ว
 
นายชิพ สตาร์เนส วัย 42 ปี ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานบริษัท สเปเชียลตี้ เมดิคัล ซัพพลายส์ ไชน่า ถูกพนักงานกักตัวไว้ภายในโรงงานในกรุงปักกิ่งตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา และเขาได้ให้สัมภาษณ์ผ่านลูกกรงหน้าต่างห้องในโรงงานกับสถานีโทรทัศน์สกายนิวส์เมื่อวันพุธบอกว่า เขาได้แต่บอกตัวเองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนภาพยนตร์ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง พวกเขากักตัวผมไว้เป็นเหมือนการจับตัวประกันเรียกค่าไถ่หรือจะเรียกเหตุการณ์นี้ว่าอะไรก็ตาม
 
สตาร์เนส อ้างว่า ชนวนของเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดจากบริษัทมีแผนจะปิดหน่วยการผลิตพลาสติกเพื่อโยกย้ายไปยังเมืองมุมไบของอินเดีย ทำให้ต้องย้ายพนักงานแผนกนี้ไปอยู่แผนกอื่นโดยมีการจ่ายเงินชดเชยให้ แต่เกิดกระแสข่าวลือว่าเขาจะปิดโรงงานทั้งหมดแล้วหนีไปโดยไม่จ่ายเงินเดือนให้พนักงานที่เหลือ ทำให้คนงานต้องการเงินชดเชยบ้าง จึงก่อเหตุจับตัวเขาไว้
 
แต่คนงานเล่าแย้งว่า พวกเขาก่อเหตุครั้งนี้เพียงเพื่อทวงเงินเดือนที่นายจ้างค้างจ่ายมานานกว่าสองเดือนแล้ว และบอกด้วยว่า พวกเขาต้องการเงินเดือนคืนเท่านั้น คงไม่ใช่คิดว่าพวกเขาเป็นพวกขอทานหรอกนะ 
 
ล่าสุดสตาร์เนส เปิดเผยว่า พนักงาน 97 คนยอมปล่อยตัวเขาแล้ว โดยได้ข้อตกลงร่วมกันเมื่อวันอังคารแต่ไม่เปิดเผยรายละเอีย นอกจากบอกว่า เขายืนยันเดินหน้าทำธุรกิจต่อไป โดยจะยังจ้างคนงานบางคนที่ก่อเหตุจับตัวเขาไว้ต่อไปด้วย 
 
นายสตาร์เนส ให้สัมภาษณ์สื่อถึงช่วงเวลาเกือบหนึ่งสัปดาห์ที่ไร้อิสรภาพว่า พนักงานเหล่านี้พยายามรบกวนไม่ให้เขานอนหลับ โดยแกล้งส่องไฟใส่เขา หรือทุบประตูและกระจกหน้าต่าง แต่ไม่ได้ทำร้ายร่างกาย นอกจากนี้เขาโพสข้อความหลังกลับถึงโรงแรมที่พักในกรุงปักกิ่ง แสดงความดีใจที่ได้กลับถึงโรงแรม และโอดครวญว่าน้ำหนักตัวลดไป 4 กก.
 
สิ่งที่เกิดขึ้นกับสตาร์เนสไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ และตำรวจลังเลที่จะเข้าแทรกแซงกรณีแบบนี้ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องขัดแย้งทางธุรกิจ จึงอยากปล่อยให้เจรจากันภายในที่จะไม่ก่อให้เกิดเหตุรุนแรง โดยครั้งนี้ตำรวจได้แต่เฝ้าคุมโรงงานเพื่อรับประกันความปลอดภัยของนายสตาร์เนส และปล่อยให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านแรงงานเจรจาไกล่เกลี่ย
 
 
การขนส่งสาธารณะในโปรตุเกสเป็นอัมพาตหลังพนักงานผละงานประท้วง
 
27 มิ.ย. 56 - การขนส่งสาธารณะในโปรตุเกสหยุดชะงักในวันนี้ เนื่องจากสหภาพแรงงานสำคัญ 2 แห่ง เรียกร้องให้มีการผละงาน 1 วัน เพื่อประท้วงมาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งทำให้มีการปลดพนักงานมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และทำให้เศรษฐกิจตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษหลังปี 2513
 
รายงานระบุว่า มีการระงับบริการรถไฟหลายสาย รวมถึงรถไฟฟ้าใต้ดินและเรือข้ามฟากในกรุงลิสบอน และรถโดยสารประจำทางหลายสาย ทำให้ประชาชนต้องใช้เวลาในการเดินทางไปทำงานนานขึ้น ส่วนเส้นทางที่เป็นทางเลือกของประชาชนมีรถโดยสารประจำทางให้บริการน้อยกว่าปกติ ด้านสายการบินทีเอพีของทางการโปรตุเกสเตือนว่าอาจเกิดการหยุดชะงักแต่ไม่ได้ยกเลิกเที่ยวบินใดๆ
 
สหภาพแรงงานทั้ง 2 แห่งหวังว่าการผละงานประท้วงครั้งที่ 4 ในรอบ 2 ปี จะกดดันให้รัฐบาลส่งเสริมการเติบโตและผ่อนปรนมาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งจะนำไปสู่การขึ้นภาษีอย่างรวดเร็วที่สุดในปีนี้
 
 
คนงานจีนยอมปล่อยตัวนายจ้างอเมริกันแล้ว หลังบรรลุข้อตกลงเงินชดเชย
 
27 มิ.ย. 56 - นายชิพ สตาร์เนส นักธุรกิจชาวอเมริกันที่ถูกคนงานจีนจับเป็นตัวประกันนานเกือบสัปดาห์ ได้บรรลุข้อตกลงกับคนงานและได้รับการปล่อยตัวแล้ว
 
นายสตาร์เนส เจ้าของร่วมบริษัท สเปเชียลิตี้ เมดิคอล ซัพพลายส์ กล่าวว่า คนงานได้กักตัวเขาไว้เพื่อเรียกร้องเงินชดเชยเมื่อถูกให้ออกจากงาน ขณะที่คนงานกล่าวว่าเกิดจากปัญหาเงินเดือนค้างชำระ โดยบางรายไม่มีรายได้มานานกว่า 2 เดือน
 
เจ้าหน้าที่โรงงานรายหนึ่งกล่าวว่า คนงานจำนวนมากเกรงว่าหากโรงงานต้องปิดอาจทำให้คนงานที่เหลือต้องตกงานและไม่ได้รับค่าชดเชย ขณะที่โรงงานเตรียมย้ายฐานการผลิตไปที่อินเดีย โดยบริษัทต้องปลดคนงานที่เหลือชุดสุดท้ายอีก 30 คน สร้างความโกรธแค้นให้คนงานจนนำไปสู่การจับกุมนายจ้างเป็นตัวประกันในครั้งนี้ และสามารถสรุปข้อตกลงได้ในช่วงรุ่งสางวันนี้
 
นายชิพ สตาร์เนส ประธานคนปัจจุบันของบริษัท สเปเชียลิตี้ เมดิคอล ซัพพลายส์  ซึ่งตั้งอยู่ที่เขตฮ่วยหรู ชานกรุงปักกิ่ง สามารถบรรลุข้อตกลงกับคนงานในเรื่องการจ่ายเงินค่าชดเชยสำหรับการถูกปลดออกจากงาน
 
นายจ้างชาวอเมริกันเล่าว่า คนงานได้ปิดทางเข้าออกโรงงานทั้งหมด และเมื่อเขาพยายามจะนอนหลับ คนงานก็เคาะประตูหน้าต่างจนเขานอนไม่ได้ โดยเวลานี้เขาเตรียมเดินทางออกจากโรงงานในกรุงปักกิ่ง หลังได้รับอิสรภาพภายใต้ข้อตกลงว่า บริษัทจะจ่ายเงินชดเชยและสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ให้คนงานที่ถูกปลดจากงานและดูแลสวัสดิการอื่น ๆ ให้แก่คนงานที่ไม่ถูกปลดด้วย
 
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นไม่ได้เข้าแทรกแซงการกักกันตัวแต่อย่างใด โดยอ้างว่าเป็นกรณีพิพาทระหว่างพลเมืองสองฝ่าย ที่ต้องจัดการปัญหากันเอง 
 
 
ที่มาเรียบเรียงจาก: ประชาไท, สำนักข่าวไทย, ประชาชาติธุรกิจ, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, เดลินิวส์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net