Skip to main content
sharethis

อวัตถุศึกษากับอธิปนำเสนอข่าวสารด้านลิขสิทธิ์ทั่วโลก สัปดาห์นี้วีซ่าและมาสเตอร์การ์ดระงับให้บริการแก่ผู้ให้บริการปกปิดตัวตนบนเน็ต, ชาวอเมริกาประท้วง PRISM วันประกาศอิสรภาพ

Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต" เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก
 

 

04-01-2013

Visa และ Mastercard เริ่มระงับการให้บริการทางการเงินแก่ผู้ให้บริการปกปิดตัวตนบนอินเทอร์เน็ตแล้ว (Anonymizing VPN)

มีการคาดเดากันก่อนหน้านี้ว่าบริการปกปิดตัวตัวบนอินเทอร์เน็ตทั้งหลายนั้นจะเป็นสิ่งผิดกฎหมายในไม่ช้า เนื่องจากบริการเหล่านี้ท้าทายอำนาจรัฐในการปกครองคนบนอินเทอร์เน็ต

ล่าสุดทางบริการทางการเงินชื่อก้องโลกอย่าง Visa และ Mastercard ได้เริ่มหยุดให้บริการทางการเงินแก่ผู้ให้บริการปกปิดตัวตนบนอินเทอร์เน็ตแล้ว

นี่เป็นแนวทางที่คล้ายคลึงกับการที่สองบริษัทยักษ์ใหญ่นี้ระงับการให้บริการทางการเงินแต่ WikiLeaks

ในปัจจุบัน การบริการปกปิดตัวตนบนอินเทอร์เน็ตก็ยังเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายทุกประการ แต่หากมีหมายศาลที่เฉพาะเจาะจงมากๆ ผู้ให้บริการเหล่านี้อาจต้องเปิดเผยตัวตนของผู้ใช้กับรัฐ

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130703/13150923710/visa-mastercard-ban-anonymizing-vpns-just-as-they-allow-wikileaks.shtml , http://torrentfreak.com/mastercard-and-visa-start-banning-vpn-providers-130703/

 

Twitter เริ่มมีการเสนอโฆษณาตามพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของผู้ใช้ดังเช่นหลายๆ เว็บแล้ว แต่ความต่างก็คือ Twitter มีทางเลือกให้ผู้ใช้ "ปิด" ระบบการติดตามพฤติกรรมดังกล่าว

นี่ทำให้หลายๆ ฝ่ายแซ่ซ้องความ "แฟร์" ของ Twitter ที่ไม่ได้ตามติดพฤติกรรมผู้ใช้อย่างไร้ทางเลือกเช่นเว็บอื่นๆ (เช่น Facebook)

และนี่ก็ดูจะสมศักดิ์ศรี Twitter ซึ่งถือว่าเป็นเว็บที่ใส่ใจสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้บริการที่สุดเว็บหนึ่ง (เป็นเว็บที่ได้คะแนนสูงสุดจากการให้คะแนนเรื่องความเป็นส่วนตัวผู้ใช้บริการของ Electronic Frontier Foundation)

ซึ่งหากเราไม่หลงลืมไปนัก กรณีอื้อฉาว NSA ล่าสุดนี้ก็แทบจะมีแต่ Twitter นี่แหละที่ต่อสู้ไม่ยอมมอบข้อมูลผู้ใช้ให้กับรัฐอย่างหัวชนฝาถึงที่สุด ต่างจากหลายๆ เว็บๆ ที่ยินยอมกับ "การขอความร่วมมือ" ในการสอดส่องของรัฐแต่โดยดีมาแต่แรก

News Source: https://www.eff.org/deeplinks/2013/07/how-opt-out-twitters-tailored-advertisements-and-more, https://www.eff.org/deeplinks/2013/07/twitter-shows-the-way-forward-with-do-not-track, http://gigaom.com/2013/07/03/twitter-will-tailor-ads-based-on-your-browsing-but-you-can-opt-out/

 

อเมริกันชนประท้วงเพื่อต่อต้านการสอดส่องของรัฐบาลในวันประกาศอิสรภาพ 4 ก.ค. ซึ่งเป็นวันที่พ้องกับรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขครั้งที่ 4 (Fourth Amendment) ที่รัฐละเมิดในการสอดส่องอันอื้อฉาวในโครงการ PRISM

ในวันที่ 4 ก.ค. มีการประท้วงเกิดขึ้นในอเมริกาโดยผู้ประท้วงมีเป้าประสงค์ให้รัฐยกเลิกการสอดส่องที่ละเมิดรัฐธรรมนูญลงให้หมด

มีการระดมผู้คนผ่านทางอินเทอร์เน็ตโดยไม่มีศูนย์กลางชัดเจน (แต่ก็ว่ากันว่ามีนักกิจกรรมในเว็บ Reddit คอยช่วยดำเนินการอยู่) เว็บทางการของการประท้วงครั้งนี้คือ http://www.restorethefourth.net/ ซึ่งก็มีทั้งแผนที่ GPS ของตำแหน่งที่มีการประท้วงและการนัดประท้วงในแต่ละพื้นที่เสร็จสรรพ ซึ่งบรรดาเว็บไซต์ที่ตื่นตัวเรื่องสิทธิเสรีภาพในอินเทอร์เน็ตและความเป็นส่วนตัวก็ช่วยกันเผยแพร่กระจายข่าวอย่างแข็งขัน

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขครั้งที่ 4 (Fourth Amendment) มีใจความว่า:

"สิทธิของประชาชนเหนือตัวบุคคล บ้านเรือน เอกสาร และทรัพย์สินต่างๆ ของประชาชนจะต้องไม่ถูกละเมิดโดยการตรวจค้นและเข้ายึดของรัฐ และจะไม่มีการออกหมายศาลโดยไม่มีเหตุอันสมควร การออกหมายศาลจะต้องผ่านคำปฏิญาณและการยืนยันอีกทั้งยังต้องมีการระบุพื้นที่ในการสืบค้นและตัวบุคคลหรือสิ่งของที่จะมีการยึด"

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130703/16520623716/today-is-july-4th-its-time-to-restore-4th-amendment.shtml , https://www.eff.org/deeplinks/2013/07/july-4-show-your-support-fourth-amendment , https://www.eff.org/deeplinks/2013/07/restore-fourth-campaign-organizes-protests-against-unconstitutional-surveillance , http://www.restorethefourth.net/

 

เครื่องเล่นวีดีโอใหม่ของ Sony จะต้องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตขณะใช้เสมอเพื่อป้องกันเหล่านักสำเนาเถื่อน

แน่นอนว่ามีเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวางว่ามาตรการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์แบบนี้ไม่พึงประสงค์นัก เพราะมันทำให้ผู้บริโภคที่ถูกต้องที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตหรืออินเทอร์เน็ตใช้ไม่ได้ไม่สามารถบริโภคได้

เท่านั้นยังไม่พอ มาตรการแบบนี้ยังดูย้อนแย้งเนื่องจาก Sony ก็เพิ่งแขวะ Microsoft ไปหมาดๆ กับการที่เครื่องเกม Xbox รุ่นใหม่จะมีมาตรการที่การเล่นเกมจะต้องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา และตัวเครื่องเกมก็จะมีระบบประมวลผลจำนวนคนที่อยู่ในห้องด้วย เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์และเงื่อนไขในการใช้ (ซึ่งเป็นเรื่องอื้อฉาวมากๆ และในที่สุด Microsoft ก็ประกาศยกเลิกมาตรการเหล่านี้แล้ว)

ทั้งนี้เครื่องเล่นวีดีโอดังกล่าวก็สามารถใช้ได้แต่กับทีวีของ Sony เพียงเท่านั้นเช่นกัน

News Source: http://torrentfreak.com/sony-video-players-should-be-internet-connected-to-beat-pirates-130703/

 

07-07-2013

โครงการตีพิมพ์ "ภาคต่ออย่างไม่เป็นทางการ" ของวรรณกรรมเยาวชน Where the Wild Things Are ถูกดึงออกจากเว็บ Kickstarter เนื่องจากเจ้าของลิขสิทธิ์แจ้งว่าละเมิดลิขสิทธิ์

ปีนี้เป็นปีครบรอบ 50 ปีที่ Where the Wild Things Are ของ Maurice Sandak ได้รับการตีพิมพ์ออกมา เลยมีนักเขียนและนักวาดรูปอยากจะทำหนังสือที่เป็นเรื่องราวต่อจากนั้นออกมา และเขาก็ระดมทุนผ่านเว็บระดมทุนชื่อก้องเจ้าเก่าอย่าง Kickstarter

อย่างไรก็ดี HarperCollins ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของ Where the Wild Things Are ก็ไม่รอช้าและแจ้งละเมิดลิขสิทธิ์กับทาง Kickstarter ทำให้โครงการโดนดึงออกจากเว็บและทำให้การระดมทุนเพื่อตีพิมพ์ระงับไป

หากจะว่ากันในทางลิขสิทธิ์ มันก็ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ว่า "ภาคต่ออย่างไม่เป็นทางการ" ดังกล่าวจะถือว่าเป็นวรรณกรรมละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ ซึ่งนี่ก็ดูจะเป็นความไม่ชัดเจนในประเด็นการละเมิดหรือไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ของ "แฟนฟิค" โดยรวมๆ ทั้งหมด ซึ่งต้องกลับมาถามกันว่าลำพังแค่สิ่งที่เป็นนามธรรม "ตัวละคร" ในวรรณกรรมเหล่านี้ที่ถูกผลิตซ้ำใน "แฟนฟิค" นี่ถือว่ามีลิขสิทธิ์กำกับหรือไม่? นี่เป็นเพียง "ความคิด" ไม่ใช่ "การแสดงออก" ที่เป็นเป้าการคุ้มครองของกฎหมายลิขสิทธิ์หรือไม่?

ที่แน่ๆ ปรากฎการณ์นี้ก็แสดงให้เห็นว่าสำนักพิมพ์เริ่มมีการตื่นตัวและไล่ล่าผู้ที่อาจกระทำเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์มากขึ้น

และนี่ก็ไม่ใช่กรณีแรกบน Kickstarter ด้วยซ้ำเพราะทาง Random House ก็ได้ถล่มโครงการทำแฟนซีนมังงะอย่าง Sailor Moon มาก่อนหน้านี้แล้ว

News Source: http://paidcontent.org/2013/07/05/where-the-wild-things-are-sequel-pulled-from-kickstarter-after-harpercollins-issues-takedown-notice/

 

เปิดตัว Sharefest และเทคโนโลยีแชร์ไฟล์ที่ง่ายอย่างไม่เคยมีมาก่อน

โดยทั่วไปแล้วการ "แชร์ไฟล์" มักจะต้องมีกระบวนการมากมาย นี่ทำให้ผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมักจะไม่เริ่มเป็นผู้แชร์ไฟล์ (อย่างน้อยๆ คนที่โหลดสิ่งต่างๆ ผ่าน Torrent ก็น่าจะมีจำนวนไม่มากนักที่จะรู้วิธีการสร้าง Torrent ขึ้นมาใหม่)

อย่างไรก็ดี Sharefest ก็ได้พัฒนาเทคโนโลยีที่เปิดมาแค่หน้าเว็บเพจก็ลากไฟล์ลงไปแชร์ได้ทันที และเพียงแค่ Copy ลิงก์ที่ปรากฏในหน้านั้นผู้ใช้ก็จะสามารถแชร์ไฟล์ได้ ไม่ต้องลงทะเบียนด้วยซ้ำ

ผู้สร้างแชร์เฟสบอกว่าเทคโนโลยีที่ Sharefest ใช้คล้ายกับ Bittorrent แต่ก็มีความแตกต่างออกไปในทางเทคนิค (อย่างไรก็ดีผู้เขียนยังงงๆ ว่ามันทำงานอย่างไรหลังลองใช้ แต่มันใช้งานได้จริงอยู่)

เข้าชมและทดลอง Sharefest ได้ที่ http://www.sharefest.me/

News Source: http://torrentfreak.com/the-easiest-way-in-the-world-to-share-files-p2p-and-how-it-works-130706/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net