ยิ่งจำกัด ยิ่งขยาย การจัดระเบียบที่ดิน กับการขยายการปลูกข้าวโพดบนพื้นที่สูง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
พื้นที่สูงส่วนใหญ่มีความคลุมเครือในสิทธิเหนือที่ดิน เนื่องจากหากยึดตามตัวบทกฎหมายแล้วจะพบว่าที่ดินนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ แต่หากพิจารณาตามสภาพความเป็นจริงจะพบว่าชาวบ้านในท้องถิ่นยังคงใช้ประโยชน์พื้นที่ภายใต้ข้อตกลงทั้งที่เป็นและไม่เป็นทางการ ความคลุมเครือนี้เองที่เปิดโอกาสให้กลุ่มคนมากมายเข้าไปมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการจัดการที่ดิน
 
การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของหลายฝ่ายในการกำหนดแนวเขตการใช้ที่ดินเป็นทางแก้ไขปัญหาที่เชื่อกันว่าเหมาะสมสำหรับชาวบ้าน แต่ชาวบ้านที่ไม่ใช่ระดับแกนนำชุมชนนั้นคิดเห็นอย่างไรและมีส่วนได้เสียอย่างไรกับแนวทางนี้เป็นประเด็นที่ยังไม่ได้มีการศึกษาอย่างถี่ถ้วน เป็นที่น่าสังเกตว่าในขณะที่หลายฝ่ายกำลังช่วยกันกำหนดแนวเขตที่ดินที่ชัดเจนลงบนแผนที่ ชาวบ้านเองก็มียุทธวิธีการแสดงแนวเขตของตนเองบนผืนดินจริง
 
และในช่วงเวลาที่พยายามกำหนดแนวเขตเพื่อจำกัดการใช้ที่ดินบนพื้นที่สูงนี่เอง เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีการขยายการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่อย่างรวดเร็ว
 
พื้นที่สูงพื้นที่คลุมเครือ
 
 
“อำเภอแม่แจ่มเกือบทั้งอำเภอตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ หากยึดตามกฎหมาย ชาวบ้านเกือบทั้งอำเภออยู่ในสถานะที่ทำผิดกฎหมาย...ถูกจับเข้าคุกเมื่อไหร่ก็ได้” เฉลิม (นามสมมติ) ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่งในอำเภอแม่แจ่ม เล่าถึงสถานะที่ไม่มั่นคงของชาวบ้าน ซึ่งเป็นปัญหาสืบเนื่องมาจากรัฐประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทับที่อยู่อาศัยที่ทำกิน
 
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติกลับปรากฏว่าชาวบ้านในท้องถิ่น และแม้แต่หน่วยงานราชการเอง ยึดถือสิทธิตามจารีตประเพณีมากกว่ากรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย  
 
ในกรณีการก่อสร้างสำนักงานขององค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าแต่เดิม อบต. เช่าบ้านหลังหนึ่งที่ทำการชั่วคราว แต่บ้านหลังนั้นก็ค่อนข้างคับแคบ ทาง อบต. จึงเตรียมก่อสร้างสำนักงานถาวร มีการจัดสรรงบประมาณไว้พร้อมแล้ว แต่ว่าหาที่ดินไม่ได้ ในที่สุด ทางอบต. ตัดสินใจใช้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่ชาติ ซึ่งเฉลิมเล่าว่าหากจะให้ถูกต้องตามระเบียบราชการ ต้องทำหนังสือขออนุญาตใช้พื้นที่จากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ผ่านหลายขั้นตอน กินเวลานาน และอาจไม่ได้รับอนุญาตง่าย ๆ ดังนั้นในทางปฏิบัติจึงไม่ได้ทำหนังสือขออนุญาตใช้พื้นที่ แต่ใช้วิธีประชุมปรึกษาหารือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในระดับท้องถิ่น และจัดประชุมชาวบ้านเพื่อขออนุญาตใช้พื้นที่สาธารณะประโยชน์ของชุมชน เช่นเดียวกันกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอีกหลายโครงการ เช่น การก่อสร้างถนน การติดตั้งเสาไฟฟ้า ฯลฯ ที่ไม่สามารถดำเนินการได้หากไม่ได้ขออนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ แต่ทาง อบต. ก็ลัดตอนขั้นตอน ไม่ขออนุญาตหน่วยงานราชการกลับไปขออนุญาตชุมชนเจ้าของพื้นที่แทน
 
ดังนั้น จะเห็นได้ว่ากรรมสิทธิ์ตามกฎหมายไม่ได้เป็นสิ่งที่ชี้ขาดอำนาจการเข้าถึงที่ดินเสมอไป หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่าแม้รัฐจะเป็นเจ้าของพื้นที่ ก็อาจไม่มีอำนาจผูกขาดในการกำกับการใช้พื้นที่เสมอไป ในที่นี้ที่ดินจึงมีความคลุมเครือทั้งในเรื่องสิทธิลักษณะต่าง ๆ ที่ซ้อนทับกัน และแนวเขตที่ยังไม่ชัดเจนซึ่งจะกล่าวถึงในลำดับต่อไป  
 
ความขัดแย้งในพื้นที่สูง
 
 
จากการที่รัฐมุ่งเน้นนโยบายการอนุรักษ์พื้นที่ป่าและสภาพแวดล้อมด้วยการขยายพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ ทำให้ชุมชนท้องถิ่นจำนวนมากถูกรัฐประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทับซ้อนที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน กลายเป็นปัญหาความขัดแย้งในการอ้างสิทธิเหนือที่ดินระหว่างหน่วยงานภาครัฐและชาวบ้านที่ยืดเยื้อมานานหลายสิบปี หากยึดเฉพาะตัวบทกฎหมาย ชุมชนบนพื้นที่สูงอยู่ในพื้นที่ที่รัฐประกาศเป็นป่าอนุรักษ์ ชาวบ้านกลายเป็นผู้อาศัยอยู่ในที่ดินที่ตนเองไม่มีกรรมสิทธิ์ จึงตกอยู่ในฐานะผู้กระทำผิดกฎหมาย อาจถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมดำเนินคดีและบังคับให้ออกจากถิ่นฐานได้ตลอดเวลา
  
ตลอดหลายปีที่ผ่านมาชุมชนในเขตป่าที่ประสบปัญหาได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายและขบวนการเคลื่อนไหวต่าง ๆ โดยมีข้อเสนอที่คล้ายคลึงกันประการหนึ่งคือ เรียกร้องให้รัฐสำรวจเพื่อจำแนกแนวเขตที่ดินของประชาชนออกจากเขตป่าของรัฐให้ชัดเจน และให้รัฐรับรองสิทธิที่มั่นคงเหนือที่ดินให้แก่ชุมชน ด้วยเหตุผลว่าแม้ประชาชนจะไม่มีกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายในที่ดินนั้น แต่เป็นไปไม่ได้ที่รัฐจะบังคับให้อพยพออกจากพื้นที่ การกำหนดแนวเขตจะเป็นหลักประกันไม่ให้ราษฎรขยายที่ทำกินบุกรุกเข้าไปในเขตป่าเพิ่มเติม และการรับรองสิทธิจะช่วยสร้างหลักประกันในการใช้ที่ดินทำมาหากิน และมีแรงจูงใจที่จะพัฒนาระบบการผลิตในระยะยาว
 
การผลักดันของภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้หน่วยงานภาครัฐรับรองหลักการที่จะให้สำรวจจำแนกแนวเขตที่ดิน แต่ในทางปฏิบัติได้เกิดข้อโต้แย้งเกี่ยวกับแนวทางการสำรวจแนวเขต การพิสูจน์และรับรองสิทธิ และเกณฑ์ที่จะใช้พิจารณาว่าพื้นที่ลักษณะแบบใดที่สมควรจัดสรรให้ประชาชนมีส่วนร่วมดูแลรักษาและพื้นที่ลักษณะใดที่ควรจะปกป้องให้ปราศจากการรบกวนของมนุษย์ แม้ว่าในระดับนโยบายจะยังคงมีข้อโต้แย้งเรื่องแนวทางการพิสูจน์สิทธิ แต่ในระดับพื้นที่มีการสำรวจแนวเขตไปบ้างแล้ว ทั้งกรณีที่รัฐดำเนินการโดยลำพัง และกรณีที่ชุมชนดำเนินการเองโดยหน่วยงานรัฐไม่ได้รับรู้หรือมีส่วนร่วม การสำรวจของหน่วยงานรัฐมักดำเนินการไม่แล้วเสร็จเพราะมีการโต้เถียงกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้าน ส่วนกรณีที่สำรวจแนวเขตโดยลำพัง ก็แน่นอนว่าผลการสำรวจนั้นไม่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายที่ไม่ได้มีส่วนร่วม
 
องค์กรพัฒนาเอกชนมีบทบาทอย่างมากในการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับชุมชน ด้วยการผลักดันให้เกิดกลไกความร่วมมือระหว่างชุมชนท้องถิ่น ตัวแทนหน่วยงานราชการ และองค์กรภาคเอกชนในสำรวจแนวเขต มีการดึงทรัพยากรจากหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ เทคโนโลยี และบุคคลากร มาสนับสนุน แม้ว่าจะยังไม่สามารถผลักดันให้มีกฎหมายรับรองสิทธิของชุมชนเหนือที่ดินที่มีการสำรวจแยกแยะออกจากเขตป่าของรัฐก็ตาม
 
แนวทางการดำเนินงานนอกจากจะใช้การมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน ยังมีการใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศสีมาตราส่วน 1:4,000 ของกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งถ่ายไว้ในปี พ.ศ.2545 มาพิจารณาสภาพที่ดินประกอบกับการให้ข้อมูลของชาวบ้าน และมีการจัดตั้งกลไกระดับท้องถิ่นเพื่อกำหนดกติกาในการจัดการที่ดินและทรัพยากรในพื้นที่ แผนที่ที่กำหนดแนวเขตแล้ว จะนำไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานภาครัฐลงนามรับรองเพื่อเป็นหลักประกันให้ชุมชนเกิดความมั่นใจในสิทธิเหนือที่ดิน และหวังว่าจะสามารถผลักดันให้ออก “โฉนดชุมชน” เพื่อรับรองสิทธิในที่ดินให้แก่ชุมชนในพื้นที่ที่สำรวจและกำหนดแนวเขตไว้
 
การกำหนดแนวเขตระดับอำเภอและตำบล
 
 
อำเภอแม่แจ่มตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่ม ซึ่งพื้นที่บางส่วนอยู่ระหว่างการเตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแม่โถ ที่ผ่านมารัฐมีความพยายามจัดทำแนวเขตให้ชัดเจนหลายครั้งแต่การทำแนวเขตไม่เป็นที่ยอมรับของชุมชน และแม้ว่ารัฐจะสามารถจัดทำแนวเขตโดยกำหนดลงไปในแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศได้ แต่ในระดับพื้นที่กลับไม่ปรากฏสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นเส้นแบ่งแนวเขตที่ชัดเจน ด้วยเหตุนี้เมื่อเห็นไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่บนภูเขาสูงจึงยากที่จะบอกว่าพื้นที่เหล่านั้นเป็นที่ดินทำกินเดิมของชุมชนหรือเป็นพื้นที่ป่าที่ถูกบุกเบิกใหม่
 
ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2551 เป็นต้นมา การสำรวจแนวเขตเพื่อจัดระเบียบที่ดินในบ้านก่อวิละเกิดขึ้นอีกครั้งโดยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนตามกระบวนการที่กล่าวมาข้างต้น โดยเป็นการดำเนินการในระดับจังหวัดและตำบล มีการใช้ทรัพยากรจากหลายส่วนรวมกันทั้งจากภาครัฐ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรประชาชน รวมทั้งงบประมาณและบุคลากรจากองค์การบริหารส่วนตำบล  ราวปี 2552 ผู้เขียนเคยเข้าไปสังเกตการณ์การประชุมในระดับอำเภอ และพบว่าขณะที่แกนนำชาวบ้านซึ่งเป็นนักการเมืองท้องถิ่นพยายามเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ยอมรับการสำรวจและกำหนดแนวเขตบนแผนที่ที่ชาวบ้านร่วมกับ อบต. กำลังจะจัดทำขึ้นในอนาคตอันใกล้ เจ้าหน้าที่ป่าไม้กลับแสดงท่าทีชัดเจนว่าจะไม่ยอมรับการกำหนดแนวเขตนั้นจนกว่าจะเจ้าหน้าที่รัฐผู้ชำนาญการมาตรวจสอบความถูกต้องเสียก่อน
 
ราวหนึ่งปีถัดมา ผู้เขียนได้เข้าร่วมสังเกตการณ์กิจกรรมรณรงค์เชิงบวกเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่องค์กรพัฒนาเอกชนจัดขึ้นในอำเภอแม่แจ่ม องค์กรพัฒนาเอกชนหวังจะใช้โอกาสนั้นโน้มน้าวและผลักดันให้เจ้าหน้าที่รัฐร่วมลงนามรับรองแนวเขตบนแผนที่ซึ่งสำรวจจนแล้วเสร็จ  แต่ในที่สุดก็ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดยอมลงนามในแผนที่โดยอ้างว่าหากทำเช่นนั้นเจ้าหน้าที่จะมีความผิดตามกฎหมาย
 
ในโอกาสเดียวกันนี้ทางแกนนำชาวบ้านได้ยื่นหนังสือขอใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตตำบล หนังสือดังกล่าวส่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ แต่มีนายอำเภอแม่แจ่มมารับแทน การขอใช้ประโยชน์นี้เป็นยุทธวิธีที่ชาวบ้านเลือกใช้เพื่อต่อรองให้สามารถเข้าถึงที่ดินโดยอาศัยช่องทางตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เช่นเดียวกับที่หน่วยงานราชการและภาคเอกชนสามารถจะขออนุญาตใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าหลังจากนั้นไม่มีการตอบสนองใดจากทางจังหวัด  
 
นั่นหมายความว่าที่ดินในพื้นที่นั้นยังคงมีความคลุมเครือต่อไปทั้งในเรื่องแนวเขต และสิทธิการเข้าถึงที่ดิน
 
ยุทธวิธีการกำหนดแนวเขตของชาวบ้าน
 
การกำหนดแนวเขตด้วยเทคโนโลยีแผนที่และเครื่องมือทางภูมิศาสตร์สมัยที่กล่าวมานั้น เป็นการดำเนินการโดย อบต. ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน และผู้นำชุมชนเป็นหลัก  แม้ว่าในด้านหนึ่งจะเป็นการสร้างความชัดเจนเพื่อให้ชาวบ้านเกิดความมั่นใจและมั่นคงในการใช้ที่ดิน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เพื่อจะควบคุมชาวบ้านไม่ให้ขยายพื้นที่การเกษตรออกไปยังพื้นที่ “ป่า” ที่ควรอนุรักษ์ไว้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร
  
ผู้เขียนเชื่อว่าชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเป้าหมายประการแรก เพราะย่อมไม่มีชาวบ้านคนใดอยากถูกเจ้าหน้าที่รัฐมาข่มขู่คุกคามและใช้ชีวิตด้วยความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย  แต่สำหรับเป้าหมายอีกประการที่จะทำแนวเขตเพื่อจำกัดควบคุมการใช้ที่ดินของพวกเขาเองผู้เขียนสังเกตว่ามีชาวบ้านเพียงไม่กี่คนที่ตระหนักหรือเห็นความสำคัญของเป้าหมายนี้
 
ในช่วงเวลาของการพยายามสร้างความชัดเจนในเรื่องแนวเขตและสิทธิในที่ดินซึ่งกินเวลาหลายปีนั้น เป็นที่รู้กันในท้องถิ่นว่าพื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งในบ้านก่อวิละและในชุมชนบนพื้นที่สูงอื่น ๆ ได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านก่อวิละไม่ได้คิดว่าตนเองกำลัง “ขยาย” พื้นที่เกษตรเข้าไปยังพื้นที่ป่า เพราะพื้นที่ที่พวกเขาเข้าไปเพาะปลูกนั้นเป็นที่ดินที่เคยใช้ทำการเพาะปลูกมาก่อนตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษเพียงแต่ปล่อยพักไว้ให้ฟื้นตัวตามระบบการเกษตรตามจารีตประเพณีของพวกเขา
 
ขณะที่ อบต. และองค์กรพัฒนาเอกชนพยายามกำหนดแนวเขตด้วยเทคโนโลยีแผนที่ ชาวบ้านก่อวิละได้พยายามแสดงแนวเขตการใช้ที่ดินบนพื้นที่จริงมาหลายปีแล้วก่อนหน้าที่จะมีการนำแผนที่เข้าไปกำหนดแนวเขต ผู้อาวุโสคนหนึ่งในบ้านก่อวิละเล่าว่าหลายปีก่อนเจ้าหน้าที่ป่าไม้เคยมาจัดประชุมและขอให้ชาวบ้านกันพื้นที่ป่าเหนือหมู่บ้านไว้ให้เป็นพื้นที่ต้นน้ำ ห้ามเข้าไปทำไร่ ส่วนพื้นที่อื่น ๆ หากไร่แปลงไหนที่ชาวบ้านไม่ได้ใช้เพาะปลูกแล้วก็จะขอให้ฟื้นคืนสภาพเป็นป่า เมื่อเป็นเช่นนั้นชาวบ้านก็เกรงว่าที่ดินที่เคยทำเกษตรจะถูกเจ้าหน้าที่ยึดไปเป็นป่าเสียหมด พวกเขาจึงไม่ปล่อยให้ที่ดินที่เคยทำเกษตรพักตัวเป็นป่าไม้พุ่มหรือป่าชั้นสองตามระบบหมุนเวียนที่ดินแบบเดิมอีกต่อไป แต่พยายามใช้ที่ดินทุกแปลงอย่างต่อเนื่องในลักษณะพื้นที่เกษตร “ถาวร” แต่ละครัวเรือนจะมีวิธีแสดงการใช้ประโยชน์ที่ดินที่แตกต่างกันไปตามเงื่อนไขและข้อจำกัด เช่นบางครัวเรือนมีทุนและแรงงานน้อยไม่สามารถเพาะปลูกได้เต็มพื้นที่ก็จะคอยแผ้วถางที่ดินเอาไว้หรือปลูกไม้ผลทิ้งไว้  การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นการแสดงการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างถาวรอีกวิธีการหนึ่งที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนเลือกใช้เพื่ออ้างสิทธิในที่ดินการเกษตรของตน 
 
ประหนึ่งเป็นที่รับรู้กันว่ายิ่งมีการเตรียมการจะทำแนวเขตบนแผนที่ให้ชัดเจน ชาวบ้านก็ยิ่งพยายามแสดงการใช้ที่ดินบนพื้นที่จริงให้ชัดเจนเพื่อรอการกำหนดแนวเขตด้วยแผนที่  ปลัด อบต. ซึ่งเป็นคนนอกชุมชนที่สนับสนุนและมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวเขตที่ดินยอมรับว่าในตำบลที่เขารับผิดชอบมีการขยายการปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาบอกว่า “การจัดระเบียบที่ดินอาจทำให้เกิดการบุกรุกที่ดินเพิ่ม แต่ขอให้เป็นการ(บุก)รุก..ครั้งสุดท้าย”
 
ยิ่งจำกัด ยิ่งขยาย
  
“ขยาย” พื้นที่การเกษตรหรือไม่ “บุกรุก” พื้นที่ป่าหรือเปล่า ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันต่อไป ตราบเท่าที่นิยามของพื้นที่และสิทธิในพื้นที่เหล่านั้นยังไม่มีความชัดเจน แม้หลายฝ่ายจะเห็นร่วมกันว่าจำเป็นต้องสร้างความชัดเจนทั้งแนวเขตและสิทธิในที่ดินเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งและปัญหาต่าง ๆ ที่มีมานาน แต่ความชัดเจนก็ใช่ว่าจะสร้างขึ้นได้โดยง่ายเพราะต่างฝ่ายต่างยึดถือหลักการหรือบรรทัดฐานคนละแบบ โดยเฉพาะระหว่างแบบที่ใช้กฎหมายและหลักฐานของรัฐ กับแบบที่ใช้จารีตประเพณีและร่องรอยการทำประโยชน์และคำบอกเล่าของคนท้องถิ่น แม้แต่นิยามของพื้นที่ว่าเป็น “ป่า” หรือ “พื้นที่เกษตร” ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันอีกนานเพราะหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการนิยามนั้นไม่เหมือนกัน
 
ด้วยสภาพความคลุมเครือของพื้นที่ที่สืบเนื่องมาหลายสิบปีและยากจะคลี่คลาย ได้เปิดช่องให้ผู้กระทำการหลากหลายกลุ่มทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่ได้เกี่ยวข้องตรงกับพื้นที่นี้สามารถแทรกตัวเองเข้าไปมีบทบาทและมีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการจัดการกับความคลุมเครือ ซึ่งหมายรวมถึงการกำหนดบรรทัดฐานในแบบของตนเองขึ้นมาว่าแนวทางแก้ไขปัญหาแบบใดจึงจะดีหรือเหมาะสมสำหรับชาวบ้านผู้ควรจะถูกตีกรอบให้ใช้พื้นที่อยู่ในขอบเขตอันจำกัด
 
หากแนวเขตนั้นกำหนดตามความต้องการของชาวบ้านและมีการรับรองสิทธิตามที่มุ่งหวัง แนวเขตก็คงจะช่วยสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยและการทำกินให้ชาวบ้านได้ตามการกล่าวอ้างของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่หากการกำหนดแนวเขตไม่นำไปสู่การรับรองสิทธิ แนวเขตก็คงมีหน้าที่เป็นเพียงจำกัดการใช้ที่ดินของชาวบ้านไม่ให้ขยายออกไปในพื้นที่ที่ทางการต้องการสงวนไว้ให้เป็น “ป่า” ซึ่งในที่นี้กระบวนการกำหนดแนวเขตก็จะกลายเป็นเพียงเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการตีเส้นเพื่อจำกัดการเข้าถึงที่ดินของชาวบ้าน  ผลที่เกิดจะเป็นแบบแรกหรือแบบหลังเป็นเรื่องที่ต้องให้เวลาและติดตามกันต่อไปเพราะเป็นกระบวนการที่ต้องผลักดันกันอย่างหนักและต่อเนื่อง
 
การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของหลาย ๆ ฝ่ายในการกำหนดแนวเขตดูราวกับจะเป็นทางแก้ไขปัญหาที่ต่างเห็นพ้องกันว่าเหมาะสม แต่ผู้ที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมนั้นก็อาจมีอำนาจในการกำหนดหรือออกเสียงได้ไม่เท่ากัน ชาวบ้านที่ไม่ใช่ระดับแกนนำนั้นคิดเห็นและได้รับผลกระทบอย่างไรจากการกำหนดแนวเขต เป็นประเด็นที่ควรจะมีการศึกษาต่อไป
 
เป็นที่น่าสังเกตว่าท่ามกลางการพยายามกำหนดแนวเขตให้ชัดเจนในแผนที่ด้วยการสนับสนุนของหลายฝ่าย ชาวบ้านเองกลับมียุทธวิธีการแสดงแนวเขตของตนเองบนผืนดินจริงซึ่งไม่ค่อยสอดคล้องกับแนวเขตที่พยายามกำหนดบนแผนเพื่อจำกัดการใช้ที่ดินของพวกเขา และในเรื่องนี้ ปฏิเสธได้ยากว่าความพยายามสร้างความชัดเจนของที่ดินที่คลุมเครือนั่นเองที่มีส่วนกระตุ้นให้เกิดการขยายการปลูกข้าวโพดในพื้นที่สูงให้มากขึ้น
 
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท