Skip to main content
sharethis
ทบทวน แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงที่จะมีอายุครบ 3 ปีในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า เตรียมรับประชุมเพื่อจัดทำแผนงานระดับชาติ ของชาวกะเหรี่ยงจาก 15 จังหวัดทั่วประเทศ 16-18 ส.ค.นี้
<--break->
 
วันที่ 11 ก.ค.56 ชาวกะเหรี่ยงจำนวนกว่า 100 คนจากทั่วจังหวัดกาญจนบุรี เข้าร่วมการสัมมนาเพื่อขับเคลื่อนแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ถือเป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ของชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดกาญจนบุรี โดยมีวัตถุประสงค์ในการรับฟังความคิดเห็นและติดตามผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ส.ค.53 เรื่องแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง
 
นายสุริยันต์ กาญจนศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาฯ กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ตลอดจนสถานการณ์ปัญหาสิทธิสถานะบุคคลของชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดกาญจนบุรี อันเป็นภารกิจที่ทางจังหวัดกำลังเร่งแก้ไขต่อไป
 
ด้านนายสุรพงษ์ กองจันทึก รองประธานอนุกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ชี้แจงถึงแนวนโยบายและหลักปฏิบัติของรัฐในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชาวกะเหรี่ยงทั้งส่วนของการนำเสนอประเด็นปัญหาของตัวเอง เพื่อนำไปสู่การแก้ไข ตลอดจนการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย
 
นายสุรพงษ์ ให้ข้อมูลว่า แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงนี้ได้ประกาศใช้มานานพอสมควรแล้ว และจะมีอายุครบ 3 ปีในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ชาวกะเหรี่ยงจะต้องช่วยกันติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าได้ดำเนินการสำเร็จลุล่วงไปเพียงใด ปัญหาของชาวกะเหรี่ยงถูกแก้ไขไปอย่างไรบ้าง โดยจะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระดับจังหวัดโดยผ่านกลไกคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง จังหวัดกาญจนบุรี
 
นอกจากนี้ในวันที่ 16-18 ส.ค.56 จะมีการประชุมเพื่อจัดทำแผนงานระดับชาติเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงโดยจะเปิดพื้นที่ให้พี่น้องกะเหรี่ยงจาก 15 จังหวัดทั่วประเทศไทยได้มาพบปะ และระดมความคิดเห็นต่อการขับเคลื่อนประเด็นของชาวกะเหรี่ยง อาทิ เช่น ปัญหาเรื่องการจัดการทรัพยากร ปัญหาเรื่องการศึกษา เพื่อผลักดันให้เป็นวาระของชาติ
 
นายสุรพงษ์เน้นย้ำด้วยว่าชาวกะเหรี่ยงเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ชาวกะเหรี่ยงก็คือคนไทย วัฒนธรรมกะเหรี่ยงก็คือวัฒนธรรมไทย ดังนั้นสังคมไทยจำเป็นจะต้องเปิดกว้างให้ชาวกะเหรี่ยงได้มีพื้นที่สืบทอดอัตลักษณ์ของตน และชาวกะเหรี่ยงจะต้องร่วมแรงร่วมใจแสดงพลังของพวกเราให้ปรากฏ ซึ่งพลังของชาวกะเหรี่ยงนี้เองที่จะแก้ไขปัญหาของชาวกะเหรี่ยงได้
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net