พบสารรมควันข้าวตกค้างในข้าวถุงเกินมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ 1 ยี่ห้อ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายสุ่มตรวจข้าวถุง 46 ยี่ห้อ พบข้าวถุง 12 ยี่ห้อไม่พบสารเคมีตกค้าง อีก 34 ยี่ห้อพบสารรมควันข้าวตกค้าง โดยมี 33 ยี่ห้อพบสารรมควันข้าวตกค้างในระดับที่ไม่เกินมาตรฐาน และมีข้าวถุง 1 ยี่ห้อที่มีสารรมควันข้าวเกินมาตรฐาน CODEX พร้อมเรียกร้องให้มีระบบที่ประชาสังคมมีส่วนร่วมติดตาม-รายงานความปลอดภัยด้านอาหารอย่างเป็นรูปธรรม

ที่มาของกราฟ: มูลนิธิชีววิถี

 

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค - มูลนิธิชีววิถี ร่วมแถลง ข้าวถุงร้อยละ 26.1 ไม่พบสารเคมีตกค้าง ส่วนอีกร้อยละ  73.9 ตรวจพบสารรมควันข้าวเมธิลโบรไมด์หลายระดับทั้งระดับน้อยจนสูงเกินมาตรฐานระหว่างประเทศ (0.9 – 67 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) เรียกร้องรัฐบาลตรวจสอบโรงสีและผู้ผลิตที่มีปัญหา - เร่งผลักดันให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อดำเนินการและสนับสนุนเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นจริง โดยสามารถระบุชื่อสินค้าหรือบริการหรือชื่อของผู้ประกอบการได้  เช่น ชื่อข้าวถุงที่ตรวจสอบ รวมทั้งมีระบบที่ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการติดตามและรายงานความปลอดภัยด้านอาหารอย่างเป็นรูปธรรม

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ได้เผยแพร่ใบแถลงข่าวระบุว่า วันนี้ (16 ธ.ค.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิชีววิถี และศููนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ได้รายงานผลการตรวจข้าวสารถุงจำนวน 46 ตัวอย่าง พบข้าวสารถุงร้อยละ 26.1 หรือจำนวน 12 ยี่ห้อไม่พบสารตกค้างทุกกลุ่ม แต่มีมากถึง 34 ยี่ห้อหรือร้อยละ 73.9 ที่พบสารรมควันข้าวเมทธิลโปรไมด์ ตั้งแต่ 0.9-67 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

โดยนางสาวสารี  อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า การเปิดเผยข้อมูลผลการทดลองในวันนี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณะและเพื่อการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในการได้รับข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอในการบริโภค สิทธิในการเลือกซื้อสินค้า และสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค เฉพาะการตรวจสารเคมีในข้าวสารบรรจุถุง จากยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตและคาร์บาเมต, ยากันรา (fungicide)  และสารรมควันข้าวเมธิลโบรไมด์เท่านั้น เนื่องจากสารพิษจากเชื้อรา และคุณภาพข้าวถุงนั้น ยังไม่แล้วเสร็จ โดยผลทดสอบข้าวสารบรรจุถุงจำนวนทั้งสิ้น 46 ตัวอย่าง พบว่าทั้ง 46 ตัวอย่างไม่พบการตกค้างของยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตและคาร์บาเมต รวมทั้งไม่พบการตกค้างของยากันรา (fungicide)

"มีข้าวถุงจำนวน 12 ตัวอย่างหรือคิดเป็นร้อยละ 26.1 ที่ไม่พบการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรชนิดใดๆ  ได้แก่ 1.ลายกนก ข้าวหอมมะลิแท้ 100%, 2.ข้าวพันดี ข้าวขาว 100% ชั้นดีพิเศษ, 3.ธรรมคัลเจอร์ ข้าวหอมคุณภาพคัดพิเศษ, 4.รุ้งทิพย์ ข้าวขาวเสาไห้, 5.บัวทิพย์ ข้าวหอม, 6.ตราฉัตร ข้าวขาว 15%, 7.ข้าวมหานคร ข้าวขาวคัดพิเศษ, 8.สุพรรณหงส์ ข้าวหอมสุรินทร์, 9.เอโร่ ข้าวขาว 100%, 10.ข้าวแสนดี ข้าวหอมทิพย์, 11.โฮมเฟรชมาร์ท จัสมิน ข้าวหอมมะลิ 100% และ 12.ชามทอง ข้าวขาวหอมมะลิ 100%

ขณะที่ผลการทดสอบสารรมควันข้าว – เมธิลโบรไมด์ พบการปนเปื้อนถึง 34 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 73.9  ของจำนวนตัวอย่างที่นำมาทดสอบปริมาณของสารเมธิลโบรไมด์ที่พบการตกค้างในตัวอย่างที่นำมาทดสอบอยู่ที่ระดับ 0.9–67 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยตัวอย่างข้าวสารบรรจุถุงที่พบการปนเปื้อนสูงที่สุด คือตัวอย่าง ยี่ห้อ โค – โค่ ข้าวขาวพิมพา พบการปนเปื้อนสูงถึง 67.4 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ(codex) ที่กำหนดไว้ให้มีการตกค้างได้ไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

นอกจากนี้ยังมีพบอีก 5 ตัวอย่าง ที่ตกค้างไม่เกินมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ แต่พบการตกค้างสูงกว่า 25 มิลลิกรัม/กิโลกรัมแต่ไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ประกอบด้วย ข้าวแสนดี ข้าวหอม พบการปนเปื้อน 41 มิลลิกรัม/กิโลกรัม, ข้าวตราดอกบัว ข้าวเสาไห้ พบการปนเปื้อน 29.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม, ข้าวตราดอกบัว ข้าวตาแห้ง พบการปนเปื้อน 28.9 มิลลิกรัม/กิโลกรัม, สุรินทิพย์ ข้าวหอมมะลิ พบการปนเปื้อน 27.6 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และข้าวถูกใจ ข้าวขาว พบการปนเปื้อน 27.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม"

ทางด้านนายวิฑูรย์  เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า แม้ว่าการตกค้างส่วนใหญ่ที่พบจะไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานของ codex หากก็พบว่าในหลายประเทศมีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานที่สูงกว่า codex เช่น อินเดียกำหนดไว้ไม่ให้เกิน 25 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หรือ ประเทศจีน ที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศคู่ค้าข้าวรายสำคัญของประเทศไทย กำหนดปริมาณการตกค้างของเมธิลโบรไมด์ในข้าวไว้ที่ไม่เกิน 5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แต่เมื่อดูจากผลทดสอบครั้งนี้กลับพบตัวอย่างข้าวสารบรรจุถุงที่มีการตกค้างของเมธิลโบรไมด์เกิน 5 มิลลิกรัม/กิโลกรัมมีจำนวนถึง 13 ตัวอย่างที่ไม่สามารถส่งออกไปประเทศจีนได้

"ประเทศไทยไม่เคยมีประกาศเรื่องเกณฑ์ เมธิลโบรไมด์ ซึ่งเป็นสารที่นิยมใช้รมข้าวก่อนบรรจุถุงเพื่อป้องกันมอดและแมลง ทั้งๆ ที่เราเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวส่งออกลำดับต้นๆของโลก ทำให้การตรวจสอบต้องยึดมาตรฐานระหว่างประเทศ ส่งผลเสียต่อตลาดส่งออกข้าวและมาตรฐานข้าวในประเทศ และน่าสังเกตว่า หากพบว่ามีการตกค้างของสารรมข้าวเกินค่ามาตรฐาน codex จะสามารถดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ประกอบการได้หรือไม่ ทั้งนี้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งตรวจสอบโรงสีและผู้ประกอบการที่มีปัญหาการปนเปื้อน แม้ไม่สูงเกิน CODEX แต่ก็สูงเกินที่จะส่งออกไปจีนเพื่อรักษาชื่อเสียงของข้าวไทยและสุขภาพของประชาชนไทย"

"ดังนั้น หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลควรให้ความสำคัญกับเรื่องของคุณภาพข้าวสารในประเทศให้มากขึ้น มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานการปนเปื้อนสารเคมี เพื่อยกระดับการผลิตให้มีคุณภาพมากขึ้น"

เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งผลักดันองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งเรียกร้องหน่วยงานรัฐทั้ง อย. และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้เปิดเผยรายละเอียดชื่อยี่ห้อของข้าวที่พบการปนเปื้อนหรือตัวอย่างยี่ห้อที่ตรวจแล้วปลอดภัยไม่พบการปนเปื้อน ซึ่งจะส่งผลต่อการกำหนดทิศทางการผลิตสินค้าและการบริโภคของประเทศในอนาคต และการตรวจสอบของหน่วยงานรัฐครั้งต่อๆไป ควรมีองค์กรผู้บริโภคร่วมด้วย

"หากมีแจ้งข้อมูลดังกล่าวผู้บริโภคก็จะสามารถนำข้อมูลนั้นไปใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อข้าวสารบรรจุถุงมารับประทานเพราะฉะนั้นหากมีการสุ่มตรวจทดสอบเรื่องของความปลอดภัยในอาหาร หน่วยงานของรัฐอย่าง อย. หรือ กรมวิทยฯ ควรมีการเปิดเผยชื่อตัวอย่างที่นำมาทดสอบเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค พร้อมเสนอให้มีการตรวจสอบดูแลเรื่องของอาหารปลอดภัยอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงแค่ช่วงเวลาที่เกิดปัญหาเป็นกระแสสังคมเท่านั้น ทั้งนี้ภาคประชาสังคมพร้อมจะให้ความร่วมมือในการตรวจสอบและเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัยในอาหาร และพร้อมดำเนินการสุ่มตรวจเรื่องความปลอดภัยทั้งในข้าวสารและอาหารอื่นๆ เป็นระยะ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภค และพร้อมร่วมมือกับผู้ประกอบการในการพัฒนาคุณภาพข้าวถุง"

สำหรับการตรวจสอบข้าวสารบรรจุถุงครั้งนี้ นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร หัวหน้าศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่ามาจากกระแสข่าวเรื่องความไม่ปลอดภัยของข้าวสาร ทางสื่อมวลชน สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ที่ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในคุณภาพของข้าวสารถุงว่าจะมีความปลอดภัยกับผู้บริโภคหรือไม่ นั้น รวมทั้งได้มีการเรียกร้องจากผู้บริโภคมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ทดสอบหาข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว

ทำให้ทางศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อจึงได้ร่วมกับโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคความปลอดภัยด้านอาหารภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) มูลนิธิชีววิถี เก็บตัวอย่างข้าวสารถุงที่มีการจำหน่าย ระหว่างวันที่ 19 – 27 มิถุนายน 2556 ทุกยี่ห้อจากซูเปอร์มาเก็ต และห้างโมเดิร์นเทรด ทั้งค้าปลีกและค้าส่ง 6 แห่ง ได้แก่ ห้างเทสโก้ โลตัส, ห้างบิ๊กซี, ห้างแมคโคร, ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต, ฟู้ดแลนด์ ซูเปอร์มาร์เก็ต, และโฮมเฟรชมาร์ท, กับร้านสะดวกซื้อ 1 แห่ง คือ เซเว่นอีเลฟเว่น รวม 7 แห่ง ได้ข้าวถุงจำนวน 46 ตัวอย่าง แบ่งเป็น ข้าวหอมมะลิ 100% จำนวน 15 ตัวอย่าง และข้าวขาวกับข้าวหอมอื่นๆ อีก 31 ตัวอย่าง

โดยส่งตรวจคุณภาพข้าวสารถุงที่จำหน่ายในท้องตลาดใน 5 ด้านที่สำคัญ คือ 1) การตรวจคุณภาพข้าวสารถุง ตามมาตรฐานข้าวสาร กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ 2) สารเคมีทางการเกษตร ยาฆ่าแมลง 2 กลุ่ม ได้แก่ ออร์กาโนฟอสเฟตและคาร์บาเมต 3) ยากันรา (fungicide) 4) สารรมควันข้าวเมธิลโบรไมด์ 5) สารพิษจากเชื้อรา – อะฟลาท็อกซิน ซึ่งการตรวจสอบทั้งหมดดำเนินการโดยศูนย์ทดสอบที่ได้รับมาตรฐานถูกต้อง ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถดูรายละเอียดและติดตามข่าวการทดสอบสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคได้ที่ www.ฉลาดซื้อ.com อีกทางหนึ่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท