Skip to main content
sharethis

รายงานความเคลื่อนไหวกลุ่มประชาชนรักธรรมชาติสายน้ำบุ่งไหม จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อทวงคืน “ที่ดินสาธารณะ” จากหมู่บ้านราชธานีอโศก สรุปพิพาทกว่า 10 ปีของที่ดินเลี้ยงสัตว์  775 ไร่ และคดีแพ่ง-คดีอาญาที่ค้ำคอชาวบ้าน ตัดสิน 13 กันยานี้

======

พื้นที่ 775 ไร่ในตำบลบุ่งไหมกำลังเป็นชนวนความขัดแย้งสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อใกล้วันที่ 13 กันยายนซึ่งศาลแพ่งนัดฟังคำพิพากษา  กรณีราชธานีอโศกฟ้องชาวบ้าน 14 รายเพื่อเรียกค่าเสียหาย ขณะที่คดีอาญาข้อหาบุกรุกและทำร้ายร่างกายยังอยู่ระหว่างการพิจารณา 

นายเมธชัย  คำแผ่น ประธานกลุ่มประชาชนรักธรรมชาติสายน้ำบุ่งไหม บอกเล่าถึงเรื่องราวความขัดแย้งระหว่างราชธานีอโศกที่ถือครองกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ กับชาวบ้านบุ่งไหมที่ต่อสู้เพื่อยืนยันความเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับเลี้ยงสัตว์ว่า ที่ดินผืนใหญ่ 1,140 ไร่ บริเวณ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี . เป็นที่ทราบกันดีของชาวบ้านว่าเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน  โดยแบ่งเป็นทำเลสำหรับเลี้ยงสัตว์ จำนวน 775 ไร่ และพื้นที่ทำกินหมู่บ้านกุดระงุม หมู่ 3 จำนวน 365 ไร่

ต่อมาในปี 2533 มีการปรับหน้าดิน ขุดร่องน้ำ เพื่อนำดินไปถมในพื้นที่ประมาณ 300 ไร่  โดยเป็นการดำเนินการของนางทัศนา เศวตราภร   ซึ่งเป็นคนที่มีพื้นเพอยู่ในพื้นที่แต่ไปอยู่ที่กรุงเทพฯ ในเบื้องต้นชาวบ้านต่างก็เห็นด้วยที่เพราะอยากได้ทางสัญจรที่สะดวกแก่การขึ้นลงในพื้นที่  ป่าบุ่งป่าทาม ที่สำคัญคือเป็นทางสัญจรของ โค และ กระบือ ที่มีจำนวนมาก

หลังจากนั้นปรากฏว่ามีการนำดินที่ขุดได้ไปตากยังบริเวณพื้นที่ ป่าทาม มีการถมยังบริเวณพื้นที่ต่างๆที่เป็นร่องน้ำและหนองน้ำ  รวมทั้งต้นไม้น้อยใหญ่จนไม่เหลือสภาพเดิม ทำให้ชาวบ้านเริ่มไม่เห็นด้วยกับ “การพัฒนา” ดังกล่าว เพราะเป็นทำลายพื้นที่ทำมาหากินดังเดิม  เช่น ที่นา  ป่าหญ้าที่เลี้ยงสัตว์  และบ่อน้ำน้อยใหญ่ที่เคยหาปลา  แต่สุดท้ายผู้นำหมู่บ้านก็มิได้ห้ามปรามการถมที่นั้น ที่ทำมาหากินและเลี้ยงสัตว์ของชาวบ้านจึงกลายเป็นกองดินนับพันกองทั่วบริเวณป่าทาม และขุดหนองน้ำขึ้นใหม่ โดยเน้นเฉพาะที่มี ใบสำคัญที่หลวง 

ปี พ.ศ. 2537 ที่ดิน 775ไร่ ได้ถูกนำไปออกเป็นโฉนด และ นส .3 โดยชาวบ้านตำบลบุ่งไหมไม่รู้เรื่องนี้เลย โดยนาง ทัศนา และนาย จรูญ ถาวร อดีตผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้น นางทัศนา ได้บอกกล่าวเพียงว่ากำลังมีการพัฒนา โครงการพัฒนา ทำประโยชน์ฝึกอาชีพให้แก่ชาวบ้าน เป็นอีกครั้งที่ชาวบ้านเชื่อและมีความหวังกับโครงการวาดฝันดังกล่าว

ต่อมา ปี พ.ศ. 2544 ชาวบ้านจึงได้ทราบว่ามีการตัดแบ่งโฉนดออกเป็น 214 แปลงโดยนางทัศนา ได้นำโฉนดไปจำนองกับธนาคารไทยทนุ ในราคา 28 ล้าน และจากนั้นปล่อยให้ที่ดินได้ขาดจำนอง  ชาวบ้านคาดกันว่าเหตุที่มีการแบ่งโฉนดเป็นจำนวนมากถึง 214 แปลงนั้นเพื่อจะนำไปทำโครงการบ้านจัดสรร หนึ่งในรายชื่อเจ้าของที่ดินแปลงย่อยได้แก่ พลเอกวิมล วงศ์วานิช อดีต ผบทบ.

คำถามใหญ่ดังก้องไปทั่วตำบล ที่ดินสาธารณะดังกล่าว ถูกนำไปออกเอกสารสิทธิให้เอกชนได้อย่างไร

เรื่องราวของคดีส่อเค้าเกิดขึ้นในอีกราว 5 ปีหลังจากนั้น หรือในปี พ.ศ. 2549 เมื่อกองทัพธรรมมูลนิธิได้ไปประมูลซื้อที่ดินดังกล่าวที่ถูกขายทอดตลาดโดยกรมบังคับคดี ในราคาเพียงแค่ 6.2 ล้านบาท จากนั้นได้ขับไล่ชาวบ้านที่กำลังทำการเกษตรในพื้นที่ดังกล่าวให้ออกจากพื้นที่

กระนั้น ก็ยังมีข้อตกลงพิเศษว่า ชาวบ้านสามารถทำสัญญาเช่าได้ไร่ละ 1 บาทต่อปี แต่ต้องห้ามใช้สารเคมี รวมทั้งห้ามนำอบายมุขต่างๆ เข้ามาในพื้นที่พิพาทดังกล่าว หากใครไม่ทำตามข้อตกลงต้องออกจากพื้นที่ มิเช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย

ชาวบ้านบางส่วนหวาดกลัวคำขู่ดังกล่าว และยอมทำตามข้อตกลง

ปี พ.ศ. 2553 ชาวบ้านตำบลบุ่งไหม หมู่ 3 และหมู่ 6 เริ่มรวมตัวกันเพื่อทวงคืนพื้นที่พิพาทในนาม “กลุ่มประชาชนรักธรรมชาติสายน้ำบุ่งไหม”  โดยเริ่มเคลื่อนไหวจากการทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดอุบลราชธานีและขอความเป็นธรรมจากสื่อมวลชนในกรุงเทพมหานคร แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จแม้แต่น้อย ชาวบ้านจึงต้องลงมือปกป้องพื้นที่ด้วยตนเองด้วยการรวมตัวกันในวันที่กองทัพธรรมนำเจ้าพนักงานที่ดินเข้ามารังวัดที่ดินเพื่อคัดค้านการรังวัดที่ดิน

การเผชิญหน้ากันบนพื้นที่พิพาทในวันดังกล่าวเป็นชนวนสำคัญให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลาย ชาวบ้านที่อยู่ในทิ่เกิดเหตุ  เล่าถึงเหตุการณ์ว่า ราชธานีอโศกได้นำรถไถมาจำนวน 2 คันมาไถที่ที่ชาวบ้านเตรียมทำนา เมื่อชาวบ้านเห็นจึงเรียกระดมกันเลยมาเพื่อขัดขวาง โดยฉุดดึงคนขับตกลงจากรถไถ แม้ไม่ได้รับบาดเจ็บอะไรแต่กรณีนี้นำไปสู่คดีอาญาในที่สุด

ชาวบ้าน 14 ราย ถูกกองทัพธรรมมูลนิธิ โดย นายวัลลภ เทพไพฑูรย์ และนายธำรงค์ แสงสุริยจันทร์ยื่นฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายในคดีแพ่ง และมีชาวบ้านอีก 10 รายถูกฟ้องคดีอาญาในข้อหาบุกรุกและร่วมกันทำร้ายร่างกาย

ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 13 กันยายน 2556 ส่วนคดีอาญาอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีทางกฎหมาย

นายแสง  คำแผ่น เปิดเผยว่า ตนได้ออกมาทำกิจกรรมรณรงค์เพื่อปกป้องพื้นที่ดังกล่าวร่วมกับทางกลุ่ม จนเป็นเหตุทำให้ถูกดำเนินในคดีแพ่ง มีการฟ้องขับไล่ เรียกร้องค่าเสียหาย รวมถึงคดีอาญาในข้อหาร่วมกันบุกรุกและร่วมกันทำร้ายร่างกาย ปัจจุบันคดีอาญายังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรอำเภอวารินชำราบ

เขาระบุด้วยว่า ข้อมูลที่ใช้ในการต่อสู้คดีจะเป็นงานวิจัย และเอกสารใบสำคัญที่หลวงเพื่อยืนยันว่ามีบางส่วนเป็นพื้นที่สาธารณะ ที่สำคัญ หลังจากชาวบ้านได้เข้าไปขอคืนพื้นบางส่วนได้ทั้งหมด 7 ไร่ และได้ใช้ทำ “นารวม” ร่วมกันในตำบลบุ่งไหม  มีการศึกษาเรียนรู้จนทราบว่าที่ดินดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามจากงานวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์ สมหมาย  ชินนาค อาจารย์จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและคณะนักวิจัยไทบ้าน ในปี พ.ศ. 2548 

ปัจจุบัน “กลุ่มประชาชนรักธรรมชาติสายน้ำบุ่งไหม” ยังคงทำนารวม เพื่อผลิตข้าวเป็นกองทุนของกลุ่มไว้ใช้ในการต่อสู้ทั้งด้านกฎหมายและกิจกรรมย่อยต่างๆ  นอกจากนี้ยังปรึกษาหารือแนวทางในการ พัฒนาพื้นที่ ซึ่งได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าจะทำให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำ และจะจัดการศึกษาเป็นหลักสูตรการศึกษาของกลุ่ม โดยร่วมงาน งานวิจัยพื้นที่ชุ่มน้ำ  กับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net