นิธิ เอียวศรีวงศ์: ฮิตเลอร์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ประกาศไว้ก่อนเลยครับว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับจุฬาฯ เพราะจุฬาฯ ได้รับสารภาพไปแล้วว่าตัวรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และไร้เดียงสา หากจะเกี่ยวข้องบ้างก็คงเป็นองค์กรต่างๆ ที่ชอบประเมินอันดับมหาวิทยาลัย เพราะจุฬาฯ ถูกประเมินเป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ แห่งหนึ่งของไทย

มันจึงเจ็บปวดมากหน่อย

ผมเพียงแต่ไม่อยากเห็นสังคมไทยเดือดเนื้อร้อนใจกับการประท้วงของสมาคมยิวในสหรัฐเกี่ยวกับฮิตเลอร์มากเกินไป เพราะผมคิดว่าฮิตเลอร์กลายเป็นบุคคลที่ถูกบังคับลืมอย่างไร้เหตุผล และในระยะยาวอาจเป็นอันตรายต่อสังคมที่ลืมเขาเสียด้วย

ผู้สำเร็จการศึกษาระดับสูงจากเยอรมนีบอกผมว่า ในเยอรมนีเองก็มีกฎหมายอาญาห้ามแสดงสัญลักษณ์นาซีหรือยกย่องสรรเสริญฮิตเลอร์ (ห้ามอะไรบ้างผมอาจจำผิด เอาเป็นว่าห้ามในสิ่งที่ผมไม่เห็นว่าน่าจะห้าม) เป็นกฎหมายอาญาก็หมายความว่าใครฝ่าฝืนทำก็จะมีโทษ

แล้วก็มีสมาคมยิวในสหรัฐ ที่คอยประท้วงคนทั้งโลก ถ้าใครเอ่ยเรื่องฮิตเลอร์ หรือแสดงเครื่องหมายสวัสดิกะ

ในกรณีเยอรมนีนั้นผมพอจะเข้าใจได้ หลังสงคราม เยอรมนีต้องแสดงให้คนอื่น โดยเฉพาะเพื่อนบ้านที่ตัวเคยไปรุกรานไว้มั่นใจว่า เยอรมนีจะไม่หวนคืนกลับไปเป็นอาณาจักรไรซ์ใหม่อีกแล้ว ส่วนกรณีสมาคมยิวในสหรัฐ ก็คงมีเหตุผลอะไรในสังคมยิวอเมริกันที่ทำให้เขาต้องกระตือรือร้นคอยขัดขวางความทรงจำของคนอื่นเกี่ยวกับฮิตเลอร์

ในเมืองไทยนั้น เสรีภาพการแสดงออกถูกขัดขวางมากและบ่อยเสียจน ผมไม่อยากเห็นการเพิ่มประเด็นห้ามโน่นห้ามนี่เข้าไปอีก แค่นี้ก็ถึงคอหอยแล้วนะครับ

ผมไม่ปฏิเสธว่า ฮิตเลอร์เป็นคนไม่ดี อย่างเดียวกับพระเทวทัตก็เป็นคนไม่ดี นายพลปิโนเชต์ก็ไม่ดี โรเบสปิแอร์ก็ไม่ดี นโปเลียนก็ไม่ดี แต่เอ๊ะเดี๋ยวก่อน หากไม่มีกฎหมายและศาสนาบังคับไว้ จะว่าคนเหล่านี้ไม่ดี คงมีคนเถียงอยู่ไม่น้อย ไม่ได้เถียงว่าเขาดีนะครับ แต่เถียงว่าในท่ามกลางสิ่งไม่ดีที่เขาทำไว้นั้น บางเรื่องเป็นรากฐานของรัฐชาติในปัจจุบัน บางเรื่องเป็นประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ โดยผู้ทำเองไม่ได้ตั้งใจ

ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ มีเหตุผลบางอย่างในประวัติศาสตร์ที่ทำให้สิ่งไม่ดีที่เขาทำนั้น เป็นผลรวมจากเงื่อนไขอื่นๆ อีกหลายอย่างมากกว่าการตัดสินใจทำของเขาคนเดียว ผมขอยกตัวอย่างนโปเลียนซึ่งเที่ยวรุกรานไปทั่วยุโรป จนทำให้เกิดยุคแห่งสงครามนองเลือดที่น่าเศร้ายุคหนึ่งในประวัติศาสตร์ยุโรป แต่ความเป็นศัตรูระหว่างมหาอำนาจอื่นในยุโรปต่อการปฏิวัติฝรั่งเศส นโปเลียนไม่ได้ก่อขึ้น จะมีหรือไม่มีนโปเลียน ประเทศราชาธิปไตยต่างๆ (ไม่รวมอังกฤษ แต่รวมอังกฤษ) ก็พยายามทำสงครามโค่นล้มฝรั่งเศสที่ปฏิวัติลงให้ได้

ยิ่งกว่านี้ ผู้นำฝรั่งเศสหลังปฏิวัติ ไม่ว่าจะเป็นโปเลียนหรือใครก็ตาม ย่อมรู้สึกเหมือนกันว่าฝรั่งเศสได้ค้นพบระบอบปกครองที่ยุติความอยุติธรรมลงได้อย่างสิ้นเชิง ซึ่งประเทศอื่นน่าจะนำไปใช้ นี่คิดแบบบริสุทธิ์ใจนะครับ คนที่คิดว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นเครื่องมืออย่างดีในการขยายอำนาจของฝรั่งเศส หรือแม้แต่ขยายอำนาจของตนเอง ก็มีอีกแยะ และน่าจะแยะกว่าพวกที่คิดเชิงอุดมการณ์บริสุทธิ์ด้วยซ้ำ

นโปเลียนก็อาจเป็นหนึ่งในคนที่คิดอย่างนั้น แต่แม้ไม่มีนโปเลียน โบนาปาร์ต ก็คงมีใครอีกสักคนที่พบว่า ประชาธิปไตยของรัฐชาติทำให้สามารถเกณฑ์ทัพได้จากมวลชน สร้างกองทัพประจำการแบบใหม่ที่มีฐานจากมวลชนขึ้นมา ถึงรบไม่เก่งเท่านโปเลียนก็คงปราบกองทัพโบราณของปรัสเซียและออสเตรียลงได้ไม่ยาก และก็อาจเผลอใจว่าจะปราบรัสเซียได้เหมือนนโปเลียนด้วย

ผมเล่าเรื่องนี้เพื่อชวนตั้งคำถามว่า ความดี-ความชั่วของบุคคลในประวัติศาสตร์นั้น เป็นผลผลิตของบุคคลผู้นั้น หรือของประวัติศาสตร์กันแน่

ตอบแบบไทยๆ คือไม่เอากับข้างไหนฝ่ายเดียว แต่ขอเลือกเส้นกลางๆ ไว้ก่อนก็คือ เป็นทั้งสองอย่าง ประวัติศาสตร์ก็มีส่วนผลิตความชั่วนั้นขึ้นมา เท่าๆ กับคนเลวก็ผลิตขึ้นมาด้วย เพียงเท่านี้ฮิตเลอร์ก็รับผิดชอบต่อการกระทำของเขาเพียงครึ่งเดียวแล้ว (ครึ่งนี่แบ่งกันแบบง่ายๆ นะครับ อาจเกินครึ่งหรือน้อยกว่าครึ่งก็ว่ากันไปเป็นเรื่องๆ)

ด้วยเหตุดังนั้นผมจึงอยากชวนตั้งคำถามต่อไปว่า หากฮิตเลอร์เกิดใหม่ จะสามารถทำให้เยอรมนีในปัจจุบันสถาปนาอาณาจักรไรซ์ขึ้นมาใหม่ได้หรือไม่ ผมคิดว่าไม่ได้ เพราะขาดเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ-สังคม-การเมืองบางอย่าง ที่ทำให้คนเยอรมันพร้อมจะกลายเป็นมวลชนเซื่องๆ ของฮิตเลอร์ หรือยิ่งไปกว่านั้น หากฮิตเลอร์เกิดเป็นคนอังกฤษ, ฝรั่งเศส, อเมริกัน, ไทย, จีน ฯลฯ จะสามารถเปลี่ยนรัฐเหล่านั้นไปสู่เผด็จการเบ็ดเสร็จได้สมบูรณ์อย่างที่ทำในเยอรมนีช่วงนั้นได้หรือไม่ ผมคิดว่าก็ไม่ได้อีก ด้วยเหตุผลเดียวกัน

ฮิตเลอร์เป็นคนชั่วแน่ แต่ไม่มีประโยชน์ที่จะเข้าใจอดีตเพียงการตัดสินคนในประวัติศาสตร์ว่าดีหรือชั่ว เพราะไม่ทำให้เราเข้าใจได้ถ่องแท้เลยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วนั้น เกิดขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไขทางสังคม, วัฒนธรรม, เศรษฐกิจ และการเมืองอย่างไร ได้แต่นั่งท่องจำรายชื่อคนดีคนชั่วไว้ฉลองกัน กลายเป็นพิธีกรรมของชาดกแห่งชาติ

ถ้ามองฮิตเลอร์ในฐานะปรากฏการณ์ เขาพัฒนาระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จได้สมบูรณ์แบบ ยิ่งกว่ามุสโสลินีในอิตาลี และยิ่งกว่าสตาลินในโซเวียตเสียอีก เผด็จการเบ็ดเสร็จเป็นปรากฏการณ์ซึ่งเกิดขึ้นหลังประมาณทศวรรษ 1930 เป็นระบอบและเป็นสังคมที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อน เพราะเผด็จการเบ็ดเสร็จไม่ได้เพียงแต่ยึดอำนาจรัฐไว้เฉยๆ หากเป็นระบอบที่พยายามจะเปลี่ยนทั้งธรรมชาติของรัฐและคนในรัฐ ด้วยการทำให้มวลชนยินยอมพร้อมใจอย่างเต็มที่ (ด้วยการปลุกระดมอย่างเข้มข้นบวกกับการทำให้กลัว... ที่น่าสนใจคือไม่ใช่กลัวอำนาจรัฐนะครับ แต่กลัวเพื่อนไม่คบ กลัวเพื่อนบ้านรายงาน กลัวถูกออกจากงาน ฯลฯ กลัวตัวเองแหละครับ)

เผด็จการเบ็ดเสร็จตายจากเราไปเรียบร้อยแล้ว หรือยังอยู่ใกล้ๆ ตัวเรานี่เอง ถ้าดูจากความพยายามหรือความผันผวนในหลายประเทศทั่วโลก ก็จำเป็นต้องกล่าวว่า มันยังไม่ได้ไปไหนไกล หลายเงื่อนไขที่เกิดขึ้นแม้ในเมืองไทยเราเอง ก็อาจนำไปสู่เผด็จการเบ็ดเสร็จหรือเงาของมันได้ อย่างเช่นเมื่อคุณพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง พูดว่า แผ่นดินนี้เป็นของพ่อ ใครไม่รักพ่อก็ออกไปจากแผ่นดินนี้ ผู้คนปรบมือกันเกรียว สื่อกระแสหลักรายงาน โดยไม่มีใครวิพากษ์วิจารณ์แสดงความเห็นเป็นอื่น ถ้าทุกคนเห็นด้วยกับคุณพงษ์พัฒน์อย่างนั้นจริง ก็ไม่เป็นไรหรอกครับ แต่ผมไม่เชื่อว่าคนพร้อมเพรียงกันเห็นด้วยเช่นนั้น เพียงแต่ว่าส่วนใหญ่ของคนที่ไม่เห็นด้วยกลัวตัวเองเกินกว่าจะเปล่งเสียงอะไรได้ บรรยากาศของการทำให้ผู้คนกลัวตัวเองจะกลายเป็น "อื่น" ในสังคมนี่แหละครับ เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดเผด็จการเบ็ดเสร็จหรือเงาของมันได้ดี

และด้วยเหตุดังนั้น ฮิตเลอร์และนาซีจึงเป็นสิ่งที่ควรใส่ใจ ควรศึกษา เพื่อธำรงรักษาสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์เอาไว้ จะใส่ใจศึกษาได้ก็ต้องไม่ตกอยู่ใต้กระบวนการบังคับลืม การแสดงภาพฮิตเลอร์และนาซีอย่าง "รู้เท่าไม่ถึงการณ์และไร้เดียงสา" ที่นักเรียนไทยตั้งแต่ระดับมัธยมถึงมหาวิทยาลัยกระทำนั้น คือผลของกระบวนการบังคับลืมไม่ใช่หรือ

ยิวและยิปซีคือเหยื่อ ปัญหาคือเหยื่อของใคร? เรามักคิดว่าเป็นเหยื่อของนาซี แต่ที่จริงแล้วก่อนจะตกเป็นเหยื่อของนาซี พวกเขาตกเป็นเหยื่อของสังคมเยอรมันก่อน กล่าวคือในท่ามกลางความอับจนในทุกหนทาง ไม่ว่าเงินเฟ้อจนเงินกลายเป็นเศษกระดาษ, ความไร้อำนาจของรัฐชาติ, ความวุ่นวายปั่นป่วนที่เกิดขึ้นแทบทุกวันในสังคม ฯลฯ คนเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จะเหลือความเชื่อมั่นตนเองได้อย่างไร นอกจากสร้างแพะขึ้นมารับบาป ยิวเป็นแพะที่เหมาะเจาะที่สุด ดังนั้นทฤษฎีเชื้อชาติอภิชนและเชื้อชาติมลทินของนาซีจึงฟังขึ้น และเป็นฐานให้แก่การขจัดยิวให้หมดไปจากสังคม จะขจัดอย่างไร ผู้คนก็พร้อมจะหลับตาเสีย ขอให้ขจัดออกไปเท่านั้น

อย่างที่คนชั้นกลางในกรุงเทพฯ หลับตาให้แก่การสังหารหมู่คนเสื้อแดงกลางเมือง และพร้อมจะรับทฤษฎีคนชุดดำทันที หรือหลับตาให้แก่ความอยุติธรรมที่ชาวมลายูมุสลิมได้รับจากเจ้าหน้าที่บ้านเมือง หรือปลาบปลื้มกับการฆ่าตัดตอนผู้ค้ายาเสพติด

ทั้งโลกเราเวลานี้ มีคนที่ถูกผลักให้เป็นแพะอยู่เต็มไปหมด หากเราอยากขจัดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จริง เราต้องไม่ลืมฮิตเลอร์และนาซี เพราะฮิตเลอร์และนาซีบอกให้เรารู้ว่า ความไร้ระเบียบที่กินเวลานานๆ นั้นเป็นอันตรายในตัวของมันเอง เพราะมันเปลี่ยนให้เรากลายเป็นคนฆ่าแพะ

อนึ่ง "ล้างเผ่าพันธุ์" (ethnic cleansing) ในโลกปัจจุบันอาจผิดฝาผิดตัว ในโลกทุกวันนี้มีการฆ่าล้างผลาญคนต่างศาสนา แม้เป็นเผ่าพันธุ์เดียวกัน ต่างความเห็นทางการเมือง ต่างรัฐ ต่างค่าย ฯลฯ อย่างเปิดเผยเสียยิ่งกว่าค่ายกักกันที่แอบสร้างอยู่ตามราวป่าของนาซีเสียอีก

เพื่อจะโค่นซัดดัม กองเรือที่หกของสหรัฐส่งเครื่องบิน จรวด และปืนใหญ่ถล่มอิรักเหมือนพลุในงานฉลองวันชาติ แต่เป็นพลุที่จุดตลอด 24 ชั่วโมงเป็นเวลาหลายวัน มีเหยื่อพลเรือน "เด็ก ผู้หญิง คนชรา และชายฉกรรจ์ที่เป็นผู้ประกันขนมปังให้ครอบครัว" เป็นแสนที่ถูกล้างผลาญ แน่นอนสหรัฐไม่ได้มีเจตนา "ล้างเผ่าพันธุ์" แต่มันมีอะไรต่างกันหรือ เช่นเดียวกับการตอบโต้การก่อการร้ายด้วยการทำอย่างเดียวกันกับเลบานอนและปาเลสไตน์ โดยไม่อาจหาเป้า "ทางทหาร" ที่แน่นอนชัดเจนได้ จึงต้องปูพรมไว้ก่อน มันมีอะไรต่างกันกับการฆ่า "ล้างเผ่าพันธุ์" โดยสาระหรือ

ผมไม่ปฏิเสธว่า การก่อการร้ายเช่นถล่มตึกทำลายชีวิตคนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่เป็นพัน หรือระเบิดพลีชีพเพียงเพื่อให้ "ฝ่ายเขา" ต้องตายเกลื่อนคือการฆ่าล้างผลาญอย่างหนึ่ง

ยิ่งกว่านี้ ผมไม่มีเจตนาจะบอกว่า เพราะอิสราเอลฆ่าล้างผลาญชาวอาหรับในปาเลสไตน์และเลบานอน เราจึงควรยกย่องฮิตเลอร์ที่เคยฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ตรงกันข้ามเลย เราต้องพยายามทำความเข้าใจการกระทำของฮิตเลอร์ให้ดี เพื่อที่ว่าเราจะพบหนทางยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือการฆ่าล้างผลาญที่ไม่จำเป็นนี้ลงให้ได้ ไม่ว่าจะกระทำโดยชาวเยอรมัน, อเมริกัน, อาหรับ, ยิว หรือทหารไทย

โดยไม่มีเจตนาจะปกป้อง "ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และไร้เดียงสา" แต่ผมอยากพูดว่า กระบวนการบังคับลืมฮิตเลอร์และนาซีต่างหากที่ทำให้เรายิ่งอยู่ไกลจากเป้าหมายยุติการฆ่าล้างผลาญให้หมดไปโดยสิ้นเชิง

 

 

 

ที่มา: มติชนออนไลน์

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท