Skip to main content
sharethis

กสทช.เผยมีผู้ร้องเรียนว่า ซีรีส์ “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” อาจมีเนื้อหาขัดต่อมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงฯ ในด้านความไม่เหมาะสมเชิงคุณธรรม และจริยธรรม 

  


มติชนออนไลน์รายงานว่า พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ด้านกำกับผังและเนื้อหารายการ เปิดเผยว่า เมื่อไม่นานมานี้ ทางเครือข่ายเฝ้าระวังของอนุกรรมการ กสท.ด้านกำกับผังและเนื้อหารายการ ได้แย้งมายังคณะอนุกรรมการให้พิจารณาเนื้อหารายการของละครชุด “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” ที่ออกอากาศทางช่องจีเอ็มเอ็มวัน ของ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เนื่องจากละครเรื่องดังกล่าวอาจมีเนื้อหาขัดต่อมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ในด้านความไม่เหมาะสมเชิงคุณธรรม และจริยธรรม

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น ทางคณะอนุกรรมการได้ถอดเทปของละครผ่านช่องทางที่มีการเผยแพร่อินเทอร์เน็ต พบว่าละครเรื่องดังกล่าวได้มีการนำเสนอเนื้อหาที่ชวนให้ผู้รับชมคิดและจินตนาการในทางที่ไม่ดีได้ เช่น ฉากการมีเพศสัมพันธ์ทั้งที่ยังสวมชุดนักเรียนอยู่ ในสถานที่ห้องวิทยาศาสตร์ หรือห้องน้ำของโรงเรียน และฉากที่มีเด็กที่กำลังอยู่ในวัยเรียนไปยังคลินิกทำแท้งเถื่อน และไปซื้อยาคุมกำเนิดมาใช้เอง

“การนำเสนอของละครเรื่องฮอร์โมน แม้จะไม่ได้มีการถ่ายทำฉากต่างๆ ให้เห็นภาพโดยตรง เช่น ในเรื่องของเพศสัมพันธ์ แต่ก็สามารถชวนให้เราจินตนาการถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ อีกทั้งมีหลายเสียงบอกว่าเรื่องที่นำเสนอต่างเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมของเด็กสมัยนี้ แต่ในฐานะผู้ใหญ่ในสังคมจะต้องมาทบทวนว่าเรายอมรับได้หรือไม่ที่จะให้สังคมไทยเข้าใจว่าเป็นเช่นนั้นจริง และควรยอมรับให้เป็นเช่นนั้นหรือไม่ ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าการพิจารณาเรื่องที่ กสทช. ใช้อำนาจในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องของการที่ กสทช. จะใช้อำนาจของตัวเอง แต่เป็นเรื่องของการบริหารควบคุมความเหมาะสมในสังคม”

พล.ท.พีระพงษ์กล่าวว่า ตามกำหนดเดิมได้มีการเชิญผู้ประกอบการที่ผลิตละครเรื่อง ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ของทางแกรมมี่ มาพบในวันที่ 24 กรกฎาคม แต่ทางแกรมมี่แจ้งขอเลื่อนเวลาเข้าพบเป็นวันที่ 5 สิงหาคม โดยให้เหตุผลว่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตรงกับวันหยุดยาวหลายวัน ซึ่งสำหรับประเด็นที่เชิญเข้าพบก็เพื่อหารือร่วมกันในด้านของกระบวนการการคิด การนำเสนอเนื้อหาของละคร ไปจนถึงกระบวนการคัดเลือกของช่องในการเลือกนำละครเรื่องดังกล่าวมาออกอากาศ พร้อมทั้งขอต้นฉบับของละครที่ได้ใช้ในการเผยแพร่จริงบนช่องจีเอ็มเอ็มวัน เพื่อการถอดเทปเนื่องจากเนื้อหาที่นำเสนออาจไม่ตรงกันกับในอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของคณะอนุกรรมการเท่านั้น ยังไม่ได้เป็นการพิจารณาความผิดแต่อย่างใด ซึ่งท้ายสุดกระบวนการอาจจะจบเพียงให้แค่ตักเตือน ขอความร่วมมือในการปรับแก้เนื้อหาบางส่วน ไม่ต้องถึงขั้นลงโทษความผิดก็เป็นได้

มาตรา 37 ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ระบุไว้ว่า ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง

 
สุภิญญา เตือน กสทช.อย่าย้อนยุค ทำตัวเป็น กบว.
ด้าน สุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งใน กสทช. และ กสท. แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า  "ทุกท่านทราบจุดยืนข้าพเจ้าดีว่าอยู่ข้างเสรีภาพสื่อเสมอเว้นแต่ว่ามันขัดกฎหมายอย่างร้ายแรงหรือไปละเมิดสิทธิมนุษยชน ... ส่วนตัวแม้จะไม่ค่อยชอบละครไทย แต่ไม่เคยเห็นด้วยกับการแบนละครเลย เพราะมันคือจินตนาการและจริตของสังคมนั้น โดยเฉพาะ #Hormonestheseries ยังไม่เคยดูแต่เท่าที่หาข้อมูลเป็นละครสะท้อนสังคม ชีวิตสับสนของวัยรุ่น มันจะผิดกฎหมายมาตรา 37 ตรงไหน?? ถ้ามันไม่ได้ลามกอนาจาร" 
 
"ส่วนเนื้อเรื่องที่วัยรุ่นมี sex และทำแท้ง มันก็สอนให้เด็กๆได้คิด สมัยข้าพเจ้าเป็นวันรุ่นก็ดูละครเรื่อง *กว่าจะรู้เดียงสา *น้ำพุ แรงกว่านี้อีก ตอนเป็นหนัง โรงเรียนยังพาไปดูเลย นั้นมันก็ 20-30 ปีมาแล้ว ตอนนี้เป็นยุคไหนแล้ว .. ที่ข้าพเจ้าผ่านช่วงวัยรุ่นมาได้ด้วยดีก็เพราะได้ดูหนังเรื่อง *กว่าจะรู้เดียงสา นี่ล่ะ ทำให้ผู้หญิงเรารู้ว่าเราควรระวังตัวอย่างไร ..."
 
"คือ กสทช.ต้องอย่ามาทำตัวจุกจิกเป็น กบว.ย้อนยุค วางกรอบที่มันร้ายแรงจริงๆ แล้วกำกับให้ได้ เช่นเรื่องโฆษณายาผีบอก หลอกลวงเกินจริง ผิด อย. อันนี้ควรรีบไปจัดการก่อน .. หนังกับละครมันเป็นจินตนาการ เด็กเยาวชนเขารูั ที่เขาชอบดูเพราะมันสะท้อนชีวิตเขา เขาคุยกับที่บ้านหรือโรงเรียนไม่ได้บ้าง เด็กไทยเก็บกด .... จริงๆ มันเป็นสื่อที่ดีในการสอนเรื่องเพศศึกษากับเยาวชน 
 
"กสทช.วันนี้เพิ่งเปิดตัว *น้องดูดี สัญลักษณ์ทีวีดิจิตอล เรากำลังก้าวไปข้างหน้า อย่าย้อนยุคไปไกลถึงปี 2498 ที่เพิ่งมีทีวีอะนาล็อกในประเทศไทย .. ให้เด็กเขาได้คิดอ่านกันเองบ้าง ...ทีละครหลังข่าวตบจูบ ข่มขืนมีมา 3-4 ทศวรรษ รัฐยังไม่เคยกล้าแบนเลย แม้จะไม่มีรสนิยม แต่รัฐธรรมรองรับสิทธิคนให้เลือกดูสิ่งที่เขาชอบ ถ้ามันไม่ขัดกฎหมายแบบคอขาดบาดตาย"
 
"ละครที่สอนให้เด็กรู้จักคิด รู้จักเลือก ควรสนับสนุน แล้วผู้ใหญ่ใช้มันเป็นเครื่องมือ เราอยู่ยุคดิจิตอลแล้วต้องปรับวิธีคิดแบบอะนาล็อกด้วย ไม่งั้นลุงๆป้าๆอย่างเราก็จะตามไม่ทัน เรื่องเล็กๆชอบทำ แต่เรื่องใหญ่ๆ กลับละเลย" 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net