Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"ศรีบูรพา"หรือกุหลาบ สายประดิษฐ์ ในญี่ปุ่น (คาดว่าน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้เขียนนิยาย "ข้างหลังภาพ"


"ผมเคยคิดว่า เมื่อผมตายแล้ว ผมถึงจะยอมเปิดเผยข้อมูลบางอย่าง และบันทึกบางเล่ม เพราะบางสิ่งบางอย่าง สถานการณ์ยังไม่ยอมให้เปิดเผยออกไป!"

เป็นคำกล่าวของ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ซึ่งได้ตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของทุกข้อมูลจากสมุดบันทึกนับสิบเล่มของเขา ขณะทบทวนย้อนอดีตการไปเยือนจีน เมื่อปี พ.ศ.2501 ในนาม "คณะส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย" พร้อมคณะนักเขียนไทย 12 ชีวิต โดยมีนักเขียนเรืองนาม เจ้าของรางวัล "บุคคลดีเด่นของโลก" จากองค์การยูเนสโก "ศรีบูรพา" หรือกุหลาบประดิษฐ์ เป็นหัวหน้าคณะ และ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ เป็นเลขานุการคณะ

ในที่สุด คณะนักเขียน 10 ชีวิตดังกล่าวได้เลือกตัดสินใจกลับประเทศไทย แต่เหลือเพียง 2 ชีวิตที่ตัดสินใจเลือกลี้ภัยในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนต่อไป คือหัวหน้าคณะส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งประเทศไทยและเลขานุการคณะ

บุคคลดังกล่าว ก็คือ ศรีบูรพา และ สุชาติ ภูมิบริรักษ์

บัดนี้ ศรีบูรพาได้ลาลับจากวงวรรณกรรมไปแล้ว ทิ้งไว้เพียงผลงานอมตะไว้เป็นแบบอย่างแก่คนรุ่นหลังได้ศึกษาแนวทางจากแนวคิดของบุคคลดีเด่นของโลกผู้หนึ่ง

ส่วน สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ยังมีชีวิตในกรุงปักกิ่ง

เพื่อย้อนรำลึกเรื่องราวจากความทรงจำครึ่งศตวรรษในจีน ตั้งแต่นาทีแรกที่สัมผัสผืนแผ่นดิน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จนถึงปัจจุบันเป็นเวลานานร่วม 50 ปี เปิดเผยต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก บทสัมภาษณ์ดังกล่าวจึงพรั่งพรูจากปากของ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ เสมือนเป็นสิ่งตกค้างที่ใคร่เปิดเผยให้ชาวไทยได้ร่วมรับรู้มานับนาน



ใครคือ "สุชาติ ภูมิบริรักษ์"

ธงไตรรงค์หน้าห้องพักเงียบสงบบริเวณ "สวนหญ่าหยวน" อันร่มรื่นใน "โรงแรมมิตรภาพปักกิ่ง" ของ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ซึ่งห้อมล้อมด้วยชาวต่างชาติจากทั่วโลกที่ไปทำงานให้หน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลจีนในอาณาบริเวณที่ได้ชื่อว่า "เขตเฉพาะผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติ" บ่งบอกได้ชัดเจนว่า สุชาติ ภูมิบริรักษ์ เป็นคนไทย

ปี พ.ศ.2541 เป็นปีแรกที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมผัสผืนแผ่นดินจีน และรู้จักกับ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ซึ่งขณะนั้นทำงานเป็น "ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุโส" ของ "นิตยสารภาพจีน" (CHINA PICTORIAL) สังกัดกรมการพิมพ์ภาษาต่างประเทศแห่งชาติจีน จวบจนถึงปัจจุบัน

ข้อมูลจากการบอกเล่า ให้สัมภาษณ์ และเปิดสมุดบันทึกนับสิบเล่มของเขา จึงเป็นกระบวนการทำงานนับจากปี พ.ศ.2541 เป็นต้นมา

"ศรีบูรพากับผมมีท่าทีอย่างนี้ คือ ไปชมที่ไหนก็ต่างคนต่างจด

พอกลับมาถึงที่พัก ศรีบูรพามักจะเรียกผมเข้าไปในห้อง และเปิดสมุดบันทึกของท่านทบทวนดู ตรงไหนสงสัยหรือจดไม่ทันก็ถามผม เช่นตรงนี้หมายความว่าอะไร ตรงนั้นหมายความว่าอย่างไร แล้วท่านก็เขียนเพิ่มเติม

รู้สึกว่าจดอย่างละเอียด โดยเฉพาะเกี่ยวกับการคุยกันกับนักประพันธ์ หรือของแปลกใหม่ ท่านก็จดคือจดอย่างละเอียด กลับมาก็มาเช็กกันอีกที เป็นอย่างนี้เกือบทุกครั้ง

ศรีบูรพาท่านให้ผมเอาสมุดบันทึกมาด้วย แล้วถามทบทวน เพราะบางทีท่านก็จดไม่ทัน ส่วนผมก็ใช้วิธีเดียวกับท่าน แต่จะไปทบทวนกับล่าม"

บัดนี้ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ในวัย 80 ปี ยังคงใช้ชีวิตพำนักในกรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เขาเป็นนักเขียนและอดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ "อิสรภาพ" ผู้ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในนักโทษคดี "กบฏสันติภาพ" ในยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งในที่สุดได้ตัดสินใจลี้ภัยไปอยู่ในจีน พร้อม "ศรีบูรพา"

สำหรับ ศรีบูรพา บัดนี้ได้ลาลับจากวงการวรรณกรรมไปแล้วในประเทศจีน ทิ้งไว้เพียงผลงานอมตะ และชื่อเสียงเกริกไกร อันเป็นต้นแบบที่ดีของนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนไทยผู้มีอุดมการณ์

ส่วน สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ยังคงพำนักอยู่ในจีนเฉกเช่นก้าวแรกที่ไปสัมผัสผืนแผ่นดินมังกร ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2501 เป็นต้นมา

"ตอนนั้นเราเพิ่งออกจากคุก แล้วทางจีนเชิญเรามาด้วยเหตุผลว่า ประเทศจีน-ไทย มีความสัมพันธ์กันมานานนับพันปีแล้ว เรื่องอะไรเมื่อรัฐบาลไม่ชอบพอกัน แล้วไม่ให้เราไปมาหาสู่กัน ดังนั้น เพื่อไม่ให้ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนสองประเทศขาดลง เราจึงมาจีน..."

สุชาติ ภูมิบริรักษ์ สรุปวัตถุประสงค์หลักในการเดินทางไปจีนในครั้งนั้น

กล่าวได้ว่า สุชาติ ภูมิบริรักษ์ นับถือ "ศรีบูรพา" เป็น "กัลยาณมิตร" ที่เขาเชิดชูยกย่อง ทั้งในแง่ของการใช้ชีวิตและผลงาน และพยายามเก็บทุกความทรงจำหรือหลักฐานต่างๆ ที่เคยมีโอกาสได้ใช้ชีวิตอยู่เคียงบ่าเคียงไหล่ด้วยกันไว้อย่างน่าประหลาดใจ ด้วยเวลาที่ผ่านมาเนิ่นนาน และความชราภาพที่มาเยือน แต่เขาก็ยังคงจดจำแทบทุกรายละเอียดของ "ศรีบูรพา" ได้เป็นอย่างดี

เหตุผลหนึ่งนั้น สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ในฐานะที่เคยมี "ปากกาเป็นอาวุธ" โดยเป็นทั้งบรรณาธิการนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนมาตั้งแต่ครั้งอยู่ในประเทศไทย กล่าวว่า

"เพราะผมจดบันทึกเหตุการณ์ในตอนนั้นไว้เป็นสิบเล่ม และยังเก็บรักษาอยู่!"

ตัวอย่าง เช่น เอกสารคำปราศรัยเรื่อง "วรรณคดีสมัยปัจจุบัน" ของ ศรีบูรพา ซึ่งศรีบูรพาใช้สำหรับการบรรยายให้นักศึกษาต่างชาติฟัง ณ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ในระหว่างนั้น จนถึงบัดนี้ได้ผ่านกาลเวลามานับนานร่วมครึ่งศตวรรษ จนกระดาษเหลืองกรอบและหมึกพิมพ์จางตามระยะเวลา แต่ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ก็ยังเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี

"ผมเก็บรักษาไว้เป็นเวลา 46 ปีแล้ว ต้นฉบับคำปราศรัยนี้พิมพ์ด้วยพิมพ์ดีด ผมเข้าใจว่า ศรีบูรพา เป็นผู้พิมพ์เพื่อเตรียมไปกล่าวคำปราศรัยและมีอยู่ฉบับเดียว...

อย่างไรก็ดี ต้นฉบับคำปราศรัยนี้ที่หลงเหลืออยู่ในประเทศจีน และอยู่ในมือส่วนบุคคลคงจะมีแต่ฉบับของผมเท่านั้น เพื่อนชาวจีนคงไม่กล้าเก็บรักษาไว้ เพราะตลอดเวลาเกือบครึ่งศตวรรษมานี้ ในประเทศจีนมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายครั้ง ที่รุนแรงที่สุดคือ "การปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรม"

เอกสารภาษาต่างประเทศที่อยู่ในมือของส่วนบุคคลในเวลานั้นเป็นเป้าที่จะถูกทำลาย ใครก็คงไม่กล้าเสี่ยงที่จะเก็บรักษาไว้

สำหรับผมที่กล้าเก็บรักษาต้นฉบับคำปราศรัยของศรีบูรพาไว้ ก็เพราะแน่ใจว่า เรดการ์ดคงจะไม่มาค้นบ้านผม..."


"แด่ มิตรร่วมหลังคาเดียวกับ "ศรีบูรพา"

: สุชาติ ภูมิบริรักษ์"


นั่นเป็นคำอุทิศที่เขียนด้วยลายมือประณีตบรรจงในหนังสือชื่อ "บันทึกอิสรชน" ของ "ศรีบูรพา" ที่ "ชนิด สายประดิษฐ์" นักแปลเจ้าของรางวัล "สุรินทราชา" ซึ่งเป็นภริยาของ "ศรีบูรพา" ได้เขียนมอบให้แก่ "สุชาติ ภูมิบริรักษ์" เพื่อนสนิท

สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ได้ชื่อว่าเป็น "มิตรร่วมหลังคา" เดียวกับ "ศรีบูรพา" มาตั้งแต่ครั้งตกทุกข์ได้ยาก และร่วมทุกข์ร่วมสุขร่วมผืนบรรณพิภพในแผ่นดินไทย ร่วมกิน "ข้าวแดงแกงเนื้อเน่า" (จากคำกล่าวของ สุชาติ ภูมิบริรักษ์) ในคุกบางขวาง กรณีต้องคดี "กบฏสันติภาพ"

และอยู่ร่วมใต้ชายคาเดียวกันบนผืนแผ่นดินสาธารณรัฐประชาชนจีนมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ.2501 เป็นต้นมา จวบจนกระทั่งบั้นปลายของชีวิต ศรีบูรพา ณ โรงพยาบาลเสเหอ ประจำกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นที่พำนักสุดท้ายของชีวิต ก่อนจะฝากร่างลง ณ สุสาน "ปาเป่าซาน" และคืนอัฐิสู่แผ่นดินไทยอันเป็นที่รัก

ช่วงชีวิตขณะนั้น นอกจาก "ศรีบูรพา" จะมีครอบครัวอบอุ่นอันมีศรีภริยา "ชนิด สายประดิษฐ์" และรวมถึง "สุรพันธ์ สายประดิษฐ์" บุตรชายเป็นคู่คิดเคียงเรือนอย่างใกล้ชิดในผืนแผ่นดินจีนจวบจนถึงบั้นปลายของชีวิต พร้อมสหายอื่นๆ ทั้งไทยและจีนจำนวนหนึ่งแล้ว

"สุชาติ ภูมิบริรักษ์" คือหนึ่งในมิตรสนิทซึ่ง "ศรีบูรพา" ได้ให้ความไว้วางใจเสมอมา 

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net