ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จุดเปลี่ยนภูมิทัศน์บนพื้นที่สูง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การเปลี่ยนแปลง พื้นที่ชนบท-การเกษตร พื้นที่สูง-การอนุรักษ์ ฯลฯ เป็นสถานการณ์ที่มีความพยายามทำความเข้าใจและถกเถียงกันมานาน โดยที่ชุดคำเหล่านี้มักมาควบคู่กันเสมอ แต่กรณีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในบ้านก่อวิละจากบทความที่นำเสนอมาทั้งหมดนั้น ได้สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนมากกว่านั้น เมื่อพื้นที่ชนบท ไม่ได้มีแค่การเกษตร (เพื่อยังชีพ) แบบที่เคยเข้าใจกัน แต่ยังมีเรื่องของการจ้างแรงงานและการบริโภคเพื่อสร้างตัวตนใหม่ของคนชายขอบ ขณะที่พื้นที่สูงไม่ได้เป็นพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์เท่านั้นแต่ยังเป็นพื้นที่ผลิตวัตถุดิบสำคัญของอุตสาหกรรมการเกษตรระดับโลก

ข้อถกเถียงทั่วไปเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงบนพื้นที่สูง มักกล่าวถึงผู้มีบทบาทเกี่ยวข้อง 2-3 กลุ่ม ได้แก่ หน่วยงานรัฐที่พยายามควบคุมจำกัดการใช้ที่ดินและทรัพยากร  เกษตรกรในพื้นที่ที่เป็นเสมือนผู้ที่ถูกกระทำจากนโยบายรัฐแต่ฝ่ายเดียว และองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีส่วนสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ แต่จากบทความทั้งห้าชิ้นที่เสนอมานั้นจะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ ระบบการผลิต การใช้ทรัพยากร และความสัมพันธ์ทางสังคมในบ้านก่อวิละซึ่งถูกเข้าใจว่าเป็น “ชนบท” หรือ “พื้นที่สูง” หรือ “สังคมเกษตร” หรือ “ชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์” นั้นมีผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องมากมาย นอกเหนือจากเจ้าหน้าที่รัฐระดับต่าง ๆ ยังมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ค้าเมล็ดพันธุ์รายย่อย-รายใหญ่ ผู้ประกอบการรายย่อยที่รับซื้อผลผลิต ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ฯ สหกรณ์การเกษตรฯ ไปจนถึงธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรข้ามชาติ  ฯลฯ

บ้านก่อวิละในกระแสการเปลี่ยนแปลง

บ้านก่อวิละ เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ขนาด 70 ครัวเรือน ตั้งอยู่บนเทือกเขาของพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นอำเภอที่มีการขยายตัวของการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงสุดในจังหวัด การเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตป่าของรัฐทำให้บ้านก่อวิละเป็นเช่นเดียวกับชุมชนอีกจำนวนมากที่ถูกรัฐและสังคมเพ่งเล็งด้วยเกรงว่าจะมีการขยายพื้นที่เกษตรเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าที่ควรอนุรักษ์ไว้ ยิ่งไปกว่านั้นการเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ก็ยังทำให้พวกเขาถูกจับจ้องมากขึ้นอันเนื่องมาจากภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นในสองลักษณะที่ขัดแย้งกันเอง กล่าวคือ ในด้านหนึ่งก็เข้าใจกันว่ากลุ่มชาติพันธุ์ด้อยการศึกษาไม่มีความรู้ในการทำเกษตรเชิงอนุรักษ์ ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีความเข้าใจว่าชาวปกาเกอะญอมีวิถีการผลิตและวิถีชีวิตแบบ “ดั้งเดิม” ที่เกื้อกูลกับธรรมชาติและอนุรักษ์ป่า ภาพลักษณ์ทั้งสองด้านดังกล่าวล้วนส่งผลต่อการพยายามกำกับควบคุมชุมชนให้ “แช่แข็ง” อยู่แบบเดิม โดยไม่เปลี่ยนแปลงไม่ว่าบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง จะเป็นไปอย่างไรก็ตาม

แท้ที่จริงชุมชนบ้านก่อวิละ เป็นเช่นเดียวกันกับชุมชนบนพื้นที่สูงอื่น ๆ อีกมากมาย ที่อยู่ภายใต้บริบทสำคัญอย่างน้อย  4 ประการ

ประการที่หนึ่ง บ้านก่อวิละตั้งอยู่ในเขตป่าของรัฐ ที่มีการโต้แย้งในเรื่องสิทธิในที่ดินซึ่งยืดเยื้อมานาน แม้ว่าชาวบ้านจะไม่มีกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายในที่ดินเหล่านั้น แต่พวกเขาก็อ้างว่าชุมชนตั้งขึ้นมาก่อนที่รัฐจะประกาศพื้นที่นั้นเป็นเขตป่าและชาวบ้านใช้ที่ดินสืบทอดต่อจากบรรพบุรุษ แม้ว่าจะมีความพยายามเคลื่อนไหวต่อรองและแก้ไขปัญหาเรื่องนี้มานานกว่าสิบปี แต่ปัญหานี้ก็ยังดำรงอยู่ ที่ดินยังคงมีความคลุมเครือในเรื่องสิทธิ ขณะที่ชาวบ้านก็ยังคงเข้าไปใช้ที่ดินเรื่อยมา

ประการที่สอง บ้านก่อวิละจัดเป็นชุมชน “ห่างไกล” จากศูนย์กลางอำนาจรัฐ ในด้านหนึ่งรัฐจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องเข้าไป “พัฒนา” จึงมีโครงการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในพื้นที่แถบนั้น เช่น การส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ  และสำหรับชาวบ้านเองพวกเขาก็เปิดรับและต้องการ “การพัฒนา” ดังกล่าว โดยเฉพาะการปรับปรุงถนน ไฟฟ้า การศึกษา และพัฒนาทางเศรษฐกิจที่จะทำให้พวกเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง การเป็นพื้นที่ห่างไกลซึ่งตั้งอยู่ในเขตป่าก็ทำให้ที่ตั้งชุมชนของพวกเขาเป็นพื้นที่ที่ควร “อนุรักษ์” ไว้ให้มีสภาพธรรมชาติ ซึ่งหมายรวมถึงการที่ผู้คนในพื้นที่นั้นไม่ควรที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตและระบบการผลิตไปจากเดิม เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งระหว่างแนวทาง “การพัฒนา” กับ “การอนุรักษ์”

ประการที่สาม การทำเกษตรเชิงพาณิชย์เป็นวิถีการผลิตที่สำคัญของชุมชนเกษตรกรรมส่วนใหญ่ในประเทศ ในบ้านก่อวิละเองมีการปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรเรื่อยมา จากเดิมที่เคยทำเกษตรแบบพอยังชีพก็ค่อย ๆ ปรับมาสู่การทำเกษตรเพื่อการค้า ทั้งโดยการส่งเสริมของรัฐด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา เช่น การส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น  เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ฯลฯ และทั้งโดยการดิ้นรนต่อสู้กับแรงกดดันต่าง ๆ ของชาวบ้านเอง เช่น การปลูกพืชเพื่อแสดงการใช้ที่ดินอันนำไปสู่การอ้างสิทธิในที่ดินที่ชาวบ้านไม่มีกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย การสร้างรายได้เพื่อขยับฐานะทางเศรษฐกิจของตนเองให้ดีขึ้น ฯลฯ

ประการสุดท้าย  บ้านก่อวิละไม่ได้ดำรงอยู่ในสุญญากาศ แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในชุมชนอยู่ภายใต้บริบทใหญ่ของระบบเศรษฐกิจโลกซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และผลผลิตทางการเกษตรกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปลูกในชุมชนก่อวิละเป็นสินค้าสำคัญของห่วงโซ่การค้าที่โยงใยธุรกิจการค้าจากระดับท้องถิ่นไปถึงระดับชาติและระดับโลก การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของชุมชนบ้านก่อวิละในแง่นี้จึงไม่ใช่การผลิตเฉพาะเพื่อปากท้องของชาวบ้านที่นั่น แต่บ้านก่อวิละนับเป็นหน่วยการผลิตหนึ่งของระบบการผลิตโลก

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์: ภาพสะท้อนต่อมุมมองทางความคิด

จากบทความทั้งห้าชิ้นที่ผ่านไป ผู้เขียนพยายามนำเสนอให้เห็นว่าการปลูกข้าวโพดในชุมชนบ้านก่อวิละสามารถสะท้อนความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนบนพื้นที่สูง ได้อย่างน้อย 5 มิติด้วยกัน

หนึ่ง ความเข้าใจเกี่ยวกับการเกษตรแบบพันธสัญญา โดยทั่วไปมักเห็นว่าเป็นเรื่องของ “นายทุน” ที่เอารัดเอาเปรียบเกษตรกรรายย่อยโดยวางเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้อย่างเป็น “ระบบ” แต่จากกรณีการค้าเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในบ้านก่อวิละได้สะท้อนให้เห็นว่าเกษตรกรไม่ได้อยู่ภายใต้พันธสัญญาที่เป็นระบบระเบียบชัดเจน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าชาวบ้านเป็นอิสระจากความสัมพันธ์ที่วางเงื่อนไขให้เกษตรกรเป็นฝ่ายเสียเปรียบ บทความยังชี้ให้เห็นอีกว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำเกษตรแบบพันธสัญญาไม่ได้มีเฉพาะบริษัทธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ แต่ยังมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งทางตรงและทางอ้อมอีกมากมายทั้งในระดับท้องถิ่น และเหนือกว่าระดับท้องถิ่น  ขณะที่เกษตรกรบ้านก่อวิละถูกเข้าใจว่าถูกล่อหลวงหรือไม่รู้เท่าทันระบบทุนนิยม แต่บทความได้ชี้ให้เห็นว่าการทำเกษตรของพวกเขาได้ผ่านการเรียนรู้และแสวงหาทางเลือกมาพอควร แม้ว่าวิถีการผลิตที่ชาวบ้านเลือกจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด แต่ก็เป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดต่าง ๆ ที่พวกเขาเผชิญอยู่ 

สอง เกษตรกรบนพื้นที่สูงมักถูกนำเสนอภาพลักษณ์และถูกจำกัดควบคุมให้มีฐานะเป็นผู้อนุรักษ์ป่า มีระบบการผลิตเชิงอนุรักษ์ แต่ในความเป็นจริงเกษตรกรบนพื้นที่สูงจำนวนมากเลือกที่จะทำการเกษตรเชิงพาณิชย์ด้วยเหตุผลเรื่องปากท้องและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพวกเขา กรณีชุมชนก่อวิละ บทความได้ชี้ให้เห็นว่าการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านสามารถสร้างตัวตนแบบใหม่ที่ไม่ใช่ผู้ที่มีวิถีชีวิต “เรียบง่าย” “สมถะ” หรือ “เป็นมิตรกับธรรมชาติ” แบบที่คนภายนอกอยากเห็น แต่เป็นตัวตนที่ไปพ้นจากภาพลักษณ์ “ชาวเขา” ผู้ “ด้อยพัฒนา” ล้าหลัง ซึ่งคนทั่วไปมักมองพวกเขาเช่นนั้น  สำหรับชาวบ้านก่อวิละตัวตนแบบใหม่นี้ถูกสร้างขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพวกเขามีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่าความทัดเทียมของสถานะทางสังคมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพวกเขามีฐานะทางเศรษฐกิจที่ทัดเทียมกับคนกลุ่มอื่น ๆ ในสังคมเสียก่อน  สำหรับชาวบ้าน พวกเขาไม่ได้อยู่บนสนามของการต่อสู้ต่อรองเพื่อช่วงชิงทรัพยากรกับรัฐเพียงสนามเดียว แต่ในชีวิตประจำวันยังต้องเผชิญกับพื้นที่การต่อสู้ต่อรองที่ซับซ้อนหลายระดับ ยุทธวิธีที่ใช้จึงมีความหลากหลายและปรับใช้แตกต่างกันไป งานศึกษานี้ได้ชี้ให้เห็นว่าชาวบ้านไม่ได้ยึดติดอยู่กับการสร้างความชอบธรรมเพียงด้านหนึ่งด้านใด แต่ดิ้นรนและแสวงหาความชอบธรรมในมิติอื่นๆ เช่น ความชอบธรรมในฐานะพลเมืองของรัฐที่จะได้รับการพัฒนา ความชอบธรรมในฐานะเกษตรกรที่จะได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการและนโยบายของรัฐ และที่สำคัญคือ ความชอบธรรมในฐานะผู้ผลิตวัตถุดิบทางการเกษตรในเครือข่ายธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม

สาม การปลูกข้าวโพดและพืชเชิงพาณิชย์ ทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของแต่ละครัวเรือนเปลี่ยนแปลงไป จนส่งผลต่อการจัดช่วงชั้นใหม่ภายในชุมชน ภายใต้ระบบการผลิตแบบดั้งเดิม ฐานะทางเศรษฐกิจชี้วัดจากการปลูกข้าวพอกินตลอดทั้งปี ซึ่งสัมพันธ์กับการถือครองที่นา  และหากยึดตามระบบการผลิตและจารีตประเพณีแบบเดิม เป็นการยากที่ “คนยากจน” ในชุมชนจะขยับฐานะขึ้นมาได้ เพราะบรรพบุรุษไม่ได้บุกเบิกนาที่นาเอาไว้ให้ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนมาปลูกพืชพาณิชย์ ทำให้ครัวเรือนที่ “ยากจน” ซึ่งไม่มีที่นามาแต่เดิมมีโอกาสขยับฐานะทางเศรษฐกิจขึ้นมาได้ ซึ่งหมายถึงการจัดปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่แตกต่างไปจากเดิม ทั้งความสัมพันธ์ภายในชุมชนและระหว่างคนในชุมชนกับคนภายนอกชุมชน นอกจากนั้น บทความยังชี้ให้เห็นว่าการผลิตเชิงพาณิชย์โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นทั้งเป็นผลมาจาก และส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนวิธีคิดของชาวบ้านเกี่ยวกับสิทธิในการถือครองที่ดิน จากที่เคยใช้ระบบสิทธิส่วนรวมในที่ไร่ มาสู่การครอบครองที่ดินแบบปัจเจกที่มีลักษณะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากขึ้น

สี่ เมื่อมีการกล่าวโทษเรื่อง “การตัดไม้ทำลายป่า” อันเกิดขึ้นจากการขยายตัวของการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่สูง จำเลยของข้อกล่าวหามักตัดตอนเพ่งเล็งไปที่เกษตรกรผู้ผลิตเท่านั้น  โดยเชื่อว่าพวกเขาเป็นเหยื่อของระบบทุนนิยมและกลไกตลาด แต่บทความได้ชี้ให้เห็นว่าการค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แม้ว่าจะมีจุดเริ่มต้นจากหมู่บ้านเล็ก ๆ บนพื้นที่สูง แต่ก็มีกลุ่มคนจำนวนมากที่เข้ามาเกี่ยวพันกันและได้รับประโยชน์จากเครือข่ายการผลิตและการค้านั้น ตั้งแต่ผู้รับซื้อรายย่อย เจ้าของรถบรรทุก เจ้าของโรงอบ ธุรกิจอาหารสัตว์ยักษ์ใหญ่ หรือแม้แต่รัฐบาลเองที่มีรายได้จากภาษีและผลตอบแทนในด้านอื่น ๆ จากการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และธุรกิจอาหารสัตว์ ฯลฯ โดยที่เกษตรกรเป็นเพียงแต่ส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การค้าอันยาวเหยียดนั้น โดยที่ผู้ได้รับประโยชน์กลุ่มอื่น ๆ กลับ “ลอยตัว” จากข้อกล่าวหาดังกล่าว

สุดท้าย  การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของชุมชนก่อวิละ เกิดขึ้นบนพื้นที่ที่มีความคลุมเครือในเรื่องแนวเขตและกรรมสิทธิ์ที่ดิน แม้ความคลุมเครือจะถูกมองว่าเป็นปัญหา แต่มันก็เปิดโอกาสให้ผู้กระทำการที่เกี่ยวข้องใช้ช่องว่างจากความไม่ชัดเจน ตีความหรืออธิบายเพื่อประโยชน์ในกระบวนการต่อรอง จนเกิดการจัดปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบใหม่ที่เปลี่ยนไปจากชุดความสัมพันธ์เดิม โดยไม่มีผู้กระทำการฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีอำนาจนำหรือด้อยอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ แต่เป็นสภาวะที่เปิดให้เกิดการต่อรองเพื่อค้นหากฎเกณฑ์หรือสถาบันทางสังคมรูปแบบใหม่ที่เปิดช่องให้ผู้กระทำการหลากหลายกลุ่มเข้าไปมีบทบาทและมีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการจัดการความคลุมเครือ ซึ่งหมายรวมถึงการกำหนดบรรทัดฐานใหม่ขึ้นมาตีกรอบให้ชาวบ้านใช้พื้นที่อยู่ในขอบเขตอันจำกัด  อย่างไรก็ตาม  การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของชุมชนก็เป็นไปได้ในพื้นที่คลุมเครือด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถต่อรองกับรัฐเพื่อสิทธิในที่ดิน และเปิดให้ชาวบ้านต่อรองกันเอง บทความตั้งข้อสังเกตว่าหากแนวเขตที่กำหนดขึ้นสอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้านและทำให้พวกเขามีสิทธิที่มั่นคงในที่ดิน แนวเขตก็คงจะช่วยสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยและการทำกินให้ชาวบ้านได้ตามการกล่าวอ้างของผู้ที่เข้าไปแสดงบทบาทในการจัดการแก้ไขปัญหา แต่หากการกำหนดแนวเขตไม่นำไปสู่การรับรองสิทธิ แนวเขตก็คงจะเป็นเพียงเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการควบคุมจำกัดสิทธิของชาวบ้านเท่านั้นเอง  นอกจากนั้น บทความยังชี้ให้เห็นว่าในกระบวนการจัดทำแนวเขตเพื่อจำกัดการใช้ที่ดินนั้นเองที่ส่งผลให้เกิดการขยายพื้นที่การเกษตรเข้าสู่พื้นที่ป่ามากขึ้น แม้ว่าจะเป็นผลที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจแต่ก็เป็นปรากฏการณ์ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างรับรู้และยากจะปฏิเสธ

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เป็นมากกว่าพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง

บทความทั้งห้าชิ้นที่ผ่านมาเป็นส่วนหนึ่งจากการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเกษตรในชุมชนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งบนพื้นที่สูง โดยพยายามนำเสนอให้เห็นโครงข่ายความสัมพันธ์อันโยงใยกับตัวแสดงมากมายที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ ระบบการผลิต การใช้ทรัพยากร และความสัมพันธ์ทางสังคมในระดับท้องถิ่น  หรือกล่าวได้ว่าการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่ได้มีฐานะเป็นเพียงแค่การปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง แต่มันเป็นปรากฏการณ์เบื้องหน้าที่เชื่อมโยงความเปลี่ยนแปลงในอีกหลาย ๆ อย่างเข้าไว้ด้วยกัน

การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่สูงไม่อาจทำความเข้าใจเฉพาะกระบวนการเปลี่ยนผ่านของสังคมชาวนา หากแต่ควรทำความเข้าใจผ่านแนวคิดการปรับโครงสร้างในชนบทที่เชื่อมโยงระหว่างภาคการผลิตและภาคการบริโภค การปรับเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม และที่สำคัญคือความเปลี่ยนแปลงทางความคิด เพราะการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่ได้เกิดจากเหตุผลทางเศรษฐกิจเท่านั้น  หากแต่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขอื่นๆ อย่างซับซ้อน ในแง่นี้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นอกจากจะเป็นยุทธวิธีทางเศรษฐกิจแล้วยังเป็นยุทธวิธีทางการเมืองในฐานะกระบวนการสร้างความมั่นคงในที่ดินท่ามกลางแรงกดดันและความไม่มั่นคงในชีวิต การสร้างตัวตนใหม่ของกลุ่มคนชายขอบที่ถูกเบียดขับจากสังคมทั้งในระดับท้องถิ่นและเหนือกว่าระดับท้องถิ่น

ข้อเสนอของแต่ละบทความนำมาสู่ข้อสรุปสั้น ๆ ร่วมกันว่าอย่าตัดสินเกษตรกรที่ทำเกษตรเชิงพาณิชย์บนพื้นที่สูงด้วยข้อกล่าวหาง่าย ๆ ว่าพวกเขา “โง่ จน และโลภ” จึงทำการเกษตรที่ไม่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพราะแท้ที่จริงแล้วการเลือกวิถีการผลิตของพวกเขานั้นเกิดขึ้นท่ามกลางเงื่อนไขทางการเมืองและเศรษฐกิจที่สลับซับซ้อนกว่านั้น

ในทำนองเดียวกันกับปรากฏการณ์ทางสังคมอื่น ๆ ที่เรามักตัดสินสิ่งที่เห็นเพียงฉาบฉวยและมีข้อสรุปเพียงง่าย ๆ มากกว่าที่จะพยายามทำความเข้าใจความเป็นไปให้ลึกซึ้งกว่านั้น เรื่องที่น่าเศร้าก็คือ ผู้ที่ถูกตัดสินว่าเป็นปัญหา มักเป็นกลุ่มคนที่อยู่ปลายสุดของโครงข่ายความสัมพันธ์ แต่แม้ว่าพวกเขาจะด้อยอำนาจที่สุดก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะอยู่เฉย ๆ เพื่อรอคอย “คำแนะนำ” หรือ “การช่วยเหลือ” จากกลุ่มคนอื่นผู้มักหลงเข้าใจไปว่าตนเองนั้นรู้มากกว่า หรือรู้ดีกว่า ผู้ด้อยอำนาจเหล่านั้น ที่ร้ายไปกว่านั้น คำแนะนำ และการช่วยเหลือมักมาพร้อมกับการกำกับควบคุมวิถีชีวิตของผู้ด้อยอำนาจ มากกว่าจะเป็นการปลดปล่อยพวกเขาให้มีอำนาจในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง     

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท