Skip to main content
sharethis
อัตราว่างงานในยูโรโซนเพิ่มขึ้นแตะ 12.1%
 
1 ก.ค. 56 - สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป หรือยูโรสแตท เปิดเผยว่า อัตราว่างงานของกลุ่ม 17 ประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโรในเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 0.1% แตะ 12.1% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จาก 12.0% ในเดือน เม.ย.ทั้งนี้ยูโรโซนมีจำนวนผู้ว่างงาน 19.22 ล้านคนในเดือน พ.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้น 67,000 คนจากเดือนก่อนหน้า 
 
ส่วนสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีสมาชิก 27 ประเทศ มีอัตราว่างงานที่ 10.9% ในเดือนพ.ค. ทรงตัวจากเดือนเม.ย. โดยคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 26.40 ล้านคน
 
 
หนุ่มสาวยุโรปว่างงานสูง-แนะเยอรมนีเป็นแบบแก้
 
2 ก.ค. 56 - เอเอฟพีรายงานจากกรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมนีว่า นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งเยอรมนี ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษแก่สื่อหนังสือพิมพ์ 6 ฉบับ ก่อนเข้าร่วมประชุมผู้นำรัฐบาลและประเทศต่างๆ ของยุโรป 20 ประเทศ ว่าด้วยปัญหาวิกฤตการณ์ว่างงานในหมู่เยาวชนของชาติยุโรปในวันรุ่งขึ้น
 
 นางแมร์เคิลกล่าวว่า หนุ่มสาววัยต่ำว่า 25 ปี ในกลุ่มประเทศยุโรปนั้น หลายๆ ประเทศมีจำนวนมากเกินไป และยิ่งมีวิกฤตการณ์เศรษฐกิจมาซ้ำเติม ก็ยิ่งไปกันใหญ่ อย่างเช่น ที่กรีซ สเปน และอีกบางประเทศนั้น คนหนุ่มสาวรุ่นนี้ ถึงกับว่างงานสูงเกินกว่าครึ่งของประชากรวัยเดียวกัน จนกลายเป็นคนรุ่นเคว้งคว้าง หมดคุณค่า หรือ "ลอสต์เจเนอเรชั่น"
 
นางแมร์เคิลกล่าวด้วยว่า ปัญหาว่างงานของคนหนุ่มสาวในยุโรป ที่มีมากถึง 6 ล้านคน เป็นเรื่องที่ไปไม่ได้กับโครงสร้างประชากรที่เต็มไปด้วยคนชราของยุโรป ไม่เหมือนกรณีของเยอรมนี ที่คนรุ่นนี้ยังว่างงานอยู่เพียงแค่ 7.6 เปอร์เซ็นต์ของประชากรวัยเดียวกัน เพราะระบบการศึกษาที่ให้นักเรียนนักศึกษา "ฝึกและทดลองงาน" ไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่เอาแต่เรียนโดยไม่คำนึงถึงฝีมืองานช่างหรือความชำนาญงาน
 
"เป็นบทเรียนที่เราชาวเยอรมนีได้จากการปฏิรูปโครงสร้างระบบการศึกษาและการทดลองงานจริง เพื่อลดปัญหาว่างงานหลังการรวมประเทศใหม่ๆ และเป็นประสบการณ์ความรู้จริงที่เราพร้อมแบ่งปัน "นางแมร์เคิลกล่าว หลังตำหนิด้วยว่า กลุ่มชนชั้นนำด้านเศรษฐกิจ-ธุรกิจ แทบจะไม่ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือบรรเทาปัญหานี้แต่อย่างใด และเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่กลุ่มคนที่ได้รับผลจากความแปรเปลี่ยนหลงทิศผิดทางในระบบเศรษฐกิจมากที่สุด กลับเป็นคนรุ่นหนุ่มสาว หรือคนยากไร้ ที่ไม่ได้มีส่วนทำให้เกิดปัญหาวิกฤตในระบบ
 
 
ฟิลิปปินส์คุมเข้มแรงงานหญิงถูกบังคับค้าประเวณี
 
2 ก.ค. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานจากกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 2 ก.ค.ว่า นิคอน ฟาเมอโรแนก โฆษกกระทรวงแรงงานฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์จะแต่งตั้งเจ้าหน้าที่แรงงานหญิงประจำตะวันออกกลาง ท่ามกลางการสอบสวนข้อกล่าวหาที่ว่า มีเจ้าหน้าที่ทูตฟิลิปปินส์บางกลุ่ม ให้อำนาจหน้าที่บังคับแรงงานชาวฟิลิปปินส์ที่ยากลำบากในตะวันออกกลาง ค้าประเวณี โดยเจ้าหน้าที่ผู้หญิงทั้งหมด 13 คน จะถูกส่งตัวไปยังซาอุดีอาระเบีย จอร์แดน คูเวต และมาเลเซียด้วย ในเร็ว ๆ นี้ เพื่อทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ชุดปัจจุบันที่สถานทูตฟิลิปปินส์ประจำประเทศเหล่านี้
 
เจ้าหน้าที่หญิงเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือแรงงานชาวฟิลิปปินส์ ที่เข้าไปขออาศัยอยู่ในที่พักพิงชั่วคราวของสถานทูต เพื่อหลบหนีการถูกล่วงละเมิดจากนายจ้าง การตัดสินใจส่งผู้หญิงเข้าไปดูแลปัญหานี้ เพราะมีแรงงานหญิงจำนวนมากกว่าผู้ชายที่เข้าไปหลบอยู่ในที่พักพิงชั่วคราว ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้หญิงด้วยกันทำงานได้ดีกว่าเจ้าหน้าที่ชาย
 
การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่หญิงถูกประกาศท่ามกลางการสอบสวนของกระทรวงต่างประเทศ กรณีมีข้อกล่าวหาว่า มีเจ้าหน้าที่ทูตอย่างน้อย 2 คน บังคับให้ผู้หญิงชาวฟิลิปปินส์ที่พักอยู่ในที่พักพิงชั่วคราว ขายบริการทางเพศให้กับพวกเขา หรือให้กับชายคนอื่น ๆ โดยการสอบสวนเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว หลังจากมีสมาชิกรัฐสภาได้แจ้งต่อกระทรวงต่างประเทศว่า เขาได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้จากผู้หญิงบางคน ที่เคยพักอยู่ในสถานที่พักพิงชั่วคราว
 
 
เวียดนาม-ลาว ยังเดินหน้าร่วมมือด้านแรงงาน และสวัสดิการมากขึ้น
 
2 ก.ค. 56 - ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีแรงงานและสวัสดิการของเวียดนาม-ลาว ครั้งที่ 3 ที่ เมืองเว้ของเวียดนาม นายเหวียน ซวนฟุก รองนายกรัฐมนตรีเวียดนามกล่าวว่า เวียดนามและลาวควรพัฒนาระดับความร่วมมือด้านแรงงาน และสวัสดิการสังคม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านสังคม และเศรษฐกิจของสองประเทศให้มากขึ้น
 
หลังการประชุม สองประเทศตกลงจะปฎิบัติตามข้อตกลงความร่วมมือด้านแรงงานระดับทวิภาคี โดยทางกระทรวงจะแบ่งปันประสบการณ์ และความร่วมมือด้านแรงงาน และการจ้างงานต่อกัน
 
นอกจากนี้ สองประเทศสัญญาที่จะร่วมมือกับหน่วยงานของ 2 ฝ่ายให้ใกล้ชิดมากขึ้นในการค้นหา และรวบรวมศพที่ยังหาไม่พบของทหารอาสาสมัครเวียดนาม-ลาวที่เสียชีวิตในดินแดนของตัวเองช่วงเกิดสงคราม ทั้งนี้การประชุมครั้งที่ 4 จะจัดขึ้นที่ประเทศลาว ปี2558
 
 
ซาอุฯ ต่อลมหายใจแรงงานต่างด้าว
 
3 ก.ค. 56 - สำนักข่าวซาอุดี เพรส ของทางการซาอุดีอาระเบีย รายงานเมื่อวันอังคารว่า กษัตริย์อับดุลลาห์ แห่งซาอุดีอาระเบีย ขยายเวลาการนิรโทษกรรมแรงงานต่างชาติ เพื่อให้ได้รับสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย ในการทำงานในประเทศ จนถึงสิ้นปีอิสลาม คือวันที่ 3 พ.ย.นี้ จากกำหนดเส้นตายเดิมวันที่ 3 ก.ค.นี้ โดยเมื่อต้นปี ซาอุดีอาระเบีย ได้เริ่มกวาดล้างแรงงานต่างชาติจำนวนมาก ที่ละเมิดเงื่อนไขหนังสือเข้าเมือง ด้วยการตรวจสอบเข้มทั้งบนถนนและในสำนักงานบริษัทต่าง ๆ
    
ก่อนหน้านี้ มีแรงงานต่างชาตินับหมื่นคนถูกเนรเทศ หรือตัดสินใจเดินทางออกจากซาอุฯ ภายใต้ความกดดันดังกล่าว ซึ่งได้เพิ่มความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจประเทศ หากรัฐบาลยังคงเนรเทศต่อไป เพราะฉะนั้น รัฐบาลจึงประกาศการนิรโทษกรรม ซึ่งระหว่างนี้ แรงงานต่างด้าวจะไม่เสียค่าธรรมเนียม หรือค่าปรับสำหรับการละเมิดวีซ่า เช่นพักอยู่ในประเทศเกินกำหนด หรือเปลี่ยนงาน กองกำลังรักษาความมั่นคงจะเริ่มกวาดล้างแรงงานเถื่อนอีกครั้งในช่วงสิ้นปีอิสลาม
 
 
ค่าแรงเอเชียพุ่งฉุดกำไรหด ไนกี้จ่อลดแรงงาน-ดึงเทคโนโลยีเสริม
 
3 ก.ค. 56 - ไนกี้เตรียมลดคนงานในโรงงานผลิตรองเท้าและเสื้อผ้าแถบภูมิภาคเอเชียลง เพื่อรับมือกับปัญหาค่าแรงที่กำลังพุ่งสูงขึ้น โดยคาดหวังว่าแนวทางดังกล่าวจะสามารถรักษาผลกำไรของบริษัทไว้ได้หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ส รายงานว่า "ดอน แบลร์" ซีเอฟโอ ไนกี้ อิงค์ ออกมาระบุว่า ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นในอินโดนีเซียเป็นผลกระทบสำคัญทำให้บริษัทต้องออกมาตรการลดปริมาณคนในโรงงาน
 
ขณะนี้ไนกี้ และบริษัทข้ามชาติรายอื่นต่างเผชิญกับปัญหาต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากค่าแรงในประเทศจีนที่ปรับสูงขึ้น 
 
"แบลร์" กล่าวว่า ทางออกของปัญหาในระยะยาว คือการหาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อช่วยทุ่นค่าใช้จ่ายจำนวนมากที่จะเพิ่มขึ้นจากการจ้างแรงงาน 
 
"แบลร์" ชี้ด้วยว่า รองเท้าวิ่งไนกี้รุ่น "Flyknit" ที่ออกแบบมาเพื่อนักกีฬาระดับมืออาชีพ ได้ใช้เทคโนโลยีการปักเย็บด้วยเส้นด้ายโดยใช้เครื่องจักร รวมถึงการใช้เทคนิคการพิมพ์แบบ 3D เข้ามาช่วยในการผลิต
 
การลดจำนวนคนงานในโรงงานยังช่วยให้ไนกี้ลดคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของแรงงาน ที่มีปัญหามาอย่างต่อเนื่องจากการประท้วงที่เรียกว่า "anti-sweatshop campaigns" โดยเริ่มเป็นครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา
 
เดือนมกราคมที่แล้ว กลุ่มผู้เคลื่อนไหวได้ออกมาเรียกร้องโรงงานผู้ผลิตสินค้าให้ไนกี้ในอินโดนีเซีย เรื่องการยกเว้นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของบริษัท ซึ่งไนกี้เองภายหลังจากใช้เวลาตรวจสอบปัญหาดังกล่าวก็ได้ออกมา เปิดเผยว่า เป็นสิทธิ์ที่โรงงานสามารถทำได้ตามข้อตกลงในสัญญา 
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อไนกี้ได้รายงานถึงผลประกอบการช่วงไตรมาสที่ผ่านมา พบว่าต้นทุนค่าแรงที่เกิดขึ้นได้ทำให้กำไรลดลง แม้จะสามารถทำกำไรได้มากกว่าปีที่แล้วจากการขึ้นราคาสินค้า ต้นทุนวัตถุดิบที่ต่ำลง และการปรับลดภาษี 
 
การที่กระบวนการผลิตสินค้าในกลุ่มรองเท้าและเสื้อผ้ายังคงต้องการใช้แรงงานเป็นหลัก มากกว่าสินค้าประเภทอื่น ๆ ซึ่งอธิบายว่าทำไม 98-99% ของสินค้าที่คนอเมริกันสวมใส่แบรนด์นี้จะถูกผลิตขึ้นในตลาดที่เกิดใหม่แทบทั้งสิ้น สืบเนื่องมาจากค่าแรงที่ต่ำอยู่นั่นเองโดยประเทศที่ไนกี้ใช้เป็นฐานผลิตหลัก ได้แก่ เวียดนาม จีน และอินโดนีเซีย
 
ด้านกำไรของไนกี้ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม เติบโตขึ้น22% หรือคิดเป็นมูลค่า 668 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยยอดขายรวมเติบโต 7% หรือ 6.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ เหนือกว่าความคาดหมายถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐและบริษัทยังคงให้น้ำหนักกับการเป็นสปอนเซอร์ชิปกับนักกีฬาคนดัง เพื่อที่จะกระตุ้นยอดขายสินค้าต่อไป
 
แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ไนกี้ต้องประสบปัญหาอย่างไม่คาดคิดกับรายการแข่งขันเทนนิส วิมเบิลดัน เมื่อโรเจอร์เฟเดอเรอร์ ที่บริษัทเป็นสปอนเซอร์ โดนเตือนว่าละเมิดกฎการแต่งตัว จากการใช้รองเท้าเทนนิสพื้นส้ม จากกฎที่อนุญาตให้สวมใส่เครื่องแต่งกายทุกอย่างเฉพาะสีขาวเท่านั้น 
 
ส่วนยอดขายของไนกี้ในไตรมาสที่ผ่านมา แม้ว่าจะเติบโตขึ้นในตลาดสหรัฐและตลาดเกิดใหม่บางที่ แต่กลับพบว่าไม่ค่อยมีการเติบโตมากนักในจีน และตกต่ำลงในญี่ปุ่นกับยุโรปตะวันตก 
 
ในจีนไนกี้จำเป็นต้องจัดการกับปริมาณสินค้าคลังคงเหลือที่อยู่ในตลาดจำนวนมาก และคุณภาพของสินค้ากับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจำเป็นที่จะต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่
 
ขณะที่ "มาร์ค พาร์คเกอร์" ซีอีโอไนกี้ อิงค์ กล่าวว่า "การที่จะกลับมาเติบโตในตลาดจีนได้นั้น ต้องอาศัยความมีวินัยและความอดทน เพราะเรากำลังอยู่ในการแข่งขันวิ่งแบบมาราธอนไม่ใช่การแข่งวิ่งระยะสั้น"
 
นอกจากนี้ ไนกี้ยังได้ปรับเปลี่ยนทีมผู้บริหารเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา โดยประกาศการโยกย้ายรวมถึงการเกษียณอายุของ "ชาร์ลี เดนสัน" ประธานบริษัทของแบรนด์ไนกี้
 
 
โรงงานตัดเย็บผ้าอินเดียถล่มดับ 1 เจ็บ 15
 
4 ก.ค. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ในวันนี้ (4 ก.ค.) เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นของอินเดีย กล่าวถึง อุบัติเหตุอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น เกิดถล่มกะทันหันในย่าน Thane ใกล้กับนครมุมไบ ประเทศอินเดีย ส่งผลกระทบความเสียหายอย่างรุนแรง ทั้งยังทำให้มีเหยื่อเคราะห์ร้าย เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บสาหัส อีก 15 คน เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อาคารดังกล่าวเป็นโรงงานตัดเย็บผ้า ซึ่งตัวอาคารนั้นอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างเก่าและทรุดโทรมาก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้
 
ทั้งนี้ พยานซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ว่า ย่านดังกล่าวมักมีการก่อสร้างอาคารที่ผิดกฎหมาย ซึ่งล่าสุด กลุ่มนายทุน ยังประกาศจะมีการก่อสร้างต่อเติมเพิ่มอีก 1 ชั้น เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ แต่ไม่คำนึงว่าตัวอาคารมีสภาพเป็นอย่างไร   อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่กู้ภัย ได้ลำเลียงผู้บาดเจ็บไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียงแล้ว
 
 
สายการบินโลว์คอสต์ในอินเดียงดจ้างสจ๊วด เหตุพนักงานหญิงน้ำหนักเบากว่าทำให้ประหยัดค่าเชื้อเพลิง
 
5 ก.ค. 56 - ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคข้าวยากหมากแพงนั้น ทุกบริษัทต่างพยายามเสาะหาวิธีลดรายจ่ายเพื่อความอยู่รอดกันถ้วนหน้า ล่าสุดการรัดเข็มขัดยังลามไปยังธุรกิจสายการบินภายหลังสายการบิน “โก แอร์” ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำในอินเดีย ประกาศจ้างเฉพาะพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน “หญิง” เท่านั้น โดยอ้างว่าเป็นไปตามนโยบายลดต้นทุนทางด้านเชื้อเพลิงนั่นเอง
 
ทั้งนี้ เพราะพนักงานหญิงนั้นมีน้ำหนักเบากว่าพนักงานชายราว 14-19 กิโลกรัม ดังนั้นทางสายการบินจึงสามารถประหยัดรายจ่ายได้สูงถึง 3.3 แสนปอนด์ (ราว 16 ล้านบาท) ต่อปี
 
“การอ่อนค่าลงของเงินรูปีของอินเดีย ซึ่งเมื่อปีที่แล้วอ่อนค่าถึง 27% เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินอย่างหนัก เนื่องจากทำให้รายได้ลดลง” จีออร์โจ เดอ โรนี ประธานสายการบิน กล่าว พร้อมยืนยันว่า พนักงานชายทั้งหมด 132 คนนั้น จะไม่ถูกไล่ออกอย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าทางสายการบินจะไม่จ้างพนักงานชายเพิ่มในอนาคต
 
นอกจากนี้ ทาง โก แอร์ ยังเตรียมลดจำนวนหน้าของนิตยสารที่แจกบนเครื่อง รวมทั้งลดปริมาณน้ำในถังกักเก็บบนเครื่องจาก 100% เหลือเพียง 60% เพื่อช่วยให้เครื่องมีน้ำหนักเบาลง
 
 
กรีซป่วน ข้าราชการประท้วงมาตรการปลดพนักงาน
 
8 ก.ค.56 - ข้าราชการชาวกรีซหลายพันคน ผละงานประท้วงในวันนี้ เพื่อต่อต้านการตัดลดพนักงานภาครัฐรอบใหม่ตามกฎหมายที่ออกโดยรัฐบาล ซึ่งก็เป็นไปตามเงื่อนไขเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป หรืออียู และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ โดยในกรุงเอเธนส์ ข้าราชการหลายพันคนที่เป่านกหวีด ชุมนุมประท้วงนอกกระทรวงปฏิรูป ขณะที่ รัฐบาลเตรียมคลอดกฎหมายปลดพนักงานฉบับใหม่
 
ฝูงชนประมาณ 4,000 คน ซึ่งรวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบจำนวนมาก ที่หลายคนอาจต้องตกงานในการปลดพนักงานภาครัฐครั้งนี้
 
สหภาพข้าราชการ เอดีอีดีวาย ระบุในแถลงการณ์ว่า ในประเทศที่มีอัตราการว่างงานทะลุถึงร้อยละ 30 และวัยหนุ่มสาวตกงานมากถึงร้อยละ 60 มาตรการใหม่นี้ ซึ่งจะยิ่งทำให้ประชาชนยากจนมากยิ่งขึ้น ยังจะถูกนำมาใช้อีก
 
เมื่อเช้าวันนี้ เจ้าหนี้ระหว่างประเทศของกรีซ ประกาศในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยมว่า เจ้าหน้าที่ตรวจสอบบัญชีเกี่ยวกับการปฏิรูปของกรีซ ลงความเห็นให้ปล่อยกู้จำนวน 8,100 ล้านยูโร หรือ 10,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากรายงานดังกล่าวผ่านความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรีคลังยูโรโซน ซึ่งมีกำหนดประชุมกันในบ่ายวันนี้ในกรุงบรัสเซลส์ เพื่อตรวจสอบว่า กรีซได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขเงินกู้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เพื่อแลกกับเงินกู้งวดต่อไป
 
 
บราซิลประกาศแผนจ้างแพทย์เพิ่มนับหมื่นตำแหน่ง
 
9 ก.ค. 56 - รัฐบาลบราซิลเปิดเผยโครงการจ้างแพทย์เพิ่มเติมราว 10,000 ตำแหน่งในเวลา 3 ปี คิดเป็นมูลค่าการลงทุนถึง 1,207 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์บราซิล แต่จะจ้างแพทย์ต่างชาติด้วยหลายพันคนเข้ามาเติมเต็มส่วนที่ขาด ซึ่งแพทย์จะได้เงินเดือนถึง 4,500 ดอลลาร์ โครงการนี้มีขึ้นหลังฝูงชนลุกฮือประท้วงใหญ่ หนึ่งในข้อเรียกร้องคือให้รัฐบาลปรับปรุงระบบบริการสาธารณสุข แต่ถูกแพทย์บราซิลส่วนหนึ่งต่อต้าน แม้รัฐบาลระบุว่าขาดแคลนแพทย์ 54,000 ตำแหน่งทั่วประเทศ
 
 
สหภาพแรงงานใหญ่กรีซ เตรียมนัดหยุดงานประท้วงสัปดาห์หน้า ต้านแผนปลด พนง.ภาครัฐ
 
10 ก.ค. 56 - รายงานข่าวระบุว่า สหภาพแรงงาน “จีเอสอีอี” ซึ่งเป็นองค์กรด้านแรงงานของภาคเอกชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของกรีซและมีสมาชิกกว่า 2.5 ล้านคนประกาศในวันพุธ (10) ว่า การนัดหยุดงานประท้วงวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงจุดยืนต่อต้านแผนลดตำแหน่งงานภาครัฐอีก 12,500 อัตรา ภายในเดือนกันยายน รวมถึงแผนของรัฐบาลที่เตรียมปลดลูกจ้างของรัฐอีก 25,000 คน จากจำนวนลูกจ้างรัฐที่มีอยู่กว่า 600,000 รายในช่วงสิ้นปีนี้
       
แผนปลดพนักงานภาครัฐดังกล่าวของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอันโตนิส ซามาราส กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง แม้ทางรัฐบาลจะอ้างว่าเป็นมาตรการที่จำเป็น เพื่อลดค่าใช้จ่ายภาครัฐตามเงื่อนไขการขอรับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ 2 ครั้ง ในวงเงิน 240,000 ล้านยูโร ที่กำหนดโดยเจ้าหน้าที่ต่างชาติ คือ สหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)
       
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน กรีซกลายเป็นหนึ่งในดินแดนที่มีอัตราการว่างงานสูงที่สุดในโลกตะวันตก โดยมีตัวเลขว่างงานสูงกว่าอัตราว่างงานเฉลี่ยของกลุ่มยูโรโซนถึง 2 เท่า จากระดับการว่างงานล่าสุดที่สูงถึงเกือบร้อยละ 27
 
 
บราซิลผละงานประท้วงใหญ่เรียกร้องสภาพการทำงานที่ดีขึ้น
 
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงบราซิเลีย ประเทศบราซิล เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ว่า แรงงานภาคอุตสาหกรรมในบราซิลหลายหมื่นคนทั่วประเทศพร้อมใจกันผละงานประท้วง เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐปรับปรุงเงื่อนไขการทำงาน และแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ
 
สหภาพแรงงาน 5 แห่งในบราซิลปลุกระดมให้สมาชิกหลายหมื่นคนออกมาเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดเนื่องใน "วันแห่งการต่อสู้ของชนชั้นแรงงานแห่งชาติ" ใน 18 รัฐทั่วประเทศ จากทั้งหมด 26 รัฐ รวมถึงรัฐรีโอเดจาเนโรและเซาเปาลู ซึ่งผู้ชุมนุมได้นำรั้วมาปิดกั้นเส้นทางการจราจร และจัดการสร้างที่พักชั่วคราวบนถนนหลายสายด้วยความรวดเร็ว ส่งผลให้บริษัท ห้างร้าน โรงเรียนและสถานที่ราชการทุกแห่งต้องหยุดทำการกำหนด รวมถึงท่าเรือขนส่งสินค้าที่เมืองซานโตส ซึ่งเป็นท่าเรือใหญ่ที่สุดในอเมริกาใต้ด้วย
 
ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องหลักของกลุ่มผู้ชุมนุมคือ การขึ้นค่าจ้างแต่ขอให้เวลาการทำงานลดลง ความปลอดภัยในการทำงาน ระบบขนส่งสาธารณะที่ต้องได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นเร็วที่สุด การแก้ไขปัญหาเงินเห้อที่รุมเร้าบราซิลมานานหลายปี และการเพิ่มมาตรการกระตุ้นการลงทุนในภาคการศึกษาและสาธารณสุข
 
แม้ภาพรวมของการชุมนุมจะเดินขบวนจะเป็นไปอย่างสงบ แต่มีผู้ประท้วงบางส่วนก่อเหตุกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลที่ตรึงกำลังอยู่ในหลายจุด ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางเพื่อสลายการชุมนุม เบื้องต้นยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่ที่เมืองรีโอเดจาเนโรมีผู้ถูกจับกุมแล้ว 12 คน เป็นผู้เยาว์ 2 คน
 
การประท้วงใหญ่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 หลังการประท้วงให้ลดราคาค่าโดยสารรถประจำทางและแก้ไขระบบการศึกษาในช่วงการแข่งขันฟุตบอล "คอนเฟเดอเรชั่นส์ คัพ" เมื่อเดือนที่แล้ว แม้ประธานาธิบดีดิลมา รุสเซฟฟ์ ผู้นำบราซิลให้คำมั่นจะจัดลงประชามติ แต่หลายฝ่ายมองว่าเป็นการปฏิรูปการเมืองมากกว่าเพื่อความต้องการของประชาชน และอาจส่งผลต่อคะแนนนิยมของเธอในการเลือกตั้งปีหน้าด้วย
 
 
ชาวกรีซผละงานวันนี้ประท้วงแผนเลิกจ้างลูกจ้างภาครัฐ
 
16 ก.ค. 56 - ชาวกรีซหลากหลายอาชีพจะผละงานในวันนี้เพื่อประท้วงรัฐบาลที่เตรียมจะเลิกจ้างลูกจ้างภาครัฐจำนวนมากตามเงื่อนไขการรับความช่วยเหลืองวดใหม่จากเจ้าหนี้ต่างชาติ ขณะที่อัตราว่างงานในประเทศใกล้แตะร้อยละ 27 แล้ว
 
การเดินขบวนของลูกจ้างเทศบาลที่ดำเนินมานานกว่าสัปดาห์จะทวีความเข้มข้นขึ้นในวันนี้ เมื่อพนักงานเก็บขยะ คนขับรถโดยสาร พนักงานธนาคาร ผู้สื่อข่าวและอีกหลายอาชีพจะเข้าร่วมการชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภาในวันนี้ ก่อนที่รัฐสภาจะลงมติในวันพุธเรื่องมาตรการปฏิรูปที่รัฐบาลตกลงกับสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ตามเงื่อนไขความช่วยเหลือมูลค่า 6,800 ล้านยูโร (ราว 278,800 ล้านบาท) เช่น การเลิกจ้างครูอาจารย์ ตำรวจเทศบาล และเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่น รวมหลายหมื่นคน
 
สหภาพแรงงานเอกชนและสหภาพแรงงานภาครัฐ ซึ่งมีสมาชิกรวมกัน 2.5 ล้านคน ประกาศจะเดินหน้าต่อสู้เพื่อยุตินโยบายที่เข่นฆ่าคนงานและทำให้เศรษฐกิจถดถอยรุนแรงยิ่งกว่าเดิม สหภาพสองแห่งนี้ชักชวนสมาชิกชุมนุมตามท้องถนนมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่กรีซเข้าสู่วิกฤตหนี้ในปลายปี 2552 
 
สหภาพการบินพลเรือนพร้อมใจกันผละงานเป็นเวลา 4 ชั่วโมง ซึ่งจะกระทบต่อเที่ยวบินเข้าออกกรุงเอเธนส์ ขณะที่พนักงานขับรถโดยสารและรถรางผละงานในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนตอนเช้าและตอนเย็น รถไฟ สำนักงานสรรพากร และหน่วยงานเทศบาลทุกแห่งปิดทำการ
 
 
สายการบินสปริงแอร์จีน เพิ่มเกณฑ์อายุในการจ้างพนักงานสาวบนเครื่องบิน
 
17 ก.ค. 56 - สายการบินสปริงแอร์ ของประเทศจีนตัดสินใจเพิ่มเกณฑ์อายุในการจ้างแอร์โฮสเตส หรือพนักงานหญิงผู้ให้บริการอำนวยความสะดวกบนเครื่องบิน โดยมีอายุระหว่าง 25-45 ปี จากเดิมที่จะจำกัดอายุไม่เกิน 35 ปี โดยให้เหตุผลว่า ผู้หญิงในวัยดังกล่าวมีพร้อมทั้งระดับการศึกษา วุฒิภาวะทางอารมณ์ และความน่าเชื่อถือมากกว่าเด็กสาวที่อายุน้อยกว่า
 
ขณะเดียวกัน รายงานยังระบุอีกว่า ผู้สมัครหญิงที่สมรสและมีลูกแล้วจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
 
ด้านหนังสือพิมพ์ ไชน่า เรียล ไทม์ รายงานว่า วิธีการคัดเลือกพนักงานแอร์โฮสเตสของสปริง แอร์ไลน์ ครั้งนี้ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมปฏิบัติที่นิยมของสายการบินทั่วไปของจีน ซึ่งมักเน้นหนักที่ความงามและความอ่อนเยาว์ ถึงขนาดที่บางสายการบินจัดเวทีคล้ายกับเวทีประกวดนางงามเพื่อคัดเลือกพนักงานเข้ามาทำหน้าที่แอร์โฮสเตส หนึ่งในอาชีพที่ได้รับความนิยมจากสาววัยรุ่นทั่วจีน ที่ต้องการโอกาสในการท่องเที่ยวทั่วโลก และค่าตอบแทนที่ดี
 
ทั้งนี้ สปริงแอร์ กล่าวว่า การเพิ่มเกณฑ์อายุครั้งนี้ มีขึ้นภายหลังผลการสำรวจเมื่อไม่นานมานี้ที่พบว่า 72% ของผู้โดยสารชอบที่ได้รับการบริการจากแอร์โอสเตสที่มากด้วยประสบการณ์มากกว่า พร้อมระบุว่า ผู้สมัครที่มีประสบการณ์การทำงานด้านการบริการบนเครื่องบินอย่างกว้างขวางจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษเช่นกัน และยอมรับว่า แม้แอร์โฮสเตสอายุน้อยจะมีชีวิตชีวาและความกระตือรือร้นมากกว่า แต่แอร์โฮสเตสที่มีอายุเพิ่มขึ้นมาจะน่าเชื่อถือและมีวุฒิภาวะมากกว่า
 
"เราเชื่อว่าผู้หญิงหลายคนใฝ่ฝันที่จะได้ทำงานในแวดวงอุตสาหกรรมการบินไม่ว่าจะมีอายุเท่าไหร่ก็ตาม" แถลงการณ์ของสายการบินระบุ
 
 
เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์นับหมื่น ในเปรู รวมตัวประท้วงเรียกร้องให้มีการเพิ่มค่าแรง
 
17 ก.ค. 56 - เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ภาคส่วนสาธารณะราว 15,000 คน ในเปรู พากันออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องให้มีการเพิ่มค่าจ้าง ขณะที่ เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขของเปรู กล่าวว่า การประท้วงมีขึ้นท่ามกลางการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เอช 1 เอ็น 1 (H1N1) ที่คร่าชีวิตประชาชนแล้ว 3 ราย
 
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์กล่าวยืนยันว่า ผู้ป่วยในห้องหน่วยอภิบาล หรือ ห้องไอซียู และหน่วยฉุกเฉิน จะไม่ได้รับผลกระทบจากการลุกฮือประท้วงของเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ในครั้งนี้
 
 
รัฐสภากรีซลงมติผ่านร่างกม.ปลดลูกจ้างภาครัฐมากกว่าหมื่นคน
 
18 ก.ค. 56 - สภากรีซมีมติแบบฉิวเฉียด ด้วยคะแนน 153-140 เสียง ผ่านร่างกฎหมายแก้ไขโครงสร้างระบบบริหารราชการ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการปฏิรูปที่รัฐบาลตกลงกับสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ตามเงื่อนไขความช่วยเหลือมูลค่า 6,800 ล้านยูโร (ราว 278,800 ล้านบาท) เช่น การเลิกจ้างครูอาจารย์ ตำรวจเทศบาล และเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่น รวมหลายหมื่นคน
 
ภายใต้มติดังกล่าว ตามแผนดังกล่าว รัฐบาลจะต้องเลิกจ้างเจ้าหน้าที่มากกว่า 4,000 ตำแหน่ง ซึ่งรวมถึง ครูอาจารย์ และข้าราชการท้องถิ่นภายในปีนี้ และอีกราว 11,000 คน ภายในปี 2014  ทั้งนี้ ลูกจ้างรัฐจะได้รับเงินเดือนร้อยละ 75 ของอัตราเงินเดือนจริง นาน 8 เดือน และหลังจากนั้น หากไม่ได้รับการโอนย้ายไปแผนกหรือหน่วยงานอื่น ก็จะถูกเลิกจ้าง
 
รัฐบาลผสมกรีซ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอันโตนิส ซามาราส  แถลงปกป้องมาตรการดังกล่าวว่า ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องบังคับใช้มาตรการที่อาจทำให้หลายฝ่ายเจ็บปวด พร้อมกับประกาศปรับลดอัตราภาษีการขายอีกร้อยละ 10 เพื่อนำเงินที่ได้ไปกระตุ้นภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ขณะที่อัตราว่างงานในประเทศพุ่งขึ้นแตะร้อยละ 27 แล้ว
 
โดยในระหว่างการอภิปราย ผู้ประท้วงหลายพันคนได้มาร่วมตัวกันบริเวณหน้าอาคารรัฐสภาในกรุงเอเธนส์  เพื่อประท้วงคัดค้านการลงมติรับรองร่างกฎหมายใหม่ของรัฐบาล แต่ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 16 ก.ค. แรงงานชาวกรีซหลายแสนคนเข้าร่วมผละงานเป็นเวลา 24 ชม. ตามคำเรียกร้องของสหภาพแรงงาน เพื่อประท้วงแผนการเลิกจ้างลูกจ้างภาครัฐของรัฐบาล
 
 
ILO ชี้สภาพการทำงานของแรงงานกัมพูชาแย่ยิ่งกว่าเดิม
 
18 ก.ค. 56 - องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO เผยว่า ความพยายามของกัมพูชาในการปรับปรุงสภาพการทำงานในอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเสื่อมถอยลง หลังเกิดเหตุประท้วงหลายครั้งตามโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปให้แก่บริษัทชาติตะวันตก
       
รายงานของ ILO ระบุว่า กัมพูชาประสบความล้มเหลว และไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกิดขึ้นเลย หากพิจารณาถึงเรื่องสภาพแวดล้อมการทำงานในหลายด้าน เช่น แรงงาน การรักษาความปลอดภัยจากเหตุเพลิงไหม้ และการใช้แรงงานเด็ก
       
“จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่า สภาพการทำงานในปัจจุบันของคนงานกัมพูชาเสื่อมถอยลง นับจากช่วงปี 2548-2554 ที่ยังมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น กัมพูชาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับเปลี่ยนสภาพการณ์เลวร้ายให้ได้ มิฉะนั้น ก็เสี่ยงที่จะต้องสูญสียผลประโยชน์ที่เคยทำให้กัมพูชามีชื่อเสียงในด้านสภาพแวดล้อมการทำงาน” จิลล์ ทัคเกอร์ หัวหน้าที่ปรึกษาด้านวิชาการ ประจำโครงการปรับปรุงสภาพโรงงานกัมพูชาให้ดีขึ้น ของ ILO ระบุ
       
รายงานของ ILO ยังระบุอีกว่า จากการสำรวจโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปมากกว่า 10 แห่ง พบว่าบางแห่งใส่กุญแจปิดตายทางหนีไฟในระหว่างชั่วโมงการทำงาน ในขณะที่บางแห่งก็ไม่ได้จัดการซ้อมรับมือเหตุเพลิงไหม้ทุกๆ 6 เดือน นอกจากนี้ ยังพบปัญหาอากาศภายในสถานทำงานร้อนอบอ้าว ไม่สะอาดถูกหลักอนามัย รวมทั้งมีการจ้างแรงงานเด็กด้วย
       
ปัญหาความวิตกกังวลเรื่องความปลอดภัยของคนงานในโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปของกัมพูชายิ่งทวีความรุนแรงขึ้น หลังจากเกิดเหตุหลังคาโรงงานผลิตรองเท้าของไต้หวัน พังถล่มลงมา ทำให้คนงานเสียชีวิต 2 คน เมื่อเดือน พ.ค.
       
บรรดาคนงานในอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปได้จัดชุมนุมประท้วงต่อเนื่องหลายครั้ง เพื่อต่อต้านค่าจ้างแรงงานถูก รวมทั้งสภาพการจ้างงานที่ย่ำแย่ ในอุตสาหกรรมมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่มีการจ้างงานแรงงานราว 650,000 คน และถือเป็นแหล่งรายได้จากต่างชาติที่สำคัญของประเทศ.
 
 
ภาคการเกษตรสหรัฐฯ ขาดแคลนคนงานและต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวอย่างหนัก
 
25 ก.ค. 56 - ภาคการเกษตรของสหรัฐฯ ขาดแคลนแรงงานที่ช่วยทำงานเพื่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตในฟาร์มมานานอย่างน้อยถึงสิบปีแล้ว และส่วนหนึ่งต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวจากเม็กซิโกและประเทศละตินอเมริกาซึ่งข้ามพรมแดนเข้าไปทำงานในสหรัฐฯ แบบไปเช้าเย็นกลับ ส่วนใหญ่ของแรงงานต่างด้าวดังกล่าวมีปัญหาในการขอวีซ่าจึงอยู่ในสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย โดยตัวเลขขณะนี้แสดงว่ามีแรงงานผิดกฎหมายอยู่ในสหรัฐฯ ราว 11 ล้านคนและ 1.2 ล้านคนช่วยงานอยู่ในภาคการเกษตร
 
ขณะนี้สมาคมผู้ผลิตทางการเกษตรในรัฐด้านตะวันตกของสหรัฐฯ และสหภาพแรงงานคนงานในฟาร์ม สนับสนุนร่างกฎหมายปฏิรูประบบคนเข้าเมืองฉบับที่ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาสหรัฐฯ  ซึ่งจะเปิดโอกาสให้แรงงานผิดกฎหมายเหล่านี้ได้สัญชาติอเมริกันภายใน 11 ปี แต่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ยังไม่ผ่านร่างของตน และยังมีจุดยืนที่แตกต่างกันอยู่ระหว่างร่างกฎหมายของทั้งสองสภา ซึ่งเกษตรกรในสหรัฐฯ ได้เตือนว่าหากไม่มีกฎหมายเพื่อปฏิรูประบบคนเข้าเมืองนี้แล้ว การผลิตในภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ จะไม่เพียงพอกับความต้องการและต้องนำเข้าจากต่างประเทศมาทดแทน ซึ่งก็หมายถึงว่าผู้บริโภคชาวอเมริกันจะต้องจ่ายเงินซื้อพืชผักผลไม้แพงขึ้นนั่นเอง
 
 
แรงงานประท้วงรบ.ตูนิเซียเหตุยุติบริการเที่ยวบิน
 
26 ก.ค. 56 - เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้รับแจ้งเกิดเหตุกลุ่มสหภาพแรงงานจำนวนมากนัดประท้วงหยุดงานกลางกรุงตูนิส ท่ามกลางการปะทะเดือดกันระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลในหลายพื้นที่ มีชนวนสาเหตุมาจากการลอบสังหารผู้นำพรรคฝ่ายค้านคนสำคัญเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา
 
ในขณะนี้ เหตุปะทุความรุนแรงเริ่มเลวร้ายขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลกระทบไปถึงการบริการเที่ยวบินเกือบทุกสายการบิน ทั้งไปและกลับ โดยถูกยกเลิกการให้บริการฉุกเฉิน ซึ่งหัวหน้าทีมงาน และประธานบริษัท สายการบินออกมาแถลงการณ์ถึงสาเหตุความเดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบนั่นเอง
 
ทั้งนี้ กลุ่มประท้วงสหภาพแรงงาน ยังพยายามเร่งบีบบังคับให้รัฐบาลทำการลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบสำหรับเหตุการณ์ที่พวกเขาต้องสูญเสีย อย่างไรก็ตาม ทางด้านรัฐบาลของตูนิเซีย ยังไม่มีการแถลงการณ์ตอบโต้ หรือ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใด
 
 
สเปนตั้งข้อหาพนักงานขับรถไฟมรณะประมาท
 
27 ก.ค. 56 - สำนักข่าวบีบีซี ของอังกฤษ รายงานว่า นายฮอร์เก เฟอร์นันเดซ ดิแอซ รัฐมนตรีมหาดไทยของสเปน ยืนยันว่า นายฟรานซิสโก โฮเซ การ์ซอน อาโม พนักงานขับรถไฟมรณะ ที่ประสบอุบัติเหตุตกราง มีผู้เสียชีวิต 78 คน ถูกตั้งข้อหา ประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต เนื่องจากถูกสงสัยว่า ขับรถเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนด
 
รายงานระบุว่า นายการ์ซอน ซึ่งได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยจากอุบัติเหตุ ถูกนำตัวไปยังสถานีตำรวจแห่งหนึ่ง เพื่อ
สอบสวน เนื่องจากสงสัยว่า ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนดในช่วงเข้าโค้ง เพราะรายงานของการรถไฟ ระบุว่า รถไฟความเร็วสูง วิ่งมาด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดถึง 2 เท่า ในช่วงเกิดเหตุ
 
ขณะเดียวกัน นายจูลิโอ โกเมซ โปมาร์ ประธานบริษัทรถไฟ กล่าวว่า รถไฟไม่มีปัญหาทางเทคนิคอย่างแน่นอน พร้อมกับยืนยันว่า คนขับเป็นพนักงานที่มีประสบการณ์สูงด้วยเช่นกัน 
 
 
 
 
ที่มาเรียบเรียงจาก: ประชาชาติธุรกิจ, มติชนออนไลน์, เดลินิวส์, โพสต์ทูเดย์, สำนักข่าวไทย, VOA, ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net