วิวาทะว่าด้วย “รัฐไทย” ในหมู่ปัญญาชนฝ่ายซ้ายหลัง “ป่าแตก”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในวาระครบรอบ “วันเสียงปืนแตก 7 สิงหาคม” นี้ คงเป็นการดียิ่งที่จะกล่าวถึงผลสะเทือนที่เกิดขึ้นจากการล่มสลายของ พคท. ในช่วงปี 2524 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลสะเทือนที่มีต่อความคิดเกี่ยวกับ “รัฐ” ของปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทย ซึ่งแสดงออกในลักษณะของการวิวาทะอย่างเปิดเผยระหว่างปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทยที่มีชื่อเสียงแห่งยุคสมัย 2 คน นั่นคือ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ และ เกษียร เตชะพีระ ผ่านทางวารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง ซึ่งถือว่าเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ทรงอิทธิพลมากในช่วงทศวรรษ 2520 ดังที่จะได้เห็นข้างหน้า สิ่งที่อยู่เบื้องหลังของการวิวาทะในหมู่ปัญญาชนฝ่าซ้ายเหล่านี้ ไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นถึงรูปโฉมของ “รัฐไทย” ที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วเท่านั้น หากแต่ยังสะท้อนให้เห็นว่า พวกเขาได้หันเหไปสู่ “ทฤษฎีการเมือง” ชนิดใหม่ที่แตกต่างออกไปจากก่อนหน้านั้นแล้วด้วย ซึ่งในที่นี้ก็คือ ลัทธิมาร์กซคลาสสิค กับ ลัทธิมาร์กซตะวันตก นั่นเอง

กระนั้น วิวาทะว่าด้วย “รัฐไทย” ก็เป็นเพียง “กรณีเล็กๆ” กรณีหนึ่งท่ามกลางหลายหลากกรณีซึ่งเกิดขึ้นในช่วง “รอยต่อ” ของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิปัญญาครั้งใหญ่ของปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทยภายหลังการล่มสลายของ พคท. เท่านั้น และแน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงทางความคิดครั้งใหญ่นี้จะส่งผลสะเทือนต่อการให้ความหมายและแสดงออกต่อวันที่ “7 สิงหา” อย่างไพศาลด้วย

 

ความรุ่งโรจน์และเสื่อมสลายของกระแส “ลัทธิเหมาเจ๋อตุง” หลังกรณี 14 ตุลาคม 2516

ในช่วงเวลาไม่กี่ปีภายหลังการระเบิดขึ้นของกรณี 14 ตุลาคม 2516 กระแสความคิด “ลัทธิเหมาเจ๋อตุง” ของ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)[๒] ก็ได้เติบโตขึ้นและแผ่ขยายเข้ามามีอิทธิพลในหมู่นักศึกษาและปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้าไทยอย่างกว้างขวาง ดังจะเห็นได้จาก การให้ความสนใจอย่างมากต่อ “จีนคอมมิวนิสต์” ผ่านการจัด “นิทรรศการจีนแดง” ของ องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในต้นปี 2517, การตีพิมพ์หนังสือในแนวสังคมนิยมออกจำหน่ายจำนวนมาก, การตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ และวารสารในเชิงก้าวหน้าออกมาเป็นจำนวนมาก เช่น ประชาชาติ, ประชาธิปไตย, เสียงใหม่, The Nation,  อธิปัตย์, มหาราษฎร์, จตุรัส, เอเชียวิเคราะห์ข่าว, สังคมศาสตร์ปริทัศน์, ปุถุชน และ อักษรศาสตร์พิจารณ์, การที่หนังสือแนวสังคมนิยมยังคงถูกตีพิมพ์เผยแพร่อย่างต่อเนื่องและครอบครองส่วนใหญ่ของตลาดหนังสือในช่วงระหว่างปี 2518 – 2519, การที่แม้แต่สำนักพิมพ์ทั่วๆ ไปที่ไม่ได้มีหัวก้าวหน้าก็ตีพิมพ์หนังสือซึ่งเสนอความรู้เกี่ยวกับจีนและแนวทางสังคมนิยม, การที่เอกสารภายในของ พคท. หลายชิ้นถูกนำมาตีพิมพ์เผยแพร่อย่างเปิดเผย การที่มีการก่อตั้งพรรคการเมืองแนวสังคมนิยมที่ถูกกฎหมายขึ้น 3 พรรค ได้แก่ พรรคแนวร่วมสังคมนิยม, พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย และพรรคพลังใหม่ ไปจนถึงการที่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นมีหัวอนุรักษ์นิยมประกาศว่าจะใช้นโยบาย “สังคมนิยมอ่อนๆ”[๓]

ทว่าในช่วงไม่กี่ปีต่อมา กระแสความคิดสังคมนิยมของ พคท. ที่กำลังพุ่งขึ้นสู่กระแสสูงอย่างรวดเร็วก็เกิดวิกฤตการณ์และตกต่ำอย่างรวดเร็ว เมื่อผู้นำนักศึกษาและปัญญาชนฝ่ายค้านไทยที่เคยยืนอยู่แถวหน้าสุดในแนวร่วมซึ่งนำโดย พคท. กลับกลายเป็นผู้ยืนอยู่แถวหน้าสุดในการวิพากษ์วิจารณ์ พคท. อย่างไม่ปราณี บุญส่ง ชเลธร ประกาศ “ลาก่อนแนวทางชนบทล้อมเมืองและยึดเมืองในที่สุด” ยุค ศรีอาริยะ เขียน บันทึกกบฏ ประกาศว่า “ผมออกมาเพื่อท้าทายความศักดิ์สิทธิ์ของพรรค” และเปิดฉาก “วิพากษ์ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีในการปฏิวัติของ พคท.” อย่างรุนแรง แต่ยืนหยัดพิทักษ์ความถูกต้องของลัทธิมาร์กซ์-เลนิน เสกสรรค์ ประเสริฐกุล วิจารณ์ พคท. ว่า “ไม่เป็นประชาธิปไตย” และประกาศว่า “ผมต้องการที่จะเลิกปฏิวัติ” ธีรยุทธ บุญมี ประกาศแยกทางกับ พคท. อย่าง “สุภาพบุรุษ” เกรียงกมล เลาหะไพโรจน์ อนุช อาภาภิรม ชำนิ ศักดิเศรษฐ์, วิสา คัญทัพ พีรพล ตริยะเกษม ชัยวัฒน์ สุรวิชัย และสมาชิกพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยคนอื่นๆ ประกาศตัดความสัมพันธ์ทั้งปวงที่เคยมีกับขบวนการปฏิวัติ ปรีดี บุญซื่อ เสนอว่า ลัทธิมาร์กซ์อับจนแล้วและมิใช่อะไรอื่นนอกจาก ปีศาจวิทยาแห่งการเปลี่ยนแปลง ปี 2525 “กลุ่มเพื่อนไทยในยุโรป” ตีพิมพ์ วิกฤตการณ์ฝ่ายก้าวหน้าไทยในปัจจุบัน ขณะที่ ธิดา ถาวรเศรษฐ์ และ เหวง โตจิราการ ประกาศว่า “ป่าแตก” แล้วในปี 2526 วิกฤตและความขัดแย้งภายในขบวนการฝ่ายซ้ายไทยดังกล่าวนี้ลงเอยด้วยการล่มสลายของ พคท. ในช่วงปี 2525[๔]

การล่มสลายของ พคท. และ “ลัทธิเหมาเจ๋อตุง” ได้เปิดพื้นที่ให้อุดมการณ์ทางการเมืองชนิดอื่น ไม่ว่าจะเป็นความคิดทางการเมืองแบบพุทธศาสนา วัฒนธรรมชุมชน หรือแม้แต่ลัทธิมาร์กซ์ชนิดอื่นที่ไม่ใช่ลัทธิเหมาเจ๋อตุง ได้ก้าวขึ้นมาแสดงบทบาทสำคัญบนเวทีการเมืองแทนที่ ดังที่จะได้เห็นข้างหน้าว่า ในช่วงที่ พคท. กำลังตกต่ำนี้ ก็ได้มีนักศึกษาและปัญญาชนฝ่ายซ้ายส่วนหนึ่งพยายามหันไปรื้อฟื้นเอา “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” (Classical Marxism)[๕] ซึ่งปรากฏอยู่ในสังคมไทยมาก่อน 14 ตุลาคม 2516 แล้วกลับมาใช้วิเคราะห์สังคมและการเมืองไทยอีกครั้ง โดยมองว่า “ลัทธิเหมาเจ๋อตุง” ไม่ใช่อันเดียวกันกับ “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” ซึ่งเป็นลัทธิมาร์กซ์ที่แท้จริงมากกว่า ขณะเดียวกัน ก็ได้มีปัญญาชนอีกส่วนหนึ่งหันไปหาหยิบฉวยคว้าเอา “ลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก” (Western Marxism)[๖] จากต่างประเทศเข้ามาปรับใช้วิเคราะห์สังคมและการเมืองไทยโดยมองว่า “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” เก่าแคบจำกัดอยู่แต่เรื่องทางเศรษฐกิจเกินไปจนใช้การไม่ได้แล้ว ขณะที่ “ลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก” ซึ่งให้ความสำคัญเรื่องอุดมการณ์ วัฒนธรรม จิตสำนึก น่าจะมีประสิทธิภาพในการวิเคราะห์สังคมการเมืองไทยมากกว่า  

อย่างไรก็ตาม การปรากฏตัวขึ้นของกระแส “ลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก” และ “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” ในช่วงหลัง “ป่าแตก” ในท้ายที่สุดก็ได้ก่อให้เกิดการวิวาทะครั้งสำคัญขึ้นระหว่าง 2 กระแสคิดนี้ ดังจะเห็นว่า ในช่วงปลายปี 2528 เมื่อ วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง อันโด่งดังได้ตีพิมพ์ฉบับเดือนตุลาคม 2528 – มีนาคม 2529 ออกเผยแพร่ต่อแวดวงวิชาการและคนทั่วไป สิ่งที่ทำให้ วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง ฉบับนี้เป็นที่สนใจของปัญญาชนไทยในเวลานั้น ก็คือ บทความที่เขียนขึ้นเพื่อเปิดฉากวิวาทะกันโดยตรงระหว่างปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทยรุ่นใหม่ 2 คน คนแรกคือ ลิขิต อุดมภักดี ผู้เป็นเจ้าของบทความเรื่อง “รัฐ: สิ่งปฏิกูลทางประวัติศาสตร์” และ “รัฐ: สิ่งปฏิกูลทางประวัติศาสตร์ (อีกครั้ง)” ส่วนคนหลังคือ อาคม ชนางกูร ผู้เป็นเจ้าของบทความเรื่อง “รัฐทุนนิยมระบบราชการไทย: บทเสนอว่าด้วยรัฐกับประชาสังคมในระบบทุนนิยมไทย” และ “รัฐกับประชาสังคมไม่ใช่สิ่งปฏิกูลทางทฤษฎี” โดยที่วิวาทะของทั้งคู่นี้ถูกปิดท้ายด้วย “บันทึกการอภิปราย” เรื่อง วิวาทะว่าด้วย “รัฐไทย” ของปัญญาชนฝ่ายซ้ายที่โด่งดังแห่งยุคอีกจำนวนหนึ่ง[๗] แต่ทว่าการวิวาทะในครั้งนี้ก็หาใช่อะไรอื่นไม่ หากแต่เป็นการวิวาทะกันครั้งสุดท้ายระหว่าง “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” และ “ลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก” นั่นเอง

เนื่องจากการวิวาทะครั้งนี้มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ความคิดของขบวนการฝ่ายซ้ายไทยอย่างมาก ดังจะเห็นว่า ในปี 2545 เมื่อ นภาพร อติวานิชยพงศ์ เขียนบทความเรื่อง “ภารกิจทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมือง” ตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือที่จัดพิมพ์ในวาระ 60 ปีของ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เธอเสนอว่า การวิวาทะในครั้งนี้คือ “วิวาทะครั้งสุดท้าย” ของ “วิวาทะทฤษฎีมาร์กซิสต์และแนวคิดสังคมนิยม” เพราะหลังจากนี้ไปแล้ว ก็ “ไม่มีการวิวาทะทางวิชาการเกี่ยวกับการใช้ลัทธิมาร์กซ์และสังคมไทยเกิดขึ้นอีก”[๘] ดังนั้น ในบทความชิ้นนี้ นอกจากผู้เขียนจะพยายามแสดงให้เห็นว่า ทฤษฎีการเมืองที่อยู่เบื้องหลังการวิวาทะว่าด้วย “รัฐ” ระหว่าง ลิขิต อุดมภักดี และ อาคม ชนางกูร นั้นคือการวิวาทะระหว่าง “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” และ “ลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก” แล้ว ยังจะแสดงให้เห็นว่า การวิวาทะในครั้งนี้ยังได้นำไปสู่ความพ่ายแพ้และอวสานของ “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” ในสังคมไทยอีกด้วย

 

การวิพากษ์ “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” โดยใช้ “ลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก” ของ เกษียร เตชะพีระ

ขณะเดียวกัน เพื่อที่จะทำให้เข้าใจวิวาทะว่าด้วย “รัฐไทย” ระหว่าง ลิขิต อุดมภักดี และ อาคม ชนางกูร ได้แจ่มชัดยิ่งขึ้น ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องย้อนรอยกลับไปสู่เหตุการณ์ทางการเมืองที่เป็นต้นกำเนิดที่แท้จริงของมันด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ กรณี “วิกฤตการณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2526 โดยเริ่มต้นจากการที่ “นายทหารกลุ่ม 66/2523” ซึ่งนำโดยพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบก พลตรีพิจิตร กุลละวาณิชย์ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 และ พลโทชวลิต ยงใจยุทธ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการได้พยายามเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 3 ประเด็น คือ ให้ข้าราชการประจำเป็นรัฐมนตรีได้ ให้คงอำนาจของวุฒิสภาเอาไว้ และให้ใช้วิธีการเลือกตั้งแบบเรียงเบอร์ โดยนายทหารกลุ่มนี้ได้ใช้สถานีวิทยุในเครือข่ายกองทัพบกออกอากาศโจมตีพรรคการเมือง และกลุ่มพลังที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกหนังสือปกขาวแถลงท่าทีและจุดยืนของกองทัพบกในเรื่องนี้ รวมทั้งการแสดงท่าทีต่อสาธารณะของทหารฝ่ายคุมกำลังเพื่อผลักดันให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา โดยอ้างคำสั่งนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 66/2523 เป็นเหตุผลในการเคลื่อนไหว แต่พวกเขาก็ต้องประสบกับความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงเมื่อการลงมติของสมาชิกรัฐสภาในวาระที่สามปรากฏผลออกมาว่ามีเสียงรับรองไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด อันมีผลให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวต้องตกไป[๙]

ในเวลาไม่นาน หลังจากเกิดกรณี “วิกฤตการณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ขึ้น เกษียร เตชะพีระ ก็ได้เขียนบทความขึ้นมาหนึ่งชิ้นชื่อ “ทฤษฎีว่าด้วยรัฐของลัทธิมาร์กซกับพัฒนาของรัฐชนชั้นนายทุนในรอบ 25 ปี” ตีพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกในหนังสือ คลื่นแห่งทศวรรษ ซึ่งจัดพิมพ์เป็นเล่มเมื่อปี 2526[๑๐] โดยในบทความ เกษียร ได้เปิดฉากวิพากษ์วิจารณ์ทฤษฎีว่าด้วย “รัฐ” ของ “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” อย่างรุนแรงว่า “ความเข้าใจเรื่องรัฐของลัทธิมาร์กซ์แบบทางการดั้งเดิม (orthodox marxism) ว่าคือเครื่องมือกดขี่ทางชนชั้นของชนชั้นปกครอง ตำแหน่งในรัฐบาลต้องกุมด้วยสมาชิกของชนชั้นปกครองล้วนๆ หรือที่ว่ารัฐเป็นสิ่งสะท้อนเจตนารมณ์บริสุทธิ์ทางอัตวิสัยของชนชั้นปกครองนั้น ไม่อาจประยุกต์ใช้ได้กับการอธิบายรัฐโดยทั่วไปในยุคทุนนิยมและรัฐไทยในช่วง 25 ปีโดยเฉพาะอย่างน่าพึงพอใจอีกต่อไป” โดยทฤษฎีที่อยู่เบื้องหลังการวิพากษ์ทฤษฎีว่าด้วย “รัฐ” ของ “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” ของ เกษียร ดังกล่าว ก็คือ ทฤษฎีว่าด้วยรัฐของ นิคอส ปูแลนท์ซัส (Nicos Poulantzas) ดังที่ เกษียร กล่าวว่า แม้ทฤษฎีว่าด้วยรัฐของ เลออน ทรอตสกี้ (Leon Trotsky) จะสามารถ “ประยุกต์ใช้ได้กับรัฐทุกรัฐ” ก็ตาม[๑๑] แต่ในโลกที่เป็นจริง ทฤษฎีว่าด้วยรัฐของ ปูลานซาส ที่ว่า “รัฐเป็นผลผลิต เป้าหมาย และตัวกำหนดความขัดแย้งทางชนชั้น” และรัฐ “มีอำนาจกำกับตัวเองโดยสัมพัทธ์” ใช้ได้มากกว่า[๑๒]

อย่างไรก็ตาม ในปี 2528 เมื่อ เกษียร เตชะพีระ ภายใต้นามปากกา “ประเสริฐ คงธรรม” นำเสนอบทความเรื่อง “ยุทธศาสตร์เชิงซ้อนในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบปัจจุบัน”[๑๓] แม้เขาจะยังคงวิพากษ์ทฤษฎีว่าด้วยรัฐของ “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” ที่มองว่า “รัฐเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองและถูกกำหนดจากฐานเศรษฐกิจ” อยู่ก็ตาม แต่ เกษียร ก็ได้กล่าวยอมรับอย่างเปิดเผยว่า ทฤษฎีว่าด้วย “รัฐ” ของ นิคอส ปูแลนท์ซัส (Nicos Poulantzas) ที่เขาเห็นดีเห็นงามด้วยในบทความเรื่อง “ทฤษฎีว่าด้วยรัฐของลัทธิมาร์กซกับพัฒนาของรัฐชนชั้นนายทุนในรอบ 25 ปี” นั้น ยังมี “ขีดจำกัด” อยู่บางประการ นั่นคือ “ยังตกอยู่ในความตึงเครียดของคำอธิบายรัฐเชิงอภิทฤษฎีที่แก้ไม่ตกอยู่” ซึ่ง เกษียร มองว่า การที่จะก้าวข้ามขีดจำกัดทางทฤษฎีนี้ไปได้จะต้องนำเอามโนภาพ “ประชาสังคมกระฎุมพี” เข้ามาช่วยอธิบาย[๑๔] เกษียร เปิดเผยว่า เขาได้รับอิทธิพลมาจากความคิด “ประชาสังคม” ของ อันโตนิโอ กรัมชี่, หลุยส์ อัลธูแซร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความคิด “ประชาสังคม” ของ “นักสังคมวิทยามาร์กซิสต์บางคน” ดังที่เขากล่าวว่า

 

มาร์กซิสต์หลังมาร์กซได้รับเอาความคิดเรื่องประชาสังคมไปใช้ในความหมายต่างๆ กันไปเพื่อประกอบการอธิบายรัฐกระฎุมพีสมัยใหม่ เช่น แกรมชี่ อธิบายว่าประชาสังคมหมายถึงสถาบันเอกชนนอกรัฐในโครงสร้างส่วนบน (ยังมีการตีความแย้งกันอยู่ว่า แกรมชี่รับเอาเศรษฐกิจไว้ในมโนภาพประชาสังคมของเขาหรือไม่) ส่วนอัลทุสแซร์อธิบายว่าประชาสังคมของมาร์กซหมายถึงเฉพาะภาคเศรษฐกิจล้วนๆ เท่านั้น (ส่วนโครงสร้างส่วนบนทั้งหมด อัลทุสแซร์จับไปรวมเข้ากับรัฐ) ล่าสุดได้มีนักสังคมวิทยามาร์กซิสต์บางคนพยายามขยายความประชาสังคมไปโดยพิสดารและเราจะขอถือเป็นฐานในการเอามโนภาพประชาสังคม มาประกอบการวิเคราะห์รัฐไทยในที่นี้[๑๕]

 

ดังที่จะได้เห็นต่อไปข้างหน้า “นักสังคมวิทยามาร์กซิสต์บางคน” ที่ เกษียร เตชะพีระ กล่าวถึงข้างต้นนี้ แท้จริงแล้วก็คือ จอห์น ยูร์รี่ (John Urry) “นักสังคมวิทยามาร์กซิสต์” ที่พัฒนามาจากทฤษฎี “ประชาสังคม” ทั้งของ คาร์ล มาร์กซ์ และ “นักลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก” คนสำคัญอย่าง อันโตนิโอ กรัมชี่ และ หลุย อัลธูแซร์ นั่นเอง[๑๖] ในงานสัมมนาทางวิชาการที่จัดเมื่อกลางปี 2526 โดย “กลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมือง” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกษียร เตชะพีระ ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า “ลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก” หมายถึง “งานเขียนและความคิดของลัทธิมาร์กซ์ในภาคพื้นยุโรปตะวันตกรุ่นหลังการปฏิวัติรัสเซียลงมาจนถึงราวปลายทศวรรษ 1960 – ต้นทศวรรษ 1970 เมื่อกระแสการต่อสู้ทางชนชั้นอย่างใหญ่โตของชนชั้นกรรมาชีพยุโรปตะวันตกพลิกฟื้นขึ้นมาใหม่ เช่น กรณีการลุกฮือของนักศึกษาฝรั่งเศสปี 1968 และการนัดหยุดงานทั่วไปของกรรมกรอิตาลี ปี 1969 (ทั้งนี้ยึดตามนิยามของ Perry Anderson ใน Consideration on Western Marxism) นักลัทธิมาร์กซ์คนสำคัญในกลุ่มนี้ก็ เช่น แกรมชี่, เดลลา วอลเป้, คอลเลติ แห่งอิตาลี, มาร์คุส, ฮอร์คไอเมอร์, อาดอร์โน แห่งสำนักแฟรงค์เฟิร์ต, อัลทุสแซร์, บาลิเบอร์ แห่งสำนักลัทธิมาร์กซ์แบบโครงสร้าง เป็นต้น”[๑๗] หากถือเอาตามคำอธิบายของ เกษียร ข้างต้น ก็ไม่ใช่เรื่องเกินเลยไปนักที่จะถือว่า จอห์น ยูร์รี่ ก็คือ “นักลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก” อีกคน

 

การตอบโต้ เกษียร เตชะพีระ และการยืนยันในความถูกต้องทฤษฎีว่าด้วย “รัฐ” ของ “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” โดย พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ หรือ “ลิขิต อุดมภักดี”

ในช่วงปลายทศวรรษ 2520 หลังจากที่ปล่อยให้ เกษียร เตชะพีระ ภายใต้นามปากกา “อาคม ชนางกูร” เปิดฉากวิพากษ์วิจารณ์ “ลัทธมาร์กซ์คลาสสิค” อย่างรุนแรงมาได้ระยะหนึ่ง ในที่สุด พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ภายใต้นามปากกา “ลิขิต อุดมภักดี” ก็เปิดฉากตอบโต้กลับทางทฤษฎี ด้วยการนำเสนอบทความ 2 ชิ้นพร้อมกันใน วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง ฉบับเดือนตุลาคม 2528 – มีนาคม 2529 นั่นคือ “รัฐ: สิ่งปฏิกูลทางประวัติศาสตร์” และ “รัฐ: สิ่งปฏิกูลทางประวัติศาสตร์ (อีกครั้ง)”[๑๘] โดยในบทความ 2 ชิ้นนี้ พิชิต ได้ประกาศยืนยันความถูกต้องของทฤษฎีว่าด้วย “รัฐ” ของ คาร์ล มาร์กซ์ (Carl Marx) ซึ่งถือได้ว่าเป็นบุคคลต้นตำรับของ “ลัทธมาร์กซ์คลาสสิค” (Classical Marxism) อย่างเปิดเผยว่า ที่ผ่านมา

 

ลัทธิสังคมนิยมนานาสำนักต่างๆ เสนอเหตุและผลมากมายในการสนับสนุนท่าทีดังกล่าวของตนต่อรัฐและต่อระบอบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลในทรัพย์สิน แต่ทว่า มีแต่มาร์กซ์และเองเกลส์ เท่านั้นที่ได้พัฒนา “จิตสำนึก” ขึ้นเป็น “ทฤษฎี”, อรรถาธิบายการปฏิเสธและการสูญสลายของรัฐและระบอบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลในปัจจัยการผลิตบนพื้นฐานของปรัชญาที่คงเส้นคงวา และของการสรุปพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ตลอดจนการพัฒนาของความขัดแย้งภายในสังคมปัจจุบันที่นำไปสู่การสูญสลายของรัฐและระบอบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลในปัจจัยการผลิตในที่สุด และเริ่มต้นยุคประวัติศาสตร์ใหม่ของมนุษย์ที่บงการชะตากรรมของตนเองโดยเสรี นี่จึงทำให้ลัทธิสังคมนิยมของมาร์กซ์และเองเกลส์ เป็นทฤษฎีที่ยืนหยัดวิพากษ์รัฐและระบอบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลในปัจจัยการผลิตอย่างถึงที่สุดและอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ขณะที่ลัทธิสังคมนิยมอื่นๆ บ้างก็พ่ายแพ้ บ้างก็ยอมจำนนต่อรัฐและทุนนิยมไปแล้ว[๑๙]

 

นอกจากจะออกมาประกาศยืนยันในความถูกต้องของ “ลัทธิสังคมนิยมของมาร์กซ์และเองเกลส์” แล้ว พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ยังได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับทฤษฎีว่าด้วย “รัฐ” ของ “ลัทธิสังคมนิยมของมาร์กซ์และเองเกลส์” ด้วย ดังจะเห็นว่า ในบทความเรื่อง “รัฐ: สิ่งปฏิกูลทางประวัติศาสตร์ (อีกครั้ง)” นั้น เขาเริ่มต้นด้วยการอธิบายว่า ตามทฤษฎีว่าด้วยรัฐของ คาร์ล มาร์กซ์ นั้น ในเชิงประวัติศาสตร์แล้ว “รัฐ” เป็นผลผลิตโดยตรงของของชนชั้นและการต่อสู้ทางชนชั้น โดยทั่วไปแล้วรัฐคือเครื่องมือแห่งการปกครองของชนชั้น เป็นเครื่องหมายแห่งการแบ่งแยกและขัดแย้งต่อสู้กันเองระหว่างสมาชิกของสังคม ชนชั้นที่เหนือกว่าย่อมมีฐานะครอบงำในรัฐและใช้ประโยชน์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากการปฏิบัติของรัฐในการรักษาปกป้องกรรมสิทธิ์ของตนในปัจจัยการผลิต และทำให้ผู้ใช้แรงงานยอมอยู่อย่างสงบภายในกรอบของความสัมพันธ์ทางการผลิตนั้นๆ ในสังคมทุนนิยมนั้น ด้านหนึ่ง รัฐสมัยใหม่ได้มีการพัฒนาใหญ่โตซับซ้อนและแบ่งงานกันทำอย่างละเอียดได้ขยายบทบาทหน้าที่ของมันออกไปสู่ทุกซอกทุกมุมของสังคม, มีฐานของการผลิตซ้ำตัวมันเองอย่างกว้างขวาง ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ก็มีความไม่สม่ำเสมอของการพัฒนาทุนนิยมและภายในหมู่ชนชั้นนายทุนเอง มีการแข่งขันแก่งแย่งกันเองระหว่างปีกต่างๆ ของชนชั้นนายทุน ซึ่งทำให้สภาพการณ์ที่ “ปีกชนชั้นนายทุน” เข้ากุมรัฐเพื่อปีกของตนเองเกิดขึ้นได้ยากและสภาพการณ์เช่นนี้จะเป็นผลร้ายต่อชนชั้นนายทุนและรัฐโดยรวมในระยะยาว[๒๐]

ไม่เพียงแต่อธิบายสาระสำคัญของทฤษฎีว่าด้วย “รัฐ” ของ คาร์ล มาร์กซ์ ดังข้างต้นเท่านั้น หากแต่ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ยังได้ประยุกต์ใช้ทฤษฎีดังกล่าวมาวิเคราะห์ “รัฐไทย” และ “เนื้อแท้แห่งระบอบสภาไทย” ในสมัยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีด้วย (ปี 2523 – 2528) โดยเขาได้ให้คำอธิบายว่า ในช่วงเวลานี้ ผู้ปกครองได้มีการสรุปบทเรียนและปรับขบวนกันใหม่และนำไปสู่การปรับปรุง “ระบอบอำนาจรัฐ” ในบางส่วน จนทำให้ “รัฐ” ในสมัยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ส่วน คือ

 

1) กลไกรัฐเดิม ซึ่งเป็นกลไกแห่งการใช้กำลังรุนแรง อันประกอบด้วยสามขาหยั่ง คือ ระบบราชการ กองทัพกับตำรวจ และระบบศาลคุกตาราง สามขาหยั่งของรัฐเป็นเครื่องมือการใช้กำลังรุนแรงและการกดขี่ที่เปิดเผย แต่รัฐไทยมีลักษณะพิเศษเชิงประวัติศาสตร์ คือการมีธงนำเป็นสถาบันอนุรักษ์ที่มีความยืนยงเป็นอมตะ หน้าที่ในเงื่อนไขประวัติศาสตร์ อย่างน้อยก็ตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์เป็นต้นมาก็คือ ปฏิบัติการเชิงอุดมการณ์แก่รัฐในรูปการที่นุ่มนวล และ ละเอียดอ่อน ละมุนละไมกอร์ปไปด้วย “ความกรุณาปรานีที่หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ” สามขาหยั่งใช้ “พระเดช”, ส่วนสถาบันอนุรักษ์ใช้ “พระคุณ” การดุลกันอย่างเหมาะสมที่สุดระหว่างพระเดชกับพระคุณนี้แหละ คือ เคล็ดลับของความแข็งแกร่งที่แท้จริงในรัฐไทยปัจจุบัน 

2) กลไกรัฐสภา นี่เป็นไม้ประดับ เป็นเสื้อคลุมอันงดงาม (ที่สุดเท่าที่พอจะสวมได้ในขณะนี้) โดยเนื้อแท้แล้วมันก็เป็นส่วนหนึ่งของระบอบอำนาจรัฐ มันเป็นเกราะอ่อนนุ่มที่หุ้มห่อกลไกรัฐเดิมไว้, เป็นกันชนที่ลดความรุนแรงจากการปะทะและความขัดแย้ง มันเป็นเวทีที่แต่เดิมชนชั้นนายทุนขุนนางบรรจงสร้างขึ้นให้ชนชั้นนายทุนใหญ่ นายทุนน้อย ปัญญาชน ได้ขึ้นไปแสดงออกเพื่อระบายความเก็บกดทางจิตและภาพมายาว่าอำนาจได้มีการผ่านมือแล้วเป็นบางส่วนไปสู่ชนชั้นนายทุนใหญ่และชนชั้นอื่นๆ แต่โดยเนื้อแท้แล้ว “อำนาจรัฐ” ยังคงอยู่ที่ชนชั้นนายทุนขุนนางที่นำโดยกลุ่มอนุรักษ์ “ธุรกิจที่แท้จริงยังคงตกลงกันใน 2 ส่วน” “ความขัดแย้งและการต่อสู้กันที่สำคัญในสภาและทำเนียบรัฐบาลยังคงไปตัดสินกันใน 2 ส่วน”

กล่าวสั้นๆ, ระบอบรัฐสภาปัจจุบันเป็นรูปการปกครองชนิดหนึ่งของชนชั้นนายทุนขุนนาง นั่นเอง, เป็นอาวุธในมือพวกเขาในการต่อกรกับชนชั้นอื่นๆ, เป็นการใช้อาวุธประชาธิปไตยนายทุนไปสู้กับนายทุนเอง[๒๑]

 

จากที่กล่าวมา อาจสรุปได้ว่า ในการเปิดฉากวิวาทะว่าด้วย “รัฐไทย” กับ เกษียร เตชะพีระ หรือ “อาคม ชนางกูร” ซึ่งมีจุดยืนแบบ “ลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก” ในช่วงปลายทศวรรษ 2520 นั้น พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ภายใต้นามปากกา “ลิขิต อุดมภักดี” ได้ใช้ทฤษฎีว่าด้วย “รัฐ” ของของ คาร์ล มาร์กซ์ (Carl Marx) ซึ่งเป็นต้นตำรับของ “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” ที่อธิบายว่า ในเชิงประวัติศาสตร์แล้ว “รัฐเป็นผลผลิตโดยตรงของของชนชั้นและการต่อสู้ทางชนชั้น โดยทั่วไปแล้วรัฐคือเครื่องมือแห่งการปกครองของชนชั้น” เป็นทฤษฎีหลัก และนี่ก็คือ เหตุผลสำคัญที่ทำให้ลักษณะของ “รัฐไทย” ตามแนวการวิเคราะห์ พิชิต แตกต่างจาก เกษียร โดยเกือบจะสิ้นเชิง

 

เกษียร เตชะพีระ และการวิพากษ์ทฤษฎีว่าด้วย “รัฐ” ของ “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” อีกครั้ง

ไม่นานหลังจากที่ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ออกมาตอบโต้เขาด้วยบทความ 2 ชิ้นข้างต้น เกษียร เตชะพีระ ก็ลุกขึ้นมาตอบโต้ พิชิต อีกครั้ง โดยการหยิบเอาบทความเรื่อง “ยุทธศาสตร์เชิงซ้อนในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบปัจจุบัน” มาปรับปรุงและนำมาตีพิมพ์ซ้ำใน วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง ฉบับเดือนตุลาคม 2528 – มีนาคม 2529 โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “รัฐกับประชาสังคมไม่ใช่สิ่งปฏิกูลทางทฤษฎี”[๒๒] แต่ทว่าในครั้งนี้ เกษียร ได้กล่าวอย่างเปิดเผยว่า แท้จริงแล้ว “นักสังคมวิทยามาร์กซิสต์บางคน” ที่เขาพูดถึงนั้น คือ จอห์น ยูร์รี่ (John Urry) “นักสังคมวิทยามาร์กซิสต์” ที่พัฒนามาจากทฤษฎี “ประชาสังคม” ทั้งของ คาร์ล มาร์กซ์ และ นักลัทธิมาร์กซ์ตะวันตกอย่าง อันโตนิโอ กรัมชี่ และ หลุย อัลธูแซร์[๒๓]

นอกจากนี้ เกษียร เตชะพีระ ยังได้ยอมรับอย่างเปิดเผยด้วยว่า ทฤษฎีที่เขาใช้วิเคราะห์ “รัฐ” ในบทความเรื่อง “รัฐกับประชาสังคมไม่ใช่สิ่งปฏิกูลทางทฤษฎี” นั้น ก็คือทฤษฎี “ประชาสังคมกระฎุมพี” ของ จอห์น ยูร์รี่ อีกเช่นกัน โดยเขาอธิบายว่า สาระสำคัญของทฤษฎี “ประชาสังคมกระฎุมพี” ก็คือ (1) การเกิดขึ้นของประชาสังคม – สังคมการเมือง ในกระบวนการแปลกแยกตัวเอง ออกจากกันของสังคมสมัยก่อน เป็นผลิตผลโดยตรงของการปฏิวัติกระฎุมพี, (2) “ประชาสังคม” ทำหน้าที่เป็น “สื่อประสาน” ระหว่าง “เศรษฐกิจ” กับ “รัฐ” ในสังคมทุนนิยม และ (3) ประชาสังคมประกอบด้วย (ก) ภาคการหมุนเวียน (ข) ภาคการผลิตซ้ำ และ (ค) ภาคการต่อสู้[๒๔] อย่างไรก็ตาม เกษียร เรียกทฤษฎีนี้ในอีกชื่อว่า “องค์รวมของทฤษฎีสังคมทุนนิยม” ซึ่งหมายถึงองค์รวมทางทฤษฎี “เศรษฐกิจ/ประชาสังคม/รัฐ” ส่วน “ประชาสังคม” ที่มีองค์ประกอบ 3 ส่วนนี้ (ก) ภาคหมุนเวียน เป็นตัว “เชื่อมโยงประชาสังคมกับเศรษฐกิจและเป็นส่วนหนึ่งของทั้งเศรษฐกิจและประชาสังคม”, (ข) ภาคการผลิตซ้ำ หมายถึง “การผลิตซ้ำแรงงานในสังคมทุนนิยมขึ้นมาด้วยกลไกการอบรม ขัดเกลาทางสังคมนอกรัฐและเศรษฐกิจรัฐ ซึ่งได้แก่ สถาบันครอบครัว ศาสนา เชื้อชาติ การศึกษา การสันทนาการ ฯลฯ อันเป็นปริมณฑลทางอุดมการณ์และวัฒนธรรม ซึ่งประกอบตัวขึ้นเป็นองค์อัตวิสัยของแรงงาน ทำให้ ‘สัญชาตญาณดิบ’ ของทารกถูกขัดเกลาอบรมเติบใหญ่ขึ้นเป็นอัตตาบุคลากรสังคมผู้ทำหน้าที่อยู่ในโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมด้านด้านต่างๆ ในตำแหน่งต่างๆ” และ (ค) ภาคการต่อสู้ “ซึ่งมีชนชั้นและการต่อสู้ทางชนชั้นเป็นสาระสำคัญ แต่ไม่ใช่มีเพียงเท่านั้น ยังมีการต่อสู้ของกลุ่มทางสังคมที่รวมตัวบนพื้นฐานอื่นๆ อีก เช่น ศาสนา เชื้อชาติ ความเชื่อ วัฒนธรรม ฯลฯ และปฏิสัมพันธ์อันจะมีมากหรือน้อยระหว่างการต่อสู้ของกลุ่มทางสังคมเหล่านี้กับชนชั้นและการต่อสู้ทางชนชั้น”[๒๕]

ไม่เพียงเท่านั้น ในบทความชิ้นเดียวกันนี้ ก่อนที่ เกษียร เตชะพีระ จะใช้ทฤษฎี “ประชาสังคมกระฎุมพี” ของ จอห์น ยูร์รี่ มาวิเคราะห์อธิบาย “รัฐไทย” เขาก็ได้ใช้ทฤษฎีดังกล่าว มาวิพากษ์วิจารณ์ทฤษฎีว่าด้วย “รัฐ” ของ “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” ที่ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ หรือ “ลิขิต อุดมภักดี” นำมาใช้ในการวิเคราะห์ “รัฐไทย” อย่างรุนแรงว่า พิชิต ยังคงหลงติดอยู่ใน “กรอบกระบวนทัศน์ลัทธิมาร์กซ์จารีตกลไก” ตามคำของ เกษียร

 

เมื่อได้อ่านบทวิจารณ์ทั้งบทของผู้วิจารณ์แล้ว ผู้เขียนยังพบว่า กล่าวในเชิงทฤษฎีรัฐ ผู้วิจารณ์ยังคงติดกรอบกระบวนทัศน์เศรษฐกิจกำหนด หรือจะเรียกว่าเศรษฐการปกาศิตนิยมอยู่ไม่หาย ตรรกบทในการคลี่คลายคำอธิบายเรื่องรัฐของผู้วิจารณ์ยังคงเป็นเศรษฐกิจ สะท้อนโดยตรงไปที่ชนชั้นและการต่อสู้ทางชนชั้น สะท้อนโดยตรงไปที่รัฐ เช่นเดิม การทำกับชนชั้นและรัฐ เสมือนหนึ่งว่าเป็นกระจกที่สะท้อนผลประโยชน์และแนวคิดทางเศรษฐกิจขึ้นมาเป็นขั้นๆ (2 ขั้น) นั้น ยังเป็น และยังคงเป็นการมองข้ามละเลย บทบาทที่แทรกแซงและเป็นองค์ประกอบของอุดมการณ์และวัฒนธรรม, ลักษณะอิสระโดยสัมพัทธ์อันเกิดจากวัตถุภาวะอันมิอาจลดทอนได้ของรัฐ อันเป็นเชื้อมูลที่ผู้เขียนพยายามผนวกสังเคราะห์เข้ามาในการเสนอทฤษฎีรัฐ/ประชาสังคมโดยตรง ในบรรดาหลักการของวิภาษวิธีที่สำคัญๆ นั้น หาได้มีแต่เพียงการกำหนด ความขัดแย้ง และการปฏิเสธไม่ หากแต่ยังมี “การสื่อประสาน” ด้วย ข่าวสารที่ผู้เขียนพยายามจนแล้วจนรอดที่จะสื่อถึงผู้อ่านแต่ดูเหมือนว่าผู้วิจารณ์จะละเลยไปเสียก็คือ บทบาทอันเป็นสื่อประสานระหว่างเศรษฐกิจกับรัฐของอุดมการและวัฒนธรรมหนึ่ง และวัตถุภาวะอันมิอาจลดทอนได้ของรัฐอันเป็นฐานที่มาของลักษณะอิสระโดยสัมพัทธ์ของรัฐอีกหนึ่ง เส้นทางเดินจากการกำหนดของเศรษฐกิจมายังปริมณฑลรัฐในสังคมทุนนิยมนั้น มิใช่ทางตรงง่ายๆ ดังที่ลัทธิมาร์กซ์จารีตกลไกเข้าใจเด็ดขาด หากแต่ผ่านบทบาทการสื่อประสานของอุดมการและวัฒนธรรมที่กระทำต่อชนชั้นต่างๆ ของสังคม ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อมาถึงรัฐ รัฐก็มิใช่กระจกกลวงเปล่าที่คอยรับเติมเนื้อหาหรือสดับตรับฟังคำบัญชาจากชนชั้นและดุลกำลังทางชนชั้น หากแต่รัฐ ที่ในรัฐยังมีกลไกรัฐ ระบบราชการ ชนชั้นนำทางการเมือง องค์การจัดตั้งและวิสาหกิจจำนวนมากซึ่งเป็นสถาบันการปฏิบัติที่มีวัตถุภาวะโดยเฉพาะ มีแก่นสารเฉพาะของมันเองด้วย ใช่ทีเดียวรัฐแยกไม่ออกจากเศรษฐกิจและชนชั้น การวิเคราะห์เข้าใจรัฐทั้งในแง่อำนาจรัฐและกลไกรัฐจะแยกขาดจากพื้นฐานการผลิตของสังคมและตัวชนชั้นและการต่อสู้ทางชนชั้นไม่ได้ แต่รัฐก็มีความเป็นองค์ภาวะต่างหาก มีชีวิตของมันต่างหาก ที่จะลดทอนลงมาอธิบายด้วยเศรษฐกิจและชนชั้นล้วนๆ เท่านั้น ไม่ได้เช่นเดียวกัน

การยืนกรานในเศรษฐการปกาศิตนิยมของผู้วิจารณ์สะท้อนให้เห็นว่าผลจากการอ่านบทความทั้งบทของผู้เขียนจากกรอบกระบวนทัศน์ลัทธิมาร์กซ์จารีตกลไกของผู้วิจารณ์ ได้คุมขังความรับรู้ของผู้วิจารณ์ไว้ จนไม่เข้าใจรัฐ ลักษณะอิสระโดยสัมพัทธ์ของรัฐ และประชาสังคม ที่ผู้เขียนพยายามสื่อถึงเลย...[๒๖]   

 

ส่วนรูปโฉมของการเมืองไทยในสมัยที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี (ปี 2523 – 2528) ซึ่งเกิดจากการประยุกต์ใช้ทฤษฎี “ประชาสังคมกระฎุมพี” ของ จอห์น ยูร์รี่ นั้น เกษียร เตชะพีระ อธิบายว่า รัฐไทยตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมามีบทบาทเอาการเอางานที่เป็นตัวของตัวเองอย่างยิ่งในการแทรกแซงจัดสรรการผลิตทางเศรษฐกิจของสังคม ในกระบวนการนี้ รัฐไทยได้ให้กำเนิด “กลุ่มทุนขุนนาง” ขึ้นจริง แต่ “กลุ่มทุนขุนนาง” ดังกล่าวก็หาได้อยู่คู่กับรัฐไทยอย่างยั่งยืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันชนิดแยกกันไม่ออกไม่ พวกเขาเข้ากุมอำนาจระยะหนึ่งแล้วก็จากไปเมื่อพ้นตำแหน่ง หากแต่ “กลไกรัฐ” ยังคงดำรงอยู่อย่างยั่งยืนโดยมีกลไกมโหฬารของมันทำงานอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มีผลประโยชน์เฉพาะของมันที่แยกอยู่ต่างหากจาก “กลุ่มทุนขุนนาง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การแยกตัวของ “ทุนขุนนาง” ออกจาก “กลไกรัฐ” โดยการเข้าแทรกแซงควบคุมของ “นายทุนใหญ่” มีลักษณะเป็นระบบมากขึ้นเรื่อยๆ ในกรณีของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นั้น แท้จริงแล้วก็คือการที่ “กลไกรัฐ” และ “นายทุนขุนนาง” กลุ่มหนึ่งร่วมมือกันยุติ “ประชาธิปไตยของนายทุนใหญ่” ลงไปโดยที่ “นายทุนใหญ่” ก็เพิกเฉยไม่คัดค้าน เพราะขณะนั้น “เห็นภัยแดงที่อันตรายกว่า” นั่นเอง แต่ทว่าต่อมาตัวแทนทางการเมืองของ “นายทุนใหญ่” และ “กลไกรัฐทหาร” กลุ่มหนึ่งนั่นเองที่เป็นผู้กะเทาะล้วงเอา “รัฐบาลหอย” ของ “กลุ่มทุนขุนนางอนุรักษ์” ทิ้งไป ดังนั้น การเมืองไทยในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (2523 – 2528) จึงเป็นภาพของการที่ “ชนชั้นปกครองของไทย” สัมพันธ์กันในลักษณะ “พลังสามเส้า ระหว่าง กลไกรัฐ ระบบราชการ นายทุนขุนนาง และนายทุนใหญ่”[๒๗]    

อย่างไรก็ตาม เกษียร เตชะพีระ ได้ให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่า ท่ามกลางความสัมพันธ์ของ “ชนชั้นปกครองของไทย” ในลักษณะ “พลังสามเส้า” ดังกล่าว “ทุนขุนนางอนุรักษ์” เป็น “พันธมิตร” กับ “กลไกรัฐระบบราชการ” ซึ่งเขาอธิบายว่า “เป็นพันธมิตรของพลังการเมือง 2 กลุ่มที่แยกต่างหากจากกัน มีผลประโยชน์เฉพาะและจุดมุ่งหมายทางการเมืองที่ต่างกัน แต่รวมกันในการคะคานอำนาจนำของนายทุนใหญ่ เงื่อนไขของความเป็นพันธมิตร เป็นเงื่อนไขของทุนขุนนางอนุรักษ์ มากกว่าเงื่อนไขของระบบราชการ” ส่วนรูปธรรมของการเมืองไทยภายใต้ความสัมพันธ์ของ “ชนชั้นปกครองของไทย” ในลักษณะดังกล่าว ก็คือ

 

การแสดงออกอย่างรวมศูนย์ของดุลกำลัง 3 เส้านี้ก็คือ คณะรัฐมนตรีและตัวนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องพึ่งพาความเห็นชอบจากกองทัพ พรรคการเมืองชนชั้นนายทุนใหญ่และสถาบันประเพณีหลัก การใช้อำนาจรัฐของพวกเขาในแง่การดำเนินนโยบายจึงลักลั่น และย่อหย่อน เพราะความไม่เด็ดขาดในทางอำนาจนำของกำลังการเมืองแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นนายทุนใหญ่ นายทุนขุนนางอนุรักษ์ หรือกลไกรัฐระบบราชการ ในเมื่อชัยชนะทางการเมืองที่เด็ดขาดของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ปรากฏขึ้น พวกเขาจึงเป็นกรรมการประนีประนอมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการเมืองของทั้ง 3 ฝ่าย ไม่ทำอะไรให้ชัดเจนเด็ดขาดลงไปเสียที จะพัฒนาประเทศเป็นอุตสาหกรรมใหม่แต่ก็ไม่กล้าปฏิรูประบบราชการอย่างเด็ดเดี่ยว จะแก้ปัญหาดุลการค้าด้วยการลดค่าเงินบาทแต่ก็ต้องออกมาตรการตามหลังเป็นข้อแม้เงื่อนไขมากมายที่สวนทางกับผลลัพธ์ที่คาดหมายของการลดค่าเงินบาทนั้นเอง บ่นไม่ขาดปากเรื่องขาดดุลการค้าและให้ช่วยซื้อสินค้าไทยแต่ก็ต้องให้หลักประกันอย่างมั่นคงกับกองทัพว่าจะเพิ่มงบประมาณการทหารพิเศษให้เพื่อซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ ประกาศจะขายรัฐวิสาหกิจให้เอกชนแต่ก็คลุมเครือและลังเลจนไม่มีทีท่าว่าจะทำจริง ฯลฯ ทั้งหมดนี้ทำให้รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า ขาดเค้าโครงการระยะไกลในการพัฒนาประเทศ ห่วงแต่จะรักษาอำนาจในตำแหน่งไว้ให้นานที่สุด แน่นอนว่ารัฐบาลไม่มีทางทำอะไรมากไปกว่านี้ นอกจากประนีประนอมกับพลังการเมืองทั้ง 3 เส้า เพราะในเมื่อไม่มีพลังการเมืองกลุ่มใดชนะเด็ดขาด โอกาสที่จะอยู่ในอำนาจของพวกเขาจึงขึ้นอยู่กับการต่อรองและเอาใจพลังการเมืองทั้ง 3 ฝ่ายไปวันต่อวัน[๒๘]

 

จากวิวาทะว่าด้วย “รัฐไทย” ระหว่าง พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ และ เกษียร เตชะพีระ ถึง วิวาทะระหว่าง “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” และ “ลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก” ในปลายทศวรรษ 2520

มาถึงตรงนี้ คงสรุปได้แล้วว่า ทฤษฎีการเมืองที่อยู่เบื้องหลังบทความเรื่อง “รัฐกับประชาสังคมไม่ใช่สิ่งปฏิกูลทางทฤษฎี” ที่ เกษียร เตชะพีระ เขียนขึ้นเพื่อวิวาทะกับบทความเรื่อง “รัฐ: สิ่งปฏิกูลทางประวัติศาสตร์” และ “รัฐ: สิ่งปฏิกูลทางประวัติศาสตร์ (อีกครั้ง)” ของ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ หรือ “ลิขิต อุดมภักดี” ใน วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง ฉบับเดือนตุลาคม 2528 – มีนาคม 2529 นั้น แท้จริงแล้วก็คือ ทฤษฎี “ประชาสังคมกระฎุมพี” ของ จอห์น ยูร์รี่ (John Urry) “นักสังคมวิทยามาร์กซิสต์” ซึ่งพัฒนาความคิด “ประชาสังคม” ต่อจาก “นักลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก” คนสำคัญอย่าง อันโตนิโอ กรัมชี่ และ หลุยส์ อัลธูแซร์ นั่นเอง ขณะเดียวกัน ทฤษฎีการเมืองที่อยู่เบื้องหลังบทความทั้ง 2 ชิ้นของ พิชิต ก็คือ ทฤษฎีว่าด้วยรัฐของ คาร์ล มาร์กซ์ ซึ่งถือเป็นต้นตำรับของ “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” โดยแท้ ด้วยเหตุนี้ การวิวาทะว่าด้วยรัฐไทยระหว่าง พิชิต หรือ “ลิขิต อุดมภักดี” และ เกษียร หรือ “อาคม ชนางกูร” ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 2520 จึงไม่ได้มีความหมายแต่เพียงแค่การมองเห็น “รัฐไทย” แตกต่างกันของพวกเขา หรืออาจจะไม่ได้หมายความแต่เพียงว่ามุมมองต่อรัฐที่แตกต่างกันนี้เกิดขึ้นจากการที่ “รัฐไทย” ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วจริงๆ เท่านั้น หากแต่การวิวาทะนี้ ยังสะท้อนเห็นถึง การตกต่ำลงของกระแส “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” และการก้าวขึ้นมามีอิทธิพลมากขึ้นของ “ลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก” ในหมู่ปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทยด้วย ดังนั้น การวิวาทะครั้งนี้ก็มิใช่อะไรอื่น หากแต่เป็นการปะทะกันทางทฤษฎีระหว่าง “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” และ “ลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก” นั่นเอง

 

 

 



[๑] ตบทความชิ้นนี้ปรับปรุงมาจากบทความที่เคยตีพิมพ์ใน วารสารประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แต่เนื่องจากวารสารถูกพิมพ์ในจำนวนที่จำกัดและไม่ค่อยแพร่หลายออกนอกมหาวิทยาลัยมากนัก ดังนั้น ผู้เขียน จึงถือโอกาสปรับปรุงบทความชิ้นนี้มาเผยแพร่ในงานสัมมนาของ FOP ที่จัดขึ้นในวาระครบรอบ “วันเสียงปืนแตก” 7 สิงหาคม ซึ่งน่าจะมีประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจเรื่องทำนองนี้มากกว่า

[๒] ต่อไปนี้จะใช้คำว่า “พคท.” แทน “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย”

[๓] ใจ อึ๊งภากรณ์ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และ คณะ, อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง, กรุงเทพฯ: คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519, 2544, หน้า 63 – 166.

[๔] ธิกานต์ ศรีนารา, หลัง 6 ตุลาฯ : ว่าด้วยความขัดแย้งทางความคิดระหว่างขบวนการนักศึกษากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย, กรุงเทพฯ: 6 ตุลารำลึก, 2552. 

[๕] อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะอธิบายว่า พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ใช้ทฤษฎีว่าด้วย “รัฐ” ของ “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” (Classical Marxism) เป็นทฤษฎีหลักในการวิเคราะห์ “รัฐไทย” อย่างไรนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำความเข้าใจร่วมกันในเบื้องต้นก่อนว่า “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” ที่กล่าวถึงในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนถือเอาตามคำนิยามของ เกษียร เตชะพีระ ที่ให้ไว้เมื่อปี 2527 ว่า “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค หมายถึงนิพนธ์ของมาร์กซ์ เองเกลส์ และนักลัทธิมาร์กซ์ในยุคต่อมาในสากลที่สองและสามซึ่งได้รับการยอมรับทั่วไป” (ดูใน เกษียร เตชะพีระ. “วิกฤตอุดมการสังคมนิยมในหมู่นักศึกษาปัญญาชนไทย” ใน วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง ปีที่ 3 เล่ม 3 มกราคม – มีนาคม, 2527, หน้า 79 – 80)

[๖] เช่นเดียวกันกับกรณี “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” ก่อนที่จะอธิบายว่า เกษียร เตชะพีระ ใช้ “ลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก” มาวิพากษ์ “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” ของ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อย่างไรนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจร่วมกันก่อนว่า “ลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก” (Western Marxism) ที่กล่าวถึงในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนถือเอาตามคำนิยามของ เกษียร เตชะพีระ ที่เคยให้ไว้อย่างเป็นทางการเมื่อกลางปี 2526 ที่ว่า “ลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก หมายถึงงานเขียนและความคิดของลัทธิมาร์กซ์ในภาคพื้นยุโรปตะวันตกรุ่นหลังการปฏิวัติรัสเซียลงมาจนถึงราวปลายทศวรรษ 1960 – ต้นทศวรรษ 1970 เมื่อกระแสการต่อสู้ทางชนชั้นอย่างใหญ่โตของชนชั้นกรรมาชีพยุโรปตะวันตกพลิกฟื้นขึ้นมาใหม่ เช่น กรณีการลุกฮือของนักศึกษาฝรั่งเศสปี 1968 และการนัดหยุดงานทั่วไปของกรรมกรอิตาลี ปี 1969 (ทั้งนี้ยึดตามนิยามของ Perry Anderson ใน Consideration on Western Marxism) นักลัทธิมาร์กซ์คนสำคัญในกลุ่มนี้ก็ เช่น แกรมชี่, เดลลา วอลเป้, คอลเลติ แห่งอิตาลี, มาร์คุส, ฮอร์คไอเมอร์, อาดอร์โน แห่งสำนักแฟรงค์เฟิร์ต, อัลทุสแซร์, บาลิเบอร์ แห่งสำนักลัทธิมาร์กซ์แบบโครงสร้าง เป็นต้น (ดูใน เกษียร เตชะพีระ. “วิกฤตอุดมการสังคมนิยมในหมู่นักศึกษาปัญญาชนไทย”  ใน วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง ปีที่ 3 เล่ม 3 มกราคม – มีนาคม, 2527, หน้า 81)

[๗] วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 – 2 (ตุลาคม 2528 – มีนาคม 2529)

[๘] นภาพร อติวานิชยพงศ์, ประวัติศาสต์ความคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองไทย, กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์, 2545, หน้า 165 – 166.

[๙] “จงยอมรับกติกาประชาธิปไตย” ใน สยามใหม่ ปีที่ 2 ฉบับที่ 71 (มีนาคม 2526) หน้า “บทนำ”

[๑๐] พรรคแสงธรรม อมธ. “ทฤษฎีว่าด้วยรัฐของลัทธิมาร์กซกับพัฒนาของรัฐชนชั้นนายทุนในรอบ 25 ปี” ใน บัณฑิตย์ ธรรมตรีรัตน์ (บรรณาธิการ). คลื่นแห่งทศวรรษ: รวมทัศนะ ความคำนึง และจินตนาการของนักวิชาการ นักการเมืองและนักเขียนร่วมสมัย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เอดิสันเพรส โพดักส์, 2526, หน้า 363 – 371. ต่อมาในปลายปี 2528 บทความชิ้นนี้ก็ได้ถูกนำมาพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่สองในหนังสือชื่อ วิพากษ์ทรรัฐ ที่ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ร่วมกันทำขึ้นในเดือนตุลาคม 2528

[๑๑] พรรคแสงธรรม อมธ. “ทฤษฎีว่าด้วยรัฐของลัทธิมาร์กซกับพัฒนาของรัฐชนชั้นนายทุนในรอบ 25 ปี” ใน บัณฑิตย์ ธรรมตรีรัตน์ (บรรณาธิการ). คลื่นแห่งทศวรรษ: รวมทัศนะ ความคำนึง และจินตนาการของนักวิชาการ นักการเมืองและนักเขียนร่วมสมัย, หน้า 364.

[๑๒] พรรคแสงธรรม อมธ., “ทฤษฎีว่าด้วยรัฐของลัทธิมาร์กซกับพัฒนาของรัฐชนชั้นนายทุนในรอบ 25 ปี”, หน้า 18.

[๑๓] ประเสริฐ คงธรรม (เกษียร เตชะพีระ). “ยุทธศาสตร์เชิงซ้อนในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบปัจจุบัน” ใน ปรีชา ธรรมวินทร (บรรณาธิการ). วิพากษ์ทรรัฐ. กรุงเทพฯ: สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.), 2528, หน้า 29 – 30.

[๑๔] ประเสริฐ คงธรรม, “ยุทธศาสตร์เชิงซ้อนในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบปัจจุบัน”, หน้า 29 – 31.

[๑๕] ประเสริฐ คงธรรม, “ยุทธศาสตร์เชิงซ้อนในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบปัจจุบัน”, หน้า 34.

[๑๖] ดูคำอธิบายโดยละเอียดเกี่ยวกับทฤษฎี “ประชาสังคม” ทั้งของ เฮเกล และ มาร์กซ์ ได้ใน อาคม ชนางกูร (เกษียร เตชะพีระ). “รัฐทุนนิยมระบบราชการไทย: บทเสนอว่าด้วยรัฐกับประชาสังคมในระบบทุนนิยมไทย”, หน้า 23 – 24.

[๑๗] เกษียร เตชะพีระ. “วิกฤตอุดมการสังคมนิยมในหมู่นักศึกษาปัญญาชนไทย”  ใน วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง ปีที่ 3 เล่ม 3 (มกราคม – มีนาคม, 2527) หน้า 81.

[๑๘] ลิขิต อุดมภักดี. “รัฐ: สิ่งปฏิกูลทางประวัติศาสตร์” ใน วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 – 2 (ตุลาคม 2528 – มีนาคม 2529) หน้า 1 – 18. และ “รัฐ: สิ่งปฏิกูลทางประวัติศาสตร์ (อีกครั้ง)”, หน้า 32 – 44.

[๑๙] ลิขิต อุดมภักดี. “รัฐ: สิ่งปฏิกูลทางประวัติศาสตร์ (อีกครั้ง)” ใน วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 – 2 (ตุลาคม 2528 – มีนาคม 2529) หน้า 32 – 33.

[๒๐] ลิขิต อุดมภักดี. “รัฐ: สิ่งปฏิกูลทางประวัติศาสตร์ (อีกครั้ง)” ใน วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 – 2 (ตุลาคม 2528 – มีนาคม 2529) หน้า 32 – 34.

[๒๑] ลิขิต อุดมภักดี. “รัฐ: สิ่งปฏิกูลทางประวัติศาสตร์ (อีกครั้ง)”, หน้า 39 – 40.

[๒๒] อาคม ชนางกูร (เกษียร เตชะพีระ). “รัฐกับประชาสังคมไม่ใช่สิ่งปฏิกูลทางทฤษฎี” ใน วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 – 2 (ตุลาคม 2528 – มีนาคม 2529), หน้า 49.

[๒๓] ดูคำอธิบายโดยละเอียดเกี่ยวกับทฤษฎี “ประชาสังคม” ทั้งของ เฮเกล และ มาร์กซ์ ได้ใน อาคม ชนางกูร (เกษียร เตชะพีระ). “รัฐทุนนิยมระบบราชการไทย: บทเสนอว่าด้วยรัฐกับประชาสังคมในระบบทุนนิยมไทย”, หน้า 23 – 24.

[๒๔] อาคม ชนางกูร (เกษียร เตชะพีระ). “รัฐทุนนิยมระบบราชการไทย: บทเสนอว่าด้วยรัฐกับประชาสังคมในระบบทุนนิยมไทย”, หน้า 25.

[๒๕] อาคม ชนางกูร (เกษียร เตชะพีระ). “รัฐกับประชาสังคมไม่ใช่สิ่งปฏิกูลทางทฤษฎี” ใน วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 – 2 (ตุลาคม 2528 – มีนาคม 2529), หน้า 49.

[๒๖] อาคม ชนางกูร (เกษียร เตชะพีระ). “รัฐกับประชาสังคมไม่ใช่สิ่งปฏิกูลทางทฤษฎี”, หน้า 47.

[๒๗] อาคม ชนางกูร (เกษียร เตชะพีระ). “รัฐกับประชาสังคมไม่ใช่สิ่งปฏิกูลทางทฤษฎี”, หน้า 60.

[๒๘] อาคม ชนางกูร (เกษียร เตชะพีระ). “รัฐกับประชาสังคมไม่ใช่สิ่งปฏิกูลทางทฤษฎี”, หน้า 61 – 62.

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท