พฤกษ์ เถาถวิล: เชื้อเพลิงชีวภาพกับสังคมเกษตรกรรม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ตอนแรกของบทความชุดนี้ผู้เขียนได้กล่าวถึง “คำถามว่าด้วยสังคมเกษตรกรรม” (Agrarian Questions) (http://prachatai.com/journal/2013/04/46329)  ซึ่งเป็นการพิจารณาว่า ระบบทุนนิยมได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมเกษตรกรรมอย่างไร  

เมื่อกล่าวถึงอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuel) ซึ่งทำให้เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วทุกมุมโลกของพืชพลังงาน อาจกล่าวได้ว่าเรื่องเชื้อเพลิงชีวภาพ/พืชพลังงาน เป็นกรณีดีที่สุดที่จะแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงสังคมเกษตรกรรมในยุคโลกาภิวัตน์    

ในตอนนี้จะกล่าวถึง การขยายตัวของพืชพลังงาน เพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงสังคมเกษตรกรรม โดยนำเสนอกรณีศึกษาจากประเทศผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพระดับนำของโลกคือ ประเทศอินโดนิเซียและบราซิล เนื้อหาต่อไปนี้เรียบเรียงจากบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Peasant Studies ฉบับพิเศษ (Vol.37, No.4. October 2010) วารสารฉบับนี้ตีพิมพ์ชุดบทความเกี่ยวกับผลกระทบจากเชื้อเพลิงชีวภาพ  ซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในวงวิชาการ  

บทความนี้จะนำเสนอกรณีศึกษา ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยที่กำลังไต่อันดับขึ้นเป็นผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพรายสำคัญของเอเชีย การนำเสนอในบทความนี้ต่อเนื่องจากชิ้นก่อนหน้านี้ (http://prachatai.com/journal/2013/08/47977) ในประเด็นผลกระทบต่อเกษตรกร ซึ่งได้กล่าวมาแล้วว่ามีแนวโน้มทางลบมากกว่าบวก แต่จะแสดงให้เห็นว่า ภายใต้แนวโน้มยังมีผลลัพธ์ที่หลากหลาย  ไม่เพียงมีเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนและต่อต้าน แต่ยังมีกรณีที่ได้ประโยชน์และสนับสนุนเชื้อเพลิงชีวภาพด้วย

 

การทำสวนปาล์มน้ำมันที่รุกเข้าไปในพื้นที่ป่า ในประเทศอินโดนิเซีย 
ที่มาภาพ
http://news.mongabay.com

อินโดนิเซีย[1]

อินโดนิเซียเป็นประเทศอันดับหนึ่งของผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน (oil palm) สำหรับรัฐบาลอินโดนิเซียปาล์มน้ำมันคือโอกาสทางเศรษฐกิจ และหัวใจของการพัฒนาภาคเกษตร ในปี ค.ศ. 1996 รัฐบาลซูฮาร์โต วางแผนให้อินโดนิเซียขึ้นเป็นผู้ผลิตปาล์มน้ำมันอันดับหนึ่งของโลกแทนที่มาเลเซีย  โดยกำหนดว่าจะมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 5.5 ล้านเฮกตาร์ในปี  2000 ในปี 2007 บริษัทด้านพลังงาน 59 แห่งมีข้อตกลงจะลงทุนในกิจการเชื้อเพลิงชีวภาพ 12.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ และในปีนั้นรัฐบาลอินโดนิเซียประกาศว่าได้เตรียมพื้นที่ “ว่างเปล่า” จำนวน  6.5 ล้านเฮกตาร์เพื่อรองรับการปลูกพืชพลังงาน  ในจำนวนนี้มีพื้นที่ 3 ล้านเฮกตาร์สำหรับปาล์มน้ำมัน และนับจากปี 2008 เป็นต้นมา อินโดนิเซียได้ขึ้นแท่นผู้ปลูกปาล์มน้ำมันอันดับหนึ่งของโลก

การส่งเสริมปาล์มน้ำมันของรัฐบาลอินโดนิเซีย เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาภาคเกษตร/ชนบท  ก่อนปาล์มน้ำมันก็มีการส่งเสริมพืชอื่นๆมาก่อน เช่น ยางพารา การส่งเสริมพืชเศรษฐกิจในอินโดนิเซีย เป็นไปในทำนองเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ตามทฤษฎีที่ว่า การปลูกพืชเศรษฐกิจเป็นการนำเกษตรกรเข้าสู่ตลาด ซึ่งตลาดเป็นกลไกที่ให้โอกาสเกษตรกรยกระดับฐานะความเป็นอยู่ และเป็นช่องทางถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี และข่าวสารที่เป็นประโยชน์

การพัฒนาภาคเกษตรของอินโดนิเซีย ยังมีส่วนคล้ายคลึงกับประเทศอื่นๆ คือ เริ่มจากการที่รัฐมีบทบาทและทุ่มงบประมาณสนับสนุนเต็มตัว จากนั้นภายใต้อิทธิพลของแนวคิดเสรีนิยมใหม่ นับจากทศวรรษ 1990 โดยประมาณ  รัฐถูกตีกรอบให้ลดบทบาทและงบประมาณ เปิดให้ภาคเอกชนเป็นฝ่ายนำ  และปล่อยให้ตลาดทำงานอิสระ

กรณีศึกษาของเรา จะกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในสุมาตรา ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปลูกปาล์มน้ำมันของอินโดนิเซีย  โดยมุ่งไปที่จังหวัดจัมไบ (Jambi) ทางชายฝั่งตะวันออกของเกาะสุมาตรา พื้นที่นี้เป็นแหล่งปลูกปาล์มน้ำมันที่สำคัญ ในปี 2009 จังหวัดนี้มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 452,960 เฮกตาร์ (1 เฮกตาร์ = 2.5 ไร่) และมีแผนที่ได้รับอนุมัติแล้วและเพิ่งอนุมัติปลูกปาล์มน้ำมันอีกรวม  1,588,454 เฮกตาร์ การนำเสนอต่อไปนี้จะลำดับเวลาการส่งเสริมของรัฐซึ่งแบ่งเป็น 3 ช่วง และกล่าวถึงกรณีศึกษาหมู่บ้านจำนวนหนึ่ง เพื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

ช่วงแรก เป็นช่วงที่รัฐมีบทบาทโดยตรงในการสนับสนุนภาคเกษตร  ซึ่งอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมของซูฮาร์โต (ค.ศ.1966—1998) นโยบายการเกษตรที่รัฐส่งเสริมธุรกิจการเกษตร (state agribusiness-driven) ในช่วงนี้ได้เปลี่ยนภูมิทัศน์และชีวิตชนบทในสุมาตราและในพื้นที่อื่นในอินโดนิเซียอย่างมาก มีธุรกิจการเกษตรที่รัฐลงทุนเป็นเจ้าของ และที่ร่วมทุนกับเอกชนเกิดขึ้นแพร่หลาย ในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อเร่งรัดการเติบโตของปาล์มน้ำมัน  ได้เกิดโครงการพิเศษส่งเสริมให้บริษัทเอกชนลงทุนทำสวนปาล์มน้ำมัน  

โคร่งการพิเศษฯ (ชื่อย่อว่า PIR-Trans) ดำเนินการระหว่างปี 1986 – 1994 ได้จัดเตรียมพื้นที่การเกษตรสำหรับนักลงทุน ได้แก่พื้นที่ที่เคยให้สัมปทานไม้ และเคยให้เช่าทำนิคมเกษตรกรรม (plantation) มาก่อน ซึ่งรัฐถือว่าเป็นที่ “ว่างเปล่า” พร้อมกันนั้นนักลงทุนจะได้รับสนับสนุนสินเชื่อ และรัฐจะทำการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น โครงการนี้ยังเกิดขึ้นพร้อมกับนโยบายส่งเสริมการย้ายถิ่นของชาวบ้านจากเกาะชวา เพื่อมาเป็นแรงงานในนิคมเกษตรกรรม  สำหรับชาวบ้านในท้องถิ่นผู้เป็นเจ้าของที่ดินหากต้องการเข้าร่วมโครงการก็สามารถทำได้ โดยจะได้รับสินเชื่อและการสนับสนุนในทำนองเดียวกัน   

ในขณะเดียวกัน เพื่อเตรียมที่ดินเพาะปลูก รัฐบาลได้ดำเนินโครงการจัดสรรที่ดินซึ่งเคยใช้กันบางแห่งในประเทศกำลังพัฒนาที่เรียกว่า “Nucleus Estate Schemes” โครงการนี้เป็นการสร้างแรงจูงใจแก่เกษตรกร (เพราะราคาปาล์มน้ำมันยังไม่สูงมาก และชาวบ้านยังมีพืชชนิดอื่นเป็นรายได้) โดยใช้พื้นที่ ”ว่างเปล่า” ของรัฐ  ซึ่งที่จริงคือพื้นที่ที่ชาวบ้านใช้และถือครองตามประเพณี เป็นพื้นที่จัดสรรให้แก่นักลงทุน (ที่ดินนี้เรียกว่า nuclease) ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการจัดสรรที่ดิน 2 เฮกตาร์ (เรียกว่า plasma) โดยมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล และได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตและสินเชื่อสำหรับปลูกปาล์มน้ำมันของตน แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเข้าเป็นแรงงานใน nuclease ด้วย สำหรับรัฐบาลโครงการนี้ให้ประโยชน์แก่นักลงทุนและชาวบ้าน แต่นักวิชาการบางคนเห็นว่ามันคือ “การแย่งยึดที่ดินสาธารณะไปให้แก่นายทุน”[2] นั่นเอง

ผลลัพธ์ในช่วงนี้คือ เกิดการขยายพื้นที่สวนปาล์มอย่างรวดเร็ว นักลงทุนได้ประโยชน์เป็นกอบเป็นกำ โครงการ PIR-Trans ถูกวิจารณ์ว่าเบื้องหลังคือผลประโยชน์ร่วมระหว่างนักลงทุนชาวอินโดนิเซียเชื้อสายจีน (Sino-Indonesians) กับข้าราชการและนักการเมืองระดับสูง  แต่สำหรับชาวบ้าน ผู้ร่วมโครงการฯจำนวนมากไม่ประสบความสำเร็จ บางคนกล่าวว่าการทำงานใน nuclease ได้ค่าแรงต่ำมากจนอยู่ไม่ได้ (0.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน) หลายคนไม่สามารถรอจนถึงเวลาที่ปาล์มในแปลงของตนให้ผลผลิตจึงผละจากโครงการ บางคนขายที่ดินให้แก่คนมั่งมีในหมู่บ้าน ซึ่งได้แก่บรรดาชนชั้นนำในหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่น พ่อค้า ครู โครงการนี้จึงมีส่วนทำให้เกิดการแบ่งชนชั้นและความแตกต่างทางเศรษฐกิจมากขึ้น        

ช่วงที่ 2 อยู่ระหว่างช่วงทศวรรษ 1990 โดยประมาณ รัฐเริ่มลดบทบาทนักพัฒนา ตามกระแสเสรีนิยมใหม่ บวกกับต้องการประหยัดงบประมาณ นโยบายในช่วงนี้คือสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีบทบาทนำ ส่วนรัฐถอยไปสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ช่วงนี้ได้เกิดโครงการใหม่คือ “โครงการความร่วมมือเอกชน-ชุมชน”  โดยเปิดให้นักลงทุนทำความร่วมมือกับชุมชนเพื่อทำสวนปาล์ม (ชื่อย่อ KKPA) รัฐมีบทบาทสนับสนุนด้วยการให้สินเชื่อแก่นักลงทุนผ่านธนาคาร นักลงทุนสนับสนุนทุนและปัจจัยการผลิตแก่ชุมชน  ชุมชนเตรียมที่ดินและแรงงาน เมื่อได้ผลผลิตเกษตรกรขายผลผลิตแก่นักลงทุน ส่วนรัฐจะให้คำปรึกษาด้านเทคนิคการผลิตแก่เกษตรกร โครงการนี้อาจจัดเป็นระบบเกษตรแบบพันธะสัญญาประเภทหนึ่ง การดำเนินการช่วงนี้ต่างจากช่วงแรก เพราะราคาปาล์มน้ำมันกำลังพุ่งสูงขึ้น จึงได้รับความสนใจจากเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก  

ในแง่แนวคิด โครงการดูเหมือนจะเป็นไปง่ายๆ แต่ทางปฏิบัติกลับเป็นไปอย่างซับซ้อน  เพราะที่ดินในชุมชนมีการถือครองเหลื่อมซ้อนกันหลายระบบ ชุมชนมักถือครองที่ดินตามระบบประเพณี  ชาวบ้านส่วนใหญ่มีที่ทำกินคือ สวนยางพาราในเขตป่า และที่ทำไร่หมุนเวียน และชุมชนยังมีพื้นที่ป่าหรือที่สาธารณะของส่วนรวม พื้นที่เหล่านี้มักไม่ได้รับการรับรองสิทธิจากรัฐ ในบางชุมชนยังมีพื้นที่สัมปทานป่าของรัฐ และที่ดินที่ให้เอกชนเช่าทำนิคมเกษตรกรรม และบางชุมชนยังมีพื้นที่ตามโครงการ  “Nucleus Estate Schemes” ที่ดำเนินมาก่อน  ขณะที่ในชาวชุมชนก็มีฐานะแตกต่างกัน  มีทั้งกลุ่มชนชั้นนำของชุมชน เกษตรกรร่ำรวย ปานกลาง ยากจน แรงงานรับจ้าง มีทั้งกลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิม และกลุ่มที่ย้ายเข้ามาใหม่ตามโครงการส่งเสริมของรัฐ 

 ในการดำเนินการ นักลงทุน/บริษัทจะติดต่อกับผู้นำชุมชนให้เป็นตัวแทนจัดหาผู้ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ  ตัวแทนชุมชนก็คือบรรดาผู้นำ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นผู้มีฐานะดี ตัวแทนชุมชนจะถูกจัดตั้งเป็นกรรมการ ทำหน้าที่สำรวจที่ดิน เพื่อรวบรวมที่ดินและรายชื่อผู้ประสงค์จะเข้าร่วม แต่ปัญหาก็คือ ตัวแทนชุมชนซึ่งมีฐานะดีมักกระตือรือร้นจะเข้าร่วมโครงการ และมีผลประโยชน์กับโครงการ จึงเกิดการกระตุ้น หว่านล้อม ให้ชาวบ้านเข้าร่วมมากๆ หรือบางกรณีมีการนำพื้นที่สาธารณะของชุมชนมาเข้าโครงการ บางพื้นที่เกิดความขัดแย้งจากการอ้างพื้นที่ส่วนรวมเป็นของส่วนตัว และเกิดการอ้างระบบกรรมสิทธิ์แตกต่างกัน ปัญหายิ่งแย่ลงไปอีก เมื่อหน่วยงานรัฐสงวนท่าทีที่จะเข้ามาให้คำปรึกษา ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การขยายตัวของสวนปาล์มท่ามกลางความปั่นป่วนและขัดแย้งในชุมชน

อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมีหลากหลาย ขึ้นกับตัวแปรหลายประการ ในหมู่บ้านแห่งที่ 1 ท่ามกลางความปั่นป่วนและขัดแย้ง แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จในการทำสวนปาล์ม สามารถยกฐานะมีเงินทองร่ำรวยขึ้น หมู่บ้านแห่งนี้มีทำเลติดกับเส้นทางคมนาคมสายหลัก มีการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นมาก่อน และชาวบ้านจำนวนหนึ่งก็ได้เข้าโครงการ PIR-Trans มาก่อน ชาวบ้านมีความเท่าทันและมีอำนาจต่อรองกับคณะกรรมการสำรวจที่ดินชุมชน มีเจ้าหน้าที่รัฐบางคนเข้ามาให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหา การติดถนนใหญ่ทำให้มีแรงงานรับจ้างเข้ามาเป็นแรงงานในสวนปาล์ม  ชาวบ้านค้าขายพืชผลและติดต่อสัมพันธ์กับในเมืองมาก่อน ทำให้เข้าถึงข่าวสาร และมีเครือข่ายทางสังคมเป็นปัจจัยสนับสนุนการปรับตัว

หมู่บ้านแห่งที่ 2 ซึ่งอยู่ห่างถนนใหญ่ออกมา ผลลัพธ์เป็นแบบผสมผสาน คือมีทั้งคนที่ประสบความสำเร็จ  และไม่ประสบความสำเร็จ คือทำแล้วไปไม่รอดต้องขายกิจการต่อให้กับคนรวย และมีทั้งกรณีที่ไม่ได้ทำสวนปาล์ม แต่ขายที่ดิน และกลายเป็นแรงงานรับจ้าง หมู่บ้านแห่งที่ 3 อยู่ในเขตป่าลึก ชาวบ้านส่วนใหญ่ยากจน เข้าไม่ถึงข้อมูล แต่มีนายหน้าในหมู่บ้าน ทำงานรวมกับเกษตรกรฐานะดีจากหมู่บ้านอื่น มากว้านซื้อที่ดิน ที่ดินของชุมชนกลายเป็นพื้นที่สวนปาล์มของคนภายนอก ส่วนชาวบ้านจำนวนมากกลายเป็นแรงงานรับจ้างไร้ที่ดิน   

ช่วงที่ 3 ปลายทศวรรษ 1990 อินโดนิเซียเข้าสู่การเป็น “รัฐเสรีนิยมใหม่” (Neoliberal State)[3] เต็มตัว โดยหลักการคือ รัฐลดบทบาทนักพัฒนา และหันไปสร้างความเข้มแข็งทางสถาบันเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจเสรีนิยม ภารกิจที่เด่นชัดคือ การสร้างความเข้มแข็งแก่ระบบกรรมสิทธิ์เอกชน การทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและการบริการสาธารณะเข้าสู่ตลาด และส่งเสริมบทบาททางเศรษฐกิจของภาคเอกชน ในช่วงเดียวกันนี้การเมืองการปกครองของอินโดนนิเซีย เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และได้ปฏิรูปไปสู่การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ในการพัฒนาภาคเกษตรอาจนับได้ว่ารัฐส่วนกลางได้ถอนตัวออกจากภารกิจ รวมทั้งในกรณีปาล์มน้ำมันด้วย

การศึกษาในหมู่บ้านแห่งที่ 4 ซึ่งอยู่ไกลออกไปในพื้นที่ป่า พบผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไป หมู่บ้านแห่งนี้ไม่ได้เข้าโครงการ PIR-Trans และ KKPA มาก่อน กระนั้นมีชาวบ้านจำนวนหนึ่งทำสวนปาล์มมาก่อน ในช่วงนี้ราคาปาล์มน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอีก (โดยเฉพาะปี 2008 ราคาสูงเป็นประวัติการณ์)  ได้เกิดการตื่นตัวของตลาดซื้อขายที่ดินเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน  ฝ่ายผู้ซื้อก็คือบรรดาชาวบ้านฐานะดีจากหมู่บ้านอื่นๆที่ประสบความสำเร็จจากการทำสวนปาล์มน้ำมันในช่วงก่อนหน้านั้น หรือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นที่สะสมทุนมาจากการค้าไม้เถื่อน ร่วมกับนายหน้าในหมู่บ้าน ฝ่ายผู้ขายก็คือชาวบ้านฐานะยากจน    

การซื้อขายที่ดินเกิดขึ้นบนระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินตามประเพณีของชุมชน โดยปกติชาวบ้านมีการซื้อขายในรูปการ “ขายสิทธิ” แต่ในกรณีสวนปาล์มผู้ซื้อต้องการกรรมสิทธิ์ที่ดินตามกฎหมายเพื่อความมั่นคงในการถือครอง ในทางปฏิบัติชาวบ้านสามารถร้องขอให้ทางการออกเอกสารรับรองกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ โดยการขอออกเอกสารสิทธิ์ ต้องให้ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่ระดับอำเภอเป็นผู้รับรอง สถานการณ์นี้ทำให้ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่ระดับอำเภอกลายเป็นผู้มีอำนาจ และสามารถมีผลประโยชน์จากกระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ และในภาวะที่รัฐส่วนกลางมอบอำนาจแก่ท้องถิ่น ทำให้กลุ่มราชการท้องถิ่นกลายเป็นศูนย์รวมผลประโยชน์เรื่องที่ดิน

ผลลัพธ์ในหมู่บ้านนี้คือ เกิดกระบวนการเปลี่ยนมือที่ดินไปสู่คนนอกชุมชน ชาวบ้านยากจนขายที่ดินของครอบครัว พื้นที่สาธารณะถูกอ้างเป็นของส่วนตัวเพื่อออกเอกสารสิทธิ์ ทำให้พื้นที่สาธารณะของชุมชนลดลง กระทบต่อการยังชีพของกลุ่มคนจน เกิดแรงงานรับจ้าง และแรงงานรับจ้างไร้ที่ดิน เกิดเจ้าของสวนปาล์มรวย และยากจน เนื่องจากการทำสวนปาล์มต้องลงทุนสูง ด้านปัจจัยการผลิต และการดูแลรักษา เกษตรกรที่มีเงินทุนมาก เข้าถึงสินเชื่อได้ มีเครือข่ายทางสังคมกว้างขวาง จะสามารถพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ทำให้ได้ประโยชน์จากตลาด แต่เกษตรกรที่ขาดความพร้อม  จะเผชิญปัญหาการผลิต  ขาดทุน เป็นหนี้ หรือต้องขายสวนปาล์มในที่สุด         

กล่าวโดยสรุป กรณีของอินโดนิเซียแสดงให้เห็น การขยายตัวของตลาดเสรี และการผนวก(inclusion) ชาวบ้านเข้าสู่ตลาด กระบวนการนี้มีความแยกแย้ง (paradox) ในตัวเอง ในด้านหนึ่ง เราคงไม่ปฏิเสธว่าชาวบ้านบางส่วนมั่งมีขึ้น และตลาดได้นำความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆมาสู่ชีวิต แต่สำหรับชาวบ้านบางส่วนการเข้าสู่ตลาด คือการสูญเสียที่ดิน หนี้สิน และเป็นแรงงานราคาถูก แต่ในอีกด้านหนึ่ง สำหรับชาวบ้านที่ไม่สามารถเข้าสู่ตลาด หรือถูกกีดกันจากตลาด (exclusion) ก็ตกอยู่ในภาวะย่ำแย่ ไม่มีโอกาสพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ตัวเอง  ซึ่งไม่มีใครสมควรจะถูกทอดทิ้งเช่นนั้น

แต่การผนวกชาวบ้านเข้าสู่ตลาดก็ยังมีปัญหาอีกระดับคือ ความร่ำรวยของคนส่วนหนึ่งในชุมชน ต้องแลกกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น รวมทั้งการทำลายผืนป่า และการสูญเสียที่ดินของชุมชน หรืออาจเรียกว่าเป็นกระบวนการ “แย่งยึดที่ดิน” (land grabbing) ซึ่งตลาดทำหน้าที่ “ฟอก” ผืนป่าธรรมชาติ และที่ดินของคนจน ไปสู่มือของคนมั่งมีอย่างชอบธรรม

 

ขบวนการเกษตรกรปกป้องที่ดินทำกินในบราซิล
ที่มาภาพhttp://www.waronwant.org/

บราซิล[4]

บราซิลเป็นประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคเชื้อเพลิงชีวภาพรายใหญ่ของโลก (อันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา) เศรษฐกิจของบราซิลอยู่บนฐานการเกษตรซึ่งมีขนาดใหญ่ และมีการเกษตรในรูปแบบนิคมการเกษตรขนาดใหญ่ (plantation) มานาน บราซิลยังเป็นประเทศที่มีขบวนการมวลชน โดยเฉพาะเกษตรกรและแรงงานไร้ที่ดิน ที่เข้มแข็งมีชื่อเสียงระดับโลกด้วย

กรณีศึกษาต่อไปนี้จะกล่าวถึงเหตุการณ์ใน รัฐ เซา เปาโล (Sao Paulo State) ซึ่งเป็นพื้นที่การเกษตรที่สำคัญของประเทศ และได้กลายเป็นแหล่งปลูกพืชพลังงานป้อนอุตสาหกรรมเอทานอล และไบโอดีเซลที่คึกคักอย่างมาก กรณีศึกษามุ่งไปที่อำเภอพอนทอล (Pontal Region) ซึ่งเกิดการขยายตัวของพืชพลังงานภายใต้การส่งเสริมของบริษัทเชื้อเพลิงชีวภาพ ในขณะที่พื้นที่ส่วนหนึ่งในอำเภอนี้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินสำหรับเกษตรกรยากจน กระแสพืชพลังงานได้ทำให้เกิดการเผชิญหน้า ระหว่างบริษัทฯ กับชาวบ้านในโครงการปฏิรูปที่ดิน ฝ่ายแรกต้องการขยายพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวป้อนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ แต่ฝ่ายหลังให้ความสำคัญกับการผลิตพืชอาหารหลากหลายชนิด

ท่ามกลางความขัดแย้ง ในปี ค.ศ. 1995 บริษัทเอกชนรายใหญ่แห่งหนึ่ง ได้เสนอโครงการพัฒนาการเกษตร เพื่อขอการสนับสนุนจากรัฐบาล  โครงการมีแนวคิดสร้างความร่วมมือระหว่างบริษัทกับเกษตรกรในโครงการปฏิรูปที่ดิน ให้เกษตรกรใช้ที่ดินของตนปลูกอ้อยให้แก่บริษัทเพื่อใช้ผลิตเอทานอล ซึ่งต่อมาโครงการได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เนื่องรัฐบาลจากเห็นว่าโครงการจะสร้างงานสร้างรายได้แก่เกษตรกร เกษตรกรมีโอกาสเข้าถึงปัจจัยการผลิต และยังได้รับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ รัฐบาลให้การสนับสนุนโครงการนี้ โดยสนับสนุนให้เกษตรกรในโครงการปฏิรูปที่ดินเข้าร่วมโครงการ และให้สินเชื่อผ่านธนาคารแก่เกษตรกร แน่นอนว่าโครงการนี้ถูกต่อต้านจากเกษตรกรในโครงการปฏิรูปที่ดิน อย่างไรก็ตามมีเกษตรกรจำนวนหนึ่งตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ  รัฐบาลประเมินว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างดี

ในปี 2002 ในขณะที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนเชื้อเพลิงชีวภาพ และตลาดมีความต้องการพืชพลังงานมากขึ้น รัฐบาลได้ผลักดันโครงการในลักษณะเดียวกันอย่างจริงจังมากขึ้น ปรากฏว่าในระดับรัฐเซา เปาโล มีเกษตรกรในโครงการปฏิรูปที่ดินเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก ในทำนองเดียวกับโครงการที่ผ่านมา รัฐบาลจะประเมินว่าโครงการประสบความสำเร็จ แต่การสำรวจข้อมูลจากชาวบ้านผู้เข้าร่วมโครงการ  ชาวบ้านจำนวนมากที่แสดงความไม่พอใจว่า ได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า เกษตรกรไม่มีโอกาสถือเงินกู้ที่ได้รับการสนับสนุน เพราะบริษัทเป็นผู้บริหารจัดการ ในบางกรณีบริษัทไม่ทำตามข้อตกลง ผัดผ่อน หรือให้ราคาไม่ตรงกับที่ตกลงไว้ ในขณะที่ต้องใช้สารเคมีจำนวนมากขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และดินเสื่อมเต็มไปด้วยมลพิษ         

สถานการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นทั่วไปในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพของบราซิล แต่กรณีศึกษาในประเทศนี้มีประเด็นน่าสนใจคือ ปฏิกิริยาอันหลากหลายของขบวนการมวลชน คือแทนที่เราจะพบกับเรื่องราวแบบขาว-ดำ ที่ว่าเกษตรกรต้องต่อต้านทุนนิยมเสมอไป เรากลับพบว่าขบวนการมวลชนมีปฏิกิริยาทั้งในด้านที่ต่อต้าน ไปจนถึงสนับสนุน เข้าร่วม ใช้ประโยชน์ และต่อรองกับทุน      

สำหรับ  Via Campesina – Brazil ซึ่งเป็นองค์กรนำของเครือข่ายมวลชน (เกษตรกร แรงงาน แรงงาน คนจน) ที่รู้จักกันในระดับสากล มีจุดยืนคือคัดค้านอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ แต่ก็น่าสนใจว่า  Via Campesina ไม่ได้คัดค้านอย่างปิดตาย  พวกเขาเห็นว่า แม้เชื้อเพลิงชีวภาพจะเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ เป็นไปภายใต้ระบบอุตสาหกรรมที่ควบคุมโดยบรรษัทข้ามชาติ เพื่อสนับสนุนระบบบริโภคนิยม และปัจเจกชนนิยม และ ยังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ขูดรีดเกษตรกร และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม องค์กรเห็นว่าเชื้อเพลิงชีวภาพเป็นสิ่งจำเป็น แต่ระบบการผลิตควรเป็นไปอย่างอย่างยืน และให้ประโยชน์แก่เกษตรกร ดังนั้นเมื่อพิจารณาให้ดีจะพบว่า Via Campesina ไม่ได้คัดค้านตัวเชื้อเพลิงชีวภาพ แต่คัดค้านระบบอุตสาหกรรมที่เป็นอยู่

ภายใต้ร่มธงนี้ ยังมีปฏิกิริยาที่แตกต่างออกไป ดังกรณีสมาพันธ์แรงงานภาคเกษตรแห่งชาติ (National Confederation of Agricultural Workers – CONTAG[5]) ซึ่งเป็นองค์กรดั้งเดิมระดับชาติของ แรงงานรับจ้างภาคเกษตร และเกษตรกรรายย่อย ในฐานะองค์กรที่มีบทบาทต่อรองและมีอิทธิพลสูงต่อการกำหนดนโยบายของรัฐ องค์กรสนับสนุนอย่างเต็มตัวต่อโครงการเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยเห็นว่าโครงการดังกล่าวคือโอกาสที่ดีของเกษตรกร ที่จะยกระดับราคาผลผลิต และมีรายได้จากการจ้างแรงงาน เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับการดูแลจากองค์กรที่ทำหน้าที่เจรจาต่อรองกับรัฐให้ดูแลสภาพการจ้างและการทำตามสัญญาของบริษัทตามเงื่อนไขอย่างเป็นธรรม

กรณีสมาคมสมาพันธ์ครัวเรือนเกษตรกรในนิคมแห่งรัฐเซา เปาโลตะวันตก (Association  of Settled  Family Farmers Federation in Western Sao Paulo State – FAAFOP) เป็นอีกกรณีที่น่าสนใจ  องค์กรนี้ก่อตั้งโดย Jose Rainha Junior อดีตแกนนำคนสำคัญของขบวนการแรงงานไร้ที่ดิน (Landless Worker Movement – MST ซึ่งเป็นแนวร่วมสำคัญของ Via Campesina) Rainha  ขัดแย้งกับองค์กรเดิมจึงแยกตัวออกมาตั้งองค์กรใหม่  FAAFOP ได้ก่อตั้งสหกรณ์ผู้ผลิตไบโอดีเซล และมีเกษตรกรเข้าร่วมค่อนข้างกว้างขวาง ในปี 2008 สหกรณ์ได้รวมกลุ่มขายวัตถุดิบแก่บริษัทผู้ผลิตไบโอดีเซลแห่งหนึ่ง  และสหกรณ์ประสบความสำเร็จในการต่อรองราคาผลผลิตและการสนับสนุนปัจจัยการผลิตจากบริษัท ในปี 2010 สหกรณ์มีโครงการที่จะใช้ผลผลิตวัตถุดิบจำนวนครึ่งหนึ่งของที่สมาชิกผลิตได้แปรรูปไบโอดีเซล โดยโรงงานขนาดเล็กในท้องถิ่นจะเป็นการร่วมหุ้นของสหกรณ์กับบริษัท ความฝันของ Rainha คือการที่สหกรณ์สามารถเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทข้ามชาติและรัฐบาล พร้อมกับความสามารถในการพึ่งตัวเอง ในพื้นที่การผลิตของเกษตรกรจะแบ่งพื้นที่ทำการผลิตพืชอาหารหลายชนิด สำหรับไบโอดีเซลที่ผลิตได้ส่วนหนึ่งจะใช้สำหรับเครื่องจักรกลการเกษตรในฟาร์มของเกษตรกร ถึงแม้ว่าโครงการหุ้นส่วนกับบริษัทข้ามชาติจะยังห่างไกลความสำเร็จ แต่กิจการในด้านอื่นๆก็ก้าวหน้าไปไม่น้อย

อีกกรณีหนึ่งคือ ขบวนการเคลื่อนไหวของเกษตรกรรายย่อย (Movement of Small Farmers – MPA) ซึ่งแยกตัวออกมาจาก  MST เช่นกัน  การเคลื่อนไหวของ MPA ได้รับอิทธิพลแนวคิดสหกรณ์ตามแบบ  Rainha  จุดเน้นของกลุ่มคือการสร้างสมดุลระหว่างพืชอาหารและพืชพลังงาน เพื่อความยั่งยืนของชุมชน  สหกรณ์ของ MPA ขายวัตถุดิบแก่บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง และสามารถต่อรองให้บริษัทสนับสนุนการผลิตของสหกรณ์ได้ MPA ได้สร้างตัวแบบอุตสาหกรรมการเกษตรของสหกรณ์  โดยการผลิตอาหารควบคู่กับพลังงานจากพืชหลายชนิด ได้แก่ อ้อย มะเขือเทศ มันสำปะหลัง ข้าวฟ่าง สหกรณ์ผลิตสินค้าหลายอย่างเช่น น้ำตาล กากน้ำตาล(ทำปุ๋ยหรือทำเอทานอล) ขนมหวาน  สุรา อาหารสัตว์ ปุ๋ย และเอทานอล  สหกรณ์นำเสนอตัวตนในฐานะ องค์กรที่ก่อตั้งและควบคุมโดยกลุ่มครัวเรือนชาวนาระดับกลาง สมาชิกมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแบบประชาธิปไตย ในทุกขั้นตอนตั้งแต่แปลงการผลิตจนถึงตลาด สหกรณ์มีสาขาหลายแห่งกระจายในพื้นที่ของสมาชิก รับซื้อวัตถุดิบ และแปรรูปผลผลิตหลายอย่าง สมาชิกได้รับเงินปันผล และมีการจ้างงานสมาชิกด้วยกันหลายร้อยอัตรา 

สำหรับฝ่ายที่ยืนหยัดต่อต้านเชื้อเพลิงชีวภาพตามจุดยืนของ Via Campesina ได้แก่ MST ซึ่งเป็นเครือข่ายใหญ่ที่มีบทบาทสูง นอกจากนั้นยังมีกลุ่มย่อย เช่น ขบวนการเคลื่อนไหวชาวนาประชานิยม (Popular Peasant Movement – MCP) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับ MPA และแตกตัวออกมาคัดค้านเชื้อเพลิงชีวภาพ  

ส่วน Via Campesina ในปี 2008 ด้วยการมุ่งมันคัดค้านอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ ภายใต้คำประกาศ “ชาวนาผลิตอาหาร แต่เชื้อเพลิงชีวภาพให้ความหิวโหยและยากจน” ทว่าด้วยความตระหนักว่าเครือข่ายสมาชิกจำนวนหนึ่งผลิตพืชพลังงาน/เชื้อเพลิงชีวภาพ   Via Campesina ได้นำเสนอคำประกาศอย่างเป็นทางการว่าด้วย “แนวทางที่สมควรกระทำในการเข้าร่วมกับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ” เป็นโครงการทดลอง 5 ปี ซึ่งนักวิชาการเห็นว่าคำประกาศนี้สะท้อนให้เห็นการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของขบวนการไปสู่การประนีประนอมกับระบบทุนนิยม แต่ก็ยังคงสาระสำคัญของการปฏิวัติสังคม คำประกาศมีหลักการสำคัญ 6 ประการประกอบด้วย

(1) ในระหว่างที่เกษตรกรเข้าร่วมโครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ จะต้องได้รับการผัดผ่อนการชำระหนี้ที่เกิดจากการลงทุนเป็นเวลา 5 ปี (2) ต้องประเมินผลกระทบจากเชื้อเพลิงชีวภาพต่อ ดิน และน้ำ และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมตลอดโครงการ (3) การลงทุนจะต้องนำไปสู่การพัฒนาระบบเกษตรกรรมของชาวนา สนับสนุนเครือข่ายทางสังคม และลดการบริโภคนิยม (4) องค์กรชาวนาจะสนับสนุนรัฐบาลและสถาบัน ที่ส่งเสริมการผลิตและการกระจายอาหารที่ช่วยลด carbon footprint, ทำให้เกิดการจ้างแรงงาน, เคารพธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางวัฒนธรรม และช่วยแกไขปัญหาโลกร้อน (5) นโยบายการเกษตรของรัฐควรมุ่งไปสู่การสร้างความยั่งยืนของชุมชน และวิถีชีวิต บนพื้นฐานของอธิปไตยทางอาหาร และการปฏิรูปที่ดินในความหมายที่แท้จริง (6) รูปแบบการพัฒนาและการบริโภคที่มีความรับผิดชอบควรได้รับการส่งเสริมให้ทั่วถึง.

 

การเปลี่ยนผ่านสังคมเกษตรกรรม ?

ในวงวิชาการและวงการพัฒนามีข้อถกเถียงระหว่างสองกระบวนทัศน์ซึ่งไม่เคยลดละ ฝ่ายหนึ่งคือ กระบวนทัศน์ทุนนิยมภาคเกษตร (agrarian capitalist paradigm) อีกฝ่ายคือ กระบวนทัศน์         คำถามว่าด้วยสังคมเกษตรกรรม (agrarian question paradigm) ฝ่ายแรกเห็นว่า การพัฒนาภาคเกษตรก็คือการพัฒนาไปสู่ระบบทุนนิยม โดยการผนวก (inclusion) เกษตรกรเข้าสู่ตลาด ตลาดคือสถาบัน/กลไกที่จะเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิต ชาวนาควรเปลี่ยนตัวเองไปสู่การเป็นเกษตรกร ทำการผลิตในระบบฟาร์ม ในฐานะผู้ประกอบการการเกษตร ใช้ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในทุกสังคมจะมีช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นทุนนิยมการเกษตร ซึ่งอาจเกิดปัญหาไม่พึงประสงค์ แต่จะไปถึงจุดที่ก้าวหน้าได้ในที่สุด แต่ฝ่ายหลังซึ่งเป็นนักคิดเชิงวิพากษ์ กลับตั้งข้อสงสัยกับความเปลี่ยนแปลง โดยสนใจปัญหาความเหลื่อมล้ำและความเป็นธรรมทางสังคมมากกว่า  เพราะเราไม่อาจบอกได้ว่าช่วงเปลี่ยนผ่านจะสิ้นสุดเมื่อใด ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน  จึงสำคัญไม่น้อยกว่าปลายทางที่ต้องการไปให้ถึง 

กรณีศึกษาอินโดนิเซียและบราซิล มีจุดร่วมกันในประเด็นข้อถกเถียงระหว่าง 2 กระบวนทัศน์ โดยมีเชื้อเพลิงชีวภาพ/พืชพลังงานเป็นสื่อกลาง  และสถานการณ์ที่ร่วมกันอีกก็คือ การขยายตัวของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพภายใต้ระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ที่แผ่ขยายจากประเทศทุนนิยมศูนย์กลางแทรกซอนออกไปแสวงหาทรัพยากรและแรงงานราคาถูก ภายใต้ลัทธิเสรีนิยมใหม่ และการอำนวยความสะดวกของรัฐประเทศกำลังพัฒนา แต่ในกรณีศึกษานี้ยังมีข้อค้นพบที่น่าสนใจมากกว่านั้นด้วย

กรณีอินโดนิเซีย การศึกษาทั้งสนับสนุนและล้มล้างสมมุติฐานว่าด้วยบทบาทของตลาด ของฝ่าย agrarian capitalist paradigm ในด้านสนับสนุน การศึกษาแสดงให้เห็นว่า การไม่สามารถเข้าร่วมหรือถูกีดกันจากตลาด (exclusion) ทำให้เกษตรกรไม่สามารถพัฒนาการผลิตและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ได้  แต่ในด้านที่คัดค้านสมมุติฐานก็คือ การเข้าร่วม (inclusion) กับตลาดไม่จำเป็นว่าจะทำให้ชีวิตชาวบ้านดีขึ้นเสมอไป หากแต่สิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็น การแบ่งแยกทางชนชั้น ความยากจน และการเสื่อมโทรมของทรัพยากร อย่างฉับพลัน

หากวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้การเข้าร่วมกับตลาดเป็นปัญหาอาจกล่าวได้ว่า  ในกรณีของหมู่บ้านศึกษาคือ ปัญหาความเข็มแข็งเชิงสถาบัน (institution) ดังที่ที่ดินของชุมชนได้หลุดจากการควบคุมตามประเพณี  กลายเป็น “สินค้า” ที่ถูกซื้อได้ด้วยเงินโดยไม่มีกฎเกณฑ์กำกับควบคุม การไม่สามารถปรับตัวเชิงสถาบัน อาจเกิดจากสาเหตุแตกต่างกันในแต่ละชุมชน และการไม่สามารถปรับตัวจะเลวร้ายมากขึ้นอีก ในเงื่อนไขที่รัฐไม่รับรองระบบกรรมสิทธิ์ตามประเพณี และการกระแทกเข้ามาอย่างรวดเร็วของตลาดที่ดิน ในกรณีชุมชนตัวอย่างยังเห็นอีกด้วยว่า ตัวแปรสำคัญที่ทำให้สถานการณ์แย่ลงก็คือ ชนชั้นนำในชุมชน ซึ่งแทนที่จะมีบทบาทสร้างความเข้มแข็งทางสถาบัน กลับกลายเป็นผู้หาประโยชน์จากตลาด       

กรณีของบราซิล  การต่อสู้ระหว่าง 2 กระบวนทัศน์สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจน  ในประเทศเกษตรกรรมขนาดใหญ่อย่างบราซิล สำหรับรัฐ การพัฒนาทุนนิยมภาคเกษตร คือคำตอบของการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ในขณะที่ฝ่ายขบวนการเกษตรกรที่ผ่านประสบการณ์ และมีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง ก็ยืนหยัดวิพากษ์วิจารณ์และต่อรองเชิงนโยบายกับรัฐมานาน การต่อสู้ระหว่างสองกระบวนทัศน์สะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ผ่านการต่อสู้เรื่องอาณาเขตที่ดินระหว่างการใช้ที่ดินเพื่อผลิตพืชเชิงเดี่ยวป้อนอุตสาหกรรมเกษตร กับที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการยังชีพ และการผลิตที่หลากหลายของเกษตรกร กล่าวในเชิงทฤษฎี กระบวนการลบล้าง – สร้างใหม่ของเขตแดน (de and re – territorialization) เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายและมีพลวัตในชนบท พร้อมกับกระบวนการสูญหาย – เกิดใหม่ของเกษตรกร (de and re – agrarianization) กระบวนทัศน์ที่ต่างกัน ทำให้ต่างฝ่ายต่างคิด กระทำการ สร้างความหมาย  และต่อสู้ในแนวทางที่ต่างกัน    

การต่อสู้ของขบวนการมวลชนยังทำให้เราเห็นอีกว่า สำหรับเกษตรกรในฐานะผู้กระทำการทางสังคม ก็มีความเห็นแตกต่างหลากหลาย และไม่ได้เป็นขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่เหมือนๆกันไปหมด พวกเขาบางกลุ่มไม่ได้เลือกระหว่างสองขั้วของสองกระบวนทัศน์ แต่พวกเขาสร้างพื้นที่ระหว่างกลางขึ้นมา และพยายามปรับตัวและต่อรองอย่างน่าสนใจ 

ประสบการณ์ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย ที่กำลังถีบตัวขึ้นมาเป็นผู้บริโภคและผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพรายสำคัญ.

 



[1] หัวข้อนี้เรียบเรียงจาก  McCarthy, John F., 2010. Process of inclusion and adverse incorporation : oil palm and agrarian change in Sumatra, Indonesia . The  Journal of Peasant Studies. Vol.37, No4. October. Pp. 821-850.  ในกรณีที่มีการอ้างอิงเพิ่มเติม ผู้เขียนต้องการเน้นให้เห็นแหล่งอ้างอิงที่สำคัญ เพื่อประโยชน์สำหรับการค้นคว้าต่อไป

[2] “primitive accumulation by enclosure” Nevins, S. and N.L Peluso. 2008 Taking Southeast Asia to the market : communities, nature, and people in neoliberal age. Cornell University Press. Cited in McCarthy, John F., 2010 pp. 829.

[3] Harvey, D. 2005, A short history of neoliberalism. Oxford : Oxford University Press. pp 64 Cited in  McCarthy, John F., 2010.pp. 839.

[4] หัวข้อนี้เรียบเรียงจาก Fernandes, Bernado Mancano, Clifford Andrew Welch and Elienai Constantino Goncalves. 2010. Agrofuel policys in Brazil : paradamatic and territorial disputes. The  Journal of Peasant Studies. Vol.37, No4. October. Pp 793-819.

[5] อักษรย่อนี้และต่อไปข้างหน้า เป็นอักษรย่อตามภาษาโปรตุเกสซึ่งเป็นภาษาทางการของบราซิล   

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท