บันทึกลับเรื่อง "ศรีบูรพา" ครึ่งศตวรรษในจีน (3) ความในใจ ชนิด สายประดิษฐ์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
หลักฐานที่ดีอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับความผูกพันระหว่าง สุชาติ ภูมิบริรักษ์ และศรีบูรพา ก็คือข้อความในจดหมายล่าสุดถึง สุชาติ ภูมิบริรักษ์ จาก "ชนิด สายประดิษฐ์" ภริยาของศรีบูรพา ลงวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2547 ความว่า
 
 
"คุณสุชาติที่นับถือ
 
ขอบคุณมากค่ะที่ร่วมกันภูมิใจในการที่ยูเนสโกมีมติให้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็น "บุคคลดีเด่น" ขอฝากขอบคุณมายังลิลลี่ด้วย (ภริยา คุณสุชาติ ภูมิบริรักษ์-ผู้เขียน) ทั้งคุณสุชาติและลิลลี่เป็นผู้ใกล้ชิดกับคุณลุง (หมายถึง "ศรีบูรพา" -ผู้เขียน) มานานปี โดยเฉพาะคุณสุชาติเคยร่วมกินร่วมอยู่รู้เห็นกันแทบตลอด 24 ชั่วโมงมาตั้งแต่คุกบางขวางเกือบห้าปี ที่จีนอีกหลายปี เป็นผู้พูดได้เต็มปากว่าสมควรหรือไม่ คำของสุชาติรวมถึงลิลลี่จึงมีน้ำหนักมาก และคุณค่าสูง... อี๊ด (คุณสุรพันธ์ สายประดิษฐ์ บุตรชาย "ศรีบูรพา" -ผู้เขียน) ฝากขอบคุณมาด้วยค่ะ"
 
       นับถือและรำลึกถึงเสมอ
 
ชนิด สายประดิษฐ์
 
 
ประโยคของ ชนิด สายประดิษฐ์ ที่ว่า "คุณสุชาติเคยร่วมกินร่วมอยู่รู้เห็นกันแทบตลอด 24 ชั่วโมงมาตั้งแต่คุกบางขวางเกือบห้าปี ที่จีนอีกหลายปี..." จึงน่าจะเป็นหลักฐานที่อาจกล่าวได้ว่า ข้อมูลจากคำให้สัมภาษณ์ของ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ เกี่ยวกับช่วงชีวิตในจีนของศรีบูรพา รวมถึงช่วงชีวิตในไทยบางส่วน ครั้งเคยร่วมวงการหนังสือพิมพ์ ร่วมเป็นผู้ต้องหาในคดี "กบฏสันติภาพ" อยู่ในคุกบางขวางด้วยกัน และช่วงชีวิตก่อนตัดสินใจไปจีนในวาระเดียวกันของศรีบูรพาผ่านมุมมองของ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ นั้นย่อมมีคุณค่าน่าศึกษาเพียงใดสำหรับผู้สนใจชีวประวัติในจีนของศรีบูรพา
 
รวมถึงสภาพการเมืองไทยและสภาพความสัมพันธ์ไทย-จีนในยุคนั้น
 

ผู้เขียน ขณะเป็น"ผู้ประกาศข่าว"ประจำสถานีวิทยุซีอาร์ไอ หรือ
China Radio International ของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน
 
16 ปีแห่งความหลัง
 
ชีวิตของศรีบูรพาหลายแง่มุมเคยได้รับการเผยแพร่มาบ้างแล้วไม่น้อยทั้งในหนังสือหรือบทความที่เขียนแนะนำ เชิดชูหรือยกย่องศรีบูรพาในโอกาสต่างๆ จากนักเขียนหรือผู้ใกล้ชิดบางส่วน ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
 
หากแต่ "ช่วงชีวิตในจีน" ร่วม 16 ปีจวบจนถึงลมหายใจสุดท้ายของชีวิตศรีบูรพานั้นกลับดูเหมือนจะเลือนรางห่างเหินจากการรับรู้ของผู้อ่านชาวไทยมานับนาน
 
แม้กระทั่งผู้ใกล้ชิดบางท่านที่ไม่ได้รับทราบข่าวคราวหรือชะตากรรมของศรีบูรพาอีกหลังจากเดินทางเข้าสู่ผืนแผ่นดินสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว
 
ด้วยปัญหา "ระยะห่าง" ระหว่างสองผืนแผ่นดินคือประเทศไทยกับประเทศจีน ซึ่งหากนับเป็นจำนวนกิโลเมตรก็อาจไม่กี่ชั่วโมงบิน แต่ด้วยเงื่อนไขทางสังคมและการเมืองในช่วงเวลาที่ศรีบูรพาพำนักอยู่ในจีนระหว่างปี พ.ศ.2501 ถึง พ.ศ.2517 นั้น ทำให้ดูเหมือนศรีบูรพาจะอยู่ห่างไกลจากประเทศบ้านเกิดเมืองนอนเสียเหลือเกิน...
 
และสำหรับนักอ่านแล้วก็แทบจะไม่เห็นผลงานของเขาอีกเลยนับแต่บัดนั้น ทั้งที่ความจริงจากข้อมูลของผู้ใกล้ชิดคือ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ แจ้งว่า
 
"ศรีบูรพาเขียนหนังสือตลอดเวลาที่อยู่ในจีน"
 
เนื่องในวาระการเฉลิมฉลองรำลึกครบรอบ 100 ปีศรีบูรพา ผู้เขียนจึงเห็นสมควรเผยแพร่ข้อเขียนผ่านการบอกเล่าเรื่องราวย้อนรำลึกความทรงจำจากอดีตร่วม 50 ปีในจีนของ "สุชาติ ภูมิบริรักษ์" อดีตนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน และผู้เชี่ยวชาญอาวุโส "นิตยสารภาพจีน" (CHINA PICTORIAL) ของกรมการพิมพ์ภาษาต่างประเทศแห่งชาติจีน ซึ่งได้เดินทางไปจีนในนามของ "คณะส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย" ภายใต้การนำของหัวหน้าคณะคือศรีบูรพาและคณะ
 
และได้ใช้ชีวิตในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ชนิด "ร่วมหลังคาเดียวกับศรีบูรพา" ในฐานะมิตรสนิทจวบจนศรีบูรพาอำลาบรรณพิภพ และจวบจนกระทั่งทุกวันนี้
 
สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ปัจจุบันวัย 80 ปี เกิดเมื่อวันที่ 31 มิถุนายน พ.ศ.2470 ที่จังหวัดชัยภูมิ
 
เขาเคยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ "อิสรภาพ" มีผลงานแปลเด่นหลายเรื่อง ทั้งเรื่องยาวและเรื่องสั้นที่ฝากไว้ในแผ่นดินจีน เช่น "หมิงกูเหนียง" "คลื่นลมวันวิวาห์" "รังว่าง" "ชุมนุมนิทานชนชาติไทยยูนนาน" เป็นต้น
 
นอกจากนี้ยังมีผลงานอีกมากมายหลายเรื่องที่ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ เป็นบรรณาธิการ เช่น "ชุมนุมเรื่องสั้นของหลู่ซิ่น" "ศึกซังกำเลียง" "หวนระลึกการเดินทัพทางไกล" "สงครามฝิ่น" "การปฏิวัติซินไฮ่" "ขบวนการจี้เหอถวน" "เกาอี้เป่า" และอื่นๆ คือ "อีสาน ดินแดนแห่งเลือดและน้ำตา" และหนังสือเชิงประวัติศาสตร์ "สืบประวัติชาติไทย น่านเจ้า อาณาจักรของใคร" ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างในยุคนั้น
 
นอกจากนั้น ยังเขียนและแปลผลงานภาษาไทยฝากไว้ในประเทศจีนอีกบางส่วน โดยใช้นามจริงบ้างและไม่ลงชื่อบ้าง
 
ผลงานเรื่องนี้จึงเป็นการรำลึกความทรงจำผ่านการบอกเล่าเรื่องราวสดๆ และผ่านการทบทวนข้อมูลจากสมุดบันทึกหลายเล่มที่เคยได้รับการบันทึกไว้ในช่วงเดินเคียงคู่กับศรีบูรพา ครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ของมิตรสนิทศรีบูรพานาม "สุชาติ ภูมิบริรักษ์" และยังมีบางมุมมองเสริมจากผู้ใกล้ชิดบางท่านประกอบ
 
สุชาติ ภูมิบริรักษ์ เคยกล่าวเอาไว้เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล "ช่วงชีวิตในจีน" ร่วม 50 ปีของเขาที่ทำให้มีโอกาสได้ "ร่วมหลังคาเดียว" กับศรีบูรพาอยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนว่า เป็นเรื่องที่ใช้เวลาทบทวนยาวนานอย่างรอบคอบ
 
และในที่สุดก็ได้ตัดสินเปิดเผยความจริงเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ
 
"เคยมีศาสตราจารย์ชาวจีนสองท่านมาคุยกับผม บอกว่าคุณสุชาติควรจะเขียนระลึกความทรงจำในการเยือนจีนเพราะศรีบูรพาไม่อยู่แล้ว ก็ไม่มีคนเขียนแล้ว ประวัติความสัมพันธ์ไทย-จีนช่วงนี้จะขาดหายไปเฉยๆ เพราะฉะนั้นถ้าคุณเขียนออกมา ช่องว่างตอนนี้ก็จะเต็มสนิท หมายความว่าให้ผมเติม "ช่องว่าง" ให้เต็มสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไทย"
 

สุธาทิพย์ โมราลาย ผู้เขียนขณะเป็น"ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ"
สังกัดประจำกระทรวงวิทยุ โทรทัศน์ และภาพยนตร์แห่งชาติจีน ณ กรุงปักกิ่ง
 
ฉลองความสัมพันธ์ไทย-จีน
 
นับวันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศจีนจะมีความกระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นตามกาลเวลา รวมถึงความสัมพันธ์ด้านการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือต่างๆ ในวงกว้าง และการไปมาหาสู่กันระหว่างผู้นำของทั้งสองประเทศ อันเป็นช่วงที่กล่าวได้ว่าสะท้อนความสัมพันธ์ที่เจริญงอกงามที่สุดช่วงหนึ่งเท่าที่ได้สืบทอดมายาวนานจากอดีตของประชาชนทั้งสองประเทศ ซึ่งในปี พ.ศ.2547 ก็ได้เวียนมาบรรจบครบวาระการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ไทย-จีนอย่างเป็นทางการครบรอบ 30 ปี โดยผู้นำทั้งสองประเทศได้ดำเนินการจัดงานเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่ขึ้น
 
ประกอบกับวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2547 ที่ผ่านมา ตรงกับวาระครบรอบวันเกิด 100 ปีของศรีบูรพา และเพื่อเป็นการแสดงคารวะอาลัยและเชิดชูผลงานของนักเขียนไทยผู้มีแบบอย่างการใช้ชีวิตดีงามและรังสรรค์ผลงานทรงคุณค่าไว้ประดับวงวรรณกรรมไทยจนได้รับการยกย่องในวงกว้าง รวมถึงมีบทบาทสำคัญเป็นผู้หนึ่งที่ย่างก้าวกรุยทางอยู่เบื้องหลังการบุกเบิกความสัมพันธ์ไทย-จีนในยุคที่ยังต้องระหกระเหินและบุกบ่าฝ่าฟันกับอุปสรรคบางประการอย่างลำบากยากเย็นนั้น
 
ข้อเขียนนี้จึงน่าจะเป็นอีกหนทางหนึ่งในการศึกษาด้านความสัมพันธ์ไทย-จีนในช่วงระยะครึ่งศตวรรษนี้ และเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการศึกษาชีวิต แนวคิด และผลงานของนักประพันธ์ไทยนาม "ศรีบูรพา" ที่สังคมและโลกยกย่องให้เป็น "บุคคลดีเด่นของโลก" เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ใช้ประกอบการศึกษาต่อไป 
 
 
 
 
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท