Skip to main content
sharethis

 

14 ส.ค.56 อับบาซ ฟาอิซ (Abbas Faiz) นักวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศบังคลาเทศ เปิดเผยว่าแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รับนายอดิลู รามัน ข่าน (Adilur Rahman Khan) เป็นนักโทษด้านความคิดแล้ว หลังการทางการจับกุมตัวเขาโดยไม่มีหมายจับเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่าน สาเหตุที่เขาถูกควบคุมตัวเพียงเพราะประท้วงอย่างสงบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกองกำลังของบังคลาเทศ

 “การจับกุมอดิลู รามัน ข่าน เป็นการส่งสัญญาณถึงบรรดาฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เพื่อเตือนว่าถ้าใครแสดงความกังวลด้านสิทธิมนุษยชน ก็อาจได้รับผลกระทบร้ายแรงเช่นนี้ ทางการจะต้องปล่อยตัวเขาโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข” ฟาอิซกล่าว

เขากล่าวเสริมว่าแทนที่จะหาทางลงโทษนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ทางการบังคลาเทศควรต้องแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิตามที่ถูกกล่าวหา โดยต้องจัดให้มีการสอบสวนและนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

สำหรับอดิลู รามัน ข่านเป็นเลขาธิการของโอดิกา (Odhikar) หน่วยงานสิทธิมนุษยชนซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงธากา เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พนักงานสอบสวนยังได้ค้นสำนักงานของโอดิกา มีการยึดคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่น ๆ ไปด้วย

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โอดิกาได้วิพากษ์วิจารณ์กองกำลังของบังคลาเทศที่เข้าปฏิบัติการในระหว่างการชุมนุมประท้วงของกลุ่มเฮฟาซัต อี อิสลาม (Hefazat-e-Islam) ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมื่อวันที่ 5 และ 6 พฤษภาคมปีนี้

มีผู้เสียชีวิตระหว่างการประท้วงอย่างน้อย 44 คน ส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นเพราะการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในขณะที่มีรายงานว่าตำรวจ 2 นายและเจ้าหน้าที่พิทักษ์ชายแดนอีก 1 นายได้ถูกผู้ประท้วงสังหาร

ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา โมนิรูล อิสลาม (Monirul Islam) ผู้บัญชาการร่วมตำรวจนครบาลกรุงธากาอธิบายเหตุผลที่ต้องมีการควบคุมตัวข่านว่า “โอดิกาได้ตีพิมพ์รายงาน โดยตีพิมพ์ภาพของผู้ที่เสียชีวิตในระหว่างการปราบปรามกลุ่มเฮฟาซัตเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย รัฐบาล และของประเทศ”

โอดิการายงานว่ามีผู้เสียชีวิตมากถึง 61 คนในระหว่างการชุมนุมประท้วงเมื่อเดือนพฤษภาคม แต่ประกาศว่าจะไม่ตีพิมพ์รายชื่อของเหยื่อผู้เสียชีวิต เพราะเกรงว่าญาติจะได้รับอันตราย แต่มีการเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการเพื่อไต่สวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นอิสระและอย่างไม่ลำเอียง ซึ่งสอดคล้องกับเสียงเรียกร้องของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอื่น ๆ

“แทนที่จะสอบสวนการเสียชีวิตของประชาชนหลายสิบคนตามที่มีรายงาน ทางการกลับหันมาเล่นงานคนที่พยายามส่งสารของกลุ่มโอดิกา รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ชีก หัสเสนา (Sheikh Hasina) กำลังปล่อยให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่มีส่วนในการละเมิดสิทธิมนุษยชนลอยนวล และปราบปรามคนที่ร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกอย่างชัดเจน ซึ่งตรงข้ามกับสัญญาของตัวแทนรัฐบาลบังคลาเทศที่มีต่อรัฐภาคีสหประชาชาติอื่น ๆ ว่าจะปกป้องสิทธิมนุษยชน” อับบาซ ฟาอิซ กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net