Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อเอ่ยนาม "ศรีบูรพา" บรรดานักอ่าน นักเขียน และผู้ติดตามความเคลื่อนไหวของวรรณกรรมไทยทั่วไปต่างทราบกันดีว่า เป็นนามของนักเขียนเรืองนามของไทยผู้ได้รับการยกย่องในวงกว้าง

นอกจากนั้น บัดนี้ชื่อ "ศรีบูรพา" ในสังคมไทยยังกลายมาเป็นชื่อสาธารณสถานบางแห่ง เช่น "ถนนศรีบูรพา"

กลายมาเป็นชื่อ "รางวัลศรีบูรพา" สำหรับเชิดชูนักคิดนักเขียนตัวอย่างของไทยใน "วันนักเขียน" ซึ่งตรงกับวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี

กลายมาเป็นชื่อ "นิตยสารศรีบูรพา" และกลายมาเป็นแบบอย่างที่ดีหนึ่งสำหรับนักหนังสือพิมพ์ผู้ต้องการเดินตามรอยผู้ทำงานเพื่อใฝ่หาสันติภาพและนักประพันธ์ผู้สร้างสรรค์ผลงานเพื่อประชาชน

ชีวประวัติและผลงานของศรีบูรพาได้มีผู้ศึกษาเอาไว้ไม่น้อยอย่างละเอียดแทบทุกด้าน ยกเว้นในช่วงบั้นปลายชีวิตเกือบ 20 ปีในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนภายใต้การดูแลที่ดีของรัฐบาลจีน ซึ่งศรีบูรพาได้ลี้ภัยการเมืองไทยไปที่นั่นจวบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต

แม้จนบัดนี้ซึ่งยังคงเป็นปริศนาคลุมเครือ และเป็นที่ใคร่รู้ของผู้สนใจติดตามชีวิตและผลงานของนักประพันธ์ท่านนี้

เหตุเพราะเจ้าของชีวประวัติได้ลาลับจากวงวรรณกรรมไทยไปแล้ว โดยละวางการกล่าวถึงอัตชีวประวัติในช่วงดังกล่าว

รวมถึงไม่ได้เปิดเผยงานเขียนใดต่อสาธารณะให้ได้วิเคราะห์หรือศึกษาในช่วงที่น่าจะเรียกได้ว่า "สุกงอม" ที่สุดในชีวิตของนักเขียน ทิ้งไว้เพียงผลงานช่วงที่อยู่ในประเทศไทยให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษา

และไม่มีโอกาสได้บอกเล่าเรื่องราวความจริงที่เกิดขึ้นในประเทศจีนได้ท่ามกลางบรรยากาศในต่างแดน ภายใต้การดูแลของรัฐบาลจีนในช่วงก่อนสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและจีนให้กระจ่างได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ความจริง" ดังกล่าวนั้น มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับคณะบุคคลหลายฝ่ายและเกี่ยวข้องกับความผกผันทางการเมืองไทย รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศจีน

จนอาจกล่าวได้ว่า ช่วงเวลาดังกล่าวนั้นเป็นอีกหน้าหนึ่งที่ควรได้รับการเปิดเผยและบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทยและจีนอย่างมิควรหลีกเลี่ยงหรือวางเฉยเพื่อสัมฤทธิผลในการศึกษาประวัติความสัมพันธ์ไทย-จีนอีกหัวเลี้ยวหนึ่ง ผ่านการต่อสู้ฝ่าฟันของคณะนักหนังสือพิมพ์ไทยกลุ่มหนึ่งที่มุ่งใฝ่หาสันติภาพและความสัมพันธ์ที่เป็นปกติระหว่างประชาชน!

ช่วงดังกล่าว จึงเรียกได้ว่าเป็นช่วง "หัวเลี้ยวหัวต่อ" ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศจีนช่วงหนึ่งก่อนที่จะเปิดสัมพันธ์อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2517

ดังนั้น แม้จนบัดนี้ ความเคลื่อนไหวของคณะนักหนังสือพิมพ์ไทยกลุ่มเล็กๆ ดังกล่าวที่ได้เดินทางไปจีนตามคำเชิญภายใต้การนำของศรีบูรพา ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะในช่วงนั้นได้ตัดสินใจกลับประเทศไทยหมดเกือบทุกคนในระยะต่อมาก็ตาม และบ้างก็ถูกจับกุมคุมขัง

แต่ก็ยังคงเหลือตกค้างอยู่ในจีนอีกสองคนคือ "ศรีบูรพา" หัวหน้าคณะ และ "สุชาติ ภูมิบริรักษ์" นักหนังสือพิมพ์ไทยอีกผู้หนึ่งซึ่งไปในนามของเลขานุการกลุ่มในเวลานั้น

กิจกรรมของคนไทยกลุ่มเล็กๆ นอกสายตาของรัฐบาลไทยในยุคดังกล่าว รวมถึงเป็นกิจกรรมที่สร้างความหงุดหงิดรำคาญใจให้แก่รัฐบาลในเวลานั้นอาจเป็นเรื่องที่ลืมเลือนไปแล้วในสังคมไทยปัจจุบัน

แต่หากย้อนกลับไปศึกษาก็จะพบคำตอบบางประการว่า ได้เกิดอะไรขึ้นในท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองเวลานั้นที่ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนไทย-จีนในวงกว้างและด้วยพลังรุนแรง

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวจนถึงปัจจุบันก็ยังคงเป็นสิ่งที่ชนรุ่นหลังบางกลุ่มได้พยายามหาคำตอบเพื่อเป็นเสมือน "กุญแจ" ไขไปสู่คำตอบด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ต้องสะดุดลง เพราะปัญหาทางสภาพการเมืองและสังคมในยุคหนึ่ง

น่าเสียดายอยางยิ่งที่บัดนี้ศรีบูรพา ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่กุม "ความลับ" ทั้งหมดของประวัติศาสตร์ช่วงดังกล่าวเมื่อช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมานี้น่าจะมีโอกาสได้มาเปิดเผยความจริงอันมีคุณค่าต่อสาธารณะ ทั้งด้วยวาจาหรือข้อเขียนในฐานะนักเขียนเอกของไทยซึ่งเป็น "แขกเมือง" ของรัฐบาลจีนผู้หนึ่งในเวลานั้น ดังที่ศรีบูรพาได้เคยปฏิบัติมาทุกสถานการณ์ แม้จะอยู่ในที่ต้องขังก็ตาม

จากบทบันทึกประจำวันชื่อ "บันทึกอิสรชน" ซึ่งศรีบูรพาเขียนขึ้นในระหว่างต้องคดี "กบฏสันติภาพ" เป็นเวลาถึงกว่า 4 ปี หรือผลงานนวนิยาย "แลไปข้างหน้า" ซึ่งเป็นผลงานโดดเด่นที่สุดของศรีบูรพาที่ล้วนสร้างสรรค์ขึ้นในยามถูกจองจำ เป็นบทพิสูจน์ที่ดีแห่งวิญญาณนักเขียนของศรีบูรพา

อย่างไรก็ตาม น่าแปลกใจอย่างยิ่งที่ศรีบูรพากลับไม่มีผลงานใดปรากฏอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับช่วงชีวิตที่พำนักอยู่ในจีนเลย แม้จะทราบอย่างไม่เป็นทางการว่า ความจริง ศรีบูรพาเขียนหนังสือ "ตลอดเวลา" ก็ตาม

และทราบเพิ่มเติมว่า ความจริงผลงานของศรีบูรพาในจีนนั้นมีไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ และบางส่วนก็ไม่มีผู้ใดกล้านำกลับไปในประเทศไทย หลังจากการจากไปของศรีบูรพาในจีน และครอบครัวได้ค่อยๆ ย้ายกลับผืนแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอน

ดังคำกล่าวให้สัมภาษณ์ของ ชนิด สายประดิษฐ์ ภริยา เมื่อปี พ.ศ.2544 "บ้านศรีบูรพา" ที่กล่าวว่า

"ตอนนั้นไม่ได้เอาผลงานศรีบูรพากลับไทยเลย เอาตัวมาได้ก็ดีแล้ว เพราะทางนี้ (ประเทศไทยในเวลานั้น-ผู้เขียน) ก็กวดขันกัน"

ส่วนผลงานในจีนทั้งหมดของศรีบูรพาอยู่ที่ไหนนั้น ผู้กุมความลับนี้ก็คือ ชนิด สายประดิษฐ์ นั่นเอง รวมถึง สุชาติ ภูมิบริรักษ์ อีกผู้หนึ่งซึ่งเขาขอสงวนที่จะปิดเป็นความลับต่อไป!

บัดนี้แม้ร่างศรีบูรพาลาลับ แต่เขากลับทิ้งผลงานอมตะไว้จำนวนหนึ่ง ซึ่งนับวันกลับยิ่งส่งให้ชื่อเสียงของศรีบูรพาเรืองรองยิ่งขึ้น อาจเป็นดังที่นักวิชาการชาวอเมริกันผู้หนึ่ง นาม "เบนจามิน แบตสัน" ได้เคยวิเคราะห์เอาไว้ว่า

"ฐานะของนายกุหลาบในโลกวรรณกรรมไทยในยุคปัจจุบันสูงกว่าในช่วงเวลาที่เขามีชีวิตอยู่"

นี่ย่อมแสดงถึงอมตะของผลงานซึ่งยืนยงยิ่งกว่าร่างของผู้เป็นเจ้าของซึ่งเมื่อถึงวันหนึ่งก็จะต้องดับสูญกลับคืนสู่ธรรมชาติ เสมอเหมือนกันไม่แตกต่าง และไม่อาจมีใครหลีกเลี่ยงพ้น

อย่างไรก็ตาม นับเป็นเรื่องโชคดีที่บัดนี้ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ มิตรรุ่นน้องวัย 80 ปีในวันนี้ซึ่งได้เดินทางไปจีนพร้อมคณะนักหนังสือพิมพ์ 12 ชีวิตในนามของเลขานุการ ภายใต้การนำของหัวหน้าคณะส่งเสริมวัฒนธรรมไทย คือ ศรีบูรพา ยังมีชีวิตอยู่ด้วยสุขภาพที่ดีและตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาร่วมครึ่งศตวรรษนั้น เขายังคงพำนักอยู่ในประเทศจีน ภายใต้การดูแลอย่างดีของรัฐบาลจีนมาตั้งแต่ต้น และเลือกประเทศจีนเป็น "เรือนตาย"

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า สุชาติ ภูมิบริรักษ์ จึงน่าจะเป็นอีกผู้หนึ่งที่กุม "ความลับ" บางด้านดังกล่าวนั้นไว้ไม่มากก็น้อย

เพราะเขาเป็นอีกผู้หนึ่งที่เดินเคียงข้างศรีบูรพามาตั้งแต่ก้าวแรกที่สัมผัสผืนแผ่นดินจีน

ก้าวต่อมาที่ร่วมคณะไปชมสถานที่ต่างๆ ตามกำหนดการของรัฐบาลจีนในฐานะ "แขกเมือง"

และก้าวสำคัญที่แทบจะเรียกว่า "ร่วมหลังคาเรือน" เดียวกันเป็นระยะเวลายาวนานใน "โรงแรมสันติภาพ" กรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นที่พำนักที่รัฐบาลจีนจัดสรรให้เป็นการเฉพาะ

จนกระทั่งก้าวสุดท้ายที่ศรีบูรพาลาลับ ฝากลมหายใจสุดท้ายบนเตียงคนป่วย ณ โรงพยาบาลเสเหอ ณ กรุงปักกิ่ง

และกล่าวประโยคสุดท้ายที่จับใจเขาต่อกรณีเหตุการณ์ "14 ตุลามหาวิปโยค" พ.ศ.2516 ด้วยความยินดีต่อผลสำเร็จของประชาชนและนักศึกษาไทยในเวลานั้นที่ว่า

"นี่เป็นชัยชนะของนักศึกษา!"

และต่อมาอีกไม่กี่วัน ศรีบูรพาก็ได้จากไปอย่างไม่มีวันกลับ

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net