ประชาธรรม: สุมิตรชัย หัตถสารไขข้อสงสัยเหตุใดศาลสั่งชาวบ้านออกพื้นที่โฉนดชุมชน

สำนักข่าวประชาธรรม สัมภาษณ์สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความและที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ต่อกรณีศาลฎีกาพิพากษาให้ชาวบ้านพรสวรรค์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งที่เป็นที่ดินของชุมชนมาแต่เดิมและกำลังอยู่ในกระบวนการทำโฉนดชุมชน

สำนักข่าวประชาธรรม สัมภาษณ์สุมิตรชัย หัตถสาร ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย และทนายความสิทธิมนุษยชน ต่อกรณีศาลฎีกาพิพากษาคดีนางคำใส ปัญญามี ชาวบ้านพรสวรรค์ ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ คดีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง มีคำสั่งให้ออกจากป่าสงวนแห่งชาติที่ยึดถือครอบครอง

ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา ศาลฎีกาได้พิจารณาคดีนายมานิตย์ อินตา ชาวบ้านพรสวรรค์ ในความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ

โดยคดีดังกล่าว สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์เมื่อปี 2539 มีการรุกพื้นที่ป่าสงวนโดยมีกลุ่มคนประมาณ 100 คน เข้าไปแผ้วถางป่าไม้ในเขต ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ประมาณ 500 ไร่ ห่างจากที่ดินบ้านพรสวรรค์ราว 10 กิโลเมตร และต่อมาเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ดำเนินคดีชาวบ้านพรสวรรค์ ซึ่งที่อยู่อาศัยในพื้นที่มาก่อน จำนวน 47 ราย และเป็นคดีความในชั้นศาล ต่อสู้คดีนานกว่า 10 ปี จนถึงปัจจุบัน แม้ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะเข้าสู่กระบวนการทำโฉนดชุมชนก็ตาม

 

000

สุมิตรชัย หัตถสาร ให้สัมภาษณ์เริ่มต้นอธิบายขยายความคำสั่งของศาลว่า กรณีนี้เป็นเรื่องของปัญหาตัวบทกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อชาวบ้านเนื่องจากพระราชบัญญัติป่าสงวนเป็นกฎหมายที่มีเงื่อนไขผูกกันไว้คือระบุว่าผู้ใดบุกรุกป่า มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีทว่าศาลตัดสินว่ามีความผิดศาลจะต้องมีคำสั่งให้ออกจากพื้นที่ด้วย นั่นคือศาลจะต้องมีคำสั่งทั้งสองอย่างพร้อมกัน

เมื่อปี 2542 พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ขอออกหมายบังคับคดีให้ออกจากพื้นที่ขณะนั้นชาวบ้านจึงเริ่มรวมตัวเคลื่อนขบวนร่วมกับสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) โดยเข้ามาร่วมขับเคลื่อนเพื่อเจรจาต่อรองกับรัฐบาลสมัยเนวิน ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หลังจากนั้นมีมติ ครม.เดือนพฤษภาคม 2542 เกิดขึ้น ซึ่งเป็นมติแก้ไขปัญหาคนอยู่ในป่าให้คุ้มครองชาวบ้านที่อยู่ในป่าทั้งนี้เงื่อนไขดังกล่าวมีกรณีของชาวบ้านพรสวรรค์รวมอยู่ด้วยจึงได้นำมติครม.นี้ยื่นต่ออัยการจนคดีดังกล่าวถูกเลื่อนออกไปเรื่อยๆ กระทั่ง 10 ปีต่อมาอัยการก็เดินหน้าขอบังคับคดีต่อภายหลังเมื่อศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นชาวบ้านจึงได้เข้าสู่ขบวนขับเคลื่อนร่วมกับสกน. และ ร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือพีมูฟ (Pmove) เพื่อเคลื่อนไหวต่อ

 

กรอบแนวคิดของกรมป่าไม้และนโยบายของรัฐยังมีแนวคิดเดิมใช้วาทกรรมแบบเดิม?

ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยขยายความว่า กรอบคิดของกรมป่าไม้ กระทรวงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังมองว่าทรัพยากรเป็นของรัฐหากประชาชนหรือราษฎรจะเข้าไปอยู่ในที่ดินของรัฐจะต้องได้รับอนุญาตเท่านั้นวิธีคิดของหน่วยงานภาครัฐจะมองว่าหากชาวบ้าน ประชาชนต่อสู้โต้แย้งหรือเรียกร้องเรื่องสิทธิถือเป็นการแข็งข้อ หน่วยงานของรัฐกรมป่าไม้เองก็ใช้อำนาจที่มีอยู่ในมือ และใช้เป็นข้ออ้างในเชิงวาทกรรมในกรอบคิดเดิมๆว่า กลุ่มคนพวกนี้บุกรุกป่า

"มุมมองหน่วยงานรัฐกับมุมมองของชาวบ้านต่างกันอย่างสิ้นเชิงเมื่อกรมป่าไม้สู้เหตุผลทางสังคมไม่ได้ ก็ใช้กฎหมายมาบังคับ"

ภายหลังเกิดรัฐธรรมนูญ 2540 ภาคประชาชนนำมาเป็นข้อโต้แย้งและพยายามผลักดันกฎหมายเรื่องสิทธิชุมชนที่จะรองรับสิทธิคนที่อยู่ในป่าจนนำไปสู่การผลักดัน พ.ร.บ.ป่าชุมชน และโฉนดชุมชนตามมา แต่การต่อสู้นี้ยังไม่สิ้นสุดเพราะรัฐบาลแต่ละชุดไม่กล้าสั่งเด็ดขาดกับฝ่ายราชการฝ่ายกรมป่าไม้ รวมถึงกฎหมายเดิมยังไม่ได้แก้ไขนอกจากนี้รัฐบาลเองก็ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด เปลี่ยนรัฐบาล เกิดการปฏิวัติ ทั้งหมดเป็นผลทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาไม่เกิดเป็นรูปธรรมและความยั่งยืนได้ยกตัวอย่าง โฉนดชุมชน รัฐบาลชุดที่แล้วแก้ปัญหาได้ดีแต่เมื่อมาถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ไม่ดำเนินการสานต่อจึงกลายเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหา

 

นโยบาย หน่วยงานของรัฐควรยืนอยู่จุดใด?

ผมมองว่าหน่วยงานราชการหน่วยงานรัฐสังคม จะต้องยอมรับร่วมกันให้ได้ว่ามีคนอยู่ในเขตป่าแล้วหาทางออกร่วมกันในทางที่ดีที่สุดที่สามารถให้คนก็อยู่ได้ป่าก็อยู่ได้ ทรัพยากรก็ยั่งยืนซึ่งมันมีรูปแบบ และเครื่องมือมากมายที่จะร่วมกันพัฒนาไม่ว่าจะเป็นผลงานวิจัยของนักวิชาการโฉนดชุมชน ป่าชุมชน หรือจะเป็นการจัดการร่วมกันซึ่งมันมีรูปแบบต่างๆ ให้เลือกทำ

"แค่มานั่งคุยกันหาทางออกร่วมกันนำไปสู่การสร้างนโยบายหรือไปแก้กฎหมายก็ได้ ฝ่ายที่จะสานต่อเรื่องนี้เป็นหลักคือฝ่ายการเมืองทว่าฝ่ายการเมืองดำเนินการ ค่อยๆ ขยับไปข้างหน้ามันก็จะสามารถเกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมแบบระยะยาวได้แต่เมื่อเจออุปสรรคเกิดการหยุดชะงักในรัฐบาลชุดนี้ขบวนการเคลื่อนไหวก็ถอยหลังกลับไปที่เดิมอย่างไรก็ตาม ทางออกของปัญหามีแล้วขึ้นอยู่กับฝ่ายการเมืองรัฐบาลว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังหรือไม่"

 

การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนหลายปีที่ผ่านมาเดินหน้าหรือถอยหลัง?

สุมิตรชัย ฉายภาพว่า การต่อสู้ของภาคประชาชนในช่วงการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมาขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนหรือรากหญ้าถูกดึงไป ถูกเปลี่ยนกรอบคิดถูกสร้างหรือเปลี่ยนสำนึกใหม่ไปบางส่วน ดังนั้นขบวนการขับเคลื่อนในเชิงการเมืองภาคประชาชนที่พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายมันกลับไปอยู่ในรูปแบบเดิมคือกลับไปพึ่งพิงพรรคการเมือง พึ่งพิงข้าราชการเหมือนเดิม ขณะที่กลุ่มเคลื่อนไหวเหล่านี้ถูกแยกออกไปแต่ส่วนที่ขับเคลื่อนมาตรงส่วนกลางถูกแยกสลายมวลชนมันจึงอ่อนแอ

ดังนั้นมวลชนที่ยังอยู่กับพีมูฟคือมวลชนที่ยังเกาะติดกับปัญหาตัวเองและยังมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาของตัวเองเป็นหลัก แต่มวลชนที่เข้ามาร่วมในการนำเสนอเชิงประเด็นสาธารณะนั้นมันถูกดึงไปอยู่กับฝ่ายการเมืองในช่วงสองปีที่ผ่านมาเกือบทั้งหมดกล่าวคือกลุ่มแรก ยังไปรอพึ่งระบบทักษิณ กลุ่มที่สองยังเป็นระบบพึ่งพาการเมืองแบบอุปถัมภ์เดิมจะเห็นว่ามันกลับมาในรูปแบบประชานิยมรูปแบบอำมาตย์แบบเก่าซึ่งสองประการนี้มันกลับมามีอิทธิพลในการเมืองภาคประชาชนในรอบ4-5 ปีที่ผ่านมาจึงทำให้การเมืองภาคประชาชนที่เริ่มเติบโตมาช่วงสมัชชาคนจนปี 2540 มันจึงอ่อนแรงลงไป

อาจารย์นิธิ อาจารย์เกษียร พูดไว้ว่าการเมืองเสื้อสีมันต้องข้ามพ้น เพราะสุดท้ายในระยะยาว เราก็พึ่งระบบพระบรมโพธิสมภารและกับระบบประชานิยมพึ่งไม่ได้เรายังไม่ได้แก้ปัญหาเก่า หรือระบบเก่าที่ล้มเหลวมาตั้งแต่อดีตทำนองว่าต้องรอให้เกิดปัญหาหนักก่อนขบวนการเคลื่อนไหวจึงจะกลับมาเคลื่อนไหวได้ใหม่อีกครั้งในระยะต่อไป

 

บทเรียนหรือผลสะท้อนในขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน?

การเคลื่อนไหวของประชาชนมันใช้รูปแบบทุกกระบวนท่าอยู่แล้วแต่สิ่งที่ออกสื่อมันเห็นเพียงด้านเดียวคือ ชุมนุม เคลื่อนไหว เจรจา ทั้งที่จริงแล้วภาคประชาชนก็ดำเนินการทุกอย่างทั้งการเข้าไปร่วมในการเสนอนโยบายต่างๆ ต่อรัฐบาล ผ่าน สปร. คปร.ผ่านเวทีวิชาการต่างๆ ซึ่งในอดีตไม่เคยทำมาก่อน แต่ประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลมันเกิดขึ้นอย่างไรก็ต้องไปชั่งตวงวัดกันเพียงเราก็ยังไม่เคยมีการวัดผลแต่หากถามว่าประเด็นต่างๆ ขึ้นไปสู่สาธารณะหรือไม่ ผมมองว่าก็ขึ้นไปมากกว่าในอดีต แต่ประเด็นต่างๆก็ยังไม่มีพลังมากพอเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายระดับบนได้อย่างเป็นรูปธรรม

"ขบวนการเคลื่อนไหวเองก็มีความพยายามใช้เครื่องมือที่หลากหลายให้เกิดรูปแบบใหม่ในการขับเคลื่อนมากขึ้นไม่ทิ้งรูปแบบเดิมๆโดยใช้รูปแบบการเคลื่อนไหวอย่างผสมผสานผมมองว่าการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมมีมากขึ้น มีองคาพยพของผู้คนรับรู้เรื่องนี้มากขึ้นแต่เมื่อคนรับรู้แล้วนั้นเขาจะเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนหรือไม่นั่น เป็นโจทย์ใหญ่ของกลุ่มเคลื่อนไหวเราจะต้องสร้างการเชื่อมต่อหรือประสานกับเขาให้ได้ทำให้เขาเห็นและตระหนักได้อย่างเช่นชาวบ้านพรสวรรค์ เป็นต้น"

 

ขบวนการเคลื่อนไหวในอนาคตจะเป็นอย่างไรวางทิศทางไว้อย่างไร?

ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยสรุปความส่งท้ายว่าสิ่งที่จำเป็นของขบวนการเคลื่อนไหวคือการสร้างเครื่องมือให้มีความหลากหลายมากขึ้นแล้วใช้สื่อใช้พื้นที่สาธารณะให้มากขึ้น หากถามว่ากระบวนการเคลื่อนไหวจำเป็นอยู่หรือไม่ก็จำเป็นแต่ต้องทำอย่างมีพลังแท้จริงไม่ขับเคลื่อนพร่ำเพรื่อเคลื่อนไหวออกมาโดยให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงซึ่งการเคลื่อนไหวบ่อยครั้งจะทำให้พลังแผ่วลงเพราะพลังชาวบ้านยังมีไม่มากพอที่จะเคลื่อนไหวบ่อยๆ ควรจัดกิจกรรมเชื่อมคนให้ได้มากที่สุดซึ่งเป็นทิศทางที่จะต้องเดินต่อและจะต้องมีการประเมินประสิทธิภาพประสิทธิผลมีการประเมินการเมืองประกอบไปด้วยให้ลึกซึ้งและรอบด้านมากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท