Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผลศึกษาการใช้ประโยชน์ดินลูกรังและหินผุใน 14 จว.อีสาน เป็นไปอย่างกระจัดกระจาย ทั้งบ่อเล็ก-ใหญ่ เกิดผลกระทบสังคม-สิ่งแวดล้อม เสนอ 3 ทางเลือกเพิ่มประสิทธิภาพ พึงตระหนักว่าเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปเน้นจัดลำดับความสำคัญของการใช้และฟื้นฟูบ่อเสื่อมโทรม 

ปัจจุบันดินลูกรังยังคงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้างต่าง ๆ แต่การบังคับใช้/ปฎิบัติให้เป็นไปตามกฎระเบียบที่มีอยู่ยังเป็นไปอย่างหละหลวม มีการลักลอบขุดตักดินลูกรังจำนวนมาก และการสวมสิทธิเกินกว่าที่อนุญาต  โดยที่รัฐไม่ได้ประโยชน์     และหลายครั้งเกิดการพังถล่มจนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

พิศสม มีถม

นางสาวพิศสม มีถม นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า  ประโยชน์หลักของดินลูกรังและหินผุคือ   การนำมาใช้ก่อสร้างถนน  ถมที่ และเป็นส่วนผสมของกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์   ในปี 2555 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  มอบหมายทีดีอาร์ไอทำการศึกษาโครงการวางแผนการจัดการสิ่งแวดล้อมจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรดินลูกรังและหินผุ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14 จังหวัด  ผลการศึกษาพบว่า ในภาพรวมดินลูกรังและหินผุ ในภาคะวันออกเฉียงเหนือมีกระจายอยู่ทั่วไปทั้งในพื้นที่ราบและพื้นที่ลาดเชิงเขา

จากการสำรวจภาคสนามของทีมวิจัยพบว่าใน 14 จังหวัดที่ทำการศึกษา มีพื้นที่ที่มีการขุดตักดินลูกรังรวม 340 กว่าแห่ง  จังหวัดที่มีการขุดตักดินลูกรังมากที่สุดคือ นครราชสีมา รองลงมาคือ กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี นครพนม และขอนแก่น ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีการขุดตักดินลูกรังรายเล็กที่ไม่มีการขออนุญาตประกอบการ  บางแห่งมีการสวมใบอนุญาต เช่น มีใบอนุญาตที่หนึ่งแต่ขุดอีกที่หนึ่งหรือมีพื้นที่มากเกินกว่าที่ขออนุญาตมาก  การเข้าไปตรวจสอบดำเนินได้ค่อนข้างยากเนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอและเกรงว่าอาจได้รับอันตราย

กิจการที่ขออนุญาตถูกต้องมักเป็นสถานประกอบกอบกิจการขนาดใหญ่ซึ่งมีลักษณะเป็นบ่อขนาดใหญ่ประมาณ 40-50 ไร่ มีความลึกมากกว่า 10 เมตร มีการขุดตั้งแต่ชั้นบนที่เป็นดินลูกรังลึกลงไปถึงชั้นทรายด้านล่าง บางพื้นที่ของบ่อขุดลึกลงไปถึงชั้นดินเหนียว  ขณะที่ผู้ประกอบการรายเล็ก จะทำการขุดลูกรังในพื้นที่ประมาณ 4-5 ไร่ และมีความลึกไม่มากเพียง 1.5-3 เมตรเท่านั้น และส่วนใหญ่ผู้ประกอบการขุดดินลูกรังจะใช้วิธีขอเช่าหรือซื้อที่ดินของเจ้าของที่ โดยลักษณะที่ดินบริเวณดังกล่าวใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้น้อยเนื่องจากขาดความอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านจึงมักจะให้เช่าที่ดินเพื่อให้มีการขุดเอาดินลูกรังที่อยู่ด้านบนไปขาย  โดยชาวบ้าน ผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขุดดินลูกรังและหินผุ  ผู้ประกอบการเข้าใจว่าไม่เข้าเกณฑ์ คือใช้รถแบคโฮที่มีกำลังไม่เกิน 50 แรงม้าและขุดลึกไม่เกิน 3 เมตร จึงไม่ต้องขอนุญาต  ชาวบ้านคิดว่าเป็นกรรมสิทธิ์ที่จะทำอะไรบนที่ดินของตัวเองก็ได้ เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนอกเขตเทศบาลเข้าใจว่าไม่มีกฎหมายให้ต้องขออนุญาต ดังนั้นการขุดตักดินลูกรังลักษณะนี้ซึ่งมีจำนวนมากจึงยังไม่มีการเก็บค่าผลประโยชน์ใด ๆ จากการประกอบการเลย

ทีมวิจัยได้ทำการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมของการใช้ประโยชน์ทรัพยากรดินลูกรังและหินผุในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้การวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ของการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีดินลูกรังและหินผุ ภายใต้การลงทุนในเครื่องจักรขนาดเล็ก 3 ล้านบาท และมีอายุการใช้งาน 10 ปี ในขณะที่ราคาที่ดินเฉลี่ยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีราคาตั้งแต่ 60,000 – 220,000 บาทต่อไร่ โดยการคำนวณหา มูลค่าปัจจุบันสุทธิของผลตอบแทนในการขุดตักดินลูกรังและหินผุ (NPV) พบว่า ผู้ประกอบการธุรกิจขุดตักดินลูกรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีต้นทุนในการขุดตักดินลูกรังในช่วง 2.4-4.0 ล้านบาทต่อปี  รายรับสุทธิจากการขายดินลูกรังอยู่ในช่วง -0.064 ถึง 1.5 ล้านบาทต่อปี                       การขุดตักดินลูกรังจะมีค่า NPV ติดลบ (ขาดทุน) เมื่อราคาที่ดินสูงขึ้นเท่ากับหรือมากกว่า 180,000 บาทต่อไร่  นอกจากนี้ยังมีต้นทุนอื่นที่มีความสำคัญต่อผลตอบแทนที่ยังไม่ได้นำมาคิดรวม ได้แก่ ต้นทุนผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต้นทุนค่าเสียโอกาสการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นต้น ซึ่งหากนำมารวมก็ยิ่งทำให้ติดลบมากขึ้น

การบริหารจัดการในปัจจุบันพบว่า  มีอยู่ 2 ลักษณะคือ ในที่ดินของรัฐ  กับที่ดินกรรมสิทธิ์  โดยปัญหาด้านกฎหมายคือ มีกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการทรัพยากรดินลูกรังและหินผุหลายฉบับ มีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้องในการบริหารจัดการทรัพยากรดินลูกรังและหินผุ ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีกฎระเบียบของตนเอง ลักษณะของความซ้ำซ้อนดังกล่าวนำมาซึ่งขั้นตอนที่ยุ่งยากในการบริหารจัดการ การขาดประสิทธิภาพ ประกอบกับข้อจำกัดด้านบุคลากรและงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ ทำให้ไม่สามารถกำกับ ติดตาม ตรวจสอบและควบคุมปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการขุดตักดินลูกรังและหินผุได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ   จึงควรกระจายอำนาจและส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการดินลูกรังและหินผุ เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ใกล้ชิดและรู้จักพื้นที่เป็นอย่างดี

การศึกษานี้พยายามนำเทคนิควิธีการมีส่วนร่วมเข้ามาใช้เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ได้มีข้อตกลงร่วมกัน และช่วยลดความขัดแย้งลงได้   โดยได้ข้อมูลว่า ผลกระทบส่วนใหญ่ เกิดจากรถบรรทุกดินลูกรังที่ทำให้ถนนชำรุด เกิดฝุ่นละอองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูแล้ง สร้างความรำคาญแก่ประชาชนในพื้นที่รถบรรทุกขับผ่าน  บางหมู่บ้านทนไม่ไหวออกกติกาจัดระเบียบรถบรรทุกดิน/ลูกรังเพื่อบรรเทาผลกระทบ เช่น ให้ลดความเร็วเวลาวิ่งผ่านหมู่บ้าน หรือกำหนดเวลาห้ามวิ่ง หากฝ่าฝืนมีการปรับเป็นเงินเช่น 1,000 บาทต่อคันต่อเที่ยว เป็นต้น สภาพบ่อขุดดินลูกรังและหินผุที่ใช้ประโยชน์แล้วซึ่งมีอยู่กระจัดกระจายโดยทั่วไปสร้างทัศนวิสัยที่ไม่ดีและสุ่มเสี่ยงต่ออันตรายที่จะเกิดขึ้นได้ เช่น บ่อดินถล่มหากเกิดฝนตกต่อเนื่อง  อย่างไรก็ตามพบว่าบ่อดินที่รกร้างขนาดใหญ่หลายแห่งมีความพยายามฟื้นฟูโดยการทำแปลงปลูกข้าว หรือบางแห่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปขอให้เป็นสนามกีฬา เช่น สนามฟุตบอล สนามยิงปืน เป็นต้น

สำหรับแนวทางแก้ปัญหาในส่วนของการขุดดินลูกรังในพื้นที่กรรมสิทธิ์ ซึ่งมีลักษณะกระจัดกระจายนั้นควรให้มีการกำหนดพื้นที่ศักยภาพของแหล่งดินลูกรังและหินผุ พร้อมทั้งให้มีการจัดลำดับความสำคัญการใช้ประโยชน์พื้นที่ศักยภาพแหล่งดินลูกรังและหินผุในระดับจังหวัด เพื่อเป็นแนวทางในการอนุญาตขุดดินลูกรังและหิน พร้อมกันนี้ควรมีการจัดทำหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

ทั้งนี้แนวทางในการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรดินลูกรังและหินผุ อาจดำเนินการได้ 3 ทางเลือก  คือ 1) ภายใต้กฎหมายและกฎระเบียบปัจจุบัน ทำการปรับปรุงการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ 2) ปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติม กฎหมายและกฎระเบียบปัจจุบัน ให้มีความเหมาะสมกับสภาพการใช้ทรัพยากรดินลูกรังและหินผุ และมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ 3) กำหนดให้ดินลูกรังและหินผุเป็นแร่ โดยการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ให้มีบทบัญญัติขึ้นใหม่หมวดหนึ่งหรือออกกฎกระทรวงว่าด้วยดินลูกรังและหินผุเป็นการเฉพาะ เพื่อการจัดการทรัพยากรดินลูกรังและหินผุที่เหมาะสม  ทั้งนี้ ควรเน้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พึงตระหนัก คือ ดินลูกรังและหินผุเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป ดังนั้น ในอนาคตควรมีการดำเนินการหาวัสดุทดแทนดินลูกรังในการสร้างถนนของกรมทางหลวงแผ่นดินและกรมทางหลวงชนบทและการสร้างถนนของหน่วยงานอื่นๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงการลดอัตราส่วนการใช้ดินลูกรังในการผลิตปูนซีเมนต์ เป็นต้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net