อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์: ดุลยภาพทางการเมืองในสายตาชนชั้นนำไทย

เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 56 ซึ่งเป็นวันแรกของการประชุมวิชาการนานาชาติ: ไทยศึกษาในสายลมตะวันออก (International Conference: Thai Studies through the East Wind) ซึ่งจัดที่โรงแรมฟูรามา จ.เชียงใหม่ ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำเสนอหัวข้อ "ดุลยภาพทางการเมืองในสายตาชนชั้นนำไทย"

อรรถจักร์ นำเสนอว่า สิ่งที่้ต้องคิดต่อจากการนำเสนอของอาจารย์ทามาดะและนักวิชาการคนอื่น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ก็คือ มีกระบวนการที่เรียกว่า "ปฏิเสธประชาธิปไตยเพื่อปฏิเสธทักษิณ หรือปฏิเสธทักษิณเพื่อปฏิเสธประชาธิปไตย" ด้วย ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างเข้มข้น รวมถึงความขัดแย้งทางการเมืองช่วงทศวรรษ 2540 ถึงปัจจุบันว่าเราจะเข้าใจเรื่องนี้ว่าอย่างไร

เราอาจจะต้องเริ่มคิดกันที่" อำนาจ" ให้ชัดเจน ทุกสังคมเกิดขึ้นมาได้จากความสัมพันธ์เชิงอำนาจ  และที่สำคัญอำนาจนั้นไม่ได้มีที่มาจากแหล่งเดียวกัน อำนาจในความหมายกว้าง อันหมายถึงศักยภาพในการทำให้คนอื่นกระทำไปตามที่ตนเองต้องการนั้นมีที่มาหลากหลาย เวลาคนไทยคิดถึงอำนาจ เรามักจะคิดว่ามันเป็นก้อนเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้วผมคิดว่าอย่างน้อยที่สุดก็มาจากสามด้านด้วยกัน ได้แก่  อำนาจทางด้านการเมือง  ทางด้านเศรษฐกิจ  และทางด้านวัฒนธรรม

อำนาจทั้งหมดสามด้านจะปฏิสัมพันธ์กันในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งอำนาจทั้งสามด้านนี้ รูปแบบสังคมจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับปฏิสัมพันธ์ของอำนาจสามด้านนี้ สิ่งสำคัญคือทำไมชนชั้นสูงและชนชั้นกลางคิดแบบที่อาจารย์ทามาดะเสนอ ผมจึงเสนอว่าจะต้องมาดูว่าอำนาจทั้งสามด้านมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร

ในการนำเสนอของอรรถจักร์ ตอนหนึ่งกล่าวว่า  ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของอำนาจทั้งสามด้านคือ หลัง 2516 ที่อำนาจของรัฐบาลเผด็จการหลุดไปอำนาจทั้งหลายอยู่ในสภาพ "หัวเปียงกัน" (เท่าเทียมกัน) อำนาจทั้งหมดจึงวิ่งเข้าหาสถาบันกษัตริย์ จึงยิ่งทำให้สถาบันกษัตริย์ ดำรงสถานะเป็นอำนาจทาง Social Power

ต่อมาความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังปี 2540 ทำให้ดุลย์ทางอำนาจทั้งสามสั่นคลอน กลุ่มทุนที่ควบคุมเศรษฐกิจไทยได้แก่ทุนการเงินนั้นพัง การพังทลายของกลุ่มทุนการเงินได้เปิดโอกาสให้แก่กลุ่มทุนอื่นๆ เพิ่มบทบาทของตนเองมากขึ้นด้วย ทักษิณ ชินวัตร ก็โผล่ขึ้นมาและเริ่มทำให้ระบบราชการที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นอิสระ สูญเสียความมั่นคง เพราะว่าทักษิณเข้าไปโยกย้ายทหารโดยผิดขนบเดิม ขนบคืออะไร ขนบเดิมคือต้องเข้าไปหา พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ทันทีที่ทักษิณไม่ทำตามขนบชนชั้นนำ ปัญหาเกิด ทักษิณทำให้ดุลอำนาจสั่นคลอน คนที่จะรักษาดุลยภาพเริ่มสั่นคลอน ดังนั้นมันจึงเป็นแรงผลักให้ชนชั้นกลางและชนชั้นนำกลุ่มหนึ่ง

และอารมณ์ความรู้สึกของการสูญเสียสมดุลทางการเมืองนั้นได้ทวีสูงขึ้นภายหลังจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพราะกลุ่มนี้ได้เน้นให้ประชาชนรู้สึกว่าการมีอำนาจเด็ดขาดของทักษิณชินวัตรกระทบกระเทือนพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจในการรักษา" ดุลยภาพ" ของสังคม โดยมีการชูประเด็นว่า "สู้เพื่อในหลวง" สู้เพื่อรักษาดุลยอำนาจนี้

อย่างไรก็ตามดุลยภาพเป็นเพียงจังหวะหนึ่งของประวัติศาสตร์และในความเป็นจริงนั้นดุลยภาพอาจไม่มีจริง ดุลยภาพจริงๆ นั้นไม่มีจริง เพราะในสังคมเปลี่ยนตลอด ถ้าหากเรายังยึดว่าดุลยภาพเป็น "อกาลิโก" เกิดความขัดแย้งแน่

ดังนั้น จะทำอย่างไรที่จะทำให้ชนชั้นนำไทยมองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเวลานี้และมองหาทางเดิน เพราะมันเป็นช่วงเวลาที่ต้องเปลี่ยนอย่างชัดเจน ถ้าหากไม่เปลี่ยนปัญหามันก็จะยิ่งยุ่งมากขึ้น

สุดท้าย อรรถจักร์ กล่าวถึงการที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแถลงยุติบทบาท การดำรงอยู่ของพันธมิตประชาชนเพื่อประชาชาธิปไตยอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มอื่นๆ จึงยุติบทบาทไป ปล่อยให้กลุ่มอื่นทำ สิ่งที่เกิดขึ้นคือตัวแทนที่เคลื่อนไหวในนามดุลยภาพก็รู้ตัวเองว่าหมดน้ำยา แต่ว่าสิ่งสำคัญคือเราอ่านจดหมาย อ่านแถลงการณ์ฉบับนี้ ดูว่าคนกลุ่มนี้อ่านสถานการณ์ทางสังคมอย่างไร

สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ การรับรู้สมดุลของอำนาจเปลี่ยนไปแล้ว การเคลื่อนไหวของพันธมิตรก็รู้ตัวอยู่ว่าการดิ้นรน หรือสู้บนเรื่องการรักษาดุลยภาพแบบเดิมเป็นไปไม่ได้ ผมคิดว่าการรับรู้ดุลยภาพแบบใหม่กำลังเกิดขึ้นการเมืองประชาธิปไตยที่ต้องมีการเลือกตั้ง ผมเชื่อว่าจะเดินหน้า ผมเชื่อว่ารัฐประหารไม่น่าจะเกิดขึ้น การสร้างดุลยภาพแบบใหม่กำลังจะเกิดขึ้น พรรคการเมืองกำลังจะกลายเป็นฐานที่สำคัญ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ปรับตัวไม่ได้ ก็เชื่อว่าจะมีพรรคอื่นขึ้นมาแทน หรืออย่างน้อยที่สุดเชื่อว่าจะมีการต่อรองในระดับล่าง ความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มจัดตั้งทางสังคมจะมีส่วนกดดันพรรคการเมืองมากขึ้น

ผมคิดว่าเป็นจังวะของสังคมไทยที่จะต้องเปลี่ยน ผมมองโลกในแง่ดีว่า เราจะก้าวไปสู่อนาคตที่จะดีมากขึ้น กระแสของการที่จะผลักดันคนมาสู่การรักษาดุลภาพแบบเดิมคงจะหมดพลังลงไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท