ชาวบ้านต้านโรงไฟฟ้าอุบลฯ เศร้า ตุลาการผู้แถลงคดีให้ยกฟ้องบัวสมหมาย

ศาลปกครองอุบลราชธานีพิจารณาคดีครั้งแรก ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นให้ศาลยกฟ้อง ทำชาวบ้านผิดหวัง ศาลนัดฟังคำพิพากษา 27 ก.ย.นี้
 
 
วันที่ 28 ส.ค.56 เมื่อเวลา 10.00 น.ศาลปกครองอุบลราชธานีได้ออกนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก คดีดำหมายเลขที่ ส.2/2555 กรณีนายทองคับ มาดาสิทธิ กับพวก 185 คน ฟ้องร้อง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กับพวกรวม 7 คน เรื่อง คดีเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กระทำการโดยมิชอบทางกฎหมาย กรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลบริษัทบัวสมหมาย ไบโอแมส จำกัด  
 
ผู้สื่อขายรายงานว่า ตัวแทนชาวบ้าน 5 หมู่บ้านกว่า 50 คน จาก ต.ท่าช้าง และ ต.บุ่งมะแลง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี เดินทางมาร่วมฟังรายงานกระบวนพิจารณาคดีครั้งแรก โดยตุลาการ 2 ฝ่าย คือ ตุลาการเจ้าของสำนวนและตุลาการผู้แถลงคดีชี้แจงต่อหน้าองค์คณะ อย่างไรก็ตามความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีไม่มีข้อผูกพันต่อคำพิพากษา ที่จะมีขึ้นในวันที่ 27 ก.ย.2556
 
ตุลาการเจ้าของสำนวนสรุปข้อเท็จจริงจากคำให้การของผู้ถูกฟ้องและผู้ฟ้องคดี คือ ผู้ฟ้องคดีเป็นราษฎร จาก 5 หมู่บ้าน อาศัยอยู่ ต.ท่าช้างและ ต.บุ่งมะแลง อ้างว่า ได้รับความเสียหายจากการกระทำของ ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1 -6 ที่ออกใบอนุญาตให้บริษัทบัวสหมาย ไบโอแมส จำกัด ตั้งอยู่ บ้านคำสร้างไชย ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี  
 
ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า มีการประชุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือไม่แจ้งให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงได้ทราบล่วงหน้าในเวลาอันสมควร วันเวลาที่บันทึกในรายงานการประชุมไม่ถูกต้องตรงกัน ตลอดจนรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมบางส่วนเป็นรายชื่อที่ลงลายมือชื่อที่หลัง มติที่ประชุมของ อบต.ท่าช้างเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน โดยไม่แจ้งข้อมูลและรายละเอียดให้ทราบล่วงหน้าเป็นเวลาอันสมควรและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้สิทธิโต้แย้งคัดค้าน กรณีนี้เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการโดยให้เข้าชี้แจงแต่เพียงฝ่ายเดียว  
 
ต่อมา กกพ.มีมติเห็นชอบให้ออกใบอนุญาตโรงงานผลิตไฟฟ้าแก่บริษัทบัวสมหมาย เพราะได้รับความเห็นจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมว่าสมควรอนุญาตให้บริษัทบัวสมหมายไบโอแมส ประกอบกิจการโรงงานได้ โดยมีเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต 14 ข้อ จึงถือว่าเพียงพอต่อการป้องกันควบคุม กำกับ ดูแล หาก บริษัทบัวสมหมายไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 ก็จะมีบทลงโทษ
 
ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การดำเนินการของ กกพ.กับพวก 6 คน เป็นการร่วมกันกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยการดำเนินการออกคำสั่งโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน วิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น และมีลักษณะเลือกปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ตลอดจนเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายให้ต้องปฏิบัติทำให้ ประชาชนได้รับความเสียหาย
 
ผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการเพื่อบรรเทาความเสียหายโดยร้องเรียนคัดค้านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตลอด แต่หน่วยงานของรัฐกลับเพิกเฉย ไม่แก้ไขเยียวยาตามอำนาจหน้าที่ของตน จึงมาฟ้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตแก่บริษัทบัวสมหมาย และให้ดำเนินการปรับสภาพดินบริเวณสระน้ำที่ทำขึ้นให้กลับคืนสู่สภาพเดิม 
 
ส่วนตุลาการผู้แถลงคดี ชี้แจงโดยสรุปเนื้อหาได้ว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง 6 หน่วยงาน ได้ดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมายเรียบร้อยแล้ว และสถานที่ตั้งของโรงงานไฟฟ้าบัวสมหมาย ไบโอแมส จำกัด ก็ไม่ขัดต่อ ประกาศท้ายกฎกระทรวง คือ อยู่ในที่ตั้งที่เหมาะสม ไม่ได้อยู่ใกล้ชุมชน ไม่มีหมู่บ้านจัดสรร ห่างจากบ้าน วัด โรงเรียน 100 เมตร และการขุดบ่อน้ำของบริษัทบัวสมหมายก็ไม่เป็นการละเมิดต่อชุมชน จึงมีความเห็นขอให้ศาลพิจารณายกฟ้อง  
 
 
ด้าน น.ส.สดใส สร่างโศรก แสดงความคิดเห็นว่า ตุลาการผู้แถลงคดีไม่ได้วินิจฉัยถึงการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ในกระบวนการรับฟังความเห็นจะต้องมีการชี้แจงข้อดีข้อเสียให้กับผู้ฟ้องคดีทราบ และไม่วินิจฉัยเรื่องสิ่งแวดล้อม ตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 และข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ ที่เกิดขึ้นจากบริษัทบัวสมหมายไบโอแมส จำกัด ได้มาขุดบ่อน้ำ ขนาดใหญ่ ที่อุบลฯ ส่งผลให้ชาวบ้านและชุมชน ประสบกับภัยแล้ง รวมทั้งที่จังหวัดร้อยเอ็ด 2 แห่งคือ อ.เมืองและ อ.สุวรรณภูมิ ได้รับผลกระทบทั้งเรื่องฝุ่น เรื่องน้ำเสีย และชาวบ้านเจ็บป่วย ยังไม่ได้รับการเยียวยาเลย   
 
ส่วนนางสุกัญญา เวฬุวนาลักษ์ กล่าวด้วยน้ำตาว่า ตนรู้สึกเสียใจที่ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นให้ศาลยกฟ้อง เพราะตนและชาวบ้านได้ร่วมกันต่อสู้มานานกว่า 6 ปี แล้ว มีความยากลำบากในการเรียกร้องไปหา อบต.ไปหา นายอำเภอ ไปหาผู้ว่า ไปเรียนรู้และชุมชนกับเครือข่าย ชีวมวลด้วยกันทั่วประเทศ ไปเรียกร้องต่อรัฐบาล และมาขอความเป็นธรรมต่อศาล และระหว่างที่เรียกร้องความเป็นธรรม ก็เจอปัญหาเรื่องน้ำไม่พอในการใช้ทำการเกษตร อยู่มา 50 กว่าปี น้ำไม่เคยขาดจากห้วย เพราะมีตาน้ำที่ไหลซึมตลอดเวลา แต่หลังบัวสมหมาย มาขุดบ่อน้ำขนาดใหญ่ ทำให้ 3 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านน้ำไม่พอทำนา
 
นางสุกัญญา กล่าวด้วยว่า เหตุผลของตุลาการบอกว่าที่ตั้งโรงงานไฟฟ้าเหมาะสมนั้น บ้านตนเองห่างจากโรงงานแค่ 100 เมตร เท่านั้น โรงงานอยู่ติดชุมชนเกินไป ตนมีหลาน ที่สุขภาพไม่ดี ไม่อยากให้มีโรงไฟฟ้าอยู่ในชุมชน หากโรงงานไฟฟ้าอยากสร้างจริงๆ ก็ขอให้ไปสร้างอยู่ห่างจากชุมชน 10 ถึง 15 กิโลเมตร พวกตนจะไม่คัดค้านเลย  อย่างไรก็ตาม ตนจะเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้ถึงที่สุด และได้แต่หวังว่า ในวันตัดสินที่จะมาถึง ศาลจะมีคำพิพากษาให้ความเป็นธรรมต่อชาวบ้านและชุมชน
 
หลังจากที่ศาลใช้เวลาในการแสวงหาข้อเท็จจริงเป็นเวลา 1 ปีครึ่ง ในที่สุดศาลปกครองอุบลราชธานีได้ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงในคดีนี้จนเสร็จ สิ้นเพียงพอที่ศาลจะพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งได้แล้ว จึงมีหมายแจ้งมายังผู้ฟ้องคดีทั้ง 185 คนเมื่อวันที่ 6 ส.ค.56 โดยกำหนดวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกในวันที่ 28 ส.ค.56  และกำหนดให้วันที่ 27 ก.ย.56 เป็นวันพิพากษาคดีต่อไป
 
อนึ่ง คดีนี้สืบเนื่องมาจาก บริษัทบัวสมหมาย ไบโอแมส จำกัด จะทำการผลิตพลังงานไฟฟ้า กำลังการผลิต 9 เมกะวัตต์ ติดตั้งเครื่องจักร 30,063 แรงม้า คนงาน 37 คน ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 29 หมู่ 17 ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี และชาวบ้าน ได้มีการคัดค้าน การก่อสร้างโรงไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทบัวสมหมาย ตั้งแต่ ต.ค.51 เนื่องจากกระบวนการการออกใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมายและดำเนินการขุดบ่อน้ำขนาดใหญ่โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก อบต.ซึ่งชาวบ้านได้ยื่นของความเป็นธรรมกับศาลปกครอง เมื่อวันที่ 6 มี.ค.55 โดยขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ของบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด และให้ฟื้นฟูทรัพยากรที่เสียหายกลับคืนสู่ภาพเดิม
 
โดย มีนายทองคับกับพวก 185 คน เป็นผู้ฟ้องคดี และได้ยื่นฟ้อง 7 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ 1 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) 2.กรมโรงงานอุตสาหกรรม 3.ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี 4.อุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี  5.องค์การบริหารส่วนตำบลท่าช้าง 6. ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 17 บ้านคำสร้างไชย ตำบลท่าช้าง  และ 7.บริษัทบัวสมหมาย ไบโอแมส จำกัด  ซึ่งถือเป็นผู้ถูกฟ้องคดี
 
เพราะทั้ง 6 หน่วยงานได้ร่วมกัน ออกใบอนุญาตฯให้บริษัทบัวสมหมายไบโอแมสโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากกระบวนการออกใบอนุญาตฯ นั้น มีความไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้าน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 และ มาตรา 289 คือ เริ่มตั้งแต่การประชุมในหมู่บ้านที่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม และ อบต.ท่าช้างไม่มีการเปิดเผยข้อมูลไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไม่ปกป้องสิทธิผู้ใช้พลังงานและชุมชนท้องถิ่น 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท