Skip to main content
sharethis
2 เครือข่ายชาวบ้านตรัง ให้กำลังใจ ‘ธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล’ หลังถูกสั่งย้ายเข้ากรุ ประกาศจะยื่นหนังสือ รมว.มหาดไทย ขอคืนตำแหน่งให้ผู้ว่าฯ อยู่ต่อไป พร้อมยื่นหนังสือถึงนายกฯ-รมต.เกษตรฯ ให้แก้ปัญหายางพาราโดยสันติ
 
เวลาประมาณ 11.30 น.วันที่ 30 ส.ค.56 ที่ศาลากลางจังหวัดตรัง ชาวบ้านจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดและเครือข่ายรักษ์เจ้าไหม รวมกว่า 100 คน นำผลไม้ และดอกไม้เข้าให้กำลังใจนายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังซึ่งจะถูกย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา พร้อมทั้งถือป้ายผ้า โดยมีข้อความว่า "ผู้ว่าฯ ธีระยุทธ พบง่าย เข้าใจคนตรัง ตั้งใจแก้ปัญหา" และ "ผู้ว่าฯ ธีระยุทธ พัฒนาตรังเป็นเมืองแห่งความสุข ที่ 3 ของประเทศ ที่ 1 ของภาคใต้"
 
จดหมายเปิดผนึกจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดและเครือข่ายรักษ์เจ้าไหม ระบุว่า ตลอดระยะเวลาประมาณ 1 ปี ที่นายธีระยุทธทำหน้าที่ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังได้พิสูจน์ให้เครือข่ายชาวบ้านเห็นว่าเป็นคนมีความเหมาะสมที่จะทำหน้าที่นี้ต่อไป เพราะเป็นพ่อเมืองที่พบง่าย ตั้งใจแก้ปัญหา เป็นนักปกครองที่ทำงานโดยยึดหลักการมีส่วนร่วม บูรณาการนโยบายของรัฐบาลให้สอดคล้องกับจังหวัดตรัง
 
 
"ท่านธีระยุทธวางเป้าหมายพัฒนาจังหวัดตรังไปสู่เมืองแห่งความสุข ไม่ใช่แค่ความเจริญทางวัตถุ และท่านก็สามารถทำได้อย่างน่าพอใจ ตัวชี้วัดหนึ่งของความสำเร็จคือ จังหวัดตรังได้รับการจัดอันดับจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ให้เป็นจังหวัดแห่งความสุขอันดับที่ 3 ของประเทศไทย และอันดับที่ 1 ของภาคใต้ " จดหมายเปิดผนึกระบุ
 
นางณัฐธยาน์ แท่นมาก ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า จากที่ได้รู้จักนายธีระยุทธ เชื่อว่าได้ทำหน้าที่พ่อเมืองตรังด้วยความรัก แม้ไม่ได้เป็นคนตรัง แต่ก็เข้าใจ และเข้าถึงคนตรัง ไม่สมควรที่จะเอานายธีระยุทธไปเก็บในไว้กรุ จึงขอโอกาสให้นายธีระยุทธได้แสดงฝีมือในช่วงอายุราชการที่เหลือ โดยหลังจากนี้จะยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต่อไป
 
"ไม่ได้หมายความว่าเราปฏิเสธผู้ว่าฯ ท่านใหม่ เพราะเชื่อว่ามีพ่อเมืองอีกหลายท่านที่มีความรู้ความสามารถ เพียงแต่ขอเวลาอีก 1 ปี ให้ท่านธีระยุทธได้สานต่องานที่ตั้งใจไว้ให้บรรลุผลสำเร็จ หวังว่าพี่น้องชาวตรัง ส่วนราชการต่างๆ รวมถึงรัฐบาล และพี่น้องชาวไทย จะเข้าใจ และตอบสนองเจตนารมณ์ของเรา" นางณัฐธยาน์ กล่าว
 
 
หลังจากนั้น เครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อกรณีการแก้ปัญหาการชุมนุมของชาวสวนยางที่ จ.นครศรีธรรมราช ผ่านนายพัลลภ เงินทอง เกษตรจังหวัดตรัง พร้อมทั้งได้ถือป้ายผ้า ระบุข้อความว่า "ของแพง ยางถูก ลูกอด รถถูกยึด" และ "เรื่องยางเป็นเรื่องปากท้อง รัฐบาลต้องจริงใจแก้ปัญหา อย่าบิดเบือน"
 
นางสุวรรณี สุขเกษม ตัวแทนเครือข่ายรักษ์เจ้าไหม กล่าวว่า รู้สึกกังวล และห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง เหตุที่ราคายางปั่นป่วนและตกต่ำนั้นไม่ใช่เป็นปัญหาภาคใต้ แต่เป็นปัญหาของชาติ เพราะประเทศไทยส่งออกยางพาราเป็นอันดับหนึ่งของโลกตั้งแต่ พ.ศ.2534 ยางพาราเป็นสินค้าเกษตรที่ทำรายได้มากที่สุดของไทย ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกยางพาราอยู่ในทุกภาคทั่วประเทศไทย มันจึงเป็นปัญหาของชาติ เป็นปัญหาของเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ
 
นางสุวรรณี กล่าวต่อมาถึงข้อเรียกร้อง 4 ข้อ คือ 1.รัฐบาลต้องไม่ใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ 2.รัฐบาลต้องยึดหลักสันติวิธีโดยยึดการเจรจา มีท่วงทำนองรับฟัง เข้าหาทุกกลุ่ม และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยหาข้อสรุปที่ชาวเกษตรกรรับได้ อย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์

3.หามาตรการในการดูแล และมีนโยบายเอื้ออำนวยความสะดวกในการขนส่งพืชผลเกษตรอื่นๆ เช่น ลองกอง มังคุด เงาะ สะตอ รวมทั้งข้าว เพื่อการปริโภคแก่คนในชาติด้วย และ 4.หามาตรการระยะกลาง และระยะยาวในการแก้ไขปัญหาเพื่อนำสู่ความสงบสุขแก่บ้านเมืองอย่างจริงจังต่อไป
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากยื่นหนังสือ เครือข่ายฯ ได้มีการพูดคุยที่หน้าศาลากลางจังหวัดตรัง จนถึงเวลาประมาณ 14.00 น. หลังจากนั้นได้นำใบปลิว เรื่องขอให้ผู้ว่าฯ ธีระยุทธ เป็นผู้ว่าตรังต่อไป และกรณีการแก้ปัญหาการชุมนุมของชาวสวนยาง จำนวน 1,500 ชุด ไปแจกในพื้นที่ 7 อำเภอของจังหวัดตรัง ได้แก่ อ.เมือง อ.นาโยง อ.ย่านตาขาว อ.ปะเหลียน อ.ห้วยยอด อ.รัษฎา และ อ.กันตัง
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net