Skip to main content
sharethis

เกร็ดความรู้เรื่องอาวุธเคมี ตั้งแต่เรื่องฤทธิ์ของอาวุธ ประวัติศาสตร์ที่มีการใช้ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 จนกระทั่งมีสนธิสัญญาห้าม และถือเป็นครั้งแรกที่ทางการสหรัฐฯ รวมถึงประเทศอื่นๆ อ้างเรื่องอาวุธเคมีในการให้ความชอบธรรมต่อการโจมตี

บทความจากผู้สื่อข่าว ดานา ลีเบลสัน จากสำนักข่าวอิสระ Mother Jones ได้นำเสนอข้อมูลเรื่องอาวุธเคมี ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจโจมตีประเทศซีเรียของทางการสหรัฐฯ ที่ชวนให้ตั้งคำถามว่าการใช้อาวุธเคมีเป็นเหตุผลมากพอหรือไม่ที่ทำให้สหรัฐฯ มีความชอบธรรมในการโจมตี

โดยในบทความเริ่มต้นตั้งคำถามว่า นิยามของคำว่า 'อาวุธเคมี' คืออะไร ผู้เชี่ยวชาญได้จำแนกอาวุธเคมีตามผลที่เกิดทางชีววิทยา องค์การห้ามอาวุธเคมีระบุว่าอาวุธเคมี ได้แก่ ประเภทที่ส่งผลต่อระบบประสาท ส่งผลต่อการหายใจ กลุ่มออกฤทธิ์ทำให้เป็นแผลเช่นแก๊สมัสตาร์ด, ประเภทที่มีฤทธิ์ต่อเลือด, สารเคมีที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติทางจิต และสารเคมีที่ใช้ในการปราบจลาจลเช่นแก๊สน้ำตา นอกจากนี้ยังรวมถึงเอเย่นต์ ออเร้นจ์ (Agent Orange) หรือยาที่ทำให้ใบไม้ร่วงซึ่งทางการสหรัฐฯ เคยใช้ในสงครามเวียดนาม

ภายใต้อนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี (Chemical Weapons Convention) ปี 1997 อนุญาตให้มีการใช้แก๊สน้ำตากับกลุ่มผู้ประท้วงภายในประเทศได้ ตราบใดที่ไม่ใช้มันในการสงคราม แต่เว็บไซต์ Slate ก็กล่าวว่าการใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมในพื้นที่ปิดก็เป็นอันตรายได้ กลุ่มแพทย์เพื่อสิทธิมนุษยชนบอกว่าสารพิษที่ต้องระวังในปัจจุบันได้แก่ วีเอ็กซ์ ซาริน และทาบูน ทั้งหมดล้วนเป็นสารกระทบต่อประสาท นอกจากนี้ยังมี บีซี และแก๊สมัสตาร์ด

บทความได้กล่าวถึงผลกระทบจากอาวุธเคมีเหล่านี้ โดยบอกว่าสารพิษจำพวกที่ส่งผลต่อระบบประสาทและส่งผลต่อการหายใจมีความรุนแรงที่สุด เช่น สารพิษคลอรีนที่ใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 จะทำให้ของเหลวไหลไปอยู่ในปอดทำให้รู้สึกเหมือนจมน้ำ ส่วนสารทำลายระบบประสาทบางชนิดอย่างกรณีของวีเอ็กซ์ทำให้ตายได้ภายในไม่กี่นาที

ส่วนสารพิษที่ใช้ในเหตุการณ์โจมตีชาวซีเรียมีการระบุว่าเป็นแก๊สซาริน ซึ่งเมื่อถูกดูดซึมผ่านผิวหนังแล้ว จะเข้าไปในระบบประสาทและสามารถสังหารคนได้ภายใน 5-10 นาที อาวุธเคมีชนิดนี้ผลิตโดยพรรคนาซีของเยอรมนีในช่วงปี 1938 และมีการทดลองกับคนในค่ายกักกัน นอกจากนี้ยังเคยถูกใช้โดยกลุ่มลัทธิโอมชินริเคียวในการโจมตีรถไฟใต้ดินในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่นเมื่อปี 1995

ผู้ได้รับสารพิษเหล่านี้ต้องรีบรับการรักษาด้วยยาอะโทรปีนซึ่งเป็นยารักษาสารพิษในระบบประสาทภายใน 1 ชั่วโมงถึงจะถือว่าเป็นการรักษาที่ได้ผล แต่ในซีเรียยังคงขาดแคลนอะโทรปีนในการรักษาให้ได้ทุกคน


อาวุธเคมีเลวร้ายกว่าการใช้ระเบิดจริงหรือ

บทความยังได้ตั้งคำถามอีกคำถามหนึ่งคือ เหตุใดการใช้อาวุธเคมีถึงร้ายแรงกว่าการใช้อาวุธระเบิดกับเด็กและผู้หญิง ดารีล คิมบอล ผู้อำนวยการสมาคมควบคุมอาวุธกล่าวว่า ในการสงครามมีกฎข้อห้ามการใช้อาวุธเคมีเนื่องจากอาวุธเคมีส่งผลอย่างไม่เลือกตัวบุคคลโดยเฉพาะกับพลเรือน และหากมีการละเมิดข้อห้ามอาวุธเคมีก็อาจนำไปสู่การละเมิดข้อห้ามอาวุธที่รุนแรงกว่านี้เช่นอาวุธนิวเคลียร์ นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาและความมั่นคงระดับนานาชาติ

แต่นักเขียนที่ชื่อพอล วัลด์แมน มองว่าเรื่องนี้เป็นอาการเสแสร้งของนานาชาติ โดยเขามองว่าไม่ว่าจะเป็นการโจมตีด้วยอาวุธเคมีหรือลูกระเบิดก็เลวร้ายพอๆ กัน แต่การใช้อาวุธเคมีกำจัดศัตรูจะทำให้ถูกหาว่าเป็นอาชญากรสงครามขณะที่การใช้อาวุธอีกประเภทหนึ่งกลับไม่ถูกกล่าวหา

สตีฟ จอห์นสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านสงครามอาวุธเคมีกล่าวว่า เขาเข้าใจว่าคนมีความรู้สึกมากกับอาวุธเคมีเนื่องจากมันค่อยๆ ออกฤทธิ์แต่ร้ายแรง ไม่มีที่หลบภัยและส่งผลมากกับเด็ก คนชรา และผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ รวมถึงทำให้ตายอย่างทรมาน แต่เมื่อมองในเชิงศีลธรรมแล้วคงยากที่จะพูดว่าการสังหารผู้คนร้อยคนด้วยอาวุธระเบิดเป็นเรื่องรับได้มากกว่าการใช้สารทำลายประสาท


นี่เป็นครั้งแรกที่มีการแทรกแซงทางทหารโดยอ้างการใช้อาวุธเคมี

คิมบอล จากสมาคมควบคุมอาวุธ กล่าวถึงเรื่องการแทรกแซงของสหรัฐฯ ว่านี่ถือเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ และชาติอื่นๆ แสดงความต้องการโต้ตอบทางการทหารเมื่อมีการใช้อาวุธเคมีโดยฝ่ายรัฐ นอกจากนี้เว็บไซต์ Foreign Policy ยังได้กล่าวถึงเอกสารของหน่วยงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ หรือ ซีไอเอ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ ทราบดีอยู่แล้วในเรื่องที่รัฐบาลซัดดัม ฮุสเซนของอิรักวางแผนโจมตีอิหร่านด้วยอาวุธเคมีรวมถึงแก๊สซารินในปี 1988 โดยการที่ทางการสหรัฐฯ ได้บอกตำแหน่งของกองทัพอิหร่านให้อิรักทราบ

ในช่วงทศวรรษ 1980 รัฐบาลซัดดัมก็เคยใช้แก๊สทำลายประสาทคือแก๊สซารินและแก๊สมัสตาร์ดในอิหร่าน ทำให้มีทหารเสียชีวิตกว่า 20,000 คน เอกสารของซีไอเอที่ถูกเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ระบุว่าทางการสหรัฐฯ มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ด้วย

นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ใช้อาวุธเคมีอีกหลายครั้งเช่นในปี 1998 รัฐบาลซัดดัมได้ใช้แก๊สมัสตาร์ดโจมตีเมืองที่ถูกยึดโดยกบฏชาวเคิร์ดจนมีคนเสียชีวิตกว่า 5,000 คน ในปี 1989 เจ้าหน้าที่รัสเซียก็ถูกกล่าวหาว่าใช้แก๊สยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 ในการปราบปรามผู้ชุมนุม ปี 1994-1995 ก็มีการใช้แก๊สซารินโดยกลุ่มโอมชินริเคียว 2 ครั้ง


กฎหมายนานาชาติเรื่องการห้ามการใช้อาวุธ

ในปี 1925 หลังจากมีการใช้อาวุธเคมีจำนวนมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศต่างๆ จึงมีการลงนามในสนธิสัญญาเจนีวาเพื่อห้ามการใช้อาวุธเคมีในการสงครามและถือว่า "เป็นเรื่องที่น่าประณามตามความเห็นทั่วไปของผู้ที่อยู่ในโลกอารยะ" การใช้อาวุธเคมีถือเป็นอาชญากรรมสงครามตามกฎหมายของศาลอาญาระหว่างประเทศ

มีการร่างอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธเคมีในปี 1992 ซึ่งผู้ลงนามตกลงร่วมกันว่าจะไม่มีการใช้หรือผลิตอาวุธเคมี และทำลายอาวุธเคมีที่มีอยู่ทิ้งให้หมดและอนุสัญญานี้มีผลเมื่อปี 1997 ซึ่งแผนภาพขององค์การห้ามอาวุธเคมีแสดงให้เห็นว่ามีบางประเทศที่ยังไม่ได้ลงนาม ได้แก่ เกาหลีเหนือ อียิปต์ ซูดานใต้ และซีเรีย

อย่างไรก็ตามจากการสำรวจเมื่อเดือน ก.พ. ปี 2013 พบว่าประเทศที่ลงนามแล้วแต่ยังมีอาวุธเคมีในครอบครองได้แก่ แอลแบเนีย อินเดีย อิรัก ลิเบีย รัสเซีย และสหรัฐฯ โดยนับตั้งแต่ปี 1997 มีคลังอาวุธเคมีถูกกำจัดไปแล้วกว่าร้อยละ 80 โดยจอห์นสันกล่าวว่าฝ่ายสหรัฐฯ และรัสเซียมีการเกี่ยงกันไปมาให้อีกฝ่ายทำก่อน นอกจากนี้ใน 13 ประเทศ ซึ่งรวมถึง จีน อังกฤษ สหรัฐฯ อิรัก ฝรั่งเศส ถูกตรวจพบว่ามีอาวุธเคมีแต่ทั้งหมด 70 แหล่งที่ถูกตรวจพบได้หยุดใช้งานไปแล้ว โดยมี 64 แหล่งที่ถูกทำลายหรือถูกเปลี่ยนไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นแทน


ชาติใดบ้างที่สนับสนุนสหรัฐฯ ในการโจมตีซีเรียด้วยเรื่องอาวุธเคมี

นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เดวิด คาเมรอน เคยสัญญาว่าจะสนับสนุนทางการสหรัฐฯ ในการโจมตีซีเรีย แต่ถูกคัดค้านจากสภารวมถึงสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมเองด้วย ขณะที่การประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ โดยรัสเซียได้คัดค้านการโจมตีและกล่าวหาว่าฝ่ายกบฏเป็นผู้ใช้อาวุธเคมี ทางด้านฝรั่งเศสดูเหมือนจะกลายเป็นคนหนุนหลังโอบาม่าได้ดีเนื่องจากประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ ออลลองด์ ได้แสดงการสนับสนุนการตัดสินใจของสหรัฐฯ และไม่ต้องขึ้นอยู่กับการโหวตมติจากสภา


 

เรียบเรียงจาก
Are Chemical Weapons Reason Enough to Go to War?, Mother Jones, 30-08-2013
http://www.motherjones.com/politics/2013/08/syria-chemical-weapons-explainer

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net