Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จากประสบการณ์เชิงประจักษ์เกี่ยวกับการเรียนการในสถาบันการศึกษาของไทยโดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาแล้ว ทำให้ผมมีข้อสังเกตต่อเรื่องนี้ในบางประการ ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาในรูปแบบ มาตรฐานสากลด้วยแล้ว นับว่าระบบการศึกษาโดยเฉพาะระบบการเรียนการสอนของไทยสมควรนำมาพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งก่อนอื่นคงต้องยอมรับว่าเรากำลังพัฒนาการศึกษาเพื่อให้เข้าสู่ระเบียบสากล หาไม่เช่นนั้นการขวนขวายเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาก็ไม่รู้จะทำกันไปทำไม

บรรยากาศของการศึกษาของไทยเต็มไปด้วยความกลัว ขณะที่สิ่งที่ควรจะเป็นในการศึกษาในขั้นอุดมศึกษา อย่างเช่น ผู้เรียนควรเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ กล้าวิพากษ์อย่างสมเหตุสมผล กลับไม่เป็นไปเท่าที่ควรจะเป็น ผู้เรียนและผู้สอนต่างก็ถูกเงื่อนไขของความกลัวครอบงำปราศจากความกล้าหาญทางวิชาการ

การศึกษาในสถาบันการศึกษาของไทยโดยมาก จึงเป็นไปในลักษณะที่ทั้งผู้เรียนและผู้สอนต่างมีความกลัวฝังหัว ไม่กล้าแสดงออกทางความคิดที่ตัวเองคิด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การนำเสนอข้อมูลทางวิชาการบางด้านบิดเบือนไปมากก็น้อย โดยเฉพาะวิชาการสายสังคมศาสตร์ (ที่อยู่ฟากตรงกันข้ามกับ สายวิทยาศาสตร์)  ยิ่งสถาบันการศึกษาใดอยู่ในแนวทางจารีตนิยม ความกลัวในการแสดงออก เชิงการวิพากษ์และการเสนอความเห็น จนเกิดความอึมครึมในสถาบันย่อมมีมากขึ้นเท่านั้น  

ข้อสันนิษฐานถึงสาเหตุของความกลัวในการแสดงความเห็นเชิงการวิพากษ์ด้วยเหตุและผลตามหลักหรือกระบวนการทางวิชาการ มีดังนี้

1.ผู้เรียนผู้สอนมีความรู้ไม่พอที่จะวิพากษ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ หากผู้เรียนและผู้สอนไม่พยายามแสวงความรู้ใหม่ๆ อย่างไม่หยุดหย่อน เพราะในโลกนี้มีความรู้เกิดใหม่ตลอดเวลาและเป็นไปอย่างรวดเร็วเสียด้วย หากสถานการณ์ของผู้เรียนผู้สอนเป็นอย่างนี้ ทั้งผู้เรียนหรือผู้สอนย่อมจึงเกิดความกลัวในการแสดงความเห็นต่อสาธารณะ การนำเสนองานวิชาการหรืองานวิจารณ์แสดงความเห็นโดยทั่วไปจึงไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถเข้าถึงความจริงในประเด็นต่างๆ

2.ระบบอุปถัมภ์ภายในสถาบันการศึกษาของไทย เป็นระบบที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงค่อนข้างมาก หมายถึงระบบเส้นสายในสถาบันการศึกษา เครือข่ายอุปถัมภ์ระหว่างผู้เรียน(นักศึกษา,นิสิต)กับผู้สอน (อาจารย์) หรือผู้บริหารมหาวิทยาลัย ทั้งสองฝ่ายสามารถอุปถัมภ์ซึ่งกันและกันตามแบบอย่างของวัฒนธรรมไทยโดยทั่วไป เมื่อเป็นดังนี้จึงทำให้ทั้งผู้เรียนและผู้สอน ไม่กล้าแสดงออก โดยเฉพาะการแสดงออกเชิงการวิพากษ์ในแง่มุมวิชาการได้อย่างเต็มที่  เพราะความกลัวต่อระบบอุปถัมภ์ เช่น ผู้เรียนกลัว อาจารย์ผู้สอนจะกลั่นแกล้งเล่นงานเอา (ผ่านการกดเกรด หรืออื่นๆที่แย่กว่านี้) หากว่านำเสนอชุดความเห็นไม่ตรงกับความเห็นของอาจารย์ หรือแม้แต่ผู้บริหารของสถาบันการศึกษาก็เช่นเดียวกัน หากผู้เรียนเผลอหรือตั้งใจวิจารณ์เพื่อหาความจริงด้านวิชาการที่คาบเกี่ยวกับตำแหน่งและการบริหารงานของผู้บริหารคนนั้น หรือไปวิจารณ์คุณภาพการศึกษาของสถาบันการศึกษาก็อาจซวยทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

3.ปัญหาของผู้เรียนและผู้สอนที่โลกทัศน์แคบ ตีความ,วิเคราะห์และขยายความประเด็นทางด้านวิชาการไม่เป็น ซึ่งว่ากันตามจริงแล้วข้อนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากประสบการณ์เชิงประจักษ์ของทั้งผู้เรียนและผู้สอนที่มีไม่มากพอ ปัญหานี้เป็นกันมากในสถาบันการศึกษา หากผู้สอนมีโลกทัศน์แคบก็พลอยทำให้กรอบการเรียนการสอนพลอยแคบไปด้วย แม้ว่าผู้เรียนจะมีประสบการณ์เชิงประจักษ์มากมายเพียงใดก็ตามแต่ก็จะถูกจำกัดการถ่ายทอดความรู้ออกสู่สาธารณะ เช่น การนำเสนอความเห็นของผู้เรียนที่เกิดความกลัวต่อผู้สอนเนื่องจากความเห็นจากการตีความ การวิเคราะห์หรือการขยายผลไม่ตรงกัน เพราะผู้สอนคือ ผู้ควบคุมผู้เรียน เช่น ผ่านระบบการออกเกรดหรือให้คะแนน เป็นต้น ความกลัวดังกล่าวให้ความเห็นที่ควรแสดงต่อสาธารณะอย่างน้อยก็แสดงในห้องเรียนของผู้เรียนถูกปิดกั้นไปโดยปริยาย

การที่ผู้เรียนและผู้สอนมีโลกทัศน์แคบ ทำให้การตีความประเด็นหรือเรื่องที่เรียนแคบมาก ยิ่งการเรียนในระดับบัณฑิตศึกษา( ป.โท,ป.เอก) ด้วยแล้ว หากผู้เรียนหรือผู้สอนก็ตามมีประสบการณ์เชิงประจักษ์น้อย ก็จะทำให้การตีความแคบไปด้วย เราสามารถเรียกการตีความหรือการวิเคราะห์ดังกล่าวว่าเป็นการตีความแบบสูตรคูณ เพราะอาศัยการอ้างอิงแบบสูตรคูณที่แน่นอนตายตัว คือดึงข้อมูลที่มีอยู่เดิม ในลักษณะของสูตรตายตัวมาใช้ โดยไม่มีการพลิกแพลงตามบริบท เช่น บริบทเวลา บริบทสถานที่ บริบทสถานการณ์ เป็นต้น ผลงานหรือการแสดงความเห็นจึงทึ่มทื่อไม่ทันต่อการณ์ และความรู้ที่ได้ยังอยู่ในกรอบของความรู้ ไม่ใช่ความรู้ใหม่ ไม่กว้างและไม่รอบด้าน ซึ่งผู้สอนนับว่ามีบทบาทในการส่งเสริมผู้เรียน ในเรื่องนี้อยู่มาก หากผู้สอนตัดบทไม่ใจกว้างรับฟังความเห็นของผู้เรียนแล้ว เท่ากับเป็นการตัดโอกาสในการแสดงความเห็นที่หลากหลายมากขึ้นของผู้เรียนบางคน

4.อำนาจรัฐ ก่อให้เกิดความกลัวและความอึมครึมต่อการเรียนการสอนได้มาก โดยเฉพาะอำนาจรัฐที่มีไว้เล่นงานผู้ที่ชอบแสดงความเห็นเชิงวิชาการวิพากษ์รัฐ หรือแม้แต่การที่รัฐมีกฎหมายป้องกันรัฐหรือสถาบันสำคัญของรัฐ  ในเมืองไทยก็อย่างเช่น มาตรา 112 ทำให้การแสดงความเห็นทางวิชาการไม่อาจเป็นไปอย่างเต็มที่เพราะลึกๆแล้ว ผู้ที่แสดงความเห็นที่คาบเกี่ยวกับรัฐและสถาบันย่อมมีอาการประหวั่นเกรงกลัวอำนาจ(กฎหมาย) ที่รัฐมีอยู่ในมือและพร้อมที่จะใช้เล่นงานทั้งผู้เรียนและผู้สอนในสถาบันการศึกษาที่แสดงความคิดเห็นไม่ตรงกับรัฐ ซึ่งสำหรับประเทศไทย ความกลัวที่เกิดจากอำนาจรัฐได้ลดน้อยลงไปมาก แต่ความกลัวจากเล่นงานโดยกฎหมายบางประเภท เช่น มาตรา 112 ยังมีอยู่

5.ความอึมครึมจากการสุกเอาเผากิน ผู้เรียนหวังแค่ใบปริญญาไม่ได้หวังความรู้เพื่อให้ใกล้เคียงกับวัตถุประสงค์ของการศึกษาอย่างแท้จริง รวมถึงการใช้เงินปูทางไปสู่วุฒิทางการศึกษา เช่น การบริจาค ให้กับสถาบันการศึกษา หรือบริจาคให้กับอาจารย์ผู้สอนในกิจกรรมต่างๆทำให้การแสดงความเห็นทางวิชาการ หรือการแสดงความคิดเห็นเชิงเหตุและผลไม่สามารถเป็นไปอย่างเสรีหรือเต็มที่ได้ เพราะผู้เรียนไม่ได้ตั้งความหวังเรื่องความรู้มากนัก ขณะที่การบริจาคเงินก็มักปิดปากผู้สอนและผู้บริหารให้เงียบสนิท อย่างน้อยผู้สอนและผู้บริหารก็ไม่กล้าวิพากษ์ผู้เรียนอย่างตรงไปตรงมา เกิดการเกรงใจกันแบบไทยๆ ท้ายที่สุดความกลัวก็ยังคงอยู่ในห้อง เรียนหรือในสถาบันการศึกษาเหมือนเดิม

6. กลัวผิดต่อจารีต หรือความกลัวต่อการผิดต่อประเพณีของสถาบันการศึกษาและสถาบันสังคม หมายถึงผู้เรียนหรือผู้สอนไม่กล้าแสดงออกซึ่งความคิดเห็น เพราะเหตุของความกลัวต่อจารีตประเพณีของสถาบันการศึกษา บางสถาบันการศึกษาของไทยถึงกับอาศัยพิธีกรรมเพื่อเป็นเครื่องมือในการดึงความสนใจผู้เรียนและ บุคลากรของสถาบัน แต่เป็นการสร้างความสนใจที่ผิด เพราะพิธีกรรมหากมีมาก ก็ย่อมลดความขลังความศักดิ์สิทธิ์ลง  และพิธีกรรมได้กลายเป็นเครื่องถ่วงความก้าวหน้าเชิงวิชาการแบบที่เป็นเหตุเป็นผล รวมทั้งได้สร้างความกลัวแบบใหม่ให้เกิดขึ้น คือ ผู้เรียนกลัวว่าพิธีกรรมจะกลายเป็นเครื่องบีบบังคับให้ผู้เรียนและผู้สอนต้องใช้เวลามาซูฮกต่อพิธีกรรมดังกล่าวมากขึ้น ขณะที่หน้าที่ของผู้เรียนผู้สอน คือ งานความรู้และแสวงหานวัตกรรมความรู้ พิธีกรรมของสถาบันการศึกษาบางแห่งทำให้ผู้เรียนเสียเวลา และเกิดความกลัวในฐานะของการสร้างให้พิธีกรรมและจารีตครอบงำทั้งผู้เรียนและผู้สอน จนเกิดความอึมครึมในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น

ความกลัวและความอึมครึมในสถาบันการศึกษาของไทยยังคงมีอยู่ ตราบเท่ากลไกเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไม่ทำงานอย่างเต็มที่ เมื่อนั้นความหวาดระแวงกันและกันในสถาบันการศึกษาและหวาดระแวงต่อบุคคลและสถาบันภายนอกก็ยังคงแก้ไม่หาย สังคมไทยก็คงพูดแสดงความเห็นอะไรแบบตรงๆ ไม่ได้เหมือนเดิม เพราะดีไม่ดีก็อาจเป็นอันตรายต่อตัวผู้พูดวิจารณ์นั้นเอง หลายคนจึงหันมาวิธีการใช้เล่ห์เหลี่ยม เช่น การวางเฉยต่อปัญหา วางเฉยต่อประเด็นความรู้ รวมถึงอาศัยวิธีการชะเลียร์.

             

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net