Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
กลางกระแสสังคมเสรีประชาธิปไตย กระแสที่มุ่งให้เกิดเสรีภาพ อิสรภาพความเสมอภาค การเปิดโอกาสให้คนในสังคมได้แสดงออกของความเป็นตัวตนได้เต็มที่ การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่ตั้งคำถามในสิ่งที่สังคมปฏิบัติเป็นธรรมเนียมสืบทอดกันมาหลายทศวรรษกลายเป็นเรื่องที่ผิดแปลกของสังคม โดยเฉพาะ “การแต่งเครื่องแบบนักศึกษา” ที่มีการรณรงค์ต่อต้านการแต่งเครื่องแบบที่ไม่ให้บังคับนักศึกษาใส่เครื่องแบบถูกต้องตามระเบียบมหาวิทยาลัย มีทั้งคนที่เห็นด้วยที่จะให้ยกเลิกระเบียบการแต่งกายและคนที่ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกเพราะมันเป็นความภาคภูมิใจที่ได้สวมใส่ชุดของสถาบัน
 
 
 
เราควรยอมให้ “นักศึกษา” ถูกบังคับให้แต่งเครื่องแบบหรือไม่? เป็นสิ่งที่สังคมในรั้วมหาวิทยาลัยถกเถียงกัน เรื่องการแต่งตัวด้วยชุดนักศึกษากลายเป็นสิ่งที่ชวนมองสังคมประชาธิปไตยที่เคารพหลักสิทธิมนุษยชน สังคมประชาธิปไตยตามหลักการที่มุ่งให้เกิดความแตกต่างหลากหลายที่ประชาชนสามารถอาศัยร่วมกันในสังคมได้อย่างลงตัว ไม่จำเป็นที่คนในสังคมต้องคิดเหมือนกันทั้งหมด เพียงแต่ต้องการให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันโดยสันติวิธี เปิดโอกาสให้ตนเองได้รับฟังความคิดที่แตกต่างและยอมรับในความแตกต่างนั้นได้ กระแสสังคมสิทธิมนุษยชนที่เคารพความแตกต่างเท่าเทียมของคนทุกคนที่ไม่แบ่งแยก ปราศจากการบังคับกดขี่ทั้งทางตรงและทางอ้อม ประชาชนทุกคนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเสรีตามปรารถนาโดยอยู่บนพื้นฐานที่ไม่ละเมิดต่อบุคคลอื่น การลุกขึ้นแสดงจุดยืนทางความคิดของนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับการบังคับให้นักศึกษาต้องสวมใส่ชุดนักศึกษาเป็นประเด็นที่สังคมไม่ควรมองข้าม เพราะนี่คือการแสดงความคิดแบบคนรุ่นใหม่ต่อสังคม
 
หลักการและเหตุผลของทั้งคนที่เห็นด้วยกับการใส่ชุดนักศึกษาและคนที่ไม่เห็นด้วยกับการใส่ชุดนักศึกษานั้นล้วนมีน้ำหนักเหตุผลที่ดีทั้งสองฝ่าย แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการใส่ขณะนี้ตกอยู่ในสถานะที่เสมือนถูกเหยียบย่ำความคิดโดยกลุ่มที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม นิยมทำเนียมและสิ่งที่ปฏิบัติทอดต่อกันมา เมื่อความเห็นของคนในสังคมแตกต่างการหาจุดยืนร่วมกันจะเกิดขึ้นได้หรือไม่
 
หลายมหาวิทยาลัยมีกฎระเบียบที่นักศึกษาจะต้องสวมเครื่องแบบตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดให้ครบและถูกต้อง หากไม่ปฏิบัติตามอาจส่งผลกระทบถึงการหักคะแนนความประพฤติโดยที่นักศึกษาไม่สามารถต่อรองใดๆ ได้ หรือการไม่ให้เข้าห้องเรียนหากแต่กายไม่เรียบร้อยตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ และการไม่ให้เข้าห้องสอบหากแต่งกายไม่เรียบร้อย รวมถึงการขอรับบริการจากเจ้าหน้าที่ภายในมหาวิทยาลัยจะต้องแต่งกายให้เรียบร้อยถูกระเบียบจึงจะได้รับบริการ เป็นต้น เหล่านี้เป็นบทสะท้อนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับการแต่งกายมากกว่าการเคารพตัวนักศึกษา ซึ่งหากพิจารณาดีๆ แล้ว สถาบันการศึกษาควรเปิดโอกาสให้นักศึกษาแต่งกายในแบบที่เขาเหล่านั้นต้องการ
 
กระทั่งตัวอาจารย์และบุคลากรมหาวิทยาลัยเองยังไม่มีชุดเครื่องแบบที่เหมือนกัน สามารถแต่งกายได้หลากหลายตามความประสงค์ไม่มีใครบังคับ นักศึกษาก็ควรได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับออาจารย์และบุคลากรด้วย หากกฎระเบียบมหาวิทยาลัยบังคับใช้ไม่ทั่วถึงก็เท่ากับไม่เคารพความเท่าเทียมของคนที่อยู่ในมหาวิทยาลัย
 
การศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มุ่งพัฒนาคุณภาพบัณฑิตให้เป็น “ปัญญาชน” จึงไม่ควรออกกฎเพื่อการจำกัดอิสระมากมายให้นักศึกษาต้องปฏิบัติตาม เพราะจะกลายเป็นการกระทำที่เคยชินในสังคมที่ไม่กล้าตั้งคำถามกับสิ่งที่ผิดแปลก ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่มองต่าง ควรสนับสนุนให้เกิดบรรยากาศการวิพากษ์วิจารณ์ของนักศึกษา ต้องสร้าง “วัฒนธรรมปัญญาชน” ให้เกิดขึ้นในรั้วสถานศึกษา เพื่อที่วันหนึ่งเขาเหล่านั้นจะสามารถออกไปสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
 
เพราะการสวมชุดเครื่องแบบที่ถูกระเบียบนั้นไม่ใช่ผลสำเร็จของการศึกษา แต่ผลสำเร็จของการศึกษาคือ “มันสมองของบัณฑิต” ที่สามารถตกผลึกทางความคิดได้อย่างเสรี อย่ามองเรื่องการแต่งกายสุภาพเรียบร้อยเป็นวัฒนธรรมที่ต้องปฏิบัติ แต่ควรมองวัฒนธรรมที่หลากหลายเป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดความงามของสังคม อย่าให้เครื่องแบบเป็น “ตัวแสดงนัยยะแห่งอำนาจ” ที่นักศึกษาต้องจำยอมอยู่ภายใต้อำนาจของสถาบัน
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net