Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สืบเนื่องจากข้อถกเถียงบนหน้าเฟซบุ๊กเมื่อหลายสัปดาห์ก่อนเกี่ยวกับการขอลิขสิทธิ์การแปลหนังสือ รวมถึงข้อเขียนเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของการนำงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นมาทำการดัดแปลง ตามที่ปรากฏในบทความฉบับนี้  http://prachatai.com/journal/2013/07/47801 เนื่องจากงานทั้งสองประเภทจัดเป็นงานสร้างสรรค์ต่อเนื่อง (derivative works) ตามนิยามของกฎหมายลิขสิทธิ์ ผู้เขียนจึงขอเสนอความเห็นบางประการเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ต่อเนื่อง ดังนี้

 

ประการแรก อะไรคืองานสร้างสรรค์ต่อเนื่อง (derivative works)

ตาม Berne Convention บัญญัติให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์แก่งานสร้างสรรค์ต่อเนื่อง (derivative works) [1] โดยแยกออกจากงานรวบรวม (compilation works) [2] โดยงานสร้างสรรค์ต่อเนื่องตามนิยามของ Berne Convention นั้น หมายความรวมถึง การแปล การดัดแปลง การเรียบเรียงดนตรี และการแก้ไขเปลี่ยนแปลงงานวรรณกรรมหรืองานศิลปะแขนงอื่นๆ

ทั้งนี้ เช่นเดียวกับบทบัญญัติในกฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกาที่แยกงานทั้งสองประเภทนี้ออกจากกัน  โดยในข้อเขียนของ Prof. Nimmer ได้แยกความแตกต่างระหว่างงานทั้งสองประเภทไว้ว่า งานรวบรวม (compilations) ได้แก่ การคัดเลือกและจัดเรียงส่วนประกอบของงานก่อนหน้าขึ้นใหม่โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงภายในงานนั้น แต่งานสร้างสรรค์ต่อเนื่อง (derivative works) ต้องมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะรูปแบบภายในตัวงานเดิมด้วย [3]

ด้วยเหตุนี้ การนำงานของผู้อื่นมาแปล และภาพการ์ตูนล้อเลียนในเพจมานีมีแชร์ จึงจัดอยู่ในกลุ่มงานแปลและงานดัดแปลงศิลปะแขนงอื่นๆ  ซึ่งจัดเป็นงานสร้างสรรค์ต่อเนื่อง (derivative works) ที่เข้าข่ายอาจได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ และซึ่งอยู่ในขอบเขตการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของบทความฉบับนี้ 

 

ประการที่สอง หลักการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์แก่งานสร้างสรรค์ต่อเนื่อง

ในที่นี้ขอยกตัวอย่างหลักการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์แก่งานสร้างสรรค์ต่อเนื่องตามมาตรฐานกฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่ามีความชัดเจนในระดับหนึ่ง ดังนี้

เบื้องหลังแนวคิด

การให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์แก่งานสร้างสรรค์ต่อเนื่อง มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์งานใหม่ที่อาจจะต่อยอดมาจากงานสร้างสรรค์อันได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์อยู่เดิม (copyrighted works)  หรือต่อยอดมาจากงานสร้างสรรค์ที่ไม่ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์และถือเป็นสมบัติสาธารณะ (public domain) ทั้งนี้ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์แต่เดิมของกฎหมายลิขสิทธิ์ที่ต้องการกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์งานใหม่ๆ เข้าสู่ตลาด [4]

หลักการมีอยู่ว่า ผู้สร้างสรรค์งานต่อยอดจะได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ในความคิดสร้างสรรค์ที่ตนได้กระทำหรือใส่เพิ่มเข้าไปใหม่ แม้ว่าการในสร้างงานต่อยอดนั้น อาจมีการหยิบยืมการแสดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์ (expression) บางส่วนมาจากงานที่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์อยู่แต่เดิม และในการหยิบยืมนี้หากกระทำโดยพลการและไม่ได้รับอนุญาตโดยถูกต้องจากเจ้าของลิขสิทธิ์คนก่อนหน้าแล้ว ย่อมถือเป็นละเมิด (copyright infringement) ก็ตาม

แนวทางการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์แก่งานสร้างสรรค์ต่อเนื่องตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกา

Section 103(a) และ (b) ของกฎหมายลิขสิทธิ์สหรัฐอเมริกา [5] บัญญัติให้ความคุ้มครองแก่งานสร้างสรรค์ต่อเนื่องโดยสามารถแยกเงื่อนไขการคุ้มครองออกเป็นสองประเด็นหลัก ดังนี้

งานสร้างสรรค์ต่อเนื่องที่หยิบยืมงานก่อนหน้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

การคุ้มครองลิขสิทธิ์แก่งานสร้างสรรค์ต่อเนื่องจะเป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาระหว่างเจ้าของลิขสิทธิ์เดิม และผู้สร้างสรรค์งานใหม่ [6]

งานสร้างสรรค์ต่อเนื่องที่หยิบยืมงานก่อนหน้ามาอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

  1. การคุ้มครองลิขสิทธิ์แก่งานสร้างสรรค์ต่อเนื่องจะไม่ครอบคลุมไปถึงส่วนของงานอันมีลิขสิทธิ์อยู่ก่อน ที่ถูกผู้สร้างสรรค์งานภายหลังหยิบยืมมาใช้อย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
  2. อย่างไรก็ดี แม้ว่าการหยิบยืมงานนั้นมาจะไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจากเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่ก็อาจถือเป็นการหยิบยืมมาโดยถูกต้องตามกฎหมายได้ หากการหยิบยืมนั้นเข้าข่ายข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ (fair use) ซึ่งในกรณีหลังนี้ งานที่ถูกหยิบยืมมาดังกล่าวก็เข้าข่ายสามารถได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ได้ด้วยเช่นกัน [7]
  3. ในส่วนของงานสร้างสรรค์ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ซึ่งสามารถแยกส่วนออกจากงานเดิม จะได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามเงื่อนไขปกติ (originality, idea/expression dichotomy, fixation) ทั้งนี้ โดยไม่กระทบกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่มีอยู่เหนืองานเดิม

จากหลักการดังกล่าวข้างต้น สามารถนำมาวิเคราะห์กรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นได้ ดังนี้

1) การแปลงานของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง

การนำงานของผู้อื่นมาแปลโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจากเจ้าของลิขสิทธิ์ หากถือตามกฎหมายสหรัฐอเมริกา การกระทำเช่นนั้นย่อมเป็นละเมิด และโดยหลักแล้วงานแปลที่เกิดขึ้นภายหลังทั้งหมดก็ย่อมไม่เข้าข่ายได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ [8]

อย่างไรก็ดี กฎหมายยังมีข้อยกเว้นหากการแปลงานนั้นเข้าข่ายข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ (fair use) [9] ซึ่งหากเป็นไปตามเงื่อนไขทั้ง 4 ประการดังกล่าว [10] งานแปลที่เกิดขึ้นใหม่นั้น ก็สามารถได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ได้ [11]

2) ภาพการ์ตูนล้อเลียนในเพจมานีมีแชร์

เบื้องต้นในที่นี้ผู้เขียนขอสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ภาพการ์ตูนล้อเลียนในเพจมานีมีแชร์เป็นการนำภาพจากต้นฉบับมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งเงื่อนไขการคุ้มครองก็จะเป็นเช่นเดียวกับการแปลงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ตามที่กล่าวมาข้างต้นนั่นเอง

อย่างไรก็ดี ในความเห็นผู้เขียน โอกาสที่การหยิบยืมภาพของผู้อื่นมาใช้ในเพจมานีมีแชร์จะเข้าองค์ประกอบข้อยกเว้นตามหลัก fair use นั้นมีสูงกว่าการนำงานของผู้อื่นทั้งฉบับมาทำการแปลเพื่อจัดจำหน่ายอย่างค่อนข้างเห็นได้ชัด ดังนั้นแนวโน้มที่ภาพการ์ตูนล้อเลียนในเพจมานีมีแชร์จะได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์จึงมีสูงกว่าการแปลงานของผู้อื่นทั้งฉบับโดยไม่ได้รับอนุญาตมาก

 


เพจมานีมีแชร์

 

ประการที่สาม หลักการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์แก่งานสร้างสรรค์ต่อเนื่องตามกฎหมายไทย

ตามกฎหมายไทย พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 11 บัญญัติไว้ว่า ‘งานใดมีลักษณะเป็นการดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ให้ผู้ที่ได้ดัดแปลงนั้นมีลิขสิทธิ์ในงานที่ได้ดัดแปลงตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ในงานของผู้สร้างสรรค์เดิมที่ถูกดัดแปลง’

เนื้อหาของมาตราดังกล่าวระบุชัดเจนว่า งานดัดแปลงที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ดัดแปลงจะได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้

อย่างไรก็ดี ในส่วนของในงานดัดแปลงที่ไม่ได้รับอนุญาตโดยถูกต้องจากเจ้าของลิขสิทธิ์ กฎหมายไม่ได้ระบุไว้

กรณีนี้ หากเปรียบเทียบกับกฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศอังกฤษ ซึ่งไม่ได้มีบทบัญญัติโดยชัดแจ้งเกี่ยวกับการคุ้มครองงานดัดแปลงที่ไม่ได้รับอนุญาตโดยถูกต้องจากเจ้าของลิขสิทธิ์เช่นกัน แม้กระนั้นก็ดี อังกฤษเองยังมีหลัก skill, labour and judgment ซึ่งพอจะอนุโลมมาใช้กับกรณีดังกล่าวได้อยู่บ้าง กล่าวคือ อังกฤษจะให้ความคุ้มครองแก่งานสร้างสรรค์ใหม่ที่ได้มีการลงแรงและความคิดสร้างสรรค์เพิ่มเติมเป็นหลัก แม้ว่างานนั้นจะได้หยิบยืมงานก่อนหน้ามาอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นการละเมิดก็ตาม [12]

หากเปรียบเทียบการแปลหนังสือทั้งฉบับโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ตามกฎหมายสหรัฐอเมริกา งานที่แปลเสร็จแล้วทั้งฉบับจะไม่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ เพราะเป็นละเมิดและน่าจะไม่เข้าหลัก fair use

ขณะที่อังกฤษจะให้ความคุ้มครองแก่ตัวงานที่แปลเสร็จแล้วทั้งฉบับเพราะถือว่ามีการลงแรงและความคิดสร้างสรรค์ (skill, labour and judgment) ของผู้สร้างสรรค์ในภายหลัง แม้ว่าผู้สร้างสรรค์งานแปลนั้นจะสามารถถูกฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยในเวลาเดียวกันก็ตาม

ในส่วนของประเทศไทย จนถึงขณะนี้ผู้เขียนยังไม่มั่นใจว่าได้มีการวางมาตรฐานเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์แก่งานดัดแปลงที่ไม่ได้รับอนุญาตโดยถูกต้องจากเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างไร แต่ขอเสนอความคิดเห็นคร่าวๆ ดังนี้

1) การแปลงานของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง

สามารถเลือกใช้มาตรฐานอังกฤษหรือสหรัฐอเมริกา กล่าวคือ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ดี การแปลงานทั้งฉบับหรือทั้งเล่มเพื่อจัดจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมถือเป็นละเมิด แต่ทั้งนี้กฎหมายอาจให้ความคุ้มครองแก่งานสร้างสรรค์ต่อเนื่องที่เกิดขึ้นจากการละเมิดนั้นหรือไม่เพียงไรก็ได้

2) ภาพการ์ตูนล้อเลียนในเพจมานีมีแชร์

ผู้เขียนมีความเห็นสอดคล้องกับบทความฉบับก่อนหน้า [13] ที่กล่าวว่าภาพการ์ตูนในเพจมานีมีแชร์น่าจะเข้าข่าย fair use ด้วยเหตุนี้ จึงน่าจะเข้าข่ายข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามกฎหมายไทย [14]

แต่อย่างไรก็ดี ผู้เขียนยังมีความเห็นต่างไปจากบทความดังกล่าวอยู่ประการหนึ่งว่า ในเมื่อภาพการ์ตูนในเพจดังกล่าวอาจเข้าข่ายข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ และผู้วาดได้มีการลงแรงและความคิดสร้างสรรค์ ด้วยเหตุนี้ภาพการ์ตูนล้อเลียนในเพจมานีมีแชร์ จึงน่าจะได้รับการตีความให้เข้าข่ายได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายไทยด้วย

 

บทสรุป

เนื่องจากกฎหมายลิขสิทธิ์มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์งานใหม่ๆ เข้าสู่ตลาด ดังนั้น การตีความเพื่อบังคับใช้กฎหมายควรเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับแนวคิดเบื้องหลังดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของงานสร้างสรรค์ต่อเนื่อง แม้ว่างานนั้นจะหยิบยืมงานอื่นมาได้รับอนุญาตหรือไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ตาม โดยผู้เขียนขอปิดท้ายด้วยประโยคที่น่าสนใจของ Prof. Goldstein ดังนี้

‘[E]very infringer of a derivative right is, by definition, itself the potential copyright owner of a derivative work.’ [15]

‘โดยนิยามแล้ว ผู้ละเมิดสิทธิในการสร้างงานสร้างสรรค์ต่อเนื่องทุกคน มีโอกาสที่จะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ต่อเนื่องที่เกิดขึ้นใหม่ได้ด้วยตัวเอง’

 

 

อ้างอิง:

  1. Article 2 (3)
  2. Article 2 (5)
  3. Melville B. Nimmer and David Nimmer, Nimmer on copyright : a treatise on the law of literary, musical and artistic property, and the protection of ideas ([Revised edn, M. Bender 1978) § 3.01, 3.02
  4. Paul Goldstein, ‘Derivative Rights and Derivative Works in Copyright’ 30 Journal of the Copyright Society
  5. 17 USC § 103(a)(b)
  6. Nimmer and Nimmer § 3.06
  7. อ้างแล้ว
  8. อ้างแล้ว
  9. 17 USC § 107
  10. โปรดดู เชิงอรรถที่ 7
  11. Nimmer and Nimmer § 3.06
  12. H. I. L. Laddie, Peter Prescott and Mary Vitoria, The modern law of copyright and designs (4th edn, LexisNexis 2011) p87
  13. การคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานดัดแปลง และปัญหาเรื่องการใช้โดยชอบธรรมในสื่อออนไลน์ http://prachatai.com/journal/2013/07/47801
  14. โปรดดู พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 33
  15. Goldstein
     

 

หมายเหตุ:

ชื่อบทความเดิม: ปัญหาการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ต่อเนื่อง (Derivative Works): กรณีการแปลงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ และภาพการ์ตูนในเพจมานีมีแชร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net