Skip to main content
sharethis

ประธานาธิบดีรัสเซีย เขียนบทความผ่านนิวยอร์กไทม์บอกต้องการสื่อไปยังประชาชนอเมริกันและทางการสหรัฐฯ ให้ทราบว่าเหตุใดรัสเซียถึงอยากให้เคารพการวีโตในที่ประชุมยูเอ็น และสนับสนุนให้เน้นวิธีการทูตในการไขวิกฤติซีเรียมากกว่าการใช้กำลังอาวุธ

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2013 เว็บไซต์นิวยอร์กไทม์ นำเสนอความคิดเห็นของประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียซึ่งแสดงความเห็นต่อจุดยืนของสหรัฐฯ ในกรณีซีเรีย หลังจากที่มีความพยายามขอมติอนุญาตใช้กำลังอาวุธเพื่อโต้ตอบหลังรัฐบาลซีเรียถูกกล่าวหาเรื่องการใช้อาวุธเคมี

ซึ่งล่าสุดในวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา รมต.กระทรวงต่างประเทศทั้งของสหรัฐฯ ได้วางแผนเจรจาสันติภาพเพื่อวางแนวทางให้การใช้อาวุธเคมีในซีเรียอยู่ภายใต้การควบคุมของนานาชาติโดยไม่จำเป็นต้องใช้กำลังทหาร

โดยก่อนหน้านี้ทางการรัสเซียซึ่งเป็นฝ่ายโหวตปฏิเสธการใช้มาตรการทางทหารของสหรัฐฯ ได้เสนอให้ทางการซีเรียส่งอาวุธเคมีที่มีในครอบครองให้อยู่ภายใต้การควบคุมของนานาชาคิเพื่อนำไปทำลายและเข้าร่วมองค์กรห้ามอาวุธเคมี  ซึ่งทางสหประชาชาติยืนยันว่าพวกเขาได้รับเอกสารแสดงเจตจำนงเข้าร่วมในอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธเคมีแล้ว ( Chemical Weapons Convention)

ในบทความปูตินระบุว่า กรณีซีเรียทำให้เขาต้องการพูดคุยกับประชาชนชาวอเมริกันและผู้นำทางการเมืองของสหรรัฐฯ โดยตรง ในช่วงเวลาที่รู้สึกว่าสังคมของสองประเทศสื่อสารกันไม่มากพอ

ปูตินกล่าวถึงการที่สหรัฐฯ กับรัสเซียอาจจะเคยเป็นศัตรูกันในช่วงสงครามเย็นแต่พวกเขาก็เคยเป็นพันธมิตรกันในช่วงที่โค่นล้มนาซี และหลังจากนั้นก็มีการจัดตั้งสหประชาชาติขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเช่นในยุคสมัยของนาซีอีก ฉะนั้นสหรัฐฯ ควรเคารพผลการลงมติเมื่อมีการโหวตคัดค้าน เนื่องจากผู้ก่อตั้งยูเอ็นได้กำหนดว่าการตัดสินใจทำสงครามต้องได้รับฉันทามติร่วมกัน ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่สร้างเสถียรภาพให้กับความสัมพันธ์ระหว่างชาติมาได้นานหลายทศวรรษ

ปธน.รัสเซียกล่าวอีกว่า การตัดสินใจใช้กำลังโจมตีซีเรียจะยิ่งทำให้มีเหยื่อผู้บริสุทธิ์ต้องรับเคราะห์เพิ่มมากขึ้นและเป็นการะดับสถานการณ์ให้บานปลายเป็นระดับความขัดย้งนอกเขตแดนซีเรีย อีกทั้งยังทำให้เกิดความรุนแรงและการก่อการร้ายเพิ่มมากขึ้น อันจะส่งผลเสียต่อความพยายามแก้ปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ในอิหร่านและความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ รวมถึงทำให้เสถียรภาพในแถบคะวันออกกลางและอเมริกาเหนือเสื่อมถอยลง

"โลกจะตอบสนองโดยถามว่า ถ้าคุณไม่สามารถพึ่งพิงกฏหมายนานาชาติได้ คุณคงต้องหาทางรักษาความมั่นคงด้วยตนเอง ทำให้มีประเทศที่สั่งสมอาวุธนิวเคลียร์เพิ่มมากขึ้น เป็นเรื่องของตรรกะว่าถ้าคุณมีระเบิดพวกนั้นก็จะไม่แตกต้องคุณ" ปูตินกล่าว

ปูตินมองว่าความขัดแย้งโดยการใช้กำลังอาวุธระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้าน ในซีเรียเป็นเรื่องความขัดแย้งทางศาสนามากกว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยสหรัฐฯ เองก็เคยระบุว่ากลุ่มติดอาวุธที่มีส่วนในการสู้รบสงครามกลางเมืองซีเรียจัดอยู่ในข่ายกลุ่มก่อการร้าย และความขัดแย้งภายในนี้ก็ถูกเติมเชื้อไฟโดยการที่ต่างชาติสนับสนุนอาวุธให้กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล

"มีนักรบรับจ้างจากประเทศอาหรับต่อสู้อยู่ที่นั่น อีกหลายร้อยมาจากประเทศตะวันตกและแม้แต่รัสเซีย เรื่องนีเป็นที่น่ากังวลมาก" ปูตินกล่าว "พวกเขาจะกลับมาที่ประเทศเราพร้อมประสบการณ์การรบที่ได้จากซีเรียหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หลังจากการต่อสู้ในลิเบียแล้ว กลุ่มหัวรุนแรงก็ไปต่อที่ประเทศมาลี ซึ่งเรื่องนี้เป็นภัยต่อพวกเราทุกคน"

ปธน.รัสเซียยืนยันว่า ทางการรัสเซียไม่ได้ต้องการปกป้องรัฐบาลซีเรียแต่ต้องการปกป้องกฏหมายนานาชาติโดยการที่พวกเขาพยายามสนับสนุนการแก้ปัญหาด้วยการเจรจาอย่างสันติ ซึ่งจะป้องกันไม่ให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเข้าสู่ภาวะโกลาหล

ในเรื่องอาวุธเคมี ปูตินเชื่อว่ามีการใช้แก๊สพิษจริง แต่เขาคิดว่ามาจากฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเพื่อกระตุ้นให้มีการแทรกแซงจากประเทศที่สนับสนุนพวกเขาอยู่ รวมถึงรายงานเรื่องที่กลุ่มติดอาวุธพยายามวางแผนโจมตีอิสราเอลก็ไม่อาจมองข้ามไปได้

ปูตินกล่าวอีกว่าหากสหรัฐฯ ยังคงพยายามแทรกแซงความขัดแย้งในประเทศต่างๆ อยู่เช่นนี้ คนทั่วโลกจะมองว่าสหรัฐฯ เป็นผู้ชอบใช้กำลังภายใต้คำขวัญ "ถ้าคุณไม่เป็นพวกเราก็เป้นศัตรู" มากกว่าจะถูกมองว่าเป็นแบบอย่างด้านประชาธิปไตย อีกทั้ประเทศที่สหรัฐฯ เคยแทรกแซงทางทหารเช่นอิรัก และอัฟกานิสถาน ก็ดูเหมือนว่าสถานการณ์จะไม่ได้ดีขึ้น ในอิรักเองก็ยังมีสงครามกลางเมือง มีผู้คนถูกสังหารทุกวัน

"พวกเราควรหยุดใช้การแสดงออกด้วยกำลัง แล้วหันกลับมาใช้วิธีการทางการทูตแบบอารยะ และการวางรากฐานทางการเมือง" ปูตินกล่าว

อย่างไรก็ตามในบทความของนิวยอร์กไทม์ ปูตินก็บอกว่าดูเหมือนปธน. โอบาม่า มีท่าทีจะหันมาใช้วิธีอื่นแทนการใช้กำลังทหาร และยินดีที่จะมีการเจรจาหารือกับรัสเซียในกรณีเรื่องซีเรีย

"หากพวกเราหลีกเลี่ยงการใช้กำลังกับซีเรียได้ ก็จะเป็นการทำให้บรรยากาศของนานาชาติดีขึ้น และทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันมากขึ้น มันจะถือเป็นความสำเร็จร่วมกันและเปิดประตูไปสู่ความร่วมมือในประเด็นสำคัญอื่นๆ" ปูตินกล่าว


เรียบเรียงจาก
A Plea for Caution From Russia, Vladimir V. Putin, New York Times (OP-ED), 11-09-2013

Syria crisis: 'Hope for peace' as US-Russia talks begin, BBC, 12-09-2013

Russia urges Syria hand over chemical weapons to intl control to avoid strike, RT, 10-09-2013
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net