กฎหมายยังไม่ได้ใช้ ทำไมรัฐเสนอร่างกฎหมายยุบเลิก กอช.

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

แม้นว่าขณะนี้มีร่างกฎหมายหลายเรื่องที่รัฐบาลเห็นว่าสำคัญเร่งด่วนกว่าในสายตาของพรรคการเมืองที่ถือเสียงข้างมากอยู่ในสภาฯ อาทิ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ศ.... ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านๆ จนทำให้ร่างกฎหมายหลายฉบับที่สำคัญกับปากท้องประชาชนถูกละเลยไม่มีการติดตามบังคับใช้เพื่อประโยชน์ของประชาชน อย่างเช่น พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 (กอช.)

นับเป็นเวลากว่าสองปี หลังจากเปลี่ยนรัฐบาลจากพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นพรรคเพื่อไทยภายใต้ความรับผิดชอบของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ไม่ยอมดำเนินเปิดรับสมัครสมาชิก แม้นหลายกลุ่มของภาคประชาชนที่จะได้รับประโยชน์ทั้งโดยตรง และโดยอ้อมจะออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เปิดรับสมัครสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อสร้างหลักประกันให้กับประชาชนในยามชราภาพอีกทางเลือกหนึ่งอย่างมีศักดิ์ศรี

ที่ผ่านมา นายกิตติรัตน์ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพยายามอ้างในการไม่บังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ก็คือ การอ้างว่ากลัวความซ้ำซ้อนในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบ กลัวรัฐบาลเสียเงินซ้ำซ้อน และที่สำคัญคือขอศึกษาเพื่อเสนอแก้ไขกฎหมายในบางมาตรา กระทั่งในกลางปี 2555 นายกิตติรัตน์ รมว.กระทรวงการคลัง ก็พยายามหาทางออกให้กับตัวเอง และรัฐบาล โดยการผลักดันและตกลงกันระหว่างกระทรวงที่พรรคเพื่อไทยดูแลอยู่คือ กระทรวงการคลัง และกระทรวงแรงงาน ให้โอนกองทุนการออมแห่งชาติ มาอยู่กับ กองทุนประกันสังคม มาตรา 40 แต่ก็ยังดำเนินการอย่างใจชอบไม่ได้ถนัดนัก เนื่องจากทางสำนักงานประกันสังคม ก็มิได้ยินดีที่จะได้รับมรดกที่ตนเองไม่ได้สร้างขึ้น เพียงแต่ขัดฝ่ายการเมืองไม่ได้เท่านั้น

หลังจากที่เครือข่ายบำนาญภาคประชาชน (คบช.) เครือข่ายผู้สูงอายุแห่งชาติ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการแรงงาน และสวัสดิการสังคม รวมถึงเครือข่ายวุฒิสมาชิก (สว.) ได้ขับเคลื่อนตั้งคำถาม และพยายามอธิบายให้เห็นว่า กองทุนการออมแห่งชาติ สมาชิกที่สมัครไม่ใช่แค่กลุ่มแรงงานนอกระบบ แต่เป็นกลุ่มประชาชนทั้งประเทศที่มีอายุ 15 – 60 ปี เป็นกองทุนแบบสมัครใจออม ไม่บังคับรัฐจ่ายสมทบร่วมกับประชาชนที่เป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เน้นศักดิ์ศรีการออมมากกว่าจะเป็นการพึ่งรัฐบาลฝ่ายเดียวเมื่อยามชราภาพ อีกทั้งกฎหมายฉบับนี้ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการทำงานบริหาร และเปิดการออมเลย ยังไม่เห็นปัญหา และประเมินความสำเร็จในเบื้องต้นได้ แต่กลับกลายมาออกร่างกฎหมายยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

สถานการณ์ล่าสุดภาคประชาชนได้รวมตัวกันยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2556 โดยร้องว่า "นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง (สศค.) ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ทำให้ประชาชนเสียหายในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ ส่งเสริมความชราภาพ" ซึ่งการขับเคลื่อนครั้งนี้ของภาคประชาชน ประเมินอาจส่งผลให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องปัดปัญหาที่ตนเอง และพรรคเพื่อไทยพยายามสร้างขึ้นมาโดยตลอด เพื่อให้ตนเองพ้นผิด โดยใช้จังหวะที่การเมืองไม่ปกติ เสนอให้มีการออกร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ ทั้งนี้จะมีการนำเข้าเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบก่อนนำเข้าสภาผู้แทนราษฎรที่รัฐบาลมีเสียงข้างมากร่วมกันยกมือผ่านกฎหมายยกเลิก กอช.เพื่อให้ตนเองพ้นผิด

นักวิชาการแรงงานมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ ที่ออกมาตั้งคำถามอย่างน่าสนใจว่า ความจำในการยุบเลิก กอช.เป็นความจำเป็นของใคร ในการเสนอร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ เมื่อบ่ายวันที่ 16 สิงหาคม 2556 ได้รับหนังสือด่วนที่ กค1007/ว2817 จากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเรื่องขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติพ.ศ....โดยได้ระบุเหตุผลความจำเป็นในการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า “เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2556 อนุมัติหลักการของร่างพระราชกำหนดหลักเกณฑ์ และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของผลประโยชน์ ทดแทนตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกันตน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่เสนอโดยกระทรวงแรงงาน ซึ่งมีสาระสำคัญในการเพิ่มรูปแบบความคุ้มครองประกันสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบ ภายใต้มาตรา 40 ของกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม โดยนำหลักเกณฑ์ของ กอช.มาปรับใช้ โดยเฉพาะการกำหนดประโยชน์ทดแทนในรูปบำนาญชราภาพสำหรับผู้ที่ส่งเงินออมตามระยะเวลาที่กำหนด (หากส่งเงินออมน้อยกว่าระยะเวลาที่กำหนดจะได้รับเป็นบำเหน็จชราภาพ) และการให้เงินสมทบจากรัฐ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของ กอช. จะสามารถสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนและเลือกรูปแบบความคุ้มครองในลักษณะเดียวกันได้ ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงเห็นควรเสนอร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. .... เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงานและเป็นการลดภาระงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงานของกองทุน”

แต่นักวิชาการและภาคประชาชนมองว่า กฎหมาย กอช.แตกต่างกับประกันสังคม มาตรา 40 คือ กฎหมาย กอช.กำหนดให้จ่ายเงินสะสมขั้นต่ำ 50 บาท, อัตราเงินสะสมอาจเปลี่ยนแปลงโดยคำนึงสภาวะเศรษฐกิจ และจะพิจารณาทบทวนการจ่ายเงินสมทบของรัฐบาลทุก 5 ปีได้ ขณะที่อัตราเงินสมทบตามมาตรา 40 ขึ้นกับนโยบายรัฐบาล และอาจมีอัตราแน่นอนตลอดไป, รัฐบาลจะค้ำประกันผลตอบแทนการนำเงินสะสมและเงินสมทบไปลงทุนไม่น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 12 เดือนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ใหญ่ 5 แห่งและค้ำประกันอัตราบำนาญขั้นต่ำที่จะได้รับด้วย รวมทั้งผู้จัดการ กอช.ไม่ใช่ข้าราชการประจำ แต่มาจากคณะกรรมการ กอช. คัดเลือกสรรหาบุคคลที่เป็นนักบริหารสุจริตมืออาชีพมาทำงานประจำ

และที่สำคัญ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กิตติรัตน์ ณ ระนอง ได้เคยชี้แจงเมื่อปลายปี 2555 ว่าจะปรับปรุงกฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ให้ดีขึ้น พอมาต้นปี 2556 บอกว่าจะบูรณาการ กอช.กับประกันสังคมมาตรา 40 โดยบัญชาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์) เร่งเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้เห็นชอบรูปแบบการขยายความคุ้มครองประกันสังคมเป็นทางเลือกที่ 3 ของมาตรา 40 อ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงานและลดภาระงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงานของ กอช. เพราะกลุ่มเป้าหมายของ กอช.คือกลุ่มเดียวกับผู้สมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้ เป็นสวัสดิการชราภาพเหมือนกันและรัฐบาลจ่ายเงินสมทบเช่นเดียวกัน

ข้อเสนอของเครือข่ายบำนาญภาคประชาชน (คบช.) 4 เหตุผลหลักต่อการไม่เห็นด้วยกับการยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจงใจไม่กล่าวถึง หรือมองว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ มีดังนี้

หนึ่ง: การขยายความคุ้มครองประกันสังคมมาตรา 40 ทางเลือก 3 ตามกฎหมายประกันสังคม เป็นสิทธิของกระทรวงแรงงานที่จะดำเนินการอยู่แล้ว แม้ว่าไม่มี พ.ร.บ.กอช. และถือเป็นทางเลือกของประชาชน

พระราชบัญญัติที่ผ่านกระบวนการพิจารณาโดยถูกต้องชอบธรรมของสมาชิกรัฐสภาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วโดยกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 ไม่ใช่กฎหมายของรัฐมนตรี หรือรัฐบาลชุดใดที่จะเพิกเฉยละเลยหน้าที่ที่จะดำเนินการหรือไม่ก็ได้

สอง: กฎหมายประกันสังคมมาตรา 40 และกฎหมาย กอช.มีเจตนารมณ์กฎหมายแตกต่างกัน เพราะกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมเป็นเรื่องการจัดสวัสดิการเสริมการสังคมเพื่อคนทำงานเป็นสำคัญต่อยอดเชื่อมเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน และกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานที่มีมาก่อนแล้ว ขณะที่กฎหมาย กอช.มีเจตนารมณ์สร้างหลักประกันชราภาพโดยตรง สอดคล้องกับการสร้างวินัยการออมแบบมีส่วนร่วมจ่ายเงินสะสมของประชาชน และแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐธรรมนูญ มาตรา 84(4) ที่ระบุให้รัฐจัดให้มีการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราแก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างทั่วถึง

สาม: กลุ่มเป้าหมายสมาชิก กอช.จะมีฐานสมาชิกกว้างขวางกว่าผู้สมัครเป็นสมาชิกตามมาตรา 40 กฎหมายประกันสังคม กล่าวคือ กฎหมายประกันสังคมมีข้อจำกัดยกเว้น ลูกจ้างจำนวนมาก แตกต่างจากกฎหมาย กอช.ที่ระบุผู้มีสิทธิสมัครสมาชิก กอช.ได้คือไม่เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ซึ่งส่งเงินเพื่อได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ หมายความว่าบุคคลที่เป็นลูกจ้างที่กฎหมายประกันสังคมยกเว้นการคุ้มครองไว้ เช่น ลูกจ้างทำงานบ้าน, ลูกจ้างในกิจการเพาะปลูก ป่าไม้ ประมงและเลี้ยงสัตว์ที่ไม่ถูกจ้างตลอดปี และไม่มีงานลักษณะอื่นร่วมอยู่ด้วย, นักเรียน นักศึกษาที่ทำงานเป็นลูกจ้างในโรงเรียน มหาวิทยาลัย สถานพยาบาล เป็นต้น หรือลูกจ้างในองค์การมหาชนและหน่วยงานรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่ไม่อาจเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคมเพราะพระราชบัญญัติจัดตั้งหน่วยงานยกเว้นไว้ ย่อมจะสมัครสมาชิก กอช.ได้

สี่: การให้แสดงความคิดเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่ กับการเสนอร่าง พ.ร.บ.ยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ ไม่มีข้อมูลว่า กระทรวงการคลังจัดส่งแบบสำรวจความคิดเห็นให้ผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากน้อยเพียงใด ถ้าผู้มีส่วนได้เสียส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการยุบเลิก กอช. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะพิจารณาตัวเอง และดำเนินงานตามกฎหมาย กอช.ต่อไปหรือไม่ หรือเป็นเพียงการสอบถามความคิดเห็น เพื่อสร้างความชอบธรรมในการพิจารณายุบเลิก กอช.ต่อไป การทำช่องทางถามความคิดเห็นลักษณะนี้ย่อมไม่เกิดประโยชน์ และไม่โปร่งใสในการขอประชามติจากภาคประชาชนที่รับประโยชน์จากการมีกฎหมายฉบับนี้ ดังนั้นควรจะมีเวทีและทำประชาพิจารณ์อย่างมีหลักธรรมาภิบาลมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

จากสถานการณ์และข้อเสนอทั้ง 4 เหตุผลของเครือข่ายบำนาญภาคประชาชน (คบช.) ที่เสนอต่อรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษ์ ชินวัตร และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ไตร่ตรองทบทวนและหยุดความคิดยุบเลิก พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ทั้งสองท่านต้องข้ามพ้นความคิดเรื่องการเป็นผลงานของพรรคการเมืองใดๆ แต่ต้องมองว่าประชาชนจะได้ประโยชน์มากมายแค่ไหนถ้าประชาชนในชาติได้อานิสงค์จากการทำงานแบบต่อเนื่องไร้รอยต่อดั่งสโลแกนของพรรคท่านที่ใช้หาเสียงมาโดยตลอด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท