HAP ถกทางออกสิทธิเด็ก-สตรี เบื้องหลังความรุนแรงชายแดนใต้

ถกทางออกสิทธิเด็ก-สตรี เบื้องหลังความรุนแรงชายแดนใต้ กลุ่มด้วยใจสะท้อนปัญหาสังคมชายแดนใต้น่าเป็นห่วง ความรุนแรงส่งผลให้ปัญหาอื่นยุ่งยากไปด้วย คนพุทธเผยการเลือกปฏิบัติจากรัฐไม่ได้มีแค่กับมุสลิม นักวิชาการแนะควรแยกแต่ละเรื่องแล้วค่อยแก้แบบเจาะลึก ทนายย้ำต้องเกาะติดปัญหาแล้วสร้างพลังต่อรอง ภาคประชาสังคมต้องร่วมมือกับสื่อ

 

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2556 ที่ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เครือข่ายส่งเสริมสิทธิและเข้าถึงความยุติธรรม (HAP) จัด ‘เวทีสานเสวนาส่งเสริมสิทธิสตรีและสิทธิเด็กท่ามกลางความขัดแย้งในปัจจุบัน’ ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย นักวิชาการ ภาคประชาสังคมและสื่อ

นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ จากกลุ่มด้วยใจและนักรณรงค์เพื่อหยุดการละเมิดสิทธิเด็กและสตรีในชายแดนใต้ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้จัดเวทีระดมความคิดเห็นประเด็นสิทธิสตรีและเด็ก 2 ครั้ง ได้ข้อสรุปว่า ปัญหาสังคมทั่วไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีมากมายอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ถูกสื่อสารออกมาให้สังคมภายนอกได้รับรู้ ซึ่งบางปัญหาเป็นเรื่องอ่อนไหวมากสำหรับพื้นที่ เช่น การละเมิดทางเพศซึ่งคนที่ตกเป็นเหยื่อจะไม่ร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ ทำให้สังคมส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ามีปัญหานี้อยู่ในพื้นที่ จึงทำให้ปัญหานี้ไม่ถูกแก้ไขไปด้วย

“ความรุนแรงทั้งจากสถานการณ์ไม่สงบและปัญหาในครอบครัวเอง ส่งผลให้เด็กชายแดนใต้มีสุขภาพจิตที่แย่ลง และมีพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการติดยาเสพติดและปัญหาอื่นๆ รวมทั้งการที่พ่อแม่ของเด็กตกเป็นเหยื่อในเหตุรุนแรง ก็ยิ่งทำให้เด็กตกอยู่ในภาวะขาดความอบอุ่นมากขึ้น” นางสาวอัญชนา กล่าว

นายสุทธิศักดิ์ ดือเระ หัวหน้าโครงการเสริมสร้างการตระหนักด้านกฎหมายแก่ชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอว่า การวิพากษ์ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ควรแยกปัญหาทั่วไปกับปัญหาที่เป็นปมความขัดแย้ง เพราะอาจจะทำให้หาปมไม่เจอ และอยากให้องค์กรที่ขับเคลื่อนประเด็นต่างๆลงลึกไปทีละเรื่อง

นายสุทธิศักดิ์ กล่าวว่า สาเหตุหลักของการละเมิดในพื้นที่ คือ ปัญหาการระบาดของยาเสพติด ปัญหาการขาดผู้นำที่ดีที่มีความมั่นใจในการนำท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง

นางสาวดวงสุดา สร้างอำไพ ตัวแทนภาคประชาสังคมไทยพุทธในจังหวัดปัตตานี สะท้อนว่า สุราคือต้นเหตุของปัญหาสังคมของกลุ่มคนไทยพุทธ ที่ส่งทอดวัฒนธรรมสู่ลูกหลาน ทำให้เด็กก้าวร้าวและสังคมใช้ความรุนแรง สังคมพุทธยังมีความยืดหยุ่นต่ออบายมุขมาก ทำให้เป็นปมปัญหาสำคัญไม่ถูกแก้ไข

นางสาวดวงสุดา ยังกล่าวอีกว่า ประสบการณ์จากการร่วมต่อสู้เพื่อสิทธิของคนไทยพุทธที่ถูกเลือกปฏิบัติโดยเจ้าหน้าที่รัฐยังมีเยอะ ไม่เพียงแต่คนมลายูที่ถูกเลือกปฏิบัติเท่านั้น ตัวอย่างหลายกรณีที่ตนได้รับข้อมูลมาว่า กรณีคนถูกฆ่าตัดคอแล้วเผาได้รับการช่วยเหลือเยียวยาเพียง 2 ราย แต่ข้อมูลที่ตนได้รับมามีมากกว่านั้น และเคยยื่นต่อหน่วยงานรัฐเพื่อให้ดูแลกรณีนี้ด้วย แต่กลับถูกปฏิเสธโดยเหตุผลที่ว่า หมดเวลายื่นเรื่องแล้ว ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้านที่ยังเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมหรือกระบวนการเรียกร้องสิทธิ

“ที่ผ่านมาพบเห็นการถูกเลือกปฏิบัติอย่างนี้เยอะมาก จึงเดินหน้าเรียกร้องจากหน่วยงานรัฐ เพียงเพื่อจะให้รับเรื่องตรวจสอบและช่วยเหลือเยียวยาต่อไป แต่บางกรณีกลับถูกเพิกเฉยหลังจากที่ไปร้องเรียนว่าตกสำรวจ ซึ่งทำให้เสียความรู้สึกมาก เพราะตกเป็นเหยื่อในกรณีเดียวกัน แต่คนที่ได้รับความช่วยเหลือมีเพียงบางคนเท่านั้น จึงต้องทำงานเป็นเครือข่ายกับองค์กรอื่นๆ เพื่อทำให้มีพลังมากขึ้นและเพื่อให้รัฐรับฟังมากขึ้น” นางสาวดวงสุดา กล่าว

นางสาวปรีดา นาคผิว ทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เสนอว่า แต่ละองค์กรที่ทำงานขับเคลื่อนในแต่ละประเด็น ถ้าเจาะลึกลงไปในประเด็นนั้นๆอย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดพลังในการขับเคลื่อน กรณีการละเมิดสิทธิประชาชนที่ไม่เป็นที่รับรู้ของสังคม หรือไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐหลังจากร้องเรียน ต้องมีวิธีผลักดันให้กลไกของรัฐทำงาน ซึ่งภาคประชาสังคมอาจจะต้องช่วยสะท้อนปัญหาขึ้นไป และบางกรณีที่ถูกเลือกปฏิบัติจากการทำงานของภาครัฐ อาจจะต้องช่วยเป็นรายกรณีไปก่อน แล้วมาร่วมกันขับเคลื่อนในภาพรวม ที่อาจจะต้องมาสะท้อนเรื่องปัญหาเชิงนโยบายว่าทำไมถึงยังมีผู้ที่ถูกลิดรอนสิทธิ

“การเจาะลึกในประเด็นปัญหาของแต่ละกรณี จะสามารถทำให้เกิดความช่วยเหลือแก่กรณีนั้นให้เป็นตัวอย่างได้ ซึ่งต้องช่วยเป็นรายกรณีก่อน แล้วจะมีเป็นรายงานที่ถูกบันทึกเป็นสถิติต่อไป” นางสาวปรีดา กล่าว

นายแวหามะ แวกือจิก ผู้อำนวยการสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน หรือ มีเดียสลาตัน สื่อวิทยุในชายแดนใต้ กล่าวว่า ปัญหาของสื่อที่ยังไม่สามารถขับเคลื่อนประเด็นต่างๆในพื้นที่ได้ เนื่องจากบุคคลกรที่มีทักษะที่จำกัด บางประเด็นเป็นเรื่องยากที่ต้องทำความเข้าใจ แต่พยายามส่งนักจัดรายการของสถานีไปร่วมอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ประเด็นเหล่านี้ด้วย

“ในช่วงหลังๆ มานี้ ทางสถานีมีรายการเกี่ยวกับสตรีและเด็ก โดยมีนักจัดรายการที่เป็นผู้หญิงที่จะรับฟังปัญหาที่เกี่ยวกับเด็กและสตรีโดยเฉพาะ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประเด็นผู้หญิงขึ้นในสังคมมลายู” นายแวหามะ กล่าว

“สื่อเองยังมองไม่เห็นว่าองค์กรไหนสามารถรับเรื่องร้องเรียนในประเด็นต่างๆอย่างไรบ้าง ซึ่งมองว่า องค์กรที่ทำงานเรื่องผู้หญิงเอง ยังไม่ผนึกกำลังเป็นเสียงเดียวกัน ซึ่งการส่งต่อประเด็นที่ได้รับจากผู้ฟังจึงค่อนข้างยาก เนื่องจากองค์กรที่ขับเคลื่อนประเด็นต่างๆในพื้นที่ยังต่างคนต่างทำ” ผู้อำนวยการมีเดียสลาตัน กล่าว

นายแวหามะ เสนอว่า ทางสถานียินดีที่จะให้องค์กรภาคประชาสังคมเข้ามาใช้เวลาของสถานีเพื่อมานำเสนอประเด็นสังคม ซึ่งในโอกาสต่อไปอาจจะได้รับความร่วมมือที่ดี

สำหรับข้อสรุปจากเวทีวันนี้ เน้นการเรียกร้องภาคประชาสังคมที่ต้องทำงานขับเคลื่อนประเด็นที่ประชาชนยังไม่เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม สิทธิที่พึงได้ และองคืกรที่ทำงานลักษณะเดียวกันควรทำงานเชื่อมโยงกัน และทำให้เห็นตัวตนว่าใครทำอะไรบ้าง เพื่อให้เห็นว่าเมื่อมีประเด็นปัญหาใหม่ๆ ต้องส่งต่อให้ใครบ้าง ส่วนสื่อก็พร้อมจะเป็นกระบอกเสียง ร่วมขับเคลื่อนต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท