Skip to main content
sharethis

รายงานเสวนาของกลุ่มคนทำสื่อภาคประชาชนคุยเรื่องสันติภาพ แนวทางและความหวังของประชาชนสามจังหวัดชายแดนใต้

“เรารู้สึกว่าเราออกมาช้าเกินไป แต่ก็ยังดีที่ออกมา ดีกว่าไม่ได้ออกมาเลย ซึ่งเราก็ได้ตั้งคำถามแก่ตนเองว่า แล้วทำไมเราจึงออกมาในปี 50 ตรงนี้เราคิดว่าเป็นสิ่งที่สมควรเป็นบทเรียนร่วมกันของภาคประชาสังคมว่า นักศึกษาทำไมถึงต้องออกมาปี 50 ก่อนหน้านั้นทำไมไม่ออกมา ผมกับเพื่อนๆส่วนใหญ่มีภูมิหลังเป็นนักกิจกรรมช่วงที่เป็นนักศึกษา มหาลัยรามคำแหงฯที่กรุงเทพ ทั้งที่รามคำแหงฯมีหลากหลายอุดมการณ์ทางการเมือง มีทั้งสังคมนิยม ทุนนิยม วัตถุนิยม ชาตินิยม ชาตินิยมเสรี ชาตินิยมอนุรักษ์ มีหลากหลายและก็มีการเมืองของนักวิชาการ”

 

เป็นคำกล่าวของ ตูแวดานียา ตูแวแมแง ผอ.สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LAMPAR) กล่าวทิ้งไว้ในงานเขียน เรื่อง “ปริศนาในวงสันติภาพ ใคร ทำอะไร ยังไง?”  (ตอนที่หนึ่ง) ก่อนจะนำเสนอ การเสวนาในตอนที่สองซึ่ง ตูแวดานียา อธิบายต่อว่า พวกเราที่เป็นนักศึกษาก็ได้เรียนรู้จากเบ้าหลอมเหล่านั้น ไม่ใช่แค่เพียงในห้องเรียนเท่านั้น

“ช่วงที่ผมอยู่ที่รามคำแหงฯก่อนปี 50 ใกล้วันที่ชุมนุมหน้ามัสยิดกลางปัตตานี ในขณะนั้นผมได้มีบทบาทรับหน้าที่เป็นตัวแทนของกลุ่มนักศึกษามาลายูที่อยู่ในรามคำแหงฯภายใต้ชื่อ กลุ่ม PNYS หรือเรียกอีกอย่างว่า กลุ่มนิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมยังได้รับเกียรติจากเพื่อนๆให้เข้ารับสมัครรองนายกองค์การนักศึกษาคนที่ 1 ของมหาวิทยาลัยรามคำแหงฯร่วมกับพรรคสานแสงทองแล้วก็ชนะในการเลือกตั้งครั้งนั้น จนได้รับตำแห่งเป็นรองนายกฯคนที่ 1”

จากนักศึกษา เด็กค่าย จนมาถึงปัญญาชนปาตานี

ตูแวดานียา เล่าต่อว่า ช่วงนั้นหากจำกันได้ว่าในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนของเรานั้นเกิดเหตุการณ์มากมายที่ส่งผลกระทบไม่ยังพี่น้องประชาชน เช่นในแง่การละเมิดสิทธิมนุษยชน การซ้อมทรมาน การอุ้มหายผู้บริสุทธิ์ จึงทำให้เหล่านักศึกษาที่เป็นคนในพื้นที่ดังเดิมแต่เพียงมาร่ำเรียนที่กรุงเทพเพียงเท่านั้น เริ่มให้ความสนใจกับบทบาทของตนที่ทำได้มากกว่าการจัดค่อยอบรมจริยธรรม

“ช่วง 3 ปีก่อนการชุมนุมพวกผมอยู่ในความอึดอัดใจที่ได้รับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับเหตุการณ์ความสูญเสียของพี่น้องตากใบ กรือเซะ และอีกหลายๆเหตุการณ์ที่พี่น้องในพื้นที่ได้รับความสูญเสีย แต่เราเองที่เป็นปัญญาชนที่อยู่ส่วนกลาง (กรุงเทพฯ) ไม่มีบทบาทเลย เพราะส่วนหนึ่งเราคิดไม่ตกหรือไม่ตกผลึกว่าจะมีบทบาทอย่างไร เพราะยังกังวลกับข้อกล่าวหาว่าพวกเรามีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางการเมืองของขบวนการ ภาครัฐมองเราอย่างนั้น”

“แต่พอเข้ามาปี 50 พวกเราคิดย้อนกลับไปในช่วง 49 - 50 คล้ายกับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเยอะมาก ทำให้เรากดดันและทำให้เราคิดว่ายังไงๆก็ต้องออกมา จะพบเจออะไรก็ชั่งมัน จิตใจคิดอย่างนั้น เพราะภาพที่ตากใบยังคงติดตา      ก็ยังกล้าๆกลัวๆอยู่ ไม่มีอะไรที่เป็นหลักประกันได้ว่า การออกมาชุมนุมของพวกเราในช่วงนั้นจะไม่เป็นเหมือนกรณีตากใบแต่ความกดดันที่ทนเห็นความสูญเสียในช่วงนั้นเรารับไม่ได้ จึงทำให้นักศึกษามีการร่วมตัวกันเป็นเครือข่ายนักศึกษาเพื่อ  พิทักษ์ประชาชน ล้อกับชื่อสมัยปี 2518 ที่มีการชุมนุมหน้ามัสยิดกลางเช่นเดียวกัน จาก ปี 2518 ถึง ปี 2550 ผ่านมาแล้ว 32 ปี เราพยายามจะเชื่อมปรากฏการณ์ในอดีตกับปรากฏการณ์ปัจจุบันว่ายังคงเหมือนเดิมที่ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายส่วนกลาง”

 

“Bicara” เชื่อมชาวบ้าน เชื่อมกระแส

ตูแวดานียา ยังเล่าต่อว่า พวกเราก็ได้ข้อสรุปว่าการที่จะมีพื้นที่ทางการเมืองในการสร้างสันติภาพ ถ้าตอบในแนวนักศึกษา คือถ้ามีวาระร่วมของภาคประชาสังคมและทุกภาคส่วนแม้กระทั้งภาครัฐเองไม่มีพื้นที่ตรงกลางที่จะมาสร้างวาระร่วมในการขับเคลื่อนที่มีจุดร่วมอยู่ที่คำว่าสันติภาพ โอกาสที่จะเกิดสันติภาพนั้นยากมาก

“เราถอดบทเรียนได้ชัดเจนว่า นักศึกษาเราไม่ใช่ว่าไม่ทำงานเพื่อสันติภาพก่อนปี 50 เราทำงานเหมือนกัน แต่เราทำงานในประเด็นของเรา เรากลัวว่าภาษา และอัตลักษณ์ของเราจะถูกกลืนไป ความเป็นประวัติศาสตร์ปาตานีตามแบบมุสลิม ทั้งหมดที่เราทำนั้นเป็นประเด็นในการสร้างจิตสำนึก เพื่อรวมตัวและรวมกลุ่ม เพื่อเป้าหมายของเราเท่านั้น”         

ตูแวดานียา ยังมองว่า กระบวนการสสร้างสันติภาพ ต้องมีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลที่เป็นจริงมากที่สุด

“ ต้องมองว่า สันติภาพในมุมมองของประชาชนจริงๆต้องการอย่างไร การเปิดพื้นที่ Bicara ของกลุ่ม LEMPAR เป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะอีกรูปแบบหนึ่งที่ลงพื้นที่ชุมชนจริงๆเพื่อรับทราบความต้องการของชาวบ้านจริงๆ และมีการขยายพื้นที่สาธารณะเพื่อการทูตในรูปแบบใหม่ กับ นักศึกษาไทยมลายู ที่ศึกษาในต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อสันติภาพที่จะก่อเกิดในอนาคตต่อไป” นักกิจกรรมคนรุ่นใหม่ กล่าวทิ้งไว้

 

เราเห็นอะไรในกระบวนการสันติภาพ......

ยังมีวิทยากรอีกท่านหนึ่งที่มาแลกเปลี่ยนสะท้อนความคิดเห็นมุมมอง มูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโสศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ( DSJ )  เขามองเห็นภาพในมิติใดบ้างในขบวนการสันติภาพที่ทุกคนกำลังขับเคลื่อนกันอยู่ ?

มูฮำมัดอายุบ ปาทาน  กล่าวว่า มาวันนี้ก็จะพูดแค่เรื่องเดียวที่เกี่ยวข้องในการสร้างขบวนการสันติภาพ  ผมคิดว่าหากพูดถึงขบวนการสันติภาพ ในมุมมองของผม ต้องมีการเทียบคน เทียบงาน และเทียบเครือข่ายร่วมกัน นำไปสู่ขบวนการสันติภาพ  สิ่งนี้เป็นภารกิจใหญ่ที่ทุกฝ่ายจะต้องทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจกัน

“โจทย์ในการตั้งคำถามหัวข้อจากปาตานี ถึงสันติภาพ ใคร ? ทำไร ? ยังไร ? อยู่ที่ว่า Process นั้นดีหรือไหม  เราทุกคนที่ขับเคลื่อนในประเด็นสันติภาพก็จะไม่ถูกตั้งคำถาม ซึ่งที่เป็นประเด็นที่สำคัญ ขบวนการสันติภาพก็เช่นกัน สำหรับผมนั้นหากว่า Process นั้นดีหรือเรามีขบวนการที่ดีในการจัดการอย่างดี เราไม่กลับไปถูกตั้งคำถามแบบเดิม เราจะตั้งคำถามใหม่ได้ด้วย ถัดไปเมื่อเรามี Process ที่ดีในขบวนการทำงาน เราจะไม่กลับไปตั้งคำถามเดิม แต่จะมีคำถามใหม่เกิดขึ้น เพื่อจะเดินไปข้างหน้า เพราะอะไรที่คิดอย่างนี้ ก็เพราะเราทำงานมากับมือของเราเอง  ทำไมทุกคนต้องปรับ จากเดิมเราทำอย่างนั้น แต่เมื่อขบวนการในการทำงานเราดี สิ่งที่วางไว้ก็จะดีตามไปด้วย”

มูฮำมัดอายุบ ปาทาน  กล่าวอีกว่ากระบวนการสร้างสันติภาพของแต่ละองค์กร ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม หรือแม้กระทั่งสื่อ ก็ต้องมีการจัดการที่ดีในกระบวนการทำงาน ในทุกๆด้าน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนงานสันติภาพ  ซึ่งตนมองว่าในระยะเวลา 3 ปีให้หลังมานี้ องค์กรต่างๆเริ่มโตขึ้น และเชื่อว่าสันติภาพย่อมเกิดขึ้นหากทุกองค์กรมีการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างกัน          

บทสรุปของเสวนา ว่าด้วยเรื่องปริศนาสันติภาพปาตานี จากคนทำงานขับเคลื่อนสันติภาพ ที่จับได้คือ ทุกการงาน ทุกกระบวนการ ต้องมีการเชื่อโยงกัน ทั้งองค์กร คนทำงาน และสังคมรอบข้าง การขับเคลื่อนไปพร้อมกัน เพื่อก่อเกิดสันติภาพร่วมกันที่ทุกคนทุกฝ่ายวาดฝันไว้ในสังคมแห่งนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net