Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อุบัติการณ์ทำลายล้างหนังสือไทยจำนวนมหาศาลที่ตกค้างอยู่ในจีน ทั้งหนังสือที่เขียนโดยนักเขียนไทยหรือหนังสือที่แปลจากภาษาจีนเป็นภาษาไทยจำนวนไม่น้อย ซึ่งพิมพ์โดยรัฐบาลจีนในเวลานั้น ด้วยการจุดไฟเผาเสียเกือบทั้งหมด จากความ "รู้เท่าไม่ถึงการณ์" ของผู้บงการบางกลุ่ม และโดยเฉพาะเพื่อลดความเสี่ยงอันอาจจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ที่สะท้อนจากแนวคิดในผลงานประพันธ์บางเล่ม ทั้งด้านความคิดและทฤษฎีทางการเมืองอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ ก็เพื่อเจตนาดีคือลดผลกระทบด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศลงให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้จนไม่เหลือหลักฐาน "ความอ่อนไหว" ใดๆ ให้ปรากฏอยู่เลย โดยเฉพาะในหนังสือซึ่งเป็นสื่อถาวรและกลบเกลื่อนไม่ได้ และเพื่อสืบสานเพิ่มพูนความรู้และความเข้าใจที่ดีอันจะส่งผลต่อความสัมพันธ์อันกระชับแน่นแฟ้นสืบต่อไปในอนาคตนั่นเอง!

ดังนั้น หลักฐานบางอย่างจึงอาจต้องทำลายเสียให้สิ้นซาก เพื่อมิให้หลงเหลือ "หลักฐาน"

วัตถุประสงค์สำคัญก็เพื่อดำรงความสัมพันธ์ไทย-จีนที่มีมายืนยาวให้ยืนยงอยู่ต่อไปอย่างราบรื่นไร้ปัญหาใดๆ จึงขจัดสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์ที่อาจเคยมีความบาดหมางหรือหนทางที่แตกต่างนั้นให้สิ้นเชิง และสืบสานความสัมพันธ์ทั้งภาครัฐและประชาชนให้เจริญงอกงามสืบต่อไปชั่วกาลนาน

นับเป็นเรื่องน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เพราะท่ามกลางกองเพลิงแห่งอักษรไทยประมาณค่ามิได้ ทั้งที่ประพันธ์โดยนักเขียนไทยและผลงานแปลจากภาษาจีนเป็นไทยนั้นได้แฝงไว้ด้วย "มรดกทางปัญญา" อันทรงคุณค่าไว้จำนวนไม่น้อย อันเป็นผลงานร่วมกันของทั้งนักเขียนนักแปลไทยและจีนที่อยู่เบื้องหลังการร่วมบุกเบิกกรุยทางความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน โดยสื่อหนังสือซึ่งเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ส่งผลให้พัฒนาถาวรมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม หนังสือเหล่านั้นไม่อาจจะเผาได้หมด ดังที่เคยมีผู้กล่าวว่า สำหรับหนังสือนั้น "ยิ่งเผาก็ยิ่งยัง" ไม่ว่าจะปรากฏขึ้น ณ ซอกมุมใดของโลกและชาติภาษาใด เพราะมักจะปรากฏว่าพลังของหนังสือที่ถูกพิจารณาให้ "กำจัด" ให้หมดสิ้นไปในประวัติศาสตร์นั้นมักจะก่อปาฏิหาริย์ได้อย่างน่าอัศจรรย์เสมอ

เฉกเช่นหนังสือในจีนนั้นก็เช่นกัน เพราะปรากฏว่าบัดนี้ก็ยังมีหนังสือเหล่านั้นเหลือตกค้างต่อมาอีกจำนวนไม่น้อย กลายเป็นหลักฐานสำคัญและทรงค่าให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์สัมพันธ์ไทย-จีนต่อไป

หนังสือดังกล่าวนั้นมีทั้งหนังสือเกี่ยวกับวรรณกรรมปัจจุบันของจีน ไทย วรรณคดี

หนังสือเกี่ยวกับการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และสังคมต่างๆ ที่ล้วนแปลเป็นภาษาไทยแล้วทั้งสิ้น โดยบุคลากรทั้งชาวจีนและชาวไทยที่ทำงานกันอย่างเงียบๆ อยู่เบื้องหลังบนพื้นฐานอุดมการณ์ส่วนตัวกลุ่มหนึ่งในเวลานั้น

เมื่อสอบถามผู้อยู่ในเหตุการณ์เกี่ยวกับกรณีเพลิงไหม้ทางประวัติศาสตร์ครั้งนี้ผู้หนึ่ง ซึ่งแม้แต่หนังสือผลงานของเขาบางเล่มก็ถูกเผาไปด้วยนั้น ได้คำตอบที่น่าเศร้าใจว่า

"เขาเอาไปเผาหมด ทั้งหนังสือแนวคิดและทฤษฎีทางการเมือง แต่ที่น่าเสียใจคือหนังสือเกี่ยวกับวรรณคดี นิทานพื้นบ้านหรือสุภาษิตอะไรต่างๆ ซึ่งไม่น่าจะเอาไปเผา เขาก็เอาไปเผาหมด แม้กระทั่งต้นฉบับใหม่ๆ ที่ทำเสร็จแล้วและกำลังจะรอพิมพ์ของผมก็ถูกเอาไปเผา เมื่อลองไปสอบถามดู ได้คำตอบว่า ที่เป็นเช่นนั้น

"เพราะคนเผาไม่รู้ภาษาไทยครับ!"

นับเป็น "ตลกร้าย" ที่ยิ้มไม่ออก


พล.ต.มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมท ครั้งสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-จีนอย่างเป็นทางการ
และสัมผัสมือประธานฯเหมา เจ๋อตงครั้งแรก
(เมื่อกลับไทยมา ได้เขียนบทความเรื่องการเข้าพบและสนทนากับเหมา เจ๋อตงว่า ไม่ "น่ากลัว"ดังคำร่ำลือ)

นิตยสารภาพจีน

ณ สำนักงาน "นิตยสารภาพจีน" ของกรมการพิมพ์ภาษาต่างประเทศแห่งชาติจีนในปี พ.ศ.2540 นั้น ได้ปรากฏหนังสือภาษาไทยจำนวนหนึ่งที่ตกค้างไว้จำนวนไม่น้อยในหิ้งหนังสือที่ห้องทำงาน ทั้งหนังสือประเภททฤษฎีทางการเมืองปกแดงขนาดพกพาเล็กจิ๋วของผู้นำจีนที่แปลเป็นไทย เช่น "สรรนิพนธ์ เหมาเจ๋อตง" "ชีวประวัติ เติ้งเสี่ยวผิง" และอื่นๆ

วรรณคดีจีน ผลงานประพันธ์ของ "หลู่ซิ่น" ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นปรมาจารย์นักเขียนแห่งศตวรรษที่ 20 ของจีน ผลงานประพันธ์ของ "เหลาเส่อ" นักเขียนเรืองนามอีกผู้หนึ่งของจีน ผลงานเด่นของนักเขียนจีนชื่อดังอื่นๆ เช่น "ปาจิน" และ "เหมาตุ้น" ตำนานและนิทานจีน เป็นต้น

รวมถึงผลงานบางเรื่องที่โดดเด่นของไทย ทั้งที่เป็นภาษาไทยและที่เป็นภาษาจีน เป็นต้น

อดีตผู้รับผิดชอบภาคภาษาไทยแห่ง "นิตยสารภาพจีน" ยังได้เคยยกหนังสือดีทรงคุณค่าทางภูมิปัญญาจีนหลายเล่มให้ผู้เขียนในวันแรกที่ไปทำงานที่ประเทศจีน เช่น ผลงานเรื่อง "สรรนิพนธ์ เหมาเจ๋อตง" ผลงานเรื่อง "ชุมนุมเรื่องสั้น" ของ "หลู่ซิ่น" ผลงานเรื่อง "บ้าน" ของ "ปาจิน" ผลงานเรื่อง "ฤดูใบไม้ร่วง" ของ "เหมาตุ้น" เป็นต้น

และสำหรับเรื่องประวัติศาสตร์เพลิงไหม้หนังสือในจีนนั้นเป็นเรื่องที่พยายามไม่นำมาพูดคุยกันในวงสนทนา

และคงเป็นเรื่องที่ผู้อยู่เบื้องหลังการเขียน การแปล และผลิตหนังสือทุกคนแห่งกรมการพิมพ์ภาษาต่างประเทศจีน และคนไทยทุกคนที่อยู่เบื้องหลังอยากจะลืม!

สมควรอย่างยิ่งที่จะนำผลงานเหล่านั้นมาพิมพ์เผยแพร่ใหม่ทั้งหมดเพื่อสัมฤทธิผลแห่งการศึกษาทั้งด้านภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวรรณกรรมทั้งไทยและจีนในท่ามกลางกระแสการเจริญเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งของการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านการศึกษาภาษาระหว่างสองประเทศ

อันนำไปสู่หนทางแห่งการเชื่อมความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและลึกซึ้งอย่างเต็มไปด้วยความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องยิ่งขึ้นอีกแนวทางหนึ่ง

 

วรรณคดีไทยสมัยปัจจุบัน

ใช่แต่ในประเทศจีนเท่านั้นที่เกิดกรณีโศกนาฏกรรมกองมรดกทางปัญญาดังได้กล่าวมาแล้ว แม้แต่ในประเทศไทยเองในยุคของรัฐบาลที่ "รู้เท่าไม่ถึงการณ์" ก็เคยเกิดกรณีสั่ง "เก็บ" หนังสือจำนวนมากในช่วงระยะใกล้เคียงกัน ทั้งหนังสือไทย หนังสือที่เกี่ยวกับประเทศจีนหรือสหภาพโซเวียต

ไม่นับการสั่ง "เก็บ" ตัวนักหนังสือพิมพ์บางคนตามที่ได้เล่าลือกันมาหนาหูสำหรับนักคิดหรือนักเขียนที่มีแนวคิดขัดแย้งหรือกระทบกับผลประโยชน์ของรัฐบาลในเวลานั้น

จนนักเขียนผู้เป็นความหวังของสังคมไทยบางคนได้หายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอยและไร้ร่างก็เคยปรากฏมาแล้ว

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการ "เผา" หรือสั่ง "เก็บ" มรดกทางปัญญาทั้งหลาย ต่างล้วนมีนัยยะที่ไม่แตกต่างกันเลย

หนังสือบางเล่มของ ศรีบูรพา และ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ก็เคยถูกสั่ง "เก็บ" ในไทยมาแล้วเช่นกัน

หลักฐานที่ดีหลักฐานหนึ่งมาจากคำปราศรัยครั้งหนึ่งของศรีบูรพา เรื่อง "วรรณคดีไทยสมัยปัจจุบัน" ซึ่งศรีบูรพาได้รับเชิญไปเป็นเกียรติบรรยายให้นักศึกษาจีนแห่งภาคภาษาไทย ณ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศจีน

ความตอนหนึ่งว่า

"การปราบปรามผู้รักชาติและรักสันติที่ได้คัดค้านนโยบายร่วมมือกับจักรวรรดินิยมตามวิถีทางประชาธิปไตยและชอบด้วยกฎหมายที่ได้เริ่มขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมปีกลายนี้ ได้ส่งผลกระทบกระเทือนไม่น้อยมาถึงวงวรรณคดีด้วย โดยเฉพาะวรรณคดีฝ่ายก้าวหน้า

นอกจากการปิดหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับแล้ว หนังสือพิมพ์รายคาบยังถูกปิดด้วย ไม่ฉะเพาะ (เขียนตามต้นฉบับเดิม-ผู้เขียน) แต่หนังสือพิมพ์รายคาบที่เป็นหนังสือพิมพ์การเมืองเท่านั้นที่ถูกปิด

การปิดหนังสือพิมพ์เป็นจำนวนมากเช่นนี้ แสดงอยู่ในตัวว่า ประชาชนไม่สนับสนุนนโยบายร่วมมือกับจักรวรรดินิยมของรัฐบาล นอกจากการปิดหนังสือพิมพ์ ได้มีการปิดร้านหนังสือที่จำหน่ายหนังสือจากประเทศจีนและสหภาพโซเวียต และได้มีการเก็บหนังสือ นวนิยาย และสารคดีที่ก้าวหน้าหลายเล่ม ในขณะนี้

จึงนับว่าวงการวรรณคดีไทยฝ่ายก้าวหน้ากำลังเผชิญกับคลื่นลมอันร้ายกาจของอิทธิพลจักรวรรดินิยมแห่งวงวรรณคดีไทยฝ่ายก้าวหน้า ก็จะฝ่าคลื่นลมอันร้ายกาจนี้ไป ดุจเดียวกับนกนางแอ่นทะเลอย่างแน่นอน..."

เอกสารคำปราศรัยดังกล่าวของศรีบูรพา บัดนี้นับว่ามีอายุยาวนานร่วม 50 ปีเต็มแล้ว

หลังจากที่ศรีบูรพาได้เหยียบย่างก้าวแรกเข้าสัมผัสผืนแผ่นดินจีนได้เพียงปีเดียว ก็ได้รับเชิญให้ไปกล่าวคำปราศรัยในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เพื่อพบปะกับบรรดานักศึกษาทั้งชาวจีนและชาวต่างประเทศ

บัดนี้ต้นฉบับคำปราศรัยดังกล่าวก็ยังคงเหลือต้นฉบับเดิมตกค้างอยู่ในมือของ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ด้วยกระดาษขนาดเล็กกว่า เอ 4 เล็กน้อย สีเหลืองเข้มจากความเก่าแก่ซึ่งถูกตอกด้วยพิมพ์ดีดภาษาไทยด้วยฝีมือของศรีบูรพาเองจำนวน 14 หน้า และยังไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ซ้ำอีกเลยหลังจากนั้น

อันอาจเนื่องมาจากสาเหตุดังที่ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ได้กล่าวว่า

"อาจมีผมคนเดียวที่ยังคงเก็บรักษาคำปราศรัยของศรีบูรพานี้อยู่จนบัดนี้"

คำปราศรัยก่อนกล่าวสรุปของศรีบูรพาในท่ามกลางบรรยากาศทั้งนักศึกษาจีนที่กำลังศึกษาภาษาไทย รวมถึงนักศึกษาจีนแห่งภาควิชาภาษาต่างๆ ในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งมีล่ามคอยแปลเป็นภาษาจีนเผยแพร่ในวงกว้างอีกทอดหนึ่งนั้น นับว่าทรงพลังน่าสนใจ และควรนำมาเผยแพร่ ณ ที่นี้

ศรีบูรพากล่าวสรุปคำปราศรัยว่า

"อย่างไรก็ดี สมควรที่จะกล่าวย้ำไว้ว่า จนถึงเวลานี้ วรรณคดีใหม่ของไทยยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการพัฒนา ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการแสวงหาความจัดเจน เครื่องมือในการศึกษาของเรามีอยู่โดยจำกัดมาก เช่นเดียวกับนักศึกษาภาษาไทยของเราที่นี่ ("ที่นี่" หมายถึง มหาวิทยาลัยปักกิ่ง-ผู้เขียน) เพราะช่องทางแห่งการศึกษาของเราถูกจำกัดขัดขวาง เรายังจะต้องศึกษาอีกมาก และยังมีหนทางข้างหน้าอีกไกลที่จะต้องเดินต่อไป

ในขณะนี้ เราอาจกล่าวได้แต่เพียงว่า วรรณคดีใหม่ของไทยได้ทำหน้าที่จุดประทีปแห่งความหวังที่วรรณคดีไทยจะได้มีบทบาทสำคัญในอันที่จะได้รับใช้ชีวิตของมวลชนอย่างมีประสิทธิภาพขึ้นแล้ว และเราได้เห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า เวลาได้มาถึงแล้วที่ผู้เก็บดอกผลของวรรณคดีจะมิใช่กลุ่มชนน้อยๆ ที่มีเอกสิทธิ์ในสังคมเท่านั้น เรามีความเชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนแปลงอันมีอยู่ไม่ขาดสาย จะต้องดำเนินไปสู่สถานะที่การสร้างสรรค์วรรณคดีและการเก็บดอกผลของวรรณคดีเป็นเรื่องของประชาชนอย่างสิ้นเชิง และเมื่อประชาชนเป็นผู้สร้างสรรค์วรรณคดีแล้ว เขาก็จะต้องสร้างสรรค์วรรณคดีเพื่อผลประโยชน์และความดีงามแห่งชีวิตของประชาชนอย่างแน่นอน

บัดนี้ข้าพเจ้าขอจบปาฐกถา และขอขอบคุณท่านผู้ฟังทุกท่าน"

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net