Skip to main content
sharethis

(27 ก.ย.56) เว็บไซต์ประชาไท ร่วมกับเครือข่ายพลเมืองเน็ต Protection International และ Frontline Defender ร่วมจัดเวทีสาธารณะ “การปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และความปลอดภัยออนไลน์” ที่โรงแรมวินเซอร์ สวีทส์ กรุงเทพฯ โดยมีนักสิทธิมนุษยชนในไทยเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์
 
โดยช่วงบ่ายเป็นการเสวนา หัวข้อ "นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนรุ่นใหม่: การรณรงค์อย่างสร้างสรรค์" ร่วมแลกเปลี่ยนโดย ปองจิต สรรพคุณ หัวหน้าฝ่ายละครชุมชน มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) เดชา คำเป้าเมือง ตัวแทนเยาวชนจากกลุ่มอนุรักษ์อุดร ธนบูรณ์ สมบูรณ์ Creative Move สุภาพ หริมเทพาธิป นิตยสารไบโอสโคป  ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ นักรณรงค์รุ่นใหม่ ดำเนินรายการโดย อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต

ปองจิต สรรพคุณ หัวหน้าฝ่ายละครชุมชน มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) เล่าว่า กลุ่มมะขามป้อม เป็นกลุ่มละครสะท้อนปัญหาสังคม ทำงานสองด้าน ด้านหนึ่งทำละคร โดยมีประเด็นที่ต้องการนำเสนอมาจากในกลุ่มเองที่รู้สึกว่าต้องลุกขึ้นมาตั้งคำถาม อีกส่วนได้แรงบันดาลใจจากการลงพื้นที่ทำงานกับคนในพื้นที่ประสบปัญหา เวลาแสดงจะคำนึงถึงว่ากลุ่มเป้าหมายหลักคือใคร ผู้ชมต้องเป็นคนที่มีอิทธิพลหรือมีใจที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ขับเคลื่อนนโยบาย เช่น เรื่องที่ผ่านมา ทำเรื่อง "ฝันกลางไฟ" เกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนใต้

ทางกลุ่มเห็นว่าคนในพื้นที่รู้ปัญหาอยู่แล้ว แต่คนที่ไม่เข้าใจปัญหาคือคนส่วนกลางที่ได้ยินข่าวเยอะ แต่ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น จึงนำละครนี้มาแสดงที่กรุงเทพฯ พร้อมโยงกับประเด็นการเมืองเรื่องสีเสื้อที่กำลังเกิดขึ้นขณะนั้น งานอีกด้านหนึ่งคือ การเสวนาร่วมกับกลุ่มต่างๆ เพราะมองว่าไม่ใช่แค่ละครอย่างเดียวจะขับเคลื่อนสังคมได้ แต่ต้องอาศัยกลุ่มอื่นๆ ด้วย

ปองจิต เล่าถึงการใช้อารมณ์ขันในละครว่า สังคมไทยพูดความจริงไม่ได้ เพราะอาจโดนจับ โดนยิง การเสียดสีหรือทำให้กลายเป็นเรื่องตลก ล้อเลียนจะเล็ดรอดจากการจับตา เพราะคนไม่คิดว่ารุนแรง

"ตีไม่ได้ ก็ขอหยิก" ปองจิตกล่าวและว่า นี่เป็นการแสดงออกในสังคมปิด พร้อมเสนอว่า คนที่ทำงานในชุมชนอาจต้องคิดนอกกรอบ หยิบสื่อหลากหลายรูปแบบมาใช้

ปองจิตกล่าวถึงข้อดีของงานละคร งานวัฒนธรรม ว่าเป็นสื่อเย็น ยกตัวอย่างกรณีบ้านปางแดง ชุมชนต้องซื้อที่ราคา 800,000 บาท มะขามป้อม ทำละคร เอาคนในชุมชนทั้งเด็กและคนแก่ในพื้นที่ ไปแสดงในกรุงเทพฯ ระดมทุนได้ 800,000 กว่าบาท เอาไปซื้อที่ โดยตอนนั้นจับกลุ่มเป้าหมาย สื่อมวลชนคนรุ่นใหม่ เช่น อะเดย์ และสามารถดึงคนเข้ามาร่วมได้เยอะมาก

เดชา คำเป้าเมือง ตัวแทนเยาวชนจากกลุ่มอนุรักษ์อุดร ซึ่งทำงานในศูนย์สื่อชุมชนที่สังคมที่เป็นธรรม เล่าว่า ประเด็นในพื้นที่มีให้ทำแทบทุกวัน โดยทำข่าวที่ไม่เป็นข่าวให้เป็นข่าว และส่งให้สื่อและนักวิชาการที่สนใจ โดยมีที่มาจากการสังเกตว่าปัญหาโครงการเหมืองแร่โปแตซ เป็นข่าวบ้างไม่เป็นบ้างในหน้าสื่อ ขณะที่ประเด็นในพื้นที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอด คนในพื้นที่จึงคิดกันว่า จะรอคนข้างนอกหยิบเรื่องไปสื่อสารคงไม่ทัน คนในต้องสื่อสารออกไปให้ข้างนอกรู้ ซึ่งพบว่ามีคนสนใจติดตามอยู่ ทราบได้จากการที่มีคนโทรกลับมาขอข้อมูล ขอแหล่งข่าว หรือขอให้พาลงพื้นที่ที่มีปัญหา


สุภาพ หริมเทพาธิป นิตยสารไบโอสโคป เล่าว่า ปัจจุบันทำสารคดี "ก(ล)างเมือง" เพื่อสื่อสารประเด็นปัญหาในเมือง รวมถึงทำหนังส่งประกวดต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบัน วงการหนังโลก สนใจเรื่องจริงกันมากขึ้น เพราะหนังกระแสหลักแทบไม่ต้องใช้มนุษย์จริงเล่นแล้ว จึงเกิดการพลิกกลับว่าอยากเห็นเรื่องเล่าจริงๆ อย่างไรก็ตาม เรื่องทำนองนี้มีโอกาสฉายในไทยยาก หรือได้ในวงแคบ จึงต้องออกแบบให้คนรับสื่อตระหนักรู้ถึงปัญหา

การจะทำให้คนทั่วไปเข้าถึงหนังได้ จะต้องกระจายมันออกไป ทำให้เรื่องมันเข้าไปถึงคนให้มากที่สุด และกระจายไปถึงคน ให้คนอินกับเรื่องที่เราเล่า บางทีมีคนมาบอกว่ามีคนอัปโหลดหนังฉบับเต็มลงในยูทูบ ซึ่งก็มองว่า ดีแล้ว เพราะต้องการสื่อสารประเด็นออกไป

สุภาพ แนะนำว่า เวลาให้คนเล่าเรื่องตัวเอง แรงขับจากข้างในทำให้ถ่ายทอดออกมาได้ดี นอกจากนี้ การทำบ่อยๆ เป็นการฝึกทักษะซึ่งจะส่งผลให้งานจะออกมาดีเอง นอกจากนี้การจะทำสื่อให้ดีอาจต้องถอยออกมาประมาณหนึ่ง การเล่าเรื่องอาจไม่บอกหมด เพื่อให้คนฟังอยากรู้เรื่องราวต่อ 


ธนบูรณ์ สมบูรณ์ จาก Creative Move เล่าว่า ทางกลุ่มทำงานผลักดันสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงพยายามช่วยสื่อสารประเด็นของเอ็นจีโอให้คนเมืองได้รับทราบ โดยเรื่องที่ทำมี 5 ประเด็นคือ สังคม การศึกษา สิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ และสุขภาพ  

ธนบูรณ์ ยกตัวอย่างกรณีล่าสุด ซึ่งทางกลุ่มมองว่า ศศิน เฉลิมลาภ ซึ่งเดินเท้าต้านเขื่อนแม่วงก์ ไม่มีสื่อหลักทำข่าวเลย จึงคิดโปรเจ็คชวนนักสร้างสรรค์ในเครือข่ายออกแบบปกเฟซบุ๊กกัน เพื่อสร้างความตระหนักให้คนเห็นปัญหา ในภาวะที่สื่อหลักไม่ทำงาน คนออกแบบได้มาออกแบบ คนออกแบบไม่ได้ก็มาช่วยแชร์ ทำให้คนไม่เบื่อกับการรณรงค์ เพื่อสื่อสารกับคนเมืองที่อยู่กับความสบายและไม่รู้ปัญหาสังคม มีคนเข้าร่วม 3,000 คน มีคนออกแบบ 150 แบบภายใน 3 วัน

นอกจากนี้ ยังมีการใช้อินโฟกราฟิก ใช้ภาพอธิบายข้อมูลองค์ความรู้ให้เข้าใจง่ายขึ้นในเวลารวดเร็ว เช่น ที่ผ่านมาทำเรื่องขยะจากพลาสติก ว่าย่อยสลายยากอย่างไร ปรากฏว่า ภายในสองสัปดาห์ มีผู้ชม 200,000 วิว

ธนบูรณ์เล่าถึงการทำงานว่า ในการสื่อสาร จะถอยตัวเองจากปัญหา ลองนึกว่าหากไม่รู้เรื่องอะไรเลยในประเด็นหนึ่งๆ คนจะเข้าใจอะไรและอย่างไรบ้าง พร้อมชี้ว่า เอ็นจีโอมักเรียกร้อง แต่ไม่คิดว่าคนอื่นจะเข้าใจไหมว่าเขาต้องการอะไร 


ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ อดีตกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย เล่าถึงการทำงานรณรงค์ที่ผ่านมาว่า ขณะนั้นเรียนอยู่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองตอนนั้นผลักให้การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน จึงรวมกลุ่มกันนักศึกษาในมธ. เป็นกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยเพราะมองว่า สังคมยังขาดหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พบข้อจำกัดในการทำงานว่า นักกิจกรรมในมธ. ที่มาจากรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ จะจริงจังในการขบประเด็นว่าจะสื่อสารอะไร แต่ให้เวลากับการณรงค์ให้ถึงเป้าหมายน้อย นักกิจกรรมทางสายบัญชีและศิลปศาสตร์จึงเข้ามา พยายามคิดวิธีนำเสนอ เปลี่ยนวิธีสื่อสารใหม่ โดยสอดแทรกมุขตลกเสียดสี เช่น รณรงค์เพิ่มความตระหนักรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็ไปเช่าชุดทหารในอดีต ทำเอกสารยืมรถถังกับกองทัพบก เพื่อรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รำลึก 2475 เป็นต้น นอกจากนี้ยังไปซื้อโฆษณาในเฟซบุ๊ก เพื่อพ่วงโฆษณากับเพจข่าวต่างๆ เช่น เพจของประชาไท 

ในการต่อสู้รณรงค์ ใช้เงินที่ระดมทุนจากคนหมู่มาก เช่น ทำเสื้อรณรงค์ขาย จัดปาร์ตี้ ซึ่งมีข้อดีคือ ทำให้มีอิสระในการเคลื่อนไหว ร้อยคนคนละร้อยบาท สุดท้ายไม่มีใครครอบงำความคิดได้ จากนั้นมีการทำรายงานว่าได้ทำงานอะไรไปบ้าง

ปราบเล่าต่อว่า ตอนนี้เรียนจบแล้ว กิจกรรมในมหาวิทยาลัย คนที่ทำเป็นรุ่นต่อๆ ไป ถ้าองค์กรให้คุณค่ากับวัฒนธรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมแนวนี้ก็จะเกิดขึ้นต่อไป

ปัจจุบันปราบตั้งกลุ่ม New Culture โดยเป็นตัวกลางระหว่างรุ่นพี่ที่ทำงานแล้วและมีเงินแต่ไม่มีไฟ ไม่มีเวลา กับรุ่นน้องที่มีไฟ แต่ไม่มีเงิน  เช่น การถกเรื่องชุดนักศึกษา นำเสนอในรูปแบบภาพ มีการย้อนความคิดของผู้ใหญ่ว่าทำไมนักศึกษาต้องแต่งเครื่องแบบ โดยย้อนกลับไปที่ครู มีผู้แชร์ 9,800 ครั้ง มีคนเห็น 800,000 คน 

"โซเชียลมีเดียเป็นพลังของคนตัวเล็กในการทำสื่อใหญ่ เพราะต้นทุนต่ำมาก" ปราบกล่าวพร้อมแนะนำว่า การสื่อสารที่ได้ประสิทธิผลมากที่สุด คือ การประสานงานสร้างแนวร่วมที่มีความสามารถหลากหลายมาร่วมกันทำงาน เพราะไม่มีใครเก่งได้ทุกอย่าง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net