ปีดิเทพ อยู่ยืนยง: เครื่องแบบนักเรียนของอังกฤษและประเด็นทางกฎหมายที่น่าสนใจ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เกริ่นนำ

เมื่อไม่นานมานี้ มีการวิพากษ์และถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นการแต่งกายชุดนักเรียนและชุดนักศึกษาในสถาบันการศึกษาของไทยว่า การบังคับให้นักศึกษาแต่งกายด้วยชุดนักเรียนหรือชุดนักศึกษานี้ส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของนักเรียนและนักศึกษาหรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวได้ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยว่านักเรียนและนักศึกษาควรจะต้องแต่งเครื่องแบบนักศึกษามายังสถานศึกษา ด้วยเหตุผลประการต่างๆ ที่ได้อ้างถึงประโยชน์ของการแต่งกายด้วยชุดนักเรียนและนักศึกษา ได้แก่ ประการแรก การแต่งกายด้วยชุดนักเรียนและนักศึกษาสามารถทำให้จำแนกบทบาทหรืออาชีพของตน ให้นักศึกษาสามารถระลึกเสมอว่าตนเองมีบทบาทหรือหน้าที่ในการศึกษาหาความรู้ ประการที่สอง การแต่งกายด้วยชุดนักเรียนและนักศึกษาย่อมนำความภาคภูมิให้กับผู้สวมใส่หรือหมู่คณะว่า ได้ศึกษาในสถาบันที่มีเกียรติและนักเรียนและนักศึกษาพึงรักษาชื่อเสียงของสถาบันไว้ ประการที่สาม การบังคับให้นักเรียนหรือนักศึกษาแต่งกายด้วยเครื่องแบบนักเรียนหรือนักศึกษาที่เหมือนกัน ย่อมเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสถานะทางเศรษฐกิจของนักศึกษาได้ เพราะเมื่อแต่งเครื่องแบบที่เหมือนๆ กันแล้ว นักศึกษาก็ย่อมไม่จำเป็นต้องขวนขวายหาเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ให้เข้ากับแฟชั่นหรือเข้ากับการแต่งกายตามยุคสมัยดังกล่าว อันอาจเป็นเหตุให้เกิดการสิ้นเปลืองรายจ่ายของบิดา มารดาหรือผู้ปกครองโดยใช่เหตุ ประการสุดท้าย การแต่งกายด้วยชุดนักเรียนและนักศึกษาย่อมทำให้ตำรวจทางปกครอง ตำรวจทางการยุติธรรม เจ้าหน้าที่บ้านเมืองฝ่ายอื่นๆ ผู้สื่อข่าวหรือบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาความปลอดภัยบ้านเมืองหรือการกู้ภัยในกรณีมีเหตุการณ์ฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุต่างๆ ได้ทราบว่าบุคคลที่กำลังจะเข้าไปช่วยเหลือเป็นนักเรียนหรือนักศึกษา ซึ่งในสถาบันการศึกษาได้กำหนดให้มีการระบุชื่อนักเรียนหรือนักศึกษาและระดับชั้นปีการศึกษาของนักศึกษาไว้บนเครื่องแบบนักศึกษาด้วย ซึ่งอาจส่งผลดีต่อการกู้ภัย สืบสวน สอบสวน การติดตามตัวผู้ปกครองและการหาข้อมูลทางการแพทย์ของนักเรียนหรือนักศึกษา เมื่อนักเรียนหรือนักศึกษาประสบภัยฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุในสถานการณ์ต่างๆ

อย่างไรก็ดี อาจมีข้อโต้แย้งหลายประการเกี่ยวกับการบังคับให้นักศึกษาแต่งกายด้วยชุดนักเรียนหรือชุดนักศึกษา ตัวอย่างเช่น ประการแรก การแต่งกายด้วยชุดนักศึกษาอาจไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางด้านสถานะทางเศรษฐกิจของนักเรียนหรือนักศึกษาได้อย่างแท้จริง การแต่งกายที่เหมือนๆ กันอาจเป็นการเพียงสร้างความรู้สึกให้กับนักเรียนหรือนักศึกษาว่านักเรียนและนักศึกษาที่มาเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาไม่มีความเหลื่อมล้ำในทางเศรษฐกิจ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วนักเรียนย่อมมาจากครอบครัวที่หลากหลายและมีสถานะภาพทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ สถานะภาพทางเศรษฐกิจของนักศึกษาที่เป็นปัจเจก ย่อมขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงินของบิดา มารดาหรือผู้ปกครอง ความสามารถในการทำกิจกรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้ประจำหรือรายได้พิเศษของนักเรียนหรือนักศึกษาแต่ละบุคคล ประการที่สอง การแต่งกายด้วยชุดนักเรียนหรือชุดนักศึกษาอาจไม่ได้เป็นการเสริมสร้างระเบียบวินัยในสังคมที่แท้จริง ซึ่งผู้แต่งกายด้วยเครื่องแบบอื่นๆ หรือการสวมใส่เสื้อผ้าชนิดอื่นๆ ก็อาจมีระเบียบวินัยหรือดำเนินกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมอันดีของสังคมได้ เฉกเช่นเดียวกับผู้ที่แต่งกายด้วยเครื่องแบบนักเรียนหรือนักศึกษา เช่น การเข้าคิวในการซื้ออาหารของพนักงานในโรงงานต่างๆ เป็นต้น

จากที่ได้กล่าวมาในข้างต้นย่อมทำให้เห็นว่ามีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยหรือฝ่ายที่สนับสนุนให้นักเรียนหรือนักศึกษาแต่งเครื่องแบบตามที่ทางสถาบันการศึกษาได้กำหนดเอาไว้ในระเบียบหรือข้อบังคับของสถาบันการศึกษาและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหรือฝ่ายที่ไม่สนับสนุนให้นักเรียนหรือนักศึกษาแต่งเครื่องแบบตามที่ทางสถาบันการศึกษาได้กำหนดเอาไว้ แต่ละฝ่ายก็ย่อมหาเหตุผลมากมายที่สนับสนุนแนวคิดหรือความเห็นของฝ่ายตนเอง

ประเทศอังกฤษถือเป็นประเทศหนึ่งที่โรงเรียนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน ต่างก็มีระเบียบและข้อบังคับให้นักเรียนได้สวมใส่เครื่องแบบนักเรียนในรูปแบบต่างๆ ตามที่โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาของตนได้กำหนดเอาไว้ รวมไปถึงการสวมใส่เครื่องแบบให้สอดคล้องกับฤดูกาลต่างๆ เช่น โรงเรียนอาจกำหนดให้ใส่เสื้อสูทที่ปักตราของสถาบันการศึกษาเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและเพื่อสอดคล้องกับสภาพอากาศของประเทศอังกฤษ เป็นต้น อย่างไรก็ดี หากนักเรียนหรือนักศึกษาได้ก้าวเข้าสู่การศึกษาระดับอุดมศึกษาแล้ว มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่ในประเทศอังกฤษไม่ได้กำหนดให้นักศึกษาระดับอุดมศึกษาต้องสวมเครื่องแบบมาเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในสถาบันการศึกษา เช่น การเข้าชั้นเรียน และการเข้าสอบภาคเรียนต่างๆ เป็นต้น อย่างไรก็ดี บางกลุ่มกิจกรรมของมหาวิทยาลัยหรือกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาบางกลุ่มอาจกำหนดให้มีเครื่องแบบสำหรับประกอบกิจกรรมบางอย่าง สำหรับ ให้นักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมกีฬา กิจกรรมนันทนาการหรือกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยได้จัดขึ้นได้สวมใส่ นอกจากนี้ อาจมีเพียงบางมหาวิทยาลัยที่ยังคงมีการอนุรักษ์ประเพณีการแต่งกายด้วยเครื่องแบบของมหาวิทยาลัยบางอย่าง ให้สืบทอดเป็นประเพณีต่อเนื่องไป เช่น ประเพณีการใส่เสื้อคลุมพิธีการสำหรับนักศึกษาที่ศึกษาอยู่ใน มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด และมหาวิทยาลัยเดอแรม ที่นักศึกษาต้องใส่เครื่องแบบพิธีการสำหรับเข้าร่วมพิธีการบางพิธี เป็นต้น

แม้ว่าประเทศอังกฤษถือเป็นประเทศหนึ่งที่โรงเรียนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน ต่างก็มีระเบียบและข้อบังคับให้นักเรียนได้สวมใส่เครื่องแบบนักเรียนในรูปแบบต่างๆ อย่างไรก็ตาม กรมการศึกษา (Department of Education) อันเป็นหน่วยงานของรัฐของประเทศอังกฤษกำกับดูแลกิจกรรมบริหารสาธารณะด้านการศึกษาขึ้นพื้นฐาน ได้ให้ข้อสังเกตหลายประการเกี่ยวกับประเด็นทางกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องแบบนักเรียนที่น่าสนใจหลายประเด็นในเอกสารคำแนะนำเกี่ยวกับเครื่องแบบนักเรียนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารโรงเรียน คณาจารย์และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2013 หรือเอกสาร School uniform Guidance for governing bodies, school leaders, school staff and local authorities (http://media.education.gov.uk/assets/files/pdf/s/school%20uniform%20guidance%202013.pdf) โดยเอกสารดังกล่าวได้ให้ข้อพิจารณาทางกฎหมายไว้สองประเด็นด้วยกัน ได้แก่

[1] ประเด็นข้อพิจารณาทางกฎหมายสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคและการเลือกปฏิบัติ

เอกสารคำแนะนำเกี่ยวกับเครื่องแบบนักเรียนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารโรงเรียน คณาจารย์และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2013 ของรัฐบาลอังกฤษ ได้แสดงข้อพิจารณาและข้อแนะนำ ให้ผู้บริหารโรงเรียน คณาจารย์และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตระหนักถึงหลักเกณฑ์และวิธีการในการบังคับให้นักศึกษาแต่งกายด้วยชุดนักเรียน โดยโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาขั้นพื้นฐานต่างๆ ต้องคำนึงถึงสิทธิในการแสดงออกถึงความเชื่อทางศาสนาหรือลัทธิทางศาสนาต่างๆ (right to manifest a religion or belief) เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพระราชบัญญัติสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1988 (Human Rights Act 1998) ได้วางหลักเกณฑ์พื้นฐานเอาไว้ว่าบุคคลมีสิทธิและเสรีภาพในการนับถือศาสนาและลัทธิทางศาสนาต่างๆ นักเรียนที่เป็นศาสนิกชนในศาสนาหรือลัทธิทางศาสนาต่างๆ จึงอาจแสดงออกด้านการแต่งกายให้สอดคล้องกับความเชื่อ จารีต และประเพณีอันดีงามในแต่ละศาสนาได้ ตัวอย่างเช่น การไว้ผมยาว การแขวนวัตถุมงคล การแต่งกายตามประเพณี และการใส่ผ้าคลุมผม เป็นต้น อนึ่ง แม้ว่าโรงเรียนและสถาบันการศึกษาขั้นพื้นฐานของอังกฤษจำต้องคำนึงถึงสิทธิในการแสดงออกถึงความเชื่อทางศาสนาหรือลัทธิทางศาสนาต่างๆ ของนักเรียนดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในข้างต้น อย่างไรก็ดี ในบางกรณีนักเรียนก็ไม่อาจแสดงออกด้านการแต่งกายให้สอดคล้องกับความเชื่อ จารีต และประเพณีของศาสนาได้ ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์ของอังกฤษได้เคยมีคำพิพากษาในประเด็นดังกล่าวว่าการที่ผู้บริหารโรงเรียนปฏิเสธไม่อนุญาตให้นักศึกษามุสลิมหญิงสวมใส่ญิฮาบ (jilbab) มาโรงเรียนได้ย่อมไม่เป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิในการแสดงออกถึงความเชื่อทางศาสนาหรือลัทธิทางศาสนาต่างๆของนักเรียน โดยศาลอุทธรณ์ของอังกฤษได้ให้เหตุผลว่าการแต่งกายตามหลักศาสนาบางประการก็อาจขัดหรือแย้งกับระเบียบหรือข้อบังคับของโรงเรียนเกี่ยวกับการแต่งเครื่องแบบนักเรียน แต่หากกฎหรือหลักการของศาสนาเปิดโอกาสให้เลือกกระทำได้ว่าจะกระทำการดังกล่าวเพื่อสนับสนุนความเชื่อทางศาสนาหรือไม่ก็ได้ ถ้าความเชื่อ กฎหรือหลักการของศาสนาเปิดทางเลือกให้กับนักศึกษา นักเรียนก็ควรจะเลือกการปฏิบัติตามแนวทางความเชื่อศาสนาในแนวทางที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยเครื่องแบบนักศึกษา (โปรดดู คดี คดี R (on the application of Begum (by her Litigation Friend Sherwas Rahman)) v The Head teacher and Governors of Denbigh High School [2006] UKHL 15 http://www.1cor.com/1315/?form_1155.replyids=937) (โปรดดูข่าวเกี่ยวกับคดีนี้เพิ่มเติมใน BBC News, School wins Muslim dress appeal http://news.bbc.co.uk/1/hi/4832072.stm)

นอกจากนี้ เอกสารคำแนะนำเกี่ยวกับเครื่องแบบนักเรียนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารโรงเรียน คณาจารย์และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2013 ของรัฐบาลอังกฤษได้ให้คำแนะนำแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการบังคับใช้ระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยชุดนักเรียนของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาขั้นพื้นฐานต่างๆ ว่า การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม (unlawful discrimination) อาจเกิดขึ้นได้ หากระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยชุดนักเรียนดังกล่าวขัดต่อการเพศและการแสดงออกทางเพศได้ ตัวอย่างเช่น การกำหนดให้นักเรียนหญิงจัดหาเครื่องแบบในราคาที่แพงกว่าเครื่องแต่งกายของนักเรียนชาย โดยการที่นักเรียนหญิงจำต้องรับภาระทางการเงินสูงกว่านักเรียนชายเช่นนี้ ย่อมอาจถือเป็นเหตุแห่งการเลือกปฏิบัติทางอ้อม (indirect discrimination) ต่อนักเรียนหญิงได้ประการหนึ่ง เป็นต้น (โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Equality and Human Rights Commission, School uniform http://www.equalityhumanrights.com/advice-and-guidance/before-the-equality-act/guidance-for-students-pre-october-2010/being-treated-with-respect/school-uniform/)

[2] ประเด็นพิจารณาเกี่ยวกับปัญหาในเรื่องการผูกขาดการแข่งขันทางการค้าเครื่องแบบนักเรียนในท้องถิ่น

เอกสารคำแนะนำเกี่ยวกับเครื่องแบบนักเรียนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารโรงเรียน คณาจารย์และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2013 ของรัฐบาลอังกฤษ ได้แสดงประเด็นความท้าทายเกี่ยวกับการรักษากลไกตลาดในการค้าขายชุดนักเรียนในแต่ละท้องถิ่นและความคุ้มราคาของชุดนักเรียน เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะลักษณะเครื่องแบบนักเรียนของอังกฤษและการดำเนินธุรกิจค้าขายเครื่องแบบนักเรียนของอังกฤษในแต่ละท้องถิ่นเอื้อต่อการแทรกแซงจากผู้ประกอบธุรกิจบางรายด้วยวิธีการอันไม่เป็นธรรมและเอื้อต่อการผูกขาดทางการค้าชุดนักเรียนในท้องถิ่น กล่าวคือ ด้วยลักษณะของเครื่องแบบนักเรียนอังกฤษโดยมากประกอบด้วยเสื้อ กระโปรง กางเกงขายาว เสื้อสูท และเสื้อกันหนาวในลวดลาย สีสัน การประดับสัญลักษณ์สถาบันตามที่โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาได้กำหนด โดยแต่ละท้องถิ่นจะมีผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้าส่ง และผู้ค้าปลีกที่มีสถานประกอบการอยู่ในชุมชนบริเวณใกล้เคียงกับโรงเรียนเป็นผู้ดำเนินธุรกิจดังกล่าว อนึ่ง ผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้าส่ง และผู้ค้าปลีกเครื่องแบบนักเรียนสำหรับโรงเรียนท้องถิ่นอาจกระทำกิจกรรมทางธุรกิจที่สร้างการผูกขาดทางธุรกิจค้าขายเครื่องแบบนักเรียนท้องถิ่นได้ ตัวอย่างเช่น การมีผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายเครื่องแบบนักเรียนน้อยรายในแต่ละชุมชน การมีผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างร้านค้าและโรงเรียนเกี่ยวกับการค้าขายชุดนักเรียน โดยโรงเรียนเปิดโอกาสให้ผู้จัดจำหน่ายเพียงแค่รายเดียว (single supplier) เข้ามามีบทบาทในการผูกขาดการค้าชุดนักเรียนในโรงเรียนหรือในชุมชนโดยรอบโรงเรียน เป็นต้น (โปรดดูข่าวเกี่ยวกับคดีนี้เพิ่มเติมใน BBC News, Lib Dem conference: Schools told to cut uniform costs http://www.bbc.co.uk/news/uk-politics-24095539)

อนึ่ง ผู้เขียนบทความได้ตั้งข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างลักษณะชุดนักเรียนและระบบธุรกิจการค้าชุดนักเรียนของประเทศอังกฤษได้เป็นประเด็นดังต่อไปนี้ ประเด็นแรก ความแตกต่างของสภาพอากาศระหว่างประเทศไทยและประเทศอังกฤษ ย่อมทำให้ลักษณะเครื่องแบบนักเรียนมีความแตกต่างกัน โดยลักษณะเครื่องแบบของนักเรียนไทยมีเพียงแค่เสื้อเชิร์ตสีขาว เสื้อคอบัว เสื้อคอปกกลาสี กางเกงขาสั้น กระโปรง เข็มขัด รองเท้าและถุงเท้า ที่เหมาะสมกับสภาพอากาศร้อนของประเทศไทย ในทางตรงกันข้าม เครื่องแบบนักเรียนอังกฤษจะประกอบด้วยเสื้อเชิร์ต เสื้อสูท กางเกงขายาว กระโปรง และเสื้อกันหนาวอื่นๆ ที่เหมาะสมกับสภาะอากาศหนาวของประเทศไทย ประเด็นที่สอง ความแตกต่างในลักษณะการดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายเสื้อนักเรียนของผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้าส่ง และผู้ค้าปลีก เพราะเครื่องแบบนักเรียนของประเทศไทยอาจง่ายต่อการหาซื้อตามท้องตลาดโดยทั่วไป เพราะเครื่องแบบนักเรียนของไทยเป็นเพียงเสื้อเชิร์ตสีขาว เสื้อคอบัวสีขาว เสื้อกลาสีสีขาวที่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายคลึงกันในแต่ละโรงเรียน จะต่างกันก็เพียงอักษรที่ปักเป็นชื่อย่อของนักเรียนในบริเวณหน้าอก กับสีของกระโปรงหรือกางเกงขาสั้น รวมไปถึงรองเท้าที่นักเรียนใส่เท่านั้น ในทางตรงกันข้าม เครื่องแบบนักเรียนของแต่ละโรงเรียนในอังกฤษอาจประกอบด้วยเสื้อเชิร์ต กระโปรง กางเกงขายาว เสื้อสูทที่มีสีสันแตกต่างกัน ลวดลายที่แตกต่างกันหรือปักตราแตกต่างกันในแต่ละโรงเรียน ด้วยเหตุนี้ ผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้าส่ง หรือผู้ค้าปลีกในประเทศอังกฤษจึงต้องจัดหาเครื่องแบบให้สอดคล้องและเหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของเครื่องแบบนักเรียนในแต่ละท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ในทางการค้า

รูปที่ 1: เครื่องแบบนักเรียนประเทศอังกฤษโดยทั่วไป

อ้างอิง: Royal Grammar School Newcastle, Boys' Uniform And Sportswear http://www.rgs.newcastle.sch.uk/general-information/uniform-boys.php

 

รูปที่ 2: เครื่องแบบนักเรียนประเทศไทยโดยทั่วไป

อ้างอิง: โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก, เครื่องแบบนักเรียน ชาย หญิง มัธยมศึกษาตอนปลาย http://www.pccpl.ac.th/pccpl2012/index.php/th/about-pccpl/170-2013-02-23-14-07-49?showall=1&limitstart=

เอกสารคำแนะนำเกี่ยวกับเครื่องแบบนักเรียนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารโรงเรียน คณาจารย์และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2013 ของรัฐบาลอังกฤษ ยังได้แนะนำให้โรงเรียนและผู้บริหารของโรงเรียนจำต้องให้ความสำคัญในเรื่องของราคาชุดนักเรียนเป็นอย่างมาก (high priority to cost considerations) โดยผู้บริหารโรงเรียนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยชุดนักเรียนควรที่จะกำหนดให้นักเรียนแต่งกายด้วยเครื่องแบบในราคาประหยัดหรือเครื่องแบบที่สะดวกต่อการหาเครื่องแบบในท้องตลาดหรือร้านค้าในชุมชนด้วย

นอกจากนี้ เอกสารดังกล่าวยังแนะนำให้โรงเรียนหลีกเลียงการผูกขาดทางการค้าของผู้จัดจำหน่ายต่อโรงเรียน โดยผู้บริหารของโรงเรียนควรหลีกเลี่ยงการทำสัญญาผูกขาดผู้จัดจำหน่ายเครื่องแบบนักเรียน (exclusive single-supplier contracts) เพราะการเปิดโอกาสให้ทำสัญญาในลักษณะดังกล่าวเท่ากับเป็นการปิดโอกาสไม่ให้มีการแข่งขันระหว่างผู้จัดจำหน่ายรายต่างๆ อันจะทำให้นักเรียนได้มีโอกาสบริโภคเครื่องแบบนักเรียนในราคาหรือคุณภาพที่หลากหลาย เช่น นักเรียนผู้มีฐานะทางการเงินดี ก็สามารถเลือกซื้อเครื่องแบบที่มีคุณภาพดีได้ ในทางกลับกัน นักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางการเงินไม่สู้ดี ก็มีโอกาสเลือกบริโภคเครื่องแบบที่มีคุณภาพเหมาะสมและราคาถูกได้ เป็นต้น

สรุป

จากประเด็นทางกฎหมายอังกฤษในเอกสารที่ได้กล่าวมาในข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับประเด็นข้อพิจารณาทางกฎหมายสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคและการเลือกปฏิบัติและประเด็นพิจารณาเกี่ยวกับปัญหาในเรื่องการผูกขาดการแข่งขันทางการค้าเครื่องแบบนักเรียนในท้องถิ่น ย่อมอาจเป็นแนวทางให้ประเทศอังกฤษพัฒนากฎหมายว่าด้วยชุดนักเรียนในอนาคต รวมไปถึงการพัฒนากลไกต่างๆ ให้สอดคล้องหรือสร้างธรรมาภิบาลเกี่ยวกับชุดนักเรียนได้

อนึ่ง สำหรับกรณีของประเทศไทยนั้น แม้ว่ามีทั้งผู้ที่ต่อต้านการแต่งกายด้วยชุดนักเรียนและนักศึกษา และผู้สนับสนุนการแต่งกายด้วยชุดนักเรียนและนักศึกษา หากแต่การกำหนดระเบียบให้นักเรียนหรือนักศึกษาต้องแต่งกายด้วยเครื่องแบบ ย่อมมีทั้งผลในด้านบวกและข้อโต้แย้งบางประการ ซึ่งการที่จะให้ผู้คนทุกคนในสังคมเห็นไปในทางเดียวกันทั้งหมดทั้งมวลย่อมเป็นไปได้ยาก หากแต่การพัฒนาหลักเกณฑ์และแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับการแต่งเครือ่งแบบนักเรียนหรือนักศึกษา โดยคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นโดยรอบด้าน ก็ย่อมอาจเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้ปัญหาหรือข้อถกเถียงในประเด็นต่างๆ ลดลงไปได้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท