เก็บความเสวนา หลัง 14 ตุลา: วิหารไม่ว่างเปล่า

วิหารไม่ว่างเปล่า : ประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาหัวก้าวหน้าหลัง 14 ตุลาคม 2516 (พ.ศ.2516-2541) นำเสนอโดยภิญญพันธ์ พจนะลาวัณย์ วิพากษ์การดำรงอยู่ของพุทธแบบอีแอบในการเมืองไทย

000

เมื่อถึงวาระรำลึกเหตุการณ์เดือนตุลากรอบคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ส่วนใหญ่จะพูดถึงปัจจัยต่างๆ โดยไม่มีกรอบของศาสนาว่าสัมพันธ์กับเหตุการณ์เหล่านี้อย่างไร หากพูดถึงศาสนาก็จะมีภาพจำอยู่บ้าง เช่น เณรถนอม, พระกิตติวุฑโฒแต่หลังจากนั้นพุทธศาสนาก็หายไปจากการวิเคราะห์ และคนมักมองข้ามบทบาทของศาสนาในสังคมไทย

หากย้อนดูสภาพสังคมไทย จะเห็นว่าวาทกรรมทางการเมืองต่างๆ จะมีสิ่งที่ปะติดปะต่อกันอยู่ ในเรื่องของความดี ความเลว เผด็จการโดยธรรม พรรคเทพพรรคมาร ฯลฯ ซึ่งเป็นการกำกับโดยไวยากรณ์ทางศาสนาทั้งสิ้น ชี้ให้เห็นว่าพุทธศาสนาสัมพันธ์กับสังคมการเมืองตลอดเวลา

งานนี้ศึกษาว่า ศาสนาพุทธดำรงอยู่อย่างไรในสังคมการเมืองไทย โดยสิ่งที่จะศึกษามี 3 เรื่องคือ พุทธทาส สันติอโศก และธรรมกาย และจำกัดกรอบเวลาในช่วงปี 2516-2541 อย่างไรก็ตาม เรายังเห็นส่วนอื่นๆ ที่ปรากฏอยู่ในสังคมร่วมสมัยผ่านหน้าสื่อด้วย เช่น เรื่องสังฆราช, เณรคำ, ว.วชิรเมธี, พระเกษม พระเหล่านี้ล้วนมีผลกับวัฒนธรรมการเมืองในสังคมไทยแต่ไม่ถูกคิดเป็นปัจจัยในการเปลี่ยนแปลง

หัวข้อจะคุย คือ 1.พุทธศาสนา-ราชาชาตินิยม เนื่องจากพุทธศาสนาไม่ได้อยู่ลอยๆ แต่เกี่ยวพันกับการเมือง พุทธศาสนามักอยู่ด้านหลังการเมือง หรืออาจเรียกว่าเป็น‘การเมืองแบบอีแอบ’ ศาสนาถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเสมอมา ชัดเจนมากในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งมีการออกกฎหมายควบคุมสงฆ์อย่าง พ.ร.บ.ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ รศ.112 และต่อมามีการจัดทำ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 เป็นการแก้กฎหมายให้คณะสงฆ์มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีการเกิดวัดประชาธิปไตย (วัดพระศรีมหาธาตุ) เกิดสภาสงฆ์ (ซึ่งมีการแบ่งเป็น 3 อำนาจเช่นกัน บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ) ระหว่างนี้รัฐบาล โดยเฉพาะสมัย จอมพลป. ก็ลดความสำคัญของสถาบันกษัตริย์ลง ขณะเดียวกันสมัยสฤษดิ์ก็ให้ความสำคัญกับพุทธศาสนา และสถาบันกษัตริย์มากขึ้น และพุทธศาสนาก็มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านคอมมิวนิสต์

ตัวอย่างสำคัญคือ บทบาทของพระพิมลธรรม ซึ่งเคยไปสอนวิปัสสนากรรมฐานแก่นักโทษคดีกบฏสันติภาพปี 2495 ทำให้โดนรัฐเพ่งเล็งว่าเชื่อมโยงกับฝ่ายซ้าย แล้วถูกตั้งข้อหาคอมมิวนิสต์กระทั่งถูกจับศึกในปี 2505 เนื่องจากในช่วงทศวรรษ 2500 มีปัญหาความมั่นคงมากขึ้นจากภัยคอมมิวนิสต์ ขณะเดียวกันสถาบันกษัตริย์กับพุทธศาสนาก็เชื่อมโยงกันมากขึ้น เช่น การที่ในหลวงสร้างพระพุทธรูป ภปร.ในปี 2508 สร้างพระเครื่องสมเด็จจิตรลดา ปี 2508-2513 พระราชทานแก่ทหารไว้เป็นเครื่องรางในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์

นอกจากนี้ยังมีความพยายามให้พุทธศาสนาไปได้กับประชาธิปไตยด้วย เนื่องจากกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยพุ่งสูงขึ้น แม้ยังไม่เจอว่ามีพระร่วมเดินขบวนในเหตุการณ์14 ตุลาหรือไม่ แต่ในเชิง mass พลังพุทธศาสนาที่เกิดหลัง 14 ตุลาก็สะท้อนเหตุการณ์ช่วงนั้นด้วยเช่นกัน เช่น การที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีลานโพธิ์ วัดมหาธาตุข้างๆ นั้นเองก็มีพื้นที่พบปะของพระหัวหัวก้าวหน้าเรียก “ลานอโศก” นอกจากนี้ยังมีการรวมตัวชุมนุมเรียกร้องให้คืนสมณศักดิ์ให้พิมลธรรม  ตลอดจนมีการเขียนบทความ บรรยายให้เห็นว่าพระพุทธศาสนามีความเป็นประชาธิปไตย โดยมีจุดยืนให้คนมีศีลธรรม

ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งก็มีการเข้าทรงคาร์ล มาร์กซ์ ในการขอแนวทางการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ปรากฏบทบาทพระอย่างพระกิตติวุฑโฒ หรือแม้แต่พุทธทาสเองก็เคยไปบรรยายให้ลูกเสือชาวบ้านที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีฟัง เรียกได้ว่าเข้ามาสัมพันธ์กับรัฐอย่างใกล้ชิด เป็นเครื่องมือของรัฐในการสร้างความมั่นคง

หลังการรัฐประหาร 6 ตุลา 19 สิ่งพิมพ์แนวคิดทางการเมืองกลายเป็นสิ่งต้องห้าม ขณะที่แนวคิดทางพุทธศาสตร์ได้รับการเผยแพร่ สร้างสรรค์ ผลิตซ้ำเรื่อยๆ  พระเครื่องที่เป็นพระเกจิก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ

2.จากราชาชาตินิยม จากพุทธศาสนาสู่ชนชั้นกลาง

มีความพยายามยกระดับ ชาตินิยม กษัตริย์นิยม พร้อมๆ กันก็มีการผลิตสื่อธรรมะมากมายโดยผ่านเทคโนโลยีใหม่ๆ  มีเทปคำสอน หนังสือธรรมมะของพระรูปต่างๆ ฯลฯ ซึ่งชนชั้นกลางเป็นชนชั้นที่เข้าถึงทรัพยากรเหล่านี้ได้อย่างแพร่หลาย ขณะเดียวกันก็มีความพยายามในการจัดระเบียบพุทธศาสนา เช่นกรณีพระอนันต์ ชยานันโท (อนันต์ เสนาขันธ์)  อดีตตำรวจนักเปิดโปงคอรัปชั่นได้ทำการเปิดโปงอาณาจักรบุปผาซึ่งเป็นลัทธิพิธีที่มีทั้งพุทธและคริสต์ว่างมงาย เป็นภัยความมั่นคง เจ้าสำนักมีความเป็นลูกจีน ฯลฯ 

นั่นเป็นตัวอย่างให้เห็นการกำจัดพระนอกรีต  เป็นการสถาปนาอำนาจนำของนักคิดพุทธศาสนาชนชั้นกลาง

นักคิดชนชั้นกลางที่ดูไร้ความเป็นการเมือง มีประสบการณ์จากตะวันตก พยายามนิยามพุทธศาสนาแบบก้าวหน้าว่า ต้องมีความเป็นเหตุเป็นผลแบบฝรั่ง ตัวอย่างผู้มีบทบาทคือ  พระประยุทธ์ ปยุตโต,  สุลักษณ์ ศิวรักษ์, เสถียรพงษ์ วรรปก,  ประเวศ วะสี

นอกจากนี้ภัยทางคอมมิวนิสต์หมดไปแล้ว แต่พุทธศาสนายังต้องการยอมรับจากตะวันตก โดยพยายามทำให้เป็นวิทยาศาสตร์ เพราะมีปมเรื่องความทันสมัย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในบริบทที่โลกตะวันตกแสวงหาจิตวิญญาโลกตะวันออกด้วย

3. สามสำนัก พุทธศาสนาหัวก้าวหน้า

ขอหยิบยกหนังสือสวนโมกข์ ธรรมกาย สันติอโศก” ซึ่งเป็นการรวมบทความของประเวศ วะสี เขียนในนิตยสารหมอชาวบ้าน โดยพยายามอธิบายพุทธศาสนาสามสำนักที่ประเวศเห็นว่าสำคัญกับการเปลี่ยแปลงสังคมไทย

ประวัติศาสตร์โดยย่อของ 3 สำนักนี้  ช่วงแรกพุทธทาสและสวนโมกข์หยั่งรากและยืนหยัดมากหลัง 6 ตุลา ในสายตาเราอาจเห็นสวนโมกข์เป็นวัดป่าและแหวกขนบโดยที่ให้พื้นที่กับฆารวาส (วัดป่าแบบเดิมไม่เน้นสร้างปฏิสัมพันธ์กับมวลชน) ผ่านการบรรยายธรรมที่สดใหม่และอื่นๆ  แต่ทราบหรือไม่ว่าสวนโมขก์สัมพันธ์แนบแน่นกับรัฐ เช่น หลัง 6 ตุลา 2 ปี สวนโมกข์รับเสด็จพระสังฆราช พุทธทาสส่งเทปไปบรรยายธรรมทางวิทยุช่วงปี 2520-2524 เน้นการเรียกร้องศีลธรรมให้กลับมา

สันติอโศก ถือว่าประกาศแยกตัวจากคณะสงฆ์ปี 2518 ซึ่งไม่เคยมีใครทำก่อน เป็นการปฏิเสธอำนาจรัฐโดยตรง แต่เป็นประเด็นจริงๆ ปี 2525 เมื่อสมณะโพธิรักษ์ออกทีวีบอกว่าบรรลุธรรม จากนั้นมีการโจมตีเขาอย่างมาก ส่วนธรรมกาย แตกต่างออกไปจากสองสำนักแรก เน้นสัมพันธ์กับลำดับชั้นของผู้ใหญ่เช่นการอ้างถึง หลวงปู่สด  จันทสโร แห่งวัดปากน้ำฯ  ลักษณะเด่นคือการสร้างมวลชนผ่านการจัดตั้ง และพยายามสร้างความสัมพันธ์กับราชสำนักแม้จะลดลงในช่วงหลัง โดยไม่ทราบเหตุผล ธรรมกายมีลักษณะเป็น mega church ที่สำคัญมากแต่เราอาจไม่เห็น

4.การสัประยุทธ์ระหว่างคณะสงฆ์

เกิดจากบริบทที่มีเรื่องอื้อฉาวของวงการสงฆ์มากขึ้นในทศวรรษ 2530 ขณะที่เศรษฐกิจก็บูมขึ้นมาก เกิดลัทธิเสด็จพ่อร.5 เจ้าแม่กวนอิม และมีการตรา พ.ร.บ.สงฆ์ปี 2535

ปี 2540 เป็นการกลับมาอีกครั้งของราชาชาตินิยมและพุทธศาสนาหลังฟองสบู่แตก มีแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งปะทะโดยตรงกับสำนักธรรมกาย  ธรรมกายคิดการใหญ่มาก่อนแล้วว่าจะสร้างมหาวิทยาลัย พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ มีการระดมทุน คน มหาศาล มีการแสดงอัศจรรย์ต่างๆ และถูกโจมตีหนักว่า แปลงบุญเป็นสินค้า ถือครองที่ดินน่ากังขา ฯลฯ เหล่านี้เบียดขับให้ธรรมกายเป็นอื่นไปแต่ก็มีการตอบโต้จากฝั่งธรรมกายเช่นกัน เช่นหนังสือการเปิดโปงขบวนการล้มพุทธศาสนา

โดยสรุป เรามักจะมองข้ามศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนาว่ามีบทบาทกับเศรษฐกิจสังคมการเมืองไทยอย่างไร ยกตัวอย่างว่าวันที่10 ต.ค.นี้ ธรรมกายจะหล่อรูปหลวงปู่สดด้วยทองคำหนัก 1 ตัน มูลค่านับพันล้าน และเป็นองค์ที่ 7 แล้ว นอกจากนี้หลังจาก ปี 2541 ก็มีความเปลี่ยนแปลงเยอะ สันติอโศกเข้าร่วม พธม.  ดังนั้น พุทธศาสนาที่มีฐานอนุรักษ์นิยมได้สร้างความก้าวหน้า แต่ก็มีเพดานความคิดที่ไม่สามารถหนีจากการควบคุมของรัฐได้ มีนักวิชาการบางคนเสนอให้แยกรัฐกับศาสนา แต่กรณีของไทยค่อนข้างยาก เพราะมีความสัมพันธ์ฝังลึกและมีลักษณะเป็นอีแอบในการเมือง

“พุทธศาสนาถูก depoliticized (ทำให้ไม่เกี่ยวกับการเมือง) มากไปแล้ว เราต้องมองพุทธศาสนาให้สัมพันธ์กับการเมืองและสังคมให้มากขึ้น”เจ้าของงานศึกษากล่าว

 

อ่านบทวิจารณ์โดยศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

หมายเหตุ

การสัมมนา "หลัง 14 ตุลา" จัดโดย สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ร่ามกับ คณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์
ในวันที่ 5-6 ตุลาคม 2556 ณ ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ดูกำหนดการที่ http://prachatai.com/activity/2013/09/48526

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท