Skip to main content
sharethis


ที่มาภาพ: แฟนเพจ  จารุพงษ์ ทองสินธุ์

(1) จารุพงษ์ ทองสินธุ์ นักศึกษาธรรมศาสตร์ เลขทะเบียน 189342 มีชื่อเล่นว่าเกี๊ยะ เป็นชาวพระแสง จ.สุราษฎร์ธานี

(2) จารุพงษ์จบชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนมัธยมสุราษฎร์ธานี และมัธยมปลายจากโรงเรียนวัดสุทธิวราราม เขาสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ในปี พ.ศ. 2517

(3) ภาพคุ้นตาที่เพื่อนๆเห็นเป็นประจำของจารุพงษ์คือเขามักจะวิ่งไปวิ่งมาระหว่างตึกอมธ.กับพรรคยูงทองที่ตึกโดม

(4) จารุพงษ์เป็นคนชอบเตะฟุตบอล ยามเย็นถ้าว่างเขามักจะชวนเพื่อนๆไปเตะฟุตบอลเสมอ

(5) ฉายาของจารุพงษ์ในหมู่เพื่อนคือ "จา สิบล้อ" เพราะเขาไม่ท้อถอยที่จะหาเหตุผลข้อมูลมาสนับสนุนความคิดของเขา จนกระทั่งเพื่อนๆเองก็อดเห็นด้วยไม่ได้

(6) จารุพงษ์ชอบวาดการ์ตูนเป็นชีวิตจิตใจ เขามักวาดการ์ตูนเป็นเรื่องสั้นให้เพื่อนๆน้องๆอ่านเสมอ

(7) ด้วยความที่เป็นนักกิจกรรม จารุพงษ์กับเพื่อนๆในกลุ่มจึงอ่านหนังสือด้วยวิธีการแบ่งกันคนละวิชา แล้วคนที่อ่านวิชาใดก็เป็นคนรับหน้าที่ติววิชานั้นให้คนอื่นๆในกลุ่ม

(8) อาหารจานโปรดของจารุพงษ์ที่ธรรมศาสตร์ คือ "หอยทอด ท่าพระจันทร์"

(9) ในวันที่ 27 กันยายน 2519 จารุพงษ์บอกกับแม่ว่าเขามีสอบในวันที่ 6 ตุลาคม เขาจะไปสอบและจะกลับบ้านในวันที่ 11 ตุลาคม แม่ลิ้มและพ่อจินดา ทองสินธุ์จึงนั่งรถไฟออกจากกรุงเทพในวันนั้น โดยที่ไม่รู้เลยว่านั่นคือครั้งสุดท้ายที่พวกเขาจะได้เห็นหน้าลูกของตนเอง

(10) ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ขณะที่นักศึกษากำลังถูกล้อมปราบและสังหารด้วยอาวุธสงครามอย่างโหดร้ายทารุณ ที่ตึกกิจกรรมนักศึกษาหลายคนยังไม่ได้หลบหนี จารุพงษ์เป็นคนคอยวิ่งขึ้นลงไล่ให้เพื่อนๆรีบหนีไปให้หมด ระหว่างที่เพื่อนๆทะยอยลงจากตึก จารุพงษ์จะเป็นคนที่คอยยืนคุ้มกันให้และหลังจากที่แน่ใจว่าไม่มีใครหลงเหลืออยู่แล้ว เขาจึงวิ่งไปทางตึกคณะ นิติศาสตร์เพื่อที่จะไปลำเลียงผู้บาดเจ็บที่จมอยู่ในกองเลือดออกมา

(11) แต่หลังจากไล่เพื่อนๆออกจากตึกกิจกรรมในช่วงเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เพื่อนๆของเขาก็ไม่มีใครพบเห็นจารุพงษ์อีกเลย

(12) หนึ่งสัปดาห์ต่อมา เพื่อนๆพบเห็นเขาอีกครั้งในภาพที่ลงอยู่บนหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ เป็นรูปของเขากำลังนอนหลับตาอยู่บนสนามฟุตบอลโดยมีชายไทยใช้ผ้าที่ฟั่นเป็นเกลียวรัดคอและลากไปมาในสนามบอลที่เขามักชวนเพื่อนไปเตะบอลบ่อยๆ

(13) แม่ลิ้มและพ่อจินดา ทองสินธุ์ ไม่ทราบข่าวการเสียชีวิตของลูกชายในวันนั้น จึงได้ออกตามหาลูกมาตลอดหลายสิบปี จนกระทั่งในปี 2539 เมื่อมีการชำระประวัติศาสตร์ 6 ตุลา 2519 เพื่อนๆของเขาได้เดินทางไปหาแม่ลิ้มและพ่อจินดาเพื่อแจ้งข่าว จึงเป็นการสิ้นสุดการตามหาลูกชายที่ยาวนาน 20 ปี

(14) ในปี 2539 เพื่อนๆของจารุพงษ์ได้ร่วมกันปรับปรุงห้องประชุมในตึกกิจกรรมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตั้งชื่อเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกเขาว่า "ห้องประชุมจารุพงษ์ ทองสินธุ์" ห้องนี้มีชื่อห้องเป็นตัวอักษรสีทอง หันหน้าเข้าหาสนามฟุตบอลที่เขาเสียชีวิต

(15) ในปี 2556 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีการปรับปรุงตึกกิจกรรมที่ท่าพระจันทร์ ป้ายชื่อสีทองของเขาถูกถอดออกไประหว่างการปรับปรุง เมื่อเสร็จสิ้นการปรับปรุงตึก อธิการบดีได้มาทำพิธีเปิดตึกอย่างเงียบๆโดยป้ายชื่อจารุพงษ์ได้หายไปแล้ว เหลือแต่ความเมินเฉยของผู้บริหารที่ยังคงเงียบงันต่อไป

 

 

ที่มา: แฟนเพจจารุพงษ์ ทองสินธุ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net