สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 1 - 7 ต.ค. 2556

กสร.ผุดสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯเดือนพฤศจิกายน

นายอาทิตย์ อิสโม อดีตอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เร็วๆ นี้ได้ประชุมคณะทำงานเพื่อจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) ได้ข้อสรุปว่า จะจัดตั้งขึ้นอย่างไม่เป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน โดยร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) จัดตั้งสถาบันฯ ผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว อยู่ระหว่างการตวจสอบเนื้อหาจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อเสร็จเรียบร้อยจะส่งกลับมายังกระทรวงแรงงาน เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานลงนามประกาศใช้

จากนั้นสถาบันฯก็จะเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการโดยเป็นการบริหารงานใน รูปแบบของคณะกรรมการ มีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน มีตัวแทนผู้ประกอบการ ลูกจ้างและผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ เป็นกรรมการ ส่วนตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันฯจะใช้วิธีการสรรหาซึ่งต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ ทางด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

สถาบันฯจะทำหน้าที่ศึกษาวิจัยการพัฒนาและสนับสนุนการจัดทำมาตรฐาน รวมทั้งส่งเสริมและแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมทั้งเป็นหน่วยฝึกอบรมด้านความปลอดภัย มีอัตรากำลังบุคลากรทั้งหมด 22 คน ซึ่งขณะนี้ได้รับโอนมาจาก กสร.แล้ว 12 คน และจะเปิดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเป็นเจ้าหน้าที่ของสถาบันฯอีก 20 คน ในด้านสถานที่นั้น กสร.ได้โอนอาคารของสำนักงานความปลอดภัย เขตตลิ่งชัน กทม. ให้เป็นทรัพย์สินของสถาบันฯโดยได้รับงบประมาณปรับปรุงอาคารจากรัฐบาล 31 ล้านบาท ส่วนงบฯดำเนินการนั้นได้รับจัดสรรมาจากกองทุนส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

(มติชนออนไลน์, 1-10-2556)

ก.แรงงานเตรียมลงพื้นที่ช่วยผู้ประสบภัย 19 จังหวัด

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ที่กระทรวงแรงงาน นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.)รักษาการปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยข้าราชการกระทรวงแรงงาน ร่วมใจกันบรรจุสิ่งของที่ได้รับการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยลง ถุงยังชีพ ที่บริเวณใต้ถุนตึกกระทรวงแรงงาน โดยจะนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนในวันเสาร์ที่จะถึงนี้ โดยเริ่มที่จังหวัดสระแก้ว และปราจีนบุรี ซึ่งจะเดินทางไปแจกจ่ายด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้ข้าราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานลงพื้นที่ไปช่วยเหลือ ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ โดย นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน(กกจ.) ไปช่วยเหลือประชาชน ในจังหวัดชัยนาถและอ่างทอง นายนคร  ศิลปะอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.) เดินทางไปจังหวัดฉะเชิงเทราและนครนายก นายพนิช จิตร์แจ้ง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ไปจังหวัดชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ น.ส.พรรณี ศรียุทธศักดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและสระบุรี มล.ปุณฑริก สมิติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ไปจังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษและอำนาจเจริญ นายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกสร. ไปจังหวัดนครสวรรค์และอุทัยธานี และสำนักงานประกันสังคม ไปจังหวัดลพบุรีและสิงบุรี

นอกจากนี้ในวันจันทร์ ที่ 7 ตุลาคม ยังได้มอบหมายให้ข้าราชการชุดที่สองเดินทางไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบ อุทกภัยในจังหวัดกำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุพรรณบุรีและมุกดาหาร

(มติชนออนไลน์, 2-10-2556)

กรมการจัดหางาน แก้ปัญหาแรงงานเก็บเบอรรี่ที่สวีเดน-ฟินแลนด์

กรุงเทพฯ 3 ต.ค.-กรมการจัดหางาน สั่งนายจ้างจ่ายเงินให้ 240 แรงงานไทยเก็บผลไม้ตระกูลเบอรรี่ที่สวีเดน หลังได้รับค่าจ้างไม่ครบตามสัญญา พร้อมเดินทางเจราจากับรัฐบาลสวีเดน-ฟินแลนด์ออกวีซ่าตามโควตาที่ต้องการ

นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการแก้ปัญหาแรงงานไทยที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าตระกูลเบอร์รี่ที่ ประเทศสวีเดนว่า มีแรงงานไทยเดินทางไปเก็บผลเบอร์รี่ผ่านบริษัทจัดหางานทั้งหมด 6,100 คน

โดยได้รับการออกวีซ่าจากรัฐบาลสวีเดนและเสียค่าใช้จ่ายเดินทางทั้งหมด 78,000 บาทต่อคน  ซึ่งแรงงานไทยได้กู้เงินธนาคารเพื่อจ่ายเงินค่าเดินทางให้แก่บริษัทจัดหางาน โดยนายจ้างได้หักเงินค่าจ้างไว้ส่วนหนึ่งเพื่อจ่ายหนี้เงินกู้แก่ธนาคาร 

ทำให้แรงงานไทย 240  คนไม่พอใจที่ได้รับเงินค่าจ้างไม่ครบตามสัญญาจ้างออกมาชุมนุมประท้วง  ขณะนี้ทั้งหมดเดินทางกลับประเทศแล้ว

ทั้งนี้กกจ.ได้แจ้งให้นายจ้างจ่ายเงินค่าจ้างให้ครบตามสัญญาจ้างไม่เช่น นั้นจะฟ้องร้องเอาผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541  เพราะกฎหมายห้ามไม่ให้หักเงินค่าจ้างจะต้องจ่ายให้ครบตามสัญญา จ้าง               

ส่วนประเทศฟินแลนด์มีแรงงานไทยเดินทางไป 3,000 คน โดยเดินทางไปเองและใช้วีซ่านักท่องเที่ยว เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางทั้งหมด  88,000  บาทต่อคน และในจำนวนที่เดินทางไปทั้งหมดมี  50  คนที่ชุมนุมประท้วงเนื่องจากแรงงานไทยไม่พอใจที่นายจ้างให้ไปเก็บผลเบอร์รี่ ชนิดที่ไม่มีความชำนาญในการเก็บและแรงงานส่วนหนึ่งก็ถูกพาไปในพื้นที่ที่ไม่ มีผลเบอร์รี่  ทำให้เดินทางออกไปจากแคมป์โดยไม่ได้รับอนุญาต  ทำให้รัฐบาลถอนวีซ่าแรงงานไทยทั้ง 50 คนโดยแรงงานไทยกลุ่มนี้เคยมีปัญหาในการเดินทางไปเก็บเบอร์รี่ที่ประเทศ สวีเดนในปีที่แล้ว 

อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้นายสิงหเดช  ชูอำนาจ ผู้ตรวจราชการของ กกจ.เดินทางไปแก้ปัญหาในเรื่องนี้แล้ว โดย กกจ.จะหารือรัฐบาลสวีเดนและฟินแลนด์ว่ามีความต้องการแรงงานไทยไปเก็บผลเบอร์ รี่จำนวนเท่าใด และให้ออกวีซ่าตามโควตาที่ต้องการ เพื่อไม่ให้แรงงานไทยเดินทางไปแย่งกันเก็บผลเบอร์รี่ซึ่งทำให้ราคาตกต่ำ   รวมทั้งจะเจรจากับรัฐบาลทั้งสองประเทศว่าจะรับซื้อผลเบอร์รี่เป็นจำนวน เท่าใดเพื่อให้แรงงานไทยมีรายได้แน่นอน

(สำนักข่าวไทย, 3-10-2556)

พิษน้ำท่วมปิด 7 โรงงานใน 4 จว.

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.)ในฐานะรักษาการปลัดกระทรวงแรงงาน(รง.) เปิดเผยว่า จากการกำชับให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.)โดยเจ้าหน้าที่สวัสดิการ และคุ้มครองแรงงานทั่วประเทศติดตามผลกระทบน้ำท่วมที่เกิดขึ้นกับสถานประกอบ การและลูกจ้าง ล่าสุดมีรายงานว่าสถานประกอบการ 7 แห่งใน 4 จังหวัด ประกอบด้วยจ.นครนายก สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานีได้รับผลกระทบเพราะน้ำเข้าท่วมโรงงานจนต้องหยุดกิจการชั่ว คราว ลูกจ้างได้รับผลกระทบ193 คน

นอกจากนี้ ยังมีสถานประกอบการและแรงงานได้รับผลกระทบที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะน้ำท่วมบ้านพักลูกจ้าง จนไม่สามารถไปทำงานได้ หรือ ท่วมโดยรอบโรงงานจนทำให้การทำงานล่าช้าอีก 431 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้อง 6,726 คน แต่ยังไม่มีรายงานเรื่องการร้องเรียนเกิดขึ้น แต่เพื่อความไม่ประมาทก็ได้กำชับเจ้าหน้าที่ ติดตามผลกระทบอย่างใกล้ชิด และรายงานเป็นระยะ

"ขณะนี้ยังไม่มีรายงานการร้องเรียนเกี่ยวกับการจ้างงาน หรือ การจ่ายค่าจ้าง จากลูกจ้าง เชื่อว่าทั้งนายจ้างและลูกจ้างอยู่ระหว่างการจัดเก็บสิ่งของหนีน้ำหรือดูแล บ้านเรือนของตน จึงยังไม่มีการตรวจสอบเรื่องเงินเดือน แต่หากลูกจ้างได้รับผลกระทบจนส่งผลเกี่ยวกับการจ้างงาน สามารถขอคำปรึกษาได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ทั่วประเทศ หรือ โทรมาแจ้งเรื่องที่สายด่วน 1546 ได้" รักษาการปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว

นายจีรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า วันนี้(4ต.ค.)ตนเองและคณะผู้บริหารก็ได้ลงพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดลพบุรี เพื่อนำถุงยังชีพ เรือ และของใช้ที่จำเป็นลงไปช่วยเหลือประชาชน นอกจากนี้ในวันพรุ่งนี้ก็จะลงพื้นที่จังหวัดสระแก้วและปราจีนบุรีด้วย ขณะเดียวกันยังได้มอบหมายให้ผู้บริหารต่างๆกระจายลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน ในทั้ง 25 จังหวัดด้วย

(เนชั่นทันข่าว, 4-10-2556)

รมว.คมนาคมสั่งสอบคลิปสาย 8 โต้เถียงผู้โดยสาร

กรุงเทพฯ 6 ต.ค.-นายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  กล่าวถึงกรณีมีการเผยแพร่คลิปในโลกโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นภาพพนักงานเก็บค่าโดยสารของรถเมล์ สาย  8  โต้เถียงผู้โดยสารว่า ได้สั่งการให้นายสมชัย ศิริวัฒนโชค ปลัดกระทรวงคมนาคม สอบสวนเรื่องดังกล่าวและรายงานผลให้ทราบภายในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้การบริการของระบบขนส่งและรถเมล์ทั้งร่วมบริการ และ ขสมก.นั้น ถือเป็นเรื่องที่กระทรวงคมนาคมให้ความสนใจ การบริการจะต้องได้มาตรฐานและให้ผู้โดยสารได้รับบริการดีที่สุด 

ส่วนกรณีการร้องเรียนการขับรถให้บริการที่ผ่านมาพบว่ารถเมล์สาย 8 เป็นรถร่วมบริการที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดในเรื่องคุณภาพบริการนั้น นายชัชชาติ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่กระทรวงคมนาคมกวดขัน ที่ผ่านมามีการจับกุมผู้กระทำผิดของรถเมล์สายดังกล่าวหลายราย ก็จะนำมาพิจารณาประกอบข้อมูลในการสอบสวนการกระทำผิดของรถเมล์สาย 8 ในช่วงที่ผ่านมาด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการกำกับดูแลรถร่วมบริการ เพื่อให้มีมาตรฐานสูงขึ้น ที่ผ่านมา ปลัดกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่า หลังจากมีบทลงโทษผู้ขับรถร่วมบริการที่บริการไม่เหมาะสม  นอกจากจะลงโทษเป็นรายบุคคลสำหรับรถแต่ละคันที่มีผู้ขับรถหรือพนักงานเก็บค่า โดยสารกระทำผิดแล้ว หลังจากนี้จะมีบทกำกับดูแลที่เข้มงวด หากพบว่าผู้สัมปทานเดินรถรายใดพนักงานกระทำผิดซ้ำซากก็จะพิจารณาบทลงโทษใน เรื่องการต่อใบอนุญาตในอนาคตด้วย

(สำนักข่าวไทย, 6-10-2556)

ตรวจเข้มสถานประกอบการใช้แรงงานเด็ก

กรุงเทพฯ 6 ต.ค.-กสร.เผย ช่วง 1 ปีผ่านมาพบสถานประกอบการใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี 24 คน จากโรงงานประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ร้านอาหาร และแปรรูปอาหารทะเล เร่งประสานตำรวจ-หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจเรือประมง-โรงงาน ดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเข้มงวด

นายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงกรณีสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานปัญหาและการปราบปรามการใช้แรงงาน เด็ก 143 ประเทศทั่วโลกพร้อมชื่นชมว่า 10 ประเทศมีความคืบหน้าที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา ซึ่งรวมถึงประเทศไทย แต่ยังมีปัญหาบังคับใช้กฎหมายแรงงานว่า จากข้อมูลของ กสร.ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2555 ถึงเดือนกันยายน 2556 พบว่ามีสถานประกอบการจำนวน 4 แห่งประกอบธุรกิจร้านอาหาร เครื่องดื่ม ผลิตหลอดและชิ้นส่วนประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงแปรรูปอาหารทะเลที่ใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี รวมเด็กทั้งหมด 24 คน ซึ่งผู้ประกอบการที่กระทำผิดก็ได้ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เนื่องจากกระทำผิดมาตรา 44 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งกำหนดไว้ห้ามนายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเป็นลูกจ้าง มีโทษตามมาตรา 144  จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

รองอธิบดี กสร.กล่าวอีกว่าจะประสานไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรมประมงและกองทัพเรือเพื่อให้ช่วยตรวจสอบการใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีบนเรือประมง รวมทั้งจะกำชับไปยังสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดต่างๆให้ร่วม กับเจ้าหน้าที่ตำรวจออกตรวจตามสถานประกอบการในพื้นที่ว่ามีการใช้แรงงานเด็ก อายุต่ำกว่า 15 ปีหรือไม่  หากพบว่าสถานประกอบการใดกระทำผิดก็ให้ดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างเข้มงวด รวมถึงจะขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เร่งสอบสวนและดำเนินการเอาผิดตาม กฎหมาย เพื่อแสดงให้สหรัฐอเมริกาเห็นว่าไทยไม่ได้นิ่งนอนใจแต่มีการบังคับใช้กฎหมาย อย่างจริงจัง.

(สำนักข่าวไทย, 6-10-2556)

หาทางออกพนักงานสวนสัตว์ต้านการควบรวม

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 7 ต.ค.  นายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการโอนย้ายสวนสัตว์ เชียงใหม่ เพื่อไปควบรวมเข้ากับสำนักงานพัฒนาพิงคนคร ที่ทางสวนสัตว์เชียงใหม่ ได้ออกมาต่อต้านการควบรวม โดยมีนายกาญจน์ชัย แสนวงศ์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่ของสวนสัตว์เชียงใหม่ ให้การต้อนรับ พร้อมกับยืนถือป้ายต่อต้านการควบรวมรออยู่บริเวณด้านหน้าสวนสัตว์เชียงใหม่

หลังจากนั้นนายวิเชียรฯ ได้ขึ้นไปที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคารโสภณดำนุ้ย เพื่อฟังประวัติของสวนสัตว์เชียงใหม่ ตั้งแต่เริ่มการต่อตั้งจนถึงปัจจุบัน จากนั้นก็ลงมารับหนังสือจากกลุ่มผู้ชุมนุม โดยมีนายวิมุต ชมพานนท์ ตัวแทนพนักงานและลูกจ้าง องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นยื่นหนังสือร้องเรียนให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

นายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยหลังจากที่ได้รับหนังสือว่า ในวันนี้ตนได้มาด้วยเรื่องทั้งหมด 2 เรื่อง คือเรื่องแรก ตนได้มารับตำแหน่งใหม่ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม จึงได้เข้ามาเยี่ยมและแนะนำตัวให้กับทางเจ้าหน้าที่และพนักงานของสวนสัตว์ เชียงใหม่ ส่วนเรื่องที่สอง ก็เป็นเรื่องที่มีข่าวออกไป เกี่ยวกับการควบรวมสวนสัตว์เชียงใหม่ เข้ากับสำนักงานพิงคนคร (องค์การมหาชน)

ในเรื่องนี้ตนก็ทราบข่าวมาบ้างแล้ว เพราะเห็นลงในหนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์  แต่ตนพึ่งมารับตำแหน่งใหม่ ยังไม่ทราบถึงปัญหาที่ชัดเจน ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาในการศึกษาสักระยะ พร้อมกับจะได้เข้ามาพบปะกับพี่น้องพนักงานของสวนสัตว์เชียงใหม่ ให้มากขึ้น เพื่อรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นว่าควบรวมแล้วจะมีข้อดีข้อเสียอย่างไร จากนั้นก็จะได้นำเอาข้อมูลที่ได้เสนอต่อทางผู้ใหญ่ และรัฐบาล ที่จะเดินทางมาประชุมร่วมกับทางคณะรัฐมนตรีจีน ที่จะเดินทางมาประชุมในวันที่ 12 - 13 ตุลาคมนี้ ซึ่งตนยืนยันว่าจะช่วยเหลือให้ถึงที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ทั้งนี้ขอเวลาในการศึกษาข้อมูลก่อน

ด้านนายวิมุต ชมพานนท์ ตัวแทนพนักงาน และลูกจ้าง องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า จากที่ทางนางสาวยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้สวนสัตว์เชียงใหม่ สังกัดองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โอนย้ายมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2556 ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาในการโอนย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่ดังกล่าว และนำเสนอคณะรัฐมนตรี

ทางพนักงาน และลูกจ้าง สวนสัตว์ทุกแห่งในประเทศไทย ที่สังกัดองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีความเห็นพ้อง ไม่ประสงค์ให้โอนย้าย ไปควบรวมกับสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) เพราะว่าทางพนักงานและลูกจ้าง เห็นว่าไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการควบรวม และไม่มีใครสามารถให้ข้อมูลได้ แล้วยังไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบที่แท้จริง ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ แล้วหากย้ายไปอยู่ในรูปแบบของเอกชน ก็จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างมาก เรื่องของนักท่องเที่ยวและการวิจัยด้วย ดังนั้นจึงได้ออกมาขัดค้านในเรื่องของการควบรวมดังกล่าว หลังจากที่ยื่นหนังสือให้กับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในครั้งนี้แล้ว ก็จะมีการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านอย่างต่อเนื่องต่อไป

(เดลินิวส์, 7-10-2556)

สปส.เผยผลศึกษา 6 แนวทางเบื้องต้นแก้กองทุนชราภาพของประกันสังคมติดลบเร่งชงบอร์ด สปส.เสนอ ครม.

(7 ต.ค.) นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการเตรียมการแก้ปัญหาเงินกองทุนชราภาพในกองทุนประกันสังคมจะติดลบใน อนาคตเนื่องจากต้องจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพว่า ปัจจุบันเงินกองทุนประกันสังคมมีอยู่กว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งในปี พ.ศ. 2557 สปส.จะเริ่มจ่ายเงินบำนาญชราภาพเป็นปีแรกโดยได้ประมาณการจะมีผู้ประกันตนได้ รับเงินบำนาญและบำเหน็จชราภาพรวมทั้งสิ้นกว่า 1.2 แสนคน จะต้องจ่ายเงินกองทุนชราภาพในกองทุนประกันสังคมออกไปกว่า 8 พันล้านบาท และได้ประมาณการของ สปส.ว่าในปี พ.ศ.2587 หรืออีก 31 ปีข้างหน้ากองทุนชราภาพจะอยู่ในภาวะติดลบ
      
ทั้งนี้คณะทำงานศึกษากำหนดรูปแบบจำลองการพัฒนาบำนาญชราภาพในระบบประกัน สังคมของ สปส.ได้สรุปทางเลือกเบื้องต้นในการแก้ปัญหาไว้ 6 ทางเลือก เพื่อยืดอายุกองทุนชราภาพได้แก่

1.การปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบกรณีชราภาพในส่วนผู้ประกันตนร้อยละ 1 และนายจ้างร้อยละ 0.5 ทุกๆ 3 ปีโดยปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น ปรับเพิ่มร้อยละ 0.34 ต่อปีและร้อยละ 0.17 ต่อปี กระทั่งอัตราเงินสมทบกรณีชราภาพในส่วนผู้ประกันตนอยู่ที่ร้อยละ 13 และในส่วนนายจ้างอยู่ที่ร้อยละ 8 รวมอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนชราภาพเท่ากับร้อยละ 21 หลังจากนั้นกำหนดให้อัตราเงินสมทบคงที่ในอัตราดังกล่าวยืดอายุกองทุน 47 ปี
       
2.การเพิ่มอายุผู้ที่มีสิทธิรับบำนาญ 2 ปีทุกๆ 4 ปีจนอายุเกษียณอยู่ที่ 62 ปี อาจใช้ปีเกิดเป็นเกณฑ์ เช่น ผู้ที่เกิดปี พ.ศ.2510 เป็นต้นไปจะมีสิทธิรับบำนาญเมื่ออายุ 62 ปี หรืออาจกำหนดปีที่จะปรับเพิ่มอายุเกษียณ เช่น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 เป็นต้นไป อายุเกษียณจะปรับเพิ่มปีละ 6 เดือน โดยอัตราเงินสมทบคงที่ทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างอยู่ที่ร้อยละ 3 ยืดอายุกองทุน 38 ปี 3.เพิ่มระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบก่อนเกิดสิทธิรับบำนาญจาก 15 ปี เป็น 20 ปี โดยอัตราเงินสมทบเป็นอัตราที่ใช้อยู่ในปัจจุบันและอายุเกษียณอยู่ที่ 55 ปี ยืดอายุกองทุน 34 ปี
       
4.การปรับการคำนวณค่าจ้างเฉลี่ยจากฐาน 60 เดือนสุดท้ายของเงินเป็นตลอดช่วงการจ่ายเงินสมทบเพื่อใช้คำนวณเงินบำนาญ ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ค่าจ้างเฉลี่ยตลอดชีวิตต่ำกว่าค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายอยู่ที่ร้อยละ 19 และค่าใช้จ่ายด้านเงินบำนาญของกองทุนประกันสังคมลดลงร้อยละ 19 เช่นกัน ยืดอายุกองทุน 33 ปี
       
5.มาตรการผสมโดยใช้ทางเลือกที่ 1 บวก 3 ยืดอายุกองทุน 59 ปี และ

6.มาตรการผสมโดยใช้ทางเลือก 1+2+3+4 พร้อมกัน ทำให้กองทุนประกันสังคมมีเสถียรภาพนานไปถึงปี พ.ศ.2629 หรืออีก 73 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม แต่ละมาตรการจะต้องเริ่มต้นไม่ช้ากว่าปี พ.ศ.2560
      
“ ทั้ง 6 ทางเลือกข้างต้นนี้เป็นแต่เพียงผลการศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ในขณะนี้ อาจจะมีแนวทางอื่นๆเพิ่มเติมขึ้นมาอีกก็ได้ คาดว่าจะเห็นทิศทางของแนวทางแก้ปัญหาที่ชัดเจนในปีหน้าโดยจะต้องเสนอคณะ อนุกรรมการพิจารณาและกำหนดแนวทางการจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ พิจารณาแล้วเสนอต่อบอร์ด สปส.
      
หลังจากนั้นจะนำมาตรการดังกล่าวไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง รวมทั้งนักวิชาการเพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับกับมาตรการที่จะนำมาใช้แก้ปัญหา เพราะการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกี่ยวกับระบบประกันสังคมมีผลกระทบต่อผู้ประกันตนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งระบบ หลังจากนั้นได้ข้อสรุปจากเวทีรับฟังความคิดเห็นแล้ว จะเสนอข้อสรุปเข้าสู่บอร์ด สปส.เมื่อบอร์ด สปส.มีมติเห็นชอบแล้ว ก็จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป” รองเลขาธิการ สปส.กล่าว
      
ในเร็วๆ นี้ ทาง สปส.จะมีการหารือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)เรื่องการโอนเงินสิทธิประโยชน์เกี่ยวการรักษาพยาบาลว่าจะให้ สปสช.เป็นผู้ดูแลหรือไม่ซึ่งต้องรอฟังข้อสรุปอีกครั้ง

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 7-10-2556)

กกจ.ชู 3 เรื่องเยียวยาแรงงานประสบปัญหาน้ำท่วม

วันนี้ (7 ต.ค.) นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน(กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดอุทกภัยน้ำท่วมขึ้นในหลายพื้นที่ทำให้นายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานได้รับผลกระทบจำนวนมาก กรมการจัดหางานได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ขึ้น ณ ชั้น 14 กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการอำนวยการและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค พร้อมวางมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ใน 3 ระยะ ได้แก่ มาตรการระหว่างเกิดอุทกภัย สำนักงานจัดหางานจังหวัดจะเข้าไปทำการสำรวจข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบและต้อง การความช่วยเหลือ แจกถุงยังชีพ อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ รวมทั้งจัดหาตำแหน่งงานว่าง และประสานการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเป็นระบบ ระยะสองเป็นการฟื้นฟูหลังน้ำลดให้บริการจัดหางาน ส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ แนะแนวอาชีพและให้คำปรึกษาด้านอาชีพ และระยะที่สาม เยียวยาภายหลังน้ำลด โดยการจัดนัดพบแรงงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ควบคู่กับการประสานการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเป็นระบบ ในการนำรถโมบายออกไปให้บริการแนะแนวอาชีพ “ตามโครงการมีงานทำนำชุมชนเข้มแข็ง” เข้าไปในพื้นที่ หมู่บ้าน ตำบล ส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ พร้อมมอบวัสดุอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพรุ่นละ 15,000 บาท และส่งเสริมการรับงานไปทำที่บ้าน

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 7-10-2556)

แรงงานร้องดีเอสไอถูกหลอกเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดนแต่ไม่มีการจ้างงานจริง

ดีเอสไอ 7 ต.ค.-แรงงานถูกหลอกเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดนร้องดีเอสไอดำเนินคดีกับบริษัทจัด หางานหลอกค่าหัวคิว เมื่อเดินทางถึงสวีเดนกลับไม่มีการจ้างงานจริง 

แรงงานกว่า 200 คนที่ถูกหลอกไปทำงานเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดนและไม่ได้รับค่าจ้าง ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ดีเอสไอดำเนินคดีกับบริษัทจัดหางานที่จัดส่งแรงงานไป 

นายสมศักดิ์ เสมอทัพ อายุ 37 ปี ตัวแทนแรงงาน กล่าวว่า กลุ่มแรงงานถูกหลอกไปทำงานในช่วง 24 ก.ค.-27 ก.ย. ที่ผ่านมา ประมาณ 500 คน แต่ละคนต้องเสียค่าใช้จ่ายก่อนเดินทาง ทั้งค่าวีซ่า และกู้เงินจากสินเชื่อเป็นค่าเดินทางให้กับบริษัทตั้งแต่ 80,000 บาท จนถึงหลักแสนบาท แต่เมื่อเดินทางไปถึงกลับพบว่าไม่มีผลไม้ให้เก็บเพียงพอที่จะเป็นรายได้นำมา หักจากเงินที่กู้ไป

จากการสอบถามพบว่าทุกรายที่เดินทางไปในรอบที่ผ่านมาล้วนมีปัญหาถูกหลอก เอาเงินค่าหัวคิวไปทั้งสิ้น ดังนั้น จึงต้องการให้ดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบการดำเนินธุรกิจของบริษัทซึ่งมีที่ตั้ง อยู่ จ.ชัยภูมิ ว่าดำเนินการถูกต้องหรือไม่ โดยแรงงานที่ถูกหลอกส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา ขอนแก่น และอุดรธานี โดยคนในหมู่บ้านแนะนำกันต่อๆ จึงเชื่อใจ รวมทั้งเมื่อมีแรงงานไปพร้อมกันมากจึงมีผลไม้ไม่มากพอให้เก็บ นอกจากนี้ยังต้องเสียค่าใช้จ่าย ทั้งค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าน้ำมันรถเพื่อไปทำงานด้วย ทำให้เมื่อเดินทางกลับมานอกจากไม่มีรายได้แล้วยังไม่มีเงินกลับมาใช้หนี้ที่ กู้เพื่อเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วย

(สำนักข่าวไทย, 7-10-2556)

แรงงานบุกทำเนียบทวงถาม สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 87-98

7 ต.ค.56 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย พร้อมด้วย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) องค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย เครือข่ายแรงงานนอกระบบ องค์การแรงงานแห่งประเทศไทย และเครือข่ายปฏิบัติงานข้ามชาติ ประมาณ 200 คน รวมตัวชุมนุมที่บริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล ตรงข้ามกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อทวงถามการให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว พ.ศ.2491 และอนุสัญญาใน ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการร่วมตัวและการร่วมเจราจาต่ารอง พ.ศ.2492 คือสองใน 8 อนุสัญญาหลักของ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอเอลโอ) ที่ทั่วโลกถือว่าเป็นอนุสัญญาที่สำคัญที่สุดที่รับรองสิทธิขั้นพื้นฐาน

เบื้องต้นของผู้ใช้แรงงานจึงขอท้วงถามเรื่องดังกล่าวที่ได้เคยยื่น หนังสือให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่ารัฐบาลได้มีการดำเนินการเรื่องดังกล่าวแล้วหรือยัง ทั้งนี้ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน พร้อมรถขยายเสียง รักษาความปลอดภัยอย่างเข็มงวด

(บ้านเมือง, 7-10-2556)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท