Skip to main content
sharethis

‘จารุพงษ์ ทองสินธุ์’ หนึ่งในนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ล้อมปราบ 6 ตุลา 2519 วันนี้มีผู้ตั้งแฟนเพจเขาขึ้นมาเพื่อทวนความจำ ทวงห้องประชุมชื่อเดียวกับนี้ พร้อมคลิป "การสอบที่ยากที่สุดของธรรมศาสตร์" 

ภาพจากเพจจารุพงษ์ ทองสินธุ์

เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 37 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่เกิดการล้อมปราบนักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมประท้วงการเดินทางกลับประเทศไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

หนึ่งในผู้เสียชีวิตคือนักศึกษาธรรมศาสตร์รหัส 18 จากสุราษฎร์ธานี ผู้มีใบหน้ายิ้มแย้ม เจ้าของฉายา "จา สิบล้อ”ซึ่งเพื่อนๆ ตั้งให้ด้วยเหตุที่เขาไม่เคยท้อถอยในการหาเหตุผลข้อมูลมาสนับสนุนความคิดของเขา จนกระทั่งเพื่อนๆเองก็อดเห็นด้วยไม่ได้ (อ่านเรื่องราวของจารุพงษ์ เพิ่มเติมได้ที่ 15 เรื่องเพื่อทำความรู้จักกับ "จารุพงษ์ ทองสินธุ์" หนึ่งในผู้เข้าสอบ 6 ตุลาคม 2519)

20 ปีต่อมากลุ่มเพื่อนเขาได้ร่วมกันปรับปรุงห้องในอาคารกิจกรรมนักศึกษาห้องหนึ่ง ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และตั้งชื่อห้องนั้นว่า "ห้องประชุมจารุพงษ์ ทองสินธุ์” ซึ่งเป็นที่รู้จักดีของหมู่เด็กกิจกรรมรุ่นใหม่ ในฐานะที่พักพิงและพื้นที่ทำกิจกรรมของเหล่านักนักศึกษา แต่ล่าสุดจากการปรับปรุงอาคารดังกล่าวดูราวกับว่าห้องจารุพงษ์จะหายไปเสียแล้ว

เพจ “จารุพงษ์ ทองสินธุ์" ที่เพิ่งตั้งเมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้นำเรื่องราวดังกล่าวมาเผยแพร่ พร้อมทั้งปลุกจารุพงษ์ขึ้นมาอีกครั้งในพื้นที่โซเชียลเน็ตเวิร์ค โดยใช้รูปโปรไฟล์เป็นใบหน้าอันยิ้มแย้มของจารุพงษ์ และมีการปล่อยวิดีโอคลิปที่ชื่อว่า "การสอบที่ยากที่สุดของธรรมศาสตร์" ซึ่งหมายถึงบททดสอบจากเหตารณ์ 6 ตุลานั่นเอง แน่นอนว่าหนึ่งในผู้ที่สอบไม่ผ่านก็คือ “จารุพงษ์ ทองสินธุ์"

วิดีโอคลิป"การสอบที่ยากที่สุดของธรรมศาสตร์"

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แชร์ภาพจากเพจจารุพงษ์ ทองสินธุ์ ผ่านเฟซบุ๊กตัวเอง (Charnvit Ks) เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา พร้อมข้อความในเชิงตั้งคำถามถึงห้องจารุพงษ์ฯ เช่นเดียวกับ วันรัก สุวรรณวัฒนา อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แชร์ภาพรณรงค์ “อย่าลบจารุพงษ์ ออกจากธรรมศาสตร์” จากเพจจารุพงษ์ ทองสินธุ์ ผ่านเฟซบุ๊กตัวเอง (Fay Suwanwattana) พร้อมกับกล่าวว่า “อย่าลบชื่อ "ห้องประชุมจารุพงษ์ ทองสินธุ์" ในตึกกิจกรรมนักศึกษา มธ. ท่าพระจันทร์ออกไป”

ประชาไทสนทนากับแอดมินเฟซบุ๊กแฟนเพจและผู้ทำวิดีโอคลิปดังกล่าวเพื่อสำรวจแนวคิดของการปลุกจารุพงษ์ขึ้นมา

ภาพจากเพจจารุพงษ์ ทองสินธุ์

ประชาไท : ทำไมถึงทำเฟซบุ๊กแฟนเพจ "จารุพงษ์ ทองสินธุ์" ขึ้นมา?

แอดมินเพจ “จารุพงษ์ ทองสินธุ์" : ในปี พ.ศ. 2555 เคยได้พบกับเพื่อนของจารุพงษ์ที่ท่าพระจันทร์ เขาสอบถามว่าป้าย "ห้องประชุมจารุพงษ์ ทองสินธุ์" หน้าตึกกิจกรรมนักศึกษาหายไปไหน ดูเหมือนว่าเขาจะเป็นกลุ่มที่เป็นคนร่วมกันเปิดเป็นห้องจารุพงษ์เมื่อปี 2539 หลังจากที่ได้พูดคุยกับเขา เราก็ติดตามสอบถามเรื่องนี้กับมหาวิทยาลัยมาตลอด แต่ก็ได้รับคำตอบจากทุกคนที่ไปถามว่า “ติดแน่ๆ” ต่อมาพอทราบว่าตึกกิจกรรมเปิดแล้วแต่ปรากฏว่าป้ายชื่อจารุพงษ์หายไป ก็เลยรู้สึกเสียดายที่สุดท้ายห้องหายไปดื้อๆ โดยที่เราไม่ได้ทำอะไรเลย

ในที่สุดพอได้รวมกลุ่มกันกับเพื่อนๆ ที่อยากทำเรื่องนี้ ก็เลยได้ร่วมกันทำเพจ "จารุพงษ์ ทองสินธุ์" ขึ้น เพื่อเล่าเรื่องราวของจารุพงษ์ให้คนอื่นๆ ได้รู้ว่ามันมีคนแบบนี้อยู่ เข้าใจว่าหลายคนที่เคยเห็นคำว่า “ห้องประชุมจารุพงษ์ ทองสินธุ์” ก็คงสงสัยเหมือนกันว่าคนคนนี้เป็นใคร เพราะเขาไม่เหมือน “เรวัต พุทธินันทน์” หรือ “ประกอบ หุตะสิงห์” เขามีห้องหลังจากเป็นที่รู้จักกันอยู่แล้ว

วิดีโอคลิป "การสอบที่ยากที่สุดของธรรมศาสตร์" นั้น ต้องการจะสื่อถึงอะไร?

เริ่มมาจากการที่เรานัดประชุมกันยากมาก เพราะมหาวิทยาลัยจะจัดให้มีการสอบในช่วงต้นเดือนตุลา รวมทั้งวันที่ 6 ตุลาเสมอ เราก็คิดกันว่าจะทำยังไงดี จะไปร่วมงานตอนเช้าก็ไม่ได้เพราะติดสอบ พอนัดประชุมกันไม่ค่อยได้เพราะสอบนี่ยิ่งทำให้ติดใจมากๆ ว่าทำไมนักศึกษาธรรมศาสตร์ทำอะไรเกี่ยวกับ 6 ตุลาไม่ได้ เรื่องติดสอบเป็นอุปสรรคที่สำคัญมากๆ

พอสืบค้นเรื่อง 6 ตุลามากขึ้นก็พบว่า หลายคนที่รอดชีวิตมาเล่าว่ารุ่งเช้าวันนั้น (6 ตุลา) หลายคนอ่านหนังสือโต้รุ่งอยู่เพราะมีสอบเหมือนกัน เลยปิ๊งความคิดขึ้นมาว่า พวกเขาเองก็มีสอบวันนั้น แต่ใครจะไปคิดว่าพอเช้ามาหลายคนถูกทดสอบด้วยชีวิต มันก็เลยกลายมาเป็นคอนเซ็ป  "การสอบที่ยากที่สุดของเด็กธรรมศาสตร์" เพราะเราอยากให้เพื่อนที่กำลังสอบสนใจเรื่องนี้ เป็นการพยายามขยายความสนใจเหตุการณ์ 6 ตุลาออกไปด้วยวิธีการสื่อสารใหม่ๆ

คนทำทั้งวิดีโอและเฟนเพจนี้เป็นใคร?

เรามีกันหลายคนเป็นทั้งเด็กธรรมศาสตร์ที่ยังเรียนอยู่และจบไปแล้ว

ภาพจากเพจจารุพงษ์ ทองสินธุ์

ปัจจุบันมีการพยายามนำเสนอเรื่องราว 6 ตุลาแบบล้อเลียน (parody) หลายคนรู้สึกรับไม่ได้ ขณะที่บางส่วนเห็นว่ามันกระจายและสร้างความรับรู้กับเหตุการณ์มากขึ้น ทางแอดมินมองการนำเสนอในลักษณะนี้อย่างไร?

ที่จริงแล้ว ด้วยความที่ภาพจำของเหตุการณ์ 6 ตุลามันโหดร้ายรุนแรงมาก การทำออกมาในรูปแบบดังกล่าวก็เป็นการเพิ่มพื้นที่ที่มีอยู่น้อยนิดในการพูดถึง 6 ตุลา แต่เราก็ควรมองหาการเพิ่มพื้นที่ในการที่จะเล่าเรื่องราวของ 6 ตุลาในแบบอื่นด้วย สำหรับผู้สูญเสียในยุคนั้นหลายคนแม้จะเจ็บปวดแต่ก็เข้าใจดี นับว่าน่านับถือในจิตใจของพี่ๆ เขามาก

สังคมไทยผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงมาตลอด แต่ไม่เคยมีการลงโทษผู้ใช้ความรุนแรงหรือชำระความจริง ปัจจุบันก็มีการพยายามเสนอเรื่องการปรองดอง แอดมินมองเรื่องนี้อย่างไร?

ถ้าคำว่าปรองดองหมายถึงการสมานฉันท์ที่นำไปสู่ความก้าวหน้าและความยุติธรรม ก็เป็นเรื่องที่รับได้ แต่ถ้าหมายถึงการลบล้างความผิดให้แก่ผู้ก่ออาชญากรรมที่ฆ่าล้างคน นั่นก็ไม่ใช่การปรองดอง

มีคนชอบบอกว่าประเทศไทยเป็นสยามเมืองยิ้ม เป็นเมืองพุทธ แต่ทำไมถึงเกิดเหตุการณ์อย่างวันที่ 6 ต.ค.19 หรือความรุนแรงอื่นๆ เช่น เหตุการณ์ตากใบ เหตุการณ์ เมษา-พ.ค.53 ได้?

ยิ้มก็ไม่ได้แปลว่าไม่โหดร้ายนี่นา

นักศึกษาในธรรมศาสตร์รู้จักจารุพงศ์และเหตุการณ์ 6 ตุลา มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งให้ความสำคัญกับเหตุการณ์หรือบุคคลเหล่านี้หรือไม่?

ถ้ามหาวิทยาลัยพยายามเล่าเรื่องราวของ 6 ตุลาอย่างจริงจังในทุกด้านย่อมต้องมีคนสนใจและให้ความสำคัญแน่นอน ส่วนในกรณีของจารุพงษ์ ก่อนหน้าที่จะทำเรื่องราวของเขาขึ้นมา แทบไม่มีใครในยุคนี้ที่รู้จักเลย เพื่อนๆ คนแรกๆ ที่ขอให้กดไลค์มักจะถามกลับมาว่าใครเหรอ (หัวเราะ)

ตอนนี้ต้องขอบอกว่าดีใจมากที่คนจำนวนมากให้ความสนใจเรื่องของจารุพงษ์ ทองสินธุ์ เขาอาจจะเป็นหนึ่งในเหยื่อเหตุการณ์ 6 ตุลาท่ามกลางเหยื่ออีกหลายคน แต่ยิ่งมีการพูดถึงจารุพงษ์มาก ก็ยิ่งมีคนพูดถึง 6 ตุลามาก ยังมีเรื่องของจารุพงษ์ที่เราต้องพูดถึงอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะชื่อห้องประชุมที่หายไปจากตึกกิจกรรมนักศึกษาท่าพระจันทร์ เราอยากให้ทุกๆ คนช่วยกันส่งต่อและสนับสนุนให้ชื่อจารุพงษ์ยังเป็นส่วนหนึ่งของธรรมศาสตร์ไม่ถูกลบเลือนหายไป

“และขอเรียนไปยังผู้บริหารมหาวิทยาลัยว่าอย่าลบจารุพงษ์ออกจากธรรมศาสตร์ ขอห้องประชุมจารุพงษ์ ทองสินธุ์กลับคืนมานะคะ” – แอดมินเพจ จารุพงษ์ฯ กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net