Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 56 ที่ผ่านมา ในงานสัมมนา "หลัง 14 ตุลา" ที่จัดโดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ร่วมกับ คณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์นั้น ในช่วงบ่าย เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้อภิปรายหัวข้อ “วิวาทะว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านจากศักดินาสู่ทุนนิยมของไทย และปัญหาการเมืองไทยหลัง 14 ตุลา” โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

Transition debate” หลัง 14 ตุลา

เก่งกิจเริ่มต้นอภิปรายด้วยการเปรียบเทียบดีเบตเรื่องนี้ระหว่าง สำนักนิธิ เอียวศรีวงศ์ และสำนักฉัตรทิพย์ นาถสุภา ซึ่งเขาระบุว่าเป็นดีเบตที่ทรงอิทธิพลที่สุดในสังคมไทย งานที่พูดถึงงานเขียนของนิธิมีเยอะมาก แต่งานที่วิพากษ์นิธิยังมีน้อยอยู่ มีของแค่งานสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลที่เขียนปี 2525 งานของทวีศักดิ์ เผือกสม ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงความรู้ของชนชั้นนำสยาม และงานของคริส เบเคอร์ ซึ่งอยู่ในบทสุดท้ายของหนังสือปากไก่และใบเรือที่เป็นภาษาอังกฤษ ในขณะที่งานของฉัตรทิพย์ จะวิจารณ์งานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ รวมถึงงานเขียนสายมาร์กซิสต์-เหมาอิสต์ของ พคท.

งานของนิธิมองว่ารัฐสยามก่อนการเข้ามาของสนธิสัญญาเบาริ่งในรัชกาลที่สี่ มีลักษณะเป็นพลวัตร เกิดความคึกคักในด้านการค้า วรรณกรรม และสะท้อนว่าเกิดวัฒนธรรมกระฎุมพีซึ่งเป็นชนชั้นใหม่ในสยาม คือไม่ได้อยู่ในสังคมลักษณะศักดินาเสียทีเดียว แต่งานของฉัตรทิพย์มองว่า ก่อนการเข้ามาของสนธิสัญญาบาวริ่งสยามเป็นสังคมที่หยุดนิ่ง หรือเป็น “เพียว ศักดินา” ไม่มีอย่างอื่นมาเจือปน

ต่อมุมมองเรื่องชนชั้นนำ นิธิมองว่าชนชั้นนำสยามช่วงรัตนโกสินทร์ เริ่มมีความเป็นกระฎุมพีมากขึ้น มีบทบาทมากในการสร้างวัฒนธรรมใหม่ๆ เช่น การเกิดขึ้นของงานเขียนต่างๆ แต่งานฉัตรทิพย์มองว่าชนชั้นนำไม่เปลี่ยนแปลง ยังคงบริสุทธิ์อยู่

ส่วนเรื่องลักษณะของกระฎุมพี แม้นิธิเสนอว่าเกิดขึ้นช่วงต้นรัตนโกสินทร์ แต่ก็ไม่ได้เป็นอิสระจากชนชั้นศักดินา โดยสามารถแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือกระฎุมพีที่เกิดขึ้นในราชสำนัก สองคือกลุ่มพ่อค้าชาวจีน ทั้งสองกลุ่มไม่มีความเป็นอิสระจากโครงสร้างสังคมเก่าโดยเฉพาะศักดินา แม้พ่อค้าจีนจะเพิ่มขึ้น แต่ก็พึ่งพิงอยู่กับรัฐศักดินาอย่างเต็มที่ ไม่สามารถเป็นพลังที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมทุนนิยมได้ ต่างจากธรรมชาติของกระฎุมพีจะจะอยู่ตรงข้ามกับเจ้าหรือชนชั้นนำ ส่วนงานฉัตรทิพย์มองว่าช่วงนั้นยังไม่มีกระฎุมพี จึงไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร

จุดเปลี่ยนที่สำคัญ คืองานของนิธิ แม้มองว่ามีการเกิดขึ้นของกระฎุมพี แต่รัฐไทยก่อนหน้าสนธิสัญญาเบาริ่งไม่ใช่สังคมทุนนิยม เพียงแต่มีกระฎุมพีมากอย่างมีนัยยสำคัญ นิธิจึงไม่ชี้ไม่ชัดว่าสังคมทุนนิยมเกิดขึ้นในช่วงไหน สมศักดิ์ชี้ว่า งานของนิธิเป็นงานที่ลดความสำคัญของคำว่า ศักดินา กระฎุมพี หรือเรื่องชนชั้น ในขณะที่ฉัตรทิพย์มองว่าทุนนิยมเกิดปี 2484 เกือบสิบปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ส่วนงานของสมศักดิ์ปี 2525 ที่วิจารณ์งานนิธิ ในช่วงท้ายบทความ สมศักดิ์แสดงความเห็นซึ่งเป็นการประนีประนอมระหว่างสำนักฉัตรทิพย์และสำนักนิธิ โดยเสนอว่า รัฐสยามก่อนสนธิสัญญาเบาริ่งเข้ามา มีลักษณะเป็นทุนนิยม คือสังคมสยามเป็นทุนนิยมอยู่แล้ว แต่ทุนนิยมก่อนสนธิสัญญาเบาริ่งเป็นทุนนิยมจากภายใน แต่ไม่ได้อธิบายว่ามีปัจจัยอะไร แต่หลังเบาริ่ง ทุนนิยมเกิดจากการพึ่งพิงทุนต่างประเทศคือเจ้าอาณานิคม

เก่งกิจมองว่า ดีเบตเรื่องการเปลี่ยนผ่านเป็นปมที่ยังไม่ได้ถูกคลี่คลายออก และเป็นจุดสิ้นสุดของดีเบตเรื่องนี้ในสังคมไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และชี้ว่า งานของสมศักดิ์ไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาของนิธิ ในขณะที่นิธิชี้ให้เห็นว่าเกิดกระฎุมพีมากมาย แต่หายไปไหนในสังคมไทย โดยเฉพาะเบเคอร์อภิปรายว่ามุมมองนิธิ ชี้ว่าลักษณะกระฎุมพีในยุคปัจจุบันกับสมัยนั้น มีความคล้ายคลึงกัน แต่อันนี้เป็นสิ่งที่ไม่ได้พูดถึงต่อมาโดยนิธิและลูกศิษย์

ฉะนั้นปมของงานนิธิคือ เกิดชนชั้นกระฎุมพีในช่วงรัตนโกสินทร์แต่หายไปไหนในตอนนี้ เมื่อมองเรื่องความเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน จะนำมาสู่การถกเถียงว่าตอนนี้เราเป็นทุนนิยม เป็นศักดินา หรือกึ่งศักดินากันแน่

ปัจจุบันความคิดความเข้าใจในสังคมไทยต่อเรื่องการเปลี่ยนผ่านในฝ่ายก้าวหน้าจะถูกก่อร่างขึ้นโดยงานเขียนของธงชัยปี 2544 คือเรื่องมรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เก่งกิจเสนอว่านี่เป็นการต่อยอดความคิดของเบเนดิก แอนเดอร์สัน คืองาน “Studies of the Thai state: The state of Thai studies”

ความต่างของสำนักนิธิและธงชัย คือในขณะที่นิธิมองความเปลี่ยแเปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป งานธงชัยชี้ว่า มีความไม่ต่อเนื่องของประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเมื่ออาณานิคมเข้ามา ความคิดของชนชั้นนำไทยเกิดปะทะสังสรรค์กับความคิดใหม่จากภายนอก ทำให้เกิดรัฐสมบูรณายาสิทธิราชย์ ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด

ในขณะที่นิธิเน้นเสนอว่าความเปลี่ยนแปลงสู่ทุนนิยมเกิดจากภายใน ถ้าไม่เกิดจากภายในอยู่แล้ว การเข้ามาของสนธิสัญญาเบาว์ริ่งจะไม่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากอย่างที่เราเห็น แต่ในงานธงชัยหรือเบน ประเด็นที่สำคัญคือ อิทธิพลของปัจจัยภายนอก คืออาณานิคมตะวันตก เทคโนโลยี ความรู้ ถ้าไม่มีอันนี้จะไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงในสยามได้

นิธิชี้ว่า ตัวแสดงที่สำคัญคือกระฎุมพี ซึ่งคล้ายงานฉัตรทิพย์ แต่งานธงชัย ดูจากกรอบของอาณานิคม ซึ่งพลังการเปลี่ยนแปลงคือการเข้ามาของอาณานิคมตะวันตก รวมถึงการกดขี่ของเจ้าอาณานิคม ทำให้เกิดกระบวนการชาตินิยมเป็น “popular nationalist movement” ซึ่งเป็นตัวที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแบบรัฐชาติ

ข้อเสนอของเบนคือ รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยามมีอายุสั้นมาก เมื่อเทียบกับสังคมอื่นในยุโรป หรือในเอเชียอาคเนย์ พบว่ารัฐสมบูรณไทยมีอายุสั้นมาก คือเพียงสี่สิบปี เมื่ออายุสั้น ทำให้การบ่มเพาะกระบวนการชาตินิยมประชาชนมีจำกัด ทำให้พลังที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่มีพลังมากพอที่จะล้มได้ชนชั้นนำได้เด็ดขาด

ธงชัยเสนอว่า ปัจจุบันยังคงมีมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ในทุกอณูของสังคมไทย 81 ปีที่ผ่านมา สมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังไม่ถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง นี่เป็นข้อเสนอที่มีอิทธิพลต่อปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้าในสังคมไทย

ส่วนงานของจิตร ภูมิศักดิ์ และทรงชัย ณ ยะลา อภิปรายเรื่องรัฐ เห็นไปในทิศทางเดียวกันคือดูวิถีการผลิตว่าเป็นแบบไหน ใครเป็นผู้ถือครองหรือใช้อำนาจรัฐ โดยทฤษฎีนี้คล้ายกับทฤษฎีของวิคเตอร์ ลีเบอร์แมน จากหนังสือ strange parallels ที่เสนอไอเดียว่า รัฐก่อนสมัยใหม่มีความพยายามจะรวมศูนย์อำนาจ ในขณะเดียวกันก็มีอำนาจกระจายกันมาก ซึ่งสอดคล้องกับงานของจิตรที่ว่ารัฐพยายามจะรวมศูนย์ สัมพันกับใกล้ชิดกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทั้งภายในและที่ชนชั้นนำไทยไปปฏิสัมพันธ์กับระบบโลก

 

ลักษณะของรัฐศักดินา

เก่งกิจตอบคำถามว่ารัฐศักดินาคืออะไร โดยอภิปรายปัจจัยสี่ข้อ ได้แก่

หนึ่ง รัฐสยามเป็นศักดินาตั้งแต่อยุธยา คือรวมศูนย์ กระจายอำนาจ แข่งอำนาจกับรัฐเพื่อนบ้านตลอด เมื่อมีอำนาจกำลัง ก็รวมศูนย์ แต่เมื่อมีความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์กับขุนนาง ก็จะล่ม และก็จะขึ้นๆ ลงๆ แบบนี้ไปตลอด

สอง คุณสมบัติการบ่งชี้สำคัญสุดว่าอะไรเป็นรัฐศักดินา คือรัฐและกลไกรัฐที่รับใช้ผลประโยชน์ของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

สาม ความเปลี่ยนแปลงล้วนแล้วแต่เกิดจากระบบเศรษฐกิจทั้งภายในและการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจโลก

และสี่ รัฐศักดินาช่วงท้าย เสนอว่าเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในช่วงปลายก่อนจะล่มสลาย ซึ่งเกิดจากการที่รัฐสยามมีปฏิสัมพันธ์กับทุนนิยมโลกโดยมีอังกฤษเป็นศูนย์กลาง ทำให้รัฐต้องบีบหาประโยชน์จากระบอบทุนนิยม มีการปฏิรูปกลไกการปกครอง ระบอบการศึกษา ระบอบราชการ เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในระบบโลก เพื่อให้มีฐานทางเศรษฐกิจที่สร้างรัฐขึ้นมาใหม่

 

ลักษณะ-การเกิด-และบทบาทการเปลี่ยนแปลงของชนชั้นกระฎุมพีไทย

เก่งกิจอภิปรายต่อไปว่า นิธิเสนอว่าราชสำนักแปลงตัวเองเป็นกระฎุมพี แต่ข้อเสนอมีว่า กระฎุมพีช่วงแรกคือกลุ่มพ่อค้าชาวจีน งานลีเบอร์แมนชี้ว่าในสมัยกรุงเทพฯ มีกระฎุมพีมากกว่าสมัยอยุธยาถึงเจ็ดเท่า หรือประมาณเจ็ดแสนคน ซึ่งนี่เกิดจากการที่เศรษฐกิจสยามสัมพันธ์กับเศรษฐกิจโลกคือจีน แต่เขาไม่ได้เป็นพลังการเปลี่ยนแปลงเพราะไม่มีอิสระจากโครงสร้างสังคมที่มีอยู่เดิม และชนชั้นนำในสยามก็ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับกระฎุมพี เก่งกิจเสนอว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลังรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือหลังร.ห้าเป็นต้นมา คือเกิดรัฐราชการ มีกลุ่มชนชั้นกลางชาวไทยจีนอยู่ในระบบราชการแต่ไม่ได้เลื่อนขั้นไม่ได้ จึงเกิดความขัดแย้ง ชนชั้นกระฎุมพีที่เกิดขึ้นจึงเป็นชนชั้นกระฎุมพีราชการ คือคณะราษฎร เป็นชนชั้นใหม่ที่เกิดขึ้นหลัง พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นการปฏิวัติกระฎุมพี แต่ไม่สามารถขยายการปฏิวัติหรือการมีส่วนร่วมลงไปชั้นล่างของสยาม กระฎุมพีราชการจึงกลายเป็นพลังการเปลี่ยนแปลงในรัฐไทย

 

กรอบคิดแบบโคโลเนียล มีพลังแค่ไหนในการอธิบายการเปลี่ยนแปลงของรัฐสยาม

เก่งกิจเสนอว่า เราไม่สามารถใช้กรอบอาณานิคมในการทำความเข้าใจการปฏิสัมพันธ์ของรัฐสยาม แต่ต้องใช้ระบอบทุนนิยมโลกเพื่อมาอธิบาย จะเห็นว่ารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทย ไม่ได้ให้ความสำคัญกับรูปแบบการผลิตในฐานล่างของสังคม ฉะนั้น ชาวนาทั้งหลายยังอยู่ในรูปแบบการผลิตแบบเก่า แต่สังคมอาณานิคมอย่างในพม่า อินโดนีเซีย เจ้าอาณานิคมให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงการผลิต คือให้ชาวนามเป็นผู้ประกอบการเอง อย่างดัตช์ หรือฝรั่งเศส ที่สร้างระบบชลประทาน

ในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กษัตริย์หาประโยชน์จากทุนนิยมจริงแต่ไม่ให้ความสำคัญการเปลี่ยนแปลงชนชั้นล่าง จะเห็นว่า ชนชั้นล่างจึงไม่ให้ความสำคัญในกระบวนการชาตินิยม ในขณะที่เบเนดิกไม่ได้พูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจระดับล่างเลย การปฏิวัติ 2475 จึงจำกัดอยู่ตัวที่รัฐแคบ ๆ ต่างจากรัฐอาณานิคมอื่นๆ

เก่งกิจสรุปว่า การดูรูปแบบของรัฐ ว่าอะไรเป็นตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยจากศักดินาสู่ทุนนิยม จึงต้องดูว่าใครเป็นผู้ควบคุมอำนาจรัฐ อย่างปี 2475 เกิดการถ่ายอำนาจจากกษัตริย์มาสู่กระฎุมพี ฉะนั้นจึงเป็นปฏิวัติกระฎุมพี โดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นช่วงท้ายๆ ของรัฐศักดินาไทย การปฏิวัติ 2475 เป็นการเริ่มสร้างรัฐชาติและสร้างทุนนิยมให้อยู่ในสังคมไทย เช่น การสร้างเทคโนโลยี เปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ

 

การเมืองไทยหลังปี 2549

หลังการปฏิวัติ 2475 รัฐไทยไม่ใช่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกต่อไป เพราะกษัตริย์ไม่ได้เป็นผู้ควบคุมอำนาจและการผลิตอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้เล่นต่างๆ เข้ามาใช้พี้นที่ในระบบเศรษฐกิจการเมือง ทำให้ชนบทเปลี่ยนแปลง อย่างการเข้ามาของทักษิณ เป็นบทบาทที่ทำให้สภาพเศรษฐกิจการเมืองคึกคักอย่างหลัง 2475 ไม่เคยมี และสรุปว่ารัฐไทยปัจจุบันมีลักษณะเป็นรัฐชาติ เป็นสังคมทุนนิยม ที่ยังมีพลังความขัดแย้งต่างๆ ยังคงเข้ามาควบคุมหรือมีส่วนร่วมในรัฐ ซึ่งไม่ได้ผิดประหลาดไปจากรัฐทุนนิยมอื่นๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net