Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี 14 ตุลา คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาการละคอน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมกับกลุ่มละคร B Floor จัดแสดงละครเวทีส่งเสริมประชาธิปไตย เรื่องไต้ฝุ่น กำกับการแสดงโดย คุณ ธีระวัฒน์ มุลวิไล (คาเงะ) ร่วมแสดงโดยนักศึกษาสาขาการละคอนและสมาชิกจากกลุ่ม B Floor โดยจัดแสดงครั้งแรกที่ หอประชุมศรีบูรพา ธรรมศาสตร์ และ สถาบันปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 12-14 ตุลาคม 2556

รูปแบบของละครเวทีเรื่องนี้เป็นงาน Physical Theatre ที่เน้นการใช้ร่างกายเพื่อสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกมายังผู้ชม  ฉายภาพให้เห็นประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนถึงการปะทะกันระหว่างขบวนการภาคประชาชนกับชนชั้นนำ ตามมาด้วยกระบวนการการตัดแปะความจริงให้กลายเป็นเรื่องสับสน ขบขัน และไร้ค่า การค้นหาความจริงกลายเป็นเรื่องต้องห้าม ห้ามถาม ห้ามสงสัย และสุดท้ายได้แสดงให้เห็นการปลุกจิตสำนึกแห่งความเป็นมนุษย์ขึ้นมาอีกครั้ง จิตสำนึกในการแสวงหาคำตอบอันนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะต้องเผชิญหน้ากับอำนาจมืดก็ตาม

* สามารถชมภาพบางส่วนของการแสดง และบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับการแสดงได้ที่นี่

 

การนำเสนอละครเรื่องนี้เสมือนกับการนำภาพจำของประวัติศาสตร์ไทยมาแสดงให้เห็นบนเวที แม้การนำเสนอจะเป็นไปในลักษณะของ Physical Theatre แต่ เนื้อหาที่พูดถึงนั้นกลับลึกซึ้งและเต็มไปด้วยภาพความทรงจำที่แม้แต่บทพูดโต้ตอบ ก็ไม่อาจจะนำเสนอความลึกซึ้งได้เท่าภาพ และการเคลื่อนไหวที่ได้รับการออกแบบมาอย่างละเอียดอ่อนและมีพลังเช่นนี้

สิ่งที่น่าสนใจที่สุดของละครเรื่องนี้ ไม่ใช่การตีแผ่ความจริง หรือเล่าอธิบายความเป็นจริงของประวัติศาสตร์ไทยอย่างละเอียดและตรงไปตรงมา แต่กลับเป็นรูปแบบการร้อยเรียงเรื่องที่เหมือนกับการฉีกหน้ากระดาษบางหน้ามาปะติดปะต่อกัน เหมือนกับตำราเรียนประวัติศาสตร์ไทยที่ฉีกหน้าประวัติศาสตร์มาตัดแปะจนกลายเป็นความจริงชุดหนึ่งที่ปลูกฝังให้คนรุ่นหลังจดจำ


16 ตุลา 4 ตุลา ?

หลังการแสดงรอบแรกที่ม. ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในช่วงเสวนา มีนักศึกษาคนหนึ่งถามคำถามกับวิทยากรว่า “ ผมเรียนมาถึงตอนนี้แล้ว ผมก็ยังแยกไม่ออกว่า 14 ตุลา กับ 6 ตุลา ต่างกันอย่างไร อาจารย์ช่วยอธิบายได้ไหมครับ”

คำถามนี้เป็นเรื่องจริงของสังคมไทย ที่ละครไต้ฝุ่นก็ได้หยิบยกแสดงให้เห็น คนรุ่นใหม่มีความเข้าใจประวัติศาสตร์ไทยหลัง 2475 เป็นคำสำคัญ หรือคีย์เวิร์ด และตัวเลขที่สลับสับสน ในฐานะนักเรียนที่เคยถูกป้อนข้อมูลในวิชาสังคมศึกษาระดับมัธยม ชุดคำสำคัญที่ได้รับการเน้นย้ำให้จดจำคือ

- 2475 ร. 7 ทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย
- 14 ตุลา กับ 6 ตุลา เหมือนๆกันคือ นักศึกษาออกมาประท้วง เรียกร้องประชาธิปไตย ถูกทหารปราบปราม    ตอนสุดท้ายได้รับพระมาหากรุณาธิคุณจากในหลวง ทรงทำให้บ้านเมืองกลับมาสงบร่มเย็น
- พฤษภาทมิฬ...มีการประท้วง แต่ไม่สำคัญเท่าเหตุการณ์เดือนตุลา จำรายละเอียดไม่ได้


ซึ่งละครไต้ฝุ่นได้นำเสนอประเด็นเรื่องการจดจำประวัติศาสตร์ออกมาได้อย่างน่าสนใจ ในการที่ให้นักแสดงแต่ละคนเล่าประวัติศาสตร์ โดยสิ่งที่เล่าออกมาถูกตัดต่อ และเหมือนกับกาถูก Fast Forward เทป ตัดขาดบางช่วงออกไป ถูกทำให้เป็นเสียงยืดยาน ไร้แก่นสาร  สุดท้ายความเข้าใจทางประวัติศาสตร์จึงผสมปนเป และกลายเป็นชุดความเข้าใจ ( หรือความไม่เข้าใจ) ที่บิดเบี้ยวและขาดตอน จึงไม่น่าแปลกที่คนรุ่นใหม่จะไม่สามารถแยกแยะได้ถึงความแตกต่างของ 14 ตุลา และ 6 ตุลา เพราะตำราเรียนสังคมมัธยมศึกษาไม่เคยเชื่อมโยงเหตุกาณ์อย่างเป็นเตุผล แต่เลือกใช้การอธิบายเป็นหัวข้อหลักๆ และเน้นคำสำคัญให้เด็กท่องจำ เพื่อไปกากบาทในห้องสอบ

ละครเรื่องนี้ก็ได้นำเสนอพฤติกรรมการท่องจำและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเด็กไทยในห้องเรียนออกมาผ่าน Movement ที่เหมือนกับเครื่องจักรในโรงงานที่ถูกป้อนข้อมูลสำเร็จรูปชุดหนึ่งเข้าไป ผลิตซ้ำไปเรื่อยๆ เดินตามกันไปๆ ใครที่ริคิดออกมาจากสายพาน ก็จะถูกต้อนและใช้กำลังความรุนแรงดึงกลับเข้าไปสู่สายพานเดิม ภาพที่เห็นทำให้นึกถึง ชาร์ลี แชปลิน ที่ถูกกลืนกินไปในกลไกโรงงาน ในเรื่อง Modern Times  ที่วิพากษ์ระบบทุนนิยมที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ลงไป การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ไทยก็เช่นกัน การป้อนข้อมูลเพียงชุดเดียวให้เด็กจดจำและห้ามตั้งคำถาม ได้ลดทนความเป็นมนุษย์ จากภาพแรกที่เปิดตัวละคร นักแสดงต่างเริงร่า เคลื่อนไหวอย่างอิสระ ภายหลังกลับกลายเป็นเหมือนหุ่นยนต์ มีเพียงหน้ายิ้มกว้างอย่างไร้อารมณ์ความรู้สึก ที่ถูกฝังชิพจนไม่อาจเดินต่อเองได้หากไร้สายพานนำทาง การถูกจำกัดเสรีภาพทางความคิดได้ถูกแสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนในบทบาทของเจ้าหนูจำไม ที่ถูกสั่งให้ห้ามคิด ห้ามถาม มิฉะนั้นจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง

ถึงแม้ภาพจำประวัติศาสตร์ไทยจะถูกตัดแปะ แต่สิ่งหนึ่งที่ละครเรื่องนี้ได้เน้นย้ำทุกครั้งหลังที่เกิดความขัดแย้ง นั่นก็คือทีมทำความสะอาดที่ออกมาเก็บกวาดรอยหลักฐานให้หมดไป ซึ่งละครเรื่องนี้เลือกใช้ Action นี้ได้อย่างลงตัว แทนที่จะให้ทีม Stage Manger สวมชุดดำออกมาเคลียร์ฉากในความมืด ละครเรื่องนี้ได้เลือกให้ทีมทำความสะอาดมาเคลียร์ฉากอย่างโจ่งแจ้ง ซึ่งนอกจากจะเป็นการตอกย้ำความเป็นไปของประวัติศาสตร์ไทยที่พยายามจะลบเลือนความจริงที่เกิดขึ้น ดังที่เราได้เห็นล่าสุดหลังเหตุการณ์พฤษภา 53 ที่มีทีมทำความสะอาดมาร่วมแรงร่วมใจกันลบเลือนทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทีมทำความสะอาดในละครเรื่องนี้ยังแสดงให้เห็นถึง “วิธีการเล่าประวัติศาสตร์” ของชนชั้นนำไทย ที่พร้อมจะลบเลือน “รอยต่อ” หรือ “รอยด่าง” ที่ไม่ต้องการให้คนรุ่นหลังได้รับรู้

สิ่งที่ทำให้ละครเรื่องนี้แตกต่างและน่าจดจำ คงจะเป็น Message ที่ไม่ได้นำเสนอเพื่อเชิดชูสรรเสริญวีรชน 14 ตุลา และให้คนดูซาบซึ้งกับความเสียสละของผู้คนเหล่านั้น แต่กลับเป็นการยิงคำถามมากมายให้ผู้ชมได้คิด และเห็นภาพของการปะทะกันระหว่างอำนาจของสามัญชนกับชนชั้นนำ รายชื่อบุคคลที่เสียชีวิตที่ถูกพูดถึงในละครล้วนแต่เป็นคนธรรมดา ที่ไม่ได้รับการพูดถึงในบทเรียนประวัติศาสตร์ อนุสาวรีย์เก้าอี้ที่ประกอบกันอยู่หน้าเวทีในตอนท้าย ไม่ได้ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจหรือซาบซึ้งเลยแม้แต่น้อย แต่หากกลับทำให้รู้สึกสลดใจและเจ็บปวดกับความพ่ายแพ้ของประชาชนต่ออำนาจของชนชั้นนำ เก้าอี้นักเรียนที่แขวนอยู่บนคานเหล็กประกอบร่างเป็นอนุสาวรีย์ชวนให้นึกถึงภาพประชาชนและนักศึกษาที่ถูกแขวนคอ และภาพของเก้าอี้แต่ละตัวที่ถูกนำมาฟาดตีบนร่างของประชาชน

จริงหรือที่ว่า นี่คือชัยชนะของประชาชน? ปฎิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา ถือเป็นจุดเริ่มต้นการต่อรองอำนาจทางการเมืองของสามัญชนกับชนชั้นนำ แต่จริงหรือที่เราได้รับเสรีภาพและประชาธิปไตย?
รอยด่างที่ถูกชำระล้าง รอยต่อที่ถูก Fast Forward  และ เซนเซอร์ คืออะไรกันหรือ? ทำไมถึงพูดไม่ได้? หรือ 14 ตุลาคือจุดเริ่มต้นของการถูกจำกัดเสรีภาพในการคิด การตั้งคำถาม และสอนให้เราจดจำเพียงภาพตัดแปะทางประวัติศาสตร์ที่สวยงามและน่าภาคภูมิใจ

ละครเรื่องไต้ฝุ่น ในฐานะละครการเมือง จึงถือเป็นละครเรื่องหนึ่งที่ลึกซึ้งและชวนให้คนดูตั้งคำถาม ละครเรื่องนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทุกคนเข้าถึงและเข้าใจได้ในระดับเดียวกันตั้งแต่ต้น จึงไม่แปลกหากคนดูจะเข้าใจสัญลักษณ์ที่ใช้ในละครเรื่องนี้แตกต่างกันออกไป แต่ภาพหนึ่งที่ชัดเจนคือภาพของการจดจำการบอกเล่าประวัติศาสตร์ไทยอย่างไม่ปะติดปะต่อ นำเสนอผ่านงาน Performance ที่น่าประทับใจทั้งในแง่เนื้อหาและงาน Production

ระหว่างการเสวนา พิธีกรได้ตั้งคำถามกับละครเรื่องนี้ว่า

“ศิลปะ จะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริงหรือ?”

ละครเพียง 1 เรื่อง คงไม่อาจเปลี่ยนแปลงสังคมทั้งหมดได้ แต่ละครเพียง 1 เรื่อง สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เราไม่อาจสรุปเป็นตัวเลขได้ว่าละครเรื่องนี้จะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้กี่เปอร์เซนต์ หรือ เปลี่ยนแปลงคนดูได้กี่คน เพราะสังคมไม่ใช่สมการตัวเลข แต่เราควรมองศิลปะในฐานะส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ขับเคลื่อน เน้นย้ำ จุดไฟ รื้อฟื้นร่องรอยที่ถูกลบเลือน และลากเส้นต่อภาพปะติดเหล่านั้นให้ปรากฏขึ้นในสังคม
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net