Skip to main content
sharethis

เปิดเวทีวิชาการนำเสนอสถานภาพภาษามลายูปาตานี ผู้เข้าร่วมอภิปรายอย่างกว้างขวาง นักวิชาการม.อ.ชี้เป็นภาษาที่ขาดพลวัตรมานาน พร้อมจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย แต่ทุกข้อมีอุปสรรค แนะผู้รู้มลายูต้องร่วมกันทำงาน ผู้ชำนาญต้องร่วมผลิตสื่อ ต้องสอนทั้งมาตรฐานปาตานี-มาเลย์-อินโดฯ ร่วมเติมเต็มในช่องว่างที่ขาดหายไป ข้อวิจารณ์-รัฐจ้างนักจัดรายการราคาถูก สื่อกระแสหลักของเพิ่มภาษามลายู


ภาพโดยอารีด้า สาเม๊าะ

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2556 ที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทนยาลัยมหิดล จัดเวทีนำเสนอบทความวิชาการ หัวข้อสถานภาพทางภาษาจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยมีการนำเสนอบทความทั้งหมด 7 ชิ้น ซึ่งในเวทีมีการอภิปรายและการวิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในหลายประเด็น

ทั้งนี้มีบทความที่น่าสนใจ คือ บทความชื่อ “เงื่อนไขแห่งอัตลักษณ์ทางภาษาต่อปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ : ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐไทย” นำเสนอโดยอารีลักษณ์ พูลทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี โดยมีเนื้อหาที่นำเสนอดังนี้

อารีลักษณ์ นำเสนอว่า จากการศึกษาพบว่า ปัญหาอัตลักษณ์เป็นปัญหาใจกลางของความขัดแย้งในชายแดนใต้ ซึ่งมี 3 องค์ประกอบ คือ ชาติพันธุ์มลายู ศาสนาอิสลามและสำนึกทางประวัติศาสตร์

อารีลักษณ์ กล่าวว่า ในด้านการใช้ภาษา พบว่าประชาชนในพื้นที่ใช้ภาษามลายูปาตานีเป็นหลักในการสื่อสารในครัวเรือน ซึ่งผลสำรวจของโครงการวิจัยโครงสร้างเศรษฐกิจและเศรษฐกิจชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่า ประชาชนใช้ภาษามลายูถิ่นปาตานีและภาษามลายูถิ่นควบคู่กับภาษาไทย ร้อยละ 68.61

อารีลักษณ์ กล่าวว่า ส่วนโครงการการสำรวจทัศนคติประชนชนจังหวัดชายแดนภาคใต้เกี่ยวกับปัญหายาเสพติดและความรู้ความเข้าใจและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการได้รับความเป็นธรรมพบว่า ประชาชนใช้ภาษามลายูถิ่นและภาษามลายูถิ่นควบคู่กับภาษาไทย ร้อยละ 82.60

อารีลักษณ์ กล่าวว่า เหตุที่ผลสำรวจของ 2 โครงการต่างกัน เนื่องจากโครงการแรกเป็นการสำรวจประชาชนในเขตเมือง ส่วนโครงการหลังเป็นการสำรวจในภาพรวม จึงชี้ให้เห็นว่าคนในเขตเมืองใช้ภาษามลายูน้อยกว่าคนในชนบท อีกทั้งยังพบว่าประชาชนต้องการใช้ภาษามลายูปาตานีมากที่สุด และเลือกใช้ตัวอักษรยาวีมากกว่าอักษรรูมี

 

ข้อเสนอเชิงนโยบายพัฒนาภาษามลายูปาตานี

อารีลักษณ์ นำเสนอว่า ส่วนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐไทย เพื่อลดเงื่อนไขของการเมืองแห่งอัตลักษณ์ทางภาษาซึ่งมาจากความต้องการของประชาชน สรุปเป็นนโยบายได้ 5 ข้อ ดังนี้

นโยบายที่ 1 จัดตั้งสภาราชบัณฑิตมลายูปาตานี ทำหน้าที่เหมือนราชบัณฑิตยสถาน เช่น บัญญัติศัพท์ใหม่ โดยทำงานร่วมกับสภาภาษาของมาเลเซียและอินโดนีเซีย

แต่การจัดตั้งสภาดังกล่าวมีอุปสรรคหลายอย่าง เช่น ผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญภาษามลายูปาตานีมีน้อยลง ส่วนที่มีอยู่ก็ยังมีความคิดเห็นที่ต่างกันอยู่มาก ทั้งการใช้คำศัพท์ การเขียนและสะกดตัวอักษรยาวี เป็นต้น

 

‘มลายูปาตานี’ภาษาที่ขาดพลวัตรมานาน

อุปสรรคต่อมา คือ ภาษามลายูปาตานีขาดการพลวัตรตามสังคมและโลกราว 7 ทศวรรษมาแล้ว ทำให้ขาดแคลนศัพท์บัญญัติใหม่ๆ ตามนวัตกรรมและสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น และขาดแคลนผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญในแขนงวิชาต่างๆ ก็ยิ่งทำให้ยากที่จะเติมเต็มการพลวัตรทางภาษาให้ทันกับส่วนที่ขาดหายไปเป็นเวลานาน

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่รัฐหวาดระแวงและไม่สนับสนุนภาษามลายู ส่วนประชาชนเองก็ระแวงรัฐและกลัวว่าจะเป็นอันตรายหากใช้ภาษามลายู รวมทั้งประชาชนเองก็เห็นว่า ตนเองรู้และเข้าใจภาษามลายูอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเรียนภาษามลายูอีก

 

ผู้รู้มลายูต้องร่วมกันทำงาน

สำหรับข้อเสนอแนะในการดำเนินตามนโยบายข้อนี้มีหลายอย่าง เช่น ต้องหาผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญที่แท้จริงและเป็นที่ยอมรับของประชาชนมาทำงานร่วมกัน ต้องให้สถาบันการศึกษาในพื้นที่เป็นผู้นำดำเนินการ และรัฐต้องสนับสนุนอย่างจริงจังเพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่น

ต้องเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น สำรวจความเห็นประชาชนก่อนและต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาชนด้วย

รัฐต้องส่งเสริมการเรียนรู้ภาษามลายูมากขึ้น ในฐานะที่รัฐไทยมีอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยซึ่งยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม

นโยบายที่ 2 จัดตั้งสถาบันภาษามลายู ทำหน้าที่พัฒนาบุคลากรด้านภาษามลายู เช่น ครู อาจารย์ นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ ผลิตตำรา สื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอนภาษามลายู จัดประชุมสัมมนาทางวิชาการด้านภาษามลายู สนับสนุนและส่งเสริมการทำวิจัยด้านภาษามลายูและเป็นสำนักงานเลขานุการให้กับสภาราชบัณฑิตมลายูปาตานี

ที่สำคัญ คือต้องมีการเทียบเคียงคำศัพท์ภาษามลายูปาตานี มาเลเซีย อินโดนีเซียด้วย

 

ผู้ชำนาญต้องร่วมผลิตสื่อ

นโยบายที่ 3 ส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตสื่อ ทั้งสิ่งพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ภาษามลายู โดยมีปัจจัยสนับสนุนอยู่แล้ว เช่น มีสื่ออยู่บ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่เป็นสิ่งพิมพ์และวิทยุชุมชน ส่วนโทรทัศน์เกือบจะไม่มีเลย รวมทั้งยังมีผู้รู้ภาษามลายูหลายคนที่มีความสามารถพอที่จะผลิตสื่อวิทยุโทรทัศน์ได้ นอกจากนี้ ม.อ.ปัตตานีเองก็ มีคณะวิทยาการสื่อสารที่เปิดสอนการทำสื่ออยู่แล้ว จึงควรเป็นกำลังสำคัญตามนโยบายนี้

ส่วนอุปสรรคที่มีอยู่ เช่น สื่อต่างๆ ที่มีอยู่ยังไม่สามารถนำเสนอให้น่าสนใจได้ในขณะนี้ การขาดแคลนผู้รู้ในแขนงวิชาต่างๆที่จะมาช่วยผลิตสื่อซึ่งชำนาญภาษามลายูปาตานีไปด้วย การขาดแคลนนักประชาสัมพันธ์ นักจัดรายการหรือนักนิเทศศาสตร์ที่มีความสามารถด้านภาษามลายู

ข้อเสนอแนะ คือ ต้องแสวงหาผู้รู้ภาษามลายูมาจัดรายการวิทยุหรือโทรทัศน์และผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ พัฒนานักจัดรายการที่มีอยู่ให้สามารถสื่อสารด้วยภาษามลายูได้มากพอที่จะจัดรายการภาษามลายูได้

 

ต้องสอนทั้งมาตรฐานปาตานี-มาเลย์-อินโดฯ

นโยบายที่ 4 ผลักดันการเรียนการสอนภาษามลายูทั้งมาตรฐานอินโดนีเซีย มาเลเซียและปาตานี ทั้งอักษรยาวีและอักษรรูมีในโรงเรียน เพราะมีการเรียนการสอนทั้ง 3 มาตรฐานอยู่แล้วในโรงเรียนตาดีกา โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามและสถาบันปอเนาะ แต่ยังไม่เป็นระบบและมาตรฐานเดียวกัน

ส่วนสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ก็มีหลักสูตรภาษามลายูมาตรฐานมาเลเซียอยู่แล้ว บางสถาบันสอนภาษามลายูปาตานีด้วย ซึ่งการเปิดสอนทั้ง 3 มาตรฐานดังกล่าวจะสามารถพัฒนาศักยภาพคนในพื้นที่เพื่อตอบสนองการเปิดประชาคมอาเซียนได้

แต่ก็ยังมีอุปสรรคอยู่ คือ ขาดแคลนครูอาจารย์ที่ชำนาญในการสอนภาษามลายูปาตานี และมาตรฐานมาเลเซียและอินโดนีเซียไปด้วย ขาดแคลนสื่อการเรียนการสอนที่มีมาตรฐานและมีคุณภาพ ขาดระบบประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ เด็กและเยาวชนขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้หรือเมื่อเรียนรู้แล้วก็ไม่มีโอกาสได้ใช้ ทำให้ขาดทักษะความชำนาญและความมั่นใจ

ข้อเสนอแนะมีหลายข้อ เช่น ครูผู้สอนภาษามลายูต้องมีคุณวุฒิภาษามลายูโดยตรง เปิดอบรมครูภาษามลายู ผลิตสื่อและอุปกรณ์การสอน พัฒนาเครื่องมือวัดและประเมินผลอย่างเป็นระบบ สร้างแรงจูงใจให้เด็กและเยาวชน กระตุ้นให้ครูตระหนักถึงความสำคัญและบทบาทของภาษามลายูต่ออนาคตทางการศึกษาและการประกอบอาชีพ

ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์และรายการวิทยุโทรทัศน์ภาษามลายูเพื่อใช้ในการฝึกทักษะการฟัง พูด อ่านและเขียนภาษามลายู รัฐต้องสนับสนุนการเรียนการสอนภาษามลายูอย่างเต็มที่ทั้งระบบ เช่น ให้สอนภาษามลายูตั้งแต่ระดับปฐมวัย เพิ่มอัตรากำลังผู้สอนภาษามลายูมากขึ้น

 

เติมช่องว่างให้ภาษามลายูปาตานี

นโยบายที่ 5 กำหนดยุทธศาสตร์ มาตรการและเร่งรัดผลักดันแนวทางการพัฒนาภาษามลายู ทั้ง 4 มาตรฐาน ดังนี้

พัฒนาภาษามลายูมาตรฐานปาตานีอักษรยาวีและอักษรรูมี ทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียนและเติมช่องว่างที่เว้นช่วงจากการพัฒนาภาษา โดยยืมศัพท์จากภาษามลายูมาเลเซีย ไทยและอาหรับ

ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีรายวิชาภาษามลายูปาตานี กำหนดมาตรฐานหรือหลักในการผสมคำภาษามลายูมาตรฐานมาเลเซียกับมลายูมาตรฐานปาตานี

กำหนดมาตรฐานการผันเสียงคำศัพท์ที่ยืมมาจากภาษาอาหรับ มาเลเซียหรือภาษาต่างประเทศอื่นๆ พัฒนาทักษะการฟังและพูดภาษามลายูมาตรฐานปาตานี การอ่านและเขียนภาษามลายูมาตรฐานปาตานีอักษรยาวี

ส่วนมลายูมาตรฐานอินโดนีเซียและมาเลเซีย ให้มีการเรียนการสอนในฐานะภาษาต่างประเทศภาษาที่ 3 ของพื้นที่

 

ข้อวิจารณ์-รัฐจ้างนักจัดรายการราคาถูก

พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานคณะกรรมการดำเนินสถานีโทรทัศน์และวิทยุภาษามลายู ร่วมวิจารณ์บทความชินนี้ วิจารณ์ว่า การที่ภาษามลายูปาตานีไม่มีพลวัตรเนื่องจากถูกบอนไซอันเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลไทยในอดีต เช่น นโยบายรัฐนิยมสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ขณะเดียวกันเมื่อมามองการใช้ภาษามลายูของคนในพื้นที่เองก็มีปัญหาด้วยเช่นกัน

พล.ต.ต.จำรูญ  กล่าวว่า คนปาตานีมักพูดภาษามลายูโดยตัดเป็นคำสั้นๆ หรือพูดคำย่อ ทำให้คนที่อื่นฟังแล้วไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นต้องไม่พูดคำที่ตัดสั้นและต้องพูดให้เต็มคำ นอกจากนี้ยังชอบพูดผสมคำภาษาไทย เช่นนักจัดรายการวิทยุของรัฐบางสถานี ซึ่งรัฐต้องไม่ให้คนที่พูดเช่นนี้มาจัดรายการเพราะจะถูกตีความว่าเป็นความพยายามทำลายอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่

“ฝ่ายรัฐบอกว่า ไม่สามารถหาคนที่มีความรู้ความสามารถภาษามลายูมาดำเนินรายการได้ โดยอ้างว่าไม่มีงบประมาณ ก็เลยต้องจ้างคนในราคาถูก จึงทำให้ไม่มีคนที่มีคุณภาพจะมาจัดรายการ ซึ่งค่าจ้างจัดรายการวิทยุของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพียงแค่ชั่วโมงละ 150 บาทเท่านั้น แล้วคนที่มีคุณภาพที่ไหนจะมาจัดรายการ” พล.ต.ต.จำรูญ กล่าว

พล.ต.ต.จำรูญ ยังได้จัดทำสถิติการพูดภาษามลายูของคนในพื้นที่จากฐานข้อมูลในการทำบทความชิ้นดังกล่าวจากกลุ่มตัวอย่างผู้ตอบแบบสอบถามหัวข้อภาษาที่ใช้ประจำครัวเรือนจำนวน 2,997 คน และแบบสอบถามหัวข้อการใช้ภาษาพูดในครัวเรือนจำนวน 2,462 คน รวมจำนวน 5,459 คน พบว่า มีคนที่พูดภาษามลายูปาตานี มีจำนวนร้อยละ 52.78 กลุ่มคนที่พูดภาษามลายูปนไทยมีจำนวนร้อยละ 22.82 กลุ่มคนที่พูดภาษาไทยอย่างเดียวมีจำนวนร้อยละ 23.77

พล.ต.ต.จำรูญ กล่าวว่า ทั้งนี้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา มีประชากรทั้งหมดประมาณ 2.2 ล้านคน โดยเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 80 หรือ ประมาณ 1.8 ล้านคนซึ่งเป็นกลุ่มที่พูดภาษามลายูเป็นส่วนใหญ่ แต่พบว่า มีสื่อกระแสหลักที่ใช้ภาษามลายูเพียงร้อยละ 10 ของแต่ละวันเท่านั้น ได้แก่ สถานีวิทยุ สวท.วันละ 6 ชั่วโมง สถานีวิทยุ อสมท.วันละ 2 ชั่วโมง สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ส่วนแยกยะลาวันละ 6 ชั่วโมงเท่านั้น ส่วนสถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ ไม่มีการใช้ภาษาภาษามลายู เพราะฉะนั้นต้องให้มีสื่อภาษามลายูในพื้นที่ให้มากขึ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net