ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์: 40 ปี 14 ตุลา: ความรุนแรงกับการเมืองไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ท่ามกลางหัวข้อการอภิปรายวาระเดือนตุลาคม 2516 ที่หลากหลายในรอบหลายปีที่ผ่านมา ถ้าไม่นับการสดุดีวีรชนและการเรียกร้องให้คนรุ่นหลังศึกษาประวัติศาสตร์ให้มากขึ้นแล้ว ความรุนแรงคือหนึ่งในหัวข้อที่มีการพูดถึงมากที่สุดจนคล้ายกับว่าภาพเหตุการณ์ตุลาคม 2516 เป็นสัญลักษณ์ของความรุนแรงในสังคมไทยไปเลย

เหตุการณ์เดือนตุลาปี 16 เป็นความรุนแรงหรือเปล่า? คำตอบคือเป็นแน่ๆ แต่ความรุนแรงในภาพเหตุการณ์เดือนตุลา 16 ถูกทำให้หมายถึงและไม่หมายถึงอะไรบ้าง ตรงนี้ต่างหากที่เป็นประเด็น

โดยทั่วไปแล้ว ภาพความรุนแรงในเดือนตุลาคมปี 2516 ชวนให้คิดถึงการใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนผู้ชุมนุมด้วยข้อเรียกร้องทางการเมืองแบบใดแบบหนึ่ง ภาพการใช้ความรุนแรงในเดือนตุลาคมเมื่อสี่สิบปีก่อนจึงถูกเชื่อมโยงกับความรุนแรงที่เกิดแก่ผู้ชุมนุมในเหตุการณ์อื่นอย่าง 6 ตุลาคม 2519, 17-21 พฤษภาคม 2535 รวมทั้ง 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 ถึงแม้จะเป็นเหตุการณ์ต่างกรรมต่างวาระกันก็ตาม

น่าสังเกตว่าขณะที่ภาพความรุนแรงเดือนตุลาคม 2516 ถูกทำให้เชื่อมโยงกับสามเหตุการณ์ที่กล่าวไป กลับแทบไม่ปรากฏว่าเดือนตุลา 2516 ถูกเชื่อมโยงกับการสลายการชุมนุมที่มีรูปแบบคล้ายกันกรณีอื่น เช่นการสลายการประท้วง กรณีนาวิกโยธินฆ่าประชาชน 6 ศพ จนมีผู้เสียชีวิต 11 ราย ที่นราธิวาสในเดือนธันวาคม 2518, ความตายของมลายูมุสลิม 78 ราย กรณีตากใบ พ.ศ.2547 หรือการสลายการชุมนุมค้านเขื่อนปากมูลปี 2536 ที่มีผู้บาดเจ็บ 30 กว่าราย 

ในแง่นี้ ภาพความรุนแรงเดือนตุลาคมวางเพดานการตั้งคำถามเรื่องความรุนแรงไว้ที่การใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมทางการเมืองในเขตเมืองหลวงเป็นสำคัญ ส่วนการใช้กำลังกับผู้ชุมนุมนอกเขตกรุงเทพออกไปนั้นไม่ได้ถูกทำให้เป็นปัญหามากนัก อย่างน้อยก็ในวาทกรรมความรุนแรงเดือนตุลาอย่างที่พูดกัน

ภายใต้เพดานการคิดเรื่องความรุนแรงแบบนี้ ความรุนแรงทั้งสี่กรณีคือ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 , 17-21 พฤษภาคม 2535 และ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 ถูกเรียกรวมๆ ว่าเป็น “ความรุนแรงโดยรัฐ” หรืออีกอย่างคือ “อาชญากรรมโดยรัฐ” ทั้งที่กรณี 6 ตุลาคม 2519 เกิดขึ้นโดยผู้กระทำที่หลายฝ่ายไม่ใช่รัฐ หรือแม้แต่กรณี 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 ก็มีผู้เกี่ยวข้องกับการฆ่าในความหมายของ Perpetrators ที่ไม่ใช่รัฐด้วยเหมือนกัน

ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 17-21 พฤษภาคม 2535 ความรุนแรงเกิดจากการกระทำของทหารและตำรวจโดยไม่ต้องสงสัย แต่ในกรณี 6 ตุลาคม 2519 แม้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในและเครือข่ายของกองทัพจะมีบทบาทในการสร้างสถานการณ์หลายอย่าง แต่กระทิงแดงกับลูกเสือชาวบ้านที่บุกธรรมศาสตร์แล้วฆ่าผู้ชุมนุมอย่างโหดเหี้ยมนั้นไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐในความหมายที่เคร่งครัดอย่างแน่นอน

ในการปราบปรามประชาชนปี 2553 ผู้อำนวยการฆ่าหลายรายไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐในความหมายที่เคร่งครัดอีกเหมือนกัน

จริงอยู่ โดยส่วนมากของผู้ปฏิบัติการฆ่าในกรณี 2519 และ 2553 ทำลายชีวิตฝ่ายผู้ถูกฆ่าในนามของการปกป้องสถาบันและอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่คำถามที่ต้องตอบคือใครควรต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อการคร่าชีวิตกันแน่ ระหว่างผู้ลงมือฆ่าจริงๆ, คนที่ยั่วยุให้ฆ่าโดยใช้สถาบันและอุดมการณ์เป็นเครื่องมือ หรือสถาบันและอุดมการณ์เอง?

แน่นอนว่าคำว่า “ความรุนแรงโดยรัฐ” หรือ “อาชญากรรมโดยรัฐ” มีจุดเด่นตรงความง่ายที่จะชวนให้คิดต่อไปว่าใครคือศัตรูของประชาชน เพราะศัตรูย่อมได้แก่ผู้สั่งการไปจนถึงผู้วางแผนและผู้ปฏิบัติการฆ่าทั้งหมด แต่จุดอ่อนของมโนภาพนี้คือการลดทอนความซับซ้อนของการฆ่า ผลักความผิดทุกอย่างไปที่รัฐ ซึ่งถึงที่สุดแล้วโน้มเอียงจะถูกทำให้เท่ากับจอมบงการไม่กี่ราย ทำราวกับประชาชนตายเพราะคำสั่งและแผนของคนไม่กี่คน จนแม้ผู้ลั่นไกฆ่าก็คล้ายไม่ผิดไปเลย

ในทันทีที่อธิบายเหตุการณ์ทั้งสี่กรณีว่าเป็น “ความรุนแรงโดยรัฐ” หรือ “อาชญากรรมโดยรัฐ” สิ่งที่ตามมาทันทีก็คือการมองไม่เห็นด้านที่เป็น “ความรุนแรงโดยภาคที่ไม่ใช่รัฐ” หรือ “อาชญากรรมโดยสังคม” โดยเฉพาะความรุนแรงที่เกิดจากกระทำของพลเรือนต่อพลเรือน อย่างในปี 2519 และ 2553 ซึ่งผู้กระทำที่ไม่ใช่รัฐมีบทบาทในปฏิบัติการและการอำนวยการฆ่าอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะปี 2519 ที่คนแบบนี้มีบทบาทไม่น้อยหน้ารัฐด้วยซ้ำไป

อย่างไรก็ดี การคิดเรื่องความรุนแรงแบบนี้ทำให้ยากที่จะระบุว่าศัตรูของประชาชนคือใคร เพราะผู้มีส่วนอำนวยให้เกิดการฆ่าในกรณี 2519 และ 2553 เป็นใครก็ได้ตั้งแต่ครู พระ เจ้าของร้านไก่ย่าง หมอ นักจัดรายการวิทยุ ปัญญาชน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล นักเขียน ฯลฯ การโยนความผิดไปที่จอมบงการเอกบุคคลจึงหมายถึงการกลบเกลื่อนความผิดของคนอื่นไปด้วย ซ้ำยังเสี่ยงต่อการทำให้สังคมไม่ฉุกคิดว่าอะไรทำให้คนธรรมดาลุกขึ้นมาฆ่าคนธรรมดาด้วยกัน

ยิ่งไปกว่านั้น การทำให้ศัตรูของประชาชนมีขอบข่ายกว้างขวางขนาดนี้ย่อมหมายถึงการอยู่ร่วมกันของทุกฝ่ายกลายเป็นเรื่องพะอืดพะอมเหลือเกิน

กล่าวในเชิงเปรียบเทียบแล้ว ความรุนแรงโดยรัฐเป็นความรุนแรงที่สังคมจดจำและรำลึกได้ง่าย เพราะมีศัตรูไม่กี่รายเป็นต้นเหตุของการประทุษร้ายสังคมทั้งหมด จะประณามว่าเป็นทรราชตั้งแต่ในเวลาที่ศัตรูของประชาชนมีอำนาจก็ยังได้ ส่วนความรุนแรงโดยสังคมนั้นทั้งจำยากและรำลึกยาก เพราะผู้กระทำล้วนเป็นคนธรรมดาในทุกอณูของสังคม อาจเป็นเพื่อนหรือพี่น้องของเราเองก็ได้ ขืนไล่ล่ามากไปก็อาจเป็นชนวนของความแตกร้าวจนอยู่ร่วมกันไม่ได้ในสังคม

ในแง่นี้แล้ว แม้แนวคิดเรื่อง “ความรุนแรงโดยรัฐ” จะลดทอนความซับซ้อนของปัญหาความรุนแรงจนไม่เอื้อต่อการทำความเข้าใจการฆ่าระหว่างพลเรือนกับพลเรือนด้วยกัน แต่การทำให้ผู้ฆ่าเท่ากับผู้นำหรือชนชั้นนำไม่กี่คนนั้นสะดวกสำหรับการต่อสู้ทางการเมืองเฉพาะหน้า ซ้ำยังเป็นการผลักความผิดทั้งหมดไปที่จอมบงการ จนไม่กระทบกระเทือนถึงความเป็นสมาชิกสังคมเดียวกันระหว่างผู้ฆ่ากับผู้ถูกฆ่า เมื่อเทียบกับแนวคิด “ความรุนแรงโดยสังคม”

พูดสั้นๆ การประณามถนอมหรือสุจินดาหรืออภิสิทธิ์นั้นเหมือนยาก แต่ที่จริงแล้วง่ายกว่าการประณามเพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้องของเราเองว่าเป็นฆาตกรในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 หรือเอาผิดกับทุกคนที่พัวพันทั้งทางตรงและทางอ้อมกับการปราบประชาชนในปี 2553 

ลองมองนอกสังคมไทยออกไปเพื่อประโยชน์ในการทำความเข้าใจประเด็นนี้ดู 

เยอรมันฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนยิว ยิปซี กะเทย สหภาพแรงงาน ฯลฯ เพราะอะไร? คำอธิบายแนวหนึ่งโยนความผิดทั้งหมดไปที่ฮิตเลอร์และนาซี ส่วนคำอธิบายบางแบบพยายามทำความเข้าใจว่าอะไรทำให้คนเยอรมันจำนวนมากไม่ปฏิเสธที่จะมีส่วนในกิจกรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในทางใดทางหนึ่ง คำอธิบายแบบแรกเห็นว่าการฆ่าเกิดจากคำสั่งหรือการโฆษณาชวนเชื่อของฮิตเลอร์และคณะ ส่วนคำอธิบายหลังเห็นว่าการฆ่ามีด้านที่เกิดจากความสมัครใจของคนเยอรมันเอง

Theodor Adorno ในหนังสือเรื่อง Guilt and Defense เขียนถึงข้อค้นพบที่เขาและสมาชิกสถาบันวิจัยสังคมแฟรงค์เฟิร์ตได้จากการรวมรวมข้อมูลเชิงประจักษ์จำนวนมหาศาลว่าคนเยอรมันช่วงหลังสงครามโลกคิดอย่างไรกับลัทธินาซี คำตอบคือนาซีมีด้านที่ดีเพราต่อต้านการคอรัปชั่นและเป็นพรรคที่มีวินัย อีกส่วนเชื่อว่านาซีสะท้อนความเป็นเชื้อชาติที่สูงส่งกว่าเชื้อชาติอื่น ส่วนอีกกลุ่มบอกว่ายิวต่างหากที่ทำผิดจนความไม่พอใจบานปลายกลายเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

คำถามคือคนแบบนี้มีส่วนในการฆ่าเพราะความเชื่อแบบนี้หรือเพราะถูกฮิตเลอร์บังคับให้ฆ่า? เป็นไปได้ไหมว่าการฆ่าในบางสังคมและในบางกรณีอาจเกิดจากความปรีดาของฝ่ายผู้ฆ่าไม่น้อยไปกว่าคำบัญชาของอำนาจที่เหนือผู้ฆ่าขึ้นไป?

ในกรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเขมรระหว่าง พ.ศ.2518-2523 คำอธิบายที่ง่ายที่สุดคือเขมรแดงภายใต้การนำของพอลพตและตาม็อกสั่งการและยุยงให้คนเขมรฆ่ากันเองจนมีคนตายไป 850,000- 3,000,000 คน ส่วนคำอธิบายที่ลึกซึ้งขึ้นไปหน่อยก็บอกว่าความตายจำนวนมหาศาลเกิดขึ้นเพราะทฤษฎีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์และลัทธิมาร์กซ์ฉบับเขมรแดงเป็นชนวนให้ผู้นำเขมรกวาดต้อนประชาชนไปเป็นชาวนาเพื่อเร่งเปลี่ยนสังคมจารีตเป็นสังคมคอมมูนิสม์ในเวลาอันรวดเร็ว

อย่างไรก็ดี ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง S-21 ของ ริธ ปราน กลับไปสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติการฆ่าที่คุกโตล สเลง ในปี 2546 และพบว่าฝ่ายผู้ฆ่ายังยืนยันความสมเหตุสมผลของการฆ่าและทรมานคนเขมรด้วยกันในเวลานั้น แม้เขมรแดงจะล่มสลายไปแล้วเป็นเวลาหลายปี และถึงแม้จะไม่มีใครเชื่อในการปฏิวัติสังคมแบบลัทธิมาร์กซ์ฉบับเขมรแดงอีกแล้วก็ตาม

ในการฆ่าที่ผู้ฆ่ามีจำนวนและขอบข่ายกว้างขวางกว่ารัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐในความหมายแคบแบบนี้ การโยนความผิดไปที่ผู้นำระดับจอมบงการคือวิธีที่ง่ายที่สุดเพื่อไม่ต้องตอบคำถามว่าพลเรือนคนไหนที่มีส่วนฆ่าพลเรือนด้วยกัน พลเรือนคนไหนมีส่วนสนับสนุนหรือยั่วยุให้เกิดการฆ่า พลเรือนคนไหนมีส่วนทำให้การฆ่าไม่มีความผิดตามกฎหมาย รวมทั้งคำถามที่ยากที่สุดอย่างสังคมจะทำอย่างไรกับพลเรือนที่เกี่ยวพันกับการฆ่าพลเรือนซึ่งมีจำนวนมหาศาลเหลือเกิน?

ในวาระสี่สิบปีสิบสี่ตุลาคม ภาพความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อประชาชนในวันที่ 14 ตุลา กลายเป็นเพดานความเข้าใจความรุนแรงทางการเมืองที่กวาดต้อนความสูญเสียกรณีอื่นไปอยู่ภายใต้มโนภาพ “ความรุนแรงโดยรัฐ” การโยนความผิดไปที่จอมบงการใหญ่เป็นความกล้าหาญทางการเมืองเฉพาะหน้าที่ในด้านกลับคือภาพสะท้อนความมักง่ายของสังคมที่ไม่ยอมเผชิญหน้ากับข้อเท็จจริงว่ามีพลเรือนไม่น้อยในสังคมที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของการฆ่าพลเรือนด้วยกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท