Skip to main content
sharethis

ถ้าพิจารณาเหตุการณ์ที่สังคมไทยถือว่าเป็นความรุนแรงทางการเมืองทั้ง4 เหตุการณ์ คือ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, 17-20 พฤษภาคม 2535 และ 10เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 โดยยกเลิกการจัดประเภทแบบเหมารวมว่าเป็น “ความรุนแรงโดยรัฐ”และยอมรับความเป็นจริงว่าสังคมไทยมีประสบการณ์ของ “ความรุนแรงโดยภาคที่ไม่ใช่รัฐ”หรือ “ความรุนแรงโดยสังคม” ที่พลเรือนมีส่วนคร่าชีวิตพลเรือนด้วยกันทั้งในทางตรงและทางอ้อม

คำถามคือความรุนแรงทั้งสองแบบมีหน้าที่ในสังคมแตกต่างกันอย่างไร?

ในกรณี 14 ตุลาคม2516 และ 17-20 พฤษภาคม 2535 การประทุษร้ายประชาชนเป็น “ความรุนแรงเชิงปราบปราม”ที่ดำเนินไปโดยกองกำลังของรัฐ ยิ่งกว่านั้นคือปฏิบัติการทำร้ายประชาชนเกิดขึ้นในเวลาที่ถนอม (14 ตุลาคม)และสุจินดา (17-20 พฤษภาคม) มีอำนาจในความเป็นจริง ผู้นำทั้งสองรายจึงพัวพันกับความรุนแรงจนปฏิเสธไม่ได้แม้ถนอมจะอ้างว่าความรุนแรงปี 2516เกิดจากกองกำลังที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลก็ตาม

ในกรณีตุลาคม 2516 ความรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นขณะที่มีการเผชิญหน้าระหว่างทหารกับผู้ชุมนุมแต่เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลยอมปล่อยผู้นำนักศึกษา ตกลงว่าจะร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน1 ปี และเกิดพระราชดำรัสกับผู้นำนักศึกษาในเย็นวันที่13 ตุลาคม ว่า “รัฐบาลได้โอนอ่อนผ่อนตามมากแล้ว...สิ่งที่ได้มาควรพอใจ” รวมทั้งมีผู้นำนักศึกษาได้ “ขอให้”ผู้แทนราชสำนักอ่านพระราชกระแสนี้ซ้ำใหม่เพื่อยุติการชุมนุมในเช้ามืดของวันที่ 14ตุลาคม

ปริศนาซึ่งยังไร้คำอธิบายที่ดีคืออะไรทำให้ตำรวจปะทะประชาชนบริเวณหน้าสวนจิตรในยามซึ่งการชุมนุมแทบยุติแล้วประเด็นนี้สำคัญเพราะการปะทะคือข้ออ้างให้ทหารตำรวจใช้กำลังอย่างต่อเนื่องแม้มีพระราชดำรัสแต่งตั้งนายกคนใหม่ในเย็นวันที่14 โดยถนอมเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดต่อไป การลาออกของถนอมจากตำแหน่งนายกจึงไม่ได้ปิดฉากการใช้กำลังไปด้วยและต้องรอจนถนอมออกนอกประเทศในวันที่ 15 ตุลาคม เวลา 18.40 น. ความรุนแรงจึงยุติลงจริงๆ

ถึงตรงนี้การสร้างคำอธิบายว่าการปะทะคืออุบัติเหตุจึงเป็นวาทกรรมที่มีเป้าหมายเพื่อป้องกันการสืบสาวว่าใครอยู่เบื้องหลังคำสั่งปะทะและการปราบปรามในปี2516 ตลอดสี่สิบปีที่ผ่านมา

ในกรณี 2535 ความรุนแรงเริ่มเมื่อตำรวจไม่ให้ผู้ชุมนุมข้ามสะพานผ่านฟ้าไปทำเนียบในคืนที่17 พฤษภาคม เพื่อขับไล่สุจินดาในฐานะนายกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จากนั้นโรงพักนางเลิ้งถูกเผาจนมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการใช้ทหารประทุษร้ายผู้ชุมนุมต่อเนื่องถึงคืนวันที่19 ต่อมามีพระราชกระแสให้สุจินดาและจำลองเข้าเฝ้าเวลา 21.30 ของวันที่ 20 พร้อมพระราชดำรัส“ขอให้หันหน้าเข้าหากัน” แต่ก็ต้องรอถึง 24พฤษภาคม กว่าสุจินดาจะลาออกไป

แม้ 14 ตุลาคม และ17-20 พฤษภาคม จะเปิดโอกาสให้ชนชั้นนำทุกกลุ่มชิงความได้เปรียบจากเหตุการณ์ทั้งหมดแต่เหตุการณ์แรกเกิดเมื่อเครือข่ายถนอมคุมตำแหน่งสำคัญในกองทัพ ส่วนเหตุการณ์หลังเกิดเมื่อผู้บัญชาการทุกเหล่าทัพเรียนทหารรุ่นเดียวกันจนกองทัพมีเอกภาพระดับไม่เคยมีมาก่อนความรุนแรงทั้งสองกรณีจึงดำเนินไปในขณะที่อำนาจการเมืองควบแน่นกับอำนาจทางทหาร ผลก็คือการใช้ทหารจรรโลงอำนาจผู้นำการเมืองเป็นไปได้อย่างแทบสมบูรณ์

ในแง่นี้ “ความรุนแรงเชิงปราบปราม”คือความรุนแรงที่รัฐเป็นผู้สั่งการและกองกำลังของรัฐเป็นผู้ปฏิบัติการอย่างเต็มรูปแบบโดยถือว่าความมั่นคงของผู้นำคือเป้าหมายที่ชอบธรรมในตัวเองความรุนแรงแบบนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาที่ผู้สั่งการเชื่อว่าควบคุมสถานการณ์ไม่ได้อีกแล้วจึงเป็นความรุนแรงที่ไม่ต้องการความสนับสนุนจากคนกลุ่มไหนยิ่งกว่าอำนาจสั่งให้ทหารตำรวจไปฆ่าคนตามอำเภอใจ

อย่างไรก็ดี ผู้ใช้ความรุนแรงแบบนี้มีโอกาสถูกตราหน้าเป็น“ทรราช” ได้ตลอดเวลา  เพราะน้อยเหลือเกินที่การปราบปรามจะชนะในระยะยาว

บทเรียนในกรณี 14ตุลาคม 2516 และ 17-20 พฤษภาคม 2535 คือต่อให้ใช้กำลังทหารปราบปรามประชาชนได้สำเร็จความรุนแรงเชิงการปราบปรามก็มีศักยภาพที่จะทำให้ฝ่ายปราบปรามสูญเสียอำนาจการเมืองและการทหารระดับซึ่งเคยมีไปอย่างไม่มีวันกลับเพราะการไล่ล่าทรราชคือโอกาสในการต้านทรราชเท่ากับเป็นโอกาสในการช่วงชิงอำนาจจากฝ่ายทรราชเอง ทรราชที่พ่ายแพ้จึงต้องเผชิญกับศัตรูที่มากมายมหาศาลจนคำว่ามิตรหมดความหมายไปในพริบตา

ในบางกรณี แม้ผู้ปราบปรามจะหลุดพ้นจากความผิดทางกฎหมายแต่ความพยายามถึงรุ่นหลานก็ไม่ประสบความสำเร็จในการทำให้คำว่าทรราชไม่ใช่คำนำหน้าผู้พัวพันกับการฆ่าประชาชน

ด้วยเหตุผลอย่างที่กล่าวไปไม่มีใครอยากได้ชื่อว่าเกี่ยวข้องกับความรุนแรงแบบนี้ ผลก็คือการรำลึกเหตุการณ์ประเภทนี้ทำง่ายถึงขั้นอาจกลายเป็นรัฐพิธี หรือเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำแห่งชาติที่ถูกถ่ายทอดอย่างไม่เป็นทางการซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ได้ด้วยซ้ำผู้ถูกปราบคือวีรบุรุษผู้ต่อต้านทรราชของชาติ ส่วนระยะห่างกับการปราบปรามของทรราชเป็นเรื่องยอมรับได้สำหรับทุกฝ่ายตั้งแต่อดีตพันธมิตรของฝ่ายทรราชเองไปจนถึงฝ่ายที่ถูกทรราชปราบปรามจริงๆ

ในกรณี 6 ตุลาคม 2519การประทุษร้ายเกิดในเวลาที่นักศึกษารวมตัวอย่างสงบในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตัวการชุมนุมเองจึงไม่ได้เป็นอันตรายกับคนกลุ่มไหนในสังคมทั้งนั้น  จะปล่อยให้นักศึกษาชุมนุมไปก็ได้  แต่ฝ่ายผู้ฆ่าและผู้สนับสนุนการฆ่ากลับลากการชุมนุมไปเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นผู้ชุมนุมกลายเป็นคนต่างด้าวและผู้ก่อการร้ายจนไม่เหลือเหตุผลให้ไม่ฆ่าและปล่อยให้ผู้ชุมนุมมีชีวิตต่อไปอีก  - อย่างน้อยก็ในทรรศนะของผู้ฆ่าในวันที่ 6 ตุลาคม

ในเช้าวันนั้น คนพวกแรกที่บุกเข้าธรรมศาสตร์คือประชาชนและกองกำลังกึ่งรัฐอย่างลูกเสือชาวบ้านกระทิงแดง และตำรวจตระเวนชายแดนภายใต้การนำของเสน่ห์ สิทธิพันธ์ ยิ่งกว่านั้นคือประชาชนฝ่ายขวาทั้งกลุ่มที่ลงมือฆ่าและกลุ่มอื่นล้วนอ้างเหมือนกันว่าการฆ่านักศึกษาคือสัญลักษณ์ว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์คุมสถานการณ์ไม่ได้ การฆ่าจึงทำให้ผู้ฆ่าได้โอกาสขจัดประชาชนและนักศึกษาขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ฝ่ายรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งลงไป

มีผู้ศึกษาไว้มากแล้วว่าสังคมไทยช่วงก่อน 6 ตุลาคม เต็มไปด้วยใบอนุญาตให้ฆ่าประชาชนในรูปหนังสือ คำปราศรัย เพลงปลุกใจ ฯลฯภาพฆ่าและทำร้ายศพแสดงให้เห็นว่าพลเรือนทั้งชาย หญิง และเด็กคือผู้ฆ่าและผู้ปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ การฆ่าได้รับการสนับสนุนจากคนแทบทุกกลุ่มตั้งแต่พระ นักเขียนเจ้าของโรงแรมห้าดาว อาจารย์มหาวิทยาลัย ดาราหนัง สื่อมวลชน นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง หรือแม้แต่ฝ่ายนักศึกษาเอง

แม้บรรยากาศหลังวันที่6 ตุลาคม จะเต็มไปด้วยความปรีดา ซ้ำผู้ที่เกี่ยวพันกับการฆ่าล้วนยืนยันความมีเหตุมีผลในการฆ่าอย่างไม่ขาดสายตัวอย่างเช่นเสน่ห์อ้างว่ามีอุโมงค์ที่ธรรมศาสตร์แต่เปิดเผยหลักฐานไม่ได้และเถียงข้างๆ คูๆ ว่าถ้าตำรวจใช้กระสุนจริง อาคารของมหาวิทยาลัยคงพังไปแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็แทบไม่มีใครแสดงตัวอย่างภาคภูมิใจว่าพัวพันกับการฆ่าในวันนั้นอีกไม่ต้องพูดถึงการยืนยันว่าถูกแล้วที่ฆ่าประชาชนอย่างโหดเหี้ยมอย่างที่เคยพูดกัน

ผ่านไปสี่สิบปีตอนนี้ไม่มีใครอยากรื้อฟื้นเหตุการณ์หกตุลาแล้วฝ่ายผู้สูญเสียคือฝ่ายที่จริงจังกับการรำลึกเหตุการณ์นี้อย่างต่อเนื่องมากที่สุดถัดจากนั้นก็คือฝ่ายซึ่งต้องการใช้หกตุลาอภิปรายปัญหาการเมืองบางอย่างในปัจจุบันส่วนฝ่ายผู้ฆ่าหรือผู้สนับสนุนการฆ่าหายไปจากเรื่องนี้เฉยๆ ราวกับการฆ่าไม่เคยเกิดขึ้นและพวกเขาไม่เคยมีตัวตน

การประทุษร้ายและความรุนแรงในกรณี10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 กำลังเดินไปสู่วัฎจักรคล้ายกับหกตุลานั่นคือแม้รัฐจะเป็นผู้สั่งการและปฏิบัติการฆ่า แต่การฆ่าก็ดำเนินไปด้วยความสนับสนุนของหมอพ่อค้า นักสิทธิมนุษยชน พรรคการเมือง นักธุรกิจ ทหาร อาจารย์มหาวิทยาลัย  นักแสดง พระ นักเขียน  นักศึกษา ฯลฯ ซึ่งยิ่งเวลาผ่านไปทุกฝ่ายก็ยิ่งวางระยะห่างกับเหตุการณ์นี้ จนในที่สุดจะมีแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ที่เป็นฝ่ายต้องรับผิดทางศีลธรรมและการเมือง

ถึงตอนนี้ ความรุนแรงในกรณี 6 ตุลาคม 2519 และ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 มีลักษณะพื้นฐานที่แตกต่างจากความรุนแรงเชิงปราบปรามในกรณี14 ตุลาคม 2516 และ 17-19 พฤษภาคม 2535 อย่างน้อย 3 มิติ

มิติแรกความรุนแรงเกิดขึ้นโดยรัฐอาจเป็นผู้สั่งการ หรืออาจไม่มีผู้สั่งการที่ชัดเจนเลยก็ได้แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือพลังส่วนที่ไม่ใช่รัฐมีบทบาทสำคัญในการเอื้ออำนวยให้เกิดความรุนแรงทั้งหมดรวมทั้งการลงมือทำลายชีวิตโดยตรง 

มิติที่สองความรุนแรงแบบนี้ต้องการฐานสนับสนุนทางสังคมที่กว้างขวางจนกระบวนการสร้างความชอบธรรมอย่างเป็นระบบคือเงื่อนไขเบื้องต้นซึ่งจำเป็นก่อนที่จะเกิดปฏิบัติการรุนแรงและการฆ่าที่เป็นรูปธรรมจริงๆ

มิติที่สามแม้ผู้ใช้ความรุนแรงและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่าไม่ถูกตราหน้าเป็น “ทรราช”ซ้ำยังเป็นไปได้ที่จะเป็นวีรบุรุษในเวลาที่ปฏิบัติการรุนแรงล่วงไปไม่นานแต่ในที่สุดผู้บัญชาการฆ่าจะมีฐานะเป็นแพะรับบาปทางศีลธรรมของสังคม

ข้าพเจ้าอยากเรียกความรุนแรงแบบที่เกิดในวันที่6 ตุลาคม 2519 และ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 ว่าเป็นความรุนแรงเชิงบูชายัญ ความรุนแรงประเภทนี้มุ่งกำจัดฝ่ายตรงข้ามอย่างกว้างขวางในนามของการพิทักษ์สังคมจากสภาวะผันผวนที่สังคมเชื่อหรือถูกทำให้เชื่อว่ามีศักยภาพจะทำลายระเบียบสังคมทั้งหมดความรุนแรงจึงมีความชอบธรรมในตัวเองถึงขั้นที่พลเมืองพึงมีส่วนร่วมในทางใดทางหนึ่งในการประทุษร้ายชีวิตอย่างเต็มไปด้วยความภาคภูมิ

จริงอยู่ว่าเป็นไปได้ที่ความรุนแรงเชิงปราบปรามในกรณีตุลาคม2516 หรือพฤษภาคม 2535 จะเกิดจากอุบัติเหตุ การวางแผนซ้อนแผนเพื่อแย่งอำนาจโดยพวกเดียวกันหรือเป็นปฏิกิริยาอย่างเฉียบพลันเฉพาะหน้าของฝ่ายทรราชเพื่อตอบโต้การลุกฮือของมวลชนที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ความรุนแรงเชิงบูชายัญในกรณี 2519 และ 2553 คือผลของการเลือกคร่าชีวิตมนุษย์บางกลุ่มโดยสังคมผ่านการคิดคำนวณแล้วว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบกับสิ่งที่สังคมได้จากการพรากชีวิตพวกเขาไป

ในกรณีแบบนี้ การคร่าชีวิตเป็นสัญลักษณ์ว่าอะไรคือสิ่งที่สังคมเห็นว่ามีค่าและชีวิตที่ถูกฆ่าคือชีวิตที่สังคมเห็นว่าไร้ค่าจนชอบธรรมที่จะประกอบกิจกรรมบูชายัญรวมหมู่เพื่อรักษาไว้ซึ่งสิ่งที่สังคมถือว่าสำคัญ

น่าสังเกตว่าในการอภิปรายเรื่องความรุนแรงในกรณี 6 ตุลาคม 2519 และ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 ประเด็นที่ฝ่ายผู้สูญเสียพูดถึงมากที่สุดคือการยืนยันความบริสุทธิ์โดยวิธียืนกรานว่าผู้ที่ตายหรือบาดเจ็บนั้นไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายหรือคอมมูนิสม์แม้ข้อโต้แย้งนี้จะตรงประเด็นแต่ผลในด้านกลับคือการรับรองตรรกะว่าสังคมสามารถใช้วิธีรุนแรงและการฆ่าเพื่อขจัดบุคคลหรือกลุ่มที่ถูกถือว่าเป็นผู้ก่อการร้ายทั้งที่การฆ่าเกิดขึ้นไม่ได้ ต่อให้ข้อกล่าวหาเหล่านั้นเป็นจริง

ขณะที่เป็นเรื่องง่ายที่จะรำลึกความรุนแรงเชิงปราบปรามเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยย้อนหลังต่อทรราชสภาพที่มนุษย์ฆ่าหรือสนับสนุนให้ฆ่ามนุษย์ด้วยกันอย่างวิปริตทำให้ความรุนแรงเพื่อบูชายัญกลับจำยากและน่าสะอิดสะเอียนความรุนแรงแบบนี้จึงเริ่มต้นในฐานะกิจกรรมสาธารณะก่อนที่จะกลายเป็นความเงียบ เพื่อให้สังคมลืมด้านอันโหดร้ายหรือชำระความบริสุทธิ์ให้กับสิ่งที่มีค่าซึ่งดำรงอยู่ผ่านอาชญากรรมรวมหมู่ในทางใดทางหนึ่งของสังคม

ในวาระ 40 ปี 14ตุลาคม  แม้สังคมไทยจะเต็มไปด้วยประสบการณ์ว่ารัฐประหารเกิดได้ทุกเมื่อแต่ผู้นำทหารแบบเผด็จการทรราชนั้นไม่มีทางเกิดได้ง่ายอย่างที่ผ่านมา ความรุนแรงเชิงปราบปรามเพื่ออำนาจของผู้นำแบบ2516 และ 2535  จึงไม่น่าจะมีให้เห็นอีก ประเด็นสำคัญคือสังคมไทยมีเชื้อมูลสำหรับความรุนแรงเพื่อบูชายัญจนเกินพอ  ความรุนแรงในนามของส่วนรวมแบบ 2519 และ 2553 จึงเป็นไปได้เสมอแม้สังคมไทยจะเผชิญความโหดเหี้ยมแบบนี้มากเกินไปแล้วก็ตาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net