Skip to main content
sharethis

ตอนหนึ่งในการเสวนาเรื่อง สิทธิมนุษยชนออนไลน์: อุบัติใหม่ของภัยคุกคามและโอกาส ภายใต้การประชุมอินเทอร์เน็ตภิบาล (Internet Governance Forum) ซึ่งจัดขึ้นที่บาหลี อินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 22-25 ต.ค.56  ซานจา เคลลี่ ผู้อำนวยการโครงการเสรีภาพอินเทอร์เน็ตของฟรีดอมเฮาส์ เล่าถึงรายงานเรื่องเสรีภาพเน็ต ปี 2556 ซึ่งสำรวจใน 60 ประเทศ ระหว่าง พ.ค.2555-เม.ย.2556 โดยมีการเพิ่มประเด็นเรื่องการสอดแนมประชาชนที่เพิ่งถูกเปิดโปงเมื่อไม่นานนี้เข้ามาด้วย เพราะถือว่าส่งผลกระทบต่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในช่วงที่ทำการสำรวจ

เธอบอกว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดคือเสรีภาพอินเทอร์เน็ตนั้นลดลงติดต่อกันเป็นปีที่สาม โดยมี 34 จาก 60 ประเทศที่มีเสรีภาพอินเทอร์เน็ตลดลง โดยมีข้อสังเกตว่าจากเดิมที่สิ่งเหล่านี้เกิดในรัฐเผด็จการเป็นหลัก แต่ตอนนี้ กลับเกิดในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย อาทิ อินเดีย ซึ่งมีการปิดกั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การสอดแนม และการจับกุมผู้ที่โพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้น สหรัฐฯ ที่มีกรณีสอดแนมประชาชน บราซิล ที่มีการจับกุมและความรุนแรงต่อบล็อกเกอร์และผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นในช่วงที่มีการเลือกตั้ง และมีผู้สื่อข่าวออนไลน์และบล็อกเกอร์ถูกฆ่า 3 รายในช่วงที่ทำการสำรวจ

จากการสำรวจ พบวิธีควบคุมอินเทอร์เน็ตที่ใช้มากที่สุด 5 วิธี

-การบล็อคและกรองข้อความ เป็นวิธีที่มีการใช้มากที่สุด 29 จาก 60 ประเทศ มีการปิดกั้นเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง ศาสนา สิทธิทางสังคมและการเมือง

- การโจมตีทางไซเบอร์ มี 31 จาก 60 ประเทศใช้วิธีนี้ รัฐบาลจะขอให้ผู้ให้บริการนำเนื้อหาที่พวกเขาเห็นว่าเป็นการต่อต้านลง โดยจำนวนมากเป็นการวิพากษ์รัฐ หรือพูดถึงคอร์รัปชั่น หรือมลพิษสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มขึ้นของการปิดกั้นโซเชียลมีเดียทั้งแพลตฟอร์ม ไม่ใช่แค่บล็อคโปรไฟล์หรือการเข้าถึงบางวิดีโอเท่านั้นด้วย

- การสอดส่องออนไลน์เพิ่มขึ้น 35 จาก 60 ประเทศ รัฐบาลเพิ่มเทคโนโลยีสอดส่อง และมีกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐสอดส่องเพิ่ม เช่น สหรัฐ รัสเซีย ขณะที่ประเทศในทวีปแอฟริกา ในระยะเวลาเพียงปีเดียว ก็มีกิจกรรมสอดส่องออนไลน์เพิ่มขึ้นล้อไปกับจำนวนสัดส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น และเนื่องจากเทคโนโลยีสอดส่องจำนวนมากยังไม่สามารถหาได้ในตลาดโดยง่าย ทำให้รัฐบาลสามารถครอบครองเทคโนโลยีเหล่านี้ได้โดยไม่มีปัญหามากนัก

- การคุมเข้มการแสดงออกออนไลน์ - 24 จาก 60 ประเทศมีกฎหมายใหม่ที่กระทบทางลบกับเสรีภาพอินเทอร์เน็ต ภายใต้รูปแบบของกฎหมายความมั่นคงทางไซเบอร์ หรือป้องกันก่อการร้าย ใช้ภาษาคลุมเครือ เพื่อทำให้การแสดงออกเป็นความผิดอาญาและคุมขังนักกิจกรรม

-การจับกุม - มี 28 จาก 60 ประเทศ ที่ผู้ใช้อย่างน้อย 1 คน ถูกจับกุม คุมขัง จากการโพสต์เนื้อหาทางการเมือง สังคม ศาสนา ออนไลน์ กรณีนี้มีข้อสังเกตคือ ขณะที่เมื่อก่อนนักกิจกรรมซึ่งรณรงค์ด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนจะตกเป็นเป้าการจับกุม แต่ปัจจุบัน ด้วยความแพร่หลายของโซเชียลมีเดีย ทำให้ทุกคนได้รับผลกระทบ เห็นได้จากมี 46 จาก 60 ประเทศที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียมีตำรวจไปเยือนถึงบ้าน ตัวอย่างเช่น ในอินเดีย จากการกดไลค์คอมเมนท์ของเพื่อนในเฟซบุ๊ก ในบาห์เรน มีผู้ใช้ทวิตเตอร์อย่างน้อย 10 คนถูกจับเพราะทวีตวิจารณ์กษัตริย์

โดยเคลลี่ตั้งข้อสังเกตว่า บางรัฐบาลไม่ได้ปิดกั้นเนื้อหามากนัก แต่จะตามจับคนที่โพสต์มากกว่า นโยบายนี้เป็นเหมือนแทคติกที่จะสามารถใช้เคลมได้ว่าประเทศนั้นๆ มีอินเทอร์เน็ตที่เป็นอิสระ ขณะที่หลังบ้านก็ไปโจมตีหรือจับคนที่โพสต์เข้าคุก

ด้าน ชรีดีฟ รายามาจฮี นักกิจกรรมบล็อกเกอร์ชาวเนปาล แสดงความเห็นว่า นักกิจกรรมและบล็อกเกอร์มีแนวโน้มที่จะถูกจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกมากกว่าผู้สื่อข่าว เพราะผู้สื่อข่าวมักได้รับการปกป้องโดยต้นสังกัดและยังมีสหภาพฯ ที่จะพูดถึงพวกเขาด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net